“เมื่อลูกโตขึ้น ลูกสามารถไปที่ไหนก็ได้ที่อยากจะไป เป็นใครก็ได้ที่อยากจะเป็น”
นี่คือถ้อยคำเปี่ยมความหวังที่คาลัม (Paul Mescal) พ่อวัย 30 ต้นๆ กำลังปลอบโยนโซฟี (Frankie Corio) ลูกสาววัย 11 ขวบในภาพยนตร์เรื่อง Aftersun ผลงานการกำกับหนังยาวเรื่องแรกของ ชาร์ลอตต์ เวลส์ (Charlotte Wells) ว่าด้วยเรื่องราวความทรงจำฤดูร้อนระหว่างพ่อลูกคู่หนึ่ง เมื่อพ่ออยากให้เป็นทริปที่สนุกและน่าจดจำของลูกสาว เขาจึงพยายามซ่อนความรวดร้าวเอาไว้ภายใต้รอยยิ้มและความขี้เล่นที่แสดงให้ลูกเห็นตลอดทริป
แม้หลายคนจะตีความเชื่อมโยงหนังเรื่องนี้จากประสบการณ์ที่มีแตกต่างกันออกไป แต่สำหรับเราบทบาทของพ่ออย่างคาลัม ชวนให้นึกถึงใครบางคนไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่ ผู้ปกครอง พี่สาว หัวหน้าและอีกหลายบทบาทต้องเป็นที่พึ่งพาและปลอบโยนคนอื่นๆ บางทีเลยต้อง (แสดงออกว่า) เข้มแข็ง แม้ว่าภายในใจเต็มไปด้วยความอ่อนไหวแค่ไหนก็ตาม
รอยแผลในอดีตที่สะท้อนผ่านความห่วงใย
ก่อนจะก้าวเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ เราต่างเคยผ่านเรื่องราวที่แตกต่างกันออกไป สำหรับคาลัมความเจ็บปวดของเขาค่อยๆ ถ่ายทอดออกมาผ่านสิ่งที่สื่อสารกับลูก เช่น การสอนวิธีป้องกันตัวแล้วย้ำว่าเรื่องนี้สำคัญกับลูกมากแค่ไหน หรือประโยคอย่าง “จำไว้นะโซฟี ไม่ว่าลูกจะมีเรื่องอะไร จะเรื่องไปปาร์ตี้ เรื่องผู้ชายที่เจอ เรื่องยาที่เล่น พ่อลองมาหมดแล้ว ลูกบอกพ่อได้ทุกเรื่อง” เหล่านี้ดูเหมือนจะเป็นความห่วงใยแสนธรรมดาที่พ่อมีต่อลูก แต่กลับเผยให้เห็นถึงสิ่งที่ชายคนนี้ต้องก้าวผ่าน ส่วนปริมาณความเจ็บปวดแม้จะชั่งตวงชี้วัดไม่ได้ แต่ถ้อยคำสั้นๆ ที่เขาเอ่ยออกมา “ผมนึกภาพตัวเองตอนอายุ 40 ไม่ออกด้วยซ้ำ รอดมาได้ถึง 30 ก็แปลกใจแล้ว” คงบอกได้แจ่มชัดในตัวแล้วว่ารอยแผลที่ก้าวผ่านมานั้นบาดลึกแค่ไหน
เมื่อมองย้อนมายังชีวิตจริง เราคงไม่อยากให้คนที่เรารักหรือคนที่เราดูแลต้องเผชิญหน้ากับเรื่องแย่ๆ ที่เราเคยเจอมาก่อน แต่ก็ไม่อยากมานั่งระบายหรือคร่ำครวญถึงอดีตว่าชีวิตผ่านอะไรมาบ้าง บางครั้งเลยออกมาในรูปแบบการพูดย้ำเรื่องนั้น ห่วงเรื่องนี้เป็นพิเศษเหมือนกับพ่อแม่หลายๆ คน ที่บ่นจนลูกเซ็ง แต่ไม่แน่ว่าความห่วงใยที่เคยได้ฟังจนหูชาอาจจะสื่อถึงความปวดร้าวที่คนๆ นั้นได้เคยพบเจอมาระหว่างการเติบโตได้เช่นกัน
เมื่อบทบาทไม่อนุญาตให้เราอ่อนแอ
ในช่วงวัยที่เรายังสามารถใช้โควตาความเป็นเด็กได้ แม้จะล้มลุกคลุกคลานอย่างไรก็มีฟูกนุ่มๆ จากพ่อแม่ หรือใครสักคนที่คอยโอบอุ้มเราเอาไว้ แต่เมื่อต้องก้าวมาสู่การเป็นผู้ใหญ่ การต้องเป็นที่พึ่งพาของคนอื่นๆ ยิ่งบีบบังคับให้เราต้องเข้มแข็งและสร้างความมั่นใจให้คนอื่นได้ว่าเราจะพาเขาก้าวผ่านเรื่องร้ายๆ ไปได้ด้วยดี
ใน Aftersun มีหลายฉากที่ลูกสาวเอ่ยปากถามด้วยความใสซื่อ แต่พ่อกลับเลือกที่จะเลี่ยงคำตอบซึ่งไม่ใช่เพราะว่าไม่ใส่ใจ แต่อาจเป็นการเลี่ยงไม่พูดถึงความรู้สึกของตัวเองมากกว่า อย่างฉากที่โซฟีอธิบายความรู้สึกเหนื่อยล้าเศร้าหมองของตัวเอง แล้วถามพ่อว่าเคยรู้สึกแบบนี้บ้างหรือเปล่า จริงๆ คาลัมอาจจะกำลังรู้สึกแบบนั้นอยู่ด้วยซ้ำ แต่เขากลับตอบกลับไปแค่ว่า ‘วันนี้เรามาเพื่อสนุกกันนะ’ หรือแม้แต่บาดแผลทางร่างกายที่ต้องบอกลูกไปว่า ไม่รู้เหมือนกันว่าได้แผลนี้มาจากไหน เพื่อจะได้ไม่ต้องต่อบทสนทนาที่อาจกลายเป็นประตูเผยให้ลูกเห็นความอ่อนแอภายในใจ
แต่หลายครั้งคาลัมไม่อาจกอดเก็บไว้ความปวดร้าวและฝืนให้ตัวเองเข้มแข็งได้ไหว เพราะความทุกข์นั้นราวกับจะระเบิดออกมาจากข้างใน จนเผลอทำอะไรที่ไม่น่ารักหรือทำเรื่องผิดพลาดให้ลูกเจ็บปวดโดยไม่ได้ตั้งใจ ทั้งยังกลายเป็นแผลย้ำซ้ำลงไปด้วย ‘ความรู้สึกผิด’ ที่มีต่อลูก
แต่สิ่งที่ทำได้หลังจากนั้นกลับมีเพียงการเอ่ยคำขอโทษ โดยไม่สามารถอธิบายสิ่งที่กำลังเผชิญอยู่ให้ลูกฟังได้ทั้งหมด เพราะบทบาทการเป็นที่พึ่งพิงให้กับใครสักคน ทำให้เราทั้งคาดหวังและถูกคาดหวังให้แสดงออกว่ารับไหวในทุกๆ เรื่อง เพราะกลัวว่าถ้าแสดงความอ่อนแอออกไปเมื่อไร คนอื่นๆ ก็จะไม่สบายใจและค่อยๆ พังตามไปด้วย ดังนั้นในยามแหลกสลาย เราจึงต้องโอบกอดตัวเองเอาไว้แล้วร้องไห้เพียงลำพัง ก่อนจะค่อยๆ ประคองกายและใจให้ลุกขึ้นอีกครั้งด้วยตัวเอง
สุดท้ายแล้วเราก็คือมนุษย์ธรรมดาๆ คนหนึ่ง
แม้บทบาทจะบีบบังคับให้เราเคยชินกับการบอกทุกคนว่าไม่เป็นไร แต่การเก็บงำทุกอย่างไว้ในใจแต่เพียงผู้เดียวแบบคาลัม อาจไม่ใช่ทางออกที่ดีนัก เพราะจากการศึกษาของมหาวิทยาลัยเท็กซัสพบว่า การไม่ยอมรับอารมณ์ความรู้สึกของตัวเอง ยิ่งทำให้อารมณ์นั้นเข้มข้นมากขึ้นกว่าเดิม และผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่าการอดกลั้นความเจ็บปวดเอาไว้นานๆ อาจทำให้เราแสดงออกมาในด้านอื่นๆ ของชีวิตแทน เช่น ไม่สามารถทำบางเรื่องได้ตามปกติ กลายเป็นคนขี้เหวี่ยง หรือข้างนอกสดใสข้างในร้าวราน ซึ่งในเว็บไซต์ Psychologytoday แนะนำว่าเราควรจะปลดปล่อยความเจ็บปวดนั้นออกมาผ่านการร้องไห้ อนุญาตให้ตัวเองอ่อนแอและแบ่งปันเรื่องราวปวดใจให้ใครสักคนได้รับรู้บ้าง แม้จะช่วยหาทางออกไม่ได้ แต่การได้เล่าออกไปหรือมีคนคอยตบไหล่ปลอบใจก็ช่วยให้เรามีแรงใจไปแก้ปัญหาต่อ หรือถ้าไม่มีใครและไม่ไหวจริงๆ เราอาจจะไปพบผู้เชี่ยวชาญอย่างจิตแพทย์ หรือนักจิตวิทยาแทนก็ได้
เพราะไม่ว่าเราจะผ่านโลกมานานแค่ไหน แต่ไม่ได้หมายความว่าจะแก้ปัญหาบนโลกได้ทุกอย่าง ความรู้สึกสับสนและหลงทางจึงเกิดขึ้นมาได้บ้างเป็นธรรมดา และไม่ว่าจะเราจะอยู่ในบทบาทไหน จะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ ต้องดูแลใครหรือถูกใครสักคนดูแล เราไม่อาจคาดหวังให้เขาหรือแม้แต่ตัวเราเองสวมบทบาทนั้นได้อย่างสมบูรณ์แบบ 100%
เพราะสุดท้ายแล้ว เราต่างเป็นมนุษย์ธรรมดาๆ คนหนึ่งที่อ่อนแอได้ ร้องไห้เป็น ทำอะไรผิดพลาดได้บ้างในบางครั้งด้วยเหมือนกัน
อ้างอิงจาก
Graphic Designer: Sutanya Phattanasitubon
Proofreader: Runchana Siripraphasuk