ภาพยนตร์เกาหลีคว้าออสการ์ ซีรีส์ก็โด่งดัง เรตติ้งดี มีคนติดตาม ไอดอล และเพลงเกาหลีเองก็ไประดับโลก ประสบความสำเร็จกันมากกว่าแค่ในประเทศ หรือในเอเชียแล้ว
หลายปีที่ผ่านมา เราเห็นอุตสาหกรรมบันเทิงเกาหลีใต้เติบโต มีแฟนคลับในบ้านเรา ไปจนถึงการมีแฟนคลับติดตามกระแสไปทั่วโลก แต่การเติบโตนี้ ไม่ใช่เพียงแค่มาจากการลงทุน หรือการสร้างคอนเทนต์ในช่วงแค่ไม่กี่ปี แต่การพัฒนาอุตสาหกรรมบันเทิงนี้ เรียกได้ว่ามีปัจจัยเติบโตมาพร้อมๆ กับการต่อสู้ทางการเมือง และประชาธิปไตยในประเทศมาหลายทศวรรษ
The MATTER มาพูดคุยกับ รศ.ดร.จักรกริช สังขมณี อาจารย์ประจำภาคสังคมวิทยา และมานุษยวิทยา คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ศึกษา Pop Culture และวัฒนธรรมในเกาหลีใต้ ว่าที่อุตสากรรมบันเทิงในแดนกิมจินี้ ไปสู่ระดับโลกได้เป็นเพราะอะไร ทำไมการต่อสู้ทางการเมือง ถึงมาควบคู่กับการเติบโตของวงการนี้ และการได้ออสการ์ในปีล่าสุด ของภาพยนตร์เกาหลี มีความหมายอย่างไรบ้าง ?
เราเห็นกระแสของวงการบันเทิงเกาหลีไปไกลระดับโลกแล้ว อะไรเป็นปัจจัยที่ทำให้อุตสาหกรรมนี้ เติบโตจนถูกส่งออก และไปได้ถึงระดับโลกได้
เรื่องนี้มันเป็นเพราะทั้งกระบวนการส่งเสริมที่จริงจัง บวกกับจังหวะของสถานการณ์ที่ลงตัว คนอาจจะรู้จักกระบวนการพัฒนาสื่อของเกาหลีในหลากหลายมิติ ทั้งเรื่องของกระบวนการผลิตภายในประเทศที่แข่งขันกันเข้มข้น เรื่องของรสนิยมที่มันใกล้เคียงกันระหว่างตัวสื่อในเอเชีย แต่สิ่งที่ผมคิดว่ามันเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้เกาหลีประสบความสำเร็จ คือจังหวะของการเติบโตในช่วงทศวรรษ 90 ที่ตัวช่วยด้านเทคโนโลยีทั้งสื่อดิจิทัลและเครือข่ายอินเตอร์เน็ต ที่เข้ามาผสมกับคอนเทนต์ ทำให้สื่อที่ว่าขยายออกไปได้ไกล ราคาถูกลง และรวดเร็วมากขึ้น
เพราะฉะนั้น แน่นอนว่า ในด้านหนึ่งเกาหลีหมกมุ่นกับการผลิตคอนเทนต์ที่มีความน่าสนใจ ซึ่งที่อื่นๆ อย่างฮ่องกง ญี่ปุ่น สหรัฐฯ หรือแม้กระทั่งบอลลีวูด ก็ผลิตสื่อคอนเทนต์ที่แตกต่างกันไป แต่เกาหลีนั้นใช้ดิจิทัลเทคโนโลยีเป็นส่วนสำคัญที่จะสื่อสาร หรือว่าเผยแพร่สื่อเหล่านี้ออกไปได้ตรงจังหวะเวลา ดังนั้นการเกิดขึ้นของอุตสาหกรรมสื่ออิเล็กทรอนิกส์ทั้งหลาย การเกิดขึ้นของเครือข่ายผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต มันทำงานร่วมกับสื่อทางวัฒนธรรม และทำให้สื่อเหล่านี้เผยแพร่ออกไปได้อย่างรวดเร็ว
นอกจากนี้เกาหลียังเห็นศักยภาพของสื่อเชิงเนื้อหาที่ว่านี้ และไม่ได้หยุดอยู่แค่สื่อคอนเทนต์ทาง TV, ภาพยนตร์ หรือว่าเพลงอย่างเดียวเท่านั้น หากแต่ในระยะหลังมานี้ก็มีเรื่องของเกมออนไลน์ หรือแพลตฟอร์มอื่นๆ ขยับขยายไปเรื่อยๆ ในขณะที่ชาติอื่นๆ ยังเล่นกับแพลตฟอร์มที่หลากหลายนี้ได้ไม่เก่งเท่ากับเกาหลี
ส่วนนึงอาจจะเป็นเพราะว่าเกาหลีเป็นประเทศที่ใช้อินเทอร์เน็ตมากที่สุดประเทศหนึ่งของโลก และคนก็ใช้ชีวิตอยู่บนฐานของเครือข่ายความสัมพันธ์อันนี้เยอะมาก ทั้งในแง่ของการเสพ, การรับข่าว และการแสดงออกถึงความคิดเห็นทางการเมือง ทำให้การคิดสื่อเชิงสร้างสรรค์นั้นมันมีการแข่งขันและก็มีพื้นที่เสรีทางความคิดมากขึ้น
Miky Lee รองประธาน CJ Group ผู้สร้างภาพยนตร์ Parasite พูดในวันที่หนังได้รับรางวัลออสการ์ว่า เขาขอบคุณผู้ชมของเกาหลีมาก ในแง่ที่ว่าไม่เคยจะประนีประนอมกับการแสดงความคิดเห็นต่อสื่อภาพยนตร์ที่เขา ผู้กำกับ และทีมงานทำออกมา และการแสดงออกที่ว่านี้ส่วนใหญ่แล้วสื่อสารออกมาผ่านอินเทอร์เน็ตทั้งนั้นเลย นี่เป็นตัวอย่างว่าสื่ออินเทอร์เน็ตนั้นมันส่งเสริมการแข่งขัน การพัฒนาความคิดสร้างสรรค์
ฉะนั้นเวลาเราดูซีรีส์เกาหลีบางเรื่อง โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับวงการบันเทิงหรือสื่อมวลชน เราก็จะเห็นว่า สื่อและสถาบันต่างๆ ในสังคมแคร์มากเรื่องอันดับการค้นหาคำ ว่าคำที่คนค้นหา ให้ความสนใจ เป็นที่ถกเถียงอยู่ในตอนนั้นเป็นเรื่องอะไร อันนี้เป็นวัฒนธรรมที่ประเทศอื่นอาจจะไม่เข้าใจ และมันไม่ได้สำคัญแค่สำหรับคนที่บริโภคสื่อและผู้ผลิตสื่อเท่านั้น หากแต่ทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ต่างก็ให้ความสนใจกับความเคลื่อนไหวในสื่อสังคมออนไลน์ตลอดเวลา
เกาหลีเป็นสังคมที่สนใจภาพลักษณ์มาก หากมีการสะท้อนประเด็นออกมาในสังคมที่กระทบต่อภาพลักษณ์ ความเชื่อมั่นต่อสถาบันหรือหน่วยงานต่างๆ แล้ว ก็จะเป็นเรื่องใหญ่ในองค์กรพอสมควร เพราะฉะนั้น ในแง่นึง ความโชคดีของเกาหลีก็คือ การเติบโตขึ้นของสื่อเชิงเนื้อหานี้มันเกิดขึ้นพร้อมๆ กับยุค 90 ที่ดิจิทัลเทคโนโลยีกำลังเปลี่ยนผ่าน และทำให้ได้ประโยชน์ทั้งในเชิงของการเผยแพร่เนื้อหาออกไปได้ไกลและรวดเร็ว และในขณะเดียวกัน สื่อก็ตอบสนองและต้องปรับตัวต่อการรับรู้จากสังคมอย่างรวดเร็วด้วย
ถ้าเราดูซีรีส์ Reply 1994 นั่นคือช่วงชีวิตของวัยรุ่น ที่เผชิญกับการเปลี่ยนผ่านจากยุคอนาล็อก ไปสู่ดิจิทัลเทคโนโลยี นั่นคือช่วงที่กระแส Pop มันเติบโต เพราะ Pop มันเริ่มในอนาล็อก แต่ว่ามันเติบโตอย่างรวดเร็วในดิจิทัลเทคโนโลยี การเติบโตของประชาธิปไตยในเกาหลีก็เป็นไปในช่วงเดียวกัน เกาหลีได้จังหวะจากสื่อตรงนี้พอดีในการพัฒนาเนื้อหาความบันเทิงไปพร้อมๆ กับการถูกเรียกร้องจากสังคมที่เสรีมากขึ้น
การสร้างความเป็นอุตสาหกรรมบันเทิงของเกาหลีใต้ เริ่มจากรัฐ เอกชน หรือประชาชน
สำหรับสื่อเกาหลีนั้น มันมีการเคลื่อนตัวหรือกระบวนการในหลายๆ แบบ รัฐเองก็ทำส่วนหนึ่ง ในช่วง 1960-1970 ที่ผ่านมา รัฐทำสื่อที่รัฐต้องการ คือเป็นสื่อที่เน้นไปในการโฆษณาชวนเชื่อ (propaganda) ในช่วงสมัยของประธานาธิบดีพัค จองฮี ซึ่งใช้อำนาจรวมศูนย์และควบคุมประชาชนมาก และต่อด้วยประธานาธิบดี ชอน ดูฮวัน ในช่วง 1980 ดังนั้น ช่วงตั้งแต่ 1960-1980 จะเป็นช่วงที่สื่อเกาหลีจะถูกควบคุมค่อนข้างมาก
สื่อที่ออกมาก็จะเป็นสื่อซึ่งสร้างอุดมการณ์ชาตินิยม อย่างไรก็ตามก็มีสื่อบางประเภทจากภายนอกที่เข้ามาได้บ้าง เช่น สื่ออเมริกัน แต่เนื้อหาของสื่อเหล่านั้นก็มักจะถูกมองว่าเป็นขบถ คนที่เสพสื่อเหล่านี้ ก็จะเป็นผู้ที่ต่อต้านรัฐ หรือถูกมองว่าเป็นหัวรุนแรง
ท่ามกลางข้อจำกัดของการสร้างสื่อเชิงเนื้อหาที่ว่านี้ กระบวนการที่เกิดขึ้น ซึ่งเรียกว่าเป็น New Korean Artist หรือว่า New Korean Cinema ก็เกิดขึ้นท่ามกลางการกดทับของรัฐบาลในช่วงนั้นนั่นเอง สื่อเหล่านี้เกิดมาจากบรรดาผู้คน ศิลปินต่างๆ ที่เกิดความรู้สึกอึดอัดจากสถานการณ์ของการปิดกั้นทางความคิดและการแสดงออก ไม่มีพื้นที่ให้กับการผลิตผลงานใหม่ๆ มากนัก
เมื่อสังคมมันเปิดมากขึ้นในช่วงปลายทศวรรษ 80 คนเหล่านี้เอาบทเรียนในช่วงของยุคมืดทางศิลปะภาพยนตร์และสังคมการเมืองของเกาหลี ออกมาตีแผ่นำเสนอ ก่อให้เกิดการจุดประกายความคิดทางการเมืองและสังคมใหม่ๆ ในช่วงหลัง 1987 เป็นต้นมา ที่มีการเรียกร้องตรวจสอบกระบวนการประชาธิปไตยอย่างกว้างขวาง
ในที่นี้ การเกิดขึ้นของภาพยนตร์รูปที่มีเนื้อหาและแบบใหม่ในช่วงปลายทศวรรษ 80 ถึง 90 มันเป็นการสะท้อนย้อนคิดกลับไปยังประวัติศาสตร์เดิมที่เคยถูกกดทับมากว่า 2 ทศวรรษ ว่ามันเกิดอะไรขึ้น และคนเหล่านี้เอาความอึดอัดออกมา แสดงให้คนในชาติเห็น ให้ความรู้ทางสังคมการเมืองกันเองในบรรดาคนที่รับสื่อว่า เกิดสภาวะที่ถูกกดทับจากอำนาจอะไรอย่างไรบ้าง ในแง่นึงสื่อเชิงเนื้อหามันจึงเป็นรีแอคชั่นหรือปฏิกิริยาระหว่างรัฐกับประชาชน และใช้ภาพยนตร์เป็นสื่อของการส่งผ่านอุดมคติและความคาดหวังต่อกัน
ผู้ผลิตสื่อหรือภาพยนตร์จึงเป็นศิลปินที่ขบคิดกับเรื่องทางสังคมรอบๆ ตัวอยู่เสมอ เป็น ‘socially informed producer’ หรือว่าเป็นผู้ผลิตสื่อ ที่ไม่ใช่ผู้ผลิตที่เน้นเรื่องของเทคนิคอย่างเดียว แต่เน้นคอนเทนต์ และหลักการเหตุผล ปัญหาที่อยู่เบื้องหลังสถานการณ์บ้านเมือง และเอาสิ่งเหล่านั้นมาเป็นตัวผลักดันการสร้างสื่อ ที่มีผลต่อการรับรู้ของผู้คนในสังคม จะเห็นว่าโจทย์ของการผลิตสื่อมันชัด มันไม่ได้นั่งคิดจินตนาการเอาเองท่ามกลางสุญญากาศทางสังคม แต่สื่อมันจัดวางตนเองอยู่ท่ามกลางหรือวางอยู่ในบริบททางสังคมอยู่เสมอ
การเชื่อมโยงเนื้อหาของสื่อกับความรู้สึกนึกคิดของผู้คนในสังคมนี้สำคัญมาก คนเกาหลีเรียกสภาวะความรู้สึกในจิตใจของผู้คน ซึ่งเป็นรูปแบบทางวัฒนธรรม (cultural trait) สำคัญของเกาหลีนี้ว่า ‘ฮัน’ (Han)
ฮัน คือ ปมของความรู้สึกเจ็บปวด ความรู้สึกของการไม่ได้รับความยุติธรรม ความแค้นจากการถูกรังแก ปมด้อยหรือความรู้สึกต่ำต้อย และการไม่สามารถข้ามพ้นความรู้สึกอะไรบางอย่างในจิตใจได้
ภาพยนตร์หรือสื่อซีรีส์เกาหลี จำนวนไม่น้อย วางอยู่บนฐานของฮันทั้งสิ้น เพราะฉะนั้น ความเป็นฮัน มันทำให้คนที่ผลิตคอนเทนต์คิดเยอะมาก ว่าจะส่งหรือสื่อสารอะไร จะเล่าเรื่องที่มันมีความเป็นนามธรรมสูงและมีความสลับซับซ้อนในจิตใจอย่างไรที่จะเข้าถึงและสื่อให้คนอื่นรับรู้ได้ สุดท้ายแล้ว หนังหรือซีรีส์มันกลายมาเป็นเครื่องมือที่วิเศษที่สุดที่จะปลดปล่อย หรือว่าแสดงออกซึ่ง ‘ฮัน’ ดังกล่าวออกมาเป็นสิ่งที่มองเห็นและสัมผัสได้
ผมไม่แน่ใจว่าคนเกาหลีเก่งเรื่องการทำหนัง หรือการทำหนังมันกลายเป็นเครื่องมือที่เหมาะสมมากในการเป็นภาพตัวแทนสะท้อนลักษณะทางวัฒนธรรมของเขา หนังเป็นตัวปลดปล่อยฮันของปัจเจกออกมาสู่พื้นที่สาธารณะร่วมกันมากขึ้น หากคุณชมภาพยนตร์ดังๆ ของเกาหลี หรือของผู้กำกับที่มีชื่อเสียงส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะเป็น พัคชานอุค อีชางดง ฮงซังซู หรือแม้กระทั่ง บงจุนโฮ ล้วนแต่มีฮันทั้งสิ้น
ยกตัวอย่างใน Parasite ผู้กำกับพูดถึงความรู้สึกของการอยู่ในโลกที่เต็มไปด้วยความเหลื่อมล้ำ ความทุกข์ของคนระดับล่าง ความเจ็บปวด การหยิบยกเรื่องพวกนี้มาเล่าผ่านสัญลักษณ์ต่างๆ การเสียดสี ทั้งหมดนี้เป็นกระบวนการสั่นคลอนอำนาจและความมีอภิสิทธิ์ในสังคมที่ดำเนินมาตลอดเวลา นี่คือฮันทั้งสิ้น
เปรียบเทียบสื่อ และอุตสาหกรรมบันเทิงเกาหลีในยุคเผด็จการ กับประชาธิปไตย มันมีความแตกต่างกันยังไงบ้าง
มันมีความแตกต่างกันอยู่แน่ๆ เวลาเราบอกว่ารัฐบาลเผด็จการ มีผลต่อการสร้างและกำกับควบคุมประเด็นเนื้อหาภาพยนตร์ แน่นอนว่ามันมีการกำกับควบคุมคอนเทนต์ภาพหรือเนื้อหา นั่นเป็นส่วนหนึ่งที่ชัดเจน แต่ว่านั่นเป็นปลายทาง ในความเป็นจริงแล้ว การที่คนจะคิดสร้างสรรค์ผลงานอะไรออกมาได้ หรือมีผลงานที่แปลกใหม่ออกไปนั้น มันต้องเริ่มจากกระบวนเสพ การเรียนรู้ การรับรู้ถึงวัตถุดิบที่หลากหลายก่อน ซึ่งมาจากการอ่านหนังสือ หรือเสพสื่อต่างๆ
ในช่วงรัฐบาลเผด็จการ มีการเซ็นเซอร์ทั้งในเรื่องของหนังสือ แบบเรียน สื่อที่เข้ามาจากตะวันตก และแทนที่สื่อเหล่านั้นด้วยสื่อโฆษณาชวนเชื่อของรัฐบาลเอง ไม่ใช่เฉพาะในระดับของสื่อที่เป็นทางการเท่านั้น แต่มันมีปฏิบัติการลงลึกไปถึงในบ้าน ในชนบท ในระดับจิตสำนึก และก็ใช้วาทกรรมความหวาดกลัว อย่างเช่น คอมมิวนิสต์ มาเป็นตัวขับเคลื่อนสังคม
ในช่วงเวลาแบบนั้น สื่ออะไรก็ตามที่ทำแล้วเหมือนว่า คุณยกย่องเกาหลีเหนือ ยกย่องชาติตะวันตกแบบอเมริกา หรือว่าคุณไม่สวามิภักดิ์ความรักชาติแบบผู้นำเป็นศูนย์กลาง ถือเป็นสื่อซึ่งไม่เหมาะสมต่อการเผยแพร่ทั้งสิ้น ฉะนั้นมันจึงมีไม่กี่ประเด็นที่สามารถนำเสนอได้
ผมยกตัวอย่างว่า ถ้าย้อนดูเกาหลีใต้ในยุคทศวรรษ 60-70 เทียบกับเกาหลีเหนือในตอนนี้ เกาหลีเหนือไม่ใช่ว่าไม่มีหนัง ไม่มีเพลงเลย มันมีสื่อบันเทิงที่ผลิตออกมาอย่างต่อเนื่อง มีนิสิตปริญญาโทของผมคนนึงที่ทำวิทยานิพนธ์ วิเคราะห์บทเพลงจูเช (Juche) ของเกาหลีเหนือ งานของเค้าพบว่า มันมีลักษณะหรือธีมของเนื้อหาอยู่เพียง 7-8 ประเด็นเท่านั้นที่อนุญาตให้ทำได้ เพลงจะออกมากี่เพลงมันก็จะผลิตซ้ำแต่ประเด็นเดิมๆ เช่น เรื่องของพรรค การเสียสละ ความรักชาติ, การแบ่งงานกันทำระหว่างชาย-หญิง คือมัน มีธีมต่างๆ ที่รัฐเข้าไปควบคุมจัดการ สื่อที่จะก่อให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์หรือคิดต่างนั้นทำไม่ได้เลย
กระบวนการเหล่านี้ ในแง่นึงมันเป็นกระบวนการกดขี่ทางความคิด แต่ว่ามันก็เป็นหน่อเชื้อที่ดีมาก ที่ก่อให้เกิดความคับแค้นคับข้องใจของบรรดานักคิด ที่เอาความรู้สึกเหล่านี้มาสานต่อ เมื่อเขาเติบโตขึ้นในยุคปลายทศวรรษ 80 ดังที่ผมได้พูดไปแล้ว มันถึงเป็นยุคเรเนซองส์ หรือว่าเป็นยุคของการฟื้นฟูศิลปะวิทยาการของภาพยนตร์เกาหลี คนเกาหลีมีเทคนิคทำภาพยนตร์อยู่แล้ว ซึ่งรับมาตั้งแต่ช่วงที่ญี่ปุ่นเข้ามาปกครอง เขาเรียนรู้บางอย่าง และพยายามจะผลิตภาพยนตร์ แต่เรื่องเทคนิคและการเล่าเรื่องที่ซับซ้อนมากขึ้นก็เป็นสิ่งที่เกาหลีหันมาเริ่มสนใจในช่วงหลังๆ
สิ่งที่มันเป็นจุดแข็งของภาพยนตร์และซีรีส์เกาหลีในทุกวันนี้ คือคนเกาหลีเก่งมากที่จะส่งผ่านเรื่องความรู้สึก นั่นคือสิ่งแรกที่สื่อคอนเทนต์เขาทำ ทำเพื่อที่จะส่งความรู้สึกออกมา เทคนิคเป็นสิ่งที่เขาเรียนรู้ในภายหลังว่าจะเอาอะไรมาใส่เท่านั้นเอง
ดังนั้นภาพยนตร์เกาหลีจึงแบ่งได้เป็น 2 แบบใหญ่ๆ แบบแรกคือแบบที่ให้ความสำคัญกับคอนเทนต์เป็นหลัก อย่างหนังของบงจุนโฮ ก็จะเป็นหนึ่งในนั้น อีกแบบนึงก็คือที่เน้นเทคนิค แบบพวกผลิตงานฟอร์มใหญ่ๆ ออกมา อย่างหนัง Train to Busan ซึ่งกลุ่มของหนังทั้ง 2 แบบนี้ ก็ไม่เชิงว่าขับเคี่ยวกัน แต่เขาอยู่คนละไลน์กัน ในบางครั้งก็มาสนับสนุนซึ่งกันและกันด้วย
ในแง่ของผู้บริโภคในประเทศ บางทีคนก็เลือกที่จะดูภาพยนตร์แบบ Blockbuster ซึ่งเกาหลีก็จะมีหนังฟอร์มใหญ่ๆ พวกนี้ เรียกว่าเป็น Hallyuwood ซึ่งเค้าล้อกับคำว่า Hollywood เน้นฉายในโรงเยอะๆ มีคนดูจำนวนมาก เน้นความสนุกความบันเทิง ในขณะเดียวกัน อีกด้านหนึ่งก็มีภาพยนตร์ที่มีเนื้อหาประเด็นที่ลึก ภาพยนตร์แนวนี้ หลังๆ เราก็จะเห็นว่า มันไม่ใช่ภาพยนตร์ที่เป็นตลาดเฉพาะกลุ่มอีกต่อไปแล้ว เพราะหลายครั้งพูดถึงแง่มุมประวัติศาสตร์ร่วมสมัย ทำให้มีคนที่ต้องการชมหรือมีอารมณ์ร่วมด้วยมาก บางส่วนก็นำเสนอประเด็นที่กระทบกับความรู้สึก ความเจ็บปวด ยังไงคนก็มีคนไปดู
ไทยกับเกาหลีเอง ผ่านประวัติศาสตร์การทำรัฐประหาร มีรัฐบาลเผด็จการ ทำไมเกาหลีถึงก้าวผ่าน และสร้างอุตสาหกรรมนี้ให้เติบโต และสะท้อนการเมือง ในขณะที่ไทยเองยังไปไม่ถึง
เกาหลี มี Commitment และไม่ยอมแพ้กับอะไรง่ายๆ กัดไม่ปล่อย ของไทยนี่กัด สู้กันทีนึง และก็ปล่อย และก็กัดใหม่ และก็ปล่อย ไม่ต่อเนื่อง มันเลยทำให้เราอยู่ในวงจรของการไม่พัฒนาไปข้างหน้า ข้ามไม่พ้นกับดักเดิมๆ เกาหลีมีประวัติศาสตร์การต่อสู้ประชาธิปไตยจนมีการประท้วงใหญ่ มีการล้อมปราบ มีความรุนแรงเกิดขึ้นจนมีการเปลี่ยนผ่าน จดจำประวัติศาสตร์ และความรุนแรงเหล่านั้น ผ่านสื่อต่างๆ ทั้งภาพยนตร์ วรรณกรรม หนังสือเรียน อันนี้คือจุดที่ทำให้เปลี่ยนผ่านแล้วไม่ย้อนกลับไปอีก
ประเทศไทยเปลี่ยนผ่านยาก เพราะเราอยู่ในจุดที่คาบเกี่ยวตลอดเวลา เราไม่เคยไปทำอะไรที่มันสุดโต่ง เพราะฉะนั้นเราถึงอยู่กันแบบนี้ ผมก็ไม่รู้ว่าเราจะหาทางออกยังไง ส่วนนึงมันเป็นลักษณะทางวัฒนธรรมของคนที่เติบโตมา
เรียกได้ว่า ที่อุตสาหกรรมหนังเติบโตได้ ส่วนหนึ่งก็มาจากการขับเคลื่อนทางการเมืองเหมือนกันใช่ไหม
แน่นอนเลย กระบวนการทางการเมืองมันหล่อหลอมให้คนเผชิญกับความเจ็บปวด แล้วรู้ว่าการที่คุณได้เผชิญกับช่วงเวลาที่มันไร้ซึ่งความยุติธรรม ไร้ซึ่งสิทธิเสรีภาพมันเป็นยังไง แล้วมันทำให้ทุกวันนี้ คนเกาหลีพยายามที่จะเรียกร้อง รักษา และหวงแหนสังคมอุดมคติตลอดเวลา
เพราะฉะนั้นสื่อต่างๆ ที่มันออกมา มันถึงเป็นสื่อที่พยายามดำรงรักษาไว้ถึงกระบวนการตรวจสอบ ความโปร่งใส การรักษาดุลระหว่างกลุ่มผู้มีอำนาจต่างๆ ตลอดเวลา
อย่างไทยทำหนังไทยออกมา หลายครั้งก็ไม่ได้เป็นที่นิยมในชาวไทยเอง เกาหลีใต้ทำอย่างไร ที่มีการสนับสนุนให้คนเกาหลีดูหนังของตัวเอง หรือระบบโรงหนังในประเทศมีกระบวนการอย่างไร
โรงหนังในเกาหลีไม่ได้มีเยอะมาก แล้วก็อาจจะคล้ายๆ กับไทย ที่โดนผูกขาดโดยบริษัทยักษ์ใหญ่ 3-4 เจ้า โรงหนังถือว่าเป็นส่วนสำคัญ แต่โรงหนังไม่มีอำนาจที่จะควบคุมการดูหนังซะทีเดียว แต่ว่าประเด็นสำคัญคือ มันมีความซ้อนทับกันอยู่ระหว่างตัวผู้ผลิตกับโรงฉาย เช่น หุ้นส่วนหนึ่งของโรงหนัง CGV ก็คือบริษัท CJ Group ซึ่งเป็นบริษัทซึ่งลงทุนในธุรกิจหนังด้วย
เนื่องจากโรงหนังมันเป็นทุนของบริษัทผู้ผลิตหนังอยู่แล้ว มันก็เลยเอื้อต่อการที่หนังเกาหลีจะฉายได้ตามที่ผู้ผลิตต้องการ นอกจากนี้แต่เดิมเกาหลีใต้ยังมีระบบโควตา ซึ่งรัฐบาลกำหนดเอาไว้ว่าต้องมีการฉายหนังเกาหลีกี่วันต่อปี ก็มีส่วนที่ทำให้หนังเกาหลีมีที่ทางในโรงภาพยนตร์ด้วย
ผมเข้าใจว่า แต่เดิมโรงภาพยนตร์มีโควตาร้อยกว่าวัน ที่ต้องฉายหนังเกาหลี แต่ตอนนี้มีการลดโควตาลงกว่าครึ่งนึงเลย ยอมให้ภาพยนตร์ต่างประเทศเข้ามาได้ เพราะว่าเกาหลีไม่ได้กลัวการแบ่งตลาดจากหนังต่างชาติอีกต่อไป โควตาไม่ได้มีความสำคัญมากนักแล้ว นั่นก็เพราะว่าคนเกาหลีดูภาพยนตร์เกาหลีมากขึ้นแล้วนั่นเอง
โรงภาพยนตร์มีส่วนอยู่บ้างในการสร้างพื้นที่ของการบริโภคสื่อภาพยนตร์ แต่ก็ไม่ใช่ทั้งหมด ไม่ใช่ว่าคนเกาหลีจะดูภาพยนตร์ และมีเวลาติดตามดูเยอะขนาดนั้น ผมคุยกับเพื่อนผมที่เป็นคนเกาหลีเยอะมาก เขาก็ไม่ได้มีเวลามาดูหนัง ดูซีรีส์แบบเรา เพราะว่าเขายุ่งมาก คนทั่วไปทำงานตั้งแต่เช้ายันดึก เสาร์อาทิตย์ก็แทบจะไม่มีเวลา คนก็จะเสพสื่อทางมือถือทั้งนั้นเลย ไม่ได้มาดูตามโรงภาพยนตร์มากขนาดนั้น
ด้วยเหตุนี้ สื่อต่างๆ ของเกาหลีเขาไม่ได้พึ่งพิงแพลตฟอร์มเดิมมาสักพักแล้ว หนังไม่จำเป็นต้องอยู่ในโรง ข่าวไม่ใช่อยู่ในหนังสือพิมพ์หรือทีวี อาหารไม่จำเป็นต้องอยู่ที่ร้าน ผมยังแปลกใจตอนผมไปเกาหลีแรกๆ โรงหนังไม่ได้หาง่าย จะหาได้แค่ตามห้างใหญ่ๆ ส่วนโรงหนังพวก stand alone ก็แทบจะหายไปหมดแล้ว มีลักษณะไม่ได้ต่างจากเรา แต่อย่างที่บอกไปว่าคนเกาหลีไม่ได้พึ่งพิงโรงภาพยนตร์อีกต่อไปในการเสพภาพยนตร์ มันอาจจะเป็นที่ไปเดท แต่แพลตฟอร์มดิจิทัลก็เข้ามามีส่วนมากขึ้น สำหรับคนบริโภคทั่วๆ ไปในชีวิตประจำวัน
นอกจากนี้ ในแง่จำนวนผู้บริโภค ประชากรเกาหลีเองก็ไม่ได้เยอะมาก เพราะฉะนั้นตลาดในประเทศเกาหลีเองก็เป็นตลาดที่ไม่ได้ใหญ่มาก การที่หนังจะทำกำไรได้ หรือไม่ได้ มันจึงไม่ใช่แค่รายได้จากตลาดในประเทศเท่านั้น อันนี้คือแรงผลักอันนึงที่สื่อเหล่านี้จะต้องทำไปเพื่อตอบสนองต่อการอยู่รอดทางธุรกิจ ภาพยนตร์มันต้องเป็นสากลมากขึ้นเพื่อสร้างตลาดการบริโภคที่ใหญ่ขึ้น
ในกรณีหนังเกาหลี โชคดีส่วนหนึ่งในแง่ที่ว่า ภาพยนตร์เกาหลีถูกซัพพอร์ตโดยแชบอล ซึ่งบริษัทยักษ์ใหญ่เหล่านี้ทำหนังโดยลงทุน มีเงินสนับสนุนเยอะ ไม่มีปัญหาในเรื่องต้นทุนของ การผลิตและการจัดจำหน่าย แน่นอนว่าการทำหนังสักหนึ่งเรื่องจะต้องคิดเรื่องของกำไรขาดทุน แต่ว่ามันมีช่วงเวลาและเงินทุนเพียงพอที่คุณสามารถเอากำไรคืนได้ หรือพัฒนาอะไรได้
เมื่อกี้อาจารย์บอกว่าคนในประเทศก็ไม่มีเวลามาเสพสื่อ อย่างนี้สื่อที่เขาทำก็มีการเน้นเพื่อส่งออกโดยเฉพาะเลยด้วยใช่ไหม
ผมว่าเขาทำทั้ง 2 ทางไปพร้อมๆ กัน ผมคิดแบบนี้เพราะว่าคอนเทนต์จำนวนมาก ก็เป็นคอนเทนต์ที่สื่อสารโดยตรงกับคนในประเทศ ทำให้คนในประเทศดู แล้วเกิดบทสนทนากับผู้คนในประเทศได้ เรื่องฮัน เป็นเรื่องที่เชื่อมโยงกับคนในประเทศ ภาพยนตร์เหล่านี้ขับเน้นประเด็นประวัติศาสตร์และเหตุการณ์สำคัญๆ ในประเทศออกมาให้คนในสังคมหรือคนรุ่นใหม่ได้รับรู้
ผมสอนวิชาภาพยนตร์กับสังคม ผมใช้กรณีศึกษาของเกาหลีว่า ถ้าเราจะเล่าไทม์ไลน์เกาหลีสมัยใหม่ ตั้งแต่ที่ญี่ปุ่นเข้าไปยึดครองประเทศ จนถึงญี่ปุ่นแพ้สงคราม ตามมาด้วยสงครามเกาหลี และไล่เหตุการณ์สำคัญๆ มาจนกระทั่งปัจจุบัน รวมถึงประเด็นความท้าทายหลายอย่างในทุกวันนี้ เช่น การคอร์รัปชั่น สังคม การศึกษา วัฒนธรรมต่างๆ หรืออะไรก็ตามที่เป็นความขัดแย้ง ความอัปยศ ตึกถล่ม ฆ่าข่มขืน หรือกราดยิง เกาหลีมีภาพยนตร์ที่จะเป็นกระจกสะท้อนเรื่องเหล่านี้แทบทั้งหมด
ถ้าเป็นในกรณีของเมืองไทยมันจะหายไป เพราะเราไม่มีฮัน ไม่มีความเจ็บปวด ไม่มีความทรงจำ หรือความพยายามที่อยากจะเก็บมันไว้ ปล่อยมันไปเลย move on ง่ายๆ แต่เกาหลีไม่ move on หากแต่กลับไปเล่าเรื่องเหล่านี้ใหม่ตลอดเวลา ซึ่งก็ขายให้คนเกาหลีดู
ผมยกตัวอย่างปีนี้จะมีภาพยนตร์เรื่องนึง พูดถึงเรื่องของการลอบสังหารประธานาธิบดีพัค จองฮี ซึ่งเป็นประธานาธิบดีที่ดำรงตำแหน่งยาวนานมาก เถลิงอำนาจสูงสุด จนมีวันนึงเจ้าหน้าที่ KCIA ก็คือผู้อารักขาประธานาธิบดีลอบยิง เหตุการณ์ครั้งนี้ก็ทำให้ประวัติศาสตร์ของเกาหลีเปลี่ยนเลย เรื่องนี้ก็จะนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ เกาหลีเขาไปขุดทุกเรื่อง บางเหตุการณ์ที่สำคัญมาก ๆ เช่น เหตุการณ์การล้อมปราบที่กวางจู เล่าแล้ว ก็เอามาเล่าใหม่ในอีกจากหลากหลายมุมมอง
เรื่องราวเหล่านี้ยังไงคนในประเทศก็ดู เพราะว่าคนรุ่นใหม่ก็อยากจะรู้อดีต คนรุ่นเก่าก็อยากจะทวงคืนอดีต และอยากรู้ว่าเรื่องที่เหตุการณ์ที่เขาประสบมานั้นถูกนำมาเล่าใหม่อย่างไร
แม้กระทั่งเหตุการณ์หรือสถานการณ์ปัจจุบัน เรื่องเหล่านี้ก็มีส่วนแบ่งมากในภาพยนตร์เกาหลี อย่างหนัง Hollywood คุณดูเทคนิค ดู production เพื่อความสนุก ความบันเทิง หนังดราม่าก็อาจจะมีบ้างที่เน้นประเด็นสังคม แต่ของเกาหลีแม้แต่หนัง action หนัง thriller มันก็มีความเป็นสังคมการเมืองสูงมาก ต่างจากหนัง Hollywood ภาพยนตร์ไม่ว่าจะเป็นประเภทไหนก็มีข้อความหรือสารหนักๆ ที่จะสื่อออกมาทั้งสิ้น
อย่างนี้พอไปเล่าถึงประวัติศาสตร์ หรือประเด็นการเมือง เขายังมีเรื่องของกระบวนการการเซ็นเซอร์อยู่ไหม
เรื่องเซ็นเซอร์มีอยู่แล้ว จนถึงทุกวันนี้ก็ยังมีการเซ็นเซอร์ แต่ว่ากระบวนการต่อรองก็มีพลังอย่างมากเหมือนกัน รัฐบาลเองก็เปลี่ยนจากความพยายามที่จะเซ็นเซอร์ ซึ่งเป็นกระบวนการทางลบ มาเป็นลงทุนสร้างภาพยนตร์ที่สร้างความชอบธรรมให้แก่รัฐบาลเอง เป็นการเน้นไปที่กระบวนการเชิงบวก ที่เป็นแบบนี้ก็ต้องเข้าใจว่ามันเป็นการยากมากที่รัฐบาลจะเข้าไปควบคุมสื่อได้ทั้งหมด องค์กรส่งเสริมการทำสื่อที่รัฐบาลสร้างส่วนใหญ่ก็จะมีหุ้นส่วนซึ่งเป็นบริษัทเอกชนเข้ามาด้วย กระบวนการนี้ทำให้รัฐไม่มีอำนาจที่จะเข้าไปควบคุมเบ็ดเสร็จเด็ดขาดได้ว่าจะเซ็นเซอร์อะไร
แต่ก็พูดไม่ได้ว่าไม่มีเลย เพราะมันไม่ใช่การเซ็นเซอร์แบบไปแบนคำนั้นออก ไม่ให้ใช้คำนี้ เหมือนแต่ก่อน แต่กระบวนการเซ็นเซอร์มันไปผ่านการล็อบบี้ว่าให้ผูสร้างสร้างหนังเรื่องแบบนี้ หรือประเด็นอะไร ไม่ใช่แค่กับในประเทศเท่านั้น ในความเป็นจริงแล้ว รัฐบาลเกาหลีใช้ภาพยนตร์มาเป็นสื่อของตัวเองในเวทีระหว่างประเทศเยอะมาก ภาพยนตร์จำนวนไม่น้อยที่สร้างออกมา จะเป็นประเด็นที่เชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวข้องกับฮัน แต่ไม่ใช่ฮันของปัจเจก แต่เป็นฮันของประเทศ
เช่น ภาพยนตร์ที่ว่าด้วยประเด็นพิพาทกับญี่ปุ่นจะเยอะมาก แม้กระทั่ง Parasite เอง ก็มีการพูดถึงญี่ปุ่นและอเมริกา ซึ่งอันนี้เป็นปมที่ยังไงก็ต้องพูด เรื่องความรู้สึกต่อประเทศเพื่อนบ้าน และประเทศที่เข้ามามีส่วนในประวัติศาสตร์สมัยใหม่เหล่านี้มันยังมีอยู่
ผมยกตัวอย่างว่า ก่อนหน้านี้มีภาพยนตร์ที่ชื่อว่า ‘The Battleship Island’ อันนั้นพูดถึงญี่ปุ่น เรื่องนี้เกาหลีก็เคยโต้แย้งมานาน ส่งคนไปขึ้นศาลโลก ส่งคนไปประท้วง ทำหนังสือ เอาหลักฐานมากาง อย่างไรก็ตาม กระบวนการที่ว่านี้มันเป็นการรณรงค์ในทางการเมืองในแบบเป็นทางการ แต่มันไม่ส่งผลต่ออารมณ์ความรู้สึกของคนอื่นที่ไม่ใช่คนเกาหลี หากจะโน้มน้าวใจให้ประชาคมโลกเห็นถึงความโหดร้าย ความไร้มนุษยธรรม ความเจ็บปวดจากบาดแผลประวัติศาสตร์จะทำยังไง คุณสร้างหนังขึ้นมาให้เห็นความทุกข์แสนสาหัสดังกล่าว มันซื้ออารมณ์และทัศนคติของคนดูให้หันมาสนับสนุนเกาหลีได้
หรืออีกเรื่องหนึ่ง เรื่องของ Comfort Women ลองย้อนกลับไปดู 3-4 ปีที่ผ่านมา ช่วงที่ประเด็นนี้กำลังเป็นที่สนใจมากๆ เกาหลีสร้างหนังที่เกี่ยวกับประเด็นนี้ 3-4 เรื่องติดกันทุกปี ในทางการตลาด คุณคิดว่าใครมันจะดูหนังเรื่องคล้ายๆ กัน ซ้ำ 4 ครั้ง แต่คนเกาหลีก็ดูทุกปี ประเด็นเดิม แต่ผ่านการตีความใหม่ นี่แหละคือการนำสื่อมาเป็นเครื่องมือที่เป็นประโยชน์ของรัฐ มากกว่าที่รัฐจะเข้าไปควบคุมสื่อ
ล่าสุดเราเห็นความสำเร็จ และหมุดหมายใหญ่ในวงการหนังเกาหลี คือการได้รางวัลออสการ์ รางวัลครั้งนี้ มันเป็นสัญญะ หรือความหมายต่อประเทศเกาหลีใต้อย่างไร
มีความหมายมากที่สุด คนเกาหลีหมกมุ่นกับอะไรก็ตามที่จะได้ไปยืนบนเวทีโลก เกาหลีจะมองไปสู่การที่ตัวเองมีที่ยืนอยู่ในระดับชาติที่เจริญแล้ว หรือระดับโลกตลอด เกาหลีสนใจที่จะจดทะเบียนมรดกทางวัฒนธรรมของตนเองให้ขึ้นทะเบียนมรดกโลกเยอะมาก ซึ่งในหลายๆ ประเทศไม่มีใครสนใจ แต่เกาหลีสนใจมาก มันเป็นเรื่องของภาพลักษณ์ การได้รับการยกย่อง เป็น international standard หวังว่ามันจะเป็นกิมมิค เป็นแบรนด์ที่ขายได
การที่ได้รางวัลออสการ์ คือการตอกย้ำสิ่งที่เกาหลีทำมาตลอด เพราะเป็นการยกระดับการสร้างภาพยนตร์เกาหลีไปสู่เวทีโลกอย่างเป็นทางการ เกาหลีมองว่าตัวเองเป็น International Film Production ไม่ใช่ Domestic มานานมากแล้ว แต่ว่าไม่ได้รับการยกย่องยอมรับในเชิงสถาบันที่เป็นทางการ การได้รางวัลนี้ ทำให้เกาหลีสามารถที่จะเป็นศูนย์กลางการผลิตใหม่ของการผลิตภาพยนตร์ของโลกได้เลย
แง่หนึ่งหนัง หรือสื่อเกาหลี ก็สะท้อนปัญหาในสังคม แต่ทำไมถึงยังเกิดประเด็นที่มีคนต่อต้านคอนเทนต์ในสื่อเหล่านี้ อย่างเรื่อง คิม จียอง เกิดปี 1982 ที่มีคนต่อต้าน ทั้งนวนิยาย และภาพยนตร์
ทุกเรื่อง ก็มีคนที่ออกมาต่อต้านทั้งนั้น เพราะว่ามันเป็นการตีความสังคม คิมจียองก็ไม่ใช่เรื่องเดียวที่มีการถกเถียง อย่างละคร Crash Landing On You ก็มีคนออกมาประท้วง และหนังประวัติศาสตร์ทุกเรื่องก็มีคนออกมาประท้วงว่ามันไม่ถูกต้องทั้งนั้นเลย เป็นธรรมดามาก ในเมื่อสื่อมันมีเนื้อหา มันก็มีการสร้างบทสนทนา มันก็เกิดการถกเถียงกันได้ แต่ถ้าสร้างหนังแล้วเนื้อหากลวงเปล่า ก็ไม่รู้จะเสียเวลาไปอภิปรายอะไร
ประเด็นสำคัญก็คือ หนังเหล่านี้ มันทำหน้าที่อย่างมากในการสื่อสารกับคนในประเทศ ยกตัวอย่างว่า อย่างนักแสดงชายเกาหลี โอปป้า ที่ดูอบอุ่น คนก็บอกไม่เห็นเหมือนในสังคมจริงเลย ผมก็บอกว่า ถูก ไม่ใช่ทุกคนที่จะหน้าเหมือนฮยอนบิน อบอุ่นเหมือนกงยู หรือเรียบร้อยอ่อนหวานเหมือนโบกอมหรอกนะ แต่นี่คือ Ideal ที่เขากำลังสร้างสังคมอุดมคติขึ้นมาว่า คุณก็เป็นฮยอนบินได้นะ ถ้ามีความสุภาพ อ่อนโยน ถ้าดูแลครอบครัว ให้เกียรติคนอื่น มันกำลังสอนคนตลอดเวลา ในทุกเรื่อง โดยผ่านอุดมคติที่มีชีวิตเหล่านี้
เรียลลิตี้โชว์ The Return Of Superman ก็บอกว่า คุณเป็นพ่อที่ดีได้ และสังคมก็ต้องการพ่อที่ดี เพราะว่าเรากำลังจะชี้ให้เห็นว่า พ่อที่ดีคือคนที่เลี้ยงลูก ไม่จำเป็นจะต้องเป็นคนที่ออกไปทำงานอย่างหนัก เพื่อหาเลี้ยงครอบครัวอีกต่อไป รายการนี้ก็บอกว่า พ่อแบบนี้ก็เป็น Ideal มันไม่ได้เป็นแบบเดิมอีกต่อไป มันเป็นการกล่อมเกลาทางสังคมแบบที่มีชีวิตชีวา ไม่ใช่การท่องจำ
อย่างเรื่อง คิมจียอง ถ้าคุณสังเกต บทประพันธ์ในหนังสือกับภาพยนตร์ก็แตกต่างกัน หนังสือเขียนจากมุมมองของนักเขียน ซึ่งเป็นนักข่าว เขาเขียนจากฮันของตัวเอง ว่ามีความเจ็บปวด กดดันอะไรบ้าง หนังถูกตีความอีกแบบนึง ไม่ได้ตามหนังสือ แต่ตีความโดยการใช้กงยูเข้ามา ตอนมีข่าวว่ากงยูจะแสดงในภาพยนตร์เรื่องนี้ ผมก็นึกไม่ออก เพราะว่าหนังสือวิพากษ์วิจารณ์ความเป็นชายเยอะมากเลย คุณจะเอากงยู ผู้ชายที่เป็นลมหายใจแห่งภาคพื้นเอเชีย ไปไว้ตรงไหนในเรื่องนี้ ไม่มีทางเลย ภาพลักษณ์เขาไม่สามารถจะเป็นคนที่ทำแบบนั้นได้
แต่ภาพยนตร์กลับตีความให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของเพศสภาวะ (Gender Relations) มากกว่าการพูดว่าผู้หญิงถูกเอาเปรียบในเชิงปัจเจก การที่ผู้หญิงถูกเอาเปรียบมันไม่ใช่เรื่องว่าใครเอาเปรียบใคร แต่มันเป็นเรื่องของโครงสร้างหรือค่านิยมทางสังคมที่ทำร้ายทุกคน ทำให้ทุกคนอยู่ในความอึดอัด ภายใต้กรอบ บรรทัดฐาน หรือข้อจำกัดแบบนี้ กงยูในฐานะตัวละครที่เป็นสามี ก็ต้องเผชิญความอึดอัดไม่แพ้กัน เพราะฉะนั้น เขาตีความใหม่ที่ให้ที่ยืนมากขึ้นกับผู้ชาย ผมว่ามันเป็นความประนีประนอม ทำให้คนรับได้ และเชิญชวนคนเข้ามาสนทนา มากกว่าตัวหนังสือที่ ซึ่ง provocative มาก และผู้ชายจำนวนมากก็ปฏิเสธที่จะอ่าน
อย่างตอนนี้นอกจากเรื่องของผู้หญิง ก็มีเรื่องอื่นๆ ที่แต่ก่อนอาจจะพูดไม่ได้ เช่น เรื่องของ LGBTQ+ หรือประเด็นอื่นๆ อุตสาหกรรมบันเทิงเกาหลีเริ่มเปิดรับมากขึ้นหรือยัง
หนังเกาหลีทุกเรื่องมันมี Movement ทั้งนั้นเลย ตอนนี้มีซีรีส์เรื่องหนึ่งที่เพิ่งฉายจบไปคือ Itaewon Class นี่คือ Movement ในเกาหลี เพราะคุณดูซีรีส์เกาหลีมาหลายเรื่อง คุณจะไม่ค่อยเห็นคนผิวสี หรือ LGBTQ+ คนพวกนี้จะไม่มีทางเป็นตัวละครหลักได้เลย แต่เรื่องนี้เซอร์ไพรส์มาก เพราะมี LGBTQ+ และคนผิวสีที่กลายมาเป็นหนึ่งในตัวละครหลัก รวมถึงมีคนไม่เรียนหนังสือ และคนที่เคยต้องโทษในเรือนจำ คนพวกนี้คือคนที่สังคมเกาหลีไม่ให้พื้นที่บืนเลย แต่ละครเรื่องนี้มันกำลังบอกว่าคนเหล่านี้มีอยู่ในสังคมเกาหลีนะ แม้ว่าคนเกาหลีไม่กล้าที่จะพูดถึงแต่เค้ามีชีวิต มีความฝัน มีความมุ่งมั่นไม่ต่างจากเราๆ ในสังคม
ผมถึงบอกว่าสื่อเหล่านี้กำลังผลักสังคมและโลกทัศน์ของคนดูไปทีละนิด ให้คนกล้าที่จะยอมรับ โดยใช้วิธีการที่ไม่ใช่มาพูดเรื่อง LGBTQ+ หรือคนชายขอบอื่นๆ ตรงๆ เพราะถ้าพูดแบบนั้น ก็จะเจอการต่อต้านตั้งแต่ตอนแรกได้ง่าย
ในเรื่อง Itaewon Class ก็บอกว่า คนกลุ่มนี้ใช้พื้นที่ใน อิแทวอนได้ เพราะมันเป็นพื้นที่พิเศษ เป็นพื้นที่ยกเว้นในโซล พื้นที่นี้มันมีประวัติศาสตร์ที่สหรัฐฯ เข้ามา ทำให้พื้นที่มันเหมือนพัทยา หรือสีลม มีความเป็นตะวันตกและเป็นพื้นที่ที่เต็มไปด้วยความเป็นต่างชาติ มีความแปลกแยก ไม่ใช่พื้นที่ของความเป็นเกาหลีในแบบเดิม พื้นที่แบบนี้มันเลยยอมให้มีคลับเกย์ คนผิวสี คนมุสลิม หรือคนต่างชาติอยู่ได้ในสังคมที่อนุรักษ์นิยมของเกาหลี
ในเรื่องนี้มีเรื่องขัดแย้งเยอะมาก คนที่เป็นคนผิวสีบอกว่าตัวเองเป็นคนเกาหลี ไม่ใช่คนต่างชาติ แต่คนเกาหลีก็มักจะย้ำว่าเขาคือคนต่างชาติ ต้องพูดภาษาอังกฤษได้ จะมี stereotype อีกแบบนึง แต่เขาบอกว่า เขาไม่พูดอังกฤษ เขาพูดภาษาฝรั่งเศสเพราะมาจากกินี แต่ว่าเขาก็เติบโตด้วยภาษาเกาหลีด้วย เพราะพ่อเขาเป็นคนเกาหลี เขามีสัญชาติเกาหลี พูดเกาหลีเป็นภาษาแม่ แต่คนก็บอกว่าไม่ต้อนรับ เพราะเขาไม่ใช่คนเกาหลี มันก็เป็นการเหยียดเชื้อชาติที่ยังมีในเกาหลี
หรือแม้กระทั่งตัว LGBTQ+ เอง ที่เป็น transgender ทุกคนก็แปลกใจกับเพศสภาพดังกล่าว แต่พระเอกกลับรับได้กับเรื่องนี้ ถ้าคุณอยากเท่แบบพัคแซรอย คุณต้องใจกว้างกับเรื่องเพศสภาพ นี่เค้ากำลังทำให้เป็นตัวอย่าง มันคือ Movement ที่ชี้ให้เห็นว่า ถ้าคุณจะเป็นพระเอก หรือฮีโร่ คุณต้องยอมรับพหุวัฒนธรรมแบบนี้
เราเห็นความเป็น Liberal มากขึ้น แต่มุมนึงมันก็เป็นประเทศที่ Conservative มากๆ 2 แนวคิดนี้มันไปด้วยกันยังไง
สื่อพวกนี้มันเป็นตัวผลัก ต้องรู้จักจังหวะของการขยับขยายพรมแดนไปทีละนิด ผมคิดว่าทุกคนก็ไม่ได้แฮปปี้ กับการมีภาพของ LGBTQ+ หรือคนผิวสีแบบนี้ในหน้าจอโทรทัศน์ แต่ภาพที่นำเสนอเกี่ยวกับตัวแสดงเหล่านี้ ก็ทำให้เห็นว่า พวกเขาก็เหมือนคนเกาหลีคนอื่นๆ ที่มีสุขมีทุกข์ มีปม มีฮันเหมือนคนอื่นๆ และเขาก็ไม่ได้ทำตัวเป็นภัย เขาอยู่ของเขา และเราก็ไม่มีสิทธิไปกำจัดเขา
มันก็ทำให้คน conservative ค่อยๆ ยอมรับมากขึ้น ต่างจากเราที่เสนอภาพของคนเพศทางเลือกที่ต้องสุดโต่ง ตลก แสดงออกแบบแรงๆ ตลอดเวลา คนที่เป็นอนุรักษ์นิยมก็ยิ่งต่อต้าน
การพูดถึงเกาหลีเหนือก็เหมือนกัน แต่ก่อนคุณไม่สามารถที่จะพูดถึงเรื่องของเกาหลีเหนือได้เลย แต่ว่าเรามาถึงจุดที่คุณสามารถให้ภาพที่โรแมนติกกับเกาหลีเหนือได้แล้ว แสดงว่าทุกวันนี้มันกระเถิบมาไกลมากเลย เพราะฉะนั้น ความเป็นอนุรักษ์นิยมมันก็เปิดพื้นที่ให้กับแนวความคิดใหม่ๆ มากขึ้น และนี่คือความหลากหลาย มันก็ยังมีคนที่ไม่เห็นด้วย และก็มีคนที่ต้องการพยายามผลักประเด็นให้ไกลออกไปด้วยเช่นกัน
ในแง่นึงมันเป็นอุตสาหกรรมบันเทิง เพื่อความบันเทิง แต่ในแง่นึงมันก็ยังมีวัฒนธรรมที่ทำงานหนักมาก มันส่งผลอย่างไรต่อสังคม
ผมอยากจะแยกให้เห็น 2 อย่าง คือ เวลาเราดูเรื่องของวงการซีรีส์ ภาพยนตร์ เราเสพคอนเทนต์ คนที่เป็นตัวหลักในการผลิตผลงานสำคัญๆ เราจะรู้ว่ามันต้องมี producer หรือผู้ผลิต มีผู้กำกับ มีตัวดารานักแสดงมารับบทบาทต่างๆ และคนที่สำคัญก็คือ คนเขียนบท การประสบความสำเร็จของละครมาจากผู้กำกับ หรือคนเขียนบทเยอะมาก คนเกาหลีถึงรู้จักว่าใครคือคนเขียนบท คนพวกนี้ทำงานหนักมาก กว่าจะได้มาซึ่งคอนเทนต์ที่ดี และ production ที่ดี
ในสื่อที่เป็น K-pop ก็เรียกร้องการทำงานหนักเหมือนกัน แต่จากตัวศิลปิน วงการ K-pop เป็นอีกวงการนึงที่ไม่ได้ขายคอนเทนต์อย่างเดียว แต่ขายความเป็นไอดอล ความเป็นบุคคลตัวอย่างของศิลปิน คุณเห็นพัฒนาการของศิลปินคนนี้ เห็นพฤติกรรม เป็นความสัมพันธ์แบบหนึ่งที่เชื่อมแฟนคลับกับตัวศิลปิน อันนี้เป็นความสัมพันธ์ที่ก้าวพ้นคอนเทนต์ของหนัง ละคร หรือเนื้อหาบทเพลง เพราะฉะนั้นคนพวกนี้ก็ต้องแสดงให้เห็นว่าคุณทำงานหนัก ใส่ใจสังคม เพราะคุณคือตัวคอนเทนต์โดยตัวของคุณเอง ในขณะที่สื่อภาพยนตร์มีตัวคอนเทนต์อื่นๆ อยู่นอกเหนือตัวดารา นักแสดงเข้าไปอยู่ในคอนเทนต์นั้น
ความกดดันของดารา และของศิลปิน K-pop จึงแตกต่างกัน การทำงานหนักก็แตกต่างกัน บ่าของคนที่ทำงานไอดอล รับภาระต่างๆ มากมายเลย เพราะเขาเองคือคอนเทนต์ ในขณะที่อุตสาหกรรมภาพยนตร์ คอนเทนต์มันถูกกระจายไปสู่ส่วนต่างๆ
ในภาพนึง เราก็รู้ว่ามันทำงานหนักมาก แต่เราก็เห็นภาพเด็กวัยรุ่นที่อยากเข้าวงการบันเทิง เป็นไอดอล หรือดารามากมายด้วย
คนส่วนใหญ่ก็รู้ว่า มันไม่ง่าย คนจำนวนมากก็รู้ว่า คุณต้องทำงานหนักจริงๆ ต้องยอมทำสิ่งต่างๆ เพื่อที่แลกมา แม้ว่าอาจจะไม่ประสบความสำเร็จ แต่คนเกาหลี อย่างที่เห็นในภาพยนตร์ หรือในซีรีส์จะเห็นว่า เขามี commitment กับอะไรที่ยาวนาน เช่น คุณหวังว่าอีก 10 ปี คุณจะไปให้ถึงจุดนั้นให้ได้ คุณก็จะรู้ว่าในทุกวัน คุณต้องทำสิ่งนี้ไปทีละนิด เพื่อไปถึงตรงนั้น ความใจร้อนหรือทางลัดมันไม่มี ต้องมีแต่ความอดทน มีความตั้งใจ
สังคมไทยอาจะไม่ได้ถูกสอนให้มี commitment ที่ยาวนานขนาดนั้น คุณพร้อมที่จะเปลี่ยนได้ เมื่อมีเส้นทางใหม่ แต่คนเกาหลีจำนวนไม่น้อยรู้สึกว่า มันมีเส้นทางเดียวที่เขาต้องเดิน มันก็เลยนำมาซึ่งความคาดหวัง และความผิดหวังที่เยอะด้วย