วันนี้ (17 พฤศจิกายน) ซีรีส์ ‘The Crown’ ซีซั่น 3 จะออกฉายใน Netflix สตรีมมิ่งออนไลน์อันโด่งดังอีกครั้ง หลังจากที่แฟนๆ รอคอยกันมานาน โดย The Crown เป็นเรื่องราวของราชสำนักแห่งสหราชอาณาจักร โดยมีตัวเอกอยู่ที่สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ซึ่งเป็นกษัตริย์แห่งสหราชอาณาจักรองค์ปัจจุบัน โดยซีรีส์จับช่วงเวลาตั้งแต่ก่อนการขึ้นครองราชย์ของพระองค์ ผ่านเหตุการณ์สำคัญ และเบื้องลึกเบื้องหลังผ่านหน้าประวัติศาสตร์กับตัวละครที่มีชีวิตจริงๆ
The Crown ถือเป็นซีรีส์ที่คนนิยมกันมาก และยังใช้ทุนสร้างมหาศาล โดยซีซั่นแรกนั้นใช้เงินไปถึง 150 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แพงเป็นสองเท่าเทียบจากรายได้ที่เชื้อพระวงศ์ทุกองค์ในราชวงศ์วินเซอร์ต้องจ่ายเป็นภาษีกับแผ่นดิน
สำหรับซีซั่น 3 นี้ยังไม่ใช่ซีซั่นจบของซีรีส์ชุดนี้ แต่จะมีอีกหลายซีซั่นพร้อมกับบุคคลในหน้าประวัติศาสตร์ที่จะปรากฏตัวผ่านการแสดงอันเข้มข้นอย่างยิ่ง
โดยชายที่เป็นคนเขียนบทซีรีส์อันโด่งดังเรื่องนี้ คือ ปีเตอร์ มอร์แกน มือเขียนบทอันเก่งกาจที่ฝากผลงานภาพยนตร์สะท้อนเหตุการณ์ประวัติศาสตร์มากมายของสหราชอาณาจักร มอร์แกนมีประสบการณ์การเขียนบทมาอย่างโชกโชน ทั้งการเขียนบทภาพยนตร์หรือบทละครเวทีก็เคยทำมาแล้วทั้งสิ้น
แถมแทบทุกเรื่องยังได้รับความนิยมและประสบความสำเร็จเป็นอย่างยิ่งด้วย
ในซีรีส์ The Crown เขาถ่ายทอดให้เห็นถึงวิกฤต ความวุ่นวาย การปรับตัวเปลี่ยนผ่านของสถาบันกษัตริย์อังกฤษ โดยเขาตอกย้ำให้เห็นว่า
“การเป็นควีนนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเสียเลย”
1
ปีเตอร์ มอร์แกนเกิดเมื่อปี ค.ศ.1963 ในครอบครัวผู้อพยพ พ่อเขาเป็นยิวและหนีภัยนาซีมาอังกฤษในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ขณะที่แม่เป็นชาวโปแลนด์ ที่หนีภัยการรุกรานของสหภาพโซเวียตมายังอังกฤษ ทั้งสองคนพบกันในลอนดอนเมื่อปี ค.ศ.1950 และอาศัยอยู่ในย่านชานเมือง ตัวมอร์แกนนั้นหากอยู่บ้านเขาจะพูดภาษาเยอรมัน แต่ถ้าไปโรงเรียนออกไปข้างนอกก็จะใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสาร และด้วยความที่พ่อกับแม่ต้องละทิ้งบ้านเกิดเมืองนอนมาเผชิญความแปลกแยกในแผ่นดินใหม่ มันเลยมีส่วนในการสร้างตัวตนของเขา
เมื่ออายุได้เก้าขวบ พ่อของเขาเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจวายเฉียบพลัน ทำให้หนูน้อยมอร์แกนยิ่งต้องเข้มแข็งฟันฝ่าสมรภูมิชีวิต
นักเขียนบทคนนี้เรียนจบจากมหาวิทยาลัยลีดส์ และพยายามจะเริ่มอาชีพการแสดง แสดงบทบาทเล็กๆ ก่อนจะไปเอาดีด้านการเขียนบท โดยเคล็ดลับอย่างหนึ่งของมอร์แกนก็คือ เขาไม่ค่อยให้สัมภาษณ์มากนัก เพราะไม่อยากให้ใครรู้จักตัวตนของเขา มอร์แกนบอกว่า “เวลาผมเห็นพวกนักเขียนไปออกรายการทีวีโชว์มากๆ ผมคิดเลยว่าน่าจะระวังตัวหน่อย ไม่ควรจะไปทำแบบนี้ เพราะการทำแบบนี้จะนำไปสู่จุดจบของความคิดสร้างสรรค์”
ความหลงใหลในละครเวทีและความสามารถในงานเขียนทำให้เขาเขียนบทภาพยนตร์ที่ยอดเยี่ยมหลายชิ้น หลายคนเห็นว่าบทของเขาโดดเด่นด้วยทักษะการขุดเรื่องราวประวัติศาสตร์ที่เข้าถึงคนวงในที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ ซึ่งมอร์แกนนั้นเก่งกาจในการถ่ายทอดเรื่องราวแบบนี้ออกมาได้อย่างยอดเยี่ยม
ผลงานแจ้งเกิดคือบทภาพยนตร์ที่ถ่ายทอดความขัดแย้งความเป็นคู่แข่งกันมายาวนานของ โทนี่ แบลร์ กับ กอร์ดอน บราวน์ ในภาพยนตร์เรื่อง ‘The Deal’ ซึ่งตอนแบลร์เป็นนายกรัฐมนตรี ตัวบราวน์เองเป็น รมว.คลัง โดยหนังฉายภาพให้เห็นว่าทั้งสองคนเริ่มต้นอาชีพการเมืองไล่เลี่ยกัน เคยใช้สำนักงานเดียวกัน มีเสน่ห์ความสามารถ แต่แตกต่างกันอย่างสุดขั้ว และก็ขับเคี่ยวกันมาตลอดเส้นทางอาชีพนักการเมือง โดยเรื่องนี้มอร์แกนเอามาจากหนังสือของนักข่าวที่บอกเล่าความขัดแย้งแข่งขันกันของทั้งคู่
หลังจากนั้น ปีเตอร์ มอร์แกน ขยับมาเขียนบทบุคคลที่สำคัญขึ้นไปอีก นั่นคือภาพยนตร์เรื่อง ‘The Queen’ ที่ออกฉายในปี ค.ศ.2006 และทำให้ เฮเลน เมียร์เรน นักแสดงผู้รับบทเป็นควีนเอลิซาเบธคว้ารางวัลออสการ์จากผลงานนี้มาได้ โดยภาพยนตร์จับเหตุการณ์การสิ้นพระชนม์ของเจ้าหญิงไดอาน่า และบทบาทของ โทนี่ แบลร์ ที่ตอนนั้นพึ่งรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีใหม่ๆ กับการปรับตัวครั้งสำคัญของสถาบันกษัตริย์อังกฤษ
เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยก็คือตัวปีเตอร์ มอร์แกน แม้จะเขียนบทภาพยนตร์เรื่อง The Queen แต่เขาไม่เคยเข้าไปในพระราชวังบักกิ้งแฮมมาก่อน เขาต้องรอถึงปี ค.ศ.2015 (หลัง The Crown ซีซั่น 1 ออกฉายแล้ว) ถึงจะได้เข้าไปในพระราชวังอันเป็นที่พำนักหลักของประมุขประเทศที่เขาเอาพระราชประวัติของพระองค์ช่วงหนึ่งมาเขียนเป็นบทภาพยนตร์
โดยการเข้าไปในพระราชวังบักกิ้งแฮมในปีนั้น มอร์แกนได้เข้าร่วมพิธีมอบเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ซึ่งเขาได้รับเครื่องราชย์ในชั้น C.B.E. ด้วย
ตัวมอร์แกนเองยอมรับว่าตัวเองไม่เคยรู้สึกเป็นคนอังกฤษมากนัก แต่นั่นแหละที่ทำให้เขาได้จัดเต็มกับการเขียนบทเกี่ยวกับเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ของประเทศ รวมถึงการเขียนบทเกี่ยวกับประมุขของประเทศ แต่ก็ไม่ใช่ทำงานแบบลุยดะใส่เต็มข้อ เพราะเขาทำงานอิงกับข้อเท็จจริง ระมัดระวังเรื่องนี้มาก แต่ก็ไม่ใช่กลัวจนไม่กล้าจะเขียนอะไร
ที่สำคัญ เขาเน้นย้ำว่าเวลาเขียนบทภาพยนตร์เหตุการณ์ประวัติศาสตร์ ไม่ใช่การเขียนประวัติศาสตร์ขึ้นใหม่ แต่ต้องใช้จินตนาการถึงเหตุการณ์บางเรื่องที่ไม่มีการบันทึกและไม่มีใครรู้ไว้ด้วย และแน่นอนพวกเหตุการณ์แบบนี้มันมีเยอะมากอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้จริงๆ อย่างในซีรีส์ The Crown เหตุการณ์การพบปะกันระหว่างนายกรัฐมนตรีกับประมุขของประเทศ ซึ่งไม่มีใครบันทึกการพูดคุยนี้ไว้ มันต้องใช้จินตนาการจากข้อมูลต่างๆ มาร้อยเรียงเป็นเรื่องราวผ่านบทภาพยนตร์ว่า จริงๆ แล้วนายกรัฐมนตรีกับกษัตริย์คุยอะไรกัน
2
ความโดดเด่นของ The Crown คือการถ่ายทอดการเปลี่ยนผ่านของควีนเอลิซาเบธ จากวัยสาวสู่การเป็นสัญลักษณ์ของชาติ ซึ่งมอร์แกนถ่ายทอดความเจ็บปวดนี้ออกมาได้ตลอดสองซีซั่นที่ผ่านมา และในซีซั่นนี้ที่มีการเปลี่ยนนักแสดงยกชุดเพื่อเข้ากับเหตุการณ์ที่ตัวละครในซีรีส์มีอายุมากขึ้น มอร์แกนก็ยังจับประเด็นหลักนี้ไม่พลาด
เขาถ่ายทอดประเด็นหลักที่ต่อเนื่องจากภาพยนตร์ The Queen สู่ซีรีส์ The Crown นั่นก็คือการชี้ให้เห็นว่า ประมุขของสหราชอาณาจักรก็เหมือนคนทั่วไป มีความผิดพลาด มีความตื่นตระหนก และเรื่องราวในซีรีส์ก็ไม่ใช่ภาพเพ้อฝัน แต่เป็นเรื่องจริงที่จับใจคนได้เป็นอย่างดี
มอร์แกนอธิบายว่า สถานะของเชื้อพระวงศ์นั้นมีความเป็นบุคคลสำคัญมาเกือบพันปี และเพิ่งจะเจอความเปลี่ยนแปลงเมื่อกลางศตวรรษที่แล้ว ทำให้ต้องมีการเปลี่ยนแปลง และราชวงศ์วินเซอร์อันเป็นราชวงศ์ปัจจุบันของอังกฤษนั้น ต้องพยายามปรับตัวอย่างมากเพื่อทำให้เห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องมีสถาบันนี้ในอังกฤษ
สำหรับซีซั่นนี้ถือเป็นรัชสมัยที่สหราชอาณาจักรต้องเผชิญกับภาวะวิกฤตเศรษฐกิจตกต่ำ ภัยก่อการร้าย เป็นยุคสมัยที่ความเป็นบริเตนอันยิ่งใหญ่ จักรวรรดิอันเกรียงไกรมาถึงจุดตกต่ำลงอย่างยิ่ง ซึ่งดันมาอยู่ในปีที่มีฉลองการครองราชย์สมบัติครบ 25 ปีของควีนพอดีด้วย โดยมีความหวาดกลัวปนหวั่นไหวกับการขึ้นมาเป็นรัฐบาลของพรรคแรงงานในรอบ 13 ปี โดยที่คณะรัฐมนตรีครึ่งหนึ่งเป็นพวกต่อต้านสถาบัน ซึ่งหากใครได้ชมตัวอย่างของซีซั่น 3 ก็คงจะได้เห็นความหวั่นไหวนี้กันมาบ้างแล้ว
แต่ความหวาดกลัวปนหวั่นใจนี้กลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ราชวงศ์วินเซอร์ได้ปรับตัวเองท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงอีกครั้งหนึ่ง โดยนักวิจารณ์บอกว่า ปีเตอร์ มอร์แกนถ่ายทอดเรื่องราวของชนชั้นสูงอังกฤษที่ตกใจกับสภาพสังคมที่เปลี่ยนไปมาก และพวกเขาไม่ยอมรับแนวคิดความเท่าเทียมกันของมนุษย์ ซึ่งว่ากันว่ามอร์แกนได้หยิบเหตุการณ์บางอย่างกับตัวละครสุดสำคัญมานำเสนอภาพตรงนี้ ซึ่งต้องไปรอชมในซีรีส์กัน
3
ด้วยความที่มอร์แกนเป็นคนเก็บตัวเงียบ เงียบถึงขนาดนักแสดงในซีรีส์ยังบอกเลยว่า มอร์แกนไม่ค่อยมาพบเจอหน้ากับคนอื่น แถมขณะที่ซีซั่น 3 กำลังจะฉายนั้น มอร์แกนใช้เวลาช่วงนี้นั่งเขียนบทซีซั่น 4 อยู่ ซึ่งในซีซั่นนี้จะมีการปรากฏตัวของ มากาแร็ต แทตเชอร์ นายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของสหราชอาณาจักรด้วย
ทั้งนี้ ปีเตอร์ มอร์แกนเองเป็นคนตื่นเช้า เขาจะมานั่งเขียนงานตอนหกโมงเช้าเสมอ นั่งเขียนไปเงียบๆ แต่เมื่อมีประชุม เขาก็พร้อมจะพูดคุยกับทีมงาน โดยจะมีการประชุมทีมวิจัยของซีรีส์ชุดนี้พร้อมกลุ่มนักเขียนบททุกหนึ่งวันในรอบอาทิตย์ โดยจะมีการคุยหารือและนำคลิปข่าวเหตุการณ์ประวัติศาสตร์มาถกหาข้อตกลงว่าจะวางแนวทางของเรื่องอย่างไรดี โดยหลายครั้งพวกเขาตัดเหตุการณ์หรือเรื่องราวสำคัญๆ แต่ไม่มีผลใดๆ ต่อเนื้อเรื่อง หรืออันไหนตอนซ้อมมันไม่เข้าท่า ก็จะประชุมแก้บทจนกว่าจะหาความลงตัวเจอ
สิ่งที่มอร์แกนฉายภาพให้เห็นในซีรีส์ชุดนี้และมันจับใจคนดูจำนวนมากที่รอคอย The Crown ก็คือ
ภายใต้ความยิ่งใหญ่มีความสิ้นหวังซ่อนอยู่เสมอ
มีข้อเท็จจริงที่ลือกันแล้วค่อนข้างจะถูกต้องก็คือ สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 นั้น พระองค์ไม่เคยอยากจะเป็นประมุขของประเทศเช่นเดียวกับพระราชบิดาของพระองค์เลย แต่เพราะการสละราชสมบัติของสมเด็จพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 8 เพื่อจะได้แต่งงานกับหญิงหม้ายชาวอเมริกัน ทำให้พระราชบิดาของควีนเอลิซาเบธต้องเป็นกษัตริย์ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 และด้วยหน้าที่บนมงกุฎและรัฐธรรมนูญ นั่นทำให้พระองค์ต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด
พระองค์ต้องประกอบพระราชกรณียกิจ ทรงต้องเสียสละกับการเป็นประมุขรวมใจของสหราชอาณาจักร ผ่านเหตุการณ์สำคัญมามากมายในหน้าบริบทสังคมอังกฤษผ่านประวัติศาสตร์แต่ละช่วง
ปีเตอร์ มอร์แกนสรุปเรื่องราวของพระองค์ผ่านบทสัมภาษณ์ในนิวยอร์กไทมส์ไว้อย่างน่าสนใจว่า
พระองค์เป็นตัวแทนอันสมบูรณ์แบบของการเป็นข้าราชการ ผมเข้าใจว่าทำไมประชาชนถึงโกรธและต้องการให้สถาบันออกไป แต่ผมก็ภูมิใจเล็กๆ นะว่าพวกเราไม่ได้ทำแบบนั้น
นี่จึงเป็นซีรีส์ชิ้นสำคัญที่ยังจะมีซีซั่นต่อมาให้ติดตาม และด้วยความสามารถอันเอกอุของปีเตอร์ มอร์แกน จึงขอเชิญชวนแบบไม่ได้ค่าโฆษณาให้ทุกท่านไปพิสูจน์ผ่านทางซีรีส์ The Crown จะเห็นด้วยไม่เห็นด้วย ชอบไม่ชอบผลงานของมอร์แกน ก็ถือเป็นสิทธิของทุกท่าน
แต่ขอย้ำว่าไม่อยากให้พลาดชมซีรีส์เรื่องนี้จริงๆ
อ้างอิงข้อมูลจาก