เห็นช่วงสัปดาห์ก่อนมีคุณพี่ตำรวจไปแวะเวียนมหกรรมหนังสือระดับชาติ อาจจะเพราะอยากหาหนังสืออ่านก็เป็นได้ เราก็เลยอยากแนะนำหนังสือให้คุณพี่ตำรวจ เผื่อจะเข้าใจกระแสของประชาชนว่าช่วงนี้เขาอ่านอะไรกัน หรือมีหนังสือเล่มไหนที่อยากชวนให้ตำรวจเหล่านี้ได้ลองอ่านบ้าง จะได้คุยกันรู้เรื่อง
ขุนศึก ศักดินา พญาอินทรี
ไปงานหนังสือครั้งนี้ หนังสือออกใหม่ที่หลายคนพูดถึงก็คือหนึ่งในหนังสือของสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันอย่าง ขุนศึก ศักดินา พญาอินทรี ของ ณัฐพล ใจจริง ที่หากคุณตำรวจอยากรู้ว่าเขาอ่านอะไรกันอยู่ ก็คงต้องขอแนะนำหนังสือเล่มนี้กันสักหน่อย จะได้คุยกันรู้เรื่องเนอะว่าช่วงนี้เขากำลังคิดอะไร อ่านอะไร คุยอะไร ซึ่งถ้ามีคุณพี่ตำรวจคนไหนอ่านแล้วมารีวิวให้ฟังด้วยก็ดีนะคะ อยากฟังๆ
เมื่อฉันถูกเรียกปรับทัศนคติ
เมื่อฉันถูกเรียกปรับทัศนคติ ของ ilaws บอกเล่ามุมมองของคนที่ถูกเรียกไปปรับทัศนคติ ซึ่งเราอยากแนะนำเผื่อให้คุณพี่ตำรวจลองอ่านแล้วมองเห็นอีกมุมจากคนที่ถูกกล่าวหาเพียงแค่คิดต่างในยุคของคสช. ว่าเป็นยังไง เผื่อเข้าใจประสบการณ์ของฝ่ายที่คุณพี่ไปจับเขามามากขึ้น และอาจจะมองเห็นอะไรมากขึ้นเนอะ
มนุษย์กับเสรีภาพ : มุมมองทางปรัชญาคานท์, มิลล์, รอลส์
เพราะความเป็นมนุษย์คือความเท่าเทียมและมีเสรีภาพ ไม่ว่าจะเป็นเพศ เชื้อชาติ ความคิดเห็น ความเชื่อ การเข้าใจถึงเสรีภาพนี้จึงมีส่วนสำคัญในการอยู่ด้วยกันในสังคม เราก็เลยอยากแนะนำให้คุณพี่ตำรวจลองมาอ่านดู เผื่อจะเข้าใจมุมมองของความเป็นมนุษยและเสรีภาพในหลายๆ แนวความคิดค่า
ดินแดนคนตาบอด
ในวันที่เราต่างมีความเชื่อคนละชุด มีความจริงคนละแบบ การพยายามเรียนรู้และเข้าใจกันก็เป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งนิยาย ‘ดินแดนคนตาบอด’ ของ H.G. Wells อาจช่วยให้ได้ลองตั้งคำถามว่าการตัดสินคนอื่นนั้นเป็นยังไง เมื่อต่างฝ่ายต่างมองว่าตัวเองคือฝ่ายถูก? หรือที่คุณพี่ว่าถูกนี่มันถูกจริงๆ รึเปล่านะ
ตาสว่าง
ถ้าตัวหนังสือเยอะจนไม่อยากอ่าน เราแนะนำนิยายภาพ ‘ตาสว่าง’ ที่ดัดแปลงจากเหตุการณ์จริง ฉากหลังของเรื่องที่เล่าถึงช่วงสลายการชุมนุมทางการเมืองของคนเสื้อแดง ปี 2553 และทำให้ตัวละครในนั้นได้ตาสว่างขึ้นมาภายใต้ประเทศที่มืดมิด ซึ่งอาจเป็นอีกมุมมองหนึ่งที่คุณพี่ตำรวจอาจไม่เคยได้ยิน หรือได้ยินมามุมเดียวค่ะ
มันทำร้ายเราได้แค่นี้แหละ
มันทำร้ายเราได้แค่นี้แหละ คือบันทึกประสบการณ์ของผู้หญิงคนหนึ่งที่ชื่อ ภรณ์ทิพย์ มั่นคง ที่ต้องติดคุกด้วยคดีทางการเมือง ซึ่งหากคุณพี่ตำรวจได้อ่าน ก็อาจจะมองเห็นชีวิตและความอยุติธรรมที่เกิดขึ้นทั้งภายนอกกรงขังและภายในกรงขัง และอาจทำให้เข้าใจบริบทสังคม การเมือง ของคนที่ถูกตัดสินเพียงแค่เป็นคนละฝั่งกับอีกฝ่ายเท่านั้น และอาจจะทำให้เห็นความเป็นมนุษย์ของทุกคนมากขึ้นนะ
วันสุดท้ายของนักโทษประหาร
วันสุดท้ายของนักโทษประหาร ของวิกเตอร์ อูโก เล่าเรื่องเกี่ยวกับโทษประหารและการกลับมาทำความเข้าใจความเป็นมนุษย์ให้มากขึ้น การตัดสินกันและกันและทำร้ายกันอย่างรุนแรงเป็นทางออกของการแก้ไขปัญหาหรือเปล่า สังคมดีขึ้นได้ด้วยการจับคนเห็นต่างไปลงโทษเท่านั้นหรือ? และแม้แต่กฎหมายก็อาจจะไม่ใช่สิ่งที่สร้างมาในนามของ ‘ความดี’ หรือเปล่า?
กล้าที่จะถูกเกลียด
เราเชื่อว่าคุณพี่ตำรวจทำงานกัน ก็อาจจะมีบางครั้งที่ถูกคนโกรธ คนเกลียดเป็นธรรมดา เราก็เลยอยากแนะนำว่าไหนๆ ก็ไหน ก็เพิ่มความกล้าเข้าไปที่จะถูกเกลียด ถ้ามองว่าสิ่งที่ทำอยู่คุณพี่ทำเพื่อความสงบสุขในสังคม แต่กล้าแล้วก็ต้องยอมรับผลด้วยล่ะนะ หรือถ้าเป็นไปได้ลองทำความเข้าใจกับคนอื่นๆ ดูก็ได้ค่ะว่าเขามีความเห็นยังไง เผื่อได้แลกเปลี่ยนกันและจะได้ไม่โหมความจงเกลียดจงชังอย่างเดียว
UNTITLED CASE: HUMAN HORROR ชมรมคนหัวลุก
อันนี้ขายของ (ล้อเล่น!) จริงๆ แค่กลัวคุณพี่ตำรวจจะบอกว่าเราแนะนำแต่หนังสือเครียดๆ ก็เลยขอแนะนำหนังสือที่โคตรสนุกอย่าง UNTITLED CASE: HUMAN HORROR ชมรมคนหัวลุก ของ ‘ยชญ์ บรรพพงศ์’ และ ‘ธัญวัฒน์ อิพภูดม’ ที่พาเราไปดูคดีสุดลึกลับ เผื่อคุณพี่อยากลองฝึกสมองประลองไอเดีย ไขคดีจากสิ่งที่หนังสือเล่าไปเพลินๆ แก้เบื่อระหว่างต้องคอยรอคำสั่งจากนายค่าาา