เวลาสื่อบันเทิงตะวันตก มาถ่ายทำหรือพูดถึงญี่ปุ่น เรามักจะพบภาพอะไรบ้างครับ? ส่วนใหญ่ถ้าไม่เป็นห้าแยกชิบุยะ ภูเขาไฟฟูจิ ร้านซูชิ ปาจิงโกะ ก็มักจะเป็น เกมเซ็นเตอร์ ที่เต็มไปด้วยแสงสี เกมล้ำยุค และวัยรุ่นที่สนุกกับเกม จนเป็นภาพจำของประเทศญี่ปุ่น ที่เป็นผู้นำเรื่องเกมมานาน และเกมเซ็นเตอร์ก็เป็นเหมือนสถานที่พบปะสำหรับวัยรุ่นมาเป็นเวลายาวนาน แต่ในความเป็นจริงแล้ว ภาพจำนั้นอาจจะเป็นแค่ภาพลวงตา นำเอาความคุ้นเคยที่มีต่อสังคมญี่ปุ่นมาเป็นจุดขายเท่านั้น เพราะในความเป็นจริงแล้ว เกมเซ็นเตอร์ ก็เป็นอีกความบันเทิงที่ค่อยๆ ล้มหายตายไปจากสังคมญี่ปุ่น
สมัยผมเรียนอยู่ที่ประเทศญี่ปุ่นในช่วงต้นยุค 2000 ก็จำได้ดีว่า ‘เกมเซ็นเตอร์’ คือหนึ่งในสถานที่โปรดของพวกนักเรียนต่างชาติ พวกเราแวะเวียนไปเล่นเกมกันประจำเมื่อมีเวลา ยุคนั้นก็มีเกมเด่นๆ ดังๆ สนุกมากมาย โดยเฉพาะเกมที่เป็นเกมเฉพาะเกมเซ็นเตอร์ ไม่มีให้เล่นที่อื่น ยังไม่นับกิจกรรมอื่นๆ ที่เราสามารถสนุกได้ในเกมเซ็นเตอร์ ทำให้มันกลายเป็นสถานที่โปรดของพวกเรา แต่ตัดภาพมายุคปัจจุบัน พอผมกลับมาอยู่ที่ญี่ปุ่นอีกครั้ง ก็พบว่าเกมเซ็นเตอร์ลดจำนวนลงอย่างเห็นได้ชัด เกมเซ็นเตอร์ที่เคยไปก็ถูกเปลี่ยนเป็นธุรกิจประเภทอื่นแทน
เกมเซ็นเตอร์ของญี่ปุ่น เกิดขึ้นพร้อมๆ กับการมาถึงของ ‘Arcade Game’ หรือที่บ้านเราคุ้นกับคำว่า ‘เกมตู้’ นั่นเอง ซึ่งยุคแรกๆ ก็เป็นเกมที่ไม่ได้ซับซ้อนอะไร ไม่ว่าจะเป็น Space Invader หรือ Pacman ตามประสาเทคโนโลยียุคนั้น ซึ่งก็มักจะเป็นเครื่องเล่นขนาดใหญ่ มีลักษณะคล้ายโต๊ะกาแฟ แล้วเกมก็อยู่ตรงกลางโต๊ะ ให้คนนั่งเล่นไป กินไป ดื่มไปได้ ก่อนจะพัฒนามาเป็นจอแบบเอียงเพื่อการเล่นเกมอย่างจริงจังต่อมาแบบที่เราคุ้นเคย แต่การมาถึงของ Arcade Game ก็ถือเป็นความบันเทิงชนิดใหม่ของสังคมที่ขึ้นมาแทนโบว์ลิ่ง และด้วยความแปลกใหม่ของมัน ทำให้เป็นที่นิยมมากถึงขนาดว่ากันว่าทำให้เหรียญ 50 เยนที่ใช้เล่นในตอนนั้นขาดตลาดเลยทีเดียว
แต่ถึงจะฮิตแค่ไหน สภาพของเกมเซ็นเตอร์ในตอนนั้นก็มีลักษณะต่างกับที่คนรุ่นผมคุ้นเคยในช่วงยุค 2000 ที่เต็มไปด้วยสีสันและความป๊อป แต่เกมเซ็นเตอร์ในยุค 80s นั้นเริ่มจากการเป็นส่วนหนึ่งของความบันเทิงในร้านกาแฟ ก่อนจะหันมาเน้นเป็นร้านเกมเต็มตัว โดยยุคนั้น เจ้าของร้านแค่ซื้อหรือเช่าเครื่องเกมมา แล้วเสียบปลั๊ก ที่เหลือก็ปล่อยให้คนเล่นกันตามสบาย ไม่ได้มีการคุมอะไรมาก ทำให้เกมเซ็นเตอร์หรือร้านเกมยุคนั้นมักจะเป็นสถานที่ที่เด็กแสบๆ มารวมตัวกัน แถมยังมีมุมมืดหลายจุดเสี่ยงต่อการก่อคดีอันตรายได้
แต่ถึงอย่างนั้น เกมเซ็นเตอร์ก็ยังได้รับความนิยมอยู่ดี เพราะคนที่อยากจะเล่นเกมก็ต้องอาศัยเกมเซ็นเตอร์ และถึงจะมีการพัฒนาเครื่องเล่นเกมแบบครอบครัว ทั้ง Famicom, Megadrive และ SuperFamicom แต่เพราะว่าศักยภาพของเกมในเกมเซ็นเตอร์ยุคนั้นยังได้เปรียบเครื่องเล่นเกมแบบครอบครัว ทำให้ความนิยมของเกมในเกมเซ็นเตอร์ยังไม่เสื่อมคลายลงได้ง่ายๆ ใครเกิดทันยุคนั้นคงจะจำได้ว่า กราฟิกของเกมในเกมเซ็นเตอร์นั้นสวยงามเหนือชั้นเครื่องเล่นเกมในบ้านมากๆ
พอเริ่มเข้ายุค PlayStation และเครื่องเกมยุคเดียวกัน
วงการเกมเซ็นเตอร์ก็เริ่มสั่นคลอน
เพราะความได้เปรียบของระบบก็เริ่มหายไป
กลายเป็นว่าผู้คนสามารถเล่นเกมที่มีคุณภาพทัดเทียมกันในบ้านได้ ไม่ต้องถ่อออกไปหยอดเหรียญเล่นที่เกมเซ็นเตอร์แล้ว ซึ่งก็กระตุ้นให้เกมเซ็นเตอร์ต้องปรับตัว จากที่เคยเป็นแค่ร้านที่วางเครื่องเล่นเกมไว้เฉยๆ ก็ต้องเปลี่ยนบรรยากาศภายในให้เป็นมิตรต่อคนทุกช่วงอายุมากขึ้น และพยายามดึงลูกค้าใหม่ๆ เข้ามา
ซึ่งหนึ่งในตลาดใหม่ของเกมเซ็นเตอร์ก็คือ เด็กสาววัยรุ่น ที่แห่เข้าเกมเซ็นเตอร์เพราะตู้ถ่ายรูปสติกเกอร์ ที่เป็นสินค้าใหม่ยอดนิยมจนเป็นปรากฎการณ์ทางสังคม หรือตู้ UFO Catcher หรือเครนเกม ที่ออกมาก่อนหน้าก็ช่วยสร้างฐานลูกค้าใหม่ๆ ได้ รวมไปถึงเกมชนิดใหม่ๆ เช่น เกมเต้นอย่าง Dance Dance Revolution และ เกมตีกลอง Taiko no Tatsujin ก็ทำให้ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก และเป็นยุคนี้เองที่ภาพของเกมเซ็นเตอร์เต็มไปด้วยสีสันและเสียงเพลงป๊อปกระแทกหูรัวๆ กลายเป็นภาพจำของหลายต่อหลายคนไป
จากที่แต่เดิม เกมเซ็นเตอร์เคยเป็นร้านสำหรับคอเกมสายเอาจริงเอาจัง ทุ่มเทกับการเล่นเกม บรรยากาศก็เปลี่ยนไป มีคนหลายรุ่นหลายราวเข้ามามากขึ้น รวมถึงเหล่าสาวๆ ที่พร้อมจะมาเที่ยวเล่นใช้เวลาไปกับการถ่ายรูปสติกเกอร์เก๋ๆ จากร้านมืดๆ ทึมๆ ก็กลายเป็นร้านสว่าง สดใส และทางเกมเซ็นเตอร์ยังได้เพิ่มเกมประเภทใหม่ ก็คือ Medal Game หรือเกมที่ใช้เหรียญเฉพาะในการเล่น คล้ายๆ ชิพของคาสิโน ซึ่งก็มีเกมเด่นๆ อย่าง Pusher หรือเกมที่มีเครื่องคอยผลักกองเหรียญที่อยู่บนแท่นแบบปริ่มๆ ถ้าเราหยอดเหรียญให้ถูกจังหวะ เหรียญก็จะไปลงช่องที่ทำให้เกิดแจ็คพอต ได้เหรียญกลับบ้านเป็นจำนวนมาก
อีกประเภทคือเกมพนันเช่น สล็อตแมชชีน หรือเกมม้าแข่ง ซึ่งทั้งหมดทั้งปวงนี้ ไม่สามารถเอาเหรียญที่จ่ายเงินซื้อมาไปแลกเป็นเงินคืนได้นะครับ อย่างดีก็คือฝากร้านไว้ แล้วค่อยกลับไปเล่นวันหลัง พูดง่ายๆ คือ เล่นเอาเพื่อความสะใจเวลาแจ็คพอตแตกเฉยๆ (คนเล่นเขาว่างั้น) นอกจากนี้ก็มีเกมที่ต้องใช้การ์ดสะสมในการเล่น ไม่ว่าจะเป็นเกมเอาการ์ดแมลงมาสู้กันของเด็กๆ หรือเกมการ์ดสามก๊ก หรือเกมการ์ดนักฟุตบอลจริงๆ ของผู้ใหญ่ ส่วนเกมต่อสู้ตัวต่อตัวที่เคยเป็นเกมยอดนิยมของเกมเซ็นเตอร์ก็ค่อยๆ เหลือพื้นที่น้อยลงเรื่อยๆ
ในความเปลี่ยนแปลง ก็มีสิ่งดีๆ เหมือนกันนะครับ จากแต่เดิม เกมเซ็นเตอร์เป็นแหล่งรวมตัวของเด็กแสบ แต่ปัจจุบัน เพราะบรรยากาศที่เป็นมิตรมากขึ้น และมีเด็กที่ไม่อยากไปโรงเรียนมากขึ้นเพราะปัญหาการกลั่นแกล้งกัน ทำให้เกมเซ็นเตอร์กลายเป็นหนึ่งในสถานที่ที่เด็กเหล่านี้หนีมาพักใจ แม้จะไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้อง แต่การมีสถานที่ที่ทำให้เด็กเหล่านี้ได้พบปะผู้คน ได้พูดคุยกับคนอื่นและรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของอะไรซักอย่าง ก็ช่วยสร้างอิทธิพลที่ดีต่อเด็กเหล่านี้ได้ ถึงขนาดที่ทางการยังขอให้เกมเซ็นเตอร์ช่วยสอดส่องดูแลเด็กกลุ่มนี้ ไม่ปล่อยให้กลายเป็นเด็กหมกตัวอยู่บ้านไป
แต่ถึงอย่างนั้น อนาคตของเกมเซ็นเตอร์ก็ดูจะน่าเป็นห่วงจริงๆ
เพราะจากแต่ก่อนเคยมีรายรับหลายทาง
ปัจจุบันก็โดนเทคโนโลยีใหม่ๆ แย่งไปหมด
ไม่ใช่แค่เครื่องเกมที่มาทั้งแบบเล่นที่บ้านและแบบพกพา ซึ่งแค่นั้นก็ทำให้เกมเซ็นเตอร์หนักใจแล้ว ยังมีเกมในสมาร์ตโฟน ที่เล่นได้ฟรี ไม่เสียเงิน (ก่อนไปติดกับทีหลัง) จนทำให้คนรุ่นใหม่ๆ ขี้เกียจออกไปเกมเซ็นเตอร์
ส่วนตู้ถ่ายสติกเกอร์ที่เคยสุดฮิต ก็กลายเป็นว่าถูกสมาร์ตโฟนพร้อมแอพเซลฟี่ผิวสวยทั้งหลายแย่งลูกค้าไปอีก ส่วนเครนเกม และเกมแบบการ์ดของเด็ก ก็มักจะไปโผล่ตามห้างสรรพสินค้าหรือมุมขายของเล่นแทน จนจำนวนของเกมเซ็นเตอร์ลดจากที่เคยเกินสามหมื่นแห่งในช่วงยุค 90s ก็เหลือแค่ 15,000 แห่งโดยประมาณในปีค.ศ. 2015 และแน่นอนว่าตัวเลขก็ลดลงอย่างต่อเนื่อง
ไม่แปลกที่ สภาพภายในเกมเซ็นเตอร์ส่วนใหญ่ในปัจจุบัน จะกลายเป็นสถานที่รวมตัวของชายวัย 30 อัพเสียมากกว่าเด็กวัยรุ่น เพราะพวกเขายังเป็นคนรุ่นที่โตมากับเกมเซ็นเตอร์และสนุกกับเกมสาย Medal กันซะมากกว่า ส่วนเกมต่อสู้แบบตัวต่อตัวที่เคยเป็นจุดขายก็แทบไม่มีที่ยืน เพราะเด็กรุ่นใหม่ก็ไม่รู้จะไปเล่นทำไมในเมื่อมีเครื่องเกมและสมาร์ตโฟนที่มีเกมให้เลือกอีกมากมาย
ยังดีที่มีคนบ้าพอที่จะรักษาของเหล่านี้ไว้ เช่นร้านเกม Mikado ที่ Takadonobaba ในโตเกียว ที่เป็นแหล่งรวมตู้เกมคลาสสิก ทั้งเกมต่อสู้เละเกม Shooting และยังมีการจัดารแข่งขันกัน สร้างชุมชนของตัวเองได้เป็นอย่างดี (คนแข่งชนะยังบอกว่า อยากซ้อมให้เล่นที่บ้าน อยากสู้ให้มาที่นี่) ตอนที่ผมไปที่โอซาก้าก็เจอเกมเซ็นเตอร์เล็กๆ ที่วางตู้เกมเก่าๆ ยุค 90s ไว้เต็มไปหมด ของพวกนี้อยากทำก็ทำไม่ได้ง่ายๆ นะครับ นอกจากจะหาตู้เกมเก่าๆ แบบนี้ได้ยากแล้ว (แต่ก่อนเป็นของถูกเพราะไม่มีใครต้องการ ตอนนี้ขายกันแสนแพง) อะไหล่ก็ไม่ค่อยมี เพราะบริษัทเขาเลิกทำแล้ว กลายเป็นว่าอย่าง Mikado ก็ต้องอาสัยปริ้นเตอร์สามมิติในการทำอะไหล่เอง
ถ้าบรรยากาศเป็นแบบนี้ต่อไปเรื่อยๆ เกมเซ็นเตอร์ที่เคยเป็นหนึ่งในของขึ้นชื่อของญี่ปุ่น ประเทศที่ผลิตเกมออกมามากมาย ก็คงจะกลายเป็นหน้าหนึ่งของประวัติศาสตร์ไป แต่ก็อย่างว่าครับ ไม่มีอะไรจีรังยั่งยืน ทุกอย่างต้องเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลาเสมอ