เวลาเรานึกภาพเมืองที่ปรากฏในหนังในละครโดยเฉพาะกรุงเทพ เราแทบนึกภาพของเมืองไม่ออก ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะกรุงเทพไม่โรแมนติกดังที่หลายคนพูดกัน โอเคเรื่องการถ่ายทำก็อาจเป็นสาเหตุหนึ่ง แต่นั่นแหละเรื่องราวทั้งหลายของตัวละครในละครไทยมักปรากฏอยู่ในพื้นที่ส่วนตัว ในอาคาร ในตึกสำนักงาน ถ้าอย่างแย่หน่อยฉากก็เป็นสลัม
ในทางกลับกัน ช่วงนี้ซีรีส์เรื่อง Start-Up กำลังมาแรง ซึ่งจริงๆ แล้วที่เกาหลีเองมาแรงอยู่ซักพักหนึ่งแล้ว ซึ่งแกนเรื่องของซีรีส์จริงๆ ก็ไม่ห่างจากความรักซักเท่าไหร่ แต่ถ้าเรานึกภาพซีรีส์เกาหลีขึ้นมาจริงๆ เราจะพอนึกได้ว่า เออ ในตัวเรื่องราวความรักไม่ว่าจะข้ามชนชั้น พูดเรื่องผู้คนในหลายๆ รูปแบบ แต่ซีรีส์มักจะวาดให้เรื่องราวที่เกิดขึ้น หรือก็คือชีวิตของผู้คนในนั้นสัมพันธ์กับเมือง
เราจะเห็นภาพการไปเดินอยู่ริมแม่น้ำ การพบเจอกันในสวน พื้นที่หน้าแกลลอรี่กลายเป็นฉากงดงามของเมืองใหญ่ ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาเมืองโดยเฉพาะของกรุงโซลไม่ว่าจะเป็นคลองชอเกชอน จัตุรัสควานฮามุน หรือสะพานมาโป
ย้อนกลับมาที่ Start-Up เรื่องราวของ Start-Up ส่วนหนึ่งพูดเรื่องความยากจนและการไต่เต้าเติบโตของกลุ่มคนรุ่นใหม่ ที่มีทักษะรับกับภูมิทัศน์ของโลกที่เปลี่ยนแปลงไป ทีนี้ไม่แน่ว่าภาพของฉากหลังคือภาพเมือง ที่ซีรีส์ให้ความสนใจก็อาจเป็นส่วนหนึ่งของ soft power ร่วมสมัยที่ต้องการนำเสนอภาพเกาหลีใต้ในฐานะเมืองแห่งโอกาส ด้วยความที่ Start-Up พูดเรื่องคนจนเนอะ แต่สิ่งที่ประกอบอยู่กับเนื้อเรื่องที่ค่อนข้างพูดถึงความยากจนนั้น คือการอยู่ในเมืองที่สวยงาม
ในเรื่องเราจะเห็นการถ่ายทำเพื่อถ่ายทอดภาพฉากหลังของเมืองอย่างประณีตสวยงาม และที่สำคัญคือตัวซีรีส์ค่อนข้างให้ความสำคัญกับรถเมล์ ป้ายรถเมล์และระบบขนส่งมวลชน ซึ่งทั้งหมดนั้นก็เป็นเหมือนฉากหลัง เป็นเหมือนดินที่อุดมสมบูรณ์ที่รัฐได้ออกแบบสร้างเอาไว้สำหรับให้เหล่าคนรุ่นใหม่ได้เจริญเติบโต แสวงหาโอกาส ความรักและชีวิตที่ดีต่อไป
เมืองที่โรแมนติก กับฉากหลังที่ยึดโยงเข้ากับผู้คน
ฉากเมืองใน Start-Up ส่วนตัวคิดว่าเป็นการถ่ายทำและใช้เทคนิกภาพที่ค่อนข้างเด่นพอๆ กับการทำหน้าหมาหงอยของพระเอก หรือการร้องไห้แล้วยังน่ารักของนางเอก เราดู Start-Up ไปเรื่อยๆ แทบจะรู้สึกว่าได้สำรวจไปในกรุงโซลและเมืองอื่นๆ พร้อมๆ กับชีวิตของตัวละครกันเลย ฉากเมืองบ้านเกิดของพระเอกที่ เอ้อ ถึงแม้ว่าตัวเองทั้งหลายจะจ๊นจน แต่เมืองที่พวกเขาอยู่ก็ยังมีพื้นที่สวยงามให้ได้ไปใช้เวลา มีแนวดอกไม้สีชมพูช่วยชุบชูจิตใจ
ความพิเศษของการให้ภาพเมืองในหนังคือ ตัวเรื่องมักให้ภาพการมาพบเจอกันของตัวละคร และมักถอยกล้องออกทำให้เราจะรับรู้ได้ว่า เรื่องราวของคนเหล่านั้นอยู่ในบริบทเมืองที่ใหญ่โตและสวยงาม ภาพเมืองใน Start-Up มักเต็มไปด้วยความหวัง และพื้นที่สาธารณะน้อยใหญ่ไม่ว่าจะเป็นถนนหนทาง สี่แยกไฟแดง สวนสวยๆ พื้นที่วัฒนธรรมกลางเมืองที่ได้รับการออกแบบดูแลอย่างดีนี่แหละ ที่จะเป็นตัวเชื่อมผู้คนและเรื่องราวอันหมายถึง การไต่เต้าเรียนรู้และเติบโตทั้งในเชิงเศรษฐกิจและในมิติทางความรู้สึกไว้ด้วยกัน
ดังนั้นจึงไม่แปลกที่ฉากเปิดของเรื่องใช้ภาพของสวนกลางน้ำ พื้นที่ที่จริงอยู่ว่าฉากนั้นคือการแสดงความยิ่งใหญ่ของบริษัท แต่ด้านหนึ่งการจัดงานในพื้นที่สาธารณะก็แสดงถึงการปรากฏตัว การเป็นเมืองของผู้คนจุดหนึ่งก็มีโอกาสได้ใช้พื้นที่เพื่อแสดงความยิ่งใหญ่ และในทางกลับกันพื้นที่สาธารณะนี้ก็เป็นพื้นที่ของโอกาสที่ผู้ประกอบการรายใหม่ๆ ในอนาคตจะได้เข้ามาเจอและมาจับคู่ธุรกิจคู่ค้าและเติบโตกันต่อไป
ขนส่งมวลชนที่พึ่งพาได้ และการนั่งร้องไห้ที่ป้ายรถเมล์อย่างโรแมนติก
นอกจากการให้ฉากเมืองที่เป็นมิตรกับการเติบโตของผู้คนแล้ว แน่นอนว่าในหนังยังปรากฏรถเมล์โผล่ขึ้นมาบ่อยจนสังเกตได้ ถ้าเรามองในแง่การลงทุนถ่ายทำ ในตัวเรื่องก็เราจะเห็นการเนรมิตรถเมล์ และการตั้งใจถ่ายทั้งฉากของรถเมล์ไปจนถึงสาธารณูปโภคของขนส่งมวลชนออกมาได้อย่างสวยงามทั้งในทางภาพ และในทางอารมณ์
เราได้เห็นว่าเออ รถเมล์ขนส่งสาธารณะมันเป็นส่วนประกอบสำคัญในชีวิตของตัวละครหลักของเรื่องจริงๆ ขนส่งมวลชนเหล่านี้กำลังทำหน้าที่พาพวกเขาโลดแล่นไปในเมือง อำนวยให้ชีวิตเดินต่อไปได้อย่างมีคุณภาพ เป็นระบบขนส่งที่ไว้ใจได้ และที่มากไปกว่านั้นคือพื้นที่เหล่านี้เป็นพื้นที่สำคัญของผู้คน เป็นที่ที่เรื่องราวละเอียดอ่อนทั้งหลายเกิดขึ้น และเป็นที่ๆ คนเมืองที่แปลกหน้ากันเข้ามามีปฏิสัมพันธ์ต่อกัน
ฉากที่เรียบง่ายที่สุดคือนางเอกกับป้ายรถเมล์ ในเรื่อง ด้วยป้ายรถเมล์และเมืองที่ดี กลายเป็นว่าป้ายรถเมล์นั้นกลับกลายเป็นที่พักใจ ทำให้การนั่งร้องไห้ที่ป้ายรถเมล์ไม่ขมขื่นแต่กลับโรแมนติกมากขึ้นได้ เมืองไม่ได้ร่วมลงโทษซ้ำเติมชะตากรรมอันเลวร้ายของผู้คน แต่กลับร่วมส่งเสริมและโอบอุ้มผู้คนเหล่านั้นไว้ การเปิดโอกาสให้พลาดได้ทั้งเรื่องรักและการใช้ชีวิตจึงดูจะสอดคล้องกับแกนของการเริ่มอะไรใหม่ที่ก็ต้องมีเบาะนิรภัยไว้ให้ผู้คนบ้าง
ภาพเมืองในซีรีส์เกาหลีถ้าเราทบทวนดูดีๆ ฉากเมืองในซีรีส์ทั้งหลายล้วนเป็นองค์ประกอบสำคัญของความโรแมนติก เราเห็นแม่น้ำที่ไม่ว่าตัวละครจะรวย หรือจนแค่ไหนก็เดินคู่กันได้ เห็นการให้ภาพวัฒนธรรมกินดื่มในพื้นที่พิเศษ เช่น ในร้านเหล้าที่ล้อมด้วยพลาสติก เห็นถนนหนทาง เห็นสวนสาธารณะ เห็นอาร์ตแกลลอรี่ เห็นฉากเมืองที่กลมกลืนเข้ากับชีวิตและเรื่องราวหวานฉ่ำของหนังเรื่องนั้นๆ
เพิ่มเติมสำหรับ Start-Up คือการเติบโตสะสมทุนของผู้คน เป็นดินแดนของความหวัง เป็นพื้นที่ร่วมสมัยที่ทำให้เรามองเห็นเกาหลีใต้เป็นดินแดนของคนรุ่นใหม่และการเจริญเติบโต
ถ้าเราดูทิศทางการพัฒนาพื้นที่เมืองของเกาหลี ทั้งหมดที่ได้รับการถ่ายทอดในซีรีส์ล้วนเป็นนโยบายโดยตรงของรัฐบาล ตั้งแต่การพลิกฟื้นคลองคอนกรีตกลางเมืองด้วยงบมหาศาล จนกลายเป็นพื้นที่ฉ่ำเย็นของคนเมือง
การปรับจัตุรัสให้กลายเป็นพื้นที่สาธารณะของประชาชน การแก้ไขภาพของสะพานที่ขึ้นชื่อเรื่องการฆ่าตัวตายให้สว่างไสวและพยายามลดทอนความเสียหายเท่าที่ทำได้ ซึ่งทั้งหมดนั้นทำได้ด้วยงานดีไซน์ การวางผังเมืองที่มีคนและการเดินเป็นศูนย์กลาง รวมไปถึงการออกแบบภูมิทัศน์