ท่ามกลางสถานการณ์และคำสั่งที่ไม่ชัดเจน การประเมินแบบวันต่อวัน สิ่งที่เหล่าผู้ประกอบการกังวลใจร่วมกันมีอยู่ไม่กี่อย่าง ร้านจะรอดไปอีกกี่เดือน ประคองได้จนโรคระบาดหมดไปหรือไม่ และพนักงานของพวกเขาจะมีชีวิตความเป็นอยู่อย่างไร
หลายร้านเลือกปิดหน้าร้าน และอีกหลายร้านเลือกสู้ต่อ แม้จะขายแอลกอฮอล์หน้าร้านไม่ได้ ทั้งรู้ดีว่ารายได้ไม่สามารถคัฟเวอร์รายจ่ายได้ แต่อย่างน้อยขอได้ทำเพื่อมีเงินหมุนเวียนและจ่ายให้ลูกน้องในแต่ละวัน
The MATTER ไปฟังเสียงแห่งความเจ็บช้ำของผู้ประกอบการผับและบาร์ สถานที่ผ่อนคลายและรวมตัวของมิตรสหายยามค่ำคืนในหลายพื้นที่ ทั้งทองหล่อ, เอกมัย, ลาดพร้าว, อารีย์ และสนามเป้า มาเล่าสู่กันฟัง หลังกรุงเทพมหานครยกระดับสู่พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มข้น งดขายแอลกอฮอล์หน้าร้าน เทคโฮมได้อย่างเดียว และต้องปิดห้ามนั่งในร้านตอนสามทุ่ม
บี – อิศราภรณ์ รัศมีฤกษ์เศรษฐ์ เจ้าของร้าน Sunray
ที่ตั้ง: บีทีเอสสนามเป้า
รายได้ที่ลดลงเมื่องดขายแอลกอฮอล์และปิดร้านสามทุ่ม: 80%
Sunray คือร้านนั่งชิลล์บนตึกชั้นสามติดทางออกรถไฟฟ้าสนามเป้าทางออก 4 ด้วยการตกแต่งที่เลือกใช้สีโทนผนัง และเฟอร์นิเจอร์ เหมือนร้านพาเราย้อนกลับไปในยุคที่เรายังเป็นเด็กวิ่งเล่นในซอยบ้าน ทำให้ที่แห่งนี้มักเป็นแหล่งรวมตัวกันหลังเลิกงานของหนุ่มสาวชาวครีเอทีฟ
แต่ทันทีที่กฎหมายห้ามดื่มแอลกอฮอล์ในร้านและนั่งในร้านได้ไม่เกินสามทุ่มออกมา Sunray ที่เน้นขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และมีไลน์อาหารนิดหน่อย ก็ต้องปรับตัวกันยกใหญ่ ช่วงที่กฎหมายสั่งปิด ยืดๆ ยุดๆ ไม่แน่ใจชัดอยู่วันสองวันว่าจะเป็นล็อกดาวน์ครั้งที่สองหรือไม่ ระหว่างนั้น Sunray ตัดสินใจปิดร้านทันที
“พอตั้งตัวได้สักแป๊บ เราก็ตัดสินจะเปิดเหมือนเดิม แต่เราจะเล่นคอนเทนต์ เปลี่ยนจาก Work From Home มาเป็น Work From Sunray กันไหม? มานั่งทำงานกัน และรับลูกค้าแค่แปดโต๊ะ เพิ่มไลน์อาหารมากขึ้น” บี – อิศราภรณ์ รัศมีฤกษ์เศรษฐ์ “แม้ขายได้วันละ 1,000-2,000 บาทก็ยังมีเงินมาหมุนจ่ายพนักงาน”
แต่การเป็นร้านเหล้าที่มาขายอาหาร เธอก็รู้ดีว่าแข่งขันกับร้านอาหารจริงๆ ไม่ได้หรอก อีกใจก็ลุ้นว่าร้านของเธอจะต้องปิดบริการเมื่อไหร่ แต่ตอนนี้เธออยากสู้ก่อนเพื่อทุกคนในร้าน
“โชคดีที่ร้านเรามันเป็นคอมมูนิตี้ประมาณหนึ่ง เลยมีกลุ่มลูกค้าประจำ ซัพพอร์ตแบรนด์ Sunray”
“บีก็เป็นหนึ่งในเจ้าของร้านที่คิดเหมือนร้านอื่นๆ เราเปิดร้าน แม้จะขายแอลกอฮอล์ไม่ได้ ก็เพื่อให้น้องพนักงานยังมีรายได้ เราลำบาก แต่พนักงานเราลำบากมากกว่า”
แต่ในการล็อกดาวน์ที่เหมือนไม่ล็อกดาวน์รอบที่ 2 นี้ (แต่ใช้คำว่าพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดแทน) บีในฐานะคนทำธุรกิจ แม้จะให้ความร่วมมือกับรัฐเต็มที่ แต่ก็ยังมีข้อข้องใจหลายอย่าง
“เพราะล็อกดาวน์รอบแรกทุกคนโดนปิดหมด รอบนี้มันเลยกระทบจิตใจมากกว่า ทำไมเรากลายเป็นคนกลุ่มที่โดนห้าม เหล้ามันก็เดลิเวอรีไม่ได้ มันไม่ใช่ทุกคนที่มีทุนในการปรับตัวร้านใหม่อีกรอบหนึ่ง”
“บีรู้สึกว่าร้านเหล้ามันเป็นคนประเภทที่รัฐจะเหลียวแลเป็นคนสุดท้าย เพราะมองว่าร้านเหล้ามีแต่ของมึนเมา ทำให้สังคมแย่ลง เราเป็นคนบาปของสังคม เรายอมรับนะว่าถ้าร้านเหล้ามันเปิดจริงๆ มันก็เป็นที่แพร่กระจาย ให้เราปิดก็ยินดี แต่ถ้าไม่ให้ขายแอลกอฮอล์ให้ส่งเดลิเวอรีได้ไหม หรือจำกัดเวลาถึงสองทุ่มไหม? เพราะหลังเที่ยงคืนคนจะเริ่มเมาเละเทะแล้ว อะไรแบบนี้มันยังทำให้เรารู้สึกว่าเขาพยายามจะช่วยเรานะ ไม่ได้บอกว่ามันเป็นเรื่องของคุณก็ปิดไปสิ ถามว่าเราหวังการเยียวยาไหม ในสถานการณ์แบบนี้? มันคงยากมากอะ”
บีทิ้งท้ายด้วยเสียงของเธอ ที่อยากให้ผู้กำกับกฎหมายได้ยินบ้างสักนิดด้วยว่า “ตอนนี้เหมือนประชาชนกำลังซัพพอร์ตกันเอง ขอวอนอย่างเดียวหรืออยากให้รัฐมองเห็นเราบ้าง ไม่ต้องให้ความสำคัญเต็มร้อยแต่สักนิดหนึ่งให้เรารู้สึกเราก็ยังเป็นคนหนึ่งในสังคมที่มีที่ยืน บีเคยคิดเล่นๆ ว่าถ้าจะช่วยร้านเหล้าจริงๆ แม้จะต้องสั่งปิดหน้าร้าน แต่ลองทำแคมเปญไหม กินเหล้าที่บ้านไม่ต้องออกมา แล้วทำแอปฯ ให้ร้านเหล้าที่เดือดร้อนมารวมตัวกันขาย กดสั่งขาย ส่งฟรี มันมีเวย์ให้ทำได้เยอะมาก แต่เขาเลือกที่จะตัดแขนตัดขาเราไปเลย”
ไกด์ – รัฐพล แสนรักษ์ เจ้าของร้าน Highland
ที่ตั้ง: ห้าแยกลาดพร้าว
รายได้ที่ลดลงเมื่องดขายแอลกอฮอล์และปิดร้านสามทุ่ม: 80%
“เราอยู่แถวนี้มาสองปี ปกติห้าโมงที่นี่รถติด แต่ตอนนี้ฟ้ามืดคือเมืองร้าง ไม่เคยเห็นแบบนี้มาก่อน ร้านปิดเกือบหมดเลย มันเป็นบรรยากาศที่ คุณสั่งปิดไปดีกว่า พูดจริงๆ คนก็ไม่ได้ออกมาใช้ชีวิตปกติ อึมครึม ขมุกขมัว”
นี่คือเสียงสะท้อนจาก ‘ไกด์ – รัฐพล แสนรักษ์’ จากคาเฟ่คราฟต์เบียร์ที่ตั้งอยู่ตรงเวิ้งชิคห้าแยกลาดพร้าว ที่เต็มไปด้วยร้านอาหารและคาเฟ่ ที่คนหนุ่มสาว และพนักงานย่านนี้แวะเวียนมาแฮงก์เอาต์กันแบบคูลๆ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
คำสั่งการไม่ล็อกดาวน์และเข้มงวดกับการขายแอลกฮอล์รอบนี้ ไกด์ยอมรับว่ามันเจ็บปวดมาก เพราะรอบแรกที่ล็อกดาวน์ไปเลย ยังมีเยียวยาพนักงานเดือนละห้าพัน ปัจจุบันรอบสองคือไม่มีการล็อกดาวน์ แต่มีคำสั่งให้ห้ามนั่งในร้านหลังสามทุ่ม ห้ามขายแอลกอฮอล์ ห้ามขายแอลกอฮอล์ออนไลน์ และไม่เยียวยา นั่นทำให้ร้านคราฟต์เบียร์แบบเขาแบกรับภาระมหาศาล
“ร้านเรามันขายคราฟต์เบียร์เป็นหลัก ดังนั้นยอดขายของเราถึงจะเปิดร้านก็ไม่มี ยอดขายมันหายไป 70-80% แต่พนักงานก็ต้องจ้าง รอบแรกเราเสียแค่ค่าเช่า เราก็ประคองตัวได้ รอบสองที่กระทบเลยคือพนักงาน เราต้องให้สลับกันเข้ามา จากวันละสี่คน เขาก็ก็ทำงานเหลือแค่สามวันหรือสองวันต่อสัปดาห์ เราก็ขายไม่ได้กำไรอยู่แล้ว เอาเงินมาหมุน”
“ถ้าพนักงานเราอยู่ไม่ได้ อนาคตเราก็อยู่ไม่ได้ อนาคตถ้าไม่ไหวก็ต้องปิดทุกร้านแหละ แต่ว่าถ้าตอนนี้ยังไหว เราอยากจะทำ ถ้าพนักงานยังอยู่กับเรา เราก็ยังเห็นอนาคตของร้าน เราก็พยายามหาสินค้าอื่นๆ มาขาย”
“ทีนี้เบียร์คราฟต์เชลฟ์ไลฟ์มันสั้นมันอายุเดือนสองเดือน เท่ากับว่าเบียร์บางตัวเราต้องทิ้ง”
“คือมันชัดเจนว่าไม่ได้ล็อกดาวน์เพราะไม่อยากใช้เงินภาษีมาเยียวยา แต่ร้านค้า ร้านอาหาร นักดนตรี คนทำงานสายบันเทิง เขาไม่ได้ทำผิดอะไรเลยถูกป่ะ คนที่ทำผิดคือจนท.รัฐที่ปล่อยให้มีการขนคนเข้ามา จากบ่อน สิ่งผิดกฎหมายที่รัฐปล่อยให้เกิดขึ้น แต่ผลกระทบพอถึงเวลาต้องแก้ไข คนที่ต้องรับกรรมคือคนกลุ่มนี้ พนักงานบริการ ร้านนวด สปา ร้านอาหาร นักดนตรี”
หลังเขาระบายปัญหาและความหนักใจที่เต็มอกให้เราฟังเรียบร้อยแล้ว เราจึงถามเขาถึงสิ่งที่ผู้ประกอบการอย่างเขาต้องการในเวลานี้จากรัฐ คืออะไรบ้าง เราตอบกลับเสียงดังฟังชัดว่า
- เราต้องการความชัดอยู่แล้วว่าเอายังไง ไม่ใช่วันนี้แบบนี้ พรุ่งนี้แบบนั้น คนนั้นสั่งแบบนี้ คนนี้สั่งแบบนั้น เราทำธุรกิจเราต้องจัดกะพนักงาน ต้องสลับคนทำงาน สั่งของ เตรียมตัว เบียร์คราฟต์เราสั่งของตุนทีละสองสัปดาห์ ซื้อมาแล้วโดนประกาศก็เน่าเสียทิ้งไป มันไม่มีช่องว่างให้ผู้ประกอบการเตรียมตัว
- ถ้าไม่เยียวยาอะไรก็อย่าซ้ำเติม อย่าออกกฎให้ธุรกิจมันเจ๊ง คราฟต์เบียร์เจอกฎหมายห้ามโฆษณา ห้ามขายออนไลน์ สั่งห้ามขายหน้าร้านแล้วยังห้ามขายออนไลน์อีก แล้วของจะไปขายที่ไหน
- พนักงานต้องเยียวยา ทุกวันนี้กินมาม่ากันทุกวัน น้องถามว่า ‘หนูจะเอาเงินที่ไหนจ่ายค่าเช่าหอพัก?’ คนที่ทำงานมีเงินเดือนจากภาษีเขาไม่รู้สึกเลยว่าคนที่อยู่ในระดับคนทำงานหาเช้ากินค่ำ หรือหาเช้ากินเที่ยงด้วยซ้ำไป เขาเผชิญชะตาชีวิตยังไงบ้างกับผลกระทบที่ได้รับจากนโยบายภาครัฐ
- ต้องทำให้ผู้ประกอบการเข้าถึงเงินกู้ เงินเยียวยา หรือมีมาตรการการงดจ่ายค่าเช่า ลดค่าไฟ ไม่งั้นผู้ประกอบการไปไม่ได้ ถ้าหน้าร้านไปไม่ได้ ซัพพลายเชน ผู้ผลิต เซลล์ เขาก็จะอยู่ไม่ได้ต่อไป
“ถ้าปิดอีกสักเดือน ต้องมีสัก 60% จะล้มกันหมด มันคุ้มไหม เราได้อะไรกลับมาจากนโยบายนี้ไม่รู้” ไกด์บอก “ตอนนี้คนมันอยู่แบบสิ้นหวังแล้วรัฐก็ดูไม่แคร์ว่าเราจะอยู่ยังไง ทั้งๆ ที่ผับ บาร์ ร้านอาหาร ร้านนวดมันก็เป็นหัวใจเศรษฐกิจของไทยด้วยซ้ำ”
ไก่ – สุกฤษฎิ์ ผ่องคำพัน เจ้าของร้าน Jim’s Burgers & Beers
ที่ตั้ง: 9 สาขาทั่วกรุงเทพฯ
รายได้ที่ลดลงเมื่องดขายแอลกอฮอล์และปิดร้านสามทุ่ม: 80%
“รอบนี้พอเราเห็นประกาศมาตอนแรกก็เริ่มรู้สถานการณ์ แต่มันก็ไม่มีความชัดเจน พูดกันตามตรง จากมาตรการรอบก่อนมันก็ไม่มีอะไรช่วยทางเราเลย ไม่ได้ช่วยเอสเอ็มอี ร้านอาหารเลย ผมกล้าพูดเลย…มาคราวนี้เราก็รู้แล้วว่าพึ่งอะไรไม่ได้ต้องช่วยตัวเอง ต้องลดรายจ่าย คุยกับพนักงานเขาก็เข้าใจ ลดเงินเดือนแบบเป็น % เอา ปรับกลยุทธ์เป็นรายวัน”
“แต่ที่ขายไม่ได้เลยคือคราฟต์เบียร์ เรามีสองพาร์ทก็คือเบอร์เกอร์กับคราฟต์เบียร์ คราฟต์เบียร์ก็ยอดขายแทบจะเป็น 0 ซึ่งมันก็เหมือนว่ารัฐเขาไม่มีความเข้าใจ หรือไม่พยายามทำความเข้าใจหรือเปล่านะ ว่าอย่างเบียร์สดมันมีอายุบนชั้นวางขาย”
นี่คือเสียงสะท้อนจากเจ้าของร้านเบอร์เกอร์เชน ที่มีจำนวนสาขาเป็นที่จดจำสำหรับคนไทย ‘ไก่ – สุกฤษฎิ์ ผ่องคำพัน’ เล่าให้ฟังจากประสบการณ์ทั้งในฐานะร้านอาหาร ผู้ขายแอลกอฮอล์คราฟต์ ซึ่งคำบอกเล่าก็ไม่ต่างจากไกด์ Highland มากนัก
ต่างนิดหน่อยตรงที่ Jim’s Burgers & Beers มีหลายสาขา และหลังล็อกดาวน์รอบแรกจบ เขาตัดสินใจถอนสาขาในห้างสรรพสินค้าทั้งหมดออกทันที เพราะหมดสัญญา และเป็นการวางแผนเผื่อสถานการณ์อนาคตเช่นในวันนี้ และโชคดีที่มีไลน์อาหารที่ได้รับความนิยม พอจะพยุงขายเดลิเวอรีไปได้
แต่มีเรื่องที่ไก่ไม่เข้าใจเยอะอยู่เหมือนกันกับคำสั่งรอบนี้ เช่น การสั่งปิดร้านขายแอลกอฮอล์ก่อน เพราะส่วนตัวเขามองว่าในสถานการณ์แบบนี้ไม่มีใครมาเมา หรือกินไม่รับผิดชอบ กินแก้วหรือสองแก้วแล้วกลับ ซึ่งก็อาจจะจำกัดเวลาขายให้สั้นลงได้ ซึ่งวิธีนี้ก็จะช่วยพยุงเศรษฐกิจและกระแสเงินสดของร้านอาหาร ผับ บาร์ ได้ ไม่ให้ล้มหายตายจากไปมากกว่านี้
“เรื่องที่บรรดาร้านอาหารเจอมันคือการบริหารงานของภาครัฐที่ไม่มีความจริงใจ ผมเชื่ออย่างหนึ่งว่าถ้าภาครัฐตั้งใจและจริงใจทำอะไร มันแก้ปัญหาได้ทุกเรื่อง แต่นี่สะท้อนให้เห็นแล้วว่า – อาจจะมีก็ได้ ผมก็ยังเชื่อว่าเขามี แต่เขาอาจจะลืมหรือนึกไม่ถึง แล้วก็ผลักภาระมาให้ประชาชน”
“ไม่มีใครอยากติดโรค คนทำร้านก็ไม่อยากติด แต่การจะสั่งปิดมันต้องมีเงื่อนไขเยียวยา ถ้าคิดไม่ออกก็ดูมาตรการจากต่างประเทศก็ได้ เราก็พร้อมถ้ารายได้ลดลง คือผมเชื่อว่าเจ้าของร้านในช่วงนี้ไม่ได้ต้องการกำไรหรอก แค่อยากให้ธุรกิจเขารอดไปพ้นโควิดก็พอ แล้วพนักงานที่อยู่กับเขาก็ยังมีกินมีใช้ แต่ไม่ใช่ว่ายอดเป็น 0 แล้วไงต่อ ไม่มีข้าวกินกัน จนถึงมีคนยอมติด COVID-19 เพราะไม่มีข้าวกิน”
สิ่งที่ไก่มองต่อไปในอนาคตคือ เขาคิดว่าเศรษฐกิจไทยจะล้มได้ เพราะตอนนี้คือสถานการณ์ที่คนไม่มีรายได้ ธนาคารไม่ช่วยเหลือ ไม่มีมาตรการช่วยเหลือ เงินฝืดในประเทศ คนตกงาน ก็จะนำสู่อาชญากรรมได้
“รัฐต้องยอมรับก่อนว่า ปัญหารอบนี้ประชาชนไม่ได้ก่อ ก่อนที่จะแก้ปัญหาคุณต้องยอมรับก่อนว่ามันเป็นปัญหา ปัญหาเกิดจากอะไร บ่อนการพนัน คุณบอกไม่มี ประชาชนไม่ได้ทำอะไรเลย นี่คือการใช้อำนาจรัฐที่หละหลวม ผมบอกเลยว่าเราต้องเอาปัญหานี้มาคุยกันให้ได้ ประเทศนี้มันหลีกเลี่ยงวันพูดความจริงกัน แล้วพอตัวเลขเป็น 0 เดี๋ยวมันก็มีปัญหาแบบเดิมอีก”
“ผมไม่เข้าใจว่าทำไมประชาชนต้องโดนตำหนิ” ไก่ทิ้งท้าย “ไม่งั้นมันไม่มีหรอกไทยชนะ มีแต่รัฐบาลชนะ แล้วประชาชนตาย”
“ถ้าเขามองว่าคนเท่าเทียมกันเขาจะไม่มายเซ็ตแบบนี้ ผมกล้าพูดเลย”
นอร์ธ – ศุภกณิศ หทโยดม เจ้าของร้าน Move On
ที่ตั้ง: เอกมัย
รายได้ที่ลดลงเมื่องดขายแอลกอฮอล์และปิดร้านสามทุ่ม: 100%
เมื่อเราขึ้นตึกไปถึงชั้นบนสุดของอาคารพาณิชย์ตรงข้ามเกตเวย์เอกมัย เราพบเพียงความว่างเปล่า – เก้าอี้ถูกยกเก็บขึ้นบนโต๊ะ ไร้วี่แววผู้คน ยกเว้น ‘นอร์ธ – ศุภกณิศ หทโยดม’ หนึ่งในหุ้นส่วนร้าน Move On เอกมัย ที่นั่งรอเราอยู่ กับพนักงานอีกหนึ่งคนที่จัดแจงหาน้ำเปล่ามาให้ดื่มดับกระหายในช่วงบ่ายที่แดดระอุ
นอร์ธเล่าว่า Move On เป็นร้านที่ได้รับพิษเศรษฐกิจจาก COVID-19 เต็มๆ เพราะเมื่อต้นปีก่อน ทางร้านตั้งใจจะเปิดร้าน ก็ต้องขยับแผนออกมาเพราะล็อกดาวน์พอดี พอปลดล็อกดาวน์ ร้านก็เปิดมาได้ 6 เดือนเท่านั้นก่อนคำสั่งล็อกดาวน์ที่ไม่ล็อกดาวน์รอบที่สอง
ร้านตัดสินใจปิดทันทีที่รัฐบาลสั่งห้ามขายแอลกอฮอล์หน้าร้าน เพราะทางร้านไม่สามารถปรับตัวขายอาหารได้ เพิ่งเปิดได้ไม่นาน และไม่ได้มีเมนูเด่นอะไร การเปิดเหมือนจะเอาค่าใช้จ่ายไปโปรยเล่นเสียมากกว่า จะให้ปรับมาทำร้านขายอาหารกลางวัน หรือทำเดลิเวอรี ก็ต้องลงทุนเพิ่ม ตัวร้านก็ไม่เหมาะจะขายกลางวันเพราะอยู่ดาดฟ้า แต่ถึงจะไม่ได้เปิดร้าน เขาก็ยังจ่ายเงินพนักงานที่ร้านเต็มๆ อยู่ เขาบอกคำเดียวว่าไม่อยากให้พนักงานต้องไปลำบาก เพราะพวกเขาทำงานบริการมาอย่างดีตลอด
“สำหรับร้านเราค่อนข้างยากเลย ตอนนี้เขาบอกให้ปิดสามทุ่ม ร้านเราเปิด 5 โมง มันไม่คุ้มค่าเปิด เพราะเราไม่รู้เลยลูกค้าจะมาใช้บริการหรือเปล่า อาจจะมี 3-4 โต๊ะต่อวันเพราะยังมีพนักงานออฟฟิศมาทำงานอยู่ แต่ส่วนใหญ่ก็ WFH ค่าใช้จ่ายในการเปิดร้านมันเยอะกว่ารายรับ เพราะงั้นเราเลือกปิดไปเลยดีกว่า”
“มาตรการตอนนี้มันยังงงๆ พอไม่ได้ล็อกดาวน์ไปเลยก็ไม่เกิดมาตรการเยียวยา เราก็ไม่รู้ว่าเราจะต้องปิดไปอีกกี่เดือน ตอนนี้ใช้มาตรการคุมเข้มแล้วมารอดูกันว่ายังไง แต่ส่วนตัวมองว่าถ้าล็อกดาวน์ไปเลยจะดีกว่าแล้วตรวจปูพรมไปเลย คือมันเจ็บแน่ๆ อยู่แล้ว แต่เจ็บรวดเดียว ฮึบ จบ แต่อันนี้เหมือนค่อยๆ เจ็บไปเรื่อยๆ แล้วมันคงจะระยะยาว สุดท้ายเราก็มีแต่รายจ่าย รายได้ก็หาไม่ได้” นอร์ธมองว่า รอบก่อนก็ล็อกดาวน์กันไปแล้ว รัฐน่าจะมีความรู้จากรอบก่อนในการทำล็อกดาวน์รอบใหม่ให้ดีขึ้นกว่าเดิม และช่วยบรรเทาคนทำธุรกิจได้มากขึ้่น
สำหรับนอร์ธในฐานะผู้ประกอบการวัยยี่สิบต้นๆ เขาและเพื่อนๆ ลงแรงกับร้านไว้มาก ดังนั้นยังคาดหวังอยู่เต็มอกว่า หลังโรคระบาดหมดไป ร้านของพวกเขาจะอยู่รอด และเป็นพื้นที่สังสรรค์ของคนทำงานหลังเลิกงานย่านนี้ต่อไป – ดังนั้นสิ่งที่เขาทำได้ในตอนนี้คือการกัดฟันพยายามด้วยตัวเอง เจรจาค่าเช่าพื้นที่ใหม่ และประเมินสถานการณ์เป็นเฟสๆ ไปว่าหากร้านยังเปิดไม่ได้ จะทำอะไรกันต่อไปดี
นิก – จิรัชย์ สามารถ เจ้าของร้าน Wanderlust
ที่ตั้ง: ทองหล่อ
รายได้ที่ลดลงเมื่องดขายแอลกอฮอล์และปิดร้านสามทุ่ม: 80%
ทองหล่อในวันที่ไม่มีนักชาวออฟฟิศและนักท่องเที่ยวช่างเงียบเหงา เช่นเดียวกับบนดาดฟ้าร้าน Wanderlust ที่ ‘นิก – จิรัชย์ สามารถ’ ต้องมาเปิดร้านตั้งแต่เช้า เพื่อเปิดร้านขายเดลิเวอรีอาหารซิกเนอเจอร์ของร้านอย่างพวกไก่ทอดแทนการเปิดร้านเหล้า จากค้างคาวกลางคืน เขากลายเป็นนกที่ตื่นเช้า
“สถานการณ์คือหนักหมด ไม่ว่าจะล็อกดาวน์รอบก่อน หรือรอบนี้ ด้วยธุรกิจของเรามันหากินกับช่วงปลายปี แล้วร้านเรามันเป็นเอาท์ดอร์ เราก็เฝ้าหวังว่าปลายปีต้นปีนี้ จะได้ยอดกลับมา หรือได้ลูกค้าออฟฟิศมาเหมาจัดปาร์ตี้ เพราะหน้าฝนยอดเรามันไม่ดีแน่ๆ ยอดจากแอลกฮอลล์หายไปเลย จากขั้นต่ำวันละหมื่น ตอนนี้ 1-2 พัน” แต่รอบนี้นิกบอกว่า ต่อให้เขาต้องเจอฝนตกฟ้าถล่ม ก็ยังดีกว่าที่คนไม่ออกจากบ้านเลย
“แต่สำหรับรอบนี้ ลูกค้าจะกังวลเรื่องที่มาของวัตถุดิบมากขึ้น ผมก็พยายามหาว่าวัตถุดิบเรามาจากแหล่งไหน เราก็ต้องปรับตัวมาเสิร์ฟอาหารสุกทั้งหมด”
สิ่งที่นิกกังวลใจในวันนี้ที่สุดคือสถานการณ์ที่ไม่จะจบเมื่อไหร่ เพราะถ้ารายได้กับรายจ่ายไม่สมดุล วันหนึ่งอาจจะต้องปิดร้าน หรือไม่ก็ต้องกู้เงิน ขณะเดียวกันก็ยังมีชีวิตพนักงานต้องรับผิดชอบ ซึ่งรอบนี้ที่สั่งงดขายหน้าร้านคือโดนเต็มๆ เพราะไม่มีเงินช่วยเหลือจากประกันสังคมแล้ว และการจะไปหักเงินเดือนพนักงานเป็นเรื่องที่เขาทำไม่ได้
“เรื่องความปลอดภัยความสะอาดที่รัฐบาลแอ็กชั่นมา ตอนนี้ธุรกิจรู้แล้วว่าต้องทำอะไรบ้าง สิ่งที่ผมอยากได้ในฐานะคนทำธุรกิจคือ รัฐคุยกับธนาคารได้ไหมเรื่องเงินกู้ไม่มีดอก จะเว้นดอกให้สักหกเดือน ปีหนึ่ง หรือการที่รัฐบาลหาคนที่เก่งประสบการณ์ด้านธุรกิจ คนที่รู้จริงๆ ว่าต้องทำยังไงให้ธุรกิจรอด ตอนนี้นอกจากเรื่องโรคระบาด ธุรกิจก็จะตายไปด้วย”