ตอนมีมาตรการป้องกันโรคระบาด COVID-19 โดยให้ work from home แรกๆ เราก็รู้สึกตื่นเต้นดีนะ ได้ลองเปลี่ยนบรรยากาศการทำงานแบบใหม่ ไม่ต้องใช้เวลาเดินทางนานๆ ได้อยู่บ้านใช้เวลาอยู่กับครอบครัวมากขึ้น แถมจะทำงานกี่โมงก็ได้ นั่งทำตรงไหนก็ได้ จะนอนทำบนเตียงก็ยังได้เลย ชิลกว่านี้ไม่มีอีกแล้ว
แต่พอเวลาผ่านไปสักพัก ความชิลทั้งหมดนี้ก็ได้กลายเป็นที่มาของความไม่เป็นระบบระเบียบ จนชีวิตไม่สามารถควบคุมอะไรได้ เช่น เวลา ภาระงาน หรือเส้นแบ่งบางอย่าง ที่ขณะนี้ค่อยๆ จางหายไปแบบไม่รู้ตัว เกิดเป็นความรู้สึกเหมือนตัวเองกำลังถูกทดสอบความอดทนอะไรบางอย่าง จนเริ่มไม่แน่ใจแล้วว่า wfh นี่ย่อมาจาก work from home หรือ work from hell กันแน่นะเนี่ย
24/7 online ถูกคาดหวังให้สแตนด์บายตลอดเวลา
แปดโมงเช้าตื่นมาเข้าอีเมล บ่ายสองโมงโดนเรียกประชุมผ่าน zoom สี่ทุ่มมีงานเร่งเข้ามาให้ทำด่วนๆ ทำเดี๋ยวนี้เลยนะเอ๋! โถ่ อยู่บ้านตลอดเวลาไม่ได้แปลว่าจะพร้อมทำงานทุกวินาทีนะ แต่ช่วยไม่ได้ ใครๆ ก็มองว่าการอยู่บ้าน หรือการไม่ได้เดินทางออกไปไหน เท่ากับว่าเราน่าจะมีเวลาว่างทำงานมากขึ้น
ถึงจะถูกที่เรามีเวลามากขึ้นจริง แต่ความคาดหวังประเภทนี้จะทำให้เวลาการทำงานเริ่มไม่เป็นระบบระเบียบ อาจจะด้วยความที่ work from home ทำให้องค์ประกอบหนึ่งที่เคยมีขาดหายไป นั่นก็คือ ‘เวลาเข้าออกงาน’ เดิมเราเคยนั่งรถไปออฟฟิศตอนเช้า สแกนนิ้วเข้างาน พอตกเย็นก็สแกนนิ้วออก ทำให้เรารู้ว่าเวลาไหนคือเวลาที่ควรทำงานหรือเลิกงาน แต่พอดันเป็นที่บ้าน เราไม่มีการเดินทางหรือการสแกนนิ้วเป็นตัวกำหนด ทำให้แต่ละคนไหลไปเรื่อยๆ จนลืมดูเวลา และรู้ตัวอีกทีก็ทำงานล่วงไปถึงดึกถึงค่ำกันแล้ว
Weekend = Weekday วันหยุดคือวันไหน จำไม่ได้แล้ว
เงยหน้าขึ้นมาอีกที อ้าว วันนี้วันอาทิตย์แล้วหรอ พอไม่ได้นั่งแช่อยู่บนรถที่ติดกันเป็นเบื่อ หรือยื่นต่อคิวยาวเหยียดที่รถไฟใต้ดิน ก็ลืมไปเลยว่าวันจันทร์ อังคาร หรือศุกร์หน้าตาเป็นยังไง เพราะทุกๆ วันคือวันที่ต้องลุกมาอาบน้ำ ทำงานหน้าคอม แล้วก็เข้านอนเหมือนๆ กันหมด
การ work from home ทำให้วันทั่วไปและวันหยุดหลอมลวมเป็นวันเดียวกัน เพราะชีวิตประจำวันเดิมๆ ทำให้รู้สึกว่าแม้จะเป็นวันเสาร์ก็ไม่ต่างไปจากวันจันทร์สักเท่าไหร่ แต่การไม่รับรู้ถึงวันเวลา ก็อาจทำให้เราลืมที่จะพักผ่อนไปด้วย จากเดิมที่วันเสาร์อาทิตย์ก็จะต้องมานั่งดูซีรีส์เรื่องโปรด หรือชวนคนในบ้านทำอาหาร ตอนนี้ก็กลายเป็นนั่งพิมพ์งานแกร่กๆ แบบไม่มีชีวิตชีวา เพราะลืมไปว่าเป็นวันอะไร
Blurred Line เส้นแบ่งสมดุลชีวิตค่อยๆ หายไป
เมื่อวันเวลาสะเปะสะปะไปหมด work-life balance ที่เคยมีก็พลอยหายไปด้วย จากที่เคยกำหนดไว้ว่า 6 โมงเย็น หลังจากเดินทางกลับบ้าน หรือวันหยุดเสาร์อาทิตย์จะเป็นเวลาพักผ่อน ได้นอนดูหนังพร้อมหน้าพร้อมตากับครอบครัว อ่านหนังสือ เล่นกับหมาแมว ตอนนี้กลายเป็นว่าการพักผ่อนนั้นไม่สามารถทำได้อย่างเต็มที่ เพราะหันไปนิดเดียวก็เจอหน้าจอแล็ปท็อปเปิดทิ้งไว้ กับไลน์เจ้านายที่เด้งขึ้นมากระทันหัน ทำให้ในส่วนของ home life ถูก work life กลืนกินไปแบบเนียนๆ
Work VS Housework งานบ้าน งานเอกสาร ทำงานไหนก่อนดี
บางครั้งสถานที่ก็เป็นตัวกำหนดบทบาทว่าเราจะต้องทำอะไร เวลาอยู่บ้าน เรามีหน้าที่กวาดบ้าน ล้างจาน ซักผ้า รดน้ำต้นไม้ แต่พออยู่ออฟฟิศ เรามีหน้าที่ดีลกับลูกค้า ส่งเอกสารให้หัวหน้า เคลียร์บัญชีรายรับรายจ่ายของบริษัท
แต่ตอนนี้สถานที่เดียวที่เราสามารถอยู่ได้นั่นก็บ้าน ซึ่งเราไม่สามารถเลือกทำบทบาทใดบทบาทหนึ่งได้อีกต่อไปแล้ว เราจำเป็นจะต้องเป็นทั้งสองบทบาทในเวลาและสถานที่เดียวกัน และความเหนื่อยก็เพิ่มเป็นสองเท่า จากการที่เราวางแผนไม่ได้ว่าอะไรควรทำก่อนหลัง งานก็ต้องทำ แต่ผ้าก็ต้องเอาไปตาก ไหนจะปัจจัยภายนอกที่ไม่สามารถควบคุมได้อย่างสมาชิกในครอบครัว เช่น ถ้าคุณเป็น ‘แม่คน’ ในขณะที่กำลังอ่านบรีฟงานจากลูกค้าอยู่ ลูกก็อาจจะเดินมาขอให้ช่วยหาของที่เขาจำไม่ได้ว่าเอาไปวางไว้ตรงไหน
FOMO ละจากหน้าจอไม่ได้ เดี๋ยวพลาดการคุยงานในไลน์และอีเมล
เดิมทีหลายๆ คนอาจจะเป็น FOMO หรือ Fear Of Missing Out กันอยู่แล้ว โดยจะคอยเช็คมือถือตลอดเวลาว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง เพื่อไม่ให้พลาดข่าวสารที่มีการอัพเดตอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นประเด็นในโซเชียลมีเดีย หรือการติดต่องานผ่านไลน์หรืออีเมล
แต่การ work from home ทำให้คนเราเป็น FOMO กันมากขึ้น เพราะตอนนี้ทุกอย่างเข้ามาอยู่ในหน้าจอมือถือหมด โดยเฉพาะการคุยงานหรือติดต่อลูกค้า ทำให้การแยกตัวออกจากมือถือเป็นเรื่องที่ยากขึ้นกว่าเดิมอีกเท่าตัว และการต้องคอยตามสิ่งที่เกิดขึ้นบนโซเชียลมีเดียหรือกล่องอีเมลตลอดเวลานี้ ก็ส่งผลกระทบไปถึงสภาพจิตใจที่อาจเกิดโรควิตกกังวลตามมาได้
Zoom Fatigue ความเหนื่อยล้าจากการประชุมผ่านวิดีโอคอล
แม้จะทำงานที่บ้าน แต่การสื่อสารก็ยังคงเป็นสิ่งสำคัญ หลายบริษัทจึงขอความร่วมมือให้พนักงานดาวน์โหลดโปรแกรม video call หรือ audio call ไว้สำหรับประชุมทางไกล เช่น Zoom Skype Line หรือ Discord
ถึงโปรแกรมเหล่านี้จะเปิดโอกาสให้พนักงานในบริษัทได้กลับมาประชุมกันเหมือนอย่างปกติ แต่ทำไมบางคนเกิดความรู้สึกเหนื่อยล้าแบบไม่มีที่มาที่ไป นั่นอาจจะเป็นเพราะความจริงแล้ว การประชุมออนไลน์ไม่สามารถทดแทนการประชุมแบบ face-to-face ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ เป็นเพียงแค่การประชุมแบบเห็นหน้าและได้ยินเสียงเท่านั้น แต่ไม่ได้นั่งอยู่ข้างๆ หรือพบกันตัวต่อตัว ซึ่งบรรยากาศแบบนั้น อาจดูไม่ผ่อนคลายเท่ากับการนั่งประชุมด้วยกันแบบจริงๆ
รวมไปถึง การเหนื่อยล้าที่เกิดจากการใช้พลังงานที่มากกว่าปกติ เนื่องจากการประชุมผ่านกล้องในแล็ปท็อปหรือมือถือ ทำให้เราต้องจดจ่อและเพ่งสมาธิไปที่ตัวบุคคลในหน้าจอเล็กๆ มากขึ้น เพื่อดูการสื่อสารของคนอื่นๆ เทียบกับการประชุมที่บริษัท เราเพียงแค่กวาดสายตาเพียงนิดเดียวเท่านั้นก็เห็นบรรยากาศและองค์ประกอบทั้งหมด อีกทั้งการจะอธิบายอะไรบางอย่าง ในการประชุมออนไลน์ เราจะต้องใช้ร่างกายในการสื่อสารเพิ่มมากขึ้น เช่น ยกไม้ยกมือเพื่อทำให้เห็นภาพ หรือแสดงสีหน้าท่าทางให้ชัดขึ้น และนี่ก็คือพลังงานที่ต้องใช้เพิ่มขึ้นในการประชุมออนไลน์
หรือสำหรับใครที่บ้านอินเทอร์เน็ตไม่แรงพอ ก็อาจเหนื่อยล้าจากการฟังประชุมที่ติดๆ ขัดๆ เช่นกัน อย่างประชุมไป 1 ชั่วโมง โดยที่ 30 นาทีแรกมีแต่คอยถามกันว่า “ฮัลโหลๆ ได้ยินเสียงผมหรือเปล่า?”
ดังนั้น ไม่ใช่ทุกคนหรอกที่จะปรับตัวกับการทำงานแบบ work from home ได้ ก็ได้แต่หวังว่าสถานการณ์จะจบลงไวๆ เพราะอยากกลับไปทำงานที่ออฟฟิศใจจะขาดแล้วววววว!