แม้ปัจจุบันญี่ปุ่นจะเข้ายุคเรวะแล้ว แต่ช่วงโชวะก็ยังอยู่ในใจของใครหลายคน จนถึงขนาดมีคำเรียกว่า Showa Nostalgia หรือการหวนคิดถึงช่วงเวลายุคโชวะ ว่าแต่ยุคโชวะคืออะไร แล้วทำไมคนญี่ปุ่นถึงยกให้เป็นยุคทองของญี่ปุ่นนะ?
ก่อนอื่นอยากชวนทุกคนเข้าใจการนับช่วงเวลาแบบญี่ปุ่นกันก่อน ซึ่งชื่อยุคต่างๆ จะถูกนับตามการครองราชสมบัติของจักรพรรดิญี่ปุ่น ทำให้ช่วงเวลาและชื่อแต่ละยุคแตกต่างกันไป เช่น ปัจจุบันนับเป็นยุคเรวะ เริ่มขึ้นเมื่อเจ้าชายนารุฮิโตะขึ้นครองราชย์ ปี 2019 ซึ่งก่อนนี้เป็นการปกครองของจักรพรรดิอากิฮิโตะ จึงถูกเรียกว่ายุคเฮเซ และก่อนปี 1989 ช่วงรัชสมัยของจักรพรรดิฮิโรฮิโตะ เรียกว่ายุคโชวะ
อันที่จริงญี่ปุ่นก็มีตั้งหลายยุค แต่ทำไมสมัยโชวะถึงเป็นช่วงที่ใครๆ ก็นึกถึงกันนะ? จุดเด่นอย่างหนึ่งของยุคโชวะคือเป็นยุคที่ยาวนานที่สุดของญี่ปุ่น กินระยะเวลาราว 60 ปี (1926 – 1989) แน่นอนว่าในช่วงเวลายาวนานขนาดนี้ย่อมมีเรื่องเกิดขึ้นมากมาย แถมยังเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านของโลกพอดี เหตุการณ์ใหญ่ๆ คือช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่เปลี่ยนจากญี่ปุ่นดั้งเดิมในช่วงต้น ให้กลายเป็นยุคที่เศรษฐกิจเฟื่องฟูที่สุดของยุคหลังสงคราม ประมาณ 1950-1970 ญี่ปุ่นได้ก้าวเข้าสู่ยุคใหม่ เต็มไปด้วยนวัตกรรมใหม่ๆ วัฒนธรรมป็อปหลายๆ อย่างที่เรารู้จักก็มักเริ่มต้นยุคนี้ ไม่ว่าจะเป็น แฟมิคอม วอล์กแมน กล้องฟิล์ม หรือเพลงซิตี้ป็อป จนถึงมังงะในความทรงจำ อย่างโดราเอมอน หรือจิบิมารุโกะจัง
นอกจากนี้ด้วยความเป็นยุคเปลี่ยนผ่านระหว่างยุคเก่าและยุคใหม่ จึงมีบริบททางสังคมอยู่ในช่วงขัดแย้ง และแตกต่างไปจากปัจจุบันที่น่าพูดถึง ไม่ว่าจะเป็นบทบาทชายผู้เป็นหัวหน้าครอบครัว การเปลี่ยนบทบาทผู้หญิงจากที่เคยเป็นแม่บ้านเต็มตัวก็เริ่มทำงานนอกบ้าน วัฒนธรรมย่อย อย่างแยงกี้ หรือไอดอล ก็เริ่มต้นในยุคนี้ด้วย
เพราะความน่าสนใจของยุคนี้เอง เลยมีซีรีส์หลายเรื่องที่หยิบเอาบริบทของยุคนี้มาเป็นวัตถุดิบในการเล่าเรื่อง นอกจากพาเราย้อนกลับไปนึกถึงความทรงจำเก่าๆ แล้ว บางเรื่องยังหยิบมาตั้งคำถามใหม่อีกครั้งด้วย วันนี้ The MATTER เลยอยากพาไปรู้จักกับซีรีส์ 6 เรื่องที่มีพื้นหลังอยู่ในยุคโชวะ เพื่อให้เราเข้าใจช่วงเวลานี้ให้มากขึ้นกัน
Asura (2025)
Asura ซีรีส์ล่าสุดของผู้กำกับมือรางวัล อย่าง ฮิโรคาซุ โคเรเอดะ (Hirokazu Koreeda) ที่เพิ่งฉายทาง Netflix เมื่อต้นปีที่ผ่านมา โดยหยิบเอาบทประพันธ์เดิมที่เคยตีพิมพ์ฉบับนิยายและซีรีส์ที่เคยฉายทางทีวี เมื่อปี 1979 มาดัดแปลงใหม่ ว่าด้วยเรื่องของพี่น้องหญิงล้วนแห่งบ้านทาเคซาวะ ที่บังเอิญไปรู้ความจริงว่าพ่อวัยเกษียณของตัวเอง แอบไปมีความสัมพันธ์ลับๆ กับผู้หญิงคนหนึ่ง แถมยังมีเด็กชายที่คอยเรียกเขาว่าพ่อติดตามมาด้วย ทำให้พวกเธอ 4 คนต้องมาปรึกษากันว่าจะทำอย่างไรกับเรื่องนี้ ควรบอกแม่วัยชราที่ยังคอยทำหน้าที่ภรรยาอย่างไม่ขาดตกบกพร่อง หรือจะเก็บเงียบไว้ทำเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้นต่อไปดี
หลังจากรู้ความจริงลับๆ ของพ่อตัวเอง แต่ละคนก็มีท่าทีที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งซีรีส์จะค่อยๆ เผยเรื่องราวเบื้องหลังของ 4 พี่น้องในตอนถัดๆ ไป ทุกคนต่างก็มีเรื่องราวที่ไม่น่าพอใจ รวมถึงด้านมืดที่ไม่สามารถบอกใครได้ เหมือนกับ asura เทพของอินเดีย แม้ภายนอกจะดูเคร่งครัดในศีลธรรม แต่ก็มักพูดจาไม่ดีใส่คนอื่นได้เช่นกัน อันที่จริงก็คงไม่ต่างจากมนุษย์ทุกคน ที่ต่างก็ปิดบังเรื่องไม่น่าภูมิใจของตัวเองไว้ในใจ แล้วแสดงด้านดีให้คนอื่นเห็น
นอกจากเรื่องราวอันซับซ้อนของมนุษย์ที่โดดเด่นแล้ว บริบทของเรื่องที่อยู่ในยุคโชวะ ก็ชวนทุกคนมองเห็นความสำคัญของครอบครัวในยุคนั้น ไม่ว่าจะเป็นการแบ่งบทบาทที่ชัดเจน โดยมีสามีเป็นหัวหน้าครอบครัว มีหน้าที่ออกไปทำงานนอกบ้าน ในขณะที่ภรรยาเป็นแม่บ้านเต็มตัว รวมถึงการรักษาครอบครัวให้อยู่ครบโดยสมบูรณ์เป็นหน้าที่อันหนักอึ้งของผู้หญิงในยุคนั้น สะท้อนให้เห็นผ่าน ‘สึนาโกะ’ พี่คนโตที่สามีเสียชีวิตก่อน เธอจึงทนอยู่กับความโดดเดี่ยว ที่บ้านขาดผู้ชายคอยดูแลเหมือนบ้านอื่นๆ ส่วน ‘มาคิโกะ’ พี่คนรอง ต้องทุกข์อยู่กับความหวาดระแวงว่าสามีจะมีเมียน้อย ‘ทาคิโกะ’ น้องสาวคนที่ 3 ที่ถูกกดดันให้แต่งงานเพราะอายุที่เริ่มมากขึ้น หรือ ‘ซาคิโกะ’ น้องคนสุดท้อง ที่แม้จะมีแฟนเป็นตัวเป็นตนก็มักถูกมองด้วยสายตาเป็นห่วงจากพี่ๆ เสมอ เพราะไม่เชื่อว่าผู้ชาย ซึ่งเป็นนักมวยที่ยังไม่ประสบความสำเร็จจะดูแลเธอได้
ปฏิเสธไม่ได้ว่าความกดดันที่ต้องมีครอบครัวที่เพอร์เฟ็กต์ ก็เป็นอีกหนึ่งแรงขับที่ทำให้พวกเธอต้องดิ้นรนและต่อสู้ในแบบของตัวเอง แม้จะต้องมองข้ามความถูกผิดไปก็ตาม
Extremely inappropriate (2024)
Extremely inappropriate ถือเป็นซีรีส์ญี่ปุ่นแนวคอเมดี้ ผสมมิวสิคัล พล็อตหวือหวาพูดถึงความแตกต่างของยุคสมัยได้อย่างสนุกสนาน โดยเล่าถึงคุณพ่อเลี้ยงเดี่ยวจากยุคโชวะ ที่บังเอิญได้ข้ามเวลามาในยุคเรย์วะ หรือญี่ปุ่นในปัจจุบัน จากยุคอนาล็อคสู่ยุคดิจิทัล ความต่างแบบสุดขั้วทำให้เขาต้องรีบปรับตัวแบบสุดขีด
‘อิจิโร โอกาวะ’ คือคุณพ่อเลี้ยงเดี่ยวและครูมัธยมปลายผู้เข้มงวด ผู้ใช้ชีวิตอยู่ในปี 1986 ซึ่งเป็นช่วงเศรษฐกิจเฟื่องฟูของญี่ปุ่น วันหนึ่งเขาบังเอิญได้ขึ้นรถบัสธรรมดา ก่อนจะพบว่ามันเป็น ไทม์แมชชีน ที่พาเขาสู่ปี 2024 ยุคที่ทุกคนใช้สมาร์ตโฟน เข้าถึงอินเทอร์เน็ต หุ่นยนต์เสิร์ฟอาหารอัตโนมัติ ต่างจากยุคเขาที่เต็มไปด้วยหนังสือ เทปคาสเซ็ต วิดีโอ และกล้องฟิล์ม
แต่นอกจากเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไปอย่างเห็นได้ชัดแล้ว อีกอย่างที่ทำให้เขารู้สึกแปลกแยกที่สุดคงเป็นแนวคิดสมัยใหม่ ไม่ว่าจะเป็น การเหยียดเพศ การทำร้ายร่างกาย หรือการล่วงละเมิด ซึ่งเคยเป็นเรื่องปกติในยุคที่เขาเติบโตมา แต่ไม่ใช่สิ่งที่ยอมรับได้ในยุคปัจจุบัน ขณะเดียวกันเขาก็ต้องเผชิญกับปัญหาในยุคใหม่ ไม่ว่าจะเป็นวัฒนธรรมแคนเซิล หรือการใช้โซเชียลมีเดียของคนยุคปัจจุบัน
สิ่งหนึ่งที่ซีรีส์นี้โดดเด่นขึ้นมา คือการพูดถึงยุคโชวะในอีกมุมหนึ่ง ที่ไม่ได้มีเพียงการหวนระลึกถึงความสวยงามในยุคก่อน แต่ยังเสียดสีบริบทสังคมในยุคนั้นด้วย ขณะเดียวกันก็เทียบให้เห็นข้อดีและข้อบกพร่องของแต่ละยุค เพื่อชวนให้แต่ละคนเข้าใจมุมมองของคนแต่ละยุคให้มากขึ้น
Usotoki Rhetoric (2024)
Usotoki Rhetoric สร้างจากมังงะในชื่อเดียวกัน แนวสืบสวนในช่วงต้นยุคโชวะ ที่วัฒนธรรมตะวันตกเริ่มเข้ามาผสมรวมกับวัฒนธรรมดั้งเดิมของญี่ปุ่น สะท้อนความขัดแย้งกันระหว่างโลกเก่าและโลกใหม่ได้อย่างดี
เรื่องราวเกิดขึ้นในปี 1926 เล่าถึงเด็กสาววัยรุ่น ‘คาโนโกะ อุราเบะ’ ในเมืองทสึคุโมยะ เธอถูกขับไล่ออกจากหมู่บ้านเล็กๆ เนื่องจากเพื่อนบ้านหวาดกลัวกับความสามารถของคาโนะโกะที่ล่วงรู้ว่าใครพูดโกหกได้ เธอได้มาเจอกับนักสืบเอกชน อย่าง ‘โซมะ อิวาอิ’ ที่แม้จะมีทักษะที่ดี ช่างสังเกตแต่กลับไม่ค่อยมีลูกค้ามากนัก และเมื่อเขารู้ว่าเธอมีความสามารถพิเศษนี้จึงรับคาโนะโกะเข้ามาเป็นผู้เช่าห้องและผู้ช่วยนักสืบด้วย
แม้เรื่องนี้จะอยู่ในยุคโชวะ แต่อาจเป็นช่วงที่เราไม่ค่อยคุ้นเคยเท่าไหร่ เนื่องจากเป็นช่วงต้นของยุค ที่ยังไม่มีเทคโนโลยีหรือแฟชั่นโดดเด่นอันเป็นภาพจำของยุคโชวะ แต่ช่วงเวลานี้ก็ทำให้เราเห็นภาพสังคมญี่ปุ่นในช่วงที่ยังมีแนวคิดอนุรักษ์นิยมหรือชาตินิยมเข้มข้น จากการแต่งตัวด้วยกิโมโนแบบดั้งเดิม ในขณะที่คนหนุ่มสาวสมัยใหม่เริ่มสวมชุดตะวันตกมากขึ้น เราอาจได้เห็นการปะทะและหลอมรวมกันของโลกสมัยใหม่และสมัยเก่า อย่างโซมะนักสืบเอกชนที่อาจมองว่าเป็นตัวแทนของโลกสมัยใหม่ ที่มักสวมสูทผูกไทด์ พร้อมการสังเกตและวิเคราะห์หลักฐาน ในขณะที่คาโนโกะอาจเป็นตัวแทนจากโลกยุคเก่า ที่ยังคงสวมกิโมโน และใช้ความรู้สึกของตัวเอง อย่างไรก็ตามแม้จะดูแตกต่างกันสุดขั้ว แต่ท้ายที่สุดแล้วคงไม่สามารถขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่งไปได้ หากต้องการให้โลกดำเนินต่อไปได้อย่างสมดุล
Kyou kara Ore wa (2018)
หนึ่งในซับคัลเจอร์ที่โดดเด่นที่สุดในช่วงปลายยุคโชวะ คงเป็นวัฒนธรรมแยงกี้ หรือนักเรียนเกเร แต่งตัวผิดระเบียบ ที่มีเรื่องชกต่อยเป็นประจำ
Kyou kara Ore wa!! เป็นมังงะขายดี ราวปี 1988-1990 ก่อนนำมาสร้างเป็น Live-action ในปี 2018 เล่าเรื่องราวเด็กธรรมดาสองคน ‘ทาคาชิ มิซึฮาชิ’ และ ‘ชินจิ อิโตะ’ พบกันที่ร้านทำผม แต่ทั้งคู่รู้ทีหลังว่าพวกเขาคือเด็กใหม่ที่กำลังจะย้ายไปโรงเรียนเดียวกัน จึงตัดสินใจใช้โอกาสนี้ในการเปลี่ยนแปลงตัวเอง ไม่ใช่เด็กนักเรียนมัธยมปลายธรรมดาอีกต่อไป แต่กลายเป็นเด็กเกเรที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่น ตามมาด้วยเรื่องราวสุดวายป่วง ทั้งการต่อสู้ มิตรภาพลูกผู้ชาย และความรักในวัยเรียน
ในช่วง 1980s วัฒนธรรมแยงกี้ได้รับความนิยมในหมู่วัยรุ่น เพราะแม้จะเป็นยุคที่เศรษฐกิจเฟื่องฟูหลังสงคราม แต่อีกด้านหนึ่งก็ทำให้เกิดค่านิยมการทำงานหนัก คุณครูเข้มงวด กวดขันให้นักเรียนตั้งใจเรียนและอยู่ในกฎระเบียบ ภายใต้ความกดดันจึงทำให้มีเด็กอีกจำนวนไม่น้อยเลือกเส้นทางที่แตกต่างออกไป เพื่อหลีกหนีจากสิ่งที่คนส่วนใหญ่ในสังคมกำหนด แม้ว่าเส้นทางนี้จะเต็มไปด้วยความรุนแรง และการใช้กำลังแก้ปัญหาของวัยรุ่นยุคนั้นก็ตาม
Amachan (2013)
อีกหนึ่งจุดเด่นของยุคโชวะ คือจุดเริ่มต้นของกลุ่มไอดอล ซึ่งเป็นกลุ่มศิลปินที่มีเพลงและท่าเต้นประกอบ ทำให้ผู้ชมชื่นชอบ และเกิดเป็นกลุ่มแฟนคลับที่สนับสนุนพวกเขา แถมวัฒนธรรมแฟนคลับยังกลายเป็นรากฐานให้กลุ่มไอดอลสมัยใหม่ในญี่ปุ่น
ในเรื่อง AmaChan ละครที่ฉายช่วงเช้าของญี่ปุ่น แนวดราม่าคอมเมดี้และ coming of age เล่าเรื่องราวของเด็กสาวที่กำลังค้นหาตัวตน ผ่านชีวิตในชนบทและอุตสาหกรรมบันเทิงของญี่ปุ่นช่วงปลายโชวะ และช่วงต้นเฮเซ พร้อมความผูกพันของผู้หญิงในครอบครัวทั้งสามรุ่น โดยแบ่งออกเป็น 2 ช่วง ช่วงแรกเริ่มต้นที่จังหวัดอิวาเตะ ‘อามาโนะ อากิ’ เด็กสาวประทับใจในวิถี ชีวิตของ “อามะ” (海女) หรือกลุ่มนักดำน้ำหญิงที่ดำน้ำเก็บหอยเม่น และใฝ่ฝันอยากเป็นอามะแบบคุณยาย แม้ว่าแม่เธอจะคัดค้านก็ตาม
ช่วงที่ 2 เริ่มต้นหลังจากที่เธอได้ไปโตเกียว หลังจากที่อากิพบว่าแม่ของเธอเคยอยากเป็นไอดอลในโตเกียว แต่ล้มเลิกไป อากิเริ่มสนใจการร้องเพลงมากขึ้น และได้รับโอกาสจากแมวมองให้ไปเป็นไอดอลในโตเกียว จากเด็กสาวที่อยากเป็นอามะต่างจังหวัด ต้องมาต่อสู้ในวงการไอดอลที่เต็มไปด้วยการแข่งขัน กลายเป็นเรื่องราวให้เราคอยเอาใจช่วยที่เต็มไปด้วยเสียงหัวเราะและคราบน้ำตา
แม้เรื่องราวส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นในยุคไม่ไกลจากปัจจุบัน แต่ในพาร์ทของคุณแม่ที่พยายามเป็นไอดอลในอดีต เราจะได้เห็นยุคทองของไอดอลแบบญี่ปุ่นช่วงยุค 80s ซึ่งเต็มไปด้วยกลุ่มไอดอลชื่อดัง แฟชั่น และบทเพลง รวมถึงความกดดันของการเป็นไอดอลที่ต้องรักษาภาพลักษณ์ที่ใสซื่อบริสุทธิ์ไว้ จนถึงไอดอลยุคปัจจุบันก็ยังต้องคอยแบกรับความคาดหวังของผู้ชมไว้ให้ได้เช่นกัน
Carnation (2011)
Carnation เป็นละครเช้าอีกเรื่องหนึ่งที่ได้รับความนิยม บอกเล่าช่วงเวลาสำคัญทางประวัติศาสตร์ของญี่ปุ่น นับตั้งแต่ยุคไทโช (1912-1926) จนถึงเฮเซ (1989-2019) ทำให้เราค่อยๆ เห็นความเปลี่ยนแปลงที่ผ่านไปแต่ละยุคผ่านเรื่องราวของผู้หญิงที่สร้างแบรนด์เสื้อผ้าของตัวเอง มากกว่าการสืบทอดกิจการครอบครัว
เรื่องนี้สร้างจากเรื่องจริงของ ‘โคชิโนะ อายาโกะ’ นักออกแบบแฟชั่นชื่อดังผู้ล่วงลับ ซึ่งในเรื่องใช้ชื่อว่า ‘โอฮาระ อิโตโกะ’ เธอลูกสาวร้านขายผ้าที่มีความตั้งใจเปิดร้านเสื้อผ้าฝรั่ง ท่ามกลางยุคสมัยที่ชุดกิมิโนกำลังเป็นที่นิยมในสังคม อิโตโกะจึงเป็นเหมือนตัวแทนของผู้หญิงที่กล้าฝันและต้องต่อสู้ในสังคมที่ผู้ชายมีบทบาทมากที่สุด
ช่วงยุคโชวะเป็นหนึ่งช่วงเวลาสำคัญ เพราะกินเวลาตั้งแต่ช่วงยากลำบากของสงครามจนถึงช่วงฟื้นตัว ในยุคเปลี่ยนผ่านแฟชั่นตะวันตกเริ่มเข้ามาที่ญี่ปุ่นมากขึ้น อิโตโกะหลงใหลในแฟชั่นเหล่านั้น และอยากมีแบรนด์เสื้อผ้าของตัวเอง แต่ก็ยังต้องเจอกับข้อจำกัดมากมาย เพราะยุคนั้นผู้หญิงถูกคาดหวังให้เป็นแม่บ้าน สนับสนุนสามีมากกว่าทำอาชีพของตัวเอง แต่เธอก็เลือกที่จะทำตามความฝัน แม้ที่บ้านจะคัดค้าน เนื่องจากสมัยนั้นนักออกแบบเสื้อผ้าส่วนใหญ่ยังคงเป็นของผู้ชายอยู่ ช่วงสงครามทำให้ร้านขาดแคลนวัตถุดิบ ผ้ากลายเป็นของหายาก เธอจึงต้องดิ้นรนให้ร้านอยู่รอดให้ได้ เมื่อเข้าสู่ช่วงฟื้นฟูทางเศรษฐกิจ หลังจากความเสียหายช่วงสงคราม ทำให้เธอลุกขึ้นมาปรับตัวใหม่ โดยออกแบบให้เสื้อผ้าเข้ากับความต้องการของผู้หญิงยุคใหม่ ที่มีบทบาทในสังคมมากขึ้น จนในที่สุดร้านของเธอก็เติบโตจนสร้างแบรนด์ระดับประเทศได้
นอกจากจะได้เห็นสังคมที่ค่อยๆ เปลี่ยนไปแล้ว เรายังเห็นบทบาทของอิโตโกะที่เปลี่ยนไปด้วย จากเดิมที่เธอคาดหวังให้เป็นเพียงแม่บ้านที่สนับสนุนสามีอยู่ข้างหลัง จนเวลาผ่านไปในยุคโชวะ ผู้หญิงเริ่มมีบทบาทมากขึ้น อิโตโกะต้องปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัย ด้วยการรับบทบาททั้งการเป็นแม่และเจ้าของธุรกิจ และเรียนรู้ที่จะเข้าใจคนรุ่นใหม่ไปพร้อมๆ กัน
อ้างอิงจาก