“อาจมีสังคมที่ไม่ได้ประดิษฐ์กลไกล้อ แต่ไม่มีสังคมไหนที่ไม่ได้เล่าเรื่อง” – Ursula Leguin
การเล่าเรื่อง (Storytelling) คือศูนย์กลางแห่งความเป็นคน ไม่มีวัฒนธรรมในสังคมใดที่ไม่มีเรื่องเล่า ซึ่งการแลกเปลี่ยนกันระหว่างผู้เล่าและผู้ฟังนั้นมีพลังเสมอ ความหลงใหลในเรื่องเล่าฝังรากลึกอยู่กับเรามาตั้งแต่ยุคดึกดำบรรพ์ ไม่ว่าสื่อกลางจะเปลี่ยนไปอย่างไร คนก็จะรักเรื่องที่สนุกกินใจอยู่เสมอ
คงไม่ต้องสาธยายถึงอานุภาพและพลังของการเล่าเรื่อง นักเล่าเรื่องที่แยบยลและสร้างสรรค์สามารถหยิบจับแง่มุมที่น่าสนใจจากข้อมูลอันไร้เรื่องราวขึ้นมาดัดแปลง ขยับ จัดลำดับ ใส่แรงจูงใจและเหตุผล นักเล่าเรื่องที่เก่งสามารถทำให้ผู้ฟังตกในภวังค์ ตั้งใจฟัง สนใจ อยากรู้ต่อในตอนต่อไป แต่บทความนี้ไม่ได้จะมาสอนเคล็ดลับชนะใจด้วยเรื่องเล่า เพียงแต่เราอยากหยิบประเด็นที่ว่าเหตุใดเราจึงตกไปในหลุมของเรื่องเล่า
ใครๆ ก็อยากไขสูตรความลับของการสร้างเรื่องเล่าที่ดีและสนุก คนในหลากหลายวงการตั้งแต่นักวิทยาศาสตร์ นักการเมือง นักสังคมวิทยา นักการตลาด ครีเอทีฟ นักเขียน หรือนักสร้างภาพยนตร์ต่างอยากไขรหัสของเรื่องเล่าที่ประสบความสำเร็จให้ได้ เพราะศิลปะของการเล่าเรื่องที่สนุกทำให้ขายของได้ ทำให้ภาพยนตร์ตรึงติดประทับใจ เร้าอารมณ์ให้คนมีส่วนร่วมกับแบรนด์อย่างลึกซึ้ง ทำให้สาธารณชนเปลี่ยนความคิดได้ในวงกว้าง และสามารถหันมาสนใจเรื่องที่เคยเข้าใจยากๆ ได้
แม้การเล่าเรื่องราวที่มีพล็อต มีเหตุ มีผลจะทำให้เราสนุกกับประวัติศาสตร์มากกว่าไทม์ไลน์ของเหตุการณ์อันน่าเบื่อ สนุกกว่าสูตร ชุดข้อมูล ทฤษฎีที่เข้าใจได้ยาก แต่ก็อาจทำให้เกิดจุดบอด ทำให้เราเข้าใจคลาดเคลื่อนและตกเป็นเหยื่อของเรื่องเล่าที่น่าสนใจ
Alex Rosenberg นักปรัชญาจากมหาวิทยาลัย Duke University จึงเขียนหนังสือ How History Gets Things Wrong: The Neuroscience of Our Addiction to Stories นอกจากเป็นศาสตราจารย์ด้านปรัชญา Rosenberg ยังเขียนนวนิยายและเกี่ยวพันกับสาขาชีววิทยาด้วย เขาเขียนหนังสือเล่มนี้ขึ้นมาเพราะหลงใหลในเรื่องเล่าและคำอธิบายในประวัติศาสตร์ ซึ่งตัวเขาเองก็ตกเป็นเหยื่อของเรื่องเล่าด้วยเหมือนกัน
สูตร สถิติและตัวเลขไม่มีใครอยากจำ แต่คนจะจดจำเรื่องเล่าได้
สมองของคนเรารักและเสพติดในเรื่องเล่ามานาน เรารักพล็อตหนังมากกว่าพล็อตจุดบนกราฟอันไร้จิตใจ เรื่องเล่าทำให้เราสามารถสงสารเห็นใจก้อนหิน ต้นไม้ได้ มนุษย์สามารถสร้างเรื่องราวให้กับจุดที่เคลื่อนไหวอยู่ในจอคอมพิวเตอร์ ไปจนถึงดาวเคราะห์พลูโตที่ยังถูกนำกลับมาเป็นตัวแทนของคนถูกทิ้งที่น่าสงสาร กลายเป็นอุปมาของคนที่ถูกลดสถานะแสนโรแมนติก ประโยชน์ของเรื่องเล่าคือทำให้คนเริ่มหันมาสนใจประเด็นและเรื่องยากๆ ได้
หากอยากจะสื่อสารกับชาวบ้านต้องรู้จักย่อยให้เข้าใจง่ายและสนุก แทบไม่มีชาวบ้านคนไหนอ่านงานวิจัยในวงการวิทยาศาสตร์ ชุดข้อมูล ตัวเลข สถิติและสูตรอันเข้าใจได้ยากรู้เรื่อง แต่นักเล่าเรื่องที่แยบคายสามารถหยิบจับแง่มุมของเรื่องยากมาพูดให้คนทั่วไปเข้าใจผ่านบล็อกหรือหนังสือ Popular Science ที่ย่อยง่าย ทำให้คนในวงกว้างกว่านักวิทยาศาสตร์เริ่มสนใจ อยากจะเข้าใจประเด็นยากๆ เพิ่มขึ้น ซึ่งการเล่าเรื่องที่ดีจะช่วยออกแบบตำราวิทยาศาสตร์ที่สนุก ออกแบบการสอนที่จูงใจช่วยให้ผู้เรียนอยากรู้ สงสัย และอยากมีส่วนร่วม หรือแม้กระทั่งปรับปรุงการสื่อสารแลกเปลี่ยนความรู้กันเองระหว่างนักวิทยาศาสตร์เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้
เรื่องเล่าของผู้ป่วยสมองในประวัติศาสตร์อย่าง H.M. หรือชายนามว่า Henry Molaison เขาไม่สามารถสร้างความทรงจำใหม่ได้เพราะความผิดพลาดของการผ่าตัด คือเรื่องราวที่ถูกมักเอ่ยถึงในหนังสือ Popular Science เกี่ยวกับประสาทวิทยาแทบทุกเล่ม เพื่อปูพื้นฐานความสำคัญของสมองที่ผิดเพี้ยนอันมีผลกับการรับรู้ จิตใจ และความทรงจำ เรื่องของ H.M.ทำให้นักวิทยาศาสตร์ในสาขาประสาทวิทยาเกิดแรงจูงใจและหันมาสนใจฟังก์ชั่นการทำงานของ Hippocampus กันอย่างล้นหลาม
ในการวิจัย Even Einstein Struggled: Effects of Learning About Great Scientists’ Struggles on High School Students’ Motivation to Learn Science จาก Columbia University พบว่าเมื่อเล่าเรื่องราวความลำบากของนักวิทยาศาสตร์ชื่อดังให้นักเรียนมัธยมที่ผลการเรียนวิชาวิทยาศาสตร์ไม่ดีได้รับรู้ พวกเขามีแนวโน้มที่จะได้เกรดดีขึ้น พลังของการเรื่องเล่าสั้นๆ อาจสามารถเปลี่ยนทัศนคติและจูงใจของผู้เรียนได้ เพราะขนาดไอน์สไตน์ยังต้องเคยดิ้นรนลำบากในการศึกษา
สิ่งเหล่านี่คือข้อดีอันพิเศษของเรื่องเล่าที่สร้างอารมณ์ แรงกระตุ้น แรงบันดาลใจ ทำให้คนเกิดความสนใจในประเด็นที่ยากหรือมีแรงจูงใจในสิ่งที่เคยคิดว่ายากเพื่อผลลัพธ์ในด้านที่ดี
สมองของเรารักการสร้างเรื่องราวและรับฟังเรื่องเล่า
เรื่องเล่าคืออะไร เรื่องเล่าคือเรื่องราวที่เราคุ้นเคย สามารถเข้าใจและหาความหมายได้ มนุษย์ใช้เรื่องเล่าเพื่อเข้าใจความเป็นไปของโลกและสิ่งรอบตัว นำไปเล่าต่อเพื่อแบ่งปันข้อมูลกับคนอื่นๆ สมองของเราเก่งเรื่องตรวจจับหาแพทเทิร์นของสิ่งเร้าที่สัมผัส โดยมนุษย์พยายามหาเหตุผลและหาความหมายให้กับสิ่งที่เกิดขึ้น ก็พบว่าสมองของเราเก่งมากจนเราสามารถเห็นเรื่องราว เห็นหน้าคนจากภาพถ่ายกลุ่มหินกระจัดกระจายบนดาวอังคาร หรือภาพพระเยซูในขนมปัง
เราอาจคิดว่าเรื่องเล่านั้นเป็นการส่งต่อความคิดและชุดข้อมูล แต่เรื่องเล่าที่สนุกนั้นทำให้เรารู้สึกว่านี่ไม่ใช่เพียงความบันเทิงหรือการเชื่อมต่อสัมพันธ์ แต่เรื่องเล่าที่ดีจะสามารถควบคุมผู้ฟังได้ คนเราโน้มน้าวและชักจูงกันตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นการเล่าถึงเรื่องรัก ชวนให้ไปลองร้านกาแฟใหม่ หรือแนะนำให้ซื้อประกันชีวิต เรื่องเล่าที่แยบยลทำให้เรารู้สึกแบบนี้เสมอ หากเรื่องเล่านั้นปราศจากการเร้าอารมณ์โดยสิ้นเชิง เราก็หมดความสนใจ
เมื่อเราเห็นตัวละครในเรื่องเล่า ร่างกายของเราจะหลั่งสาร oxytocin ทำให้เกิดความเชื่อใจในตัวละคร รู้สึกผูกพันและอยากดูแล ติดตามต่อ เมื่อตัวละครโดนทำร้าย เราก็รู้สึกไปด้วยอย่างห้ามไม่ได้เพราะเขาเป็นพวกเรา ในขณะเดียวกันผู้ร้ายนั้นทำให้เรารู้สึกชังและรังเกียจ เมื่อเราติดกับของเรื่องเล่า เราจะรู้สึกเห็นใจ กังวล และสนใจอย่างถอนตัวไม่ขึ้น เรื่องเล่าทำให้เราเห็นอกเห็นใจตัวละครหรือผู้คนในเรื่อง มีแรงในการชักจูงให้เกิดความรู้สึกและการกระทำที่อยู่เหนือไปจากเรื่องเล่า
จากงานศึกษาโดย Fritz Heider & Marianne Simmel ในปี 1944 เขาให้คนจำนวน 34 คนมองดูหนังสั้นอันประกอบขึ้นจากภาพสามเหลี่ยม 2 รูป และวงกลม 1 รูปที่ขยับเคลื่อนไหวในพื้นที่สองมิติ เปิดให้คนดูแล้วอธิบายเรื่องราวจากภาพที่เห็น ทุกคนในการทดลองสามารถเล่าเรื่องได้อย่างแจ่มแจ้ง เช่น สามเหลี่ยมคือผู้ชายสองคนที่กำลังต่อสู้แข่งขัน ในขณะที่วงกลมคือหญิงสาวที่กำลังพยายามหลบหนีการข่มเหงของสามเหลี่ยมชิ้นใหญ่ เจ้าวงกลมนั้นกำลังกังวล ในขณะที่สามเหลี่ยมใหญ่นั้นกำลังเดือดและสิ้นหวัง เด็กมีความสามารถในการใส่เรื่องให้กับวัตถุจนเป็นเรื่องเป็นราว
ระบบประสาทอันซับซ้อนและจำนวนเซลล์ประสาทที่มากมายถึง 100,000 ล้านเซลล์ ทำให้สมองของเราซับซ้อนและพัฒนากว่าสัตว์อื่นๆ จนสามารถเข้าใจสัญลักษณ์ คำอุปมา การเปรียบเทียบ การให้เหตุผล นิทานสอนใจได้ เรารู้ว่านิยาย Metamorphosis ของ Franz Kafka ไม่ใช่เพียงเรื่องราวของชีวิตแมลง Sisyphus ไม่ใช่เพียงการเข็นหินขึ้นภูเขา เราเห็นความหมาย แรงจูงใจ และเหตุผล ของเนื้อเรื่องนอกเหนือไปจากการตีความตามคำตรงๆ
สมองของเราถูกขับเคลื่อนให้สร้างเรื่องใหม่และอยากฟังเรื่องราวที่น่าสนใจ เราตีความเหตุการณ์ที่พบเป็นเรื่องเล่าไว้แลกเปลี่ยนและเชื่อมต่อ เรื่องเล่านั้นสามารถปลุกเร้าอารมณ์ของเราได้ ในทุกวัฒนธรรมเรื่องเล่าแทรกคติสอนใจให้เด็กเข้าใจว่าโลกทำงานอย่างไร รวมถึงสอดแทรกความคิดบางอย่างลงไปโดยการสร้างเรื่องผ่านตัวละคร พล็อต หรือกฎทางสังคมที่ย้อนแย้งให้ตัดสินใจ ซึ่งมักเป็นเรื่องของคนที่มีปัญหาอะไรสักอย่างที่ต้องแก้ไข มีฮีโร่ที่กำลังพบปัญหาที่ต้องผ่านไปให้ได้
ด้านมืดของพลังแห่งการเล่าเรื่อง
เขียนมาถึงตรงนี้ เรื่องเล่าคืออาวุธชั้นดีแห่งการสื่อสารที่เปลี่ยนใจคนได้ และบางครั้งเรื่องเล่าก็ถูกใช้เป็นอาวุธทำลายล้างที่อันตราย เมื่อถูกนำไปใช้เพื่อปลุกเร้า บิดเบือน กระตุ้น ชวนเชื่อให้คนเกลียดชัง แค้นเคือง และฆ่ากันได้ เราต่างเป็นเหยื่อของเรื่องเล่าที่ทำให้เราเชื่อ
“ผมตกเป็นเหยื่อแห่งเรื่องเล่า ไม่ได้หมายถึงชุดเหตุการณ์ที่เรียงตามลำดับเวลา ผมหมายถึงเรื่องที่มีพล็อต ถูกเชื่อมโยงด้วยแรงจูงใจบางอย่าง จากความเชื่อหรือความปรารถนา จากการางแผน ความตั้งใจ คุณค่า สิ่งนั้นคือเรื่องเล่าไม่ใช่ชุดความจริง” Alex Rosenberg กล่าว
สมองของเรารักและเสพติดเรื่องราวที่มีเหตุ มีผล มีแรงจูงใจ เราพยายามสอดใส่เหตุผลความตั้งใจของตัวละครในประวัติศาสตร์ ซึ่งส่วนมากยังเป็นที่ถกเถียงกันในวงนักประวัติศาสตร์ ขณะเดียวกันเรื่องเล่าก็มีอำนาจที่ทำให้เราเชื่อ เปลี่ยนใจ ปักใจ ปลุกใจ และบันดาลใจให้เราเข้าใจผิดคิดว่าตัวเองเข้าใจได้เหมือนกัน
Alex Rosenberg กล่าวว่าปัญหาของเรื่องเล่าคือ เมื่อเรื่องเล่าทางประวัติศาสตร์นั้นล่อลวงให้เราคิดว่าเราเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วอย่างถ่องแท้ เราได้ใส่แรงจูงใจ ความคาดเดา ทึกทักความคิดภายในใจของบุคคลในประวัติศาสตร์ที่ฟังดูเข้าท่าและเข้าใจได้ และมักคิดว่าการกระทำต้องขับเคลื่อนโดยความต้องการ ความเชื่อ ด้วยแผนการอยู่เสมอ ดังนั้นการใส่แรงจูงใจให้กับตัวละครในประวัติศาสตร์คือการเชื่อมต่อจุดที่อาจไม่มีอยู่จริง สร้างตัวละครนั้นให้เป็นฮีโร่หรือผู้ร้าย นั่นก็คือการสร้างเรื่อง
จุดที่ควรระวังคือเราอาจเผลอพาตัวเองเข้าไปสวมรองเท้าของเขามากไป เกิดรู้สึกผูกพันเขาก็เป็นพวกเรา แต่หากรู้สึกว่ารังเกียจเขาก็กลายเป็นผู้ร้ายในเรื่องเล่านั้นๆ จุดอันตรายคือเมื่อเราสร้างเรื่องราวที่เชื่อมโยงแล้วทึกทักว่าเราเข้าใจเหตุการณ์ถ่องแท้ทั้งที่จริงๆ หลายเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ก็ยังเป็นที่ถกเถียงกันในวงนักประวัติศาสตร์ แต่เรากลับปักใจเชื่อไปแล้ว นั่นเพราะผู้อ่านหรือผู้ฟังได้นำเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ไปใส่ในกล่องของ Belief-Desire Box นั่นคือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นจำเป็นต้องมีเส้นเรื่อง มีเหตุผล มีความเชื่ออยู่เบื้องหลัง การใส่ความหมายให้กับเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ทำให้ผู้คนเข้าใจผิดว่าการมีความรู้สึกร่วมกับเรื่องคือความเข้าใจในประวัติศาสตร์นั้นแล้ว
ยกตัวอย่างเรื่องเล่าที่เปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์ ชักจูง โยงใยให้คนฮึกเหิมตั้งกลุ่มเพื่อออกล่าคนกลุ่มอื่นที่เชื่อว่าด้อยกว่า:
เรื่องแรกคือ เรื่องเล่าครอบครัว Kallikak: ความเข้าใจผิดที่เป็นแรงบันดาลใจการล้างฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ หนังสือเกี่ยวกับประวัติศาสตร์แห่งพันธุกรรม ได้เล่าถึง Henery Herbert Goddard ผู้เข้าไปสอนในโรงเรียน Vineland Training School โรงเรียนสำหรับคนสติปัญญาไม่สมประกอบ ใช้คำเรียกว่า Feeble-Minded (ซึ่งในยุคนั้น รวมคนที่เป็นโรคทางจิต มีปัญหาด้านการเรียนรู้ และพิการทางสติปัญญา) Goddard ได้รู้จักกับเด็กสาวคนหนึ่งในสถาบันจนพบว่าตระกูลของเธอมีเรื่องเล่าที่น่าสนใจ จนนำมาเขียนหนังสือ The Kallikak Family: A Study of the Heredity of Feeble-Mindedness ในปี 1912 เล่าถึงประวัติศาสตร์ของครอบครัว Kallikak ซึ่งเริ่มมาจากชายคนหนึ่งชื่อ Martin Kallikak ทหารผ่านศึกผู้เผลอทำหญิงสาวสติไม่สมประกอบตั้งครรภ์ จากนั้นเขาก็กลับสู่ชีวิตปกติ แต่งงานกับหญิงสาวสติปัญญาปกติและสร้างครอบครัวที่มั่งคั่ง
Godard เล่าว่าด้วยการที่ตระกูลนี้แตกเป็นสองฝั่งคือ ฝั่งปกติ กับฝั่งที่สติปัญญาไม่ปกติ ทำให้เกิดสายของครอบครัวที่สติปัญญาไม่ปกติ พันธุกรรมที่ไม่สมบูรณ์ทำให้ฝั่งหนึ่งได้ทายาทที่มีปัญหาด้านสติปัญญา ศีลธรรม และก่ออาชญากรรม พวกเขาต้องพึ่งพาภาษีรัฐบาลและสร้างคนรุ่นแล้วรุ่นเล่าที่มีปัญหา ในขณะที่บ้านฝั่งปกติมีแต่ลูกที่เป็นคนดีของสังคม พวกเขากลายเป็นหมอ ทนาย หรือ พระ
เรื่องเล่าของครอบครัว Kallikak ประสบความสำเร็จมากๆ ในยุคนั้น ถูกนำไปเล่าต่อและตีพิมพ์ จนนำมาสู่แนวคิดว่าเราควรจำกัดการสืบพันธุ์ของผู้คนที่สติปัญญาไม่สมประกอบ นำไปสู่การสร้างคติความเชื่อของ Eugenics หรือกระบวนการเพื่อพัฒนาคุณภาพพันธุกรรมมนุษย์ให้ดีขึ้นไป
หนังสือเล่มนี้ถูกนำไปกล่าวอ้างโดยพรรคนาซีเยอรมันในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เพื่ออ้างความชอบทำให้กับโปรแกรม Eugenics โดยอ้างว่าความไม่สมบูรณ์ทางพันธุกรรมก่อให้เกิดประชากรที่ไม่สมบูรณ์ นั้นหมายความคนพิการควรถูกกำจัดเพื่อสายพันธุ์มนุษย์ที่ดีที่สุด โดยใช้ชุดคำเช่น “Racial Hygiene” การทำความสะอาดทางเชื้อชาติ เกิดแบบทดสอบทางสติปัญญากับผู้คน หากเขาไม่สามารถเก็บกระเป๋าให้ปิดได้ พวกเขาอาจไม่ฉลาดพอจะมีบุตร ชีวิตของเขาแขวนไว้กับความสามารถในการจัดกระเป๋า ในปี 1939 มีแคมเปญกำจัดคนที่สติปัญญาไม่สมบูรณ์ โดยฆ่าเด็กที่ไม่สมประกอบ เด็กถูกสังหารเพียงเพราะเป็นเด็กอันธพาล หรือเป็นเด็กยิว ก่อนกำจัดพวกเขาถูกถามว่า “สามารถบอกฤดูกาล 4 ฤดูได้ไหม?” โปรแกรมนี้คร่าชีวิตคนไป 200,000 ชีวิต สรุปผลการปรับปรุงพันธุกรรมอันรุนแรงของนาซี ในปี 1944 นาซีทำหมันคนไป 400,000 คน รวมคนที่หูหนวก เป็นโรคทางจิต ยิปซี และคนยิว
ทว่าเมื่อย้อนกลับไปตรวจสอบสำมะโนครัวจริงๆ ในปี 1850 ก็พบว่าเรื่องเล่านี้ไม่เป็นจริง ครอบครัวในฝั่งที่ผิดปกติหรือฝั่งเลวในเนื้อเรื่อง มีชีวิตที่ไม่ได้เป็นอาชญากรหรือภาระสังคมแต่อย่างใด ภาพของครอบครัวฝั่งผิดปกติถูกปรับแต่งภาพถ่ายให้ดูร้ายกาจ
นอกจากนี้ แนวคิดที่จะกำจัดคนไม่สมบูรณ์นี้ขาดความเข้าใจในระบบพันธุกรรมมนุษย์ที่มียีนเด่นและยีนด้อย ต่อให้เรากำจัดคนที่สติปัญญาไมดีไปหมดทั้งโลกแล้ว ก็ยังมียีนที่อาจแฝงตัวอยู่ในคนปกติที่อาจแสดงผลในรุ่นลูกได้
อีกเรื่องเล่าที่ชวนเชื่อให้ออกล่าคนกลุ่มอื่นคือเมื่อกองทัพ Hutu ได้สร้างโฆษณาชวนเชื่อเพื่อกำลังทำลายด้วยการเรียกพวกเขาว่า ‘แมลงสาบ’ ทำให้เกิดความรู้สึกรังเกียจคนกลุ่มใหญ่และพาไปสู่การตาย การติดต่อทางอารมณ์คือการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ของชาว Tutsi ในรวันดาในปี 1994 Leon Mugesera ผู้สร้างวาทกรรมว่า ชาว Tutsi คือแมลงสาบประกาศออกไปตามวิทยุ เรื่องเล่าการปลุกเร้าอารมณ์สามารถทำให้คนกลุ่มนึงนั้นปฏิเสธความเป็นมนุษย์ของคนอีกกลุ่มได้อย่างน่าสะเทือนใจ
และภาพยนตร์ยาว 3 ชั่วโมงเรื่อง The Birth of Nation (1915) โดย D. W. Griffith ได้จุดประกายและปลุกระดมให้เกิดขบวนการ Ku Klux Klan เพื่อออกล่าคนผิวสีในอเมริกา The New Yorker เรื่องนี้จัดทำโปรดัคชั่นดี มีพล็อตที่ละเมียด แต่ปัญหาก็คือผู้ชมนั้นขาดความรู้ ทำให้พวกเขายอมรับการเหยียดผิวของ Griffith ว่าจริงแท้เชื่อได้ 100% เพราะเขาไม่มีความรู้ในเรื่องประวัติศาสตร์ของทาสและประวัติศาสตร์คนผิวสีก่อนเข้าไปดู ทำให้ถูกปลุกเร้าได้อย่างไม่ต้องสงสัย อารมณ์ที่อันตรายกับความรุนแรงคือความโกรธ ความกลัว และอาการรังเกียจอยากกำจัดให้หมดไป
ซึ่งข้อเสนอของ Rosenberg คือเราคงเลิกที่จะเสพเรื่องราวไม่ได้ เราสามารถรับเรื่องเล่าต่างๆ เพื่อความบันเทิงได้เต็มที่ แต่ไม่ควรนำมาใช้เพื่อหาทางออกให้กับการแก้ปัญหาในปัจจุบันและอนาคต เราไม่ควรใช้เรื่องเล่าในการออกนโยบายและหาความชอบธรรมให้กับอุดมคติทางการเมืองอย่างเลื่อนลอย อย่างน้อยเราก็ควรฝึกทักษะการรับรู้ และแยกแยะได้ว่าข้อมูลที่ได้ฟังอะไรคือชุดข้อมูล ความคิดเห็นการคิดไปเอง หรือเรื่องเล่าที่ถูกแต่งเติมให้สนุกเพื่ออรรถรสน่าฟัง
เราถูกขับเคลื่อนด้วยความรู้สึก
อารมณ์ผลักดันการตัดสินใจของเรามากกว่าที่รู้ตัว และเมื่อมีสติคิดได้ทีหลัง เราก็มักพยายามหาเหตุผลให้กับสัญชาติญาณที่ตัดสินใจไปแล้ว
ทว่า นักเหตุผลทั้งหลาย (Rationalist) ก็มักไม่เข้าใจว่า ทำไมคนอื่นถึงได้เลือกที่จะเชื่อเรื่องเหลือเชื่อ อภินิหารเป็นตุเป็นตะ ทั้งที่ดูเป็นไปไม่ได้เอาเสียเลย พวกเขาขุ่นข้องใจว่าทำไมไม่สามารถเปลี่ยนใจผู้คนได้ ทั้งที่ตัวเองมีชุดข้อมูลที่ถูกต้อง ทำไมมันถึงยากนักที่จะใช้ชีวิตปราศจากการปนเปื้อนของเรื่องแต่ง แต่คนจำนวนมากขับเคลื่อนด้วยอารมณ์ความรู้สึกในการตัดสินใจ
ในพอดแคสต์ Inquiring Mind พูดคุยกับนักวิทยาศาสตร์การเมือง Eric Oliver ถึงจำนวนคนมากมายที่เชื่อในทฤษฎีสมคบคิด และเขาได้เล่าเรื่องของตัวเองกับลูกชายไว้ดังนี้
“วันหนึ่งลูกชายของผมร้องว่ามีปีศาจอยู่ในตู้เสื้อผ้า แต่ผมก็บอกว่า “ไม่มีปีศาจสักหน่อย ทำไมลูกถึงต้องกลัว” แท้จริงแล้ว ลูกชายของผมเขาต้องการให้ผมรับรองว่าประสบการณ์ทางความรู้สึกของเขานั้นมีเหตุ
อยากแรกที่เราจะต้องสื่อสารกับคนที่มีวิธีคิดที่ต่างจากเราคือ การรับรู้ว่าคนที่เชื่อในทฤษฎีสมคบคิด เรื่องเหนือธรรมชาติทั้งหลาย เขาทำไปด้วยความปรารถนาทางอารมณ์ เราต้องยอบรับความจริงของจิตใจเขาให้ได้เสียก่อน เราถึงหาทางสื่อสารกับเขาได้ เพราะความเชื่อนั้นเติมเต็มความต้องการทางความรู้สึก”
พลังของเรื่องเล่าสามารถสร้างทั้งฮีโร่และปีศาจตัวร้ายให้กับคนจริงๆ ในประวัติศาสตร์ สามารถมีพลังปลุกเร้าอารมณ์ ทำให้เราโกรธแค้น รัก เคารพ ปลื้มใจ นํ้าตาจะไหล อิ่มเอมหัวใจไปกับเรื่องเล่าที่วางเส้นเรื่องสวยงาม ยิ่งเราหลงใหลและเสาะแสวงหาเรื่องเล่ามากเท่าไหร่ หากไม่ระวัง เราอาจตกเป็นเหยื่อของมันได้ง่าย
เราควรตระหนักไว้เสมอว่า ‘เรื่องเล่า’ คืออาวุธชั้นดีที่มีอานุภาพทำลายล้างสูงมากหากเรารับมาโดยไม่คิดมาก เราผู้ที่เป็นเหยื่อของเรื่องเล่ามักเพลิดเพลินจนทึกทักว่าเข้าใจ ในมุมมองของนักเหตุผล เรื่องเล่าอาจเป็นเรื่องสำหรับเด็ก แต่ลึกๆ แล้วเราต่างก็มีความเป็นเด็ก ที่ก็แค่ชอบเรื่องสนุก เรื่องเพลิดเพลิน ที่เราจะอินได้ และสมองอันเปี่ยมไปด้วยความรู้สึกนั้นไม่ได้แคร์ถึงตัวเลข สถิติ หรือความจริงที่ยากจะหาความสนุกจากชุดเหตุการณ์ที่กระจัดกระจายไล่เรียงตามเวลาโดยปราศจากเส้นเรื่อง ตัวละครสำคัญ หรือแรงจูงใจพิเศษที่สอดแทรกเข้ามา
เรื่องเล่าทำให้เรารวมกลุ่ม รักกัน และเรื่องเล่าก็ทำให้คนเราแตกแยกกันได้อย่างน่ากลัว เรื่องเล่าจูงใจให้เราขยันออกไปทำสร้างสิ่งต่างๆ แและโน้มน้าวให้เราออกไปเข่นฆ่าทำลายคนอื่นได้เช่นกัน
อ้างอิงข้อมูลจาก
How History Gets Things Wrong: The Neuroscience of Our Addiction to Stories
She Has Her Mother’s Laugh: The Powers, Perversions, and Potential of Heredity by
The Kallikak Family: A Study of the Heredity of Feeble-Mindedness by Henery Herbert Goddard (1912)
Even Einstein Struggled: Effects of Learning About Great Scientists’
Struggles on High School Students’ Motivation to Learn Science
THE ART OF IMMERSION: WHY DO WE TELL STORIES?
This Is Your Brain on Metaphors BY ROBERT SAPOLSKY
It Is in Our Nature to Need Stories
Inquiring Minds: How Intuition and Reason Divide Our Politics
An Experimental Study of Apparent Behavior