[บทความนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาหลายส่วนในรายการ]
เวลาถูกถามว่า “โตขึ้นอยากเป็นอะไร” มันก็ยากที่จะตอบเหมือนกันเนอะ บางทีก็รู้ตัวเองแหละว่าชอบอะไร อยากทำอะไร แต่ความชอบมันดันมีหลากหลาย และเราเองก็อยากทดลองทำอะไรหลายๆ อย่างไปก่อน เพื่อค้นหาว่าอะไรคือสิ่งที่เราทำได้ดีที่สุด
ถึงอย่างนั้น ในโลกแห่งความจริงมันก็มีปัจจัยมากมาย ที่เข้ามาเร่งเร้าให้พวกเราต้องรีบเติบโต รีบหางานทำให้ได้เร็วๆ รีบหาความชอบได้ รีบค้นความถนัดให้เจอ เพื่อที่จะได้ใช้ชีวิตไปตามเป้าหมายนั้นอย่างมั่นคง
จนกลายเป็นคำถามว่า ตกลงเราควรไปทางไหนดีนะ เราควรทดลองทำในสิ่งที่หลากหลายไปก่อน หรือควรตัดใจเลือกสิ่งใดสิ่งหนึ่งไปเลยแล้วทำมันให้เชี่ยวชาญจนถึงที่สุด?
ใครที่กำลังอยู่ในสถานการณ์แบบนี้ น่าจะอินกับเรื่องราวในเรียลลิตี้ Terrace House: Tokyo 2019-2020 ได้ไม่น้อยเลยทีเดียว
Terrace House ซีซั่นใหม่นี้เร่ิมต้นฉายแล้วใน Netflix รูปแบบหลักๆ ของรายการ คือพาผู้ชายและผู้หญิง 6 คนมาอาศัยอยู่ในบ้านเดียวกันตามที่ทีมงานจัดเอาไว้ให้ โดยมีกล้องที่คอยจับอิริยาบถ และกิจกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นภายในส่วนต่างๆ ของบ้าน
ในรายการเรียลลิตี้นี้ เราจะได้เห็นบทสนทนาสนุกๆ หลากหลายอารมณ์บนโต๊ะอาหาร การทะเลาะกันของเพื่อนในห้องนอน หรือแม้แต่ความสัมพันธ์ในห้องนั่งเล่นที่ชวนให้จิกหมอนและลุ้นไปกับความรักของวัยรุ่นกลุ่มนี้
แม้เส้นเรื่องหลักของ Terrace House ซีซั่นนี้จะยังคงเป็นเรื่องความรักและความสัมพันธ์ของผู้คนในบ้าน แต่สิ่งที่เราคิดว่าน่าสนใจไม่แพ้กันเลย คือการคัดเลือกสมาชิกในบ้านที่มีมุมมองเรื่อง ‘การทำงาน’ และ ‘ความฝัน’ ที่แตกต่างกันพอสมควร
สมาชิกของบ้านที่ดูเหมือนจะต้องเจอกับโจทย์ยากๆ ในเรื่องการทำงานมากที่สุด คือ มัตสึซากิ โชเฮ อายุ 25 ปี ถึงแม้ในช่วงเปิดรายการจะแนะนำว่าตอนนี้เป็นอาชีพนักแสดง แต่เมื่อเราตามดูชีวิตของโชเฮไปเรื่อยๆ จะพบว่าเขาชอบทำอะไรหลายอย่างมากๆ เท่าที่นับจากตอนแรกจนถึงตอนที่ 12 เขาทำมาแล้วทั้งช่างไม้ ช่างทาสี แต่งเพลง แต่งนิยาย เขียนบทความ รวมไปถึงนักแสดงหนังเรตอาร์ โชเฮเชื่อในเรื่องการทำอะไรหลายๆ ได้ในช่วงชีวิตเดียวกันมันคือสิ่งที่ดีและเหมาะกับตัวเขา
แต่คนที่คิดแตกต่างกับโชเฮเอามากๆ คือ โคคุยามะ ฮารุกะ นักแสดงวัย 24 ปี ฮารุกะ กำลังเอาจริงเอาจังกับอาชีพนักแสดงเป็นหลัก แต่ก็ไม่ทิ้งความชอบอื่นๆ (โดยเฉพาะการเป็นนักแข่งรถ) ไปขนาดนั้น
ถ้าเปรียบเทียบกันระหว่าง โชเฮ กับ ฮารุกะ แล้วล่ะก็ โชเฮในตอนแรก จะเป็นคนที่ทำความชอบ A, B, C, D, E ไปพร้อมๆ กัน และตั้งใจว่าจะกระจายการทุ่มเทให้กับทุกอย่างเท่าๆ กัน แต่ฮารุกะจะยึด A เป็นหลัก ส่วน B, C, D, E จะเป็นเรื่องที่สำคัญรองลงมา จึงไม่แปลกที่ทั้งสองคนจะถกเถียงถึงแนวคิดการทำงานที่ไม่ตรงกันอยู่บ่อยๆ
แม้โชเฮจะยืนยันถึงจุดยืนตัวเอง แต่มันก็มีเหตุการณ์ที่ถูกตั้งคำถามจากผู้ใหญ่มากอย่างหนักหน่วงเหมือนกันว่า ด้วยความที่หยิบจับอะไรหลายๆ อย่างมากเกินไป มันจะทำให้เขาเป็นคนที่ ‘ล่องลอย’ มากเกินไปไหม หรือถ้าจะพูดแบบซีเรียสขึ้นมาอีกคือ การทำอะไรหลายๆ อย่างในเวลาเดียวกัน มันก็มีราคาที่ต้องจ่ายด้วยเหมือนกันนะ ขึ้นอยู่กับว่าโชเฮพร้อมจะแลกแค่ไหนบ้าง
เอาเข้าจริงแล้ว สมาชิกคนอื่นๆ ในบ้านก็เจอกับคำถามต่ออาชีพ และความชอบของตัวเองไม่น้อยเหมือนกัน อย่าง วาตานาเบะ คาโอริ อายุ 28 ปี เคยเป็นพนักงานบริษัทเทคโนโลยีชื่อดัง เธอชื่นชอบการวาดภาพประกอบมากๆ และอยากทำสิ่งนี้ควบคู่ไปกับงานหลักด้วย แต่ก็โดนผู้ใหญ่ดูถูกว่า ไม่จริงจังกับความฝันสักเท่าไหร่ สุดท้ายจึงลาออกมาเป็นนักวาดอย่างเต็มตัว แต่คาโอริก็ยังต้องสู้กับความรู้สึกที่ว่าตัวเองยังเก่งไม่พอ รวมถึงปมที่เธอคิดว่าชื่อเสียงและภาพลักษณ์มันได้เดินนำหน้าผลงาน
ขณะเดียวกัน โยชิฮาระ เคนจิ วัย 31 ปีที่เป็นพี่ใหญ่ของบ้าน อาจจะดูยืนอีกฝั่งกับน้องๆ เมื่อเขาเลือกอาชีพนักดนตรีมานานหลายปี และค่อนข้างจะชัดเจนในตัวเอง อย่างไรก็ดี การทำสิ่งที่ชอบเพียงอย่างเดียวมาต่อเนื่องเรื่อยๆ มันก็ทำให้เคนจินึกตั้งคำถามกับอนาคตของตัวเองด้วยเหมือนกัน พูดอีกแบบคือ เขาก็เริ่มนึกถึงภาพตัวเองว่าอยู่ในจุดอิ่มตัว และเริ่มหมดไฟกับการทำสิ่งเดิมๆ ซ้ำๆ ขึ้นมาอยู่บ้าง
ไม่ต่างไปจาก ทานาเบะ ริซาโกะ ที่ทำอาชีพเป็นเทรนเนอร์ในวัย 21 ปี และนิชิโนอิริ รุกะ พนักงานพาร์ตไทม์วัย 20 ปี ที่กำลังอยู่ในช่วงตั้งคำถามกับความชอบของตัวเองว่า สิ่งเล็กๆ ที่พวกเขาทำอยู่ในวันนี้ แม้จะมอบความสุขให้ได้ในแต่ละวัน แต่พวกเขาจะยึดมันเป็นอาชีพระยะยาวในอนาคตได้แค่ไหน? นี่คือคำถามที่วัยรุ่นทั้งสองคนเผชิญในโจทย์คล้ายกัน
Terrace House: Tokyo 2019-2020 เลยฉายภาพให้เราเห็นถึงอารมณ์ความรู้สึกร่วมของชนชั้นกลางในเมืองใหญ่ ที่พวกเขาอยู่ในภาวะสับสนในการตามหาความฝัน และตั้งคำถามที่น่าจะเป็นปมสะกิดใจที่เกิดขึ้นคล้ายๆ กับใครหลายคนว่า สิ่งที่เราทำอยู่ในวันนี้มันดีพอรึยัง แล้วเราควรจะทำอย่างไรดีเมื่อเป็นคนที่ชอบทำอะไรหลายอย่าง?
ในขณะเดียวกัน พวกเขาก็ต้องต่อสู้กับค่านิยมของคนรุ่นก่อนๆ ที่ยึดมั่นกับการทำงานอาชีพเดียว และมีเป้าหมายใหญ่เป้าหมายเดียวในชีวิต
ทั้งนี้ทั้งนั้น การเป็นคนชอบอะไรหลายอย่าง มันก็ไม่ได้แย่หรือดูไม่มีแก่นสารอะไรขนาดนั้นหรอกเนอะ ช่วงหลังมานี้มีแนวคิดที่พูดถึงกันบ่อยๆ อย่าง ‘Multipotentiality’ ที่พยามยามชี้ชวนให้เราเห็นถึงข้อดีของการเป็นคนชอบอะไรหลายอย่างด้วยเช่นกัน
Emilie Wapnick ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ Puttylike ที่พยายามส่งเสริมและให้กำลังใจคนที่ชอบอะไรหลายอย่างเหมือนกับเขา ได้อธิบายว่า การเป็น Multipotentiality มันมีช่วยให้เราสามารถเชื่อมโยงทักษะต่างๆ เป็นสิ่งใหม่ได้ดียิ่งขึ้นกว่าคนที่เชี่ยวชาญในทักษะเดียว รวมถึงสามารถปรับตัวได้ง่ายกับโลกที่เปลี่ยนไป เช่นเดียวกับการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ได้รวดเร็วกว่าปกติ
โจทย์ใหญ่จริงๆ ของชาว Multipotentiality ทั้งใน Terrace House และพวกเราที่อยู่ข้างนอก คือจะใช้ความชอบหลายอย่างที่ได้รับมา เป็นวัตถุดิบเพื่อการปรับใช้กับตัวเอง และเดินต่อไปในเส้นทางชีวิตหลังจากนี้ได้อย่างไร
อ้างอิงข้อมูลจาก
Why some of us don’t have one true calling
รู้ว่าไม่ชอบอะไร แต่ก็ไม่รู้ว่าชอบอะไร คุณอาจเป็น ‘Multipotentialite’ ก็ได้