ลาตามนโยบายวันหยุด แต่ได้หยุดตามนโยบายจริงๆ หรือเปล่า?
การตามงานวันลา การต้องลุกจากเตียงด้วยร่างกายอุณหภูมิ 38 องศามารับโทรศัพท์ การหยุดคิดถึงงานไม่ได้แม้ตัวเองจะอยู่ริมทะเลห่างไกลออฟฟิศ หรือแม้แต่การเลือกไม่ใช้วันลาไปเลยแต่แรก
ทำไมเราถึงไม่อยากเอามือออกจากงานของเราขนาดนั้น? และทำไมหลายๆ ครั้งเมื่อเราหยุดได้ งานมันไม่หยุดตาม?
น้องซออู้, 25 ปี, Social Data Analyst
“ได้ใช้วันลาอยู่บ้าง แต่ก็ไม่เคยเต็มโควตาที่บริษัทให้ เราลาวันที่อยากพักจริงๆ แบบช่วงที่ผ่านมาปั่นงานยันดึกทุกวัน นอนไม่พอมาหลายวันละ วันนี้ส่งงานเสร็จ ขอลาไปพักสักวันละกัน ไม่ก็ลาสักสัปดาห์หนึ่งไปเที่ยวต่างประเทศ ประมาณนั้น” ซออู้พูด นโยบายจำนวนวันลาต่อปีของที่ทำงานเธอประกอบด้วยลาป่วย 30 วัน พักร้อน 12 วัน ลากิจ 3 วัน วันเกิด 1 วัน ลาคลอดแบบได้รับค่าจ้าง 98 วัน ไม่ได้ค่าจ้าง 45 วัน ลาบวชได้ค่าจ้าง 15 วัน และแบบไม่ได้ 15 วัน
แต่ในฐานะคนทำงาน Social Data Analyst งานของเธอก็มีมากเหมือนกัน บ่อยครั้งการทำงานกับเดดไลน์กระชั้นชิดก็ทำให้การหยุดงานไปเลยยากขึ้น “เราเหมือนจะติดนิสัย ถ้างานไม่เสร็จจริง ก็อดนึกถึงงานไม่ได้ ขึ้นอยู่กับว่าวันนั้นมันใกล้เดดไลน์ขนาดไหน มีงานอะไรค้างอยู่มั้ย ถ้ามันใกล้มากจริงๆ วันหยุดเราก็ทำงาน” และเธออธิบายต่อว่าบางครั้งไอเดียงานมันก็ออกมาเวลาที่ไม่ได้ตั้งใจไว้จริงๆ ต้องรีบทำก่อนจะลืม และจริงๆ แล้วหลายๆ ครั้งก็ขึ้นอยู่กับว่ามีพลังงานมากขนาดไหน และเดดไลน์ใกล้ขนาดไหนด้วย
พีช, 26 ปี, Sales Manager
พีชเชื่อว่าวันหยุดเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ประสิทธิภาพและกำลังใจในการทำงานเพิ่มขึ้น “เราเชื่อว่าทุกคนก็ไม่อยากเอาชีวิตไปอยู่กับงาน 100% ขนาดนั้น อยากจะบอกหลายๆ บริษัทว่าถ้าพนักงานต้องการใช้วันลาก็ให้เค้าลาแบบเทไปเลยก็จะดีกว่า แบบนั้นจะทำให้เมื่อถึงวันที่ต้องกลับมาทำงานจริงๆ แล้วจะมีใจทำงานมากกว่าเดิมเป็นล้านเท่าเลย”
แต่ถึงอย่างนั้น การเป็น Sales Manager แม้จะเป็นงานที่ไม่ต้องทำในออฟฟิศตลอดเวลาก็ได้ ก็ยังเป็นหน้าที่ที่ต้องหยิบถืองานหลากหลายเอาไว้ วันหยุดของพีชเลยอาจไม่ใช่แค่การปล่อยตัวปล่อยใจได้ทั้งหมด แต่ต้องพกอุปกรณ์การทำงานไปด้วยบางครั้งเผื่อกรณีฉุกเฉิน
และในขณะที่บริษัทมีการทักถามถึงงานเล็กน้อยบางครั้งในวันหยุด พีชบอกว่าการไม่ตอบคำถามเหล่านั้นทันทีก็ไม่ได้เป็นเรื่องที่จะนำไปสู่การถูกต่อว่าอะไร แต่ก็ยังมีคำถามในใจเช่นกัน “แต่ก็จะมีในใจนิดนึงว่าทำไมต้องสแตนบายเรื่องงานนะ ทั้งๆ ที่เราก็ลาพักร้อน ซึ่งถามว่าได้ใช้วันลาบ่อยไหม ก็ไม่” เธอพูด
ปาย, 25 ปี, Content creator
“นโยบายลาจะไม่ได้วางเป็นกฎเกณฑ์ตายตัวค่ะ หลักๆ คือจะมีโควตาวันลา 10 วันต่อปี แต่ถ้าใช้เกินหรือใช้น้อยกว่าก็ได้ค่ะ แต่ยังไม่มีเคสที่ใช้เกิน” ปายบอก ในจำนวนวันลาเหล่านั้นเมื่อลาแล้วคนในทีมของปายจะไม่มีการติดต่อรบกวนช่วงวันลาในกรณีส่วนมาก นอกเสียจากจะฉุกเฉินจริงๆ แต่ถึงอย่างนั้นคนภายในก็มักไม่เลือกที่จะลาเท่าไรนัก
“ส่วนตัวจะเป็นคนที่ไม่ค่อยใช้วันลา เพราะเราค่อนข้างเกรงใจ จริงๆ งานมันก็รันไปได้นะต่อให้เราหยุด เพราะแบ่งงานไว้แล้ว อาจจะเป็นความงี่เง่าเราเอง มันอาจจะไม่ใช่วิธีคิดที่ดีอะ คือการลามันเป็นสิทธิ์ของเรา ถ้าเราใช้สิทธิ์ตามที่มีไม่ก็ไม่ผิด แล้วบริษัทก็ไม่ได้บังคับหรือกดดันว่าห้ามหยุด แต่ที่ทำงานเราหลายๆ คนก็จะเป็นแบบนี้รู้สึกไม่อยากหยุด เพราะเกรงใจ” ปายพูด
นาโช่เบอริโต้, 24 ปี, ครูจากสถาบันพัฒนาการเด็กเล็ก
ในฐานะครูจากสถาบันพัฒนาการเด็กเล็ก การลางานขึ้นอยู่กับปัจจัยที่หลากหลายมากๆ
“ใน 1 ปี ลากิจ 3 วัน ลาป่วยไม่มีใบ 2 วัน ลาป่วยมีใบ 28 วัน ลาพักร้อนไม่มีใน ปีแรก ปีต่อมาได้ 2 วัน” เขาแจง “ไม่มีหยุดตามราชการ ศาสนา หรือวันสำคัญนอกจากวันแรงงาน สงกรานต์หรือปลายปีที่พ่อแม่คงพาลูกไปเที่ยวมากกว่า จึงยอมหยุดให้” เขาตบท้ายว่า “ถ้าเกินหรือไม่ตรงตามนี้จะเป็นลาแบบไม่รับค่าจ้างหรือต้องจ่ายคืนให้บริษัทแล้วแต่กรณี อย่างถ้าไม่เข้าสัมนาบริษัทคือโดนจ่ายคืนสองเท่า หรือถ้าลาในวันที่ไม่เหมาะ เช่นหนึ่งวันก่อนหยุดยาวก็โดนปรับเพิ่มเท่าเหมือนกัน”
ในขณะที่เขาใช้วันหยุดบ้าง นอกจากจะป่วยหนัก วันหยุดเหล่านั้นอาจไม่ได้ใช้เพื่อตัวเอง “ใช้เพื่อไปร่วมยินดีกับคนอื่นๆ” เขาหมายถึงการไปร่วมงานเช่นงานแต่ง หรืองานรับปริญญา อีกทั้งวันหยุดทั่วไปประจำสัปดาห์จะไม่ตรงกับคนอื่น เนื่องจากที่ทำงานหยุดวันจันทร์ เพราะการทำงานกับพ่อแม่ผู้ปกครองนั้นแปลว่าพวกเขาจะสะดวกเข้ามาวันเสาร์หรืออาทิตย์
และเมื่อต้องหยุด เขาอธิบายว่าความรู้สึกที่เกิดขึ้นมักไม่ใช่ความปลอดโปร่ง “ด้วยที่ทำงานมีคนไม่พอ ตัวงานค่อนข้างโหลดกันทุกคนอยู่แล้ว พอเราลา คนอื่นก็ต้องรับงานตรงนี้แทนเรา ถ้าเป็นวิชาที่แทนกันไม่ได้ก็ต้องยกเลิกคลาส อาจทำให้ผู้ปกครองไม่พอใจ หรือบริษัทเพ่งเล็งได้” เขาพูด
หอจอสอ, 24 ปี, Marketing Communication
ในที่ที่หอจอสอทำงาน มีนโยบายการลาให้ลากิจ 5 วัน ลาป่วย 6-30 วัน หยุดวันเกิดที่ต้องหยุดในเดือนเกิดหรือเดือนถัดไปเท่านั้น 1 วัน จากที่เล่าให้ฟังโดยมากแล้ววันลาที่เขาใช้นั้นไม่ได้ใช้ไปหยุดพักผ่อนเท่าไรนัก “ไปสอบข้าราชการบ้าง ธุระบ้าง เคยลาไปสัมภาษณ์งาน เคยลาไปปั่นงานนอกด้วย” เขาพูด
“เวลาต้องหยุดก็แอบกังวลนะ เพราะงานของเรามันจะหายไปเลยแหละ มันจะไม่เดินแน่ๆ คือมันไม่มีใครแทนกันได้เลยในแผนกนี้ คือถ้าจะให้เดินก็มีแต่ต้องเปิดคอมขึ้นมาด่วนๆ เท่านั้นเลย” เขาพูด สะท้อนให้เห็นโหลดของงานและจำนวนของคนที่อยู่ในแผนก