“แล้วแกจะไปสนใจชีวิตคนพวกนั้นทำไม แกไม่มีวันได้ใช้ชีวิตเป็นประชาชนคนธรรมดาอยู่แล้ว”- ประธาน จินยางชอล
เรื่องราวเข้มข้นของแชบอล ตระกูลนักธุรกิจขนาดใหญ่ การต่อสู้ของครอบครัว และการแก้แค้น ในซีรีส์เกาหลี Reborn Rich ได้สะท้อนให้เราเห็นภาพเหมือนจริง ของตระกูลแชบอล กลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ ผู้เป็นเสาหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเกาหลีใต้ จนรุ่งเรืองถึงทุกวันนี้
นอกจากการชิงดี ชิงตำแหน่งผู้สอบทอดในซีรีส์แล้ว เรายังเห็นความอภิสิทธิ์ชนของคนรวย ที่เกิดมาบนกองเงินกองทองในตระกูลแชบอล การเข้าไปมีส่วนล็อบบี้ อยู่เบื้องหลังทางการเมือง การละเมิดกฎหมาย และการติดสินบนเพื่อความไม่โปร่งใสต่างๆ ในการดำเนินธุรกิจ ซึ่งไม่ได้ต่างไปจากแชบอลจริงๆ ในเกาหลีใต้เช่นกัน
บทความนี้จึงอยากมาชวนดูว่า ที่เราดู เราเห็นเครือซุนยังกรุ๊ปในซีรีส์นั้น สอดคล้องไปกับเหตุการณ์จริงของแชบอลในเกาหลีใต้แค่ไหน
แช (財) + บอล (閥)
ใช้โทรศัพท์ Samsung เดินห้าง Shinsegae ดูหนังที่โรง CGV ทั้งหมดนี้ล้วนแต่เป็นผลิตภัณฑ์ และสินค้าของบริษัทในเครือตระกูลแชบอลในเกาหลีใต้ทั้งนั้น ทั้งยังเป็นเครือญาติกันเองด้วย
คำว่า แชบอล มาจากการรวมกันของคำในภาษาเกาหลี ว่า แช (財) ที่แปลว่าความมั่งคั่ง และ บอล (閥) ที่แปลว่า ตระกูลหรือกลุ่ม ดังนั้นเมื่อรวมกันแล้ว แชบอล ก็คือกลุ่มครอบครัวที่ร่ำรวยที่มีธุรกิจ และมักจะมีบริษัทสาขาในอุตสาหกรรมที่หลากหลาย โดยกลุ่มธุรกิจของแชบอลมีทั้งที่ก่อตั้งขึ้นมาตั้งแต่เกาหลียังอยู่ภายใต้อาณานิคมของญี่ปุ่น รวมไปถึงหลังสงครามเกาหลี ซึ่งมาจากทั้งการเข้าซื้อกิจการของบริษัทญี่ปุ่น และพัฒนาเป็นบริษัทเกาหลีด้วย
จากในซีรีส์ เราจะเห็นถึงการบริหารแบบ ‘เราอยู่กันแบบครอบครัว’ ที่พี่ชายคนโตดูเครือบริษัทนึง พี่คนรอง และคนน้องต่างก็กระจายกันดูแลบริษัทในเครืออื่นๆ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริงๆ ภายใต้โครงสร้างและการบริหารธุรกิจของแชบอล เพราะธุรกิจเหล่านี้ มักจะกำหนดให้สมาชิกของตระกูลผู้ก่อตั้งอยู่ในตำแหน่งเจ้าของหรือผู้บริหาร ทำให้พวกเขาสามารถควบคุมบริษัทในเครือได้ โดยยกตัวอย่างแชบอลที่ทุกคนน่าจะคุ้นชินกันมากที่สุดอย่าง Samsung group ที่จริงๆ แล้วตระกูลนี้ไม่ได้ผลิตแค่สินค้าอิเล็กทรอนิกส์อย่างเดียวเท่านั้น แต่ Samsung Group ยังแยกออกได้เป็น 5 ส่วน ซึ่งแต่ละส่วนก็อยู่กันคนละธุรกิจ
- Samsung ธุรกิจอิเล็กทรอนิกส์ การก่อสร้าง ประกันภัย รีสอร์ท ฯลฯ
- CJ Group ซึ่งมีอุตสาหกรรมต่างๆ ทั้งอาหารและการบริการอาหาร เภสัชกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพ สื่อบันเทิง โฮมช้อปปิ้ง และโลจิสติกส์
- Hansol Group ที่ทำผลิตภัณฑ์กระดาษ อิเล็กทรอนิกส์ เคมีภัณฑ์ โลจิสติกส์ เทคโนโลยีไอทีและบริการโซลูชั่น การตกแต่งภายในบ้าน และการก่อสร้าง
- JooAng Group ธุรกิจสื่อ ที่มีทั้งช่องทีวี และหนังสือพิมพ์
- Shinsegae Group ธุรกิจห้างสรรพสินค้า
ซึ่งแม้ว่าตอนนี้ บางกรุ๊ปจะไม่ได้อยู่ใต้ร่ม Samsung Group แล้ว แต่ก็ล้วนแตกหน่อออกมาจากตระกูลผู้ก่อตั้ง Samsung และเครือญาตินั้นก็ยังคงนั่งอยู่ในตำแหน่งผู้บริหารอยู่
จากรายงานของ Fair Trade Commission (FTC) ในเกาหลีใต้ ที่จะรายงานประจำปีถึงกลุ่มบริษัทที่มีทรัพย์สินรวมกันมากกว่า 5 ล้านล้านวอน (ประมาณ 1.5 แสนล้านบาท) พบว่าในปี 2021 เกาหลีใต้มี 76 กลุ่มบริษัท โดยแชบอลที่ติดอันดับรวมกันแล้วมีบริษัทในเครือถึง 2,886 บริษัท ซึ่งถือว่ามีจำนวนเพิ่มขึ้นจากปี 2020 ที่มี 64 กลุ่มบริษัท โดยแน่นอนว่าอันดับ 1 ก็ตกเป็นของ Samsung Group ที่ถือครองสินทรัพย์รวม 483.9 ล้านล้านวอน (ประมาณ 13 ล้านล้านบาท) เพิ่มขึ้นถึง 5.8 เปอร์เซ็นต์จากรายงานในปี 2020 ทั้งรายได้ของบริษัทในเครือที่ใหญ่ที่สุด 15 แห่งของ Samsung Group ในปี 2021 ยังคำนวณได้ เป็นประมาณ 20.3% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของเกาหลีใต้ด้วย
และถึงแม้ว่ารายงานจะมีลิสต์ถึงกว่า 70 กลุ่มบริษัท แต่หากนำ top 5 มารวมกันแล้วนั้น ยังสามารถคิดเป็นมูลค่าประมาณครึ่งหนึ่งของมูลค่าตลาดหุ้นเกาหลีใต้ รวมไปถึงบริษัทแชบอลระดับท็อป ยังเป็นเหมือนเป้าหมายสำหรับบัณฑิตจบใหม่ ในการสมัครเข้าทำงาน โดยข้อมูลของ Chosun Biz พบว่า ในแต่ละปี มีเด็กจบใหม่โดยเฉลี่ย 5 แสนคน ที่พยายามสมัครเข้าทำงานกับกลุ่มเครือบริษัทแชบอล คิดเป็น 73% ของเด็กจบใหม่เลยด้วย
จึงไม่แปลกที่ถ้าในซีรีส์อัยการจะพูดเปรียบเทียบว่า “นี่ไม่ใช่สาธารณรัฐเกาหลี แต่เป็นสาธารณรัฐซุนยัง” เพราะในเกาหลีใต้เอง ก็มีคำที่คนมักเปรียบเทียบประเทศว่า เป็นอาณาจักรของแชบอล (Chaebol Kingdom) ไปถึงคำว่า สาธารณรัฐ Samsung เช่นกัน
แชบอล และความสัมพันธ์ที่ตัดไม่ขาดของภาคธุรกิจ และการเมือง
ให้เงินสนับสนุนการหาเสียง เข้าออกชองวาแด (Blue house หรือทำเนียบรัฐบาลเกาหลี) หารือกับผู้มีอำนาจ ต้องทำตามคำสั่งนโยบายต่างๆ ของรัฐบาล – แม้ว่าตัวซีรีส์จะไม่ได้เน้นถึงการฉายภาพความสัมพันธ์ของซุนยังกรุ๊ปกับรัฐบาล แต่ตลอดการดำเนินเรื่อง ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า เราเห็นภาคการเมือง และภาคธุรกิจที่มีความสัมพันธ์ที่ไม่สามารถตัดขาดกันได้ แต่ต้องเกื้อหนุนกัน หรือขัดขากันไปโดยตลอด
แชบอลในเกาหลีใต้ที่สามารถกลายมาเป็นกลุ่มธุรกิจที่ร่ำรวย มีอิทธิพลต่อเศรษฐกิจในประเทศ และระหว่างประเทศได้ ก็เพราะความสัมพันธ์ และนโยบายของรัฐบาล โดยเฉพาะในยุคเผด็จการ ตั้งแต่ปี 1960 ภายใต้ประธานาธิบดีปาร์กจุงฮี ซึ่งมีทั้งการสนับสนุนกันในรูปแบบเงินอุดหนุน เงินกู้ และสิ่งจูงใจทางภาษีช่วยให้พวกเขากลายเป็นเสาหลักของเศรษฐกิจเกาหลีใต้
ในช่วงการปกครองของเกือบสองทศวรรษของปาร์ก เป็นช่วงที่มีการให้สิทธิพิเศษแก่บางบริษัทเพื่อส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจ ตามรูปแบบที่กำหนดโดยกระทรวงการค้าระหว่างประเทศ รัฐบาลเกาหลีในตอนนั้นได้สร้างตัวแทนระดับประเทศเป็นครั้งแรกผ่านการคัดเลือกผู้ชนะที่มีผลงานที่ยอดเยี่ยมในหมู่บริษัทเกาหลี และมอบรางวัลให้กับโครงการพิเศษต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโครงการอุตสาหกรรมการทหารและการก่อสร้าง นอกจากนี้ยังส่งเสริมเงินทุนผ่านมาตรการต่างๆ มากมาย เช่น การลดภาษีและการอุดหนุนการส่งออก หรือสินเชื่อที่ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันและทำหน้าที่เป็นผู้ค้ำประกันสินเชื่อ ทั้งที่ในตอนนั้นเกาหลีเป็นประเทศที่ยากจนมาก ธุรกิจเหล่านี้จึงไม่มีเครดิตในการจะกู้เงินจากต่างประเทศ ฝ่ายรัฐบาลก็ทำการแทรกแซงจัดหาทุนจากต่างประเทศให้บริษัทเหล่านี้ในการดำเนินการด้วย
ในช่วงทศวรรษที่ 1980 แชบอลเติบโตจนกลายเป็นธุรกิจข้ามชาติที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของรัฐ ซึ่งไม่ต้องการเงินทุนและความช่วยเหลือจากรัฐอีกต่อไป แต่การเติบโตของธุรกิจนั้นก็ยังไปต่อ จนถึงระดับที่มีกำลังการผลิตทางอุตสาหกรรมที่มากเกินไป และเกิดการผลิตที่ซ้ำซ้อนขึ้น ซึ่งเมื่อเข้าไปในตลาดโลก จุดอ่อนในการกำกับดูแลกิจการของธุรกิจแชบอลก็เริ่มเผยออกมา จนรัฐบาลต้องเริ่มเพิ่มนโยบายการกำกับดูแล เพราะกลุ่มบริษัทขนาดใหญ่เหล่านี้ มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจเกาหลีได้
และอย่างที่เราเห็นในซีรีส์กับช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ IMF ที่บริษัททั้งหลายได้รับผลกระทบ และล้มละลาย ในตอนนั้น แชบอลเองก็ได้รับผลกระทบอย่างมาก โดยเหล่าแชบอลที่สูญเสียการสนับสนุนจากภาคการธนาคารของเกาหลีใต้ได้ล้มละลายอย่างรวดเร็ว ความยากลำบากด้านสภาพคล่องที่ตามมาทำให้กลุ่มบริษัทในเครือหันไปขอความช่วยเหลือจากรัฐบาล ซึ่งก็ต้องยื่นอุทธรณ์ต่อ IMF เพื่อขอเงินกู้ 57,000 ล้านดอลลาร์ แต่ถึงอย่างนั้นบริษัทที่ยังไปรอดต่อได้ ก็กลับเข้มแข็งมากขึ้น
โดยภายใต้การตรวจสอบและช่วยเหลือของ IMF สถานการณ์เริ่มเปลี่ยนไปและเข้าสู่ความเป็นโลกาภิวัตน์ ตลาดหลักทรัพย์เริ่มเปิดสำหรับนักลงทุนต่างชาติ จนนำไปสู่การจัดหาเงินทุนโดยตรงในบริษัทเกาหลีผ่านตลาดหุ้น ในขณะที่ปริมาณการจัดหาเงินทุนทางอ้อม เช่น สินเชื่อธนาคารลดลง สำหรับกลุ่มแชบอล สิ่งนี้นำไปสู่การเกิดระบบการจัดการที่เน้นผู้ถือหุ้นเป็นหลัก รวมไปถึงความพยายามของรัฐบาลในการปรับปรุงความโปร่งใสขององค์กรได้บังคับให้บริษัทยักษ์ใหญ่ต้องจัดทำงบการเงินรวม เพื่อเพิ่มความโปร่งใสของการลงทุน และการทำธุรกรรมระหว่างบริษัทในเครือ รัฐบาลยังได้แก้ไขมาตรฐานการบัญชีการเงินของเกาหลี เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานการบัญชีระหว่างประเทศ (IAS) จนในที่สุด บริษัทเกาหลีก็เริ่มตระหนักถึงความสำคัญของความโปร่งใส และความน่าเชื่อถือในการระดมทุนในตลาด
แต่ถึงจะมีความพยายามทำให้บริษัทเหล่านี้โปร่งใส ในจุดหนึ่ง เมื่อเกาหลีได้เปลี่ยนแปลงการปกครองจากเผด็จการ เป็นประชาธิปไตย ที่กระแสการตรวจสอบ และเอาผิดผู้ทำผิดกฎหมายก็เป็นไปอย่างเข้มข้นขึ้น โดยเฉพาะในช่วง 1993-1998 ภายใต้รัฐบาลประชาธิปไตยของคิมยองซัม ซึ่งเริ่มมีการแสการต่อต้านแชบอล รวมถึงการเรียกร้องให้ตรวจสอบ ซึ่งในยุคนั้นประธานบริษัทแชบอลหลายคน เช่น ลีคุนฮี แห่ง Samsung Group และคิมวูจอง แห่ง Daewoo ก็ถูกดำเนินคดีในข้อหาติดสินบนอดีตประธานาธิบดี แต่ถึงอย่างนั้น การดำเนินคดีก็ไม่ได้จบลงด้วย คำตัดสินที่ใครหลายๆ คนมองว่าสมเหตุสมผล
“ขอแค่รวยก็พอ ท่านประธานน้ำใจงาม ก็รอดคดีประพฤติมิชอบ ยักยอกเงิน หรือแม้แต่เลี่ยงภาษี ถ้าเงินถึงที่ตั้งไว้ ราคาเหมาจ่ายตายตัวของสามปี กับห้าปี เหมือรอาชญากรรมติดป้ายราคา” – อัยการซอมินยอง
อย่างที่อัยการซอ กล่าวในซีรีส์ตอนแรก เราเห็นฉากที่เปิดมาพร้อมประธานจินยองกี ถูกติดสินคดี จำคุก 3 ปี รอลงอาญา 5 ปี ซึ่งตัวเลข และคำตัดสินทำนองนี้เกิดขึ้นจริงๆ กับคดีของเหล่าแชบอล ไม่ว่าจะเป็นคดีหนีภาษีของโชยางโฮ อดีตประธาน Korea Air ในปี 2000 ชองมงกู อดีตประธาน Hyundai motor และ ลีคุนฮี แห่ง Samsung Group ในปี 2008
การทำเงินมหาศาลให้กับเศรฐกิจของประเทศ และความสัมพันธ์กับรัฐบาล ทำให้แชบอลเหล่านี้ ถูกมองว่าทำคุณประโยชน์ให้ต่อประเทศมากมาย และมักรอดพ้นคดี “มีหลายๆ คดีมากในเกาหลีที่แชบอล และกลุ่มธุรกิจ ใช้อำนาจในทางที่ผิด มันเป็นเรื่องที่รู้กันทั่วไปอยู่แล้วว่าแชบอลของกลุ่มธุรกิจจะไม่ติดคุก พวกเขาถือว่าตัวเองถืออำนาจพิเศษ และไม่มีใครแตะต้องได้” – ชุงซันซอบ CEO ของเว็บไซต์ Chaebul.com กล่าว
ปาร์กแทอู นักข่าวหนังสือพิมพ์ Hankyoreh ก็กล่าวถึงการตัดสินคดีในรูปแบบนี้ว่า “ในระบบตุลาการเกาหลี มีสิ่งที่เรียกว่า ‘Chaebol Negotiation Rule’ ซึ่งนั่นก็คือการที่ตอนแรกลงโทษจำคุก 3 ปี และลดเหลือรอลงอาญา 5 ปี โดยเหตุผลหลักในการให้ออกจากภาคทัณฑ์แทนการติดคุก คือ แชบอลเหล่านี้ได้มีส่วนอย่างมากต่อภาคเศรษฐกิจของประเทศ รัฐบาลและประชาชนทำให้แชบอลเติบโต แต่ตอนนี้แชบอลได้ควบคุมรัฐบาล และประชาชน ฝ่ายระบบตุลาการ”
ภาพแชบอลในซีรีส์ ที่สะท้อนความจริง จนกลายเป็นที่นิยม
ความนิยมของซีรีส์ Reborn Rich ได้ถูกพิสูจน์แล้วผ่านเรตติ้งที่พุ่งขึ้นทำลายสถิติ โดยเฉพาะในตอนที่14 ที่แซงหน้าขึ้นเป็นซีรีส์ที่ทำเรตติ้งได้สูงสุดอันดับ 2 ของช่องเคเบิล เป็นรองเพียงแค่ซีรีส์ The World of Marriage Couple เท่านั้น ทั้งยังกลายเป็นซีรีส์ที่มียอดคนดูมากที่สุดในปี 2022 ของเกาหลีใต้แล้วด้วย
ไม่เพียงแค่ความสัมพันธ์ของแชบอลกับการเมือง ภาคเศรษฐกิจ การถูกดำเนินคดี ที่เหมือนเอาประวัติศาสตร์จริงของเกาหลีใต้สอดแทรกมาเล่า แต่เกร็ดอื่นๆ อย่างการควบรวมเข้าซื้อธุรกิจ การแต่งงานกันเองของเหล่าแชบอล เพื่อรักษาเส้นสายความสัมพันธ์ การประกาศยุติวิธีการสืบทอดบริษัทผ่านทางลูกคนโต หรือครอบครัว ต่างก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริงๆ กับแชบอลในเกาหลีใต้
นักวิจารณ์ด้านวัฒนธรรม ฮาแจคอน ก็ได้ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว The Korea Herald ถึงหนึ่งในเหตุผลที่อยู่เบื้องหลังความนิยมของละครเรื่องนี้ ก็เพราะความสนใจอย่างมากที่สาธารณชนมีต่อแชบอลในเกาหลีใต้
“ประชาชนมีความสนใจอย่างมากในแชบอล ซึ่งเป็นปัจจัยทางเศรษฐกิจและสังคมที่สำคัญมากในสังคมเกาหลีใต้ ไม่ใช่เรื่องเกินเลยที่จะกล่าวว่าประวัติศาสตร์ของมหาเศรษฐีเป็นตัวแทนของประวัติศาสตร์สมัยใหม่ของเกาหลี”
จุงด็อกฮยอน นักวิจารณ์อีกคนเองก็มองเช่นกันว่า เพราะการผสมผสานประวัติศาสตร์สมัยใหม่ของเกาหลีใต้เข้าไปในโครงเรื่อง ผ่านเหตุการณ์จริงทั้งหมดที่เกิดขึ้น รวมไปถึง “มุมมองของสาธารณชนที่มีต่อแชบอลนั้นหลากหลายมาก มีทั้งความชื่นชมและความไม่พอใจ” ทำให้การดูซีรีส์เรื่องนี้ เป็นทั้งความบันเทิง และความพอใจของคนที่สนใจในประเด็นแชบอลอยู่แล้ว
นอกจากนี้ แม้ตัวละครในซีรีส์จะเป็นเครือญาติ แต่เรากลับเห็นความแก่งแย่ง และความแค้น มากกว่าความรักที่สะท้อนออกมา ซึ่ง คูจองวู ศาสตราจารย์ด้านสังคมวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยซุงกยุนกวาน ก็กล่าวว่า “ความรู้สึกของการถูกกีดกันจากครอบครัวนั้นแพร่หลายในสังคมเกาหลี เนื่องจากความไม่เท่าเทียมกันทางสังคมที่ขยายวงกว้างขึ้น” ซึ่งทำให้คนดูมีอารณ์ร่วมไปกับ จินโดจุน ที่สามารถกลับมาเกิดใหม่ ทะยานขึ้นสู่ลำดับชั้นทางสังคมได้อย่างง่ายดาย รวมไปถึงการที่ตัวละครนี้ได้รับชัยชนะครั้งแล้วครั้งเล่าด้วย
อ้างอิงจาก