คอหนังญี่ปุ่นน่าจะยังจำ Our Little Sister หนังดราม่าว่าด้วยความสัมพันธ์ของสี่สาวพี่น้องที่เข้าฉายในบ้านเราเมื่อปีที่แล้วได้ หนึ่งในฉากสำคัญของเรื่องก็คือตอนที่พวกเธอช่วยกันทำ ‘เหล้าบ๊วย’ อันเป็นสื่อกลางที่เชื่อมโยงทุกคนในครอบครัวเข้าด้วยกัน
ไม่รู้ว่าเราคิดไปเองคนเดียวหรือเปล่า (เพราะมี Majority Illusion อย่างที่บทความนี้ว่าไว้) แต่หลังจากหนังเข้าโรงแล้ว เหล้าบ๊วยก็ฮอตขึ้นมาอยู่ช่วงหนึ่ง… หรืออย่างน้อยๆ ก็ฮิตในหน้าฟีดส์เฟซบุ๊กเรานั่นแหละ
แล้วเรามาเล่าเรื่องปีที่แล้วอยู่ทำไม? ก็เพราะปีนี้กรุงเทพฯ เมืองฟ้าอมรของเราได้อ้าแขนต้อนรับ PrumPlum Umeshu Bar & Bistro บาร์เหล้าบ๊วยแห่งเดียวในกรุงเทพฯ (ร้านกินดื่มสไตล์ญี่ปุ่นส่วนใหญ่จะเป็นอิซากายะที่มีเครื่องดื่มหลากหลาย ไม่ใช่ร้านเหล้าบ๊วยโดยเฉพาะ) โดยผู้ก่อตั้งคือสองหนุ่มผู้หลงใหลในเหล้ารสเปรี้ยวอย่าง แฮม–อนาวิล เจียมประเสริฐ และ เทพ–ภาสกร แสงรักษาเกียรติ
“ก็เริ่มจากชอบเหล้าบ๊วย” แฮมตอบเมื่อเราถามถึงที่มาที่ไปของร้าน “แต่เหล้าบ๊วยในตลาดเมืองไทยมันหายาก บางร้านที่ขายอยู่ก็แพง และมีตัวเลือกน้อย เราเริ่มรู้สึกว่าอยากกินอะไรที่แปลกขึ้น และคิดว่าอยากหาเหล้าบ๊วยดีๆ มาให้คนไทยกิน เหมือนเป็นแพสชั่นเล็กๆ”
สำหรับคนที่ไปครั้งแรก เราแนะนำให้สั่ง PrumPlum Starter Set (360 บาท) หรือ PrumPlum Premium Set (390 บาท) ซึ่งแต่ละเซ็ตจะมีเหล้าบ๊วย 3 ประเภทในแก้วช็อตมาให้ได้ลิ้มลอง ถ้าเจอตัวที่ถูกใจค่อยสั่งเพิ่มเป็นแบบช็อต (80-220 บาท) หรือแบบ on the rocks (140-400)
ในช่วงแรกเริ่ม เจ้าของร้านทั้งคู่เดินทางไปญี่ปุ่นด้วยตัวเองเพื่อศึกษาเรื่องอูเมชูประเภทต่างๆ พร้อมเล็งตัวที่ชอบและคิดว่าคนอื่นน่าจะชอบเหมือนกันเอาไว้ เมื่อกลับมาจึงติดต่อผ่านซัพพลายเออร์ให้นำเข้ามาอย่างถูกกฎหมาย โดยเหล้าบ๊วยที่ทางร้านภูมิใจนำเสนอมากที่สุดคือ Daishichi Kimoto อูเมชูสาเกเบสจากจังหวัดฟุกุชิมะ
แล้วมันพิเศษยังไง? คงต้องย้อนไปที่ต้นกำเนิดของอูเมชู ซึ่งเกิดจากการที่คนญี่ปุ่นไม่ยอมรับโซจูอันเป็นเหล้าของเกาหลี แต่ไม่สามารถปฏิเสธโซจูได้เพราะมันราคาถูกกว่าสาเกหลายเท่าตัว จึงตัดสินใจนำโซจูไปดองกับผลไม้ เช่น บ๊วย ส้มยูสุ แอปเปิ้ล แต่เมื่อเวลาผ่านไปก็เริ่มมีการนำสาเกมาดองกับบ๊วย ซึ่ง Daishichi Kimoto ก็เป็นตัวอย่างหนึ่ง
“เวลาทำอูเมชูแบบสาเกเบสจะไม่นิยมเติมน้ำตาล เพราะเค้าต้องการโชว์รสสาเกที่ตั้งใจกลั่นมาจากเมล็ดข้าว ไม่เหมือนโซจูที่เป็นเหล้าชาวบ้าน ต้มมาจากมันฝรั่งหรือข้าวโพด” แฮมอธิบาย
อีกหนึ่งตัวเลือกที่น่าสนใจ (เพราะราคาน่ารักมาก) คือ house blend ของทางร้านที่ชื่อว่า PrumPlum Special Blend ซึ่งเป็นการผสมผสานกันของอูเมชูหลายตัวจากจังหวัดวาคายามะ
แล้วมันพิเศษยังไง? —เราถามคำถามเดิม
“จริงๆ มันไม่พิเศษครับ” ชายหนุ่มเจ้าของร้านตอบ “คือเราตีความว่าเหล้าบ๊วยมันเป็นเหล้าธรรมดา เป็นเหล้าที่ไม่มีพิธีรีตอง เป็นเหล้าที่กินง่าย กินได้ทุกโอกาส ทุกวัย ทุกคน ทุกเพศ เราเลยพยายามทำให้มันกินง่ายที่สุด”
สำหรับคนที่ไม่นิยมดื่มอูเมชูแบบเพียวๆ เราแนะนำให้ลองค็อกเทลที่มีส่วนผสมของเหล้าบ๊วย เช่น Golden Bridge (240 บาท) หรือ Ume Sparkling (150 บาท) เหล๊าบ๊วยผสมกับโซดา ส่วนคนที่อยากจะลิ้มรสบ๊วยแต่ดื่มแอลกอฮอล์ไม่ได้ จะสั่งเป็น Umeshuboshi (80 บาท) บ๊วยผสมน้ำโซดา ก็ได้ไม่มีใครว่า
แต่ถ้าคุณไม่ใช่สายเหล้าบ๊วย (โธ่) ที่นี่ก็มีวิสกี้ญี่ปุ่นยี่ห้อ Suntory พร้อมเสิร์ฟทั้งแบบ on the rocks หรือ highball (120-550 บาท) หรือถ้าคุณเป็นคอเบียร์ อย่าพลาด Chalawan Pale Ale (170 บาท) คราฟต์เบียร์สัญชาติไทยที่ฮอตที่สุดในตอนนี้หลังจากไปคว้าเหรียญทองในหมวด Pale Ale จาก World Beer Awards 2016 ที่ประเทศอังกฤษ
ว่ากันด้วยเรื่องอาหารบ้าง ที่ร้านมีตั้งแต่กับแกล้มทั่วไป (40-60 บาท), Pub Grub เบาๆ เช่น ไก่ทอดคาราอาเกะ (120 บาท) มันฝรั่งทอด (100 บาท) ไปจนถึงเมนูอยู่ท้องอย่างไก่ทอดซอสมิโสะ (50 บาท) ยากิโทริ (40 บาท) และซารุโซบะกับไก่เทริยากิ (160 บาท) นับเป็นตัวเลือกที่ไม่เลวหากคุณกำลังหาที่แฮงค์เอาท์แบบที่เดียวจบมีครบทุกอย่าง
ความจริงแล้วแม้กระทั่งในญี่ปุ่น บาร์ที่มีเหล้าบ๊วยเป็นเครื่องดื่มหลักแบบนี้ก็ถือเป็นแรร์ไอเท็ม “อูเมชูบาร์หายากมาก เพราะมันเป็นเหล้าที่ดองไว้กินเองในบ้าน มีติดบ้านไว้ ถ้ามีแขกมาก็ตักให้ชิม” แฮมเล่า
แม้ว่ารูปลักษณ์ของ PrumPlum Umeshu Bar & Bistro จะห่างไกลจากความเป็นบ้านไปมากโข แต่ที่นี่ก็มีบรรยากาศสบายๆ เป็นกันเองแม้จะอยู่ใจกลางเมือง
ส่วนสิ่งที่ใกล้เคียงความเป็นบ้านมากที่สุด ก็คงเป็นเจ้าของร้านทั้งสองที่พร้อมต้อนรับและตักเหล้าบ๊วยให้คุณชิมนี่แหละ
Cover photo from PrumPlum Umeshu Bar & Bistro
Promotion ตั้งแต่วันนี้ยาวไปจนถึงสิ้นปี ทุกวันพฤหัสฯ ถือเป็น ‘THUR(S)DAY’ หรือ ‘เธอเดย์’ เลดี้ไนท์นั่นเอง สาวๆ สามารถเลือกระหว่าง Ume Sparkling, Suntory Kukubin Highball หรือ เบียร์ Asahi ในสนนราคาแก้วละ 120 บาท แถมถ้าดื่มครบ 3 แก้วรับฟรี 1 แก้ว ชวนแก๊งเพื่อนสาวไปสิจะรออะไร แต่อย่าลืมจองโต๊ะก่อนเพราะร้านค่อนข้างเล็ก โทรไปเบอร์ 02-249-3146 ได้เลย
35/2 ซอยศรีบำเพ็ญ / เปิดพุธ-อาทิตย์ 6 โมงเย็นถึงเที่ยงคืน / MRT ลุมพินีแล้วต่อวินมอเตอร์ไซค์ ส่วนคนที่ขับรถ มีลานจอดรถข้าง LP Condominium จ่ายเงิน 40 บาท จอดได้ตลอดคืน แต่จากประสบการณ์ตรงคือมันมืดและน่ากลัวมาก เชียร์ให้ไปรถสาธารณะหรือแท็กซี่นะ
*บางรูปมาจากเฟซบุ๊กร้านเพราะรูปที่เราถ่ายเองมันห่วย แต่ไปกินมาเองชอบเองเน่อ ร้านไม่ได้จ้างจ้า