เป็นอุดมคติที่เรารับรู้กันดีว่าไม่ควรเหยียดหรือด้อยค่ารสนิยมหรือการใช้ชีวิตของคนอื่น แต่ของแบบนี้มันก็มีกันอยู่เรื่อยๆ ไม่ว่าจะเหยียดจริงจัง แซะเอาขำ หรือล้อเล่น อย่างที่ผู้เขียนเจอบ่อยๆ ก็ เช่น “ว้าย ทำไมยังใช้ Hotmail อยู่อีก สะเหล่อจัง” “แกกินทำไมร้าน XXXX น่ะ มันไม่ใช่อาหารญี่ปุ่นแท้ๆ ซะหน่อย” และที่โดนเป็นประจำคือ “เฮ้ย แกยังซื้อบัตรไปดูเดี่ยวไมโครโฟนอยู่อีกเหรอ!?”
‘เดี่ยวไมโครโฟน’ ของอุดม แต้พานิช สร้างปรากฏการณ์บัตร sold out ทุกครั้งมาอย่างยาวนาน ซึ่งก็เข้าใจได้เพราะเขาแทบจะเป็น the only one ของวงการแสตนด์อัพคอเมดี้ บ้านเราไม่ใช่นิวยอร์กซิตี้ที่สามารถหาโชว์เดี่ยวไมค์ดูได้ทุกคืน หรือช่วงก่อนโควิดผู้เขียนเห็นงานเดี่ยวไมโครโฟนแบบเล็กๆ ของศิลปินอื่นจัดอยู่เป็นระยะ แต่ปัจจุบันก็แทบไม่ได้ข่าวคราวอีกเลย ดังนั้นโชว์ของอุดมจึงเป็นเหมือนงานที่ห้ามพลาดสำหรับคนบางกลุ่ม
ทว่ากระแสความนิยมต่อเดี่ยวไมโครโฟนในช่วงราว 5 ปีมานี้ก็ดรอปลงพอสมควร (อาจจะวัดอย่างหยาบๆ จากคนรอบตัวผู้เขียนและคอมเมนต์ชาวเน็ต) ด้วยข้อครหาต่างๆ ทั้งไม่ตลกแล้ว มุกตลกแบบดาษดื่นเหมือนหาได้จากสเตตัสเฟซบุ๊ก การจิกกัดซ้ำไปวนมาถึงพฤติกรรมของสตรีเพศ หรือบางคนบอกว่าไม่รู้จะซื้อบัตรทำไม เดี๋ยวสักพักก็มีให้ดูในยูทูบหรือสตรีมมิ่งแล้ว (อันที่จริงสิ่งนี้กำลังเกิดขึ้นกับหนังโรงด้วย)
ส่วนตัวผู้เขียนยังซื้อบัตรเดี่ยว 13 ด้วยเพราะดูแบบสดมาตั้งแต่เดี่ยว 5 ผ่านมาแล้วทั้งการซื้อบัตรเสริมสั่งพื้น, ต่อแถวซื้อบัตรยาวนาน 6 ชั่วโมง, ทะเลาะตบตีกับเว็บไซต์ขายบัตรเพราะบัตรเครดิตตัดไม่ผ่าน ฯลฯ และหลังจากเลื่อนแล้วเลื่อนอีกมา 3 รอบ เป็นเวลาเกือบ 2 ปีด้วยสถานการณ์โควิด-19 ในที่สุดเดี่ยว 13 ก็ได้จัดขึ้นในช่วงกลางเดือนมิถุนายน ค.ศ.2022
ผู้เขียนเข้าใจว่าอุดมน่าจะต้องปรับสคริปต์ใหม่มาหลายรอบเพราะโชว์ถูกเลื่อน ธีมหลักของเดี่ยว 13 เป็นประสบการณ์ของเขาที่เพิ่งไปบวชมา การบวชทำให้เขาตระหนักถึงการเกิด-แก่-เจ็บ-ตาย นำไปสู่การบรรลุว่าเขาใกล้จะตายแล้ว จึงไม่ควรเสียเวลากับเรื่องต่างๆ โดยเฉพาะการร่วมพิธีสารพัดที่นำมาซึ่งความกระอักกระอ่วนใจ อาทิ งานแต่งงานที่เราไม่รู้สึกยินดีด้วย, การถ่ายรูปรวมในงานศพที่ไม่รู้จะทำหน้าอย่างไร หรืองานเชงเม้งท่ามกลางอากาศร้อนบัดซบและเหล่าญาติที่เหม็นขี้หน้ากัน
ช่วงแรกของโชว์ทำให้ผู้เขียนเอ็นจอยพอสมควร อุดมยังทำได้ดีกับการหยิบเรื่องใกล้ตัวมาเล่าอย่างสนุกสนาน แต่อีกความรู้สึกหนึ่งคือมุกเหล่านี้มันช่างเป็นเรื่องที่เรารู้ๆ กันหรือเราเองก็เม้ามอยกับเพื่อนในคอนเทนต์แบบนี้อยู่แล้ว แต่หลังจากนั้นโชว์ก็เริ่มดิ่งเหวด้วยการที่อุดมประกาศว่า จากนี้เขาจะไม่ขอเสียเวลากับ ‘ส้วมนั่งยอง’ และ ‘ผี’ อีกต่อไป ผู้เขียนเผลอถอนหายใจออกมาทันที เพราะเดาได้ว่าเขาเล่นมุกไม้ตายอย่างเรื่องอุปสรรคในการขับถ่ายและการผจญกับผีสางในบ้าน ซึ่งเป็นเรื่องราวที่ถูกเล่ามาแล้วจนช้ำในเดี่ยวครั้งก่อนๆ
ครั้งหนึ่งผู้เขียนพูดคุยกับมิตรสหายว่า หลายปีมานี้เราเข้าถึงแสตนด์อัพคอเมดี้ของศิลปินต่างประเทศง่ายขึ้นมากเพราะบริการสตรีมมิ่ง เราได้เปิดโลกว่าการเล่นมุกตลกระดับอินเตอร์นั้นไปสุดทั้งการหมิ่นเหม่ล้ำเส้นและการวิพากษ์สังคม ไม่ว่าจะการวิจารณ์กระแส #MeToo ของ Michelle Wolf, ความคับข้องใจของการเป็นผู้หญิงโดย Taylor Tomlinson, Neal Brennan ที่เปิดเผยถึงโรคซึมเศร้าแบบตลกและลึกซึ้งไปพร้อมกัน หรือรุ่นใหญ่อย่าง Dave Chappelle, Louis C.K. และ Ricky Gervais ที่ช่วงหลังพร้อมใจกันแซวเรื่อง Over-PC และ Woke Culture (ซึ่งจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับพวกเขาเป็นอีกเรื่องหนึ่ง) ผู้เขียนเองไม่ได้หวังว่าโชว์ของอุดมจะต้องไปไกลขนาดนั้น แต่การยังต้องมาวนเวียนกับเรื่องขี้ๆ ผีๆ ทำให้ท้อใจต่อการชมอยู่ไม่น้อย
หลายคนตั้งข้อสังเกตว่าโชว์หลังๆ ของอุดมช้าและเนือยขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งจุดนี้ผู้เขียนไม่มีปัญหาอะไร มันเป็นตามเงื่อนไขของวัยและสังขาร แต่เดี่ยว 13 ช่วงที่อุดมเล่าว่า “ถ้าฉันเป็นผีนะ ฉันจะทำสิ่งเหล่านี้” อย่างยาวนาน มันช่างเรื่อยเจื้อยเรื่อยเปื่อย ถึงขั้นที่ผู้เขียนเผลอเหม่อมองเพดานมองพื้นกันเลยทีเดียว จากนั้นอุดมก็เร่งจังหวะแบบเต็มสูบด้วยการเล่าถึงประสบการณ์ไปเจอพญานาคกับผองเพื่อน ซึ่งผู้เขียนนับถือในการใส่พลังงาน แต่เรื่องราวมันออกจะแฟนตาซีจนผู้เขียนไม่อาจ relate ได้ (อันนี้เป็นปัญหาของผู้เขียนเอง)
อีกประเด็นที่เคยมีกระแสในทวิตเตอร์อยู่ช่วงหนึ่งคือการแซะถึง ‘ลุงตู่’ ในเดี่ยว 13 เห็นบางคนบอกว่าคราวนี้ใส่แบบไม่ยั้งนั่นนี่ ผู้เขียนเลยแอบคาดหวัง แต่พบว่าเป็นการแซวด้วยสโลแกนหาเสียง ประเภท “จุดแข็งคือหัว จุดอ่อนคือสิ่งอยู่ในหัว” หรือ “ผู้นำที่ต้องเลือกสำหรับคนไม่มีทางเลือก”
จริงอยู่ว่าเป็นการประดิษฐ์ถ้อยคำที่ชาญฉลาด แต่ก็เหมือนการแซะให้ปรบมือโห่ร้องฟินๆ แล้วจบกันไป ไม่ต่างจากการพูดเรื่องการเมืองในเดี่ยวก่อนๆ ที่เป็นการเอาใจผู้ชม (โดยเฉพาะชนชั้นกลางที่มีกำลังซื้อบัตรราคาหลักพัน) มากกว่าการวิจารณ์แบบเป็นเรื่องเป็นราว ยังมีข้อสังเกตว่าเดี่ยว 13 ไม่มีการพูดถึงเรื่องโควิดหรือการจัดการวัคซีนเลย แต่เข้าใจว่าตัวศิลปินอาจจะไม่อยากพูดถึงมันในฐานะช่วงเวลาอันไม่น่าจดจำ