คนไทยรู้จักกับไอ้มดแดงมากว่า 50 ปี แต่รู้หรือไม่ว่าจริง ๆ แล้วไม่มีสักคนเลยที่เป็นมด แล้วผู้สร้างไปได้รับแรงบันดาลใจมาจากแมลงหรือสัตว์ตัวไหน ใส่ไอเท็มคู่ใจอะไรให้เหล่าฮีโร่บ้าง ถ้าอยากรู้คงต้องไปตามอ่านกันด้านล่างแล้วล่ะ!
“เซมารู ช็อคกา…” แค่เพลงนี้ดังขึ้นมา เด็กๆ ยุค 70 80 90 ไปจนถึงต้นสองพันคงรู้ทันทีว่า ยอดมนุษย์ใต้หน้ากากสัญชาติญี่ปุ่นกำลังจะมาปราบเหล่าร้ายให้เราได้ชมกันทางหน้าจอ
ใช่แล้ว นี่คือมาสค์ไรเดอร์ (Kamen Rider) หรือที่เรียกจนชินปากว่า ‘ไอ้มดแดง’ ซีรีส์สุดฮิตที่พิชิตใจเด็กไทยจากยุคสู่ยุค ด้วยเรื่องราวของฮีโร่ผู้ต่อสู้เพื่อผดุงความยุติธรรม ยอมเสียสละความสุขส่วนตัวเพื่อแลกกับประโยชน์ส่วนรวม ไปจนถึงลูกเล่นต่างๆ ที่ผู้สร้างตั้งใจสอดแทรก ทั้งกิมมิคการแปลงร่าง ท่าทางการโจมตี และที่ขาดไม่ได้อย่างเข็มขัดและมอเตอร์ไซค์คู่ใจ ต่างทำให้ซีรีส์เรื่องนี้ได้รับความนิยมอย่างราวนานจนยากจะเลียนแบบ
ไอ้มดแดงเวอร์ชั่นคลาสสิคที่หลายคนคุ้นหน้าคุ้นตาคือไอ้มดแดงจากยุคโชวะซึ่งถูกสร้างขึ้นในช่วงปี 1970-1989 หรือก็คือมาสค์ไรเดอร์ที่สร้างขึ้นจากจินตนาการของ อ.โชทาโร่ อิชิโนะโมะริ (Ishinomori Shotaro) ผู้ให้กำเนิดไอ้มดแดง โดยเหล่าไอ้มดแดงในยุคนั้นมีทั้งสิ้น 12 คน และอันที่จริงก็มีอีก 3 คน (ชิน มาสค์ไรเดอร์ โปรล็อก, มาสค์ไรเดอร์ ZO และมาสค์ไรเดอร์ J) ที่โผล่มาในฉบับภาพยนตร์ ซึ่งแล้วแต่แหล่งข้อมูลว่าจะนับรวมเป็นไอ้มดแดงยุคโชวะด้วยหรือไม่
อย่างไรก็ดี รู้หรือไม่ว่าแท้จริงแล้ว ยอดมนุษย์ที่เรารู้จักในชื่อไอ้มดแดงนี้ กับมดแดงหรือมดธรรมดา พวกเขาก็ไม่มีความเกี่ยวข้องสักนิด…
เพราะการออกแบบหน้ากากอันทรงพลังและทันสมัย (ในยุคนั้น) ที่ดูเหมือนแมลงอะไรสักอย่างนี้แท้จริงได้แรงบันดาลใจมากสรรพสัตว์มากมาย อาทิ ตั๊กแตน แมลงปอ ด้วง กิ้งก่า และอีกนานาสิ่งมีชีวิต แต่ไม่เคยมีมดเข้าไปอยู่ในนั้น
ไอ้ตั๊กแตนแดง!
นี่น่าจะเป็นชื่อที่สอดคล้องกับที่มาของมาสค์ไรเดอร์มากกว่ามด เพราะตั๊กแตนน่าจะเป็นสัตว์ที่ถูกนำมาใช้เป็นแรงบันดาลใจในการออกแบบลักษณะคาแร็กเตอร์ของไอ้มดแดงบ่อยที่สุด เริ่มตั้งแต่ไอ้มดแดงสองคนแรกอย่างมาสค์ไรเดอร์ V1 และ V2 ต่างก็เกิดจากการผสมผสานระหว่างตัวละครในการ์ตูนเก่าอย่าง Skull Man เข้ากับตั๊กแตนที่มีลำตัวสีเขียว ดวงตาสีแดง จนได้ออกมาเป็นตัวละครที่เห็นแล้วแทบจะจำได้ในทันที มีความแข็งแรง ดุดัน แต่ขณะเดียวกันก็เคลื่อนไหวได้อย่างยืดหยุ่น
ถัดมาที่ไอ้มดเขียว V3 มาสค์ไรเดอร์คนนี้ถูกออกแบบโดยใช้ไอ้มดแดงสองตัวแรกเป็นพื้นฐาน แต่เติมจุดเด่นของแมลงปอแดงเข้าไปเสริม จนเกิดเป็นมาสค์ไรเดอร์คนแรกที่มีลำตัวสีเขียว ดวงตาเขียว แต่ใบหน้าสีแดง
ไรเดอร์แมน V4 ก็ยังไม่ออกจากหมวดตั๊กแตน แม้นี่จะเป็นไอ้มดแดงที่ถูกพูดถึงน้อยกว่าคนอื่นๆ อยู่บ้าง แต่วิธีการออกแบบก็เรียกได้ว่ามีเอกลักษณ์โดดเด่น เห็นถึงความพยายามที่จะแตกต่างจากสามคนที่ผ่านมา โดยไรเดอร์แมนยังคงได้รับแรงบันดาลใจจากตั๊กแตนเช่นเดิม แต่ลดทอนรูปแบบหน้ากากให้เหลือเพียงครึ่งหน้าบน คนดูจึงสามารถมองเห็นช่วงจมูกกับปากของฮีโร่ตัวนี้ได้อย่างเด่นชัด
หลังจากนั้น ทีมผู้สร้างก็พักการใช้งานตั๊กแตนไปพักใหญ่ ก่อนที่ในปี 1979 ไอ้มดแดงกลิ่นอายตั๊กแตนจะกลับคืนจอให้หายคิดถึงอีกครั้งในสกาย ไรเดอร์ V8 แต่มาคราวนี้ แทนที่จะใช้ตั๊กแตนทั่วไป ทีมงานเลือกใช้ตั๊กแตนหนวดสั้น (Locust) ที่แผ่นหลังมีสีเขียวและใต้ท้องมีสีแดงเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างงาน โดยทำการดัดแปลงลักษณะของตั๊กแตนชนิดนี้เข้ากับการเล่นเครื่องร่อน จนไอ้มดแดง V8 กลายเป็นไอ้มดแดงคนแรกที่สามารถเหาะเหินเดินอากาศได้ แต่ก็ไม่ได้ใช้ความสามารถนี้บ่อยนักเนื่องจากข้อจำกัดด้านสเปเชียลเอฟเฟ็กต์ในเวลานั้น
สุดท้ายคือตั๊กแตนดำ หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า Eastern Lubber Grasshopper ก็กลายมาเป็นไอเดียสำคัญของการออกแบบมาสค์ไรเดอร์ แบล็ก และมาสค์ไรเดอร์ แบล็ก RX ซึ่งเป็นภาคสุดท้ายของไอ้มดแดงยุคโชวะ
ฮีโร่ด้วงดี
คนไทยในปัจจุบันอาจจะนิยมดูดวง แต่ทีมนักออกแบบชุดต่อสู้ของไอ้มดแดงในยุคหนึ่งนั้นชอบดูด้วง หลังได้รับแรงบันดาลใจจากตั๊กแตนอยู่พักใหญ่ ๆ ทีมผู้สร้างก็หันมาทดลองใช้สัตว์อย่างด้วงกันบ้าง โดยสตรองเกอร์ หรือ V7 คือมาสค์ไรเดอร์คนแรกที่เกิดจากการนำด้วงแรดของญี่ปุ่นมาเป็นแบบในการรังสรรค์ ก่อนผสมผสานเสื้อเกราะที่ดูแข็งแรงกำยำคล้ายนักกีฬาอเมริกันฟุตบอล และจึงเติมตัวอักษร S กึ่งกลางอก ที่ในทางหนึ่งก็เป็นการสื่อถึงคำว่า ‘stronger’ และอีกทางก็เป็นการคารวะซูเปอร์ฮีโร่ที่แข็งแรงที่สุดคนหนึ่งของฝั่งอเมริกาอย่างซูเปอร์แมน
นอกจากนี้ ด้วงยังถูกหยิบยกมาใช้กับงานออกแบบอีกครั้งในมาสค์ไรเดอร์ ZX (V10) ที่นำจุดเด่นของด้วงหนวดยาวมาคลุกเคล้ากับกลิ่นอายของนินจา ส่งให้ไอ้มดแดงตัวนี้มีหน้าตาและสีสันสดใหม่ พร้อมมีดาวกระจายเป็นอาวุธติดตัว
เหล่าแมลงเสริมทัพ
มาสค์ไรเดอร์ X หรือที่คนไทยเรียกติดปากว่าไอ้มดเอ็กซ์ V5 คือมาสค์ไรเดอร์คนแรกๆ ที่มีอาวุธประจำตัว โดยสัตว์ที่นำมาใช้เป็นแรงบันดาลใจในการออกแบบมาสค์ไรเดอร์คนนี้ไม่ใช่ทั้งตั๊กแตนและด้วง แต่เป็นการนำแมลงดานาที่มีคุณสมบัติทนต่อแรงดันน้ำมาถ่ายทอด
อย่างไรก็ดี บางแหล่งข้อมูลก็แย้งว่า หน้ากากของมาสค์ไรเดอร์ X น่าจะมีต้นแบบมาจากหอยทากซะมากกว่า เพราะดูคล้ายคลึงมากกว่าแมลงดานาเป็นไหนๆ
ข้ามมาที่มาสค์ไรเดอร์ ซูเปอร์-1 (V9) ซึ่งมีดีไซน์ที่ค่อนข้างไฮเทครับปี 1980 ถูกพัฒนาขึ้นจากลักษณะของแตนและชุดนักบินอวกาศ ผลลัพธ์ที่ออกมาคือหน้าตาของไอ้มดแดงสีดำเงินคล้าย V5 แต่โฉบเฉียวและมีกลิ่นอายของเทคโนโลยี ทั้งยังมีถุงมือที่สามารถปรับปลี่ยนพลังได้อีกด้วย
สุดเท่ อเมซอน
นอกจากสารพัดกองทัพแมงและแมลง(ที่ไม่มีมด)ซึ่งตบเท้าเข้าไปส่วนหนึ่งของหน้ากากมาสค์ไรเดอร์แล้ว สำหรับไอ้มดแดง V6 ทีมผู้สร้างนำเสนอความแตกต่างซึ่งมีความดิบเถื่อนยิ่งกว่าไอ้มดแดงคนไหนๆ
เมื่อเด็กหนุ่มต้องเติบโตท่ามกลางสัตว์ร้ายในผืนป่าอเมซอน กิ้งก่าคาเมเลียน ปลาปิรันย่า ตลอดจนปลาตกเบ็ดจึงถูกหลอมรวมเข้าเป็นองค์ประกอบในการเนรมิตยอดมนุษย์ผู้นี์ มาสค์ไรเดอร์ อเมซอน (V6) หรืออมาซอนส์กลายเป็นไอ้มดแดงที่มีรูปลักษณ์และการต่อสู้ที่แตกต่างจากคนอื่นๆ โดยสิ้นเชิง นอกจากจะไม่มีแมลงเป็นส่วนหนึ่งในการออกแบบแล้ว ปูมหลังก็ส่งให้เขากลายเป็นฮีโร่ที่น่าตื่นตาตื่นใจและแสดงถึงความกล้าหาญของทีมงานที่ไม่ยึดติดอยู่กับความสำเร็จแบบเดิมๆ
ไม่มีมด แล้วกลายเป็น ‘ไอ้มดแดง’ ได้ยังไง!?
เล่ามาถึงตรงนี้ หลายคนคงสงสัยว่า ด้วยเหตุผลกลใด ซีรีส์ฮีโร่จากแดนอาทิตย์อุทัยจึงกลายเป็นมนุษย์มดไปเสียได้ ย้อนกลับไปในวันที่มาสค์ไรเดอร์ถูกนำเข้ามาฉายในประเทศไทยครั้งแรก (ปี 1971) บริษัทจากญี่ปุ่นไม่ได้ส่งรายละเอียดซีรีส์ติดมาให้ ทีมงานของสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 ในเวลานั้นจึงต้องตีความภาพถ่ายเพื่อคิดคำในการโปรโมทเรื่องราว สุดท้ายทุกคนตัดสินใจเรียกยอดมนุษย์ใต้หน้ากากนี้ว่า ‘ไอ้มดแดง’ เพราะมีหน้าตาคล้ายคลึงกับมด ทั้งยังมีดวงตาสีแดงเพลิง อันเป็นที่มาของคำเรียกติดปากจวบจนปัจจุบันที่ถ้าจะให้เปลี่ยนเป็นชื่ออื่นก็คงจะไม่ทันเสียแล้ว
ของมันต้องมี
นอกจากจะมีจุดเด่นที่การออกแบบชุดต่อสู้แล้ว ไอ้มดแดงยังมีลูกเล่นอีกมากมายที่สามารถมัดใจผู้ชมได้นานหลายทศวรรษ และเหล่านี้คือองค์ประกอบของเหล่าฮีโร่ใต้หน้ากากที่เชื่อว่า คนที่ได้ดูต้องอยากลองซื้อหรือลองทำตามอย่างแน่นอน
- หน้ากาก
สิ่งแรกที่เตะตาผู้ชมอย่างจัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งแก๊งเด็กๆ คือหน้ากากสุดเท่ โดยหน้ากากของมาสค์ไรเดอร์แต่ละคนจะมีเอกลักษณ์แตกต่างกันไป ของ V4 เผยให้ช่วงล่างของใบหน้า ของมาสค์ไรเดอร์ สตรองเกอร์ (V7) จะมีเขาอันมหึมาเหมือนด้วงแรดญี่ปุ่น หรือถ้าเป็นหน้ากากของมาสค์ไรเดอร์หลังยุคโชวะจะมีการผสมผสานลักษณะที่ทันสมัยมากมาย บางตัวมีลักษณะคล้ายหุ่นยนตร์ บางตัวเหมือนมังกร แต่ไม่ว่าจะเป็นยุคไหนก็เชื่อเหลือเกินว่า ตอนเป็นเด็ก ทุกคนคงเคยหาหน้ากากไอ้มดแดงมาใส่แล้วทำทีเป็นยอดมนุษย์ผดุงความยุติธรรมอย่างน้อยหนึ่งครั้ง
2. เข็มขัด
เนื่องจากไอ้มดแดงยุคโชวะแทบทุกคนเป็นมนุษย์ดัดแปลง พวกเขาจึงมีเข็มขัดฝังอยู่ในร่างกาย และทุกครั้งที่ต้องแปลงร่างเพื่อต่อกรกับเหล่าร้าย เข็มขัดจะปรากฏขึ้น พร้อมแปลงสภาพคนธรรมดาให้กลายเป็นยอดมนุษย์ เรียกว่าเข็มขัดเป็นเหมือนเครื่องมือคู่ใจที่ไอ้มดแดงจะขาดไปไม่ได้ ถึงขนาดที่วัยเด็กของใครหลายคนก็น่าจะเคยนำกระดาษมาตัดแปะเป็นเข็มขัดเพื่อลองแปลงร่างตามไอ้มดแดงกันเลยทีเดียว
3. ท่าแปลงร่าง
เข็มขัดปรากฏปุ๊บ เราก็แปลงร่างปั๊บ และใช่ครับ ท่าทางและคำพูดตอนแปลงร่างก็เป็นอีกหนึ่งองค์ประกอบที่แฟนๆ ไอ้มดแดงจดจำและชื่นชอบมาจนถึงวันนี้ ส่วนหนึ่งเราก็ต้องยกความดีความชอบให้กับทีมนักพากย์ของไทยที่สามารถสร้างสรรค์ถ้อยคำที่เด็กๆ จำได้ขึ้นใจ อาทิ “บิดๆ เบี้ยวๆ ขอแปลงเป็นมดเขียว V3” ฟังวันนี้อาจจะดูตลกสักเล็กน้อย แต่ย้อนกลับไปตอนนั้น ประโยคนี้มันโคตรจะเท่ หรือจะเป็น “ขอถุงมือให้สว่าง เพื่อแปลงร่างเป็นมดจอมพลัง” ของไอ้มดแดง V7 ก็คงทำให้เด็กๆ หลายคนอยากหาถุงมือมาแปลงร่างตามบ้าง
4. ลูกถีบไรเดอร์คิก
ไรเดอร์คิกเป็นท่าไม้ตายที่ไอ้มดแดงทุกตัวใช้จัดการกับสัตว์ประหลาด และก็คงเป็นท่าไม้ตายที่เด็กไทยในสมัยหนึ่งเคยใช้ฟาดฟันกับหมอนข้างบนเตียงนอน โดยท่าไม้ตายนี้ได้รับความนิยมมาตั้งแต่ในยุคของมาสก์ไรเดอร์ V1 จึงมีการใช้งานอย่างต่อเนื่องจนกลายเป็นหนึ่งในกิมมิคหลักของไอ้มดแดงนั่นเอง
5. มอเตอร์ไซค์
เมื่อมีคำว่า ‘ไรเดอร์’ อยู่ในชื่อแล้ว มอเตอร์ไซค์คู่ชีพจึงเป็นไอเท็มที่ขาดไม่ได้ ย้อนกลับไปช่วงปี 1970 การแข่งขันมอเตอร์ไซค์วิบากกำลังได้รับความนิยมเป็นอย่างสูงในประเทศญี่ปุ่น ทีมผู้สร้างจึงต้องการสอดแทรกกีฬาประเภทนี้ลงในซีรีส์ฮีโร่ด้วย นำมาซึ่งฉากการขี่มอเตอร์ไซค์สุดตราตรึงที่แม้ความคมชัดของภาพจะสู้หนังยุคใหม่ไม่ได้ ทว่าสไตล์และเทคนิคเรียกว่าเข้าขั้นคลาสสิคของจริง
แม้ปัจจุบัน ซีรีส์ประเภทไอ้มดแดงจะได้รับความนิยมน้อยลงตามยุคสมัยที่ความบันเทิงมีรูปแบบหลากหลายและเข้าถึงได้ง่ายขึ้น แต่เราคงไม่อาจปฏิเสธความจริงที่ว่า ไอ้มดแดงคือหนึ่งในซอฟต์พาวเวอร์สำคัญที่ช่วยให้ประเทศญี่ปุ่นเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางไม่ต่างจากอนิเมะ ทั้งยังเป็นความบันเทิงเล็กๆ ที่สร้างรอยยิ้มในวัยเด็กให้กับใครหลายคน
กาลเวลาอาจผันผ่านมาหลายปี ช่วงเวลาดีๆ ของวัยผู้ใหญ่อาจไม่มากมายเท่าวัยเด็ก แต่ทุกครั้งที่ย้อนนึกถึงมาสค์ไรเดอร์ เราคงมีกำลังใจ และบอกกับตัวเองว่าจะสู้ต่อไปเช่นเดียวกับทาเคชิในตอนจบของไอ้มดแดง!
อ้างอิงข้อมูลเพิ่มเติม