จะเป็นอย่างไร ถ้าชายวัยไม่ถึง 30 ปี ไม่มีโรคร้าย หรือสัญญาณใดๆ ว่าจะเสียชีวิตในระยะเวลาอันใกล้ หันมาทำ ‘หนังสืองานศพ’ ของตัวเองรอไว้ล่วงหน้า – นักเขียนการ์ตูน ‘Sa-ard สะอาด’ เป็นใครคนนั้น
แม้เอกลักษณ์การ์ตูนของ Sa-ard สะอาด หรือ ‘ภูมิ-ธนิสร์ วีระศักดิ์วงศ์‘ จะเป็นการนำชีวิตประจำวันหรือเหตุการณ์สำคัญในสังคมมายั่วล้อแบบแสบๆ คันๆ แต่งานเขียนชิ้นล่าสุดของเขา กลับมีลักษณะเหมือนได้ใคร่ครวญจนตกผลึกอะไรบางอย่าง ที่แตกต่างจากหนังสือ 10 เล่มของเขาก่อนหน้านี้อย่างเห็นได้ชัด
‘บทกวีชั่วชีวิต’ เป็นการ์ตูน 5 ตอน เขียนถึงความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อน-เพื่อน พ่อ-ลูก แม่-ลูก การมองย้อนไปอดีต การทบทวนปัจจุบัน การมองไปไกลถึงอนาคต ซึ่งผู้เขียนประกาศไว้ว่า นี่เป็นคล้าย ‘หนังสือ(การ์ตูน)งานศพ’ ของตัวเขาเอง
อะไรที่ทำให้คนหนุ่มคนนี้หันมาเขียนหนังสือที่ระลึกซึ่งตามปกติจะแจกในวันที่เขาไม่มีลมหายใจอีกต่อไปแล้ว
The MATTER: ทำไมถึงบอกว่า ‘บทกวีชั่วชีวิต’ ทำไว้สำหรับเป็นหนังสืองานศพของตัวเอง
ไอเดียเริ่มจากผมไปงานศพ แล้วไม่แน่ใจว่าเป็นแค่ในไทยหรือเปล่าที่มีวัฒนธรรมการแจกหนังสือในงานศพ ซึ่งผมชอบความรู้สึกนี้ ความรู้สึกที่เราได้บันทึกตัวตนในหนังสือ เราเป็นคนชอบหนังสืออยู่แล้ว เลยรู้สึกว่ามันเป็นความโรแมนติกในมุมของผม ก็เลยคิดขึ้นมาว่าในงานศพของผมจะมีอะไรอยู่ในนั้นบ้าง ของชำร่วยที่อยากจะแจก ผมคิดว่าอยากแจกหนังสือการ์ตูน แทนหนังสือที่เชิดชูผม เพราะผมอยากให้เขารู้ว่าสิ่งที่ผมอยากให้จดจำเป็นแบบไหน
แล้วมันเขียนด้วยความรู้สึกที่ว่า ไม่รู้ว่าจะได้เขียนการ์ตูนไปอีกเท่าไรในวงการสิ่งพิมพ์แบบนี้ ด้วยอาชีพที่มันอ่อนไหวแบบนี้ มันก็เหมือนแบบ เนี่ย ทิ้งทวนของกูละในแง่ของการเป็นนักเขียนการ์ตูน
The MATTER: มันเกิดขึ้นเมื่อไร ความรู้สึกที่ว่า ‘ไม่รู้จะได้เขียนการ์ตูนไปถึงเมื่อไร’ ทั้งๆ ที่งานเราก็มีคนรู้จักไม่น้อย
มันค่อยๆ สะสมมาครับ เริ่มจากแมกกาซีนการ์ตูนญี่ปุ่นรายสัปดาห์ของไทย C-Kids กับ Boom เจ๊ง คือเรารู้สึกว่าการ์ตูนญี่ปุ่นมันดีกว่าเราในหลายๆ แง่ ก็ยังล่มสลายในประเทศนี้ หรือกระทั่งในญี่ปุ่นเองแมกกาซีนการ์ตูนหลายๆ เล่มมันก็เจ๊ง ตัวนักเขียนการ์ตูนญี่ปุ่นเองหลายคนก็ไปไม่รอดในวิชาชีพ มันอาจจะมีงานของเขาที่ดังมากๆ แต่พอผ่านจุดพีกมาแล้ว หลังจากนั้นก็ไม่สามารถเขียนงานที่ดังได้เท่าเดิมอีก
แต่สิ่งที่ทำให้กลัวที่สุดก็เกิดจากคนใกล้ตัวนี่แหละ คนที่เขียนการ์ตูนมาพร้อมๆ กับเรา ก็ทยอยเลิกไปทีละคน ซึ่งก็คือนิตยสารการ์ตูนไทย Let’s Comic แล้วก็มีโมเม้นต์ที่ บ.ก. ซึ่งเป็นคนที่ชวนผมเข้ามาสู่วงการนี้เดินเข้ามากอดผมแล้วถามว่า อยากจะทำสำนักพิมพ์เหรอ ตอนนี้อายุเท่าไร ผมก็ตอบไปว่าอายุ 27 ครับ เขาก็บอกว่า ตอนอายุเท่ากัน ก็คิดแบบนี้เป๊ะเลย แต่ตอนนี้จะเลิกทำอยู่แล้ว
มันก็ให้ message ว่า สิ่งที่ผมกำลังทำอยู่เป็นความฝันของวัยรุ่นที่ไม่รู้จักความจริง ซึ่งก็อาจจะจริงก็ได้ เพราะอาชีพของเราทำงานบนความชอบของคน ซึ่งมันเปลี่ยนไปเรื่อยๆ เช่นเดียวกับตัวเราที่ก็เปลี่ยนไปเรื่อยๆ งานของเราอาจจะเหมาะกับความชอบของผู้คนในขณะหนึ่ง แต่อีก 10-20 ปีผ่านไป งานของเราจะยังมีคนชอบเหมือนเดิมไหม นี่แค่ชอบนะ ไม่นับว่าจะซื้องานของเราไหมด้วย
The MATTER: นอกจากเป็นหนังสืองานศพของเราแล้ว อาจจะถือเป็นหนังสืองานศพของวงการการ์ตูนไทยด้วย?
ไม่ใช่หรอกครับ น่าจะเฉพาะของผม เพราะการ์ตูนไทยจริงๆ ก็ยังมีที่รอดอยู่ แต่อาจไม่ได้ใกล้ตัวผมเท่านั้นเอง เช่นพวกโดจินหรือการ์ตูนวาย
The MATTER: ในเล่มนี้จะมีการ์ตูน 5 เรื่องสั้นๆ คิดว่าเรื่องไหนเป็นตัวแทนของเราที่สุด และแต่ละเรื่องสะท้อนช่วงชีวิตไหนของเรา
ทุกเรื่องก็คิดปมในชีวิตที่ผมให้ความสำคัญ แล้วก็เผชิญหน้ากับมันในระยะเวลาหนึ่ง ตอนที่เขียนเล่มนี้ ผมก็ใช้การ์ตูนคลี่คลายความรู้สึกบางอย่างของตัวเองด้วย เช่นเรื่องที่รู้สึกผิดกับเพื่อนคนหนึ่งเป็นสิบปีที่ยังเป็นปมแก้ไม่หาย แต่สุดท้ายก็พยายามหาทางดีลกับมันในชีวิตจริง และคิดว่าถ้าเอามาเล่าน่าจะมีพลัง เพราะเราผ่านมันมาแล้ว
The MATTER: มีอยู่เรื่องหนึ่ง เป็นเรื่องของลูกที่ต้องกลับบ้านไปดูแลพ่อที่มีปัญหาทางสมอง
คาแรกเตอร์พ่อในเล่มจะเหมือนพ่อผมเป๊ะเลย เพราะพ่อผมมีปัญหาสมอง และสักปีหน้าผมก็ต้องกลับไปอยู่บ้านกับพ่อ ซึ่งก็เป็นความรู้สึกกระอักกระอ่วนว่า เราก็รักพ่อนะ แต่ทำไมพ่อดูไม่สนใจอะไรเราเลย ในแง่สุขภาพจิต เราก็เข้าใจได้ว่า พ่อประสบอุบัติเหตุมา แต่ก่อนเขาเป็นคนที่โอเคมากๆ สำหรับเรา แต่ขณะเดียวกัน เราก็ไม่แน่ใจว่า พ่อคนไหนคือพ่อจริงๆ ของเรา คนก่อนหน้านี้หรือคนปัจจุบัน ผมก็ตั้งคำถามไปว่าถึงที่สุดแล้ว สมองคือสิ่งที่กำหนดตัวตนของเราหรือเปล่า แล้วผมก็คิดเรื่องนี้เยอะมาก เพราะผมต้องเจอปัญหากับพ่อมาตั้งแต่อายุ 13 ปี มันเป็นเรื่องเดียวในชีวิตที่คิดไม่ตกจริงๆ เพิ่งมาคิดตกตอนเขียนเรื่องนี้ว่าเราจะจัดการกับมันยังไง
The MATTER: แปลว่าเราเอาเสี้ยวชีวิตของเราไปเขียน เพื่อหาวิธีคลี่คลายอะไรบางอย่าง
ก็ด้วยครับ เพราะขั้นตอนการเขียนการ์ตูนของผมมันยาวมาก (เน้นเสียง) อย่าง ‘บทกวีชั่วชีวิต’ ผมใช้เวลาเขียน 1-2 ปี บางพล็อตใช้เวลาคิดอยู่หลายปีกว่าจะประกอบร่างขึ้นมา ซึ่งด้วยขั้นตอนการเขียนที่มันยาวนาน ต้องเขียนบท เขียนสตอรี่บอร์ด ทำต้นฉบับ ทั้ง 3 ขั้นตอนนี้ ทำให้เราต้องทบทวนสิ่งที่เขียนถึงบ่อยๆ แง่หนึ่งมันก็เป็นการทบทวนตัวเอง ว่าสิ่งที่เราคิด สิ่งที่เรารู้สึก มันเป็นยังไง เหมือนกระบวนการทางจิตวิทยาบางอย่าง
แล้วเล่มนี้ก็เป็นเล่มแรกที่ใส่ทุกอย่างที่โคตรส่วนตัวลงไปเลย เพราะแง่หนึ่งเราก็เขียนเพื่อเป็นหนังสืองานศพของตัวเราอยู่แล้ว ไอเดียคล้ายๆ หนังของพี่เจ้ย (อภิชาติพงษ์ วีระเศรษฐกุล ผู้กำกับภาพยนตร์ชื่อดัง) ที่จะเล่าถึง จ.ขอนแก่น บ้านเกิดเขา ผมก็เลยใช้บ้านในการ์ตูนเป็นบ้านของผมเลย หรือพื้นที่ในจังหวัดต่างๆ ที่ผมไปแล้วชอบ มีความทรงจำร่วมกับมัน ด้วยความเชื่อว่าถ้าผมรู้สึกกับมัน ก็น่าจะทำให้คนอ่านรู้สึกกับมันด้วย
แล้วพอคิดว่า มันอาจจะเป็นเรื่องสุดท้าย ผมก็เลยใส่สิ่งที่ผมชอบเข้าไปทั้งหมด ทั้งครอบครัวผม เพื่อนผม แฟนผม ฉากกินเบียร์ ฉากคนเมา บรรยากาศที่เราชอบและมีผลต่อความทรงจำของเรา
The MATTER: เขียนหนังสือเผื่อสำหรับงานศพตัวเองแล้ว แล้วส่วนตัวมอง ‘ความตาย’ อย่างไร
ยังไม่เคยมานั่งนิยามว่าความตายคืออะไร แต่คิดกับเรื่องนี้เยอะ ตั้งแต่เด็กๆ ที่เราอกหักครั้งแรกก็จะพุ่งเข้าหาหนังสือธรรมะก่อนเลย ที่พาเราไปสู้เรื่องเกิด แก่ เจ็บ ตาย ได้ไอเดียจากพระไพศาล วิสาโล ที่ทำงานกับคนที่ใกล้ตาย และระลึกถึงความตายอยู่เสมอ แล้วผมก็คิดถึงความตายในแง่ที่ให้มันมานิยามการมีชีวิตอยู่ของเรา เช่นในหนังสือเล่มนี้ ก็คือวันที่เราตาย เราอยากจะถูกจดจำอะไรบ้าง หรือสิ่งที่มันค้างคาใจก่อนที่เราจะตายมันจะมีอะไรบ้าง
นี่คือสิ่งที่คิดขึ้นมาระหว่างเขียน แล้วเราก็จะ sms ไปขอโทษทุกคนที่เรารู้สึกผิด ผู้หญิงที่เคยมีปัญหากับเขามา ทำเช่นนั้นจริงๆ เพื่อที่เราจะไม่รู้สึกติดค้างอะไรกับเขา
The MATTER: การ์ตูนของสะอาด แม้จะเล่าเรื่องดาร์กๆ มีคำหยาบมาก แต่ที่สุดก็มักลงท้ายด้วย ‘ความหวัง’ เสมอ ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น
ยุคนี้มันเป็นยุคแห่งซึมเศร้าใช่ไหมครับ รอบๆ ตัวผมก็มีคนซึมเศร้ากันเยอะ มีคนที่ผมรักมาก สนิทมาก เป็นซึมเศร้าเหมือนกัน ผมก็เลยได้คำตอบอย่างหนึ่งว่า ถ้าจะมีชีวิตอยู่ ขออยู่อย่างมีความหวัง ถ้าอยู่แบบไม่มีความหวัง ก็ตายก็ได้ คือความตายมันเป็นทางออกหนึ่งที่เราจะใช้จัดการตัวเอง ผมไม่อยากจะอยู่แบบงงๆ ว่าจะอยู่ไปทำไม เราก็ต้องอยู่แบบหดหู่ไปอย่างนี้แหละ ต้องเผชิญหน้าไปอย่างนี้แหละ
ผมก็หาแง่มุมบางอย่างที่มันจะทำให้เราสนุกกับการมีชีวิตอยู่ให้ได้ นี่คือสิ่งสำคัญ และในแง่การสร้างสรรค์งานมันก็ทำให้เราเห็นลู่ทางใหม่ๆ ด้วยมั้ง เพราะเวลาที่เราคิดถึงทางตันมันจะง่าย ให้ผมเขียนว่าประเทศไทยสิ้นหวังยังไง ผมสามารถสาธยายเป็น 10 ย่อหน้าได้ทันที แต่การแสวงหาความหวังในสถานการณ์เช่นนี้ มันจะพาผมไปสู่จุดใหม่ๆ ได้ ผมเลยพยายามเขียนให้งานของผมพาไปสู่จุดใหม่ๆ ได้
The MATTER: ระยะหลังหันมาเขียนการ์ตูนการเมืองด้วย ส่วนตัวเป็นคนอินกับการเมืองมากแค่ไหน แล้วการ์ตูนการเมืองมันทำหน้าที่อะไรในภาวะบ้านเมืองเช่นนี้
ตัวผมมีอีกหมวกคือนักสื่อสารมวลชน เพราะผมก็เรียนจบคณะวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แต่ก่อนจะเข้ามหาวิทยาลัยก็มีความคิดเรื่องสังคมอยู่ก่อนแล้ว แต่ผมยังหาทางออกไม่ได้ว่าความคิดที่ว่าจะอิงกับการ์ตูนได้ยังไง เพราะผมก็โตมากับการ์ตูนญี่ปุ่น ที่มันต่อสู้ ปล่อยพลัง มิตรภาพ ความหวัง และชัยชนะ กระทั่งได้มาเรียนเรื่องสื่อ เราถึงต่อมันติดว่าจริงๆ การเขียนการ์ตูนก็เป็นสื่อแบบหนึ่งได้นะ
ถามว่าผมอินไหม มันเกิดจากความรู้สึกผิดก่อนว่าเราเป็นหน่วยหนึ่งของสังคม ก็พยายามจะทำอะไรให้มีประโยชน์ต่อสังคม ตัวเอง และคนรอบข้างด้วย ถ้าการ์ตูนของเราทำให้คนตั้งคำถาม หรือกระตุ้นให้คนคิดเชื่อมโยงสิ่งต่างๆ รอบตัวให้มากขึ้น มันก็อาจจะทำให้คนอ่านรู้สึกว่าเราไม่ได้แยกขาดจากสังคม ยังมีสิ่งที่ต้องรับผิดชอบร่วมกันอยู่
The MATTER: เอกลักษณ์การ์ตูนสะอาดความความกวนตีน จริงๆ เราเป็นคนแบบนั้นไหม
เป็นคนกวนตีนครับ (หัวเราะ) ถ้าไปถามเพื่อนผม เขาก็จะบอกว่าผมกวนตีน
The MATTER: ไม่ใช่แพ็คเกจที่เราเอาเข้าไปใส่ เพื่อเล่าเรื่องยากๆ ให้สนุก
มันคือฟังก์ชั่นในการใช้ชีวิตของผม เป็นเครื่องมือที่ทำให้ผมต่อกรกับความบัดซบของชีวิตได้ อารมณ์ขัน หรือการหามุมมองใหม่ๆ เช่น จะมอง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังไงให้ตลก ผมว่าอันนี้สำคัญในการที่เราจะอยู่ในสังคมแบบที่มีความสุขด้วยและเล่าเรื่องสังคมได้ด้วย เพราะต่อให้เราอยากเปลี่ยนแปลงสังคม สิ่งสำคัญก็คือเราต้องสนุกกับชีวิตไปด้วย
The MATTER: เขียนการ์ตูนมาหลายปี จนมีหนังสือถึง 11 เล่มแล้ว คิดว่าตัวเองเปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง
ความเป็นวัยรุ่นมันหายไป ความเป็น A Day แบบพี่โหน่ง (วงศ์ทนง ชัยณรงค์สิงห์) ต้องสู้เพื่อความฝันของตัวเอง ซึ่งธรรมดามาก เพราะเราได้พบความจริงในด้านวิชาชีพ ซึ่งบางแง่เราก็ยินดีที่มันหายไปด้วย เพราะจากเล่มแรกที่เราเอาตัวเองไปใส่ในการ์ตูนมาก จะเป็นจะตายก็ต้องทำการ์ตูนนี้ให้ดีที่สุด ยอมอดข้าวก็ได้ ตรงนี้มันหายไป มีการมองไประยะยาวมากขึ้น รอบด้านมากขึ้น และคิดว่าการ enjoy life ในปัจจุบันเนี่ยโคตรสำคัญ
The MATTER: เริ่มอาชีพนักเขียนการ์ตูนได้อย่างไร และถ้าย้อนเวลากลับไปได้ เราจะยังอยากมาทำอาชีพนี้อยู่ไหม
เริ่มเขียนตั้งแต่เรียนมหาวิทยาลัย ซึ่งโชคดีที่ตอนนั้นเรายังขอเงินพ่อแม่อยู่ ทำให้ความกดดันเรื่องรายได้ลดลงไป ก็เลยเขียนด้วยความไม่ต้องกังวลกับอะไร การทำงานศิลปะมันโคตรมีความสำคัญ เพราะถ้าตอนนั้นต้องมาจัดการเรื่องรายได้ด้วย มันจะมีความคิดว่างานนี้ไม่ได้เลี้ยงตัวได้ขนาดนั้น แล้วก็อาจพาเราไปเปรียบเทียบกับงานที่ได้เงินมากกว่า
ตอนที่เริ่มอาชีพ ถึงจะมีแมกกาซีนการ์ตูนจำนวนมาก แต่ก็ไม่ถึงขั้นว่ามีนักเขียนการ์ตูนที่ประสบความสำเร็จได้เงินเป็นล้านเหมือนที่ญี่ปุ่น แล้วจุดสูงสุดที่คนอาชีพนี้เคยแตะได้ก็เตี้ยมาก ถ้าเทียบกับนิ้วกลม (สราวุธ เฮ้งสวัสดิ์ นักเขียนชื่อดัง) ผมว่า level มันต่างกันเยอะ มันยังเป็น level ที่ล้มลุกคลุกคลาน อาจจะมีบางคนที่ไปเปิดสำนักพิมพ์ของตัวเอง หรือมี skill ในการประกอบธุรกิจ และมีกลุ่มเป้าหมายชัดเจน เช่น พี่ตั้ม (วิศุทธิ์ พรนิมิตร) พี่มุนิน พี่ทรงศิลป์ โตโต้ หัวแตงโม
ถ้าย้อนเวลากลับไปได้ ผมก็อยากจะบอกตัวเองว่าอย่ามองในแง่โรแมนติกขนาดนั้น เพื่อให้มันรับมือได้ดีขึ้น จะได้ไม่เจ็บมากตอนหลัง เพราะถ้าเราไปมองแบบโรแมนติก ว่าการเขียนการ์ตูนคือการเดินตามความฝัน ซึ่งปลายทางคือต้องประสบความสำเร็จ ถ้าไม่มีมัน เราก็ไม่น่าจะทำอะไรอย่างอื่นได้
The MATTER: ถึงตอนนี้ยังคิดแบบนั้นอยู่ไหม
ถึงจุดที่เริ่มเคลียร์แล้วว่า เราไม่จำเป็นต้องเลี้ยงขีพด้วยการเขียนการ์ตูนอย่างเดียวก็ได้ ผมจะใช้วิธีแยกส่วน ส่วนนี้หาเงินนะ ส่วนนี้จะเขียนในแบบที่เราชอบนะ อาจจะเป็นงานเชื่อมโยงกับประเด็นสังคมนะ ทั้ง 2 ส่วนนี้ต้องไปคู่กัน ต้องมีส่วนที่เลี้ยงชีพได้กับส่วนที่หล่อเลี้ยงจิตวิญญาณ
คือตอนนี้ผมก็ทำเรื่องเขียนบทด้วย รวมถึงรับโฆษณา tie-in รับเขียนภาพประกอบบ้าง หรือออกแบบคาแรกเตอร์ดีไซน์ ไม่ได้เจาะจงว่าต้องเขียนหนังสือการ์ตูนเท่านั้น ซึ่งรายได้ที่เข้ามาตอนนี้ก็ถือว่าเลี้ยงตัวได้แล้ว
The MATTER: วงการการ์ตูนไทยขณะนี้ มีช่องว่างให้กับคนใหม่ๆ เข้ามาไหม
ช่องทางมันมีเยอะมาก เพราะโลกออนไลน์เป็นพื้นที่ใหม่และมีประสิทธิภาพมากในการเขียนการ์ตูน ถ้าใครจับจุดได้ว่าต้องเขียนการ์ตูนอย่างไรแล้วคนอ่านในออนไลน์จะชอบ ผมคิดว่าเขาจะไปได้ไกลกว่ายุคสิ่งพิมพ์ที่ถูกจำกัดพื้นที่แค่แมกกาซีนบางเล่ม
ในแง่หนึ่งรายได้ของผมตอนนี้ก็เยอะกว่าเดิม หลายๆ คนเขียนการ์ตูนลงเฟซบุ๊กก็สามารถทำรายได้หน้าละเป็นหมื่น ซึ่งสมัยก่อนต่อให้เราจัดเต็มแค่ไหน ถ้าลงแมกกาซีนมันก็จะได้แค่หน้าละ 300 บาทเท่านั้น ไม่มีทางได้หน้าละ 1,000 บาท ในภาวะตลาดเป็นแบบนี้
แง่หนึ่งสิ่งที่เราชอบและเชื่อ และเติบโต้มาพร้อมกับมัน มันไม่สอดคล้องกับตลาดที่เปลี่ยนไปแล้ว แต่ใครที่โตมากับการการ์ตูนออนไลน์ อาจจะมีวิธีคิดที่ทำไปได้ไกลกว่าผมก็ได้
The MATTER: จุดสูงสุดในชีวิตนักเขียนการ์ตูน เราตั้งไว้ที่ไหน และใกล้ถึงหรือยัง
อย่าง ‘บทกวีชั่วชีวิต’ ผมว่าโอเคแล้ว แต่ถามว่ายังมีสิ่งที่อยากทำอยู่ไหม ก็ยังเขียนการ์ตูนบาสเก็ตบอล อยากทำสำนักพิมพ์ที่นำเสนอสารคดีประเด็นสังคม ยังมีเรื่องที่อยากเล่าอยู่
แต่ถามในแง่วิชาชีพนักเขียนการ์ตูน มีงานที่เราพอใจกับมันที่สุดหรือยัง ผมว่าเล่มใหม่เนี่ยผมพอใจแล้ว อีก 10 ปีข้างหน้า มาอ่านงานชิ้นนี้ ผมก็น่าจะพอใจกับมันอยู่ เพราะเหมือนขูดเลือดขูดเนื้อมาเขียน ทำอย่างไม่ได้ดูถูกคนอ่าน ทำอย่างถึงที่สุดแล้ว ทั้งภาพและเนื้อเรื่อง ไปจนถึงกระทั่งเรื่องการเลือกกระดาษ การเลือกรูปเล่ม แต่อาจมีไดคัทผิดพลาดบ้าง
ซึ่งเป็นขั้นตอนสุดท้ายที่ผมไปคุมมันไม่ได้