สัปดาห์ที่ผ่านมาครบรอบ 50 ปีการก่อตั้งประชาคมอาเซียน ประเทศไทยเราก็เปิดเข้าสู่อาเซียนมาได้แล้วสองปี นอกจากจะพูดสวัสดีได้เพิ่มอีก 9 ภาษาแล้ว เรารู้จักประเทศเพื่อนบ้านกันมากขึ้นไหมนะ
วิธีการรู้จักพวกเขาให้มากขึ้นอาจจะไม่ได้มีเพียงไปเที่ยว ไปแลกเปลี่ยน หรืออ่านข้อมูลเกี่ยวกับประเทศนั้นๆ เพราะ Young MATTER จะพาคุณไปรู้จักเพื่อนบ้านให้มากขึ้น ผ่านการอ่านหนังสือ 9 เล่ม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสั้น บันทึกความทรงจำ นวนิยาย การ์ตูน ไปจนบทกวี
แม้เราจะไม่ได้เห็นประเทศนั้นกับตาตนเอง แต่จะได้รู้จักในอีกมิติผ่านดวงตาของเจ้าของวัฒนธรรมจริงๆ
บรูไน : The Forlorn Adventure โดย Amir Falique (2013)
ผลงานของนักเขียนบรูไนที่เป็นภาษาอังกฤษมีไม่เยอะ แต่หนึ่งในนั้นก็ไม่ใช่นิยายสะท้อนสังคมรสเข้ม หากแต่เป็นนิยายไซไฟทริลเลอร์อ่านกันได้เพลินๆ อย่าง The Forlorn Adventure บอกเล่าเรื่องราวของ A’jon ชาวบรูไนคนแรกที่ได้รับเลือกจากนาซ่าให้ไปปฏิบัติภารกิจบนอวกาศ แต่ในสภาวะไร้แรงโน้มถ่วงนี้อะไรๆ ก็เกิดขึ้นได้ เขาถูกแช่แข็งแล้วตื่นขึ้นมาอีกที 500 ปีถัดมา
บรูไนในอีกครึ่งสหัสวรรษเปลี่ยนไป แต่ก็ยังมีกลิ่นอายเดิม ไม่ว่าจะสภาพบ้านเมืองที่มีมัสยิดแสนสวยอยู่ใจกลางเมือง ป่าไม้อันอุดมสมบูรณ์ที่เป็นจุดขายของประเทศ สุลต่านผู้ปกครองสูงสุดและความนิยมทำอาชีพการค้าของคนบรูไนเชื้อสายจีน ถึงจะเป็นนิยายไซไฟดูเพ้อฝัน แต่เราก็สามารถเก็ทไอเดียจากวรรณกรรมเล่มนี้ได้ว่าความเป็นบรูไนเป็นอย่างไร
มาเลเซีย: The Kampung Boy โดย Lat (1979)
กราฟิกโนเวลแสนน่ารักที่บอกเล่าเรื่องราวน่ารักไม่แพ้กัน ถ่ายทอดชีวิตซนๆ ของเจ้าเด็ก Mat ที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้าน (ภาษามาเลย์เรียกว่า Kampung) ในจังหวัด Perak ซึ่งไม่ได้อยู่ไกลอะไรไทยเลย…อยู่ติดกับทางใต้ของยะลานั้นเอง The Kampung Boy ถูกแปลเป็นหลายภาษาและดัดแปลงเป็นแอนิเมชั่นฉายในหลายประเทศ เจ้าเด็กน้อยก็กลายเป็นไอคอนของมาเลเซีย อ่านการ์ตูนเรื่องนี้แล้วก็ได้เห็นบรรยากาศหมู่บ้านท้องถิ่นของมาเลเซียช่วง 1950 ทั้งชีวิตประจำวันและวัฒนธรรมต่างๆ …จะว่าไปแล้วไอ้การละเล่นพิเรนทร์ๆ ของ Mat ก็คงไม่พ้นวีรกรรมสมัยเด็กของคุณ Lat ชัวร์ๆ
อินโดนีเซีย : This Earth of Mankind โดย Pramoedya Ananta Toer (1980)
เหล่าดินแดนในอาเซียนต่างก็มีประสบการณ์ร่วมเคียงข้างกันมา นั่นก็คือต้องเผชิญกับการล่าอาณานิคมโดยดินแดนตะวันตก อินโดนีเซียเองก็ไม่เป็นที่ละเว้น ทั้งตกเป็นของดัชต์ อยู่ภายใต้อำนาจของกองทัพญี่ปุ่นสมัยสงครามโลก แล้วก็กลับมาเป็นอาณานิคมอีก การเรียกร้องเสรีภาพ ปัญหาความขัดแย้งระหว่างชนชาติหลากหลาย ปัญหานานาจิตตัง
มิงเก เด็กหนุ่มที่มีโอกาสได้เรียนสูงและกลายมาเป็นแรงผลักดันความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นกับสังคมก็โตขึ้นมาในสภาพสังคมเช่นนี้ ไม่ต่างกับนักหนังสือพิมพ์ฮีโร่ของชาติที่เป็นต้นแบบตัวละคร นอกจากหนังสือเล่มนี้ในชื่อไทยว่า ‘แผ่นดินของเรา’ แล้วยังมีหนังสือในเซ็ตเดียวกันอีกสามเล่ม ทั้งหมดเป็นหนังสือต้องห้ามของอินโดนีเซียหลายสิบปี อ่านวรรณกรรมเล่มนี้ไปก็รู้สึกขนลุกเหมือนกับได้ยินเสียงปราโมทยาเล่าเรื่องราวเช่นที่เขาแอบกระซิบให้เพื่อนฟังตอนถูกคุมขังเป็นนักโทษการเมืองนับ 17 ปี
ฟิลิปปินส์ : A LA CARTE FOOD AND FICTION รวมนักเขียน (2007)
อ่านรวมเรื่องสั้นเล่มนี้แล้วต้องทนไม่ไหว วิ่งออกไปหาอาหารฟิลิปปินส์ชิมแน่ๆ เพราะรวมเรื่องสั้นจากนักเขียนหลายคนในเล่มนี้บอกเล่าชีวิตประจำวัน ความสัมพันธ์ของผู้คน และสารพัดเรื่องราวผ่านเมนูอาหารฟิลิปปินส์ จัดเรียงตามลำดับการกินตั้งแต่ออเดิร์ฟเบาๆ อย่างสลัดและซุป อาหารจานหลัก จนกระทั่งปิดท้ายด้วยขนมหวาน ตัวอย่างเมนูก็เช่นสลัดเฟต้าชีส อาร์ติโชคเขียว และเนื้อปู คลุกเคล้ากลมกล่อมมากับเรื่องราวเหนือจริงที่มีสูตรทำสลัดเขียนมาเป็นกลอนประกอบ หรือเมนูอาหารประจำชาติอย่างอโดโบ้ ซี้ดซ้าดไปกับกลิ่นเครื่อง และรสชาติความรักของบาทหลวงสเปนที่หวังจะชนะหัวใจสาวลูกครึ่งฟิลิปปินส์
สิงคโปร์ : The Art of Charlie Chan Hock Chye โดย Sonny Liew (2015)
ของสิงคโปร์เราอยากแนะนำเป็นการ์ตูนช่องอ่านง่ายๆ ของ Sonny Liew เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของสิงคโปร์ ไล่ตั้งแต่ประวัติศาสตร์สมัยเก่าที่ถ่ายทอดผ่านการ์ตูนขาวดำจนกระทั่งพัฒนามาถึงประวัติศาสตร์สมัยใหม่ผ่านลายเส้นมีสีสัน การ์ตูนเล่มนี้ได้รับรางวัลมากมายทั้งระดับประเทศและโลก ตัวอย่างบางส่วนเช่นตอนหนึ่งสิงคโปร์เป็นดินแดนที่ถูกปกครองโดยเอเลี่ยนโดยมีนายกคนเก่ง ลี กวน ยูเป็นทนายที่สื่อสารกับเอเลี่ยนได้…เอเลี่ยนนี่จะหมายถึงใครก็ต้องลองเปิดประวัติศาสตร์สิงคโปร์เทียบคู่ดูกัน
ลาว : กระดูกอเมริกัน โดย บุนทะนอง ซมไซผน (2012)
ห่างกันเพียงเอื้อมมือ แต่ก็เหมือนไกลแสนไกล ลาวอยู่ใกล้ไทย แต่เรารู้จักเพื่อนบ้านมากน้อยแค่ไหนกันนะ เราสามารถหาวรรณกรรมลาวแปลไทยอ่านได้ไม่ยาก เช่น รวมเรื่องสั้น 19 เรื่องของบุนทะนอง ซมไซผน ศิลปินแห่งชาติลาวและนักเขียนรางวัลซีไรต์ เป็นวรรณกรรมแนวเพื่อชีวิตที่ถ่ายทอดสภาพสังคมลาว เรื่องสั้นที่กลายมาเป็นชื่อหนังสืออย่าง ‘กระดูกอเมริกัน’ ก็มีเรื่องราวตรงตามชื่อ เกี่ยวกับทหารอเมริกันที่มาสังเวยชีวิตในสงครามอินโดจีนที่ดินแดนห่างไกลสำหรับพวกเขาแต่เป็นบ้านของชาวลาว นอกจากนี้ในเรื่องสั้นหลายๆ เรื่องยังมีส่วนที่คาบเกี่ยวกับประเทศไทย อ่านเรื่องราวของเพื่อนบ้านก็เหมือนได้อ่านสิ่งที่เขาคิดกับเราไปในตัว
เวียดนาม : Dumb Luck โดย Vu Trong Phung (1936)
ถ้าจะอ่านวรรณกรรมสักเล่มของเวียดนามจะอ่านอะไรดี? สำนักข่าว VnExpress International ของเวียดนามเคยไปสอบถามนักเขียนทรงคุณวุฒิเจ้าของประเทศให้แนะนำหนังสือให้คนต่างชาติสักหน่อย… หนึ่งในนั้นคือนิยายเรื่อง Dumb Luck หนังสือนอกเวลาของเด็ก ม.ปลายเวียดนาม Dumb Luck เป็นเรื่องการผจญภัยของหนุ่มพเนจรที่เปี่ยมไปด้วยไหวพริบในเวียดนามช่วงปี 1930 ซึ่งอยู่ใต้การปกครองของฝรั่งเศส นิยายกัดจิกสังคมเล่มนี้นำเสนอประเด็นชนชั้นและความสัมพันธ์ระหว่างเพศในกรุงฮานอย น่าสนใจว่าถึงเขียนมานานแล้วกว่า 80 ปี แต่กว่าครึ่งของเวลานั้นก็ถูกรัฐบาลแบน จนเพิ่งมาอ่านกันได้อย่างถูกกฎหมายเมื่อ 30 กว่าปีก่อนนี้เอง
กัมพูชา : First They Killed My Father โดย Loung Ung (2000)
เด็กหญิงคนหนึ่งต้องหลบหนีไปชนบทเมื่อกองทัพคอมมิวนิสต์เข้ายึดอำนาจ พ่อของเธอถูกฆ่าและครอบครัวก็แตกกระจายคนละทิศทาง เธอถูกเกณฑ์เข้ากองทัพเด็กภายใต้การนำของเขมรแดงที่ทำการสังหารหมู่ประชาชนเกือบ 1 ใน 4 ของประเทศในศตวรรษที่ 20 สิ่งที่สะเทือนอารมณ์สุดคงเป็นความจริงที่ว่านี้คือบันทึกความทรงจำของเด็กผู้หญิงคนหนึ่งจริงๆ ไม่ใช่เรื่องแต่ง นอกจากเวอร์ชั่นหนังสือแล้ว เรายังสามารถดูเรื่องนี้ได้จากหนังชื่อเดียวกัน กำกับโดยแองเจลีน่า โจลีที่พาลูกชายบุญธรรมเชื้อชาติกัมพูชาไปแสดงในเรื่องด้วย รอดูหนังเรื่องนี้กันได้ทาง Netflix 15 กันยายนนี้
เมียนมาร์ : Bones Will Crow: 15 Contemporary Burmese Poets รวมกวี
เราได้ยินมานักต่อนักว่าเมียนมาร์เป็นประเทศปิด นักเรียกร้องเคยถูกกักบริเวณอยู่บ้าน ทำการค้าก็ไม่เสรี แล้วสื่อแสดงออกทางความคิดเห็นอย่างหนังสือล่ะจะขนาดไหน ทว่าปัจจุบันเสรีภาพในการแสดงออกของเมียนมาร์มีแนวโน้มเปิดกว้างมากขึ้น หากย้อนเวลากลับไปก่อนที่กองเซนเซอร์เนื้อหาจะปิดไปเมื่อ 5 ปีก่อน บทกวีใน Bones Will Crow ก็อาจถูกสั่งห้ามพิมพ์ (ส่วนคนเขียนก็สุ่มเสี่ยงได้สถานะนักโทษการเมือง) บทกวีเล่มนี้ให้ภาพลักษณ์ใหม่ๆ เกี่ยวกับประเทศเมียนมาร์เพราะประเทศเพื่อนบ้านนี้ไม่ได้มีแค่เจดีย์ชเวดากอง แต่กำลังก้าวตามเพื่อนๆ อาเซียนมาติดๆ
หนังสือเพียงเล่มเดียวอาจไม่ได้แทนภาพรวมทั้งประเทศของทุกประเทศ แต่ก็เปิดมุมมองใหม่ๆ บางมุมแก่เรา เพราะอาเซียนไม่ใช่แค่เรื่องน่าเบื่อ มีแต่คำทักทาย หรือธงประจำชาติ ทว่ายังมีความหลากหลายของผู้คน สังคม ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม มารู้จักเพื่อนบ้านของเราให้มากขึ้นกันเถอะ
อ้างอิงข้อมูลจาก