เพื่อให้เป็นที่ยอมรับจากสังคมและคนรอบข้าง บางครั้งเราก็ต้องเป็นตัวสร้างสีสันให้กับพวกเขาบ้าง เพราะนอกจากจะทำให้บรรยากาศโดยรอบดูผ่อนคลายแล้ว ภาพลักษณ์ของเราเองก็จะดูเข้าถึงง่ายอีกด้วย
ซึ่งการเล่นมุกก็ดูเป็นอีกวิธีหนึ่งที่น่าจะได้ผลเป็นอย่างดี เพราะใครๆ ก็คงชอบคนอารมณ์ดีและพูดจาตลกขบขัน แต่บางครั้งการเล่นมุกก็แอบมีความเสี่ยงว่าบางประโยคจะไปกระทบกระเทือนจิตใจใครเข้าหรือเปล่า หรือพูดไปแล้วจะมีคนไม่พอใจมั้ย งั้นลองเปลี่ยนมาเล่นมุกล้อเลียนตัวเองแทนแล้วกัน ดูจะปลอดภัยที่สุด
มุกที่คนเล่นปลอดภัย ส่วนคนฟังก็ชอบใจยิ่งนัก
การเล่นมุกตลกเชิงล้อเลียนตัวเอง หรือ self-deprecating humor เป็นที่รู้จักในรูปแบบของการสร้างอารมณ์ขันผ่านการ ‘ทำให้ตัวเองดูตลกหรืองี่เง่า’ โดยจะมีลักษณะของการพูดจาหรือทำท่าทางเสียดสี ล้อเลียน หรือเหยียดตัวเองเพื่อให้คนอื่นขำตาม การเล่นมุกประเภทนี้กลายเป็นที่นิยมและองค์ประกอบสำคัญในมุกของเหล่านักแสดงตลกแถบอเมริกาตอนเหนือ อย่าง วู้ดดี้ อัลเลน (Woody Allen), หลุยส์ ซี.เค. (Louis C.K), ฟิลลิส ดิลเลอร์ (Phyllis Diller), โคนัน โอ ไบรอัน (Conan O’Brien), เควิน ฮาร์ต (Kevin Hart), โจแอน ริเวอร์ส (Joan Rivers) ฯลฯ โดยเฉพาะการแสดงตลกแบบพูดคนเดียว (stand-up comedy) ที่จะมีรูปแบบการเล่นมุกประเภทนี้ให้เห็นอยู่บ่อยครั้ง
อย่ากลัวที่จะหัวเราะเยาะตัวเอง
ดีไม่ดี คุณอาจจะพลาดมุกตลกที่ขำที่สุดในศตวรรษก็เป็นได้
– โจแอน ริเวอร์ส
โจแอน ริเวอร์ส นักแสดงตลกชื่อดังที่ขึ้นชื่อเรื่องฝีปากและสติปัญญาอันหลักแหลม เธอมีประโยคเด็ดมากมายที่ใช้เรียกรอยยิ้มและสร้างเสียงหัวเราะให้กับผู้ชมในเดี่ยวไมโครโฟนของเธอ โดยเฉพาะเนื้อหาส่วนใหญ่ที่มักจะเสียดสีการทำศัลยกรรมของตัวเอง ยกตัวอย่างเช่น
“ฉันทำศัลยกรรมพลาสติกเยอะมาก ตอนฉันตาย ฉันจะบริจาคร่างกายให้กับโรงงานทัพเพอร์แวร์”
“ฉันอยากมีฝาแฝด จะได้รู้ว่าตอนตัวเองไม่ทำศัลยธรรมพลาสติกหน้าตาเป็นยังไง”
“ฉันตั้งตารอดูการประกาศรางวัล Emmys Award แน่นอน เพราะทีมเมคอัพของฉันถูกเสนอชื่อในสาขา Best Special Effects”
นั่นแสดงให้เห็นว่า มุกตลกแนวนี้ได้กลายเป็นหนึ่งในวัฒนธรรมการเล่นตลกของสังคมอเมริกา แต่ความจริงมันมีมานานตั้งแต่สมัยยุคกลางแล้ว ซึ่งนักแสดงตลกในสมัยนั้นหรือที่เรียกว่า jester มักจะชอบล้อเลียนตัวเองเพื่อสร้างความสนุกสนานให้แก่พระราชาและพระราชินี
ดังนั้น เหตุผลด้านจิตวิทยาจึงถูกนำมาวิเคราะห์ศึกษาเพื่ออธิบายปรากฏการณ์และผลกระทบที่เกิดขึ้น แล้วก็พบว่าผู้ชมส่วนใหญ่รู้สึกสบายใจกับการเล่นมุกประเภทนี้ มากกว่าการเล่นมุกพูดจาเหยียดหรือเสียดสีแบบอื่นๆ และพวกเขาเองก็ไม่ได้รู้สึกว่าถูกคุกคามแต่อย่างใด เพราะนักแสดงตลกเหล่านั้นล้อเลียนตัวเองโดยตรง ไม่ได้ล้อเลียนพวกเขาหรือคนอื่นๆ
นอกจากนี้ ด้วยความที่ป๊อปคัลเจอร์มักจะผลิตมุกตลกประเภทนี้ให้เห็นบ่อยๆ เช่นในโฆษณา ภาพยนตร์ รายการโทรทัศน์ หนังสือการ์ตูน หรือแม้แต่บทสนทนาในประชีวิตประจำวันเองก็ตาม ก็ได้เอื้อให้นักแสดงตลกนำเทคนิคนี้มาใช้ในการสร้างเสียงหัวเราะได้โดยไม่ทำให้ใครรู้สึกอึดอัดใจ
เพราะรู้สึกไม่ปลอดภัย จึงทำให้ตัวเองดูตลก
ในชีวิตประจำวันเราอาจจะเคยได้ยินใครสักคนพูดจา make fun ตัวเองอยู่บ่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นรูปร่าง หน้าตา เพศ สีผิว เชื้อชาติ หรือไลฟ์สไตล์อื่นๆ ฟังดูก็น่าตลกดีที่เขาสามารถชูปมด้อยของตัวเองให้กลายเป็นเรื่องล้อเล่นได้ แต่จริงๆ เบื้องหลังของการเหยียดหรือการล้อเลียนตัวเองเหล่านั้นเกิดขึ้นจากความรู้สึกไม่มั่นคง (insecurity) และความมั่นใจในตัวเองต่ำ (low self-esteem) ของตัวผู้พูด ที่มักจะรู้สึกกังวลภายในใจว่าจะมีใครมาด่า มาว่า มาแซวปมด้อยของตัวเองหรือเปล่า หรือเพราะเคยถูกพูดจาไม่ดีใส่มาก่อนหน้านี้ จึงทำให้พวกเขาฝังใจว่าครั้งต่อไปก็คงจะโดนพูดจาแบบนี้ใส่อีกแน่นอน เลยเลือกที่จะชิงพูดมันขึ้นมาก่อน เพื่อปกปิดความไม่มั่นใจตรงนั้นและทำให้คู่สนทนารับรู้ว่า พวกเขาก็รู้ปมด้อยของตัวเองดีอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นคุณไม่จำเป็นต้องมาล้อพวกเขาให้เหนื่อยเปล่าๆ
วิธีนี้จึงถือว่าเป็นกลไกป้องกันตนเอง (defence mechanism) ที่หลายคนใช้เพื่อไม่ให้โดนบูลลี่จากคนอื่น นักปรัชญาในลัทธิสโตอิก (stoicism) ได้อธิบายไว้ว่า การเริ่มเหยียด ดูถูก หรือล้อเลียนตัวเองก่อน จะทำให้เรารู้สึกอยู่เหนือกว่าอีกฝ่าย ทำให้อีกฝ่ายเกิดอาการผิดหวัง เนื่องจากไม่สามารถทำให้เราเจ็บปวด โกรธแค้น หรือเสียใจได้ และยังทำให้รู้สึกปลอดภัยมากขึ้น เพราะถือเป็นการลดโอกาสที่คนอื่นจะมาด่าเราก่อนอีกด้วย
การเล่นมุกเหยียดตัวเองก็มีกลไกในการทำงานของมันเช่นเดียวกัน ถ้าเราเป็นคนที่อยู่ในสถานะที่สูงกว่าสิ่งที่อยู่ในบทสนทนา มันจะทำให้เราดูเป็นคนคูลๆ เข้าถึงง่าย และไม่มีพิษภัยต่อคนอื่น และหลายคนก็มักจะใช้วิธีนี้ในการเข้าหาสังคมใหม่ๆ เพราะการล้อเลียนตัวเองเป็นสิ่งที่ไม่ทำร้ายความรู้สึกของใคร เราใช้ตัวเองเป็นเป้านิ่งในการล้อเลียน เลยทำให้คนฟังรู้สึกตลกไปด้วยโดยที่ไม่หงุดหงิดใจ อย่างสมมติเราบอกว่า “ฉันกอดอุ่นนะ ไม่เชื่อก็ดูไขมันในตัวฉันสิ” แต่ความจริงเราเป็นคนค่อนข้างสมส่วนอยู่แล้ว คนฟังก็อาจจะช่วยแก้ต่างให้ว่าไม่จริงซะหน่อย แล้วมองว่าเราก็ดูเป็นคนที่ถ่อมตัวดี
แต่ในทางกลับกัน ถ้าเราเป็นคนที่อยู่ในสถานะที่ต่ำลงมา หรือเป็นคนที่รูปร่างอ้วนท้วมเหมือนอย่างที่พูดจริงๆ การเล่นมุกเหยียดตัวเองแบบนี้จะยิ่งย้ำให้คนอื่นเห็นว่า คุณกำลังรู้สึกไม่ปลอดภัยหรือไม่มั่นใจในตัวเองอยู่ เพราะฉะนั้นมันจึงทำให้บางครั้งการเล่นมุกแบบ self-deprecating อาจสร้างความรู้สึกอึดอัดให้กับคนฟังมากกว่าจะตลกขบขันแทน
วรรณกรรมของผมก็เหมือนกับบิ๊กแมคและเฟรนซ์ฟราย
– สตีเฟน คิง
ครั้งหนึ่ง นักเขียนนิยายเขย่าขวัญชื่อดังอย่าง สตีเฟน คิง (Stephen King) ก็เคยเปรียบเทียบงานเขียนของเขากับ ‘บิ๊กแมคและเฟรนซ์ฟราย’ เมนูฟาสต์ฟู้ดชื่อดังที่ให้ความหมายว่า ‘ราคาถูก กินง่าย ขายดี แต่ไม่มีโภชนาการทางอาหาร’ ซึ่งการเปรียบเปรยนี้ก็ได้แสดงให้เห็นว่า แม้เขาจะลดทอนคุณค่าผลงานของตัวเองแค่ไหนก็ตาม แต่ด้วยความที่เป็นคนมีชื่อเสียง มีความสามารถ เป็นที่รักใคร่ของแฟนๆ มากมาย จึงทำให้หลายคนมองว่าประโยคนี้เป็นเหมือนคำชมในผลงานของเขาซะมากกว่า
แต่ถึงอย่างนั้นมุกตลกประเภทนี้ก็ค่อยๆ ลดน้อยลงไป เนื่องจากมีนักแสดงตลกบางส่วนมองว่ามันเป็นการสร้างค่านิยม ‘การเหมารวม’ ในสังคม เพราะบางครั้งมันทำให้บางประเด็นในสังคมถูกมองว่าเป็นเรื่องตลกและสร้างความไม่พอใจให้กับคนอื่น “นักแสดงตลกมักจะสะท้อนสิ่งที่พวกเขาคิดหรือรู้สึกเกี่ยวกับสังคม และมันก็เป็นสิ่งที่หลายคนอยากฟัง ในอดีตการใช้มุกตลกในเชิงเหยียดตัวเองจึงเป็นสิ่งที่นักแสดงตลกเหล่านั้นใช้เพื่อเอาตัวรอด และเรียกความสนใจจากผู้ชมจำนวนมาก แต่ในปัจจุบัน พวกเขาไม่ค่อยอยากเล่นมุกอะไรแบบนั้นแล้ว” คำพูดจาก เดวิด แมคเนล (David McNeil) อดีตรองศาสตราจารย์ด้านเรื่องตลกและการเสียดสีประจำมหาวิทยาลัยดัลเฮาซี ประเทศแคนาดา
อย่างกรณีของนักพูดเดี่ยวไมโครโฟนชาวออสเตรเลีย ฮันนาห์ แกดส์บี้ (Hannah Gadsby) ที่ใครอาจจะเคยดูโชว์ 1 ชั่วโมงเต็มของเธอในรายการ ‘Nanette’ บนเน็ตฟลิกซ์ เธอเล่าว่าครั้งหนึ่งเมื่อสมัยที่เธอเป็นวัยรุ่นฮอร์โมนพลุ่งพล่าน ร่างกายของเธอเติบโตไวกว่าคนอื่นๆ ซึ่งเธอรู้สึกไม่มั่นใจในตัวเองเพราะได้รับคำพูดเยาะเย้ยมากมายจากคนรอบข้าง จนวันหนึ่งลุงของเธอได้แนะนำทริกในการหลีกเลี่ยงความไม่มั่นใจเหล่านี้ ด้วยการ ‘เยาะเย้ยตัวเองก่อน’ ซะเลย
“เยาะเย้ยจุดบกพร่องของตัวเองไปเลย มันจะทำให้คนอื่นเยาะเย้ยเธอไม่ได้ เพราะเธอชิงทำมันก่อนแล้ว เอาน่า ทำตัวให้เข้ากับพวกเขาหน่อย” ลุงของเธอกล่าว ทำให้หลังจากนั้นเธอเข้ากับคนอื่นได้ดีด้วยมุกตลกล้อเลียนตัวเอง ซึ่งในขณะเดียวกันก็เหมือนกับการสวมหน้ากากยอมรับความบกพร่องของตัวเองไปในตัว
คุณจะเข้าใจความหมายของการเหยียดตัวเอง
ก็ต่อเมื่อมันออกมาจากปากของคนชายขอบ
ซึ่งจริงๆ แล้วมันไม่ใช่ความนอบน้อมถ่อมตน
แต่มันคือความอัปยศต่างหาก
– ฮันนาห์ แกดส์บี้
แต่ในท้ายที่สุด ฮันนาห์ก็รู้สึกว่าสิ่งนี้ค่อยๆ ทำให้เธอเสียคุณค่าในตัวเองไปทีละน้อย และทำให้ใครบางคนอาจกลายเป็นพวกที่เกลียดตัวเองโดยไม่รู้ตัว ก่อนจะประกาศตัวว่าเธอจะไม่เล่นมุกตลกในเชิงนี้อีกต่อไป
สิ่งที่น่ากังวลก็คือ self-deprecating humor ที่ดูเป็นเรื่องสนุกสนานซึ่งใครๆ ต่างก็มองว่าไม่มีพิษมีภัย แต่ลึกลงไปมันได้ซ่อนวัฒนธรรมการเหยียดและการเหมารวมเอาไว้ให้ยังคงอยู่ในสังคมแบบเนียนๆ และเราก็ยอมรับมันโดยไม่รู้ตัวผ่านเสียงหัวเราะ ถึงแม้มันจะไม่ทำให้ใครเสียหายหรือเสียความรู้สึก แต่ข้อควรระวังก็คือขอบเขตและการใช้คำพูดที่บางครั้งมันอาจไปไกลจนถึงขั้นกระทบความรู้สึกของคนส่วนใหญ่ที่ไม่ได้ตลกไปกับเราด้วย
อ้างอิงข้อมูลจาก