ในวันที่เรายังไม่เคลื่อนย้ายชีวิตส่วนหนึ่งไปอยู่บนโลกออนไลน์ นิตยสารเป็นอีกช่องทางของการรับรู้ความเป็นไปของโลกใบนี้ แบ่งไปตามหมวดหมู่ความสนใจ แต่ละหัวต่างมีคาแร็กเตอร์แตกต่างกันออกไปตามการเลือกสรรเนื้อหา มุมมอง น้ำเสียง วิธีเล่าเรื่อง เล่มสีสันสดใสเรียงรายชวนให้ต้องหยุดชะเง้อ ไล้สายตาไปบนแผงหนังสือ สัปดาห์หนึ่งจะเจอกันสักครั้ง รายปักษ์ที่ยื้อเวลาออกไปนานอีกหน่อย หรือรายเดือนที่ต้องใจจดจ่อรอหลายสัปดาห์
ฟากฝั่งนวนิยาย วรรณกรรม หรือแม้แต่การ์ตูน ช่วยแต่งแต้มเติมเต็มจินตนาการให้กว้างไกล เนรมิตภาพขึ้นจากตัวอักษรในหน้ากระดาษ เร่งเร้าผู้กวาดสายตาบนบรรทัดด้วยจังหวะก้าวการเล่าเรื่อง เช่นเดียวกับนิตยสารที่มีหลากหลายประเภทให้เลือกอ่านตามความสนใจ หรือเปิดโลกสู่ประเภทใหม่ๆ ที่ไม่เคยลิ้มลอง
หนังสือจึงเป็นเหมือนสิ่งบันเทิงที่ส่งผลต่อความคิดความอ่าน ความสนใจในช่วงวัยนั้น ตั้งแต่ยังแบเบาะ อ่านคำไม่เป็นคำ เราได้ฟังนิทาน พลางเอื้อมจับกระดาษสีสันสดใส เติบใหญ่ขึ้นเราถึงเลือกอ่านสิ่งที่เราชอบด้วยตัวเอง ตื่นเต้นไปกับภาพและเรื่องราว จึงปฏิเสธได้ยากว่าหนังสือในวัยเด็กได้ปลูกฝังเมล็ดพันธุ์บางอย่างไว้ แล้วงอกเงยออกมาเป็นความชื่นชอบ ความสนใจ ต่อให้มันเปลี่ยนไปตามช่วงวัยบ้าง แต่ก็ถือว่ามันเคยเป็นรากฐาน เป็นบันได ให้เราก้าวไปสู่ความสนใจอื่นๆ ด้วยนั่นเอง
แม้วันนี้สื่อสิ่งพิมพ์จะไม่ได้ครองพื้นที่ใหญ่ในงานอดิเรกหรือชีวิตประจำวันเราได้เท่าแต่ก่อนแล้ว แต่เมื่อละสายตาจากหน้าจอ เอนหลังในบ่ายร้อนอบอ้าว ชวนให้นึกถึงชีวิตช่วงปิดเทอมหน้าร้อนวัยเด็ก เรามีหนังสือเล่มไหนเป็นเล่มโปรดกันนะ เล่มที่ทำให้เราจมหายไปกับมัน เวลาว่างที่แสนยาวนานกลายเป็นสั้นในพริบตา เล่มที่เคยเปิดประตูสู่ความสนใจใหม่ บอกชี้ทางให้เห็นว่าโลกใบนี้มีสิ่งอื่นอีกมากมายรอให้เราค้นพบ
แต่ละยุคสมัย ต่างมีหนังสือที่เป็นที่นิยมในช่วงนั้น แม้จะอ่านบ้างไม่อ่านบ้าง แต่ก็พอได้ยินชื่อผ่านหู (เช่นเดียวกับ ภาพยนตร์ เกมส์ แหละนะ) แต่ละคนต่างก็เริ่มหยิบจับหนังสือตามความสนใจของตัวเอง เราจึงสำรวจความเห็นจากผู้คนรอบตัว ว่าแต่ละคนมีเล่มโปรดในวันนั้น ที่อ่านจนเป็นฉันในวันนี้เล่มไหนกันบ้าง หยิบจับคนที่มีความชอบใกล้เคียงกันมาไว้ด้วยกัน
แน่นอนว่าคนอื่นย่อมมีความชอบที่แตกต่างออกไปได้ ตอนเด็กชอบอ่านนิยายแฟนตาซี แต่โตมาขอโบกมือลาโลกเวทมนตร์ เข้าโหมดหนังสืออบอุ่นฮีลใจ ก็เป็นไปได้ทั้งนั้น ความตั้งใจในครั้งนี้จึงไม่ใช่การแปะป้ายว่าอ่านเล่มนี้ตอนเด็ก โตขึ้นจะต้องอ่านเล่มนี้เท่านั้น เพียงอยากชวนทุกคนย้อนกลับไปมองเล่มโปรดในวันวานเท่านั้น
The MATTER ชวนทุกคนมารื้อชั้นหนังสือในความทรงจำ หนังสือที่ปลูกฝังเมล็ดพันธุ์รักการอ่านในใจของคุณคือเล่มไหน? มาแชร์กัน
นิยายแจ่มใส นิยายรักเล่มแรกของใครหลายคน โดดเด่นด้วยภาพปกพระนางในอิริยาบถต่างๆ และชื่อเรื่องสีพาสเทลด้านขวา โดยชื่อแจ่มใสนั้นเป็นชื่อของสำนักพิมพ์ที่มีจุดขายเป็นเรื่องราวรักโรแมนติก วัยรุ่น วัยใส เรื่องราวชวนฝันของตัวละครที่มักจะอยู่ในวัยเดียวกันกับกลุ่มเป้าหมาย และสิ่งที่ขาดไม่ได้คือ ชื่อตัวละครแสนเฉพาะตัว แม้รู้ว่าชีวิตจริงไม่มีใครชื่อแบบนี้ได้หรอก แต่ก็ฟินๆ ในความไม่เหมือนใคร และอีโมจิบ่งบอกอารมณ์ o_o =_= >____<” จากสัญลักษณ์ต่างๆ
อ่านไปอ่านมา รู้ตัวอีกทีก็มีแจ่มใสหลายสิบเล่มจับจองพื้นที่บนชั้นหนังสือ ก็เรามันสาวน้อยช่างฝัน หวังว่าสักวันจะได้พบรักกับหนุ่มเย็นชา คาสโนว่าตัวพ่อ แต่เก็บจูบแรกไว้ให้รักแท้บ้างนี่นา แต่พอเติบโตขึ้น นิยายรักวัยใสเริ่มไม่ตอบโจทย์ สาวน้อยช่างฝันคนเดิมจึงย้ายตัวเองไปสู่นิยายหลักหลากรสมากขึ้น เนื้อหาเข้มข้นมากขึ้น หรือเป็นความรักที่ใกล้เคียงกับชีวิตจริงมากขึ้น แต่ก็ยังมีใจรักในหมวดโรแมนติกไม่ห่างหาย
“ตอนมัธยมฯ ชอบอ่านแจ่มใสมากกกก ถืออ่านในโรงเรียนเลย มันก็ฟีลแฟชั่นนิดๆ เล่มใหม่ออกเมื่อไหร่คือพุ่งตัวละ ถามว่าตอนนี้กลับไปอ่านแล้วจะชอบเหมือนเดิมไหม ก็คงไม่หรอก แต่ก็จำได้ตลอดว่ามันช่วยให้เราอ่านอะไรนานๆ ได้” เนโกะ อายุ 28 ปี เล่าเสียงเจื้อยแจ้วเมื่อถูกถามถึงหนังสือโปรดในวัยเด็ก
เมื่อถามถึงเล่มโปรดในวันที่โตขึ้น แม้คำตอบส่วนใหญ่จะเป็นนิยายรักประโลมใจ แต่ยิ่งโตขึ้นเราต่างยิ่งอยากเห็นความรักในมุมมองที่หลากหลาย รักที่ไม่สมหวัง รักในหน้าที่ ศัตรูที่รัก จากเพื่อนรักสู่รักเพื่อน เหมือนจะรักแต่ไม่รัก และเฉดความรักอีกมากมาย เล่มโปรดของเนโกะในวันนี้เป็น Normal People ปกติคือไม่รัก ของ Sally Rooney ที่โด่งดังมากในเรื่องหยิบความสัมพันธ์คลุมเคลือมาเล่าอย่างเรียบง่าย ไม่หวือหวา แต่กัดกินหัวใจคนอ่านด้วยความเจ็บช้ำของตัวละคร
เนโกะตอบอย่างเรียบง่ายว่า อยากอ่านความรักที่มันจริงยิ่งขึ้น เช่นเดียวกับใครหลายคนที่เติบโตมากับนิยายแจ่มใส ในตอนนั้นเราเพียงอยากอ่านฟินๆ กับรักในจินตนาการ โดยไม่สนหรอกว่ามันจะเป็นได้แค่ไหน แต่เมื่อถึงวัยหนึ่ง เราเองก็อยากให้ความรักของตัวละครมันสมจริงยิ่งขึ้น เพื่อตกตะกอนออกมาเป็นแง่มุมบางอย่างให้กับเราในตอนท้ายเรื่องนั่นเอง
แล้วแจ่มใสเรื่องไหนที่เคยเป็นเล่มโปรดของคุณบ้างนะ?
นิตยสารเป็นเหมือนหน้าต่างให้เราเห็นโลกกว้าง ไลฟ์สไตล์ แฟชั่น หนัง ดนตรี ความรู้รอบตัว ท่องเที่ยว แต่ละหัวต่างมีเส้นทางโดดเด่นเป็นของตัวเอง ผ่านการเล่าเรื่องด้วยคอลัมน์ต่างๆ จากที่เราเคยอัปเดตเทรนด์ต่างๆ ผ่านโลกออฟไลน์ในหน้ากระดาษ ตอนนี้เราย้ายถิ่นฐานมาอยู่บนออนไลน์ราวกับมันเป็นโลกเล็กๆ บนหน้าจอที่เชื่อมต่อผู้คนทั้งโลกไว้ด้วยกัน
น่าเสียดายที่นิตยสารหลายเล่มเริ่มไม่ฟังก์ชั่นกับโลกที่หมุนเร็วขึ้น ในตอนนี้เมื่อเทรนด์ต่างๆ ส่งต่อกันภายในชั่วพริบตา ฮิตคืนนี้ พรุ่งนี้เป็นประเด็นลามไปทุกแพลตฟอร์มแล้ว สิ่งที่เราเคยทำเมื่อเปิดนิตยสาร ได้ย้ายมาบนโลกออนไลน์แทบทั้งหมดแล้ว
คอนเทนต์หลากหลายรูปแบบ เสิร์ฟให้ผู้ชมถึงหน้าจอ เลือกเสพกันได้ปลายนิ้วจิ้ม ทั้งรูปแบบบทความ พอดแคสต์ วิดีโอสั้น วิดีโอยาว ต่างแพลตฟอร์ม ต่างรูปแบบกันไป ยิ่งส่งผลถึงพฤติกรรมของผู้ชมด้วย
“มันก็เปลี่ยนไปตามเวลาเนอะ จากที่เคยรวมทุกอย่างไว้ในเล่มเดียว ตอนนี้อยากรู้เรื่องไหน เราก็ต้องแบ่งไปตามแพลตฟอร์มนั้น แต่ก่อนเราชอบอ่าน HAMBURGER มาก มีน่าจะครบทุกเล่ม เพราะมันมีครบทุกอย่าง ตอนนี้อยากดูเทรนด์อะไรไวๆ ก็ต้อง X, Facebook แต่ถ้าเรื่องที่สนใจแบบเฉพาะทาง เราก็เลือกตามอินฟลูที่เราชอบได้ บน YouTube, IG อะไรพวกนี้ เพราะเราก็รู้ไงว่าตามช่องเขาแล้วเราจะได้ดูอะไร มันก็ง่ายขึ้นแหละ แต่ก็คิดถึงฟีลตอนซื้อหนังสือตามแผงเหมือนกัน” ลีวาย อายุ 32 ที่เติบโตในช่วงคาบเกี่ยวระหว่างยุคที่ยังมีสมุดหน้าเหลือง กับยุคที่ทุกอย่างอยู่บนหน้าจอสมาร์ตโฟน
หากมองย้อนกลับไป นิตยสารที่เราเฝ้ารอตามแผงหนังสือคือเล่มไหน?
การ์ตูนชุดสอดแทรกความรู้ที่แสนเข้าใจง่าย เปลี่ยนหัวข้อไปตามธีมแต่ละเล่ม ย่อยองค์ความรู้ต่างๆ มาให้เหมาะกับกลุ่มผู้อ่าน พร้อมเสิร์ฟด้วยภาพการ์ตูนที่ยิ่งกล่อมเกลาว่าสิ่งนี้ออกจะเป็นการอ่านเพื่อความบันเทิงมากกว่านะ เพียงสอดแทรกไปด้วยความรู้บ้างนิดหน่อย แต่รู้ตัวอีกทีก็ได้ความรู้ติดตัวไปเพียบ ทั้งความรู้รอบตัวและความรู้แปลกๆ ที่ไม่คิดว่าตัวเองจะต้องรู้มาก่อน
“พอไม่ได้มองความรู้เป็นเรื่องน่าเบื่อแล้ว โตมาการอ่านหนังสือที่ให้ความรู้ พวก non-fiction ก็ไม่ใช่เรื่องน่ากลัวเลย เซเปียนส์เล่มหนาๆ ก็อ่านได้สบาย ต่อให้ผมพูดไม่เต็มปากว่าเป็นหนอนหนังสือ แต่ก็ไม่ได้มองว่าการอยู่บ้านอ่านหนังสือมันน่าเบื่ออย่างที่คิด ต้องขอบคุณการ์ตูนชุดพวกนี้ที่มีส่วนช่วยอยู่บ้าง” แฟรงก์ อายุ 30 ที่ไม่ได้มีหนังสือเต็มชั้น หรือเป็นแฟนตัวยงของงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ แฟรงก์นิยามตัวเองว่าอ่านตามโอกาส ว่างก็อ่าน ไม่ว่างก็ไม่ได้อ่าน ปีหนึ่งอาจอ่านไปเพียงเล่มถึงสองเล่มเท่านั้น
ฟังดูเขาไม่มีคุณสมบัติของหนอนหนังสือจริงอย่างที่เจ้าตัวบอก แต่เราสังเกตได้ว่า หนังสือแต่ละเล่มที่เขาชอบในตอนนี้นั้น ค่อนข้างเน้นหนักไปที่ non-fiction ให้ความรู้ ทั้งประวัติศาสตร์ ปรัชญา การเมือง ความรู้รอบตัว เมื่อย้อนกลับไปที่เล่มโปรดในวัยเด็กของเขาจึงเข้าใจว่า ความฝักใฝ่ในความรู้ตอนนี้ของเขามาจากไหน
แล้วแฟนๆ ของการ์ตูนชุดสอดแทรกความรู้อย่าง ล่าขุมทรัพย์ สุดขอบฟ้า เอาชีวิตรอด ตอนนี้ชอบอ่านอะไรกันบ้าง?
หนังสือฟีลกู้ดชื่อดังที่หลายคนได้อ่านเป็นเล่มแรกๆ อย่าง เจ้าชายน้อย ต้นส้มแสนรัก ความสุขของกะทิ และโต๊ะโตะจัง แม้จะมีเนื้อหาแตกต่างกันออกไป แต่มู้ดโทนโดยรวมก็ไม่หนีกันนัก หากถูกจัดวางอยู่บนชั้นหนังสือก็คงอยู่บนชั้นที่ใกล้กันเสียหน่อย
เป็นที่เข้าใจได้ว่า หนังสือเหล่านี้มีเนื้อหาและภาษาที่เข้าใจง่าย ไม่ซับซ้อน เหมาะกับการอ่านในช่วงเริ่มต้น ในตอนเด็กเราอาจจดจำแค่บางช่วงบางตอนที่มันมอบความอบอุ่นใจ แต่เมื่อเติบโตขึ้น เราก้าวผ่านโลกใบนี้มากขึ้น เมื่อกลับไปอ่านหนังสือ (ที่เคยเข้าใจว่า) ฟีลกู้ดเล่มเดิม อาจให้ความรู้สึกและมีการตีความต่างกันออกไป จากเรื่องราวชุบชูใจ มันอาจกลายเป็นเรื่องของเด็กน้อยที่ไม่อยากเติบโต โลกของผู้ใหญ่ที่แสนโหดร้าย ความชินชาต่อสิ่งที่ทำร้ายใจ หากบอกว่าเป็นหมวด coming of age ก้าวผ่านวัยก็ไม่แย่นัก
“เจ้าชายน้อยเป็นเล่มที่เราอ่านตั้งแต่เด็กมากๆ ตอนนั้นมันก็ได้ความหมายแบบนึง รู้สึกว่ามันอบอุ่นใจดีเนอะ พอกลับมาอ่านตอนนี้ มันเปลี่ยนไปเลย ความหมายที่เคยเข้าใจ วันนี้เราตีความไปอีกแบบโดยไม่ต้องวิเคราะห์อะไรเลย มุมมองที่มีมันเปลี่ยนความหมายหนังสือเล่มเดิมได้จริง” โอโซน อายุ 27 ที่ยังคงย้อนกลับไปอ่านหนังสือเล่มโปรดในวัยเด็กของตัวเองเป็นประจำ
หนังสือในวันวานที่กล่าวถึงข้างต้น ก็ยังคงเป็นเล่มหนังสือยอดฮิตผ่านกาลเวลามาได้เสมอ และยิ่งนานวัน หนังสือฟีลกู้ด ฮีลใจ ยังคงวนเวียนมาครองตลาดเป็นที่นิยมผลัดกันกับประเภทอื่น ในช่วงที่หนังสือฟีลกู้ดเป็นที่นิยมนั้น มักจะเป็นนิยายสั้นจากฝั่งเอเชีย อย่างญี่ปุ่น ไต้หวัน เกาหลี เล่มที่โด่งดังจนไม่พูดถึงไม่ได้ก็คงเป็น ‘ปาฏิหาริย์ร้านชำของคุณนามิยะ’ ที่ทำให้หนังสืออบอุ่นหัวใจเล่มอื่นๆ เป็นที่นิยมมากขึ้น
สิ่งนี้พอจะชี้ให้เห็นว่า ไม่ว่าจะเป็นยุคไหน เราต่างยังต้องการความสงบ การปลอบประโลมจากตัวอักษรกันอยู่เสมอสินะ
แล้วทุกคนมีหนังสือฟีลกู้ดที่คอยฮีลใจในวันแย่ๆ เป็นเล่มไหนบ้าง?
สารภาพมาซะดีๆ เคยเฝ้าฝันอยากเข้าโรงเรียนคาถาพ่อมดแม่มดและเวทมนตร์ศาสตร์ฮอกวอตส์เพราะอ่าน แฮร์รี่ พอตเตอร์ แล้วอินเกินกันบ้างหรือเปล่า?
แฮร์รี่ พอตเตอร์ เป็นอีกตัวอย่างวรรณกรรมแฟนตาซีที่ช่วยให้เราเห็นภาพได้ชัดเจนอีกเรื่องหนึ่ง ว่าหนังสือสามารถส่งอิทธิพลต่อความคิด ความชอบ ของเราได้ขนาดไหน ก็วัดจากจำนวน Potterhead เอาก็ยังได้ และเป็นอีกเรื่องที่ปลุกกระแสรักการอ่านให้เด็กไทยได้ไม่น้อย
“ชั้นหนังสือมีนิยายแฟนตาซีเยอะมาก เด็กๆ เราก็เริ่มจากแฮร์รี่นี่แหละ แต่พอมันก้าวเข้าวงการแฟนตาซีแล้วมันหาทางออกไม่เจอเลย (หัวเราะ) หลังจากนั้นก็เริ่มอ่านแฟนตาซีจีนบ้าง ไทยบ้าง บอกเลยว่าสนุกไม่แพ้กันเลย สเกลเรื่องใหญ่พอกัน แกชอบแนวไหนล่ะ เวทมนตร์ ยุคกลาง กำลังภายใน เดี๋ยวหยิบให้ลองอ่าน” ทานตะวัน อายุ 30 พลางตอบคำถามพลางสอดส่ายสายตาบนชั้นหนังสือ หาตัวอย่างนิยายแฟนตาซีสักเล่มมาเป็นตัวอย่างประกอบการพูดคุย
นอกจากโลกเวทมนตร์แล้ว โลกแฟนตาซีในหนังสือยังมีอีกมาก ทั้งที่ถูกนำไปสร้างภาพยนตร์ ซีรีส์ฟอร์มยักษ์มากมาย ทั้งฝั่งตะวันตกและตะวันออก ความแฟนตาซีไม่ได้น้อยไปกว่ากันเลย โลกยุทธภพ โลกเทพเซียน จะแฟนตาซีโลกไหน แต่สุดท้ายแล้วเสน่ห์ของนิยายแฟนตาซี คือการก้าวเข้าไปสู่โลกอื่นที่ไร้ข้อจำกัดอย่างโลกที่เรานั่งอ่าน
ไม่ใช่แค่เรื่องความตื่นเต้น แต่นิยายแฟนตาซีที่ประสบความสำเร็จ มักจะมาพร้อมกับพล็อตที่แข็งแรง การออกแบบโลก ตัวละคร เงื่อนไขต่างๆ ให้มีช่องว่างน้อยที่สุด แปลกตาที่สุด มันจึงเป็นเรื่องราวที่แข็งแรงมากพอที่จะครองพื้นที่ในใจแฟนๆ จนกลายเป็น subculture ของโลกใบนี้
ใครเป็นคนร้ายตัวจริงกันนะ?
คำถามที่เหล่าแฟนนิยายสืบสวน มักจะกางแผนผังในหัวและปะติดปะต่อเรื่องราว เพื่อหาคำตอบ แม้จะเพิ่งอ่านไปได้ไม่ถึงไหนก็ตาม
นิยายสืบสวนเป็นอีกหนึ่งหมวดที่มอบความตื่นเต้นได้ไม่แพ้หมวดอื่น ด้วยเนื้อเรื่องเข้มข้น ปมปริศนาที่ต้องแก้ไข การสืบหาคนร้ายไปพร้อมตัวละคร ถือเป็นอีกเสน่ห์หนึ่งที่ทำให้เมื่อเริ่มอ่านแล้ว ปริศนานั้นจะยังคาใจไปจนกว่าจะจบเล่มได้ แม้จะหมดเล่มนั้นไป สมองแสนซุกซนก็ยังอยากไขคดีอื่นต่อไปอีกไม่รู้จบ
แน่นอนว่าชื่อของยอดนักสืบอย่าง Sherlock Holmes กลายเป็นชื่อที่ทุกคนเคยได้ยิน แม้จะไม่ใช่แฟนนิยายสืบสวนก็ตาม นิยายถูกดัดแปลงไปเป็นภาพยนตร์ ซีรีส์ หลากหลายเวอร์ชั่น หากเอ่ยชื่อนั้นแล้วมีหรือที่จะไม่พูดถึง Hercule Poirot ตัวละครจากปลายปากกาของ Agatha Christie ตัวแม่วงการนิยายสืบสวน ที่ผลงานของเธอยังคงเป็นที่นิยมตลอดกาลจนถึงวันนี้
“นิยายสืบสวนมันไม่ได้สนุกแค่ไขคดี นักเขียนแต่ละคนมีจุดเด่นของตัวเอง บางคนสร้างตัวละครเก่ง บางคนผูกปม ชักจูงดีมาก อย่างอะกาธา คริสตี้ นักเขียนที่เราชอบมาก เราว่าเขาเก่งในเรื่องสร้างบรรยากาศ มันมีรายละเอียดในบรรยากาศ ในห้องนั้น จุดเกิดเหตุนั้น ที่เราค่อยๆ ละเลียดไปจนรู้สึกเหมือนได้อยู่ตรงนั้นด้วย มันเจ๋งดี” ฟ้า อายุ 32 เล่าถึงจุดเด่นของนักเขียนนิยายสืบสวนแต่ละคน
คดีชวนปวดหัว ปริศนาที่ต้องแก้ ไม่เคยห่างหายไปจากชั้นหนังสือ ยังมีนิยายสืบสวนใหม่ๆ ที่เข้ามาครองใจแฟนๆ ได้ไม่แพ้กัน หากเป็นในช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้ เชื่อว่าหลายคนคงได้เห็นเหมือนกันว่านิยายสืบสวนญี่ปุ่นมาแรงขนาดไหน ทั้งชุดคดีฆาตกรรมในบ้าน คฤหาสน์ต่างๆ และบ้านวิกลคนประหลาด ที่ชักชวนให้หลายสำนักพิมพ์หันมาเพิ่มพื้นที่ให้นิยายสืบสวนญี่ปุ่นมากขึ้น
แฟนนิยายสืบสวนที่อ่านถึงตรงนี้ คดีไหนที่ยังติดตรึงใจจนถึงวันนี้?