บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาสำคัญของซีรีส์สาธุ
“แม่เลิกงมงายสักทีได้เปล่า ของพวกนี้มันปลอมทั้งหมดแหละ มันหลอกให้เชื่อแล้วก็หลอกเอาเงิน แม่ยังไม่รู้ตัวอีกเหรอ”
“ก็แม่เชื่อของแม่ แม่ผิดด้วยเหรอวิน”
บทสนทนาของ ‘วิน’ กับ ‘แม่’ ในซีรีส์สาธุ เสนอให้เห็นข้อโต้แย้งเกี่ยวกับพุทธศาสนาผ่าน ‘พุทธพาณิชย์’ ว่าเราศรัทธาในสิ่งที่ ‘ถูกสร้าง’ หรือเรา ‘ประกอบสร้าง’ ความศรัทธาแล้วใช้มันเป็นเครื่องมือเพื่อแสวงหา ‘บางสิ่งบางอย่าง’ กันแน่?
หากเล่าเหตุการณ์ให้เข้าใจง่ายที่สุด วินร่วมมือกับเกมและเดียร์ทำโปรเจ็กต์รีโนเวตวัดภุมรามขึ้น เพื่อหาเงินใช้หนี้จากการสร้างเกม NFT ที่ถูกโกงไป โดยโปรเจ็กต์ดังกล่าวประสบความสำเร็จล้นหลาม แต่ก็มาพร้อมกับความวุ่นวายมากมายที่ทำให้ทั้ง 3 คนแทบเอาชีวิตไม่รอด
ถ้าเราถอดสมการความสำเร็จของวัดภุมรามออกมา ส่วนหนึ่งที่ทำให้วัดนี้ประสบความสำเร็จได้คือ การสร้าง ‘เรื่องเล่า’ ที่แสดงถึงปาฏิหาริย์ของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ทำให้สามารถดึงดูดผู้มีจิตศรัทธาให้เข้ามาบริจาค ทั้งเพื่อทำนุบำรุงศาสนา และเป็นเสบียงบุญสำหรับความสุขในอนาคตไม่ว่าจะชาตินี้หรือชาติหน้า และหากเราสังเกตกันให้ลึกลงไปอีก เรื่องเล่าปาฏิหาริย์ในความเชื่อต่างๆ มักมีรูปแบบเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นที่มา การบรรลุ ปาฏิหาริย์ และการช่วยเหลือผู้คน สิ่งเหล่านี้เองที่กลายมาเป็น ‘พุทธคุณ’ ของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นแคล้วคลาดปลอดภัย เมตตามหานิยม ค้าขายร่ำรวย เรียกได้ว่าตอบโจทย์ทุกความต้องการทางใจของผู้คน
The MATTER ชวนไปสำรวจงานวิจัยเพื่อเข้าใจถึงปรากฏการณ์ความเชื่อว่า ความศักดิ์สิทธิ์มีเรื่องเล่าเข้ามาเป็นส่วนสำคัญในสังคมไทยอย่างไรบ้าง?
พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์: รูปแบบของปาฏิหาริย์ กับตำนานที่สืบทอดความเชื่อ
ขณะที่วิน เกม และเดียร์กำลังรีโนเวตวัดภุมรามอยู่นั้น เราจะเห็นขั้นตอนการจัดการกับสถานที่ต่างๆ ในวัดให้มีหน้าตาสวยงามมากขึ้น เมื่อมาถึงพระพุทธรูปที่มีรังผึ้งเกาะอยู่ใต้คางซึ่งตั้งอยู่กลางแจ้ง วินกลับตัดสินใจเก็บรังผึ้งนั้นไว้
ภายหลังเมื่อทั้ง 3 คนตัดสินใจจะสร้างพระเครื่องเพื่อหารายได้เพิ่ม พระพุทธรูปดังกล่าวจึงเป็นต้นแบบในการสร้าง ‘พระผึ้งหลวง’ ขึ้นมา แถมยังบังเอิญสอดคล้องกับชื่อวัดภุมราม (ที่แปลว่า วัดผึ้ง) พร้อมกับความพยายามสร้าง ‘เรื่องเล่า’ ความศักดิ์สิทธิ์ของพระเครื่อง ผ่านความพยายามของวินกับเดียร์ที่ให้พระเครื่องกับผู้รอดชีวิตจากอุบัติเหตุรถชนซึ่งถูกวินิจฉัยว่าพิการ ทว่าโชคก็เข้าข้างพวกเขาเมื่อเวลาต่อมาผู้รอดชีวิตคนนั้นสามารถกลับมาเดินได้ ทำให้พระผึ้งหลวงกลายเป็นพระเครื่อง best seller ไปในเวลาไม่นานนัก และทำให้แม่ของวิน รวมถึงพี่สาวของเองก็เกมตามหาพระรุ่นนี้ เพราะความศักดิ์สิทธิ์ของพระผึ้งหลวงนี้เองที่จะทำให้พ่อของวินกลับมา และอากงของเกมหายป่วย
หากเราพิจารณาถึงพระเครื่องต่างๆ ในสังคมไทย ก็มักมาพร้อมกับเรื่องเล่าที่แสดงถึงความศักดิ์สิทธิ์ของพระเครื่องเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นพระอาจารย์ที่ปลุกเสก พุทธคุณที่คุ้มครอง ไปจนถึงปาฏิหาริย์ที่เกิดขึ้นกับผู้สวมใส่ ซึ่งเรื่องเล่าเหล่านี้เองจึงทำให้พระเครื่องหนึ่งรุ่นเป็นที่รู้จัก จนทำให้เซียนพระตามหาและกลายเป็นตำนานด้วย
เรื่องการบูชาพระเครื่องนี้ ยังมีวิทยานิพนธ์ของอภิวัฒน์ อรัญภูมิ เรื่องพระเครื่องกับพุทธศาสนาในสังคมไทย อธิบายว่า ผู้บูชาพระเครื่องศรัทธาสิ่งเหล่านี้ในฐานะที่เป็นวัตถุมงคลทางศาสนา โดยเชื่อว่าจะให้ผลแตกต่างกันไป และยึดโยงกับความศักดิ์สิทธิ์ของพระเครื่องในฐานะเป็นสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจ ขณะเดียวกัน แม้ตำนานของพระเครื่องจะเกิดขึ้นมากมาย แต่มักมีรูปแบบของเรื่องเล่าที่กลายเป็นต้นแบบของความศักดิ์สิทธิ์ และแพร่กระจายไปในสังคม
ทั้งนี้การจำแนกรูปแบบตำนานเกี่ยวกับศาสนา เราอาจดูตัวอย่างได้จากวิทยานิพนธ์เรื่องตำนานพระเจ้าห้าพระองค์: โครงสร้าง เนื้อหา และบทบาทในสังคมไทย ของอนุชา พิมศักดิ์ โดยวิทยานิพนธ์เรื่องนี้รวบรวมตำนานเกี่ยวกับพระพุทธเจ้า 5 พระองค์ในยุคปัจจุบันที่เรียกว่า ‘ภัทรกัป’ แล้วสรุปออกมาว่า จากตำนานในแต่ละท้องถิ่นของประเทศ มีรูปแบบใหญ่ๆ ด้วยกัน 3 แบบ คือ
- แบบเรื่องแม่กาเผือก มีสาระสำคัญว่า ในอดีตพระพุทธเจ้าทั้ง 5 พระองค์เคยเป็นพี่น้องกันมาก่อน แต่เกิดพลัดพรากกันไป หลังจากนั้นทั้ง 5 ต่างก็ไปสั่งสมบารมีจนตรัสรู้ไปทีละพระองค์ในที่สุด
- แบบเรื่องพระเจ้าห้าพระองค์ ที่แนะนำพระพุทธเจ้าแต่ละพระองค์ในยุคนี้ว่าเป็นใคร มีเหตุการณ์สำคัญอะไรบ้าง
- แบบเรื่องแม่กาเผือก คือพระเจ้าห้าพระองค์ที่ผสมผสานแบบเรื่องที่ 1 และ 2 เข้าด้วยกัน
อิทธิพลของตำนานพระเจ้าห้าพระองค์จึงไม่ได้เป็นเพียงแค่ตำนานที่บอกเล่า ‘ลำดับพระพุทธเจ้า’ ในศาสนาเท่านั้น แต่ยังส่งผลไปถึงคาถาและความเชื่อของพุทธศาสนิกชนไทยด้วย ไม่ว่าจะเป็น ‘คาถาพระพุทธเจ้าห้าพระองค์’ หรือที่รู้จักกันในนามคาถา “นะ โม พุท ธา ยะ” เชื่อกันว่าเป็นคาถาที่ทรงพุทธคุณสูงสุด จึงมักปรากฏคำทั้ง 5 นี้ผูกอยู่รวมกับคาถาอื่นๆ รวมไปถึงใช้ในการปลุกเสกวัตถุมงคลและอยู่ในเครื่องรางต่างๆ เช่น ผ้ายันต์ พระเครื่อง
นอกเหนือจากนี้ ในคำอธิษฐานของผู้คนมักกล่าวถึงการได้พบ ‘ศาสนาพระศรีอาริย์’ หรือการได้ไปเกิดในยุคพระศรีอาริย์ ซึ่งมาจากความเชื่อว่ายุคพระศรีอริยเมตไตรยนั้นเป็นยุคที่อุดมไปด้วยความสุข ผู้คนในยุคนั้นมีแก้วสารพัดนึกที่เพียงอยากได้สิ่งใดสิ่งนั้นก็จะปรากฏขึ้น ทำให้ความเชื่อเรื่อง ‘พระศรีอาริย์’ มาขจัดทุกข์เข็ญของผู้คนจึงเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็น ‘กบฏผีบุญ’ ที่ต่อต้านอำนาจรัฐส่วนกลางในสมัยรัชกาลที่ 5 อันเนื่องมาจากปัญหาการจัดเก็บภาษีที่ไม่เป็นธรรมต่อคนในภาคอีสานของประเทศ หรือแม้กระทั่งการอ้างตนเป็นพระศรีอาริย์เพื่อมาช่วยให้ผู้คนพ้นทุกข์ นี่อาจสะท้อนให้เห็นว่า สิ่งที่มนุษย์ต้องการคือการหลุดพ้นจากความยากจนที่นำไปสู่การกดขี่ข่มเหงข้ามสภาวะของสังคมไปด้วย
หากเราพิจารณาถึงเรื่องความศักดิ์สิทธิ์ของพระผึ้งหลวงกันแล้ว มันอาจเป็นแค่ความบังเอิญที่วินกับเดียร์มอบพระผึ้งหลวงให้ผู้รอดชีวิตถูกคนหรือเปล่า? เรื่องเล่าที่เกิดขึ้นอาจเป็นเพียงการประกอบสร้างความศักดิ์สิทธิ์ขึ้นมา เพื่อทำให้ผู้ที่ศรัทธาเชื่อว่าพระเครื่องนี้สามารถขจัดความทุกข์ยากในชีวิตได้ แต่เรื่องเล่าก็ไม่ได้เป็นแค่ปัจจัยเดียวที่ทำให้พระผึ้งหลวงศักดิ์สิทธิ์ขึ้นมา
เกจิอาจารย์: ระฆังดังเพราะคนตี พระสงฆ์ที่ ‘ดี’ ก็มีเรื่องเล่า
อีกหนึ่งตัวละครสำคัญคือ ‘พระดล’ ผู้เป็นมาสคอตเรียกความศรัทธาและกระแสเงินมาสู่วัดภุมรามไม่ขาดสาย แถมยังเป็นผู้ปลุกเสกพระผึ้งหลวง ของวัดภุมรามที่กลายมาเป็นแหล่งรายได้หลักของวัด หลังจากที่ตัววัดเองประสบปัญหา ‘ทับไลน์’ กับวัดของเจ้าคณะจังหวัด จนถูกสั่งให้หยุดทำกิจกรรมต่างๆ ในวัดไป
การเลือกพระดลซึ่งเป็นพระป่ามาเป็น ‘เกจิอาจารย์’ ในวัดบ้าน ดูเหมือนจะเป็นเรื่องแปลกในสายตาของคนทั่วไป ไม่เว้นแม้แต่ในพระสงฆ์ด้วยกันเอง ดังจะเห็นได้จากที่พระดล วิน และเดียร์ไปออกตามหามวลสารที่นครศรีธรรมราช เจ้าอาวาสวัดได้แสดงความประหลาดใจ และเห็นเป็นเรื่องที่ไม่ควรที่พระดลแปลงจากพระป่ามาเป็นพระบ้าน เพราะการวิปัสสนาในบรรยากาศวัดป่าจะทำให้ละจากกิเลสได้ง่ายกว่า และดูน่าเลื่อมใสศรัทธา ขณะเดียวกัน ความเป็นเกจิอาจารย์ที่เกิดขึ้นกับพระดลก็นำมาสู่ลาภสักการะด้วย
อิทธิปาฏิหาริย์กับการสร้างเรื่องเล่าศักดิ์สิทธิ์: ขนบนิยมและพลวัตในประวัติพระเกจิอาจารย์ในสังคมไทยภาคกลาง วิทยานิพนธ์โดยสายป่าน ปุริวรรณชนะ ชี้ให้เห็นว่า ตำนานที่มาจากประวัติพระเกจิอาจารย์ในพื้นที่ภาคกลางของไทย สอดคล้องกับขนบนิยมในเรื่องเล่าพุทธศาสนาที่มีหลักสำคัญอย่างเรื่องกรรม การเวียนว่ายตายเกิด การสั่งสมบารมีและบำเพ็ญเพียร ที่นำไปสู่ปลายทางอย่างการบรรลุธรรม และการบรรลุธรรมนี้เองที่ทำให้เกิดอิทธิปาฏิหาริย์ อันจะทำให้พระเกจิเหล่านี้มีสถานะเป็นเสมือน ‘วีรบุรุษ’ ในพุทธศาสนา ซึ่งแตกต่างจากวีรบุรุษในความหมายทั่วไปที่จำกัดความหมายอยู่เพียงภพชาติเดียว แต่บารมีในคอนเซ็ปต์ของพุทธศาสนาเกิดจากการสั่งสมบารมีข้ามภพข้ามชาติ อิทธิปาฏิหาริย์ที่ปรากฏในประวัติของพระเกจิอาจารย์จึงปรากฏได้ในแทบทุกช่วงเวลาของประวัติชีวิต ตั้งแต่การถือกำเนิด การได้พบกับอาจารย์ สหายธรรม และศัตรู รวมไปถึงการมีอิทธิปาฏิหาริย์จากโลกศักดิ์สิทธิ์ซึ่งมักเป็นการบรรลุธรรม
อิทธิปาฏิหาริย์ที่ปรากฏนี้ยังเชื่อมโยงกับ ‘พุทธคุณ’ ของวัตถุมงคลอันเนื่องมาจากพระเกจิอาจารย์ทั้งหลายด้วย โดยวิทยานิพนธ์ดังกล่าวเรียกสิ่งเหล่านี้ว่าเป็น ‘พลวัต’ ของสังคม ซึ่งมาจากความเชื่อพุทธแบบไทยๆ ที่ผสมผสานทั้งความคิดในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู และการนับถือผี พุทธคุณเหล่านี้มีตั้งแต่คุ้มครองให้ผู้นับถือแคล้วคลาดปลอดภัย มีเสน่ห์ดึงดูดคนรัก มีเมตตามหานิยม เรียกทรัพย์ หรือการรักษาโรค เป็นต้น อิทธิปาฏิหาริย์เหล่านี้จึงทำให้พระเกจิอาจารย์ และวัตถุมงคลตอบสนองความต้องการทางใจของผู้นับถือ ว่าเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ทำให้ความทุกข์ลดลง จากการเข้าถึงทรัพยากรทางเศรษฐกิจที่ไม่เท่าเทียม
หากพิจารณาแล้ว ประวัติชีวิตของพระดลค่อนข้างแตกต่างจากพระเกจิอาจารย์ในวิทยานิพนธ์เรื่องดังกล่าวอย่างชัดเจน พระดลออกบวชตั้งแต่เด็ก มุ่งศึกษาและเผยแผ่ธรรมะแก่ชาวบ้าน ด้วยการอธิบายธรรมที่เข้าใจง่าย เข้าถึงปัญหาความวุ่นวายในจิตใจของผู้คนได้อย่างตรงจุด เมื่อรวมกับวัตรปฏิบัติที่น่าเลื่อมใสด้วยแล้ว พระดลจึงกลายมาเป็นอินฟลูเอนเซอร์ประจำวัดที่ญาติโยมเคารพนับถือได้ไม่ยาก ที่สุดแล้วเมื่อจบสัญญา 3 เดือน พระดลก็ลากลับไปจำพรรษาที่วัดป่าแห่งเดิมที่เคยบวชเรียนมา พร้อมกับที่โปรเจ็กต์ต่างๆ ของวัดภุมรามกำลังจะถูกระงับลง
ทว่าเมื่อรวมกับปัจจัยภายในใจ พระดลได้ตัดสินใจกลับมาช่วยวัดภุมรามอีกครั้งด้วยการบวชซ้ำ ซึ่งเป็นขั้นตอนที่พระจากนิกายหนึ่งจะบวชข้ามมาอีกนิกายหนึ่ง ทำให้พระดลกลายเป็นเรี่ยวแรงสำคัญในการเรียกศรัทธากลับมาสู่วัดภุมรามอีกครั้ง เราจึงไม่อาจปฏิเสธได้ว่า บุคลิกของพระดลเองที่เป็นพระที่สงบเสงี่ยม เทศน์ตรงประเด็น ก็สามารถเรียกศรัทธาของชาวบ้านกลับมาที่วัดได้อีกครั้ง ขณะเดียวกัน การที่พระดลเปลี่ยนแปลงไปสู่พระที่สร้างวัตถุมงคล ก็ย่อมขัดกับความคิดของพระที่น่าเลื่อมใสในอุดมคติทางพุทธศาสนา ทว่าท้ายที่สุด วัดภุมรามก็เผชิญวิกฤตจากคดีทุจริตเงินทอนวัดอีกครั้ง โดยมีจำเลยคือ วิน เกม เดียร์ และตัวพระดลด้วย
หากเราจะมองประเด็นนี้ให้ลึกลงไปได้อีก สิ่งที่เกิดขึ้นในเรื่องสาธุ ยังแฝงวิวาทะความเป็น ‘พุทธแท้-พุทธเทียม’ ในสังคมไทยที่เกิดขึ้นวนเวียนอยู่ในชนชั้นกลางไทยตลอดมา ไม่ว่าจะเป็นทัศนะต่อการพ้นทุกข์ การเผยแผ่ธรรมะ หรือแม้กระทั่งความคิดเห็นเกี่ยวกับพุทธพาณิชย์ ที่เราไม่อาจปฏิเสธได้ว่าอาจเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้พุทธศาสนาดำรงอยู่ในสังคมไทยได้ โดยมีเรื่องเล่าเป็นส่วนประกอบสำคัญที่ทำให้ความศักดิ์สิทธิ์ทำงานกับจิตใจของศาสนิกชนได้เป็นอย่างดี พุทธพาณิชย์จึงเป็นเหมือนอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เราตั้งคำถามว่า สิ่งที่เราเชื่ออยู่ทุกวันนี้จะสามารถตัดสินค่าได้มากกว่าคำว่า ‘แท้’ หรือ ‘เทียม’ ไหม?
สุดท้ายแล้ว เราอาจจะต้องกลับมาตั้งคำถามต่อสังคมไทยว่า ความเชื่อที่เราเชื่อกันทุกวันนี้เกิดจากความศักดิ์สิทธิ์ของสิ่งนั้นเอง หรือว่าที่เรารู้สึกว่าสิ่งนั้นศักดิ์สิทธิ์จะเกิดจากความพยายามประกอบสร้างความศักดิ์สิทธิ์ให้กับวัตถุ บุคคล หรือสถานที่?
อ้างอิงจาก