“คนไทยอ่านหนังสือวันละไม่เกิน 8 บรรทัด” ประโยคแสนคลาสสิกที่กลายเป็นวาทกรรมที่ทำให้ภาพวัฒนธรรมการอ่านในไทยถูกด้อยค่าลงไป และยังนำไปสู่คำถามว่าทำไมการอ่านถึงจำกัดอยู่แค่ในหนังสือ ‘การอ่าน’ มันย้ายไปอยู่บนรูปแบบอื่นๆ ได้ไหม จะผิดมั้ยถ้าเราชอบอ่าน แต่ไม่ได้อ่านหนังสือเป็นเล่มๆ เราจะถูกมองว่าเป็นประชากรที่อ่านหนังสือไม่เกิน 8 บรรทัดรึเปล่านะ
ยิ่งปัจจุบันมีแพลตฟอร์มการอ่านกำเนิดขึ้นมามาก อย่างตอนนี้ที่คุณกำลังอ่านข้อความบนเว็บไซต์ The MATTER ก็ควรถูกนับเป็นการอ่านด้วยมั้ย หรือการอ่านจอยลดา นิยายแชต อ่านตั๋วรถเมล์ อ่านโฆษณา สิ่งเหล่านี้มีคุณค่าด้วยหรือเปล่า
The MATTER ไปคุยกับ กาย – ปฏิกาล ภาคกาย ที่ในแง่หนึ่ง เขาคือบรรณาธิการสำนักพิมพ์ salmon books แต่ตอนนี้เขาก็ขยับตัวมาทำเพจ CONT. เพจที่ชวนเรามาอ่านสิ่งต่างๆ รอบตัว โดยที่ไม่ต้องจำกัดแค่ในหนังสือ เพราะอยากทำให้การอ่าน ไม่ว่าจะอ่านอะไรก็ตาม เราสามารถสนุกไปกับการทำความเข้าใจสื่อต่างๆ ที่มีตัวอักษรเป็นองค์ประกอบได้
ในฐานะที่กายทำหนังสือด้วย แต่ก็ทำเพจ CONT. เขามองเห็นอะไรในวงการการอ่านของไทย วัฒนธรรมการอ่านเป็นยังไง แล้วหนังสือยังจำเป็นอยู่มั้ยในปัจจุบัน
CONT. ชื่อนี้มาจากไหน?
จริงๆ ก่อนจะชื่อนี้มันมีหลายชื่อมากเลยอะ คือคนทำเพจนี้ก็คือทีม salmon เนอะ แล้วเป็นการกระโดดมาทำออนไลน์จริงจัง ก็เหมือนมาคิดกันว่า เออ โดย inside แล้ว salmon books กับบันลือฯ รากของมันคือหนังสือทั้งหมดเลย เป็นการอ่านทั้งหมด พอเราจะทำสิ่งใหม่ขึ้นมา ก็เลยยังอยากทำที่เกี่ยวข้องกับการอ่านอยู่ ยังกลับมาสู่ประเด็นของ salmon books เกี่ยวข้องกับบันลือฯ ได้ แล้วเราก็คิดว่า มันมีคำอะไรที่เกี่ยวกับการอ่านได้บ้าง เราก็นึกถึงคำว่า continue เนี่ยแหละ continue reading อะไรอย่างนี้
คือ continue reading เรานึกในสองความหมาย ความหมายแรกก็คือ ย้อนกลับไปความหมายเกี่ยวกับหนังสือก่อนก็ได้ พวกหนังสือสมัยก่อนมันจะชอบมีคำว่า cont. อยู่ อย่างหนังสือพิมพ์พวกต่างประเทศ วารสาร หรืออะไรต่างๆ ที่พอมันยาวหรือไม่จบ ต้องเปิดไปอีกก็จะเจอคำว่า cont. อยู่ แล้วเราก็คิดว่าเราชอบคำนี้ คือแบบมันจะมี icon ที่มันเป็นแบบรูปนิ้วชี้อะ แบบพลิกไปนั่นไปนี้อะไรอย่างนี้ เราก็รู้สึกว่าเราชอบคำนี้ ตอนแรกเราคิดไอคอนด้วยแล้วมันเห็นภาพดี ใช้เป็นนิ้วแล้วเห็นเป็นภาพเลย นั่นแหละเริ่มต้น
กับอันที่สองคือ เราก็อ่านเฟซบุ๊ก มีคนเขียนอะไรในเฟซบุ๊กยาวๆ มาก ก็อ่านบ้าง save ไว้บ้าง แต่คำหนึ่งที่เราติดใจในเฟซบุ๊กนั่นก็คือ continue reading คือบางคนอาจจะรู้สึกว่า เดี๋ยวนี้ต้องเขียนแคปชั่นสั้นๆ ที่พอมันมี continue reading มันก็ดูท้าทายดีนะ เราเห็นแล้วเรารู้เลยอะว่า หนึ่งมันยาวชัวร์ กับสองคือตัดสินเลยว่าพร้อมแล้วใช่ไหมที่จะอ่าน เราก็เลยรู้สึกแบบ อย่างน้อยพอมีตัวนี้ก็ทำให้เรากลับมาสนใจตัวเนื้อหาที่มันอยู่ว่าเราอยากอ่านมันไหม ไอพวกยาวๆ ทั้งหลายแหล่ หรือแบบเหตุผลในการกด save ไม่กด save อะไรแบบนี้ หรือแบบ ถ้าตอนนั้นเราว่างเราอยากอ่านเมื่อไหร่ก็ตาม เราก็กด save มันไว้ก่อน แล้วค่อยมา continue อีกที
พอตอนคิดชื่อก็เลยเคาะไว้ว่า งั้นเอาชื่อนี้ละกัน cont. แล้วกัน หนึ่งชวนไปอ่านต่อ แล้วสองก็คือเราอยากเน้นเครื่องหมายว่า การอ่านมันยังอยู่ได้ ทุกวันนี้เราก็ยังอ่านต่อไป เรายัง continue ในการอ่านอยู่นะ แม้หนังสืออาจจะไม่จำเป็นแล้ว เราก็อ่านเฟซบุ๊ก อ่านแก้วน้ำ อ่านตั๋วรถเมล์ อ่านอะไรก็ได้ เราอยากลิงก์ว่าสิ่งที่เราอ่านอยู่ไม่จำเป็นต้องอยู่แค่ในหนังสืออะไรแบบนี้
เพจนี้เกี่ยวกับอะไร
สิ่งที่ cont. กำลังจะทำคือเกี่ยวข้องกับ reading culture วัฒนธรรมการอ่านทั้งหลายแหล่ เราอ่านหนังสืออะไรอยู่ เราเห็นหนังสือในสื่อไหน เราอยากชวนคุณอ่านอะไร ทุกวันนี้คนอ่านอะไร อาจจะเป็นจอยลดาก็ได้ อาจจะเป็นหนังสือต่างๆ หรือ e-book หรือข้อความสั้นๆ ในทวิตเตอร์ หรือข่าวหนังสือพิมพ์ที่เราเห็นคำนี้แล้วอยากรู้ความหมายของมัน อะไรที่เราอ่านแล้วเห็นความหมาย อะไรก็ได้ที่เกี่ยวกับไลฟ์สไตล์ที่เกี่ยวข้องกับการอ่าน แล้วเราก็รู้สึกว่าคำว่า reading culture มันได้อีกความหมายหนึ่งตรงที่ เราก็เข้าไปอ่านวัฒนธรรมต่างๆ อีกทีหนึ่ง แทนที่เราจะอ่านแค่หนังสืออย่างเดียว เราก็มีวัฒนธรรมพวกนี้มาเกี่ยวข้อง เพราะว่าสุดท้ายการอ่านไม่ว่าอะไรก็ตาม มันก็มีเนื้อหาของมัน ต่อให้เป็นหนังสือก็มีหนังสือหลายประเภท เพราะฉะนั้นเราก็รู้สึกว่าพอเราพูดถึงการอ่าน เราก็ไม่จำเป็นต้องจำเพาะหรือรอแค่หนังสือเพียงอย่างเดียว เราไปสู่สิ่งอื่นๆ ได้ เราสามารถอ่านความหมายที่ซ่อนอยู่ในภาพยนตร์ได้ เราสามารถอ่านศิลปะวัฒนธรรมพวก k-pop ได้ เราสามารถอ่านความหมายของภาพถ่ายได้
หรือคอลัมน์ revolution ก็ตั้งต้นมาจากว่าอยากรู้เหตุการณ์สำคัญในโลกมีหนังสือมาเกี่ยวข้องไหม อย่าง 14 ตุลา เราก็รู้แหละว่านักศึกษาออกมาประท้วงเรื่องอะไร แต่เราอยากรู้ว่าช่วงเล็กๆ ของเหตุการณ์นี้ คนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์นี้ หนังสือมันเข้าไปเกี่ยวข้องบ้างไหม แต่มันอาจจะเป็นแค่ส่วนเล็กน้อยก็ได้นะ แต่เราก็อยากรู้ว่าใน revolution นั้นๆ เนี่ย มันมีการอ่านเข้าไปเกี่ยวกับมันหรือเปล่า ก็เอาเรื่องพวกนี้มานำเสนอ
ในเว็บไซต์ของ cont. มีหลักๆ สี่หมวด นั่นก็คือ reading ก็ตรงตัวเลยคือก็พูดเรื่องการอ่าน ชวนใครก็ได้คุยเรื่องการอ่าน ซึ่งเขาอาจจะอ่านหนังสือหรือไม่อ่านก็ได้ แล้วก็ thinking เพราะคิดว่านอกจากจะคุยกับคนที่อ่านหนังสือแล้ว เราก็ต้องคุยกับคนที่ทำหนังสือบ้าง ในแง่นี้ก็อาจจะคุยกับคนทำสำนักพิมพ์ นักเขียน นักธุรกิจ ศิลปินต่างๆ รวมไปถึงพูดถึงกระบวนการสร้างงานหรือกระบวนการอื่นๆ จากสื่อที่เป็นการเล่าเรื่อง ซึ่งถ้าเราไม่ได้เล่าเรื่องด้วยตัวหนังสือย่างเดียว เราจะคุยกับเขาได้ไหม ยกตัวอย่างเช่น untitled case เริ่มจากเป็นรายการ podcast แล้วค่อยมาเริ่มเขียนเป็นหนังสือ เราก็อยากรู้ว่ายชญ์-ธัญไปเอาข้อมูลมาจากไหนอีกทีหนึ่ง ต้องผ่านการอ่านมาหรือเปล่า แล้วคุณมีวิธีการเรียบเรียงยังไงให้เขียนแล้วเป็นแบบใน untitled case มันก็จะเชื่อมโยงสู่กระบวนการอ่าน ได้ input มาแล้วเอา output ออกมายังไง
contemp ย่อมาจาก contemporary ตรงตัวเลยก็คือปัจจุบัน เรื่องของเทรนด์อะไรอย่างนี้ คือเราอยากรู้แหละว่าทุกวันนี้คนสนใจอะไรเกี่ยวกับการอ่าน อะไรที่เราหยิบมาพูดได้ในปัจจุบัน เช่น ชวนร้านหนังสือ The Booksmith คุยว่าในช่วง COVID-19 เขาทำยังไง ร้านหนังสือเอาตัวรอดได้ยังไง พยายามจับเอาสถานการณ์ในช่วงนั้นมาคุย เกี่ยวกับผู้คน เกี่ยวกับผู้คนในแวดวงการอ่านต่างๆ
สำหรับ context ต้องการจะบอกว่านอกจากอ่านหนังสือแล้ว เราอ่านอย่างอื่นก็ได้ เราอ่านหนังก็ได้ เราอ่านหน้าปกซีดีก็ได้ แล้วก็สามารถทำความเข้าใจมันได้ วิทยาศาสตร์อาจจะสนุกก็ได้ จิตวิทยาอะไรแบบนี้ เราจะสามารถอ่านหนังสือด้วยมุมมองไหนได้อีกบ้าง เราถึงจะเข้าใจ มีการวิเคราะห์บ้าง ให้ข้อมูลเสริมบ้าง
สีเหลืองมาจากไหน?
เราอยากให้ cont. สนุกสนาน ก็เลยคิดว่าสีไหนบ้างที่จะนำเสนอความตื่นเต้น ความสนุก ความขี้เล่นได้ ก็เลยคิดว่าสีเหลืองละกัน เตะตาดี ก็เตะจริง ๆ คนด่าเต็มเลย ก็หลังจากที่มีคนบ่นเราก็ปรับเป็น night mode ให้ ก็ได้ครับ ผมยอมแล้ว
หลังเปิดเพจมาสักพักเป็นไงบ้าง
ต่อให้เราบอกว่าคนไม่อ่านหนังสือแล้ว หรือคนอ่านหนังสือน้อยลง แต่พอคอนเทนต์ของ cont. ที่ทำออกไป ชิ้นที่ได้รับ feedback ดีก็เกี่ยวกับหนังสือนะ อย่างเช่น กันต์ ฮอร์โมน คนก็ให้ความสนใจในแง่ที่ว่า กันต์เป็นดาราแหละ แต่บทสัมภาษณ์ก็คุยกับเขาเรื่องทำสำนักพิมพ์เอง เป็นนักเขียน ซึ่งคนก็สนใจกันต์ในบทบาทนี้เหมือนกัน หรือบทสัมภาษณ์ที่ได้รับความนิยมคือเกี่ยวกับ ‘กุเชอร์รี่’ อย่างเนี่ย แปลว่าก็มีคนที่อยากรู้เรื่องของคนที่เขียนนิยายแชตเหมือนกัน บางทีอาจจะเป็นแฟนคลับเขาก็ได้ แต่ว่านอกจากแฟนคลับแล้วเราก็เชื่อว่ามีคนที่ไม่รู้จักนิยายแชตด้วย
แล้วมีไปสำรวจไหมว่าตอนนี้เขาอ่านอะไรกัน
เราคิดว่า คนอ่านหนังสือ หมายถึงว่าอ่านอย่างเป็นรูปเล่มเลยนะ ก็ยังอ่านอยู่ งานหนังสือนี่คนก็ยังเยอะอยู่นะ แต่ว่าเรารู้สึกว่า มันไม่จำเป็นว่าคนอ่านหนังสือต้องอยู่แค่ในหนังสืออย่างเดียวแล้ว แต่พอพูดถึงการอ่านปุ๊บ คนมันก็จะผูกโยงกับหนังสืออะ
cont. เลยพยายามที่จะแบบว่า โอเค ไม่อ่านหนังสือใช่ไหม งั้นถามต่อว่า แล้วแต่ละวันเสพสื่อจากอะไร หรือเวลาไถเฟซบุ๊ก เล่นอินสตาแกรม เห็นอะไรบ้างไหม หรืออ่านอะไรบ้างไหม ถ้าเราไปคุยกับคนที่เป็นดาราก็อาจจะเป็นแบบนั้น แต่ถ้าเราไปคุยกับคนที่ศิลปะวัฒนธรรมหรือนักธุรกิจอะไรแบบนี้ เราก็อาจจะถามเขาในแง่ของเชิง input แหละ สมัยก่อนเราก็จะติดภาพแบบว่า โอ้ เราเสพหนังสือเล่มนี้เพื่อทำสิ่งนี้ แต่นักธุรกิจ เราก็อยากรู้ว่า ถ้าคุณไม่อ่านหนังสือ คุณไม่มีเวลาจริงๆ ในแต่ละวันคุณหา input ให้ตัวเองยังไง ซึ่ง input เหล่านั้นมันอาจจะเป็นการทำความเข้าใจ เสพความรู้จากที่อื่นเพื่อมาต่อยอดก็ได้
แต่จากที่ไปคุยมา ทุกคนยังอ่านอยู่ แต่ว่าอ่านมากอ่านน้อยก็อีกเรื่องหนึ่ง อาจจะเพราะตอนนี้ยังคุยกับคนที่อายุเยอะอยู่ด้วย ทุกคนเลยยังยืนพื้นหนังสืออยู่ แต่ว่าก็มีบ้างที่แบบว่าอ่านจอยลดา เริ่มโซเชียลมากขึ้น เล่นทวิตเตอร์มากขึ้นอะไรแบบนี้ครับ เฟซบุ๊กก็มีนะ
เห็นเพจ cont. ไปตามดูหนังสือใน pop culture ต่างๆ ไปเสิร์ชหาเจอได้ยังไง หรือมีความสนใจอยู่แล้วเลยเก็บข้อมูลไว้อยู่แล้ว
อันนี้เป็นความอยากรู้อยากเห็นกันในทีมแหละ มันมาจากที่จริงๆ เรารู้สึกว่าเราพอเราเห็นคนที่เราชอบ หรือเห็นหนังสือที่เราชอบปรากฏตามที่ต่างๆ เรารู้สึกตื่นเต้น เวลาเห็นเล่ม animal farm จากดาราที่เราชอบ หรือใครก็ได้ที่เรารู้จัก อ่านหนังสือเล่มเดียวกันกับที่เราชอบ เราก็รู้สึกว่าเจ๋งว่ะ เนี่ย แล้วเราก็ติดตามเขาต่อ ในขณะเดียวกันถ้าเราชอบปราบดา หยุ่น ถ้าเราชอบ BNK ถ้าเราชอบเต๋อ นวพล แล้วเห็นว่าพี่เต๋ออ่านหนังสือว่ะ พี่เป็นเอกอ่านเล่มนี้ว่ะ ถ่ายรูปเล่มนี้ว่ะ ในฐานะของคนที่อ่านเราก็จะสนใจหนังสือเล่มนั้นขึ้นมาแหละ ไปจนถึงเรารู้สึกว่า บางทีนอกจากการสนใจในตัวบุคคลแล้ว บางทีการเห็นหนังสือตามสื่อต่างๆ มันก็ชวนให้เราฉุกคิดต่อว่า เออ แล้วทำไมเขาถึงเลือกหนังสือเล่มนั้นวะ
เช่น MV เพลงนี้เศร้ามากเลย แต่ทำไมมีหนังสือของพี่หนึ่ง วรพจน์ มันเกี่ยวอะไรหรือเปล่าอะไรอย่างนี้ หรือหนังเรื่องนี้ทำไมต้องหยิบอันนี้มาใช้ ทำไมวงเกาหลี ถึงอ้างอิงงานเฮอร์มานน์ เฮสเส แล้วเฮสเสคือใคร อย่างเนี่ย มันก็ทำให้ในฐานะของคนอ่าน ก็จะรู้สึกว่าไอดอลแม่งเจ๋งวะ อ่านเฮสเสด้วย หรือก็อาจจะคิดต่อไปว่าทำไมเฮสเสต้องเป็นแรงบันดาลใจให้วงนี้ เราก็ต้องไปหาอ่านตามต่ออีกทีหนึ่ง ในขณะเดียวกัน การติดตาม pop culture ต่างๆ มันก็รู้สึกเหมือนเป็นการแนะนำให้เรารู้จักกับหนังสือเล่มนั้นไปโดยไม่รู้ตัว ซึ่งแบบบางทีเราอาจจะไม่เคยอ่านเฮสเสเลยก็ได้ ไม่รู้จักเลยก็ได้ แต่พอเราเห็น BTS อ่าน เราก็ได้แรงบันดาลใจมาจนอาจจะอยากอ่านตาม
หรือง่ายๆ เลย อย่าง #จินยองอ่าน บางเล่มเราก็สนใจเหมือนกัน เขาอ่านอะไร ไปอ่านบ้างไหม หรือแบบสมมติ มุราคามิอย่างเนี่ย ได้ยินชื่อมาตลอดเลย แต่ไม่เคยอ่าน แต่พอเห็นนาย A อ่าน Norwegian wood งั้นเริ่มจาก Norwegian wood ก่อนไหม หรือ ฮิงาชิโนะ เคโงะ ดังมากเลย แต่เราไม่รู้จะเริ่มจากใคร แต่เราเห็นพี่ xxx อ่าน เราก็อาจจะแบบ งั้นขอลองจากเล่มนี้ก่อนละกัน มันก็เป็นความรู้สึกว่า สำหรับคนชอบอ่าน หรือคนที่ติดตามหนังสือ ก็ยังมีหนังสือที่หลุดลอดไปเยอะ หรือเราไม่รู้จะเริ่มจากใครหรือเริ่มจากตรงไหน เวลาเห็นตามสื่อก็อาจจะแปลได้ว่าต้องมีอะไรดี ไม่งั้นเซเปียน (Sapiens) มันจะถูกหยิบมาตลอดได้ไงวะ งั้นลองหน่อยไหม
คอนเทนต์นี้เลยเป็นอารมณ์แบบแนะนำหนังสือกลายๆ แหละ แต่แบบก็ให้ได้รู้ว่าหนังสือเล่มนี้มันไปโผล่ตามที่อื่นๆ ด้วย ไม่ใช่แค่ แนะนำจ้า ทื่อๆ แต่ก็ต้องดูว่า แต่ละที่มันไปปรากฏที่ไหนบ้าง เพราะเรารู้สึกว่าบางทีถ้ามันไปอยู่ใน pop culture อย่างเนี่ย คนทำเขาคิดมาแล้วว่าทำไมมันต้องเป็นเล่มนี้ ซึ่งสำหรับคนที่ไม่เคยอ่านก็อาจจะเห็นแล้วไปอ่านตาม แต่สำหรับคนที่เคยอ่านแล้ว แล้วรู้ว่ามันมีอยู่ในหนังเล่นนี้ มีอยู่ในนี้ บางทีเขาอาจจะมองสื่อนั้นเปลี่ยนไปก็ได้ หรือเข้าใจกับ MV นั้นมากขึ้นก็ได้ว่าทำไมหนังสือถึงอยู่ใน MV นี้ มันเชื่อมโยงกันไปกันมา
คิดว่าการอ่านมันสำคัญกับชีวิตยังไง จำเป็นแค่ไหน
เราว่าจริงๆ การอ่านมันอาจจะเป็นการเข้าใจรูปแบบหนึ่งละมั้ง จริงๆ เราไม่ค่อยอยากบอกว่าการอ่านเป็นขุมทรัพย์ทางปัญญา เราอยากให้การอ่านมันเข้าถึงง่าย เรารู้สึกว่าอยากให้การอ่านเป็นเรื่องสนุก โอเค คุณอยากอ่านหนังสือเพื่อความรู้ก็ได้นะ แต่ cont.ก็อยากนำเสนอในแง่ที่ เราอ่านหนังสือเพื่อฆ่าเวลาก็ได้ เราอ่านหนังสือเพื่อความบันเทิงก็ได้ บางทีเราก็ไม่ได้ต้องการอ่านหนังสือแบบเซเปียนอย่างเดียว บางทีเราอยากอ่านขายหัวเราะ หรือหนังสือแบบวาไรตี้สุดๆ เช่น จอยลดาอย่างเนี่ย หรือแบบนิยายรักโรแมนติก เพราะงั้นเนี่ยเราอยากทำให้การอ่านเป็นเรื่องธรรมดา
เราคิดว่าการอ่านมันเป็นได้หลายอย่างแหละ โอเคอ่านเอาความรู้ก็ได้ ทุกวันนี้เวลาเราเสพสื่อ เราก็ต้องมานั่ง รีเช็กข้อมูลใช่ไหม อันนี้ก็เรื่องหนึ่ง แต่อีกเรื่องหนึ่งคือ เราคิดว่าการอ่านมันเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่ทำให้เราได้เสพความรู้ ได้ตัดขาดจากโลก ได้คลายเครียด ได้หาความรู้ใหม่ ๆ หรือเปิดไปสู่โลกจินตนาการ แฟนตาซี เราคิดว่าการอ่านมันเป็นกิจกรรมหนึ่งที่ทุกคนก็อาจจะลืมว่าเราเองก็อ่านอยู่ในทุกๆ วัน การอ่านไม่จำเป็นต้องเป็นหนังสือแล้วก็ได้ เราอ่านอะไรก็ได้
ทุกวันนี้เราก็ยังอ่านอยู่เรื่อยๆ นะ อ่านในแง่ว่า ไม่ว่าข้อความอะไรเรา มองป้ายนี้มันก็ยังเป็นการอ่านอยู่นั่นแหละ เพียงแต่เราจะทำยังไงให้เราเห็นแล้วเราเข้าใจมัน เราว่าอันนี้ก็สำคัญ ซึ่งจะทำความเข้าใจในแง่ซีเรียสไหม หรือว่าจะทำความเข้าใจมันในแง่ขบขันอันนี้ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง
สุดท้ายแล้วเราคิดว่าการอ่านมันก็ยังอยู่แหละ เราตัดขาดมันไปไม่ได้ แค่แชตกับเพื่อนมันก็เป็นการอ่านแล้วอะ บ้างทีเราเห็นข้อความเพื่อนอย่าง “มึง” อย่างเนี่ย มันตีความได้เยอะมากๆ เลยนะ เพราะงั้นถ้าเราจะบอกว่า วันนี้คนไม่อ่านเลยก็คงไม่ขนาดนั้น การอ่านมันก็ยังอยู่ แต่ว่าอยู่ในรูปแบบไหนขึ้นอยู่กับแต่ละคนเลย
วัฒนธรรมการอ่านมันคืออะไร แล้วสร้างขึ้นมาได้ยังไง
จริงๆ ก็เป็นสิ่งที่อยากรู้เหมือนกันว่า ทุกวันนี้ วัยรุ่น หรือเด็กประถมอะไรแบบนี้ เขาเสพสื่อกันบ้างหรือเปล่า หรือตำราเรียนมันเป็นยังไงไปแล้ว เรามีหนังสืออ่านนอกเวลาอยู่ไหม อยากรู้อะไรยังต้องไปหาหนังสืออ่านรึเปล่า แล้วพวกหนังสือแบบชุดความรู้ที่นำเสนอในรูปแบบการ์ตูน เขาอ่านกันมั้ย เพราะทุกวันนี้ก็ดูใน youtube ได้ เข้า google ก็อาจจะได้ ถ้างั้นมันไม่จำเป็นแล้วรึเปล่าที่เราจะใช้หนังสือ
แต่ reading culture มันยังอยู่ไหม เราคิดว่ามันอาจจะเป็นเหมือนแบบ อันนี้เดาเองล้วน ๆ เลยนะ แบบคนรุ่นใหม่ เราว่ามันอาจจะเป็นเหมือนแบบไวนิลของเก่าของสมัยก่อนแล้วก็ได้นะ คุณไม่ต้องอ่านหนังสือแล้วก็ได้สำหรับเด็กสมัยใหม่
แต่ว่า จากที่เห็นในงานหนังสืออะ คนก็ยังอ่านอยู่นะ หมายถึงแบบคือทุกวันนี้เราก็ยังสงสัยว่า เด็กมัธยมอ่านอยู่หรอวะ แต่พอเดินในงาน เด็กๆ ก็ยังมีอยู่ การ์ตูนเขาก็ยังอ่านกัน เพียงแต่เขาจะอ่านกันในรูปแบบไหน culture แบบไหน เราว่ามันก็เกี่ยวข้องกับหลายปัจจัยเช่น ทุกวันนี้คนบ่นหนังสือแพง มันก็ตัดโอกาสคน ห้องสมุดก็ไม่มี เลยเหมือนกับว่า ถ้าคนจะอ่านหนังสือ เขาต้องไปขวนขวายเอาเอง ซึ่งถ้าเขาไม่ได้ชอบหรือสนใจ ใครจะยอมควักเงิน 300 บาทวะ
เรื่องนี้ก็เลยเกี่ยวกับการเมืองด้วย คือรัฐไม่สนุบสนุนห้องสมุด มีหนังสือไม่ครอบคลุม แล้วจะไปหาได้จากไหน บางที reading culture มันก็ต้องกลับมาดูว่าแบบการอ่านมันเป็นสิ่งที่ประชาชนต้องสนใจเอง หรือว่ามันจะมีภาครัฐเข้ามา support ในจุดไหน
น่าสนใจว่า ถ้าวันหนึ่งสามารถฟังความรู้ได้จาก podcast หรือจาก youtube หมดเลย แล้วการอ่านมันยังจำเป็นหรือเปล่า
ต้องตอบแบบปัจเจ๊กปัจเจก เราคิดว่า podcast หรือ youtube อะไรอย่างเนี่ย มันก็เป็นสิ่งที่ช่วยได้นะ หมายถึงช่วยให้เราข้าถึงความรู้ได้ ขับรถหรือเดินทางก็สามารถฟังได้ หนังสือบางทีมันเจอข้อจำกัด อย่างถ้าดึก ๆ ไม่มีไฟ หรืออ่านแล้วเมาเรือเมารถอะไรอย่างเนี่ย แต่เราอะคิดว่า podcast หรือ youtube อาจจะไม่เหมาะกับการที่ ข้อมูลเชิงลึกหรือเปล่า แบบประวัติศาสตร์ อาจจะเป็นที่เราเองก็ได้นะ บางคนอาจจะทำได้ แต่ของเราอะ อย่างสมมุติประวัติศาสตร์ อย่างประวัติศาสตร์ชาติไทย หรือเรื่อง 14 ตุลา เรื่องอะไรสักเหตุการณ์หนึ่งที่เราครึ่งชั่วโมงหรือ 1 ชั่วโมง หรือ youtube เองก็ตาม เรารู้สึกว่ามัน take time มากเลยนะ take time ในแง่นี้ สมมุติเราฟัง podcast ถ้าเราเดินทางอยู่ เรารู้สึกว่ามันจะมีโมเมนต์ที่เราหลุด แล้วพอเราหลุดเราก็ต้องกลับไปฟังใหม่ ถ้าไม่ฟังใหม่ ไปต่อเลยเราก็อาจจะไม่เข้าใจ เราอาจจะหาสารนั้นได้ไม่ครบอะไรอย่างเนี่ย
เรารู้สึกว่าหนังสือมันก็น่าจะยังอยู่ได้ เรารู้สึกว่าอาจจะเป็นมุมมองของคนยุคเก่าด้วยมั้ง เรารู้สึกว่า ไม่ค่อยถูกรบกวนเท่าสื่ออื่นอะ บางทีอาจจะจัดการตัวเองได้ง่ายกว่า อย่างเช่นก็ปิดเสียงไปดิวะ หรือเอาหนังสือไปวางไกล ๆ แล้วอ่านหนังสือไป เราคิดว่ามัน support กันมากกว่า คือหนังสือมันยังอยู่ จนถึงการฟัง youtube การฟัง podcast เดี๋ยวนี้เราก็ฟัง เพียงแต่ว่าบางทีไอ้สองอย่างนี้มันอาจจะเป็นเชื้อตั้งต้น ให้เรารู้แล้วว่า โอเคเหตุการณ์นี้มันเกิดอะไรขึ้น ประวัติศาสตร์นี้เป็นยังไง แต่ถ้าเราอยากรู้อะไรต่อเราก็ต้องจดใช่ไหม จำเอาไว้ แล้วเราก็จะมาพิมพ์ google ซึ่งพอเป็น google มันก็อาจจะเป็น youtube บ้าง podcast หรืออาจจะลิงก์มาสู่บทความ เราคิดว่าสิ่งเหล่านี้มันยังเป็นสื่อที่ให้ความรู้อยู่แหละ หนังสือก็คงเป็นองค์ประกอบหนึ่งที่เอื้อให้ podcast คุณจะฟังก็ได้คุณจะดูก็ได้ แต่สุดท้ายแล้วเราคิดว่าในการฟังหรือดูนั้นมันเกี่ยวข้องกับการอ่านเหมือนกัน มันก็คงไม่ถูกตัดขาดโดยสิ้นเชิง
ความสัมพันธ์ระหว่างคนกับการอ่าน มันจะทำให้เกิดผลอะไรได้บ้าง แบบว่า เหมือนกับการอ่านมันเข้ามามีอิทธิพลกับเรายังไง เป็นปัจจัยในชีวิตขนาดนั้นไหม
cont. มันมาจากช่วงโควิดด้วยนะ หมายถึงว่า ช่วงโควิดเราได้อ่านหนังสือเยอะมากเลย เยอะจนแบบ โห พวกหนังสือเก่าที่ดองเอาไว้ เราก็ได้หยิบมาอ่าน พออ่านแล้วก็รู้สึกว่าการอ่านหนังสือมันก็สนุกสุดแล้วอะ หมายถึงในช่วงนั้น ไปดู netflix มันก็ได้ แต่แบบมันก็เบื่อ หรือแบบนั่งเล่นคอมทั้งวันก็ไม่ไหวเปล่าวะ ปวดตาอะ เลยรู้สึกว่าหนังสือมันสงบดีนะ เป็นโลกที่เราสามารถจินตนาการได้เอง ก็เลยรู้สึกว่าหนังสือมันก็ยังเป็นสื่อที่สนุก แล้วก็มีอิทธิพลสำหรับเราแหละ
ด้วยความที่ ก็มีหนังสือที่ออกใหม่ทุกวัน กับหนังสือที่ตกค้างจากอดีต บางทีวันดีคืนดีเราอาจจะไปสนใจหนังสือเก่าก็ได้ เลยรู้สึกว่าอิทธิพลหนังสือก็ยังมีอยู่นะ เพียงแต่เราก็จะเน้นการอ่านแล้วแต่โหมดแหละ เราอยากอ่านเพื่อนความบันเทิง เราอยากอ่านเพื่อศึกษาในแง่ของประวัติศาตร์ หรือในแง่การเล่าเรื่องของเราเอง หรือของคนทำหนังสือ อาจจะเพราะเราอยู่ในแวดวงนี้ เราก้เลยคิดว่าการอ่านหนังสือมันก็ยังจำเป็นอยู่ มันมีอิทธิพลต่อเราอยู่ แต่ถ้าแบบถามถึงคนอื่น เราเชื่อว่ามันก็มีนะคนที่ไม่อ่านหนังสือเลย เราก็ต้องถามว่า ถ้าเขาจัดยังไง เขาจะไม่ได้รับสารเท่าเราหรอ หรือเขาจะไม่ได้รับสารเท่าเราหรอ มันก็ไม่ใช่ บางคนรู้เยอะกว่าเราอีกในแง่เรื่องที่เขาสนใจ โดยที่เขาไม่ต้องอ่านหนังสือก็ได้
เหมือนเมื่อกี้ที่เราคุยกันมาเรื่องการอ่าน เราก็จะยกแต่เรื่องหนังสือ แต่ว่าในอนาคตหนังสือเล่มมันจะเป็นยังไงต่อไป
เราคิดว่าหนังสืออะ มันเป็นเหมือนแพ็กเกจหรือภาชนะห่อหุ้มตัวอักษร จริงๆ สาระของมันอยู่ที่ตัวอักษร แต่แค่หนังสือมันเป็นสื่อหนึ่งที่เอาไว้ส่งข้อความต่ออีกทีหนึ่ง สารนั้นจำเป็นจะต้องพิมพ์หรือไม่พิมพ์ อันนี้มันก็เป็นเหมือนเรื่องยุคสมัยเลย ต่อไปอาจจะไม่ต้องเขียนกันอีกแล้ว ไม่ต้องพิมพ์กันอีกแล้วเป็นหนังสือ อาจจะไม่มีการพิมพ์แล้วก็ได้ อาจไปอยู่บนจอ หรือแบบหนังสืออาจจะเป็นนิชมากๆ พิมพ์ออกมาเหลือแค่ทีละร้อยเล่ม
แต่เราคิดว่าหนังสือมันยังมีอยู่แหละ