เดาว่าคนมากกว่าครึ่งของประเทศนี้ น่าจะเคยห้อยพระสักองค์ หรือมีคนใกล้ชิดหลงใหลในพระเครื่อง รวมถึงสิ่งของบูชาต่างๆ และเดาอีกว่าพวกเขาน่าจะเคยมาเดินตลาดพระเครื่องสักครั้ง เพื่อหวังจะเช่าบูชาพระติดไม้ติดมือกลับบ้านเป็นสิริมงคลแก่ความเชื่อตัวเอง
และเมื่อปลายอาทิตย์ที่แล้ว คำผกา – ลักขณา ปันวิชัย ได้ขึ้นพูดในเวที Dare To Care เสนอให้มีการผลักดันให้สินค้าพุทธพาณิชย์ ทั้งพระเครื่อง ไอไข่ ตะกรุด ตลอดจนเครื่องรางของขลังต่างๆ เป็นสินค้าส่งออกใหม่ของไทย ทำให้เกิดคำถามตามมาในหัวว่า ตลาดพระเครื่องมันใหญ่ขนาดนั้นเลยหรือ? นอกจากประเทศไทย ยังมีลูกค้าชาวต่างชาติที่นิยมสินค้ากลุ่มนี้อีกหรือ? และมันมีศักยภาพพอที่จะทำให้เราเป็นเสือตัวที่ 5 ของเอเชียอย่างที่เคยนึกฝันกันจริงหรือเปล่า
The MATTER ลงพื้นที่ตลาดสนามหลวงท่าพระจันทร์เพื่อพูดคุยกับเหล่าเซียนพระถึงเสน่ห์ของเครื่องรางเหล่านี้ เงินสะพัดที่หมุนอยู่ในตลาด วิธีการดูพระเครื่อง รวมถึงพูดคุยกับนักวิชาการด้านศาสนาถึงข้อถกเถียงเรื่องพุทธพาณิชย์ที่บางส่วนในสังคมยังเป็นกังวล
(1)
ตลาดพระเครื่อง
ตั้งแต่ช่วงเช้าตรู่ลากไปถึงช่วงประมาณห้าโมงเย็นของทุกวัน เหล่าเซียนพระรุ่นใหม่รุ่นเก๋าจะเดินทางมาที่ตลาดพระเครื่องสนามหลวง ซึ่งขณะนี้ตั้งอยู่ลึกลงไปซอยตั้งแต่บริเวณท่าเรือท่าช้างไปถึงท่าเรือมหาราช
เฮียจั๊ว เมืองนนท์ หนึ่งในเซียนพระที่คลุกคลีอยู่ที่ตลาดแห่งนี้มากกว่า 30 ปี เล่าว่า เมื่อประมาณช่วงปี 2530 ตลาดแถวนี้ยังเป็นตลาดขายผักสด ไม่ค่อยมีพ่อค้าและคนมาเดินดูพระ แต่ตลาดก็ค่อยมาบูมขึ้นเรื่อยๆ จนมาครึกครื้นสุดในช่วงก่อนฟองสบู่แตกปี 2540 และกลับมาอีกครั้งหลังนักท่องเที่ยวจีนเริ่มเข้ามาในทศวรรษ 2550
อันที่จริง ไม่ใช่แค่บริเวณนี้เท่านั้นที่มีการค้าขายพระอย่างเป็นกิจลักษณะ ยังมีตลาดใหญ่อีกหลายแห่งทั้งห้างพันธุ์ทิพย์ งามวงศ์วานชั้น 3-4, ตลาดพระเครื่องพญาไม้ เชิงสะพานพระปกเกล้า ตลอดจนพ่อค้ารายย่อยที่มักปูพรมขายสินค้าอยู่ติดถนนอีกมากมาย ซึ่งล้วนเป็นภาพสะท้อนที่ดีของความครึกครื้นของตลาดพุทธพาณิชย์ของไทย
(2)
ขนาดรัฐมนตรียังต้องแสดงพระเครื่อง
“ใครรับตำแหน่งรัฐมนตรีก็ยังต้องชี้แจงว่า ครอบครองพระเครื่องกี่องค์ ราคาเท่าไหร่บ้าง”
คำกล่าวของ เฮียตี๋เหล้า ท่าพระจันทร์ เซียนพระวัยเกือบ 70 ปี และเจ้าของเว็บไซต์ท่าพระจันทร์ดอทคอมซึ่งทำหน้าที่เป็นตลาดขายพระออนไลน์สะท้อนถึงมูลค่าในเชิงเศรษฐกิจของเครื่องรางเหล่านี้ได้เป็นอย่างดี
บริเวณตลาดสนามหลวง คนมากหน้าหลายช่วงวัยกำลังเดินเลือกหยิบพระที่วางขายอยู่บนแผงของพ่อค้าแม่ค้า ซึ่งราคาเริ่มต้นตั้งแต่หลักสิบไปจนถึงหลักพันบาท และถ้าใครที่อยากได้ของที่หายากขึ้นมาหน่อยสามารถเดินไปแจ้งความประสงค์กับเซียนพระหน้าตู้บริเวณนั้นได้ ซึ่งราคาก็ค่อนข้างซับซ้อนมีตั้งแต่หลักพันไปถึงหลักล้านบาท และอาจแพงถึงระดับ 80 ล้านบาท ตามคำบอกเล่าของเฮียยี่ บางแคเซียนพระวัย 60 ปีที่เล่าว่า เคยได้ยินข่าวคนซื้อพระสมเด็จวัดระฆังในราคาสูงถึง 60-80 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ช่วงที่ไวรัสแพร่ระบาดทำให้ตลาดพระเครื่องซบเซา เพราะลูกค้ารายใหญ่ในช่วงที่ผ่านมาคือคนจีน
“คนจีนนี่เป็นลูกค้ารายใหญ่” เซียนจั๊ว เมืองนนท์กล่าวถึงช่วงก่อนไวรัสแพร่ระบาดว่า เขาเคยมีรายได้จากการขายพระให้แก่นักท่องเที่ยวจีนระดับ 50,000 บาท/วัน “คนจีนทำให้เงินในตลาดหมุนเยอะมาก เพราะคนกลุ่มนี้กล้าซื้อในราคาที่คนไทยไม่กล้าซื้อ และตอนเขามานี่เดินกันจนเราไม่มีเวลามาให้สัมภาษณ์แบบนี้เลยนะ ”
เช่นเดียวกับเฮียตี๋เหล้า ท่าพระจันทร์ที่ให้ข้อมูลว่า “คนจีนเป็นลูกค้าตลาดใหญ่ที่สุดของเมืองไทย ใครก็ตามที่นับถือพุทธและอยากมีพระห้อยคอต้องมาซื้อที่ประเทศไทยเท่านั้น”
เซียนจากเมืองนนท์เล่าต่อว่า ก่อนหน้านี้มีพ่อค้าชาวสิงคโปร์และมาเลเซียเข้ามากว้านซื้อสินค้าชนิดนี้จากประเทศไทยเพื่อนำไปขายต่อให้คนจีน ต่อมาจึงเริ่มมีธุรกิจ ”ไกด์แสวงบุญ” กล่าวคือ มีไกด์นำเที่ยวที่พาคนจีนมาเลือกซื้อพระเครื่องจากตลาดในประเทศไทย
ความนิยมพระเครื่องของนักท่องเที่ยวจีนทำให้เฮียจั๊วคาดว่าเงินในตลาดพระต่อปีอาจสะพัดมากถึง 1 พันล้านบาท ขณะที่เจ้าของเว็บไซต์ท่าพระจันทร์ดอตคอมคาดการณ์ไปมากกว่านั้นว่า อาจสะพัดถึงหมื่นล้านบาทต่อปี
“มูลค่าการตลาดปีนึงหลายหมื่นๆ ล้านบาทนะ” เฮียตี๋เหล้า ท่าพระจันทร์ เซียนพระวัยเกือบ 70 ปีให้ข้อมูลกับเรา
(3)
จริงหรือตุ๋น แท้หรือเก๊
“พูดได้เลยว่าเซียนพระคนไหนไม่เคยซื้อของเก๊ ไม่ใช่เซียนพระ โดนทุกคน คนที่ไม่โดนคือขี้โม้! มันต้องมีคนสอน ต้องมีคนบอกก่อน”
เฮียจั๊วยอมรับกับเราว่าก่อนที่จะได้ชื่อว่า ‘เซียน’ แกเองก็เคยโดนย้อมขายพระปลอมมานักต่อนักแล้ว
ปัญหาสินค้าปลอมในตลาดพระเครื่องเป็นประเด็นหนี่งที่ถูกพูดถึงกันมานาน โดยคอมเมนท์หนึ่งในสำนักข่าว The Standard เล่าว่าตัวเขาเคยเช่าพระมาในราคาหลักร้อย ก่อนปล่อยขายต่อให้คนจีนในราคาหลักหมื่น เรียกว่าเป็นการหลอกขายก็ไม่ผิดความจริงนัก
“คนจีนเขารู้เฉพาะว่าพระองค์ไหนน่าสะสม มีพุทธคุณอย่างไร แต่เขาไม่รู้รายละเอียดว่าพระองค์ไหน อยู่ที่ไหน หรือต้องดูว่าเก๊หรือแท้ยังไงนะ” เฮียจากเมืองนนท์ให้ข้อมูลคล้ายกันถึงการหลอกขายพระปลอมชนิดโก่งราคา
ทางด้านเจ้าของเว็บไซต์ท่าพระจันทร์ดอทคอมเล่าว่าทฤษฎีการดูพระมีหลังพิงอยู่ที่หลักวิทยาศาสตร์เบื้องต้น ไม่ว่าเรื่องของเทคโนโลยีในสมัยนั้นๆ หรือเรื่องของอายุเนื้อดินที่นำมาทำพระเองก็ตาม
“มันต้องพึ่งพิงหลักวิทยาศาสตร์เบื้องต้น เราต้องรู้ว่าสมัยนั้นๆ เทคโนโลยีเป็นยังไง อย่างเช่นพระเหรียญปี 2440-2470 ไม่มีปั๊มขาดหรอก ปั๊มแล้วก็ต้องมีปีก จะมาปั๊มขาดเลยคือ 2480 กว่าไปแล้ว”
“หรืออย่างเนื้อดินก็ต้องรู้ว่า พระถูกเก็บในกรุจะมีความร้อนชื้นก็จะมีเชื้อรา แต่ถ้าเป็นเก๊ก็เอาหมึกมาใส่ก็ได้ และพระแท้ทุกองค์จะมีผิวสัมผัสเป็นผงเป็นดินอยู่ในตัว ถ้ากระด้างก็เก๊เลย”
อย่างไรก็ตาม เซียนใหญ่วัยใกล้ 70 ปีก็ยังยอมรับว่าการดูพระยังต้องอาศัย ‘ความเชี่ยวชาญ’ และประสบการณ์ในการแยกระหว่างพระแท้กับพระปลอม
“พระนี่ไม่ใช่เอาผู้ชำนาญการ 10-20 คน มานั่งประชุมกัน แล้วผลออกมาจะใช่นะ มันเป็นทฤษฎีที่ 100 คนบอกแท้ แต่คนเดียวบอกเก๊ ก็อาจจะเก๊ก็ได้ และกลับกันคนดูเก๊หมด อีกคนดูแท้มันก็แท้ได้”
และสกิลเหล่านี้เองที่ทำให้การออกใบรับรองพระของเว็บไซต์ท่าพระจันทร์ดอทคอมมีคุณค่าและเป็นที่ต้องการของนักเล่นพระทุกคน เพราะมันสามารถใช้เป็นหลักฐานพิสูจน์คุณค่าของพระองค์นั้นๆ รวมถึงเพิ่มมูลค่าให้มันได้ด้วย
“เขาอาจจะเชื่อใจเพราะชื่อเสียงของท่าพระจันทร์ดอทคอมมั้ง เพราะวงการพระมันอยู่ด้วยความเชื่อใจกันล้วนๆ และพอมีโลโก้นี้ มันก็จะสื่อถึงเฮีย” เฮียตี๋หล้าพูดถึงวงการพระที่ตนอยู่มาตั้งแต่สมัยใส่กางเกงขาสั้น
(4)
พุทธพาณิชย์
“ก้าวที่ 1 ของการผลักดันอุตสาหกรรมเครื่องรางของขลังในฐานะตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย เราต้องเปลี่ยนชุดความคิดเราเกี่ยวกับพุทธพาณิชย์ อย่าบอกว่าเงินกับวัดมันไปด้วยกันไม่ได้ ยอมรับเถอะว่าศาสนากับทุนนิยมมันหนีกันไม่พ้น”
คำผกากล่าวข้อความข้างต้นในเวที Dare To Care
ซึ่งคำกล่าวของคำผกาเรื่องพุทธพาณิชย์ตรงกับบางคอมเมนท์ในเว็บไซต์ The Standard ที่กังวลว่า หากมีการสนับสนุนเรื่องพระเครื่องให้เป็นสินค้าส่งออกจะทำให้ศาสนา ‘เสื่อม’
ชาญณรงค์ บุญหนุน อาจารย์ภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งยอมรับว่าตัวเองยังคงเป็นพุทธศาสนิกชนอยู่ให้ความเห็นถึงกรณีศาสนาเสื่อมว่า “คนที่ศึกษาศาสนาจริงๆ เลื่อมใสในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เขาก็ไม่ต้องกังวลเรื่องนี้”
“ผมไม่ค่อยแน่ใจว่าพุทธพาณิชย์จะทำให้คนที่มีความมั่นคงในศาสนาเสื่อมอย่างไร แต่ผมคิดว่าคนที่ไม่ได้เลื่อมใสอยู่แล้ว และมีความคาดหวังต่อศาสนาอีกแบบหนึ่ง เขาอาจจะมีความศรัทธาน้อยลง”
ชาญณรงค์ยกตัวอย่างว่าในศาสนาคริสต์เอง ก็มีการทำของชำร่วยออกมาขายผู้นับถือเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นรูปปั้นพระเยซูหรือไม้กางเขนเองก็ตาม ดังนั้น สินค้าและความเชื่อจึงไม่ได้แยกขาดจากกันโดยสิ้นเชิง
อย่างไรก็ตาม ในฐานะคนที่นับถือพุทธ เขายังมองว่าศาสนาไม่ควรนำตัวเองไปใกล้โลกทุนนิยมมากขนาดนั้น เพราะศาสนามุ่งละกิเลส ขณะที่ทุนนิยมทำให้คนกลายเป็นวัตถุนิยมมากขึ้น
“ศาสนามันมีหลายมิติ ทั้งในแง่ที่หันหลังให้โลก และแง่ที่เป็นหนึ่งเดียวกับโลก ศาสนาพุทธเองก็ไม่ได้ปฏิเสธความเป็นไปของโลก เพียงแต่ผมคิดว่าเราต้องทำอย่างไรไม่ให้มันมาครอบงำศาสนามากเกินไปมากกว่า”
“เราต้องเคารพศรัทธาของกันและกัน” คำกล่าวของชาญณรงค์อาจเป็นประเด็นสำคัญที่สุดที่จะต้องถกเถียงกันต่อไป หากจะสนับสนุนพระเครื่องไทยให้ก้าวสู่เวทีโลกตามข้อเสนอของคำผกาจริง
(5)
หลายแง่มุมของวงการพระเครื่อง
“การเล่นพระมันขึ้นอยู่กับคน บางคนเล่นศิลปะ เพราะพระยุคเก่ามันงดงาม บางคนก็เล่นพุทธคุณ เก็บไว้คุ้มครอง แคล้วคลาด และบางคนก็เล่นเป็นพุทธพาณิชย์ มันมีหลายไสตล์แล้วแต่ตัวบุคคล”
“แต่ตัวผมเองเล่นในเรื่องศิลปะ เพราะเสน่ห์ของพระโบราณมันมากมายมหาศาลเลย จากผิวพรรณ การออกแบบ มันดูแล้วทำให้เราหลงไหลในศิลปะวัตถุมงคลแบบนี้”
คำกล่าวสองประโยคข้างต้นของเฮียยี่ บางแคอาจสะท้อนภาพของวงการพระเครื่องไทยได้มากที่สุด มันแปลว่าไม่ใช่ทุกคนที่เล่นพระเพราะหวังพุทธคุณ และไม่ใช่ทุกคนที่ขายพระเพราะหวังรวย เพราะอย่างเฮียจั๊ว เมืองนนท์ก็ให้เหตุผลที่ดูพระมากว่า 30 ปีว่า
“มันเพลิน คนนั่งออฟฟิศยังต้องเครียดใช่ไหม แต่เราไม่เครียด วงการพระทำให้ได้รู้จักคนเยอะแยะ เขาเอาพระนู่นพระนี่มาให้ดูบ้าง วันนึงได้เจอคนหลากหลายมาก”
แต่ไม่ว่าคนจะเดินเข้าสู่วงการพระเครื่องด้วยเหตุผลอะไร เหล่าเซียนก็ยืนยันว่าวงการพระเครื่องไทยมีเงินสะพัดไหลเวียนไม่ต่ำกว่าระดับพันล้าน และมีลูกค้ากลุ่มใหญ่อย่างชาวจีนคอยรับซื้อสินค้าอยู่ ดังนั้น ก็แปลว่าวงการนี้มีศักยภาพเพียงพอที่จะเป็นสินค้าส่งออกของไทยอย่างแน่นอน
แต่การจะไปถึงตรงนั้น สังคมไทยน่าจะต้องถกเถียงกันอีกมากในประเด็นของศาสนากับทุนนิยม สองสิ่งนี้ควรแยกจากกันหรือเปล่า เป็นไปได้ไหมที่จะเดินไปคู่กัน และถ้าเดินจะเดินไปอย่างไรไม่ให้ทำร้ายศรัทธาของผู้เลื่อมใส
และแน่นอนว่าจะเดินก้าวแรกอย่างไรไม่ให้ถูกสำนักพุทธศาสนาเบรคเอาเสียก่อน