ตอนเป็นเด็ก เป็นวัยรุ่น หรือแม้แต่เป็นผู้ใหญ่ เกือบทุกคนต่างก็ล้วนต้องเคยผ่านการเล่นเกม เล่นกับเพื่อนบ้าง เล่นคนเดียวบ้าง เคยมีช่วงเวลาติดเกม เล่นไม่พัก จ้องหน้าจออย่างหยุดไม่ได้ แล้วตอนนี้วงการตลาดเกมก็พัฒนาใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ไปถึงขนาดที่มีอาชีพเกมเมอร์ สร้างงาน สร้างรายได้จากการเล่มเกม แถมวงการ eSports ก็ยังถูกบรรจุ และยอมรับว่าเป็นกีฬาแล้วด้วย
และเมื่อวงการตลาดเกมของโลกโตไปเรื่อยๆ ในประเทศไทยของเราเองก็เริ่มมีพื้นที่ของวงการนี้เหมือนกัน ทั้งกระแส eSports หรือ MOBA ที่มีคนสนใจร่วมเล่นมากขึ้นเรื่อยๆ ไปจนถึงการสร้างรายการ eSports เรียลลิตี้รายการแรกของโลก อย่าง ‘King of Gamers’ ที่กำลังเฟ้นหานักกีฬา eSports มืออาชีพไปแข่งในระดับนานาชาติด้วย
The MATTER จึงชวน เต็นท์ กัลป์ กัลย์จาฤก ผู้บริหารจากกันตนา และผู้อำนวยการผลิตรายการนี้ มาพูดคุยถึงมุมมองต่อวงการเกมและ eSports ไทยในปัจจุบัน เป้าหมายในการผลิตรายการเรียลลิตี้เกมครั้งแรกของโลก และสิ่งที่อยากจะสื่อว่าถ้ามากกว่าเกมแล้ว รายการนี้สื่อถึงอะไร ?
ไอเดียของการสร้างรายการ King of Gamers ที่เป็นแนว e-sport reality รายการแรกของโลกมาจากไหน
จริงๆ เราอยากทำอะไรใหม่ๆ อยู่แล้ว เราเห็นว่าเทรนด์นี้กำลังมา ส่วนตัวเป็นคนเล่นเกมอยู่แล้วตั้งแต่เด็ก ตั้งแต่ PlayStation มาจนถึงยุคนี้ เลยคิดว่า eSports มันน่าสนใจ แล้วกระแสมันก็กำลังมา ซึ่งเราก็มีพันธมิตรที่ดีกับ Garena อยู่แล้ว คือคุยกันไว้ตั้งแต่ตอนที่ eSports กำลังจะบรรจุเป็นกีฬา ว่าเราอยากทำอะไรเกี่ยวกับมัน แต่ถ้าทำทั้งทีเราก็ต้องทำให้ใหม่ที่สุด ไม่งั้นมันก็จะทำไปเท่านั้น
MOBA หรือ eSports ไม่ได้มีแค่เกม ‘ROV’ ทำไมรายการแรกถึงเลือกเกมนี้มาใช้ในการแข่งขั้น
เอาจริงๆ มันก็เป็นเกมที่ดังที่สุดในหมู่ของคนในประเทศเรา แล้วก็คนที่เรารู้จักในประเทศ คนดาวน์โหลด 20 ล้านดาวน์โหลด ถ้าจะเริ่มจากตรงไหนมันก็ต้องเริ่มจากเกมนี้
รายการนี้มีสโลแกนว่า เป็นรายการที่จะทำให้ ‘เกม’ ไม่ใช่แค่ ‘เกม’ อีกต่อไป อยากสื่อว่ามากกว่าเกมแล้วมันคืออะไร
เรื่องที่หนึ่งมันคือเรื่องกีฬา เราว่ารายการมันสื่อถึงมิตรภาพ เราว่ามันมีความเป็นเพื่อน เราชอบทำอะไรเป็นกลุ่ม กีฬาเราก็ชอบเล่นฟุตบอล เกมเราก็ชอบเล่นเป็นกลุ่ม มันเหมือนมีความสัมพันธ์อะไรบางอย่าง พอเรายิ่งทำรายการเราก็ยิ่งอิน อินกับเกมวนหนึ่ง แต่อินกับคนที่มาเล่นเกมมากกว่า เราเห็นเขามีความฝัน เขามีความต้องการอยู่กับตัวเขา เขามี passion ในการทำ ที่เราเหมือนได้รับพลังต่อจากเขาอีกทีด้วย ซึ่งเกมมันไม่ใช่แค่เกมแล้ว มันกลายเป็นเรื่องของการสื่อสาร มิตรภาพที่เขามีต่อการไม่ว่าแพ้หรือชนะ เขาได้ทั้งหมด
ถ้าจบรายการไปแล้ว นักกีฬาที่ชนะจะได้รับอะไร
ส่วนหนึ่งก็มีเงินรางวัล แต่ที่สำคัญถ้าชนะในลีกนี้ ทีมที่ชนะที่ 1 จะได้เข้าไปใน Pro League ของ Garena ได้เข้าไปเป็นนักกีฬาจริงๆ เลย มีเงินเดือนให้ มีผู้สนับสนุน มีการฝึกซ้อม มีทุกอย่างให้เขาเพื่อที่จะทำให้เขาเป็นนักกีฬามืออาชีพและประสบความสำเร็จในการงานอาชีพนี้ต่อไป
ถ้ารายการนี้เป็นเหมือนขั้นแรกก่อนจะเป็น Pro League แล้วต่อจากนี้มีแผนจะทำรายการต่อเนื่องไปในขั้น Pro League เลยไหม
เราว่า Pro League กับรายการเรามันต่างกัน Pro League นี่คือระดับ Professional แต่รายการนี้คือการเตรียมเขาไปสู่ระดับนั้น จริงๆ เราทำรายการนี้เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้คน แล้วผมก็เน้นในการเล่าเรื่องคนมากกว่า เพราะผมเป็นนักเล่าเรื่อง คือเล่นเกมก็เป็นส่วนหนึ่งของการแข่งขัน แต่จริงๆ แล้ว ในรายการมันเล่าเรื่องของมนุษย์ เรื่องของคนที่เล่นเกม ซึ่งเราอยากรู้จักเขามากกว่า เพราะมันเป็น eSports Reality Show เพราะฉะนั้นมันคือเรื่องของคน มันไม่ใช่แค่การแข่ง เราอยากรู้ว่าเขาเป็นมายังไง ซึ่งตั้งแต่คัดตัว ผมก็ไม่ได้คัดมาเป็นทีมอยู่แล้ว ผมคัดแบบเดี่ยวมาจากทั่วประเทศ แล้วมารวมเป็นทีม เพราะฉะนั้นการอยู่ร่วมกัน มันต้องจูนอะไรหลายๆอย่าง มันไม่ใช่ทีมที่แข็งแกร่งมาแต่แรกอยู่แล้ว
คนติดภาพว่าวงการเกมจะเป็นพื้นที่สำหรับผู้ชาย แล้วในการทำรายการนี้ เริ่มเห็นผู้หญิงที่เข้ามาในพื้นที่นี้มากขึ้นไหม
ถ้าพูดถึงเป็นเปอร์เซน ผู้หญิงก็ยังน้อยอยู่ แต่ก็มี แล้วก็มีผู้หญิงที่เข้ามาอยู่ประมาณ 15% ซึ่งบอกเลยว่าไม่ธรรมดา คือคนที่เก่งก็เก่งจริงๆ คนที่เป็น Master ในรายการก็มีที่เป็นผู้หญิง ซึ่งเขาก็ได้ไปแข่งระดับเอเชียมาแล้ว ผมว่ามันก็เริ่มพัฒนาไปอีกระดับหนึ่งแล้ว แต่แน่นอนว่าผู้ชายก็ยังเล่นเยอะกว่าผู้หญิง
เป้าหมายของเกม ‘ROV’ ก็คือตีป้อม คิดว่าการตีป้อมมันปรับมาใช้กับอะไรในชีวิตประจำวันอะไรได้
เราว่าเรื่องตีป้อมมันเป็นเป้าหมายของชีวิต เหมือนคนเราก็อยู่ในเกม เราต้องไปเอาป้อมเขาให้ได้ ในมุมเรามันก็เหมือนเป้าหมายของอะไรซักอย่าง ความฝันบางอย่างที่เราอยากได้ แต่ระหว่างทางที่จะไปถึงป้อมมันไม่ง่าย มันมีทั้งตัวคอยกัน แม้กระทั่งตัวป้อมเองก็ยังสามารถมาทำร้ายเราได้ แต่เมื่อเราได้มันป้อมไปแล้ว ก็อย่าลืมรักษาป้อมส่วนของเราให้ดีด้วย เราว่าป้อมมันก็เหมือนเป้าหมายของชีวิต ถ้าเราไม่มีชีวิตก็ไม่ทำงาน เพราะฉะนั้นทุกคนที่มาเล่นมีเป้าหมายเดียวกัน
คนชอบพูดว่า ‘ROV’ เป็นเกมหัวร้อน เล่นแล้วหงุดหงิด คิดว่าจริงไหม
เราว่าหัวร้อนมันไม่เกี่ยวกับ ROV มันเกี่ยวกับวุฒิภาวะมากกว่า ร้อนมันก็ร้อนปกติ แต่มันร้อนในเชิงสนุก ไม่ได้ไปทำร้ายร่างกายใคร คนเราต้องมีอารมณ์ ไม่ใช่นิ่งอยู่ตลอดเวลาได้ ซึ่งดีแล้วที่เขาได้มีพื้นที่ปลดปล่อย ดีกว่าเขาไปทำอย่างอื่นรึเปล่า
เวลาเล่นเกม บางทีต้องมีการเติมเงิน คิดว่าเล่นเกมแล้วยับยั้งชั่งใจได้ไหมที่จะไม่เติมเงิน
ผมเติมอยู่แล้ว มันก็เหมือน เป็น Graphic Design ก็ต้องซื้อคอมที่ดี เป็นนักฟุตบอลก็ต้องซื้อรองเท้าที่ถูกต้อง เป็นเรื่องปกติ มันเป็นอุปกรณ์การเล่น ไม่มีมันก็ไม่เก่ง มันก็ต้องมีอะไรเสริมบ้าง จะให้ไปเตะบอลเท้าเปล่ามันก็ไม่ได้ ซึ่งเราก็ไม่เก่งอยู่แล้วเรายิ่งต้องใช้เงินช่วย ซึ่งใครมีเท่าไหร่เราก็ใช้เท่านั้น มีลิมิตของตัวเอง เราก็มีลิมิตของเรา แบบพอประมาณ เพราะต่อให้ซื้อเยอะแค่ไหนมันก็ไม่เก่งไปกว่านี้
คิดว่าเป็นปัญหาไหมกับการที่เติมเงินเยอะๆ ใช้เงินกับเกมเกินลิมิต
เราว่าปัญหามันไม่ได้อยู่ที่เกม ปัญหามันอยู่ที่ระบบสังคมมากกว่า เรื่องเหล่านี้อาจต้องมีสอนในระบบการศึกษา หรือผู้ปกครองควรห้ามปราม เพราะจริงๆ เกมมันก็อยู่ของมันเฉยๆ การเติมเงินก็อยู่ของมันเฉยๆ เด็กเหล่านี้หรือคนที่ใช้เกินลิมิตของตัวเอง เขาอาจจะมีวิธีคิดที่ผิดแล้วไม่ได้มีใครเตือนเขารึเปล่า อันนี้มากกว่าที่ผมว่าเป็นปัญหา
จากที่ทำรายการมา คิดว่าวงการ eSports ไทยไปได้ไกลถึงขนาดไหน
ผมว่าวงการ eSports ไทยไปได้ไกลแน่นอน เพราะว่าผู้ใหญ่หรือเด็กส่วนใหญ่เล่นเกม ซึ่งอยู่ดีๆ วันหนึ่งเขาสามารถสร้างรายได้ ถึงบางคนจะได้ บางคนไม่ได้ อันนี้ก็แล้วแต่ความเก่ง แต่อย่างน้อยเขารู้ว่า เขาเล่นเกมเพื่อไปถึงจุดๆนี้ เล่นไปเยอะๆ เราจะรู้ว่ามันอาจจะไม่ใช่ทางของเราก็ได้ ตอนเด็กๆ เราเองก็ชอบเล่นเกม แต่เรารู้ว่าเล่นยังไงมันก็ไม่เก่งไปกว่านี้ เราก็เปลี่ยนทางไปเรื่อยๆ ซึ่งมันดีที่มันมีที่ให้เราลอง พอเด็กเล่นแล้วรู้ว่ามันไม่ใช่ทางของเขา เขาก็ไปทำอย่างอื่น แล้วก็เอาเกมเป็นการผ่อนคลาย แต่ถ้าใครจริงจังก็สนับสนุนเขาสิ เขาจะได้ไปให้สุด แป๊บเดียวก็รู้แล้ว เพราะว่าพอเจอคนที่มันเกิดมาเพื่อจริงนี้ มันก็เก่งจริง นอกจากการฝึกซ้อม เขาก็มีไหวพริบในลักษณะพิเศษของพวกเขาเอง
วงการ eSports คนเล่นเยอะก็จริ งแต่จำนวนคนที่ประสบความสำเร็จในวงการนี้มันไม่ได้เยอะเท่ากับคนที่เล่นเกม รายการนี้เป็นช่องทางในการช่วยส่งเสริมตรงนั้นไหม
เราว่ามันช่วยให้เด็กมีความฝัน แล้วที่สำคัรายการมัน Entertain ทำให้มีเรื่องให้พูดคุยกัน ที่สำคัญคือมันมีความรู้ในเกม เรื่องเทคนิคพิเศษมันแตกต่างจากสิ่งที่เราเคยเห็น ปกติเราจะเห็นคนเล่นอย่างเดียว แต่รายการมันแสดงการที่ผู้แข่งขันปรับตัวเองเข้ากับลูกทีม การออกของต่างๆ ในเกม ซึ่งผมว่าน่าจะเป็นประโยชน์กับน้องๆ
ทำรายการเกี่ยวกับเกมแล้วถูกมองว่ามอมเมาเด็กไหม
ไม่น่าจะเกี่ยวนะ มอมเมามันเป็นคำที่ เหมือนเราไปตั้งเป้าไว้แล้วว่าเกมเป็นสิ่งที่มอมเมาเด็กนะ บางทีคนที่ไม่เคยเล่น ก็ไม่รู้ว่าเราเล่นกันยังไง ไม่รู้ว่าเป็นแบบไหน แต่จริงๆ มันไม่ได้มอมเมา แต่มันเป็นช่องทางหนึ่งที่ส่งเสริมให้เขาไปได้ดี ผู้ใหญ่ควรจะเข้าใจ ตอนนี้ตลาดเกมมันใหญ่ที่สุดในโลก ใหญ่กว่าตลาดทีวีอีก แล้วก็น่าจะใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ และมันพัฒนาคน มันไม่ได้ทำให้คนแย่ลงเลย
เวลาที่มีข่าวความรุนแรง คนชอบโทษว่าเป็นเพราะเกม คิดว่าเกมมีส่วนส่งเสริมความรุนแรงจริงไหม
ผมว่ามันแล้วแต่เกม แต่สุดท้ายเกมมันก็อยู่ของมันเฉยๆ เราว่ามันปัจจัยรอบด้านมากกว่าเรื่องของเกมที่ทำให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ จริงๆ ผมว่ามันไม่ได้เกี่ยวกับเเกมเลย
รายการ King of Gamers เป็นรายการ eSports รายการแรก คิดว่าในอนาคตรายการเองหรือว่าอนาคตของวงการ eSports ในประเทศจะไปถึงระดับไหนได้
ในมุมเราเราเป็นรายการทีวี คือจากที่เราซื้อฟอร์แมตของต่างประเทศมาทำ แล้วก็ทำซ้ำ ไม่ว่าจะเป็น The Return of Superman, The Face ไม่ว่าจะเป็นอะไรก็ตาม พอมาถึงจุดหนึ่งเราได้เรียนรู้อะไรบางอย่าง แล้วเรารู้สึกว่าเราไม่น่าจะแพ้ชาติใดในโลกรึเปล่า เราก็น่าจะทำของเราเองได้ โดยไม่จำเป็นต้องซื้อแล้ว เราลองเปลี่ยนมุมกลับกันว่าให้เขามาซื้อเราบ้าง
นี่คือเป้าหมายของเรา เราอยากทำรายการทีวีหรือทำภาพยนตร์ให้ระดับโลกเขาหันมาสนใจมากขึ้น เราคิดว่าคนไทยก็มีฝีมือ ก็เหมือน e-sport กีฬาเกมมันพึ่งมา เขาก็ควรจะได้รับโอกาสนั้นเหมือนกัน
Illustration by Yanin Jomwong
Photo by. Asadawut boonlitsak