ลองคิดถึงความฝันที่บ้าที่สุดที่น่าจะเป็นไปได้ของตัวเองดูสักอย่าง ความฝันนั้นคืออะไร? แต่สำหรับผู้ชายชื่อ ‘กตัญญู สว่างศรี’ พิธีกร นักคิด นักเขียน และนักเล่าเรื่องคนนี้ ความฝันบ้าๆ ของเขาคือการยืนอยู่บนเวที Stand-Up Comedy
จาก Stand-Up Comedy เวทีเล็กๆ ซึ่งจัดขึ้นเมื่อปีที่แล้ว ที่เล่าเรื่องชีวิตอันแสนห่วยของผู้ชายวัย 30 ปี มาถึงตอนนี้ กตัญญูกำลังจะพาสิ่งที่เขามองว่าเป็นความฝันบ้าๆ ที่น่าจะเป็นไปได้ ขึ้นเวทีในฐานะคอมเมเดี้ยนเป็นครั้งที่สามในเดือนกันยายนนี้ ในชื่อโชว์ที่ว่า ‘The Man Who Stand Up’
The MATTER เลยชวน ‘กตัญญู สว่างศรี’ มาคุยกันว่า กว่าจะมายืนเท่ๆ บนเวทีนี้ได้ เขามีวิธีจัดการกับความฝัน ความกลัว และความฮาของเขาอย่างไรบ้าง? ต้องจริงจังกับเรื่องตลกแค่ไหน? แล้วเขาได้เรียนรู้อะไรบ้างจากการทำโชว์เหล่านี้?
The MATTER : คุณคิดอะไรถึงเริ่มทำโชว์ครั้งแรกออกมา (A-Katanyu 30 ปี ชีวิตห่วยสัส)
กตัญญู : คือเริ่มทำครั้งแรกเลย เพราะว่าเราเคยมีโอกาสไปพูดแล้วก็รู้สึกสนุกกับอะไรแบบนี้ ตอนนั้นไปพูดที่มหาลัยเชียงใหม่ แล้วก็เอ้ย มันดี ปกติเราก็เป็นพิธีกรอยู่แล้ว ความคิดที่อยากจะทำอะไรพวกนี้มันก็เก็บมาสักพักนึงแล้ว จนประมาณปีที่แล้วอยู่ดีๆ ก็รู้สึกว่าเรียนรู้มาเยอะ โม้ๆ เลยแล้วกัน ก็เลยโพสเฟซบุ๊ก แต่จริงๆ ก่อนหน้าที่จะโพส เราไปโทรจองที่ไว้แล้ว (หัวเราะ) ที่ร้านหนังสือชื่อ Zombie Book บอกพี่.. เดี๋ยวผมเล่นแบบนี้ รู้สึกว่ามีคนฟัง ก็เอาวะลองดูเล็กๆ ก็แล้วกัน แล้วก็โพสลงเฟซบุ๊กเลย ’30 ปี ชีวิตห่วยสัส จะจัดโชว์!’
The MATTER : คุณเคยเล่าถึงคำพูดของพี่ด้วง ดวงฤทธิ์ บุนนาค ที่เป็นจุดเริ่มต้นของงานครั้งแรก ช่วยขยายความหน่อย
กตัญญู : คือช่วงก่อนที่เราจะทำโชว์นี้ เราทำหนังสือ แล้วก็สัมภาษณ์คนเยอะ จริงๆ ก็มีหลายความคิดเกี่ยวกับเรื่องของการทำอะไรให้สำเร็จ แต่ยกตัวอย่างพี่ด้วง เขาพูดถึงความเป็นไปได้ภายใต้บริบทของตัวเราเอง คือเขาพูดทำนองว่า การที่เราจะทำอะไรให้มันเสร็จ หรือว่าสำเร็จได้ ต้องเห็นภาพชัดก่อนว่าปลายทางมันคืออะไร แล้วสิ่งที่เราจะเห็นความเป็นไปได้ว่ามันเกิดขึ้นจริงได้ ต้องมีสิ่งที่เราทำได้อยู่ด้วย ก็คือในวงของตัวเอง เรามีความสามารถอะไรบ้าง มันจะทำให้เราเห็นความไปได้ใหม่ๆ เห็นให้มันชัดที่สุด แล้วก็ List ออกมาเลยว่า 1-10 มันต้องทำอะไรบ้าง
ตอนนั้นก็รู้สึกว่า เออว่ะ กลับมาดูตัวเอง ตอนนั้นเป็นพิธีกร เขียนหนังสือได้ ทำบทได้ เล่าเรื่องเป็น อะไรแบบนี้ ก็รู้สึกว่าอันนี้มันลงตัวกับความเป็นไปได้ในสิ่งที่เราจะทำ ก็เลยจัดไป โพสเฟซบุ๊กนี่แหะ ตอนนั้นก็คนไลก์เยอะ ปกติเราก็ไม่ค่อยมีคนไลก์หรอก อย่างนึงมันคือได้ใจ แต่ถ้าไม่ทำก็เสียหมา เหมือนบอกกับตัวเองว่า เฮ้ย มึงต้องทำแล้ว มึงบอกมาแล้ว
The MATTER : ตอนนั้นคิดรูปแบบโชว์ไว้แบบไหน
กตัญญู : ที่คิดก็ Stand-Up Comedy นี่แหละ คิดไว้อยู่แล้วว่าอยากจัดอะไรแบบนี้ คิดมาสักพักแล้ว แต่ว่ามันเหมือนไม่กล้าทำสักที เหมือนมันลังเลว่าจะเอาไง ใครจะมาดู ตอนหลังก็ไม่ได้คิด ก็ถ้าคนมันจะดูน้อยก็จัดให้มันเล็ก วิธีคิดมันจะค่อยบอกเราว่าจัดการยังไงให้มันเกิดขึ้น
Stand-Up Comedy จะมีลักษณะของการเล่นกับความคิดนิดนึง ท้าทายกับความคิดนิดนึง อาจจะเป็นเรื่องส่วนตัวของคอมเมเดี้ยนคนนั้น แต่ว่าเขาจะเล่าออกมายังไงให้คนอื่นรู้สึกถึงมันได้
The MATTER : คำว่า Stand-Up Comedy หน้าตาเป็นยังไง อธิบายหน่อย
กตัญญู : รู้สึกว่ามันคงมีคำนิยามที่ชัดเจนในรูปแบบที่คนอื่นเขาอธิบายอยู่แล้ว แต่เราว่ามันก็คือการขึ้นมาเล่าเรื่องให้คนฟังให้ได้คิด ได้สนุก แล้วมันก็คือ Comedy เนอะ ก็คงต้องเล่าเรื่องที่ตลก ขึ้นมาเล่นตลก อาจจะมีคนเดียว สองคน หรือมันอาจจะพลิกแพลงอะไรก็ได้ มันอาจจะมีดนตรีบนเวทีก็ได้ แต่มันคือการขึ้นมาเล่าเรื่องตลกในรูปแบบของการที่เป็นโชว์ลักษณะหนึ่ง
The MATTER : ความตลกแบบ Stand-Up Comedy คืออะไร ต่างกับตลกคาเฟ่ยังไง
กตัญญู : โดยรูปแบบเลย ตลกคาเฟ่เขาก็จะเล่นหลายๆ คน อันนั้นคือสิ่งที่ชัดเจน มีกันเป็นหมู่คณะ แล้วก็มีอุปกรณ์หรือมีการเล่นอะไรที่หลายๆ คนช่วยกันแจม ช่วยกันสนุก แต่ว่า Stand-Up Comedy ที่เราเห็น ส่วนใหญ่ก็จะเป็นคนเดียว เล่นคนเดียว อันนี้ก็จะเห็นภาพแตกต่าง แต่ว่าอย่างที่สองที่เรารู้สึกว่าชัดเจนเลยคือ คณะตลกหรือว่าตลกคาเฟ่ จะมีมุกที่มีลักษณะซึ่งคนไทยส่วนใหญ่คุ้นเคย เขาจะเล่าเรื่องที่มันสนุก แล้วมันก็จะมีมุกประจำ อย่างเช่น นับ 1-2-3-4 เอาถาดฟาดหัว มันจะมีจังหวะและสไตล์อีกแบบหนึ่ง ซึ่งจริงๆ เขาก็พัฒนาอยู่เรื่อยๆ ตลกคาเฟ่ยุคใหม่เขาก็เล่นอะไรที่แบบ โอ้โห ใหม่มาก ร้องเพลงด้วยอะไรด้วย
แต่สำหรับ Stand-Up Comedy เราว่ามันมีอิทธิพลจากวิธีการเล่นของพวกฝรั่ง เขาก็คิดๆ กันมา มันมีการละเล่นกับความคิดบางอย่างที่มันแตกต่างไปจากมุกทั่วๆ ไปของตลกคาเฟ่ ไม่มีอะไรดีไปกว่ากันนะ สำหรับเราแล้วเราก็ชอบตลกคาเฟ่มาก แต่ว่า Stand-Up Comedy จะมีลักษณะของการเล่นกับความคิดนิดนึง ท้าทายกับความคิดนิดนึง อาจจะเป็นเรื่องส่วนตัวของคอมเมเดี้ยนคนนั้น แต่ว่าเขาจะเล่าออกมายังไงให้คนอื่นรู้สึกถึงมันได้ เช่นเรื่องของความผูกพันระหว่างเขากับแม่ คือมีลักษณะของการสร้างสรรค์เหมือนกัน ตลกคาเฟ่ก็สร้างสรรค์อีกแบบหนึ่ง
คือเราไม่ใช่คนที่มานิยามกรอบ แต่ว่าเราแค่พยายามให้นึกออกว่ามันเป็นยังไง มันมีมุกตลกนึง ผมอาจจะต้องเล่าเป็นมุกมันจะได้เข้าใจ เป็นเรื่อง Emotional Creature ของ Jo Koy ซึ่งเป็นศิลปินลูกครึ่งฟิลิปปินส์-อเมริกันที่เจ๋งมาก เขาเล่นประมาณว่าผู้หญิงเวลาหัวเราะ เขาไม่ได้ให้อารมณ์หัวเราะทีเดียวนะ เขาจะหัวเราะแล้วก็ร้องไห้ไปด้วย (หัวเราะและร้องไห้) คือแบบฉันต้องให้สองอารมณ์นึกออกปะ แล้วมันก็ทำมือแบบนี้ (กตัญญูเล่นใหญ่มาก! จนต้องทำคลิปออกมาให้ดู รอติดตามกันนะ) คือต้องไปดูเขาเล่นแล้วมันจะให้ความรู้สึกว่ามันจะมีวิธีการที่หาอินไซด์บางอย่างมาเล่าเรื่อง แล้วเขาก็พยายามที่จะไม่ให้ซ้ำทางกัน เพราะว่าคอมเมเดี้ยนจะมีเยอะ แล้วก็หลากหลายมาก
The MATTER : ดูตัวอย่างมาเยอะไหมก่อนทำโชว์ แล้วเอามาใช้ยังไงบ้าง
กตัญญู : ไม่เยอะหรอกครับ คือจริงๆ แล้วเราก็ดูพี่โน้ส-อุดม ส่วนของฝรั่งก็เห็นๆ บ้าง หลังๆ นี่แหละที่เรารู้สึกว่ามันมีอะไรใหม่ๆ ก็เลยไปลองดูว่ามันมีการเล่าเรื่องที่แตกต่างยังไงบ้าง เพราะเราก็ไม่ได้อยากให้ไปซ้ำแบบใคร การเห็นเยอะมันจะทำให้เราไม่ไปซ้ำเขา ข้อสองก็คือดูได้ว่าวิธีการเล่นกับเรื่องราวของเขา เขาเล่นยังไง ซึ่งมันก็หลากหลายมาก เหนือกว่าที่เราคิด
เราไม่ได้เอาตลกแบบฝรั่งมาใช้นะ แต่เราอยากเห็นความแตกต่างหลากหลายมากกว่า แล้วเราก็รู้สึกว่ามันมีแพทเทิร์นบางอย่างที่เป็นสากล บางมุกที่เป็นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างตัวแม่ลูก เราว่ามันเข้าใจกันได้ แต่ว่ามันจะมีมุกบางอย่างที่มันจะอยู่ในบริบทที่จะต้องเข้าใจ อย่างเช่น เขาล้อใครสักคนหนึ่ง ซึ่งคนในสังคมนั้นรู้กันอยู่แล้ว แต่คนไทยไม่รู้เลย มันก็เล่นยาก มันก็ต้องเลือกเอาครับ เราว่ามีบางแพทเทิร์นที่ใช้งานได้กับทุกๆ คนแหละ แพทเทิร์นความตลกยียวนกวนตีนอะไรแบบนี้ แต่บริบทที่เราเลือกเอามาใช้หรือว่าเลือกเอามาหยิบเล่ามันต้องให้ที่บ้านเราเขาเข้าใจด้วย
The MATTER : เล่นมุกแบบไหน คนไทยถึงจะขำ?
กตัญญู : ไม่รู้ว่ะ มันก็อาจจะแบบพี่โอ๊ต-ปราโมทย์มั้ง คือเราว่ามันก็เปลี่ยนไปตามยุคตามสมัย ตอนนี้เขาก็ฮิตแบบคราง (เสียงคราง) อะไรอย่างนี้ ซึ่งเราว่ามันก็ไม่ได้มีทางเดียวปะ ไม่รู้ว่ะ ตอนนี้มันก็น่าจะฮิตแบบนี้ ถ้าโทรเข้าไปในรายการเขาก็ต้องแบบครางชื่อหน่อย (กตัญญูเล่นใหญ่มากอีกครั้ง! อย่างที่บอก รอติดตามดูคลิปละกันนะ) แล้วก็เปิดเพลง
คนไทยเป็นคนชอบเรื่องตลกอยู่แล้ว อะไรๆ ที่มันคาดไม่ถึง อย่างล่าสุดที่มีน้องคนนึงขอเพลงที่มีงู มันก็กลายเป็นว่าแบบ เฮ้ย มึงขออะไรวะ สนุกมากเลย หรือว่าอาจารย์วีระ ที่มีผู้หญิงโทรเข้ามาเล่าเรื่องผี แต่อาจารย์วีระไม่ได้คุยเรื่องผีเลย
เราว่าคนจะขำเรื่องคล้ายๆ กัน เรื่องคาดไม่ถึงที่พอรับได้ ถ้ามันเลวร้ายเกินไป เจ็บปวดเกินไป บางทีเราว่ามันอาจจะไม่ค่อยตลก การเล่นตลกมันมีเหยื่ออยู่เสมอ เราต้องล้อใครสักคน ใครสักคนต้องโดน ถ้าโดนหนักมากๆ ไม่มีใครพอใจหรอก หรือว่าระดับความพอใจของแต่ละคนคงไม่เท่ากัน คอมเมเดี้ยนก็ต้องไปกะเกณฑ์เอาเองว่าจะล้อได้แค่ไหนถึงจะเป็นที่รักหรือเป็นที่เกลียด อย่างเราก็จะมีเซนส์ของเราเองว่า ไม่เอาเรื่องแบบนี้ คือเราเป็นคอมเมเดี้ยนให้คนชอบ เป็นให้คนรักอะ เราไม่ได้เอาเรื่องตลกมาขยี้ใครเพื่อให้จมตีน แต่เรามาเพื่อหยอกเล่นๆ ขยี้เล่นๆ ให้คุณเห็นว่ามันน่ารักดี มันตลกดี ส่วนมากก็เลยชอบเล่นตัวเอง (เจ็บน้อยกว่าด้วย) มันก็ง่ายดี เราก็เป็นเหยื่อของเราเองไป
การเล่นตลกมันมีเหยื่ออยู่เสมอ เราต้องล้อใครสักคน คอมเมเดี้ยนก็ต้องไปกะเกณฑ์เอาเองว่าจะล้อได้แค่ไหนถึงจะเป็นที่รักหรือเป็นที่เกลียด
The MATTER : ตลกที่ดีคืออะไร มันมีมากกว่าแค่ขำไหม
กตัญญู : เรานิยามอะไรพวกนี้ไม่ได้เลยว่ะ เราว่าปล่อยให้มันเป็นหน้าที่คนอื่นเหอะ เราว่าสุดท้ายก็ต้องสนุกก่อน ก็มีคอมเมเดี้ยนบางคนที่พูดอะไรคมๆ พูดอะไรแล้วน่าสนใจ แต่ว่าเราไม่ถึงขั้นนั้นหรอก และเราก็ไม่รู้ด้วยว่าเป็นยังไง เราขอบรรยายกาศสนุกก่อน มาดูแล้วสนุก ฟังมุกแล้วก็สนุกสนานไปกับมัน เราว่าอันนี้เป็นความคาดหวังแรก คือสำหรับเราคือมาแล้วสนุก ไม่ใช่กลับไปแล้วกูไปได้ปรัชญาคาลิล ยิบรานกลับบ้าน อันนั้นก็ไปอ่านหนังสือไหม มานี่ก็มาสนุกกันสิ
The MATTER : คุณแคร์คนถูกแซวหรือเปล่า เคยเจอใครไม่พอใจบ้างไหม
กตัญญู : จริงๆปกติเราทำงานพิธีกรก็แซวหนักอยู่แล้ว พอขึ้นไปเราก็จะไม่คิดเลย ขึ้นไปตลกก็จะตลกเต็มที่ แต่พอลงมาเราก็ไปขอโทษนะ เฮ้ยพี่ ผมแซวเล่นนะ มันเป็นโชว์นะ เราอยากให้เข้าใจเรื่องนี้ ก็คือว่าที่เราขึ้นไปตลกอะ มันเป็นโชว์ที่เราเล่นกันอะ มันเป็นวิธีเล่าเรื่องหรือประเด็นที่เราคิดว่ามันสนุก แต่พวกฝรั่งก็เล่นกันรุนแรงนะ
มีคนนึงที่ชอบเล่นมุกแรงมาก เขาพูดถึงวิธีการตายอย่างมีความสุขก็คือหลับตายไป ยายมันก็หลับตายไปแบบนั้นแหละ แต่ว่ามันก็ต้องมาเสียใจเพราะภายหลังที่เกิดการชันสูตรมันก็พบว่า ยายตายตอนชันสูตร นึกออกปะ แล้วเขาก็พูดทำนองว่ามุกนี้มันท้าทายนะ มีคนบางคนที่แบบไม่ชอบมุกของเขา แล้วเขาก็จะพูดทำนองว่าคนโง่ไม่มาดูโชว์ผมหรอก คนฉลาดก็เหมือนกัน คือเล่นท้าทายกับคนดูมาก หรือบางมุกที่พูดไปแล้วคนไม่เข้าใจ แต่มีเสียงปรบมือ เขาก็แซวว่าคนที่ปรบมืออะ รู้รึเปล่าวะว่ามันคือเรื่องอะไร มุกนี้มันท้าทายมากเลย แสดงให้เห็นเลยว่าโชว์นี้เป็นยังไง คุณมีกึ๋นพอรึเปล่า
เรารู้สึกว่า Stand-Up Comedy มีการเล่นกับความคิดที่คล้ายๆ กับเขียนเรื่องสั้นหรือวรรณกรรม ที่คุณต้องไปรู้ว่าเขาซ่อนอะไรบ้างอย่างอยู่หรือเปล่า อันนี้อยู่ที่คนเล่นด้วย
The MATTER : มีมุกแบบไหนที่คุณอยากเล่น แต่ไม่กล้าเล่นบ้างไหม
กตัญญู : มีเยอะมาก (ลองไหม) ไม่ได้เลย บอกเลยว่าไม่ได้เลย (หัวเราะแรงมาก) บอกเลยว่ามันเป็นเรื่องที่ไม่ดีมากเลย ต้องตัดออก เป็นห่วงลูกหลาน ลูกหลานคนอื่นนะไม่ใช่ลูกหลานเรา
The MATTER : กลับมาที่โชว์หน่อย ทำไมครั้งที่สอง (One Night Stand (Up)) ถึงชวนเพื่อนๆ มาเล่นด้วย
กตัญญู : เรารู้สึกว่าพอเล่นๆไปแล้ว เราไม่ได้อยากขึ้นมาเล่นคนเดียว เราอยากให้มีเพื่อนฝูงอยากให้มีกลุ่มคนแบบนี้มา จุดประสงค์คืออยากมีเพื่อนมาแจม อยากเห็นคนอื่นเล่น แล้วมีคนมาแข่งๆ กันมันสนุกอะ มันผลักดันตัวเอง แล้วกลุ่มคนดูก็ครึกครื้นที่จะได้เห็นอะไรหลากหลาย เราเลือกคนที่ไม่ใช่คอมเมเดี้ยนไปเลยนะ ไม่ใช่คนตลกเลย แต่เรารู้สึกว่าเรื่องพวกนี้มันต้องทดลองอะ ได้ขึ้นบนเวทีแล้วลองเล่นกับบรรยากาศดู
The MATTER : เวทีที่สองแล้ว มีประสบการณ์แล้ว อะไรต่อมิอะไรง่ายขึ้นไหม
กตัญญู : ต้องแยกเป็นสองส่วน ถ้าเป็นเรื่องโอเปอเรชั่นต่างๆ การจัดการต่างๆ ก็ดีขึ้นมาก เพราะว่าเรารู้แล้วว่าเดี๋ยวต้องมีนู่นมีนี่ คือเราคิดเยอะตั้งแต่เรื่องสถานที่ การที่คนจะมาเจอเรา ในออนไลน์เขาจะต้องมีประสบการณ์แบบไหนก่อนจะมาถึงโชว์ อันนี้เราจัดการได้ค่อนข้างโอเค แต่ก็มีติดขัดบ้างตามประสา อีกส่วนนึงคือการเป็นโชว์บนเวที เราว่าเราไม่ค่อยพอใจตัวเองเท่าไหร่นะ เพราะปกติแล้ว การโชว์แบบนี้มันจะมีโฮสต์ แล้วก็มีคนที่มาเล่นเป็นคอมเมเดี้ยน แล้วก็ปิดท้ายด้วย Headliner ซึ่งเราวางตัวเองเป็น Headliner แต่ว่าเราไม่พร้อม เราโฟกัสเยอะมาก ทำให้เรารู้สึกว่า เฮ้ย แม่งยังดีได้กว่านี้ปะวะ เรารู้สึกว่าต้องทำความเข้าใจโชว์แบบนี้ให้มากขึ้น แล้วก็อยากให้มันสนุกขึ้นมากกว่านี้ โดยรวมถือว่าได้ดีแหละ เพียงแต่ยังคิดว่ามันยังดีได้มากกว่านี้อีก
The MATTER : แล้วผลตอบรับจากคนอื่นๆ เป็นยังไงบ้าง สำหรับสองครั้งที่ผ่านมา
กตัญญู : ดีนะ ดีเลยส่วนใหญ่ มีคำแนะนำเข้ามาบ้าง แต่ว่าส่วนใหญ่ก็ชอบ อยากดูอะไรอย่างนี้ สิ่งที่ทำให้อยากไปต่อก็นี่แหละ กลุ่มคนที่เชื่อมั่นเรา นอกจากคนดูที่สำคัญมากที่สุดแล้วก็คือคนรอบตัวที่เข้ามาช่วยเราเต็มไปหมดเลย คนนู้นเข้ามาช่วยแต่งเพลง คนนี้เข้ามาช่วยดูงาน ช่วยขายตั๋ว มันรู้สึกว่าคนที่รอบๆ ตัวที่เชื่อว่าเราจะทำได้นี่แหละคือแรงผลักดัน
The MATTER : ถามถึงครั้งที่สาม ‘The Man Who Stand Up’ คราวนี้รูปแบบงานจะเป็นยังไง
กตัญญู : ก็เหมือนครั้งแรกนะครับ ก็คือเล่นคนเดียวครับ แล้วก็เป็นงานที่ใหญ่ขึ้นนะแหละ ฉากอลังการณ์ขึ้นเล็กน้อย ตั้งใจที่จะเล่นคนเดียวเพราะเรารู้สึกว่าอยากให้เมสเสจของการที่จะเล่นแบบนี้มันออกชัดๆ ตั้งแต่ครั้งแรกแล้ว ก็จะมีคนเสนอว่าจัดเป็นทอล์กโชว์ไหม ถ้าคนมาแล้วสนุก ก็ถือว่าเป็นของแถม นึกออกปะ ไม่ต้องคาดหวัง แต่เราก็รั้นเพราะคิดว่า เอ้า จะเอาทางนี้มันก็ต้องทางนี้รึเปล่าวะ ครั้งนี้ก็เหมือนกัน พอจัดให้มันใหญ่ขึ้นมันก็ต้องแบบนี้แหละ เรากำลังทำ Stand-Up Comedy มันทำแบบนี้ ก็ต้องทำแบบนี้
The MATTER : ทำไมอยู่ดีๆ ครั้งนี้ถึงกลายเป็นงานใหญ่ เมื่อเทียบกับสองครั้งที่ผ่านมา
กตัญญู : เอาเข้าจริงๆ แล้ว เราตั้งใจแค่ว่าสามร้อยคน สักสองสามรอบ หรือเพิ่มรอบก็ได้ถ้ามันขายดี เราก็ไปดูที่โรงละครสยามพิฆเนศ จะมีโรงเล็กหน่อยก็คือ The Playhouse ใหญ่สุดคือ The Theatre วันนั้นเราไปดู The Playhouse แต่ว่าห้องมันติดขัด มีคนใช้อยู่ พี่ Producer เขาเลยให้ลองขึ้นไปดูข้างบน จังหวะที่เราขึ้นไปยืนบนเวทีที่มีฉากอยู่ข้างหลังแล้วมีเก้าอี้เยอะๆ แม่งมีความรู้สึกแบบ เฮ้ย กูจะเล่นตรงนี้ว่ะ โดยไม่มีเหตุผลเลยนะ คนมันน่าจะมาได้นะ มันสวยไง ก็บิ๊วตัวเองอะ กูว่าแม่งมาแหละ ตอนนั้นตังไม่มีซักบาท ก็เลยถอยมาถ่ายรูปแล้วก็ลงเฟซบุ๊กด้วย สูตรเดิม (หัวเราะ)
ต่อไปเลยนะ ไม่ต้องสปินอะไรเลยนะ ไปถ่ายรูปที่ตัวเองอยากทำ โพสลงเฟซบุ๊ก แล้วก็บอกว่าจะทำ เราถ่ายรูปนั้นลง แต่ว่าก็บอกแบบไม่เต็มร้อยไปว่า ‘อกตัญญู 2017 Soon’ เพราะว่าเสียวเปลี่ยน (หัวเราะ) คืออาจจะ Soon ที่เล็กๆ ก็ได้ แต่กูถ่ายรูปใหญ่ๆให้มึงดู แต่เราก็พยายามหาให้มันได้ ไม่กี่วันเท่านั้นแหละ เราก็สามารถจัดงานนี้ได้
The MATTER : กลัวไหม
กตัญญู : โหเหี้ย กลัวสัส คือแบบเราพูดไปหลายทีแล้วแหละเรารู้สึกว่าไม่กลัวเท่าปีที่แล้ว ปีที่แล้วเรารู้สึกว่าเราทำอะไรไม่เป็นเลย เริ่มทุกอย่างจากศูนย์ ถึงแม้ว่าเวทีมันจะเล็กมาก โคตรเล็กเลยอะแต่แม่งโคตรใหญ่เลยตอนนั้น แต่ตอนนี้เราทำหลายอย่างเป็น จัดการนู่นนี่นั่นเป็น ความกลัวมันเหลืออยู่เรื่องเดียวคือทำยังไงให้คนมาดู ให้บรรยากาศมันดี เออ.. ก็หลายเรื่องแหละ (หัวเราะ) อันนั้นคือเรื่องเดียวที่ใหญ่ที่สุด แต่เรื่องที่เหลือๆ ที่ใหญ่เท่ากันเลยคือเรื่องบนเวที โชว์ทำยังไงให้สนุก
แต่ก่อนเวลาเรากลัว มันจะเคว้งคว้างจับต้องไม่ได้ว่ากลัวอะไร แต่พอทำอันนี้เหมือนมันแบ่งช่วงไป กลัวแรกคือจะทำอันนี้ จะจัดเวทีนี้ กลัวไม่มีเงินจัด กลัวหาเงินมาทำไม่ได้ อะ.. มึงก็หาเงินซะ จบละ หาเงินมาได้แล้ว ไม่กลัวแล้ว กลัวที่สองคือกลัวไม่มีคนดู ก็ต้องพยายามทำพีอาร์ พยายามเล่าเรื่องออกไป เดี๋ยวยังมีแผนอื่นอีกมากมาย กลัวสองนี่ตัดทิ้งไปละ กลัวที่สามคือเดี๋ยวกูต้องขึ้นไปเล่นบนเวทีใช่ไหม แล้วแบบกูจะจัดการกับความกลัวนี้ยังไง การทำงานนี้ เราต้องค่อยๆ จัดการกับความกลัวไปทีละขั้น คือมันค่อยๆ อัดมาเรื่อยๆ เราก็ค่อยๆ เลาะมันออกไป
The MATTER : หลังจากงานนี้ มีแผนจะทำอะไรต่อไปไหม
กตัญญู : เราอยากทำอีก จริงๆ เราแพลนว่าเราอยากไปอเมริกาเลยนะ อยากไปดูว่าเล่นจริงๆ เป็นยังไง เราภาษาอังกฤษไม่ดีหรอก แต่ว่าเราคิดว่าถ้าเราเล่นภาษาอังกฤษ แล้วเราไปเล่นที่ Comedy Club นึกออกปะ Southeast Asian ซักคนนึง ที่ไปเล่าเรื่องเหี้ยๆ ที่เกิดขึ้น ก็น่าจะเล่าได้เยอะ เพราะว่ามันน่าจะตื่นเต้นที่นู่น แต่ว่าอันนี้คือฝันใหญ่ๆ ไกลๆ เลยนะ แต่เราก็จริงจัง เราลาออกจากงานเพื่อทำโชว์นี้เลย
The MATTER : มีคอมเมเดี้ยนที่เป็นไอดอลไหม?
กตัญญู : ไม่มีๆ เลิกมีไอดอลไปตั้งนานแล้ว (หัวเราะ) ไม่รู้จะพูดยังไง ไม่ได้คิดว่าใครเป็นไอดอลแล้ว เราก็เลือกเอาว่าคนนี้เจ๋งเรื่องไหน คนนั้นเจ๋งเรื่องอะไร แม้แต่คนที่เราไม่ชอบเรายังเลือกได้เลยว่าเขาจะสอนเรายังไง
เราเคยถูกให้ออกจากงาน โดนไล่ออกด้วยคำพูดว่า “คุณแม่งใช้แต่ปากทำงาน” คืนก่อนที่จะได้ชื่องานนี้ เราตื่นขึ้นมาแล้วเราก็แบบ เฮ้ย เขาชี้ทางกูนี่หว่า ทุกวันนี้กูใช้แต่ปากทำงานเลยเนี่ย เราโทรไปขอบคุณเขาเลยนะ ตอนนั้นเราเกลียดเขามากเลยนะ เกลียดเหี้ยๆ เจอหน้าก็คือไหว้ตอแหลไปครั้งนึงเท่าที่จำได้ในชีวิต แต่หลังจากนั้นเราก็ไม่เอาแล้วเราห้ามตอแหล เกลียดใครเราก็ควรจะห่างๆ เขา แต่ว่าพอค้นพบว่าจริงๆ เขาไล่เรามาถูกทางว่ะ เขาไล่เรามาทางที่เราใช่จริงๆ คือคำด่าของคนบางทีมันเจ็บใจ แต่ว่ามานั่งนึกดีๆ อ้อ.. มึงเป็นอย่างนั้น
เราเคยถูกให้ออกจากงาน โดนไล่ออกด้วยคำพูดว่า “คุณแม่งใช้แต่ปากทำงาน” เฮ้ย เขาชี้ทางกูนี่หว่า ทุกวันนี้กูใช้แต่ปากทำงานเลยเนี่ย
The MATTER : คิดว่าตัวเองเป็นคนตลกไหม
กตัญญู : เราว่าบางครั้งว่ะ คือเราไม่ใช่คนที่เจอหน้าแล้วจะมาตลกอะไรอย่างนี้ แต่ว่ามันจะเป็นบางอารมณ์ บางบรรยากาศที่เราทำได้ เป็นคนแหย่คนได้ เป็นคนชอบสร้างบรรยากาศมากกว่า แล้ว เรารู้สึกว่าความตลกมันไม่ใช่ที่สุดของการเล่นอะไรแบบนี้ แต่ที่สุดของการเล่นอะไรแบบนี้คือการสร้างบรรยากาศ สร้างความสนุกร่วมกัน บางครั้งไม่ต้องตลก เออ.. แต่ว่าส่วนใหญ่แม่งก็ต้องขำหน่อยว่ะ
คือเราเคยคุยกับตลกที่เคยมาเล่นเมืองไทย เราไม่รู้ว่ามันจริงแค่ไหนนะ แต่เค้าบอกว่าพวกคอมเมเดี้ยนมืออาชีพ หนึ่งนาทีคุณต้องได้สี่ฮา แล้วเราก็ถามเขาว่าเราเล่นเป็นยังไงบ้าง เขาก็บอกว่า คุณก็พอได้นะ สามนาทีคุณก็มีแปดฮา อ่าว หารแล้วกูเหลือนาทีละสองเอง นี่มันหลอกด่ากูปะเนี่ย เราไม่รู้ว่ะ แต่ก็ไม่เชื่อทั้งหมด หนึ่งนาทีกูอาจจะฮาเดียวก็ได้ ถ้าลากยาว
The MATTER : ได้เรียนรู้อะไรบ้างจากการทำ Stand-Up Comedy ที่ผ่านๆ มา
กตัญญู : จัดมาสองครั้งมันก็สอนวิธีการทำงานว่าทำยังไงให้ได้ผลลัพธ์อย่างที่เราคิด สอนเรื่องการจัดการกับความกลัว แล้วก็การขอความช่วยเหลือจากคนอื่นๆ ทุกครั้งที่เราจัดงานเนี่ย มีคนให้ความช่วยเหลือเราเต็มไปหมดเลย
เราชอบคำนี้ คือ ‘ความฝันบ้าๆ ที่น่าจะเป็นไปได้’ แล้วมันจะมีคนเข้ามาอยากสนุกด้วย เราว่ามีคนที่มีความฝันหรือมีอะไรพลุ่งพล่านอยู่ในตัวเองเยอะ แต่ว่าอาจจะทำไม่ได้บ้าง อาจจะมีเงื่อนไขอะไรบ้าง มีพี่คนนึงบอกเราว่า “กูเห็นมึงแล้วกูรู้สึก เออ.. มึงเป็นตัวแทนกูที่ลุกขึ้นไปทำอะไรแบบนี้ กูเลยอยากช่วย”
การที่เราทำอะไรที่มันน่าจะเป็นไปได้ แล้วแม่งเพี้ยน แม่งบ้า แม่งจะสนุกชิบหาย