ในบรรดาผลงานออริจินัลของ Apple TV+ ซีรีส์เรื่อง ‘Severance (2022)’ คือหนึ่งในผลงานไม่กี่เรื่องที่ Apple สามารถเอามาเชิดหน้าชูตา ยืดอกสู้กับสตรีมมิงแพลตฟอร์มอื่นๆ ได้ ถึงแม้บริษัทจะยังขาดทุน 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปีก็ตาม ซีรีส์ได้รับคำชื่นชมท่วมท้นตั้งแต่ซีซั่นแรก เข้าชิงรางวัล Emmy มากถึง 14 สาขา คว้ากลับบ้านมาสองรางวัล (ฉากเปิดเรื่องยอดเยี่ยม และบทประพันธ์ดนตรีประกอบซีรีส์ยอดเยี่ยม) สร้างแรงกดดันมหาศาลให้กับซีซั่นถัดไป
ถึงอย่างนั้น ความกดดันที่ว่าดูจะไม่ส่งผลใดๆ Severance ซีซั่นใหม่กลับมาด้วยฟอร์มที่ยังแรงดีไม่มีตก คล้ายกับว่าเวลาที่ทิ้งห่างไปเกือบสองปีจากซีซั่นแรกคือช่วงสะสมกำลังและขัดเกลาให้ทุกอย่างออกมาพร้อมที่สุด เพื่อจะผลักคนดูกลับสู่สำนักงานลูมอนด้วยลิฟต์ตัวเดิม ไปพบเจอกับปมปริศนาที่ชวนสับสนขึ้น กระตุ้นทั้งความกระหายอยากได้คำตอบ และการอยากหาทางออกไปจากออฟฟิศแห่งนั้น
เล่าอย่างรวบรัด Severance มีตัวเอกของเรื่องชื่อ ‘มาร์ค สเกาต์’ รับบทโดย อดัม สก็อตต์ (Adam Scott) ชายผู้สูญเสียภรรยาและเป็นพนักงานของ Lumon Industries บริษัทยักษ์ใหญ่ที่กินขอบเขตกิจการหลายแขนง มาร์คไม่ใช่พนักงานธรรมดา เขาคือผู้เข้าร่วมโครงการแยกโลก ในแต่ละวันระหว่างที่มาร์คลงลิฟต์ตึกลูมอนไปยังออฟฟิศ ชิฟในสมองจะแบ่งตัวตนของเขาออกเป็นอีกคนหนึ่งในชื่อ มาร์ค เอส. พนักงานประจำแผนกคัดกรองข้อมูลมหาภาค
ทั้งสองตัวตนใช้ร่างกายเดียวกัน แต่มีความทรงจำแยกขาดกันโดยสิ้นเชิง มาร์ค เอส. คือคนใน(ออฟฟิศ) หรือ innie ที่ทั้งชีวิตมีแค่การวนลูปทำงาน ส่วน มาร์ค สเกาต์ คือคนนอก(ออฟฟิศ) หรือ outie ที่ได้รับเงินจากการทำงานของคนใน—ก็ตัวเขาเองนั่นแหละ—และเป็นคนที่มีสิทธิ์ไปใช้เวลาส่วนตัวที่เหลือนอกเวลางาน
โชคดีที่ มาร์ค เอส. ไม่ได้ทำงานคนเดียว เขามีเพื่อนร่วมงานอยู่บ้าง ถึงจะมีอยู่อย่างจำกัดจำเขี่ย เพื่อนร่วมแผนกของประกอบไปด้วย ‘เออร์วิง บี.’ ที่รับบทโดย จอห์น เทอร์ทูร์โร (John Turturro) คนที่อาวุโสที่สุดในทีม, ‘ดีแลน จี.’ รับบทโดย แซ็ค เชอร์รี (Zach Cherry) นักคัดกรองมือฉกาจ, และ ‘เฮลลี อาร์.’ รับบทโดย บริตต์ โลเวอร์ (Britt Lower) พนักงานน้องใหม่ แต่ก็มาซ้ำร้ายตรงที่พวกเขาต้องทำงานภายใต้การดูแลแสนเข้มงวดของ ‘ฮาร์โมนี โคเบล’ ที่รับบทโดย แพทริเซีย อาร์เค็ตต์ (Patricia Arquette) และ ‘มิลชิค’ รับบทโดย ทราเมลล์ ทิลแมน (Tramell Tillman)
แกนหลักของซีรีส์จึงตรงไปตรงไปกับการพูดถึงวิถีการทำงานในโลกสมัยใหม่ โลกที่เทคโนโลยีเอื้อให้ผู้คนติดต่อถึงกันได้ไม่ว่าจะที่ไหนหรือเมื่อไหร่ และเมื่อเป็นแบบนั้น การทำงานก็มีสิทธิรุกล้ำมายังพื้นที่ส่วนตัว ทั้งจากกรณีที่เจ้านายหรือเพื่อนร่วมงานส่งไลน์ทักมาขอแก้งานนอกเวลา อีเมลส่งมาวันหยุดสุดสัปดาห์ หรือแม้แต่การทำงานลักษณะ hybrid และทำจากที่บ้าน (work from home) เอง ก็มีส่วนให้เส้นแบ่งระหว่างเวลาทำงานกับเวลาส่วนตัวพร่าเลือน
แม้แต่ละคนจะมีเหตุผลส่วนตัว การตัดสินใจแยกโลกของ มาร์ค สเกาต์ รวมถึงพนักงานคนอื่นใน Severance ก็อาจมีจุดร่วมในฐานะตัวแทนของความกังวลจากการทำงานในยุคที่การสื่อสารไม่มีอุปสรรค และความสับสนต่อรูปแบบการทำงานในยุคหลังการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 การแยกโลกคือความต้องการที่จะแยกการทำงานออกจากชีวิตส่วนอื่น พยายามขีดเส้นแบ่งนั้นให้ชัดเจน
เมื่อจับแยกสำเร็จ ตัวเรื่องก็มองการทำงานเป็นกิจกรรมที่ไม่น่าพิสมัยสักเท่าไหร่ มาร์ค สเกาต์ อยากเอาเวลาชีวิตส่วนหนึ่งไปทิ้งให้กับงานเพื่อปลดเปลื้องความเศร้าที่ต้องเสียภรรยา หรือเพื่อนร่วมงานของ มาร์ค เอส. เช่น ดีแลน จี. หรือ ‘ดีแลน จอร์จ’ ที่รับงานนี้เพราะก่อนหน้านี้ชีวิตดูจะโหลยโท่ยอยู่กับงานไหนได้ไม่นานเลยสักครั้ง ซึ่ง outie ทุกคนก็แทบจะไม่ใส่ใจใยดี innie หรืออีกตัวตนเลยแม้แต่น้อย จนกระทั่ง innie ของแผนกคัดกรองข้อมูลมหาภาคหาทางสลับตัวตนระหว่าง outie กับ innie ในช่วงนอกเวลางานได้ในตอนท้ายของซีซั่นแรก
ในซีซั่นสอง การมามีปากมีเสียงในโลกอีกฟากของ innie ส่งผลรุนแรงต่อตัวตนทั้งสองฟาก outie เริ่มรับรู้ถึงการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมต่อพนักงานของบริษัทลูมอน และเห็นความเชื่อมโยงไปจนถึงความขัดแย้งระหว่างตัวตนในสองฟากฝั่ง มาร์ค สเกาต์ รู้ว่าภรรยาของเขายังมีชีวิตอยู่ และมีแค่ มาร์ค เอส. ที่สามารถช่วยเขาตามหาภรรยาได้ ด้าน เฮลลี อาร์. เองก็ต้องตกตะลึงเมื่อรู้ว่าเธอคือคนสำคัญของครอบครับอีแกนผู้ก่อตั้งบริษัทลูมอน
ด้านบริษัทลูมอนก็ได้รับผลสะเทือนอย่างหนักจากเหตุการณ์สลับตัว จนต้องรีบแต่งตั้งมิลชิคขึ้นมาเป็นผู้จัดการชั้นแยกโลกแทน ฮาร์โมนี โคเบล เพื่อแก้สถานการณ์ แสร้งทำเป็นว่าบริษัทเรียนรู้และพร้อมจะรับฟังความเห็นของพนักงานในชั้นแยกโลก มีการเปลี่ยนห้องปรับทัศนคติเป็นพื้นที่ปลอดภัย ติดตั้งตู้ขนมใหม่ให้เป็นสวัสดิการ พร้อมเชิดชูเหตุการณ์สลับตัวว่าคือการลุกฮือของพนักงานที่เป็นหมุดหมายสำคัญในประวัติศาสตร์ของบริษัท ทว่าทั้งหมดก็ทำไปเพื่อผลิตผลของบริษัท
จะว่าไปแล้วบริษัทลูมอนก็น่าสนใจในตัวมันเอง หลายคนน่าจะคิดตรงกันว่าบริษัทลูมอนช่างคล้ายกับบริษัท Apple เจ้าของทุนผลิตซีรีส์ Severance เสียเหลือเกิน ทั้งในแง่งานดีไซน์ เช่น ออฟฟิศขาวโพลน อุปกรณ์เครื่องใช้สุดมินิมัล และภาพลักษณ์ ซีรีส์ล้อความเป็น Apple ได้อย่างเจ็บแสบ (บนแพลตฟอร์ม Apple TV+ เอง) ทั้งการหลอมรวมกฎของบริษัทและกิจกรรมต่างๆ เข้ากับความเป็นศาสนาจนสร้างคัมภีร์การทำงานออกมาได้เป็นเล่มๆ การที่ใส่ใจกับรายละเอียดทุกกระเบียดนิ้ว แม้กระทั่งการเสียบคลิปบนมุมกระดาษ หรือการที่ผู้นำของบริษัทถูกยกให้เป็นเหมือนพระเจ้า
สุดท้ายวกกลับมาที่ประเด็นการแยกขาดงานออกจากตัวเรา ซีรีส์ Severance กำลังให้คำตอบกับคำถามที่ว่า เป็นไปได้จริงไหมที่ตัวตนของเราจะตัดขาดจากงานโดยสิ้นเชิง? ซึ่งซีรีส์ดูจะให้คำตอบว่า ‘มันเป็นไม่ได้’ สิ่งที่คนดูได้เห็นคือการต้องพึ่งพากันระหว่าง มาร์ค สเกาต์ และ มาร์ค เอส., การที่ ดีแลน จอร์จ มองเห็นบุคลิกอันอ่อนโยนของตัวเองที่เคยมีแต่ทำหล่นหาย ผ่าน innie ดีแลน จี., การพยายามปฏิเสธและต่อรองกับอีกตัวตนหนึ่งของ เฮลลี อาร์.
ในแง่นี้ตัวตนในที่ทำงานจึงเป็นส่วนสำคัญที่หล่อหลอมความเป็นตัวเรา และเชื่อมโยงกับสิทธิของเรา เพราะการไม่สนใจใยดีอาจหมายถึงการละทิ้งความเป็นมนุษย์ คือการไม่แยแสต่อการกดขี่และเอารัดเอาเปรียบ ฝั่ง outie จะไม่มีทางรู้เลยว่าพวกเขาได้รับการปฏิบัติอย่างไรเมื่ออยู่ในออฟฟิศ หาก innie ไม่ออกมาส่งเสียง บริษัทจะไม่มีทางปรับเปลี่ยนการดำเนินการเพื่อให้พนักงานได้รับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น คำว่า work-life balance ก็คงเป็นได้เพียงแค่ work ไร้ balance
หากในโลกทุนนิยมแห่งนี้ การทำงานคือการเอาเวลาชีวิตส่วนหนึ่งไปแลกเป็นเงิน การต่อรองระหว่าง innie และ outie ใน Severance ฉายให้เห็นความต้องการหาจุดสมดุลในโลกการทำงานสมัยใหม่ ที่เทคโนโลยีและวัฒนธรรมการทำงานกำลังอำพรางการเอารัดเอาเปรียบจากนายจ้างได้แนบเนียนขึ้น โดยที่คนทำงานหรือมนุษย์ออฟฟิศแทบไม่รู้สึกตัวเลย