เพียงแค่เห็นชื่อหนังสือ ‘ให้รักเป็นบทกวีชั่วชีวิต’ พร้อมลายเส้นคุ้นตา เราก็ไม่ลังเลเลยที่จะรีบคว้ามาอ่านและอ่านจนจบในเวลาไม่นานนัก พร้อมกับความรู้สึกท่วมท้นของงานเขียนและงานภาพที่สะท้อนสิ่งที่เรียกว่า ‘มนุษย์’ ออกมาได้อย่างดงาม
เรื่องของความฝัน ความสัมพันธ์ ครอบครัว การเติบโต การจากลา แม้จะเป็นเรื่องที่เราอาจจะได้ฟังมาทั้งชีวิต แต่กับการเล่าผ่านปลายปากกาของ สะอาด หรือ ภูมิ–ธนิสร์ วีระศักดิ์วงศ์ ก็ทำให้เรื่องเล่าความสัมพันธ์แบบฉบับการ์ตูนดูจริงขึ้นมาราวกับตัวละครเหล่านั้นอาจเป็นใครสักคนที่เราเคยเดินผ่าน และไม่ยากเลยที่เราเองก็ตกหลุมรักหนังสือเล่มนี้สุดหัวใจ
ขณะเดียวกัน สำหรับ สะอาด เอง เขาก็มองว่างานชิ้นนี้คือหนึ่งในมาสเตอร์พีชที่เขาชอบและพอใจ จนถึงขึ้นรู้สึกไม่เสียดายหากวันหนึ่งต้องแขวนปากกาไป
จากหนังสือการ์ตูน บทกวีชั่วชีวิต จนมาถึง ให้รักเป็นบทกวีชั่วชีวิต เราชวนไปสนทนาถึงการเติบโตของเขาบนเส้นทางที่ยังคงเป็นนักเขียนการ์ตูน มุมมองต่อโลกที่เปลี่ยนไป รวมไปถึงความรักและความสัมพันธ์ที่เขาถ่ายทอดสิ่งที่อยากบอกเล่าผ่านหนังสือเล่มล่าสุดกัน
อยากรู้ว่า ภูมิ – ธนิสร์ กับ สะอาด เป็นคนเดียวกันรึเปล่า
ไม่ค่อยนะ เป็นการประกอบสร้างประมาณหนึ่ง เรารู้สึกว่าสะอาดมันสนุกกว่าภูมิ คือพอเราอยู่กับที่บ้านเราเป็นคนเงียบ เราไปอยู่กับเพื่อนเราเป็นคนเหี้ย เราไปอยู่กับแม่ก็เป็นคนขรึม เราอยู่กับแฟน เราเป็นคนแบบจืดๆ แต่เหี้ยเงียบๆ อะไรแบบนั้น แต่ว่าเวลาอยู่บนหน้ากระดาษ ก็จะมีหลายๆ พาร์ตของชีวิต
จริงๆ ก็เป็นเหตุผลที่เราเลือกทํางานเขียน เพราะงานเขียนมันเป็นการทํางานของความเงียบแล้วเรารู้สึกว่าเราพอดีกับมัน งานที่เราไม่พอดีกับมันเลยคืองานพูด อย่างวันนี้ที่ถูกสัมภาษณ์ (หัวเราะ) แต่เวลาเราไปพูด หลายๆ คนก็ชอบ เพราะว่าเราอาจจะมีทักษะการพูดโดยบังเอิญมั้ง แต่มันจะเหนื่อยง่ายกว่าเขียนเยอะมาก
เป้าหมายสูงสุดเลยของการที่เลือกเส้นทางมาเป็นนักเขียนการ์ตูน
แค่อยากเขียนงานที่ดีอะ คือเราเป็นคนทะเยอทะยานต่ำอยู่แล้วโดยนิสัย เราแค่อยากเขียนงานที่เราจะชอบมากๆ เราอยากจะเขียนงานที่บอกตัวเองว่า ไอเชี่ยชิ้นนี้คือมาสเตอร์พีชของกู เคยให้สัมภาษณ์ไปก่อนหน้าแล้วว่า เคยคิดว่าจะเขียนการ์ตูนโดยที่เรื่องตังค์ก็ไม่สน จะอดข้าวก็ได้ จะไม่มีแฟนก็ได้ คือสามารถไปอยู่ในกระต๊อบก็ได้เพื่อจะเขียนงานที่ดีที่สุดในชีวิตออกมา มันเป็นวิธีคิดแบบโรแมนติกของคนทํางานเขียนในยุคก่อนหน้านี้ ก็แค่นั้น
จริงๆ ก็มีเป้าหมายเพิ่มขึ้นมาบ้าง คืออยากเขียนซีรีส์การ์ตูนบาสนะ อยากเขียนซีรีส์ที่ดี เพราะในทางอาชีพของเรา เรายังไม่เคยเขียนซีรีส์ที่เราอยากเขียนออกมาจริงๆ เลย เราวางแผนเรื่องนี้มานานมากแต่ยังไม่ทำสักที ซึ่งก็คงแค่นี้มั้ง
งานที่ดีคือ…
คืองานที่เราชอบ งานที่เรารู้สึกว่ามันได้มาตรฐานของเราแล้วมันสุดเพดานของเรา อย่างเล่มล่าสุด ให้รักเป็นบทกวีชั่วชีวิต เราก็พอใจแล้วนะ รู้สึกว่าไปประกอบอาชีพอื่นได้แล้ว อาจจะมักน้อยมั้ง พูดในแง่เป้าหมายของวิชาชีพ แค่นี้ก็พอใจแล้ว ไม่ได้อยากไขว่คว้าไปมากกว่านี้ ตอนนี้ที่อยากไขว่คว้ามากกว่าคือการเอาตัวรอดในระบบทุนนิยม
ทำไมต้องเป็น ‘ให้รักเป็นบทกวีชั่วชีวิต’
เพราะอยากหลอกขายคนอ่านว่าเป็นเรื่องความรัก (หัวเราะ) จริงๆ คือคอนเซปต์มันพูดถึงความรัก เราก็อยากให้มีความรักอยู่ในนั้น คือเราไม่ได้เชื่อในความรักชั่วนิรันดร์อะไรแบบนั้น แต่เราคิดว่าความรักมันสำคัญ เป็นมุมมองความรักที่อยากให้เราใจดีต่อกัน มีจิตใจที่ดีต่อกัน ไม่ว่าจะเป็นความรักต่อครอบครัว ต่อเพื่อน ต่อคนรัก หรือต่องาน สิ่งนี้มันหล่อเลี้ยงชีวิตมนุษย์ในสภาวะที่มันโหดร้ายมากๆ มันทำให้ข้างในเราเข้มแข็ง แทนที่จะเล่าไปในแนวกูรักมึงมาก กูอยากได้มึง
ส่วนตัวเราชอบความรักในแบบที่ถึงจะไม่สมหวัง
แต่ความรักนั้นทำให้เราเข้มแข็งขึ้น
เรื่องราวในเล่ม เริ่มต้นมาจากไหน
เล่มนี้มันเกิดจากความคิดส่วนตัวมากๆ คือมันต่อจาก บทกวีชั่วชีวิต ใช่ปะ ซึ่ง บทกวีชั่วชีวิต เกิดขึ้นหลังจากที่เรากลับมาจากออสเตรเลีย แล้วแม็กกาซีนที่เราเคยเขียนมามันเจ๊ง นักเขียนที่เราทำงานโตด้วยกันมา ค่อยๆ ทยอยไปทำอย่างอื่น เราก็เลยกลัวต่อการดิสรัปชั่นของวงการสิ่งพิมพ์มากๆ กลัวจะไม่ได้เขียนการ์ตูนอีก เลยรีบออกแบบการ์ตูนจากความรู้สึกส่วนตัวมากๆ และไม่สนด้วยว่าคนอ่านจะอินกับมันไหม ซึ่งพอเล่มบทกวีชั่วชีวิตถูกเอาไปพัฒนาเป็นซีรีส์ มันก็เลยต่อยอดมาเป็นเล่มล่าสุดที่เกิดจากความคิดว่ามันมีประเด็นไหนที่เราอยากจะเขียนมันอีกไหม ซึ่งก็เป็นทั้งความเจ็บปวด ความสัมพันธ์ การเติบโต
อะไรทำให้รู้สึกว่าให้รักเป็นบทกวีชั่วชีวิตเป็นงานที่เราพอใจที่สุด เล่มนี้สำคัญกับเรายังไง
มันมีเซนส์ของการทำงานที่แบบเผื่อแขวนปากกาตลอดตอนคิดงาน เราชอบออกแบบเผื่อเราเลิกทำ เผื่อเราตายห่าจากโควิด เพราะโลกของการเขียนการ์ตูนของเรามันคือการมโนไปเองว่ามันน่าจะดี ตัวละครแบบนี้น่าจะดี ไดอะล็อกแบบนี้น่าจะเวิร์ก ฉากแบบนี้น่าจะโอเคแหละ พล็อตแบบนี้น่าจะสนุกแหละ เดาๆๆ มีบก.คนเดียวคอยยืนยัน ซึ่งพอเป็นงานที่เราชอบ แล้วกลายเป็นว่าคนอ่านก็ชอบไปกับเรา เราเลยรู้สึกว่ามันคือการจบเฟสของการงาน เรามีความสุข ที่เหลือคือความพอใจของเราแล้ว
ตัวละครต่างๆ ในหนังสือให้รักเป็นบทกวีชั่วชีวิต สร้างขึ้นมายังไง
ก็มาจากคนจริงๆ บ้าง จินตนาการขึ้นมาบ้าง อย่างตัวละครคนแก่กับแมวก็เอามาจาก พี่โตโต้ หัวแตงโม ผสมกับหนังสือเล่มหนึ่งที่พูดถึงเจ้าของร้านหนังสือที่มีแมวหนึ่งตัว ซึ่งมีคาแร็กเตอร์กวนๆ หน่อย หรือมู้ดของร้าน เราก็หยิบมาจาก ร้านหนังสือเดินทาง คือเวลาเราเดินเข้าไปในร้านหนังสือเดินทาง มันจะปกป้องเราไว้จากโลกภายนอกอะไรแบบนี้ เราก็เอามาจับรวมๆ กัน
แล้วตัวละครไหนที่ชอบที่สุด
ไม่รู้เหมือนกัน ชอบทุกตัว คือเรามีวิธีการทำงานที่เราจะสร้างตัวละครที่เราชอบมันอยู่แล้ว เช่น บางตัวละครอาจมีพฤติกรรมบางอย่างที่น่ารังเกียจมาก
แต่ตัวละครเหล่านั้นจะถูกดีไซน์ให้เป็นคนน่ารังเกียจที่เราชอบอยู่ดี
ถ้าให้ไปฝากของไว้กับร้านเล่า จะฝากอะไร
เราเป็นคนไม่ค่อยเก็บของ แต่ถ้าให้นึกคงอยากฝากจักรยาน คือจักรยานอันนี้มันเคยเป็นพาหนะที่เราใช้ขี่อยู่ในกรุงเทพ มีช่วงหนึ่งที่เราพยายามจะออกกําลังกาย ก็ขี่จักรยานจากบางกะปิไปที่คลองจั่นเพื่อไปเล่นฟิตเนสแล้วขี่จักรยานกลับบ้าน แต่วันนี้จักรยานคันนั้นของเราก็ถูกสลับกับจักรยานอีกคันที่โคตรกระจอก สภาพแบบเป็นสิบกว่าปีแล้ว ซึ่งมันประหลาดมากนะ และมันก็สะท้อนภาพยุคนั้นตอนที่เศรษฐกิจมันแย่มาก จนเขาจําเป็นต้องขโมยจักรยานกูแล้วก็เทิร์นเป็นจักรยานที่รุ่นห่วยกว่า เหมือนจะขโมยแต่ก็รู้สึกผิด อะไรแบบนั้น
จากบทกวีชั่วชีวิต จนมาถึง ให้รักเป็นบทกวีชั่วชีวิต เราเห็นการเติบโตของเรายังไงบ้าง
เราว่าชัดสุดมีสองเรื่อง หนึ่งคือเรื่องเงิน เรื่องเศรษฐกิจ ทั้งสองเล่มมันห่างกันสามปีเนอะ มันเป็นสามปีที่เรามีมุมมองเรื่องเงินต่างไปจากเดิมมาก เช่น ตอนเรา 27 เรามีวิธีคิดว่าเงินมันคือเงินของเรา แต่พอ 30 กลายเป็นว่าเงินของเรามันยังต้องแบ่งไปดูแลพ่อแม่ ไปสร้างครอบครัวกับแฟน
ซึ่งถ้ามองดีๆ จะเห็นว่าแก่นกลางของทุกเรื่องใน ให้รักเป็นบทกวีชั่วชีวิต จะมีเรื่องเศรษฐกิจมาเกี่ยวข้องหมดเลย เป็นครั้งแรกที่เราเขียนงาน แล้วเราตั้งคำถามก่อนเขียนว่าเศรษฐกิจของแต่ละตัวละครเป็นแบบไหน
ซึ่งฐานคิดเรื่องเศรษฐกิจมันเริ่มเข้ามาในชีวิตตอนเราเขียนการ์ตูนเรื่อง รวยด้วยอสังหาฯ จนอย่างอหิงสา ซึ่งเราไปค้นคว้าเพิ่มเติมเรื่องเศรษฐศาสตร์การเมือง ความเหลื่อมล้ำด้านที่ดินของไทย อย่างตอน พี่เฮ เราก็พูดถึงชีวิตที่ชิลๆ ไปเรื่อยๆ เล่นเกม มีความสุข ซึ่งพี่เฮคือคนที่มาจากบ้านพ่อมีเงินเอามาให้เปิดร้านเกม ส่วน ไหม แม่ขายน้ำอ้อย อาจจะไม่ได้มีเงินมาก แม่เลยฝันให้ไหมไปเป็นหมอเพื่อจะได้ยกระดับชีวิตพวกเขา ซึ่งเรามีเพื่อนแบบนี้จริงๆ หลังๆ เวลาเราทำงานเรารู้สึกว่าเราละเลยเรื่องนี้ไม่ค่อยได้ ซึ่งก่อนหน้านี้ไม่เคยคิดในมุมนี้เลย
อีกข้อหนึ่งคือ ในสามปีที่ผ่านไป เรารับมือกับความล่มสลายของสรรพสิ่งได้ดีขึ้น ซึ่งเป็นผลพวงจากโควิดด้วย หมายถึงว่าในบทกวีชั่วชีวิต มันฟูมฟายมากๆ มันเจ็บปวด มันซัฟเฟอร์ มันอยากร้องไห้
แต่ว่า ให้รักเป็นบทกวีชั่วชีวิต มันมีนัยยะของการเห็นความตาย
การล่มสลายนะ แต่เราจะใช้ชีวิตยังไงต่อไปโดยที่ข้างในเรายังโอเค
ก่อนหน้านั้นบอกว่าชีวิตนี้ไม่ต้องมีแฟนก็ได้ อะไรทำให้เราเปลี่ยนไป
ช่วงยังไม่มีแฟน ทัศนคติของเราคือการเป็นคนโซโล่ โดดเดี่ยวมากๆ เส้นทางนักเขียนการ์ตูนก็จะมีแค่เราคนเดียว แต่วันหนึ่งที่เรามีคนที่เราแคร์ แล้วฝันถึงอนาคตร่วมกัน เราค้นพบว่าสุดท้ายการเป็นมนุษย์ไม่ได้ตัวคนเดียว โดยเนื้อแท้มันไม่ได้โดดเดี่ยว ดังนั้นเราจะเดินไปยังไงโดยที่ยังซัพพอร์ตกันและกันได้ ก็เป็นวิธีคิดใหม่ ที่ไม่ใช่แค่เรื่องความสัมพันธ์นะ แต่รวมไปถึงงานด้วย เพราะสุดท้าย การมีหลายๆ ชีวิตก็ดีกว่าอยู่คนเดียวมั้ง แค่เราออกแบบให้ไปด้วยกันได้
มันเป็นแนวคิดแบบสังคมนิยมมาก คือการคิดว่าตัวเองโดดเดี่ยวมันมันมาจากวิธีคิดแบบปัจเจกนิยม แต่ตามข้อเท็จจริงแล้ว คนเรามันเชื่อมโยงกับธรรมชาติจํานวนมหาศาลที่เราไปทำลายทรัพยากร เชื่อมโยงกับคนคนหนึ่งที่เกิดมาแล้วผูกพันกับรัฐแล้วต้องจ่ายภาษี ชีวิตเราก็ผูกกับคนที่จ่ายภาษีคนอื่นๆ อีกจำนวนมาก ชีวิตเราเกี่ยวข้องกับระบบนิเวศ เกี่ยวข้องกับแรงงานที่สร้างถนน สร้างบางสิ่งบางอย่างให้เรา มันไม่มีคำว่าคนเดียวในเส้นทางชีวิตนี้
จะเขียนการ์ตูนไปถึงเมื่อไหร่
เราไม่อยากเกษียณ เราอยากเป็นตาแก่ที่ยังเขียนการ์ตูนออกมา คือการเขียนการ์ตูนมันธรรมดามากๆ แค่มีกระดาษและปากกา ต่อให้คนอ่านไม่รักมันแล้ว แต่เราก็ยังเขียนลงสมุดและอ่านกับเพื่อนเราได้ เหมือนกลับไปช่วงสมัยประถม เราเขียนให้เพื่อนอ่า เพื่อนแฮปปี้ เราแฮปปี้ มันแค่นั้นก็ได้ เพราะที่ผ่านมาเราเติบโตมากับสิ่งนี้ แล้วมันก็สร้างตัวเราขึ้นมา เป็นกึ่งศาสนาสำหรับเรา
วันที่เราทุกข์ร้อนใจ การเขียนการ์ตูนมันทำให้ใจเราสงบ
มันมีช่วงที่เราอยู่ออสเตรเลียแล้วซัฟเฟอร์กับสรรพสิ่งต่างๆ แต่พออยู่บนหน้ากระดาษเรารู้สึกว่าทุกที่บนโลกแม่งเหมือนกัน คือถ้ามองการเขียนการ์ตูนเป็นแฟน มันคือคนที่ผ่านอะไรด้วยกันมาเยอะมาก จนเราคิดว่ามันเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับเรา ไม่ใช่สิ่งที่เราจะล้มเลิกกับมันได้
อยากบอกอะไรกับคนที่อ่านงานของเราไหม
มีเรื่องหนึ่งที่อยากบอกคนอ่านคือ คนอ่านชอบบอกว่าขอบคุณนักเขียนมากๆ ที่เขียนหนังสือเล่มนี้ออกมา เพราะเขาชอบหนังสือเล่มนี้มาก แต่สำหรับเรา มันเหมือนกับที่เราได้ไปอ่านการ์ตูนเรื่อง อิกโคคุ บ้านพักหรรษา ซึ่งเป็นคนที่เขียนเรื่อง รันม่า ตอนที่อ่านอิกโคคุ คือช่วงที่การ์ตูนออกมาได้ประมาณสามสิบปีพอดี แล้วก็รู้สึกว่าตัวละครมันมีชีวิตว่ะ มันทำให้พบว่าเพราะการอ่านนั่นแหละ ทำให้การ์ตูนทั้งหมดมันมีชีวิต เป็นเพราะการมีคนมาอ่านเท่านั้น ถ้าไม่มีคนอ่านมันก็เป็นแค่ตัวละครที่จะตายไปพร้อมกระดาษเหล่านั้น
เพราะฉะนั้นเวลาที่เราบอกไปว่าขอบคุณที่อ่าน เราขอบคุณจริงๆ ทุกครั้งที่คนอ่านมาบอกว่าตัวละครเหมือนมีชีวิตจริงๆ มันคือตัวละครที่มีชีวิตในหัวของเขา ในใจของเขา การอ่านมันมีพลังแบบนั้น และมันก็ส่งต่อมายังพลังในการเขียนงานของเราด้วย
มันต่างจากตอนที่เราคิดว่าเราจะเขียนการ์ตูนในกระต๊อบที่เราอ่านคนเดียว ชอบคนเดียว แต่การที่มีคนชอบในงานที่เราก็ชอบ ความรู้สึกเหล่านั้นมันทำให้รู้สึกว่าทั้งเขาและเราต่างมีความหมายต่อกัน เป็นความสัมพันธ์ที่เรารู้สึกยินดีและขอบคุณมากๆ