นับวันโลกยิ่งให้ทางเลือกกับเรามากขึ้นเรื่อยๆ ชื่ออาชีพใหม่ๆ ที่ไม่คุ้นหูอย่าง Data Scientist และการทำ Machine Learning กลายเป็นคำที่ได้ยินจนชินในระดับโลก บ้านเราเองก็มีอาชีพที่กำลังมาแรงกับเขาเหมือนกัน แถมมาจากสิ่งที่เราใช้อยู่ทุกวัน อาชีพที่ว่าก็คือการทำสติ๊กเกอร์ไลน์ขาย
การมีอาชีพใหม่ๆ เพิ่มขึ้นมาถือว่าเป็นผลดีกับตลาดแรงงาน จากรายงานปี 2017 ของ LinkedIn เว็บไซต์รวมรวมโปร์ไฟล์และเครือข่ายคนทำงานที่ใหญ่ที่สุดบอกว่า เมื่อมีอาชีพเกิดใหม่ (emerging jobs) ก็หมายความว่าคนจะยิ่งมีโอกาสมากขึ้นตามไปด้วย และคาดว่าในปี 2026 จะมีงานเพิ่มขึ้นกว่า 11.5 ล้านตำแหน่ง ยิ่งไปกว่านั้น World Economics Forum ยังบอกอีกว่า ในอานาคตเด็กที่เรียนชั้นประถมอยู่ตอนนี้กว่า 65% จะทำงานที่ยังไม่เคยมีในปัจจุบัน
ถ้าพูดถึงในไทย บ้านเรานับว่าเป็นประเทศที่ใช้แอพพลิเคชั่นไลน์เพื่อแชตหากันเป็นอันดับท็อปๆ ของโลก (ญี่ปุ่น ไต้หวัน และอินโดนีเซียก็ไม่แพ้กัน) นอกจากใช้คุยแล้ว ไลน์ยังช่วยสร้างงานสร้างอาชีพ เปิดโอกาสให้เราเข้าไปทำสติ๊กเกอร์ขายได้ด้วย ตรงนี้เองที่ทำให้เกิดเป็นอาชีพนักวาดสติ๊กเกอร์ไลน์ หรือสติ๊กเกอร์ครีเอเตอร์
สำหรับใครที่ใช้ไลน์ ใช้สติ๊กเกอร์อยู่ทุกวัน และกำลังอยากลองทำสติ๊กเกอร์ขายเผื่อจะรวยกับใครเขาบ้าง The MATTER พาไปดูว่าตอนนี้ตลาดนักวาดสติ๊กเกอร์ไลน์ในไทยเป็นยังไง ยึดเป็นอาชีพได้แค่ไหน และทริคในการทำสติ๊กเกอร์ให้ปังและขายได้จากครีเอเตอร์ที่ชนะการประกวด LINE Creators Market Sticker Contest
ตลาดของสติ๊กเกอร์ไลน์—ยึดเป็นอาชีพหลักได้แค่ไหน
ตลาดการซื้อขายสติ๊กเกอร์ในไทยตอนนี้กำลังคึกคักมากๆ ถ้าวัดจากปีนี้เทียบกับปีที่แล้ว มีจำนวนครีเอเตอร์เพิ่มขึ้น 350,000 คน สูงกว่าเดิมถึงสองเท่า และจำนวนนักวาดที่เข้ามาใหม่ก็ทำให้มีสติ๊กเกอร์ในตลาดมากกว่าปีก่อน 7 เท่า ปริมาณคนซื้อก็เพิ่มตามไปด้วย แถมการประกวด LINE Creators Market Sticker Contest ครั้งล่าสุดยังมีคนส่งผลงานกว่า 2,200 คน ต่างจากครั้งที่แล้วซึ่งมีเพียง 800 คน จึงไม่แปลกเลยที่ในปี 2018 ธุรกิจสติ๊กเกอร์ LINE ประเทศไทยจะเติบโตเป็นอันดับหนึ่งเมื่อเทียบกับทั่วโลก
นอกจากแนวโน้มของตลาดที่ดีแล้ว การจะเป็นนักวาดสติ๊กเกอร์ไลน์ที่ทำเป็นอาชีพจริงๆ จังๆ ได้ก็เป็นเรื่องสำคัญ โดยคุณกณพ ศุภมานพ ผู้อำนวยการฝ่ายธุรกิจสติกเกอร์ LINE ประเทศไทย บอกว่า “ในส่วนของการสนับสนุนครีเอเตอร์ของประเทศไทยเอง LINE ต้องการให้การทำสติ๊กเกอร์สามารถที่จะเป็นอาชีพหนึ่งได้เลย เพราะในกิจการหลายๆ อย่างในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เราพยายามส่งเสริมอาชีพครีเอเตอร์ให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น ทำให้คนไทยจำนวนหนึ่งมองเห็นว่า เฮ้ย มันมีอีกอาชีพนึงนะ ซึ่งมันเป็นอาชีพใหม่และเค้าไม่เคยรู้จักมาก่อน”
คุณกณพยังยกตัวอย่างครีเอเตอร์ไทยที่ประสบความสำเร็จให้ฟังว่า “อย่างเคสล่าสุด เดิมคือเป็นนักวิทยาศาสตร์ทำงานอยู่ในห้องแล็บ หลังจากทำสติ๊กเกอร์ออกมาแค่ชุดเดียว ใช้คำว่าลาออกจากการเป็นนักวิทยาศาสตร์มาเป็นครีเอเตอร์เลย เพราะเค้าบอกว่าเค้ามีรายได้ เรียกว่ายึดเป็นอาชีพได้ และเค้ามีความสุขมากกว่า”
เทรนด์สติ๊กเกอร์ขายดีในไทย
ในเรื่องเทรนด์ของสติ๊กเกอร์บ้านเราก็ถือว่าไม่เหมือนใคร LINE บอกว่า สติ๊กเกอร์ที่ขายดีในไทยคือ รูปผู้หญิงตัวเล็กๆ น่ารักๆ อย่าง ‘Drama Wife’ และอีกแบบหนึ่งที่คนไทยชอบซื้อ ชอบใช้กันมากๆ แถมยังต่างกับประเทศอื่นคือ ประเภทที่เล่นกับคำ เช่น สติ๊กเกอร์เซ็ต ‘Say science’ หรือ ‘English easy a little’
จากเทรนด์ที่ทาง LINE สรุปมก็พอจะเห็นว่า คนที่ทำสติ๊กเกอร์แล้วขายดี ไม่จำเป็นต้องวาดรูปเก่งก็ได้ ความคิดสร้างสรรค์ในการเล่นคำอาจจะเป็นอีกวิธีนึงที่ทำให้ประสบความสำเร็จ ซึ่งตรงนี้คุณกณพเสริมว่า “สติ๊กเกอร์คือคอนเทนต์ อะไรเป็นคอนเทนต์ที่จะถูกใจคนซื้อ มันไม่ได้วัดกันที่เทคนิควาดรูปสวย แน่นอนว่าวาดรูปสวยทำให้คนอยากซื้อมากขึ้น แต่ไม่ได้แปลว่าวาดรูปสวยอย่างเดียวแล้วจะขายได้ ขึ้นอยู่กับว่ามันสื่อสารอะไร เพราะคนซื้อเพื่อที่จะเอาไปสื่อสารกับคนอื่น มันตอบโจทย์การสื่อสารของเค้ารึเปล่า ไม่อย่างนั้นคือ เค้าจะซื้อแล้วเก็บไว้คนเดียวเหรอ”
ทริคทำสติ๊กเกอร์ไลน์สำหรับมือใหม่จากครีเอเตอร์ตัวจริง
เห็นภาพรวมของตลาดและเทรนด์กันแล้ว ทีนี้ก็ถึงเวลาชี้ช่องทำมาหากิน สำหรับคนที่อยากวาดสติ๊กเกอร์ไลน์ให้ถูกใจคนซื้อแต่วาดรูปไม่เก่งเท่าไหร่ และยังไม่รู้จะเริ่มจากตรงไหน คุณกรนันท์ ชื่นพิชัย เจ้าของสติ๊กเกอร์ ‘Animal Addict’ (เอาสัตว์ต่างๆ มาเล่นคำ) มีเคล็ดลับแนะนำง่ายๆ ว่า
“ในขั้นตอนการคิด อย่างเราก็คือคิดร่างใส่กระดาษไปก่อน อาจจะเริ่มจากคำพูด wording สั้นๆ ก่อนก็ได้ ร่างไปสัก 40 ตัว แล้วคิดแตกมาเป็นภาพ ใส่ลูกเล่นเข้าไป หลักๆ ก็คิดมาจากคำคำนึงก่อน”
แล้วจะเริ่มจากคำไหนก่อนดี ตรงนี้คุณศิริพันธ์ เจนตระกูลเลิศ เจ้าของสติ๊กเกอร์ ‘ชีวิตติดมัน’ (สติ๊กเกอร์ที่เอาคำว่า ‘มัน’ มาเล่น เช่น เฮ้ย อย่าไปกลัวมัน) พูดถึงไอเดียการทำสติ๊กเกอร์จากเรื่องใกล้ตัวว่า
“ด้วยความที่เราวาดรูปไม่เก่งด้วยมั้ง เรารู้สึกว่าแต่ละคนก็มีความคิดความชอบไม่เหมือนกัน เค้าอาจจะเล่าเรื่องของตัวเองผ่านสิ่งนั้น แล้วบังเอิญเรื่องของเค้ามันแชร์กับคนอื่นได้ง่าย มันก็เข้าทางการตลาด ส่วนตัวเราไม่ได้คิดจากตรงนั้น เราก็แค่คิดว่าคำแบบนี้มันน่าจะใช้ง่าย คือไม่ต้องไปเยอะ พยายามคิดให้ง่ายที่สุด ไม่เป็นภาระที่สุด”
“ตัวที่เราทำเกี่ยวกับหมูติดมัน ด้วยความที่เราชอบกินหมูกรอบ เราก็เลย เออ ทำเป็นตัวนี้แหละ แค่นี้เอง ไม่ได้คิดอะไรซับซ้อนเลย”
แค่คนชอบสติ๊กเกอร์ของเราอย่างเดียวคงไม่พอ เพราะถ้าจะทำให้มีรายได้ คนก็ต้องซื้อด้วย การมองสติ๊กเกอร์เป็นสินค้าแบบมุมมองทางธุรกิจหรือเศรษฐศาสตร์ไปเลยก็ถือว่าสำคัญ “ส่วนตัวมองว่าการส่งสติ๊กเกอร์แสดงความเป็นตัวตนของผู้ใช้ เราต้องเข้าใจว่าสิ่งไหนคือความต้องการของเค้า สำหรับมือใหม่ เรื่องเทคนิคอยากให้เริ่มต้นในสิ่งที่เป็นเฉพาะกลุ่มก่อนแล้วค่อยขยายฐานไปเรื่อยๆ หรือกำหนดกลุ่มคนที่จะเป็นลูกค้าชัดเจนและเข้าใจกลุ่มลูกค้านั้นจริงๆ” คุณพชร มิ่งขวัญ เจ้าของสติ๊กเกอร์ ‘ชีวิตประจำวันของ boba pug’ กล่าว
สุดท้ายถ้ายังไม่รู้จะเริ่มจากตรงไหนจริงๆ คำแนะนำจากคุณเหมือนฝัน ทรัพย์อเนก เจ้าของสติ๊กเกอร์ ‘Plug & Pudgy’ บอกอีกทริคง่ายๆ ว่า “ไม่ต้องสนใจว่ารูปจะออกมาเป็นยังไง หลักๆ เน้นความเป็นตัวเองเยอะๆ ถ้าเราอยากทำสติ๊กเกอร์แนวตลก แล้วเราเป็นคนตลก เพื่อนเราเป็นคนตลก ลองพยายามเอาคำจากที่เพื่อนเล่น หรือคุย หรือใช้ในชีวิตประจำวันมาใช้”
ได้ฟังแค่นี้ก็อยากจะลองทำสติ๊กเกอร์ขายขึ้นมาทันที จะมัวช้าอยู่ทำไม ใครว่างก็ลองวาดๆ เล่นดู เผื่อจะรวยไม่รู้ตัวก็ได้นะ
ขอขอบคุณ
ธุรกิจสติกเกอร์ LINE ประเทศไทย