เคยคิดไหมว่า ‘ทำไมต้องมีแถบสีขาวอยู่บนธงชาติไทย?’ ‘ทำไมเราถึงต้องหยุดเรียน/ทำงานในวันสำคัญทางศาสนาพุทธ?’ หรือ ‘ทำไมเราต้องสวดมนต์ทุกเช้า ตอนเข้าแถวเคารพธงชาติ?’
หรือภาพล่าสุดของสามเณรที่ออกมาร่วมขบวนการเคลื่อนไหวกับกลุ่มคณะราษฎร ตลอดจนภาพของพระภิกษุสงฆ์รูปหนึ่งที่ยืนอยู่หน้าแนวปะทะระหว่างเจ้าหน้าที่และผู้ชุมนุม เมื่อวันที่ 16 ตุลาคมที่ผ่านมา
มองในมุมหนึ่งก็ชวนให้ปวดใจว่าพระท่านมาทำอะไรตรงนี้ แต่หากมองกันให้ลึก ก็ชวนให้ตั้งคำถามว่า ‘แล้วทำไมพระท่านถึงออกมาไม่ได้ล่ะ?’
ในบทความนี้ เราจะชวนมองว่า ศาสนาพุทธและการเมืองไทยแนบชิดกันมากแค่ไหน? ตลอดจนถ้าหากผู้ชุมนุมในวันนี้ได้รับชัย ความสัมพันธ์ระหว่างศาสนาและรัฐไทยจะเป็นอย่างไรต่อไป?
พุทธศาสนาในร่มเงารัฐไทย
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์ อธิบายรูปแบบรัฐไทยไว้ในบทความของเขาว่า รัฐไทยมิได้แยกขาดระหว่างศาสนากับการปกครองอย่างชัดเจน แต่เป็นไปในแบบ ‘รัฐพุทธแบบจำลอง (Virtual Buddhist state)’ ที่ซ่อนพุทธศาสนาให้แฝงตัวอยู่ในระบบการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมของประเทศอย่างแนบเนียนที่สุดเสียมากกว่า
การเรียกร้องให้รัฐไทยแทรกแซงองค์กรทางศาสนาเกิดขึ้นทั้งจากคนวงในและวงนอกขององค์กร โดยครั้งหนึ่งในสมัย ร.4 เมื่อทรงตัดสินใจทำการแต่งตั้ง ‘ธรรมยุตินิกกาย’ ปฏิรูปศาสนาพุทธให้มีเหตุ-ผล คล้องจองกับแนวคิดวิทยาศาสตร์ เพื่อไม่ให้ชาวตะวันตกที่เข้ามาเผยแพร่ศาสนาในเวลานั้น มีอิทธิพลเหนือสังคมไทย
ต่อมาในสมัย ร.5 ก็มีความพยายามใช้พุทธศาสนาในฐานะสถาบันศึกษา เป็นศูนย์กลางเผยแพร่ความเป็นชาติไทย โดยประกาศใช้ พ.ร.บ.ลักษณะปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ. 121 ยกเลิกแนวปฏิบัติของพระสงฆ์ตามท้องถิ่น และให้หันมายึดถือวิถีปฏิบัติเดียวกับส่วนกลาง และแต่งตั้งสังฆราชที่มาจากเชื้อพระวงศ์เพื่อให้การปฏิรูปพุทธศาสนาเป็นไปตามแนวทางที่วางไว้ หรือกล่าวคือเป็นการรวบอำนาจทางศาสนาที่หลากหลายให้กลายเป็นก้อนเดียว
จนมาถึงในปัจจุบัน ในระบบการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการบังคับให้ทุกโรงเรียนต้องมีการสอนวิชาพุทธศาสนา ซึ่งมีการสอบนั่งสมาธิ สวดมนต์ รวมถึงบังคับให้อ่านหลักคิดทางศาสนาพุทธเพื่อใช้สอบ
หรือตาม พ.ร.บ. เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 2563 ระบุว่า ห้ามขายสุราและเบียร์ ในวันสำคัญทางพุทธศาสนา และหากใครฝ่าฝืนมีโทษจำคุก 6 เดือน ปรับ 10,000 บาท
กฎหมายและระเบียบเหล่านี้ สะท้อนให้เห็นว่ารัฐไทยพยายามใช้ศาสนาพุทธเป็นเครื่องมือทางการเมืองเพื่อสร้าง ‘ชาติไทย’ มาตลอดตั้งแต่ต้นสมัยรัตนโกสินทร์ แต่ไม่เพียงองค์กรเท่านั้น บุคคลในศาสนาเองก็กลายเป็นเครื่องมือของอุมดมการณ์รัฐไทยหลายต่อหลายครั้งเช่นกัน
พุทธศาสนากับการเมืองไทย ไม่เคยแยกขาดจากกัน
องค์ดะไลลามะ (Dalai Lama) ผู้นำทางจิตวิญญาณของทิเบต เคยปรารภไว้ทำนองว่า ผู้คนที่ปฏิบัติเพื่อทำให้การเมืองดีขึ้น ไม่ต่างจากพระโพธิสัตว์ แต่สำคัญคือท่าทีและเจตนาในการเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการเมือง
หากย้อนดูประวัติศาสตร์การเมืองไทย หลายครั้งที่พระสงฆ์ออกหน้าและกลายเป็นตัวละครทางการเมือง (Political Actor) ที่ออกมาแสดงตัวว่าสนับสนุนแนวคิดอนุรักษ์นิยมของรัฐไทย โดยในเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 คร้ังที่คอมมิวนิสต์เป็นเรื่องน่าหวาดหวั่น พระสงฆ์รูปหนึ่งที่มีนามว่า ‘กิตฺติวุฑฺโฒ’ ให้สัมภาษณ์ถึงแนวคิดต่อต้านคอมมิวนิสต์อย่างรุนแรง กับนิตยสารจตุรัสว่า
จตุรัส : การฆ่าฝ่ายซ้าย หรือคอมมิวนิสต์บาปไหม?
กิตฺติวุฑฺโฒ: อันนั้นอาตมาก็เห็นว่าควรจะทำ คนไทยแม้จะนับถือพุทธก็ควรจะทำ แต่ก็ไม่ชื่อว่าถือเป็นการฆ่าคน เพราะว่าใครก็ตามที่ทำลายชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ นั้นไม่ใช่คนสมบูรณ์ คือต้องตั้งใจ (ว่า) เราไม่ได้ฆ่าคนแต่ฆ่ามารซึ่งเป็นหน้าที่ของคนไทยทุกคน
หรือล่าสุด บุคคลเดียวกับที่เป็นแกนนำการชุมนุมของกลุ่ม กปปส. เมื่อราว 7 ปีที่แล้ว ที่ชื่อ สุวิทย์ ทองประเสริฐ ก็นำอัตลักษณ์ของศาสนามาใช้ตั้งชื่อตนว่า ‘พุทธอิสระ’ จนผู้ชุมนุมหลายคนพากันเคารพ และถ้าไล่ดูจากเพจเฟซบุ๊ก ‘หลวงปู่พุทธอิสระ’ จะเห็นหลายข้อความที่สนับสนุนการใช้ความรุนแรงกับกลุ่มที่คิดต่างจากแนวคิดเดิมของรัฐไทยอย่างชัดเจน
แต่ในอีกด้านหนึ่ง สามเณรโฟล์ค คือหนึ่งในนักบวชที่ออกมาร่วมชุมนุมทางการเมืองกับกลุ่มคณะราษฎร โดยเหตุผลสั้นๆ ไว้กับสื่อมวลชนบางสำนักว่า “ถ้าการเมืองดี ผมคงไม่ต้องมาบวชเรียน” ซึ่งก็ทำให้เขาถูกกดันจากองค์กรสงฆ์ให้ถอดผ้าเหลืองที่คุมร่างออก และลาสิกขากลายเป็นคนธรรมดาเสีย เพราะการกระทำแบบนี้ไม่เหมาะควร
ก่อนที่จะเป็นสามเณรโฟล์ค เด็กชายโฟล์คเติบโตในจังหวัดหนึ่งทางตอนเหนือของไทย ครอบครัวไม่ได้ร่ำรวย แต่ก็ยังพอมีความอบอุ่นจากครอบครัวและความฝันในการเป็นนักฟุตบอลหล่อเลี้ยงจิตใจ โดยเฉพาะในยุคที่รัฐบาล ทักษิณ ชินวัตร เข้ามาบริหารประเทศ พร้อมนโยบาย ‘กองทุนหมู่บ้าน’ ที่ให้โอกาสคุณตาของเขาดาวน์รถยนตร์คันหนึ่ง เพื่อนำมาใช้รับส่งนักเรียนจากโรงเรียนกลับบ้าน
อย่างไรก็ตาม ภายหลังการรัฐประหารในปี 2549 รัฐบาลสมัยต่อมาค่อยๆ ลดเงินทุนในโครงการกองทุนหมู่บ้าน ทำให้ครอบครัวเขาเป็นหนี้สินเรื้อรัง และเด็กชายโฟล์คจำต้องเลือกระหว่างความฝันในการเป็นนักฟุตบอล กับเข้ารับการบวชเรียน เพื่อลดค่าใช้จ่ายครอบครัว และให้น้องสาวได้ร่ำเรียนต่อในระดับมัธยมศึกษา
และทางที่เขาเลือกก็นำพาเข้าสู่โลกแห่งพุทธศาสนา และวิทยาลัยศาสนศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล คณะศิลปศาสตร์ รวมถึงวงสนทนาปัญหาบ้านเมืองในกลุ่มเพื่อนฝูง ที่เขาเรียกว่า “สภากาแฟ”
สามเณรโฟล์คมองว่า พุทธศาสนากับการเมืองไทยไม่เคยแยกออกจากกัน โดยให้สังเกตว่าถ้าไปตามพระวิหาร หรืออุโบสถของวัดต่างๆ ให้ลองดูชื่อที่เขียนอยู่บนเสาเข็มก็จะพบชื่อของนักการเมืองคนไหนคนหนึ่ง หรือเมื่อถึงวันสำคัญต่างๆ ก็จะมีการติดรูปพระบรมฉายาลักษณ์ภายในวัด รวมถึงมหาเถรสมาคมยังมีคำแนะนำให้สวดสรรเสริญคุณงามความดีของสถาบันกษัตริย์ โดยเขาสรุปสั้นๆ ว่า “ที่ไหนมีคนมาก ที่นั่นมีการเมืองอยู่”
เขาอธิบายต่อว่า องค์กรพุทธศาสนาในไทยบิดเบือน เมินเฉย และตีความคำสอนของพระพุทธเจ้าหลายประการเข้าข้างตน จนกลายเป็นการบ่มเพาะแนวคิด ‘ราชาชาตินิยม’ ขึ้นในรัฐไทย
เขายกตัวอย่าง การตีความเรื่องบุญ-กรรม โดยกล่าวว่าพุทธศาสนาสอนว่าเป้าหมายสูงสุงคือการหลุดพ้น หรือเข้าสู่พระนิพพาน แต่พุทธไทยกลับไปตีความว่า ผู้ปกครองเป็นผู้มีบุญบารมี ทำบุญมามากกว่าผู้อื่น หรือเป็น ‘สมมุติเทพ’ ซึ่งทำให้คำสอนย้อนแย้งในตัวเอง
นอกจากนี้ เขามองว่าการกำหนดข้อความตอนหนึ่งในรัฐธรรมนูญไว้ว่า พระมหากษัตริย์ทรงเป็น ‘พุทธมามกะ และทรงเป็นอัครศาสนูปถัมภก’ หรือที่หมายความว่าทรงเป็นผู้นับถือศาสนาพุทธ และอุปถัมภ์ค้ำชูศาสนาอื่น ยิ่งเป็นการตอกย้ำว่ารัฐไทยมีประมุขของประเทศที่เป็นชาวพุทธ และมีหน้าที่อุปถัมภ์ศาสนาพุทธ ผ่านการเป็นประธานตามพิธีทางศาสนาที่สำคัญต่างๆ ซึ่งมีการจัดขึ้นโดยหน่วยงานรัฐ
เขาหวังว่า วันหนึ่งถ้ากรอบวัฒนธรรมของสังคมไทยเปลี่ยนแปลงไป พุทธศาสนากับการเมืองไทยจะแยกขาดจากกันอย่างเต็มตัว เพื่อให้วงการศาสนาไทยปรับตัวเข้าสู่ความเป็นสมัยใหม่ทั้งในแง่คำสอน และธรรมวินัย
และถึงแม้ว่า แนวทางนั้นอาจทำให้พระสงฆ์ลดฐานันดรศักดิ์ตัวเองลง และอาจถูกมองว่าเป็นเพียงอาชีพหนึ่งเหมือนอาชีพอื่นๆ แต่เขาเชื่อว่าแนวทางนี้จะทำให้ศาสนาถูกอุ้มชูด้วยความเลื่อมใสของประชาชนโดยแท้จริง
ประชาธิปไตยมาคู่กับรัฐฆราวาส
การออกมาชุมนุมทางการเมืองของกลุ่ม ‘คณะราษฎร’ ในขณะนี้ ค่อยคลี่คลายและแหลมคมขึ้นเรื่อยๆ จนพูดได้ว่า พวกเขาเรียกร้องให้เกิดระบบประชาธิปไตยเต็มใบ รวมถึงการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างสังคมถึงโคนและราก
คมกฤช อุ่ยเต็กเค๊ง อาจารย์ประจำคณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร มองว่า ถึงแม้กลุ่มผู้ชุมนุมจะไม่ได้เรียกร้องประเด็นเรื่องการปฏิรูปศาสนาอย่างชัดเจน แต่เขาเชื่อว่าประชาธิปไตยและแนวคิดรัฐฆราวาส เป็นสิ่งที่เดินมาคู่กันเสมอ
โดยเขากล่าวว่า รัฐฆราวาสมีสองรูปแบบ รูปแบบหนึ่งคือเหมือนประเทศตะวันตก เช่น ฝรั่งเศส กล่าวคือ รัฐจะไม่สนับสนุนศาสนาใดๆ ทั้งสิ้น ส่วนอีกรูปแบบคือเหมือนอินเดีย หรือรัฐจะทำการอุปถัมภ์ทุกศาสนาอย่างเท่าเทียมกัน แต่ทั้งสองรูปแบบมีความเหมือนกันคือ ศาสนาจะไม่มีอิทธิพลในการกำหนดนโยบายและกฎหมายของประเทศ
คมกฤช ชี้ว่า วัฒนธรรมไทยมีความยึดโยงกับพุทธศาสนาอยู่มาก หากการเปลี่ยนผ่านสู่รัฐฆราวาสเกิดขึ้นจริง เขาเชื่อว่ามันจะกลับเป็นการส่งเสริมศาสนาให้ได้ทำหน้าที่แท้จริงของตัวเอง เพราะในปัจจุบัน การที่รัฐโอบอุ้ม และทำให้องค์กรทางศาสนาเป็นองค์กรหนึ่งของรัฐมาช้านาน ทำให้องค์กรเหล่านี้เทอะทะไม่สามารถปรับตัวให้สอดรับกับยุคสมัย และหลงลืมไปว่าศาสนาเองก็ปรับตัวตามโลกอย่างเสมอา
เขายกคำพูดของ นิธิ เอียวศรีวงษ์ ขึ้นว่า สำนักพุทธ หรือสถาบันศาสนาในเชิงองค์กรไม่มีความหมายกับคนรุ่นใหม่อีกแล้ว แต่สถาบันศาสนาควรปรับในเชิงเนื้อหาสาระให้สอดคล้องกับโลกสมัยใหม่ อย่างไรก็ดี การปรับตัวในลักษณะนั้นเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อรัฐไทยกลายเป็นรัฐฆราวาสเท่านั้น
เขาทิ้งท้ายว่า การชุมนุมในครั้งนี้น่าจะทำให้เกิดข้อถกเถียงขึ้นในแวดวงศาสนาและสังคมมากขึ้นเช่นกันว่า ‘นักบวชในพุทธศาสนาควรแสดงออกทางการเมืองได้มากน้อยแค่ไหน’
____________________________________________
ชวนให้ผมทบทวนคำพูดของสามเณรโฟล์คที่เปรียบผู้ชุมนุมว่าดุจ “แสงแห่งความหวังสุดท้ายที่ควรจะเดินไปหา” ซึ่งคงได้แต่ภาวนาว่ามันจะเป็นแสงแห่งความหวังสำหรับทั้งสังคม และพุทธศาสนาในประเทศไทย
อ้างอิง:
วารสารรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ ปีที่ 11 ฉบับที่ 1: บทวิเคราะห์รัฐไทยกับการปฏิรูปพุทธศาสนา ในสมัยรัชกาลที่ 4 และรัชกาลที่ 5, เด่นพงษ์ แสนคา และอัครยา สังขจันทร์