ในโลกที่ข้อมูลข่าวสารความรู้หมุนวนทันท่วงปลายนิ้วคลิกผ่านการสื่อสารบนหน้าจอ หลายคนตั้งคำถามมาเป็นทศวรรษถึงการตายของสิ่งพิมพ์และการครองพื้นที่ของข้อมูลดิจิตอล ห้องสมุดกลายเป็นหนึ่งในหัวข้อสำคัญที่ถูกตั้งคำถาม ในยุคที่เราหาข้อมูลกันได้ง่ายขึ้นแค่พิมพ์ไม่กี่ตัวอักษรใน google การเผชิญหน้ากับโลกดิจิตอลที่มีรุ่นน้องอย่าง e-book ทำให้เกิดความท้าทายใหม่ต่อวัฒนธรรมห้องสมุดเป็นอย่างมาก
‘เยอรมนี’ ถูกเรียกว่าเป็นประเทศที่มีวัฒนธรรมการอ่านที่แข็งแรงในยุโรป คนเยอรมันที่ถูก stereotype จากโลกว่าเป็นคนไร้อารมณ์ขัน (ก็คงมีบ้าง) แต่สื่อสิ่งพิมพ์ (ที่ทั้งขำและไม่ขำ) ก็มีอยู่แทบล้นตลาด มีร้านหนังสือเยอะพอๆ กับซูเปอร์มาร์เก็ตตั้งแต่ร้านหนังสือรายใหญ่ แฟรนไชส์ร้านหนังสือมือสอง ไปจนถึงร้านนิชมาร์เก็ตอย่างพวกหนังสือศาสนา หนังสือเด็ก หนังสือเก่า มีการวิจัยพบว่าคนซื้อ e-book ในเยอรมนีเพียง 6 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นเมื่อเทียบกับอเมริกาที่สูงถึง 20 เปอร์เซ็นต์ โลกของหนังสือในเยอรมนีจึงถือว่ายังมีชีวิต ในขณะเดียวกันห้องสมุดเองก็เริ่มขยับขยายและพยายามจะสร้างความมีชีวิตชีวาในการเรียนรู้ขึ้น
ซีนการอ่านหนังสือของชาวเยอรมันสำหรับเราดูจะน่าสนใจและหลากหลาย แน่นอนว่างานหนังสือที่ใหญ่ที่สุดของโลก Frankfurt Book Fair ที่จัดขึ้นที่เมืองแฟรงเฟิร์ตที่แบ่งเป็นทั้งส่วนของธุรกิจและโลกนักอ่านโดยทั่วไปและ Leipzig book fair ที่ใหญ่รองลงมาเป็นอันดับ2 มี zine festival ขนาดใหญ่ที่เบอร์ลิน รวมไปถึงวัฒนธรรม poetry slam ตามผับเล็กๆ
ย้อนกลับมาดูรากฐานทางการอ่านที่สำคัญ ห้องสมุดไม่เป็นเพียงแค่ห้องสมุด ดูๆ ไปก็คล้ายว่าจะเป็นทั้งโรงเรียนเตรียมอนุบาล เป็น co-working space เป็นที่อ่านหนังสือก่อนสอบ (อันนี้แน่นอนไม่ว่าที่ไทยหรือที่นี่) เป็นที่แลกเปลี่ยนทางภาษาที่มี session อย่างการให้คนที่ใช้เยอรมันเป็นภาษาที่ 2 ได้มีโอกาสเจอกับคนเยอรมัน โดยกิจกรรมทั้งหลายแยกย่อยไปตามความสนใจและวัยของผู้ใช้บริการ ในฤดูร้อนกิจกรรมการอ่านหนังสือยึดครองพื้นที่พอๆ กับการอาบแดด ห้องสมุดเองก็เริ่มขยายตัวไปยังทะเลสาบ สระว่ายน้ำ ไปจนถึงสวนสาธารณะที่แคมป์ Schillig แถบ North Sea ซึ่งถือเป็นแคมป์หน้าร้อนที่ใหญ่และป๊อบสุดในเยอรมนี มีการสนับสนุนการอ่านด้วยการเปิดห้องสมุดในแคมป์ระหว่างเดือนพฤษภาคม-กันยายน เมื่อก่อนโบสถ์หรือวัดเปรียบเหมือนหัวใจของชุมชน กระทั่งในตอนนี้โบสถ์หลายๆ ที่ในเยอรมันนีก็มีบริการห้องสมุดเช่นกัน เราว่าในยุคที่ศาสนาและความเชื่อถูกตั้งคำถาม ความรู้มากกว่าที่กลายเป็นหัวใจของการหาคำตอบ และการอ่านก็ถือเป็นกุญแจสำคัญนั้น
ในฮัมบวค ห้องสมุดใหญ่ Büchenhallen ที่ตั้งอยู่ใจกลางเมืองดูจะดำรงอยู่ได้อย่างหนักแน่น มีผู้ใช้บริการตั้งแต่อยู่ในท้องจนถึงคุณตาคุณยายที่ลากไม้เท้าเข้ามาดมกลิ่นหนังสือ การไปห้องสมุดถือเป็นแหล่งวัตถุดิบทางการเรียนรู้แบบอนาล็อกชั้นยอด นอกเหนือจากหนังสือห้องสมุดเยอรมันยังมีภาพยนตร์และเพลงให้ยืม มีห้องสมุดดนตรีที่มีเครื่องดนตรีและโน้ตให้เล่นจากเกือบทั่วโลก นั่นคือวัฒนธรรมที่สำคัญ และไม่เพียงแต่ภาษาเยอรมันเท่านั้น ในห้องสมุดใหญ่ๆ ยังมีหนังจากแทบทั่วโลกแบ่งเป็นประเทศให้เราสามารถยืมไปดูที่บ้านได้
นอกจากห้องสมุดจะเป็นพื้นที่ของคนในชุมชนแล้ว ในสถานการณ์ปัจจุบันยังเอื้อการบริการไปสู่ผู้อพยพชาวต่างชาติที่ต้องการการเข้าถึงข้อมูล หรือจัดกิจกรรมเพื่อเปิดพื้นที่ ในฮัมบวคเองก็มีการจัดกองทุนสำหรับบัตรห้องสมุดเพื่อให้ผู้อพยพสามารถใช้บริการทั้งห้องสมุดออนไลน์ ยืมหนังสือหรือสื่ออื่นๆ ได้ รวมถึงคอร์สภาษาเยอรมันระดับพื้นฐาน เพื่อช่วยให้ผู้อพยพสามารถสื่อสารภาษาและความต้องการเบื้องต้นได้ จะว่าไปมันก็ไม่ใช่แค่โอกาสทางการศึกษา แต่มันคือประสบการณ์ร่วมระหว่างกัน
ทำไมถึงยังไปห้องสมุด?
เราถามเพื่อนชาวเยอรมันคนหนึ่ง เรานัดกันที่ห้องสมุดเด็ก เรียกได้ว่าบรรยากาศรอบข้างเต็มไปด้วยเด็กที่มีวัยตั้งแต่กำลังคลานไปจนถึงวัยที่สามารถเลือกหนังสือกลับไปอ่านที่บ้านได้เอง ซิมอนเล่าว่าวัฒนธรรมการอ่านของคนเยอรมันโดยส่วนใหญ่ถูกปลูกฝังจากครอบครัว โดยเฉพาะครอบครัวชนชั้นกลาง (ที่มีทั้ง ‘เงิน’ และ ‘เวลา’ มากพอ) ที่จะทำกิจกรรมการอ่านหนังสือร่วมกัน ภาพการเล่านิทานก่อนนอนให้ลูกฟังในภาพยนตร์สะท้อนปรากฏการณ์การมีอยู่ของชนชั้นกลางพอๆ กับภาพที่พ่อแม่แบกหนังสือเด็กเป็นตะกร้าๆเพื่อนำไปอ่านให้ลูกฟัง การมีอยู่ของห้องสมุดช่วยลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำของการเข้าถึงข้อมูลความรู้ หนังสือบางเล่มเมื่อเทียบกับค่าครองชีพอาจกลายเป็นของไม่จำเป็น แต่เมื่อมันอยู่ในห้องสมุดเราสามารถเข้าถึงได้ คนไร้บ้าน คนที่ยังไม่มีงานทำ ผู้อพยพ สามารถลดหย่อนค่าสมัครสมาชิกได้ ห้องสมุดจึงกลายเป็นแหล่งการเข้าถึงข้อมูลประวัติศาสตร์และความรู้อย่างเท่าเทียม บัตรห้องสมุดที่อาจจะฟังดูเชย แต่ในเยอรมนี มันคือสัญญาณของการเติบโตทางการเรียนรู้ของเด็กผ่านการส่งเสริมการอ่านของห้องสมุด ในช่วงเริ่มต้นของการวิจัยพบว่า 50% ของเด็กๆ ที่มีบัตรห้องสมุดจะใช้บริการยืมหนังสือแต่เมื่อจบการวิจัยจำนวนเด็กๆที่มายืมหนังสือเพิ่มขึ้นถึง 80%
เมื่อสองปีที่ผ่านมา โซนหนังสือเด็กของห้องสมุดในฮัมบวคเริ่มขยับขยาย นั่นเป็นตัวชี้วัดที่สำคัญของรากฐานการอ่าน แม้ในยุคที่เราสามารถค้นหาวิดีโอหรืออนิเมชั่นสอน A B C ตาม Youtube ได้แล้วก็ตาม
ตอนเด็กๆ อ่านอะไร?
นอกจากวัฒนธรรมการอ่านหนังสือในห้องสมุดที่น่าสนใจแล้ว หนังสือเด็กในเยอรมันก็มีความน่าสนใจไม่แพ้กัน เราเดินดูตามชั้นหนังสือไล่เลียงมาตั้งแต่เรื่องสงคราม สิทธิและกฏหมายเบื้องต้นของเด็กๆ ที่สามารถเรียนรู้ได้ การตั้งคำถามเรื่องพระเจ้าสำหรับเด็กอายุ 8-12 ปี ในหนังสือเต็มไปด้วย illustration และรูปถ่ายน่ารักที่อธิบายถึงความต่างของศาสนา การ์ตูนสำหรับเด็กผู้หญิงที่เล่นฟุตบอล ซิมอนชี้ให้เราเห็นว่าโลกของหนังสือเด็กแท้จริงแล้วก็เป็นการจำลองสังคมจริงๆ เยอรมนีมีชื่อเสียงเรื่องฟุตบอล ภาพของเด็กชายกลายเป็นตัวแทนของกีฬาและชัยชนะ ในขณะที่เด็กหญิงผมบลอนด์มีโอกาสแค่เป็นแฟนคลับหรือกองเชียร์ข้างสนาม การมีอยู่ของหนังสือการ์ตูนเด็กหญิงเล่นฟุตบอลจึงถือเป็นหัวข้อสำคัญที่จุดประกายให้เด็กๆ ได้คิด ปลูกฝังทัศนคติเรื่อง stereotype และเพศ บทบาทของผู้หญิง ผู้ชาย ชนกลุ่มน้อย คนชายขอบในสังคม ตัวละครในหนังสือเด็กมีใครเป็นตัวเอก มีคนเอเชีย คนแอฟริกัน เรามองเขาอย่างไร เขามองเราอย่างไร เรื่องดำเนินไปอย่างไม่เรียกร้อง ไม่ต้องหนักหนาสาหัส เอาให้เหมาะสมตามวัยและคุยได้ในชีวิตประจำวัน
เราถามถึงเรื่องหนังสืออ่านนอกเวลาตอนเด็ก ซิมอนเล่าว่า เขาได้อ่าน Das Tagebuch der Anne Frank หรือ ‘บันทึกลับของแอนน์ แฟร้งค์’ (ชื่อภาษาไทย) ที่ว่าด้วยเรื่องบันทึกของเด็กสาวที่ต้องหลบหนีจากการล่าชาวยิวในสมัยของฮิตเลอร์ช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง เล่าผ่านมุมมองบนห้องใต้หลังคาซึ่งเป็นที่หลบซ่อนตัวในอัมสเตอร์ดัม ความไร้เดียงสาที่มาพร้อมกับการตั้งคำถามต่อโลก กลายเป็นบันทึกที่จริงจนเจ็บ แอนน์ แฟร้งค์จบชีวิตที่ค่ายกักกัน และพ่อของเธอ ออตโต้ แฟร้งค์ ผู้รอดชีวิตเพียงคนเดียวของครอบครัวได้เผยแพร่บันทึกเล่มนี้ในเวลาต่อมา และถูกแปลออกไปกว่า 60 ภาษา เพื่อเล่าชีวิตผ่านบันทึกประจำวันของเธอตั้งแต่วันที่ 12 มิถุนายน 1942 ถึง 1 สิงหาคม 1944
ในช่วงที่ซิมอนอ่านถ้าเอามาเทียบช่วงเวลากันก็คงประมาณ ป.5 บ้านเรา เกิดคำถามขึ้นว่ามันเร็วไปมั้ยกับการให้เด็กเรียนรู้เรื่องใหญ่ๆ โดยที่ยังไม่มีประสบการณ์ร่วม แต่จริงๆ แล้วการอ่านหนังสือประวัติศาสตร์ก็ถือเป็นประสบการณ์ร่วมที่ต้องเรียนรู้ โดยเฉพาะในเยอรมนีที่ที่มีประวัติศาสตร์ และร่องรอยสงครามอยู่แทบทุกหัวมุมถนน หากเราไม่พยายามเรียนรู้ในวัยเด็ก สุดท้ายเราก็จะเรียนรู้ (อาจจะแบบผิดๆ) จากหนังฮอลลีวูด ในโลกแห่งความจริงอยู่ดี โดยการอ่านบันทึกของแอนน์ แฟรงค์ ในวัยเดียวกันกับนักเรียนเยอรมัน ช่วยให้เชื่อมโยงความรู้สึกได้ใกล้ขึ้น สอนให้เรียนรู้การ discrimination แม้หลายโรงเรียนในอเมริกาจะแบนหนังสือเล่มนี้ แต่ประเด็นสำคัญที่น่าคุยน่าจะเป็นเรื่องการตั้งคำถามถึงประวัติศาสตร์ ยอมรับและเรียนรู้บาดแผลที่เกิดขึ้น การอ่านจึงไม่ใช่แค่การเรียนรู้ แต่มันคือการสร้างทัศนคติและการตั้งคำถามที่มีต่อสังคม
ย้อนกลับมาคุยเรื่องตัวเอง การอ่านอาจไม่ใช่ทางเดียวที่ไปสู่ความรู้ มันยังมีวิธีเรียนรู้อื่นๆ อีกมาก แต่สิ่งสำคัญคือโอกาสที่จะได้เรียนรู้จากหนังสือหลายเล่ม จากนักเขียนหลายคน จากประวัติศาสตร์ที่ถูกเขียนจากหลายๆ เล่ม ที่ไม่ใช่แค่เพียงอ่านจากหนังสือเล่มเดียวแล้วเรายึดติดไปว่ามันคือสิ่งที่ถูกต้องที่สุด
ก่อนจากกัน ซิมอนฝากรายชื่อหนังสือเด็กในดวงใจเอาไว้ (อาจเป็นเพราะหนังสือเด็กใช้ศัพท์เยอรมันที่เข้าใจง่าย น่าจะช่วยสอนเรื่องภาษาได้อีกทาง) ระหว่างที่คุยกันไปก็มีเด็กน้อยคลานต้วมเตี้ยม ชวนให้นึกถึงก่อนนอนคืนนี้แม่จะเล่านิทานเรื่องไหนให้ฟัง ข้างๆ กันมีบทความเรื่องการตื่นตัวและการพัฒนาเทคโนโลยีของห้องสมุดที่เดรสเดน สุดท้ายเราไม่ได้ต้องการหวนไห้หรือเรียกร้องถึงความมีค่าของสิ่งพิมพ์ เราเองก็ต้องใช้เทคโนโลยีดาวน์โหลด e-book หรือ google หาคำตอบเพื่อความสะดวก แต่ที่นี่ห้องสมุดยังเป็นอีกตัวเลือกนึงเพื่อการเข้าถึงข้อมูลเสมอ จะว่าไปเรื่องราวในโลกยังรอให้เราพลิกดู เลื่อนดู คลิกดู อยู่มากตราบใดที่เรายังอยากเรียนรู้
อ้างอิงข้อมูลจาก
https://www.goethe.de/en/kul/bib/20759587.html
http://www.new-books-in-german.com/english/home/-/273,273,129002,liste9.html (สำหรับคนที่อยากลองหาหนังสือเยอรมันที่น่าสนใจ)
Cover Photo from
Press Photo of Leipzig Book Fair