มาถึงช่วงโค้งสุดท้ายก่อนการเลือกตั้ง หลายคนอาจรู้สึกว่าทำไมการเมืองครั้งนี้ทุกอย่างดูเป็นเรื่องยากและไกลตัวเหลือเกิน เลือกคนนู้นแล้วคนนั้นจะกลับมาไหม จะเลือกใครบางทีก็ยังตอบตัวเองไม่ได้ ถึงอย่างนั้น เราเองก็อยากมีส่วนร่วมในการกำหนดสังคมเช่นกัน แต่ยังคิดไม่ออกว่าจะทำยังไงดี
The MATTER ไปคุยกับคนที่เกี่ยวข้องกับแวดวงภาพยนตร์ไทย ทั้งคนที่อยู่ในอุตสาหกรรม อาจารย์ ไปจนกระทั่งนักศึกษา เพื่อมาช่วยกันแนะนำหนังที่น่าจะเหมาะกับสถานการณ์เลือกตั้งในครั้งนี้ ซึ่งอาจจะช่วยตอบคำถามในใจของใครบางคนได้บ้าง
ธิดา ผลิตผลการพิมพ์ (Documentary Club)
Ada For Mayor (2016, Pau Faus)
“การเมืองเป็นเรื่องของประชาชน” เป็นประโยคที่เราได้ยินคุ้นหู แต่เมื่อนึกถึงบรรยากาศการต่อรองทางอำนาจในแวดวงการเมืองที่มีอยู่จริงรอบตัวแล้ว ดูเหมือน ‘ประชาชน’ ไม่ถูกรวมอยู่ในสมการสักเท่าไหร่ ไม่เพียงในความหมายของการไม่มีผู้แทนที่ทำหน้าที่เป็นปากเสียงของเราอย่างแท้จริง เข้าใจความทุกข์ร้อนด้านปากท้องที่เราเผชิญอย่างแท้จริง และมุ่งแก้ปัญหาเหล่านั้นให้เราอย่างแท้จริงเท่านั้น ทว่ากระทั่งการจะหยั่งรู้สักนิดว่า ณ ขณะนี้ประชาชนหวาดหวั่นในสิ่งใด และโหยหาอะไรอยู่ ก็ยังดูเหมือนไม่ใช่สิ่งที่คนผู้เรียกตนเองเป็นนักการเมืองอาชีพจะใส่ใจและเท่าทันมากนัก
อาจเพราะเหตุนี้ ผู้หญิงที่ชื่อ อาดา โกเลา ซึ่งไร้ประสบการณ์แบบมืออาชีพบนเวทีการเมืองอย่างสิ้นเชิง กลับสามารถกอบโกยความนิยมและได้รับคะแนนเลือกตั้งจากประชาชนชาวบาร์เซโลน่าอย่างท่วมท้น จนนำพาพรรคที่ประกอบขึ้นด้วยเหล่าสามัญชนคนธรรมดาขึ้นคว้าตำแหน่งนายกเทศมนตรีหญิงคนแรกของนครใหญ่แห่งนี้ ชนิดที่ครองเสียงข้างมากแบบเด็ดขาดทั้งที่มีเวลาเพียง 10 เดือนเท่านั้นนับจากวันเริ่มพรรคจนถึงวันเลือกตั้ง
Ada For Mayor เป็นสารคดีเล็กๆ สัญชาติสเปนที่พาเราเข้าไปคลุกคลีกับอาดาและพลพรรคตลอด 10 เดือนดังกล่าว เพื่อให้เราได้เห็นทั้งอุดมการณ์ ความมุ่งมั่น ความอ่อนแอ ความเป็นแม่ และความเป็นคนธรรมดาคนหนึ่งซึ่งกำลังใจถูกบั่นทอนครั้งแล้วครั้งเล่าด้วยความขัดแย้งทางการเมือง แต่ด้วยความเป็นคนสามัญเช่นนั้นเองที่ทำให้เธอเข้าใจความทุกข์ยากของคนยากไร้และคนชนชั้นกลางผู้ดิ้นรน สิ่งที่เธอกับพรรคของเธอทำผสมผสานทั้งเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่และกลยุทธ์ที่เข้าถึงจิตใจประชาชน จนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนมากเกิดความเชื่อมั่นว่าเธอจะเป็นตัวแทนของพวกเขาได้อย่างแท้จริง แบบที่แม้แต่นักการเมืองอาชีพผู้ยึดครองสภามาหลายสมัยก็ยังไม่สามารถจะเป็นได้
นี่คือหนังที่ทำให้เราตระหนักถึงความสำคัญของการมีผู้แทนราษฎรที่สามารถต่อสู้เพื่อเรา ตระหนักถึงความหมายของการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตย และแน่นอน ตระหนักถึงพลังอันยิ่งใหญ่ของประชาชนในการสร้างอำนาจต่อรองทางการเมืองของตนเอง
The Venerable W. (2017, Barbet Schroeder)
ประชาชนมีอำนาจในการสร้างการเมืองที่สร้างสรรค์ แต่อำนาจลักษณะเดียวกันนั้นก็อาจนำการเมืองไปสู่ด้านมืดโหดร้ายได้เช่นกัน หากมันมาพร้อมอุดมการณ์ที่ยืนอยู่บนความบ้าคลั่งงมงาย และการปักใจเชื่อว่าพวกตนเท่านั้นคือกลุ่มคนผู้เหนือกว่า
มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์มากมายยืนยันว่า ในทุกครั้งที่ความขัดแย้งทางการเมืองและสังคมระหว่างมนุษย์ ถลำลึกจนกลายเป็นความเกลียดชัง แล้วลงเอยด้วยการใช้กำลังรุนแรงเข้ากำจัดเข่นฆ่าอีกฝ่าย มันไม่ใช่เหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นชั่วครู่ชั่วยามในระยะเวลาสั้นๆ และมักไม่ใช่เหตุร้ายที่จะเกิดเพียงครั้งเดียวแล้วคลี่คลายโดยง่าย ตรงกันข้าม การทำลาย ‘คนอื่น’ ที่เชื่อไม่เหมือนเรา ศรัทธาต่างจากเรา ต้องการในสิ่งที่เราไม่เห็นพ้องนั้น เป็นกระบวนการแห่งความเกลียดที่ถูกสร้างอย่างเป็นลำดับขั้นตอน และเมื่อเกิดขึ้นแล้ว มันจะเกิดขึ้นอีก ตราบที่ยังไม่มีการชำระสาเหตุอย่างเป็นระบบ
สารคดีของบาร์เบ็ทชโรเดอร์เรื่องนี้พาเราไป ‘ฟัง’ พระวีระธู พระสงฆ์ชาวพม่า ผู้นำกลุ่มชาตินิยมที่เคลื่อนไหวเพื่อขับไล่ชาวโรฮิงญา ความน่าสยดสยองอยู่ตรงที่ชโรเดอร์ปล่อยให้เขาพูดสิ่งที่เขาเชื่อต่อหน้ากล้องอย่างเต็มที่ นั่นหมายถึงการที่เราจะได้เห็นพระรูปนี้ถ่ายทอดคำสอนทางศาสนาปะปนกับความคิดที่เต็มไปด้วยความรังเกียจเดียดฉันท์ต่อชาวมุสลิม โดยมีชาวบ้านและสาวกนับร้อยเข้าร่วม กินเวลายาวนานหลายปี แผ่อิทธิพลใหญ่โตขึ้นเรื่อยๆ และสังเวยด้วยชีวิตชาวโรฮิงญาครั้งแล้วครั้งเล่า ภายใต้ความเห็นดีเห็นงามของผู้คนจำนวนมากในสังคม
ความเกลียดชังที่ถูกสร้างคือปีศาจร้ายที่พร้อมจะแทรกซึมเข้ามาทำงานกับจิตใจของเรา และตัดทิ้งมโนธรรมหรือสามัญสำนึกของเราได้อย่างไร คนเราลุกขึ้นมาฆ่าคนอื่นเพียงเพราะพวกเขา ‘แตกต่าง’ และ ‘ดีไม่เท่าเรา’ ได้อย่างไร พบคำตอบได้ในหนังเรื่องนี้ และมันอาจเป็นคำตอบที่เราสมควรเรียนรู้มากที่สุดประการหนึ่งในช่วงเวลาแห่งความขัดแย้งทางการเมือง
Where to Invade Next (2015, Michael Moore)
การเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึง น่าจะกล่าวได้เต็มปากว่าเป็นครั้งแรกที่นโยบาย ‘รัฐสวัสดิการ’ ถูกนำมาใช้หาเสียงอย่างแพร่หลายมากที่สุด ไม่ว่ารายละเอียดที่มาที่ไปของแต่ละพรรคจะเป็นอย่างไรก็นับเป็นจังหวะที่ดีที่เราควรได้คุ้นเคยกับคำคำนี้อย่างจริงจัง
ย้อนไป 4 ปีก่อน คนทำสารคดีชาวอเมริกันที่ถูกกล่าวหามาตลอดว่า ‘ชังชาติ’ ด้วยความที่ทำหนังทีไร ด่าประเทศบ้านเกิดตัวเองทุกที เขาจึงตัดสินใจเปลี่ยนวิธีพูดจาในหนังของเขาเสียใหม่ด้วยการเลิกพูดถึงสหรัฐอเมริกา แล้วออกเดินทางไปทั่วยุโรปแทนเพื่อเล่าให้เราฟังว่า ในบ้านอื่นเมืองอื่นที่มีคุณภาพชีวิตดีกว่านั้น มันดีกว่าอย่างไร และอะไรเป็นปัจจัยเบื้องหลังความดีดังกล่าว
ตลอดทั้งหนัง เราจึงได้เห็นทั้งโรงเรียนที่ไม่มีการบ้าน มหาวิทยาลัยที่เรียนฟรี ครูที่ให้ความสำคัญกับความสุขของเด็กมากกว่าผลสอบ ผู้นำประเทศและองค์การธุรกิจที่ยึดนโยบายความเท่าเทียมทางเพศ เจ้าของโรงงานที่ดูแลลูกจ้างราวกับคนในครอบครัว พนักงานบริษัทที่สามารถลาป่วย ลาคลอด ลาเที่ยว โดยได้เงินเดือนครบแถมโบนัส รัฐมนตรีและตำรวจที่ยืนยันว่าคนเสพยาไม่ใช่อาชญากร คุกที่มุ่งมั่นสร้างสุขภาพกายและใจที่ดีแก่ผู้ต้องขัง ฯลฯ หรือกล่าวโดยสรุป นี่คือเรื่องราวของบรรดาประเทศที่ยึดประโยชน์สุขของประชาชนเป็นที่ตั้ง ด้วยวิสัยทัศน์อันแจ่มชัดว่า เพราะประชาชนคือทรัพยากรที่มีค่าที่สุด รัฐที่ดีย่อมต้องดูแลทรัพยากรนี้อย่างสุดความสามารถ และประชาชนในรัฐเช่นนี้ก็ย่อมยินดีตอบแทนด้วยเงินภาษีเต็มเม็ดเต็มหน่วยซึ่งก็จะถูกนำกลับไปใช้สร้างสังคมที่ดีสำหรับทุกคนต่อๆ ไป
ความดีงามที่สุดของ Where to Invade Next คือการที่มันช่วยเปิดจินตนาการใหม่แก่คนในประเทศไร้รัฐสวัสดิการอย่างเราให้ได้ตระหนักว่าในโลกใบนี้ มนุษย์ยังสามารถมีวิถีชีวิตแบบอื่นที่ดีกว่าที่เป็นอยู่ได้ แต่การจะก้าวไปสู่จุดนั้น เราจำต้องวาดฝันแล้วเรียกร้องมันจากรัฐที่เราอาศัยและจ่ายภาษีหล่อเลี้ยงอยู่
วิวัฒน์ เลิศวิวัฒน์วงศา (Filmsick)
Waking The Dead (2000, Keith Gordon)
หนังว่าด้วยเรื่องคู่รักบนดาวร้ายสองคน คนหนุ่มตั้งใจจะเข้าไปเปลี่ยนแปลงโลกโดยการเปลี่ยนแปลงในระบบด้วยการลงสมัคร ส.ส. ส่วนหญิงสาวไม่เคยเชื่อมั่นการเมืองในระบบ แต่เชื่อมั่นในการลงมือทำทางตรงในการช่วยเหลือผู้ยากไร้ ทั้งคู่จึงพลัดพรากกันไป ต่อมาเขาพบว่าเธอตาย และในอีกหลายปีต่อมา ขณะที่เขากำลังจะลงสมัครสมาชิกสภา กำลังจะแต่งงาน สูญเสียอุดมการณ์ในอดีตจนน่าเศร้า เธอก็กลับมาจากความตาย เขาไม่รู้ว่าเธอมีจริงหรือเป็นเพียงความฝันหลอกหลอนกันแน่
โดยเรื่องราวมันเป็นหนังรัก แต่ตัวหนังพูดถึงการปะทะกันทางอุดมการณ์ที่แตกต่างโดยไม่ตัดสินว่าใครถูกผิด มันเป็นบทสนทนาของอุดมการณ์กับการปฏิบัติ การเชื่อมั่นว่าโลกดีขึ้นได้ ในหนทางที่แตกต่างกันโดยไม่ต้องกล่าวหาให้อีกฝ่ายเป็นผู้ร้าย
Sunflower Occupation (2014, Sunflower Occupation Documentary Project)
สารคดีสั้นสิบเรื่องที่เกิดจากการร่วมมือร่วมใจกันของคนทำสารคดีในไต้หวันที่ตามถ่าย การประท้วงดอกทานตะวันที่ต่อต้านกฎหมายของไต้หวันที่จะยินยอมทางการค้ากับประเทศจีน หนังตามทั้งผู้นำการชุมนุม ชาวบ้านที่ออกมาร่วม ฝ่ายหัวรุนแรง ตำรวจที่คุมประท้วง นักศึกษาที่ไม่ได้เป็นตัวสำคัญ แล้วเอามาร้อยต่อให้เห็นภาพรวมของขบวนการทั้งหมดโดยไม่ได้วาดภาพวีรบุรุษให้ใครหรืออะไรเลย
หลายปีก่อน ‘ภัควดี วีระภาสพงษ์’ เคยแปลหนังสือเล่มหนึ่งแล้วตั้งชื่อไทยว่า ‘ไม่สงบจึงประเสริฐ’ ตอนที่ดูหนังเรื่องนี้ก็คิดถึงเรื่องนั้น ในประเทศที่ดูเหมือนความสงบ ความศิโรราบ ความสยบยอม ถูกให้คุณค่ามากกว่าความแตกต่างหลากหลาย หรือสิทธิมนุษยชน หนังสารคดีแบบนี้ให้ภาพสังคมที่ไม่สงบ แต่กลับเต็มไปด้วยพลวัตรของการขับเคลื่อนไปข้างหน้า หนังไม่ได้พูดเรื่องการเลือกตั้ง แต่พูดเรื่องสิทธิและเสรีภาพของผู้คน เราชอบพูดว่าผู้คนต้องการสิทธิ์แต่ไม่รู้จักหน้าที่ จริงๆ สองเรื่องนี้ไม่เกี่ยวกัน แต่ถ้าจะให้เกี่ยวกัน หน้าที่หนึ่งของผู้คนในสังคมคือการปกป้องสิทธิที่จะไม่สงบทั้งของตนเองและคนอื่นๆ และความไม่สงบไม่ใช่ปัญหา ความสงบต่างหากที่อาจจะเป็น
Unas Preguntas (2018, Kristina Konrad)
นี่คือสารคดีที่เหมือนการนั่งดู ‘ฐปนีย์ เอียดศรีไชย’ สัมภาษณ์ชาวบ้านยาวสี่ชั่วโมงรวด หลังจากอุรุกวัยกลับมาเป็นประชาธิปไตยในปี 1984 รัฐบาลออกกฏหมายนิรโทษกรรมให้กับพวกทหารตลอดเวลา 12 ปีในระบอบเผด็จการ ทำให้พี่น้องของเหยื่อและผู้คนจำนวนมากไม่พอใจ ขอให้มีการประชาพิจารณ์กฏหมายนิรโทษกรรมนี้ได้หกแสนชื่อ แต่รัฐบาลอ้างว่ามีสองหมื่นชื่อที่ใช้ไม่ได้ เลยมีการประท้วงใหญ่ และประกาศทำประชาพิจารณ์ระหว่างฝ่ายเอาทหารมาพิพากษาตามกระบวนการ และฝ่ายนิรโทษกรรมเพื่อมาเริ่มต้นกันใหม่
หนังเป็นการสัมภาษณ์แบบข่าวช่องสามล้วนๆ แต่แสดงให้เห็นความเห็นที่แตกต่างกันของผู้คนตามโลกที่เขาดำรงอยู่ บางคนไม่ยอมพูด บางคนพูดจนหมดเปลือก ทั้งคนจน คนรวย บางครั้งก็มีหวิดตบกันเพราะความเห็นไม่ตรงกัน แต่มันคือช่วงเวลาที่ผู้คนไม่ถูกปิดปาก ช่วงเวลาที่ทุกคนพูดได้อย่างเสรี และไม่ว่าผลการประชาพิจารณ์จะออกมาอย่างไร ทุกคนก็ต้องยอมรับ คนที่แพ้ก็ต้องเดินหน้าสู้ต่อในวิธีที่แตกต่างไป หนังทำให้เห็นว่าวิถีแบบประชาธิปไตยนั้นเกิดขึ้นได้จริง โดยไม่ต้องมานั่งคิดแค่ความสงบเรียบร้อย เพราะไม่สงบต่างหากจึงประเสริฐ
ภัทรนาถ พิบูลย์สวัสดิ์ (ผู้เขียนบทซีรีส์และภาพยนตร์)
Groundhog Day (1993, Harold Ramis)
ตัวละครในหนังเป็นนักพยากรณ์อากาศ ที่ต้องรายงานข่าวสภาพภูมิอากาศในวันกราวนด์ฮ็อก ปรากฏว่าในวันต่อๆ มา เขาดันติดอยู่ในวันกราวน์ฮ็อกไปเรื่อยๆ เขาไม่รู้จะออกไปจากวันนี้ได้ยังไง ชีวิตวนลูป อยู่กับอะไรเดิมๆ เหตุการณ์เดิมๆ คนเดิมๆ จนเริ่มเรียนรู้แล้วว่าต้องปรับเปลี่ยนอะไรบางอย่าง จากเดิมที่เป็นคนเห็นแก่ตัว ก็เริ่มช่วยเหลือคนนู้นคนนี้มากขึ้น ค่อยๆ ทำให้ตัวเองเป็นคนมีคุณค่า แล้วเดี๋ยวสิ่งที่วนลูปอยู่ก็จะค่อยๆ เปลี่ยนไปและดีขึ้น
ทำไมควรไปดูก่อนการเลือกตั้งเหรอ ชีวิตเราถ้าตื่นมาแล้ววนลูป ไม่มีอะไรพัฒนา ทำไมทุกอย่างยังเป็นเหมือนเดิม ถ้าเราไม่พอใจกับสิ่งที่มันเป็นก็ควรเปลี่ยนรึเปล่า ถ้าไม่พอใจสภาพสังคมที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ ไปเลือกตั้งสิ ไม่พอใจก็เปลี่ยนคนใหม่สิ หรือพอใจแล้วก็แล้วแต่นะ อยากจะอยู่เหมือนเดิมก็ได้
Friend Zone (2019, ชยนพ บุญประกอบ)
ขายของซะหน่อย ไปดูซะ (แตงเป็นหนึ่งในผู้เขียนบทภาพยนตร์เรื่องนี้—ผู้สัมภาษณ์) ผู้ชายคนหนึ่งติดอยู่ในเฟรนด์โซนมาเป็นสิบปีกับผู้หญิงที่เขาชอบ เขารู้สึกว่าอยู่อย่างนี้ก็พอใจอยู่แล้ว ก็อยู่ได้ แต่ถามว่าลึกๆ มีความสุขไหม จริงๆ ก็ไม่ได้พอใจกับสถานะที่เป็นอยู่หรอก แต่เขาไม่กล้าที่ก้าวข้ามผ่านโซนนั้นออกไป
พวกเราเองต่างก็อยู่ในโซนโซนหนึ่ง ที่ดูเหมือนจะน่าพอใจ อยู่ได้ไปวันๆ แต่ลึกๆ แล้วพอใจไหม สำหรับเราเราไม่พอใจนะ แล้วเราก็เห็นหลายๆ คนไม่พอใจกับโซนที่เราอยู่ในตอนนี้เหมือนกัน ถ้าเราไม่พอใจกับมัน ลองหลุดออกจากโซนเดิมๆ ที่เคยอยู่สิ กล้าที่จะก้าวข้าม เลือกสถานะของเราเองได้ว่าเราจะอยู่โซนไหน เรามีสิทธินะ ไม่ใช่ว่าเราจะยอมไปเรื่อยๆ ถ้าเปรียบกับประเทศไทยก็คล้ายกันอยู่นะ มันเข้ามาแบบเนียนๆ อยู่ไปเนียนๆ รู้ตัวอีกทีอยู่มาหลายปีแล้ว ทนมาได้ยังไงนะ ถ้าทนไม่ได้ก็อย่าไปทน
Train to Busan (2016, Yeon Sang-ho)
เรื่องราวของสองพ่อลูกที่ต้องนั่งรถไฟจากสถานีหนึ่งไปยังอีกสถานีหนึ่ง แต่ดันเกิดเหตุการณ์ซอมบี้บุกขึ้น ทีนี้เราก็เห็นความเป็นมนุษย์จากการหนีตายหลายๆ แบบ มีทั้งคนที่ทำเพื่อครอบครัวแต่จำเป็นต้องเห็นแก่ตัว มีคนที่คอยช่วยเหลือกัน มีคนที่ยอมเสียสละเพื่อคนอื่นแต่ตัวเองต้องตาย เราจะได้เห็นเนื้อแท้ของมนุษย์ในวันที่เดือดร้อนที่สุด
เราคิดว่าในภาวะแบบนี้ ภาวะที่ประชาชนกำลังเดือดร้อน สิ่งที่เราต้องการที่สุดคือผู้นำที่ดี ถ้าเราจะเลือกผู้นำสักคนหนึ่ง เราอยากให้ผู้นำคนนั้นเป็นคนแบบไหน ลองจินตนาการกันดู แล้วการที่เรากำลังจะไปเลือกตั้งกัน สมมติว่าเราตกอยู่ในสถานการณ์แบบนี้ ผู้นำแบบไหนที่จะพาเรารอด
ดร.พิชัยวัฒน์ แสงประพาฬ (อาจารย์ประจำภาควิชาวารสารสนเทศ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)
Ten Years Thailand (2018, อาทิตย์ อัสสรัตน์, วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง, จุฬญานนท์ ศิริผล และ อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล)
Ten Years Thailand ประกอบไปด้วยภาพยนตร์สั้นทั้งหมด 4 เรื่องที่ชวนเราตั้งคำถามถึงความเป็นไปของบ้านเมือง ด้วยรูปแบบการนำเสนอที่แตกต่างกันไป แต่จะเห็นได้ว่าทั้ง 4 เรื่องนี้เสนอปมปัญหาบางอย่างที่มีความร่วมสมัย และไม่มีท่าทีจะเปลี่ยนแปลงได้ แต่การเลือกตั้งอาจจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ปัญหาเหล่านี้คลี่คลายในตัวเองได้มากขึ้น
ภาพยนตร์ยังให้ต้นทุนทางความคิดกับเรา เพื่อตั้งคำถามถึง ความเชื่อ อุดมการณ์ กลไกต่างๆ ที่กำกับเราอยู่จนเราชาชิน สิ่งเหล่านี้ทำให้มีพื้นฐานในการตัดสินใจที่ดีในเฉพาะการเลือกตั้งที่จะมาถึง บางทีเราอยู่ในสังคมที่ทุกอย่างมันขับเคลื่อนไปอย่างรวดเร็ว ไม่ทันได้มองตัวเองหรือที่ที่ตัวเองอยู่ ดังนั้นหนังมันคงเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่กระตุ้นให้เราตั้งคำถาม เพื่อจะมองเห็นอะไรๆ ชัดขึ้น
To Live (1994, Zhang Yimou)
เรื่องราวของชายหนุ่มผู้เกิดมาในครอบครัวที่มั่งมี แต่กลับมีชีวิตที่ผันผวนไปตามความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในประเทศจีน ช่วงต้นศตวรรษที่ 20 นับตั้งแต่การปฏิวัติการปกครองประเทศเป็นระบอบสาธารณรัฐ การทำสงครามกับญี่ปุ่น การเข้าสู่สังคมแบบคอมมิวนิสต์ รวมถึงการปฏิวัติวัฒนธรรม ซึ่งล้วนแต่กระทบกับชีวิตเขาและครอบครัวอย่างมาก
ในเรื่อง ตัวละครเอกหลงใหลในการเชิดหุ่น ซึ่งหุ่นพวกนี้เองก็ไม่ต่างอะไรจากชีวิตเขา ที่โดนกำกับด้วยมือแห่งอำนาจเช่นกัน ไม่มีช่วงใดในชีวิตที่เขาพอจะเลือกเองได้อย่างแท้จริง ทั้งหมดชวนให้เราตระหนักถึงคำพูดที่ว่า ชีวิตมนุษย์เป็นผลผลิตของสังคม ทุกความเปลี่ยนแปลงส่งผลกับผู้คนเสมอ จะเป็นทางตรงหรือทางอ้อมเท่านั้น แต่ทั้งนี้ เราอาจจะต่างกับตัวละครในเรื่องอยู่บ้าง เพราะอย่างน้อย สังคมประชาธิปไตยมันยังเปิดโอกาสให้เราเลือกได้ ยังมีโอกาสในการกำหนดทิศทางของสังคมและ…ตัวเราเอง
The Name of the Rose (1986, Jean-Jacques Annaud)
เรื่องราวในศาสนสถานแห่งหนึ่ง ท่ามกลางบรรยากาศแห่งอำนาจปาฏิหาริย์ในยุคกลางของยุโรป เหล่านักบวชต่างปฏิบัติศาสนกิจของตน จนวันหนึ่งก็เกิดเรื่องประหลาดขึ้น มีการฆาตกรรมอย่างชวนฉงน ซ้ำแล้วซ้ำเหล่า มีคำอธิบายต่อสิ่งที่เกิดขึ้นว่ามาจากอำนาจเหนือจริง จนพระหนุ่มใหญ่รูปหนึ่งค่อยๆ เก็บรวบรวมหลักฐานจากสถานที่เกิดเหตุ ปะติดปะต่อเรื่องราว ซึ่งการใช้เหตุผลในการมองโลกของเขา ทำให้ปริศนาของเหตุการณ์ดังกล่าวคลี่คลาย
สำหรับผมนี่คือเรื่องราวของ ‘เจมส์ บอนด์’ ในยุคกลาง แม้ว่าในหนังจะไม่มีเรื่องการเมืองเลย แต่ท่ามกลางบรรยากาศในสังคมตอนนี้ หลายๆ ส่วนมันไร้ซึ่งเหตุผล เชื่อแต่ความรู้สึก ฝังใจกับอะไรแบบเดิม โดยไม่พยายามตั้งคำถาม การดูหนังเรื่องนี้ จึงอาจช่วยให้หลายคนตระหนักว่า ปัญหาใดๆ ก็ตาม สามารถที่จะใช้ความคิด องค์ประกอบของเหตุผล มาสร้างคำอธิบายได้อยู่เสมอ แน่นอนเรื่องสังคมและการเมืองเช่นกัน
ธมนวรรณ ปทุมลักษณ์ (นักศึกษาภาพยนตร์)
The Hateful Eight (2015, Quentin Tarantino)
ในสังคมที่มีความหลากหลาย มันยากเหลือเกินที่จะไม่ให้เกิดความขัดแย้ง เหตุการณ์เกิดขึ้นในช่วงสงครามกลางเมืองของอเมริกาที่มีความรุนแรง แบ่งฝ่ายกันอย่างชัดเจน ซึ่งเป็นการรวมความขัดแย้งไว้ในบ้านหลังเดียว
8 คน 8 ปัญหา โจรนักล่ารางวัล คนผิวสี นายอำเภอ คนต่างชาติ แม่ทัพฝ่ายใต้ ตลอดทั้งเรื่องมีความขัดแย้งเกิดขึ้น และจบด้วยการตายของใครบางคน แท้จริงแล้วภัยร้ายหรือตัวปัญหามันซ่อนอยู่ใต้จมูกของทุกคน เราไม่อาจไว้ใจใครได้ แต่ละคนต่างทำให้ตัวเองดูดี มีพิษภัยน้อยที่สุด
การเมืองตอนนี้ก็คงคล้ายๆ กับบ้านหลังนั้น ทุกคนมีดีมีเลวไม่ต่างกัน เพียงแต่เราจะไปในทางไหน จะอยู่ข้างใคร เรามองว่าการที่เรามีระเบียบมันทำให้เราไม่ต้องฆ่ากัน ทุกปัญหาไม่สามารถแก้ได้ด้วยกระบอกปืน เราควรพูดคุยและหาทางแก้ไขปัญหาร่วมกันจริงๆ
The Lobster (2015, Yorgos Lanthimos)
เรื่องนี้ทุกคนต้องแต่งงาน ห้ามเป็นโสด ทุกคนต้องมีคู่ ไม่งั้นจะถูกจับไปเป็นสัตว์ การเป็นโสดในหนังเรื่องนี้ ถือเป็นการขาดคุณสมบัติในการอยู่ร่วมกับสังคม ต้องถูกแยกไปอยู่บ้านพักแห่งหนึ่ง เพื่อให้เหล่าคนโสดหาคู่กัน และต้องหาคู่ให้ได้ ถึงจะกลับไปอยู่ในสังคมเช่นเดิมได้ ขณะเดียวกันก็มีกลุ่มคนที่ต้องการอยู่เป็นโสด พวกเขาต้องออกไปอยู่แบบหลบๆ ซ่อนๆ จนต้องกลายมาเป็นกลุ่มต่อต้านในภายหลัง
Isle of Dogs (2018, Wes Anderson)
ญี่ปุ่นออกกฎหมายเนรเทศสุนัขทั้งหมดออกจากประเทศและส่งไปอยู่บนเกาะที่มีแต่ขยะ โดยอ้างว่าสุนัขเป็นพาหะนำโรค ถึงแม้จะมีคนพยายามสร้างยาเพื่อรักษาแต่ก็เกิดเหตุการณ์วุ่นวายขึ้น เมื่อมีเด็กชายคนหนึ่งขับเครื่องบินไปที่เกาะขยะแห่งนั้นเพื่อตามหาสุนัขของเขา
แม้กฎหมายจะออกโดยรัฐบาลอย่างชอบธรรม แต่การกระทำที่เด็ดขาดสุดโต่งทำให้เกิดปัญหาตามมา ผู้คนออกมาต่อต้านนโยบายต่างๆ มีคนได้ผลประโยชน์ มีคนเสียประโยชน์ บางคนใช้หมาในการเฝ้าบ้าน แต่บางคนก็อาจมองว่าสัญญาณกันขโมยมีประโยชน์กว่า
กลุ่มการต่อต้านในก็เกิดจากเยาวชน การต่อสู้กับผู้ใหญ่ที่แม้อาจจะดูไร้เดียงสา แต่ก็เป็นการถามหาความยุติธรรม อย่างน้อยเราก็ได้เห็นการพูดคุยกันของทั้งสองฝ่าย การที่ผู้ใหญ่เริ่มยอมรับและพร้อมส่งต่อไปยังรุ่นต่อๆ ไป
อาทิตย์ อัสสรัตน์ (ผู้กำกับภาพยนตร์)
Spotlight (2015, Tom McCarthy)
Spotlight เป็นหนังอเมริกันเมื่อประมาณ 4-5 ปีที่แล้ว ชนะรางวัลออสการ์ แล้วก็เป็นหนังในดวงใจเรา หนังเล่าเกี่ยวกับนักข่าวของหนังสือพิมพ์ Boston Globe พวกเขาไปขุดคุ้ยเรื่องบาทหลวงที่ล่วงละเมิดทางเพศกับเด็ก สิ่งที่เราชอบคือชอบในการวิ่งหาความจริง มันเป็นการสู้เพื่ออุดมการณ์อะไรบางอย่าง การพยายามทำในสิ่งที่ถูกต้อง พยายามทำให้ความจริงมันออกมาให้ได้ เป็นสิ่งที่เรารู้สึกว่ามันมีพลังมากๆ
A Taxi Driver (2017, Jang Hoon)
ประเด็นคล้ายๆ กับ Spotlight เลย คือการที่คนตัวเล็กๆ คนหนึ่ง ซึ่งเขาเป็นคนขับแท็กซี่ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องอะไรด้วยเลย แต่อยู่ดีๆ ก็เข้าไปอยู่ในเหตุการณ์ทางการเมืองที่มันรุนแรง จริงๆ แล้วคนขับแท็กซี่คนนี้ไม่จำเป็นต้องอยู่ที่นั่นก็ได้ จะขับรถกลับบ้านไปเลยก็ได้ แต่พอเขาเห็นความไม่ยุติธรรม เห็นเรื่องที่ไม่เป็นอย่างที่มันควรจะเป็น เขาเลยต้องต่อสู้เพื่อสิ่งที่มันถูกต้อง
Ten Years Hong Kong (2015, Jevons Au, Kwun-wai Chow, Wong Fei-Pang, Kwok Zune, Ng Ka-Leung)
เราเพิ่งทำ Ten Years Thailand แต่ว่าจริงๆ แล้วมันเป็นเหมือนหนังภาคต่อ ไอเดียก็คล้ายๆ กัน แต่เราอยากให้ลองไปดูของเวอร์ชั่นฮ่องกง ลองไปดูแล้วเปรียบเทียบกันว่า ในโจทย์เดียวกัน การมองประเทศตัวเอง 10 ปีในอนาคต ระหว่างไทยกับฮ่องกง เขาทำมันออกมาเป็นยังไง แล้วเหมือนหรือต่างกับของเรายังไง
ธนชาติ ศิริภัทราชัย (ผู้กำกับโฆษณา)
Pacific Rim (2013, Guillermo del Toro)
โอ้โห มันมาก หุ่นยนต์ตีกับสัตว์ประหลาด จะบันเทิงไปกว่านี้ได้ไง จะบ้าเหรอ!? มีการเอาเรือมาเป็นดาบแล้วหวดหน้าไคจู โคตรมัน โคตรบันเทิง สนุกมาก เหมาะกับช่วงก่อนเลือกตั้งครับ เครียดมาก ต้องการสิ่งบันเทิงใจ
Death Sentence (2007, James Wan)
หนังในหลืบของเจมส์ วานที่คนไม่ค่อยรู้จัก แต่เราชอบมาก โอ้โห ตอนดูนี่ ใจเต้นตุบๆๆ เนื้อเรื่องคือ คุณพ่อ (เควิน เบคอน) ตามล้างแค้นแก๊งเด็กแว๊นที่มาฆ่าลูกชายของตัวเอง จบ มีแค่นี้เลย แต่เจมส์ วาน เอาอยู่ไง กำกับซีนแอคชั่นดีมาก แล้วด้วยความที่คุณพ่อแกไม่ได้เก่งอ่ะ เป็นพนักงานออฟฟิศปกติเลย มันเลยดูเป็นการต่อสู้ที่กระเสือกกระสน น่าเอาใจช่วย ไม่ใช่เป็นเดอะ ร็อกเข้าไปต่อยๆๆ ยิงๆๆ ชนะทุกคน เรียกได้ว่า เป็นหนังแอคชั่นที่เรารู้สึกใกล้ชิดกับตัวละครมาก เหตุผลที่เลือกก็เหมือนกับ Pacific Rim เลย ดูแล้ว escape ฉิบหาย บันเทิงใจชั้นดีครับ ฟังคุณไพบูลย์แล้วมันเครียดกับความเห่ยของผู้ใหญ่ในบ้านเมืองเราใช่ไหม นี่เลย เควิน เบคอน จะเยียวยาคุณ
Song From The Second Floor (2000, Roy Andersson)
เล่าเรื่องย่อเรื่องนี้ยากมาก มันเหมือนเป็นภาพคอลลาจชีวิตของคนหลายๆ คน ซึ่งส่วนใหญ่จะมีความบัดซบบางประการ ชอบบรรยากาศของเรื่องนี้ มันคล้ายกับประเทศเราตอนนี้จริงๆ นะ เวลาดูข่าวผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเราแล้วมันรู้สึกขำๆ ขื่นๆ แบบ เฮ้ย พี่เอางี้เลยเหรอ ใช้อำนาจกันอย่างนี้เลยเหรอ กลัวนั่นกลัวนี่จนต้องทำอย่างนี้เลยเหรอ ลอจิกอยู่ที่ใด เหตุผลอยู่แห่งไหน นี่ฉันอยู่ในไทยแลนด์หรือหนังรอย แอนเดอรส์สันกันวะ