กระแสสังคมเปลี่ยนแปลงไปเสมอ แต่อะไรทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงเหล่านั้น?
แล้วเราจะเรียกความเปลี่ยนแปลงนั้นว่าอะไร?
หากจะพูดถึงกระแสและความเปลี่ยนแปลงของสังคมโดยกว้างและชัดที่สุด คือการพูดคุยกันถึงคนเจนเนอเรชั่นต่างๆ และตัวอย่างที่ดีคือ Baby Boomer กลุ่มคนที่เกิดหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งชื่อของเจนเนอเรชั่นนี้ บอกเล่าถึงกระแสที่เกิดขึ้นในยุคของพวกเขาว่า มีอัตราการเกิดที่พุ่งสูงขึ้นอย่างมาก และก็มีหลายสาเหตุที่คนในรุ่นนั้นมีลูกหลานจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นสภาพเศรษฐกิจที่ดีขึ้นในบางประเทศ สวัสดิการสำหรับทหาร ตลาดแรงงาน และราคาที่อยู่อาศัยที่เข้าถึงได้
เวลาผ่านไปแล้ว 4 เจนเนอเรชั่น โดยที่โลกไม่เคยหยุดพูดถึงประเด็นเรื่องอัตราการเกิดของเด็กเลย ด้วยคำพูดเดิมๆ ว่ายิ่งเวลาผ่านไป คนรุ่นใหม่ในหลากหลายประเทศยิ่งมีลูกน้อยลงไปเรื่อยๆ รวมถึงประเทศไทย จนปัจจุบันอยู่ในขั้นวิกฤตที่โลกกำลังจะเดินเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ซึ่งการที่สังคมจะเดินไปถึงจุดนั้น ย่อมมีผลกระทบแง่ลบในระดับประเทศแน่นอน เช่น จำนวนแรงงานและผู้บริโภคที่ต่ำลง มีประชากรวัยเกษียณอายุมากขึ้น ฯลฯ ส่วนผลบวกที่อาจเกิดขึ้นได้ คือค่าแรงที่แพงขึ้น หรือสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น แต่ก็เห็นว่าคงจะยังมาไม่ถึงในเร็วๆ นี้
อะไรทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในกระแสสังคม? และเราจะเรียกความเปลี่ยนแปลงเหล่านั้นว่า “ความบิดเบี้ยว” หรือเปล่า?
เราคงไม่สามารถพูดได้ว่า จะมีคำตอบเดียวสำหรับความเปลี่ยนแปลงในทุกกระแสสังคม เนื่องจากทุกความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในระดับสังคมนั้น ซับซ้อนกว่าที่เราจะสามารถสรุปความได้ในไม่กี่ตัวอักษร แต่เราอาจเรียนรู้อะไรบางอย่างผ่านการดูกรณีศึกษา เพื่อให้เห็นภาพกว้างจากมุมที่เล็กลงมาได้ และไหนๆ ก็เริ่มกันที่อัตราการเกิดแล้ว เราลองไปดูกันว่า อะไรเป็นเหตุผลให้คนจำนวนมากเลือกจะไม่มีลูกกัน มันเป็นเพราะคนรุ่นใหม่ไม่มีความอดทนแค่นั้นหรือเปล่า? หรือมันมีอะไรมากกว่าเหตุผลระดับปัจเจก?
บทความวิชาการที่พาเราไปดูสาเหตุของอัตราการเกิดที่ลดลงมีชื่อว่า Declining birth rate in Developed Countries: A radical policy re-think is required โดยกีตา นากันด์ (Geeta Nargund) ประธานองค์กร International Society for Mild Approaches in Assisted Reproduction ซึ่งแม้ว่าบทความนี้จะพูดถึงประเทศโลกที่หนึ่งเป็นหลัก แต่ก็มีข้อมูลมากมายที่น่าสนใจเกี่ยวกับแนวคิดของผู้คนเบื้องหลังการตัดสินใจมีลูกหลาน
นากันด์เสนอว่า ในประเทศที่พัฒนาแล้วจะมีอัตราการเกิดที่ต่ำ เนื่องด้วยวิถีความเป็นอยู่เชื่อมโยงกับสภาพคล่องทางเศรษฐกิจ และอัตราการเสียชีวิตต่ำ นั่นหมายถึงประเทศเหล่านั้นเข้าถึงการคุมกำเนิดได้ง่าย มีมุมมองว่าการมีบุตรเป็นความสิ้นเปลืองทางการเงิน เนื่องด้วยราคาที่อยู่อาศัย ราคาการเข้าถึงการศึกษา และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเลี้ยงดูเด็กสักคน ยิ่งไปกว่านั้น ระบบการศึกษาที่ดีและการที่ผู้หญิงสามารถเข้าถึงสายงานได้อย่างทั่วถึง ก็มีส่วนทำให้ผู้หญิงมีลูกช้าลง
ในกรณีของประเทศที่กำลังพัฒนา นากันด์กล่าวว่า ประเทศเหล่านั้นมีอัตราการเกิดที่สูงกว่า เนื่องจากเข้าถึงการคุมกำเนิดได้ยากกว่า รวมถึงค่านิยมว่าผู้หญิงไม่จำเป็นต้องศึกษาสูงมาก ก็นำไปสู่สถิติการศึกษาในผู้หญิงต่ำกว่า และแปลว่ามีลูกได้ไวกว่า ที่สำคัญคือ บทบาทของลูกหลานต่อค่านิยมในสังคมที่เชื่อว่า พวกเขาต้องเข้าสู่ตลาดแรงงาน แล้วเป็นที่พึ่งพาของพ่อแม่ในยามแก่เฒ่า โดยผู้เขียนยังกล่าวอีกว่า
“โครงสร้างทางสังคม ศาสนา ความเชื่อ สภาพเศรษฐกิจ และการพัฒนาเมือง
ในแต่ละประเทศ มีผลกระทบต่ออัตราการเกิดและการทำแท้ง”
ทั้งนี้ยังมีคำพูดของ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข จากการชี้แจงนโยบายด้านสาธารณสุขที่มีความข้องเกี่ยวกับประเด็นข้างต้น ในการประชุมร่วมรัฐสภา วันที่ 12 กันยายน 2566 ว่า
“หลายคู่ครับแต่งงานปุ๊บ บังคับให้สามีทำหมันเลย ไม่อยากมีลูก นั่นคือสิ่งที่กำลังบิดเบี้ยวในสังคมไทย”
เพราะเราไม่ต้องการหรือไม่อาจเติมเต็มระบบกับค่านิยมหลักที่รัฐและสังคมยึดถือ นั่นคือความบิดเบี้ยวอย่างนั้นหรือ?
หากลองคิดภาพว่าคนเจนเนอเรชั่น X – Z เป็นแรงงานที่กำลังต่อสู้กับชีวิตในทุกวันนี้ และถูกชีวิตสู้กลับด้วยการขึ้นราคาตั้งแต่ค่าเช่าที่พัก ยันข้าวในร้านอาหารตามสั่ง แต่เงินเดือนไม่เคยขึ้นเลย ทั้งตลาดแรงงานที่เต็มไปด้วยการแข่งขัน ค่าที่อยู่อาศัยที่เอื้อมไม่ถึง เลี้ยงตัวเองก็ยังไม่ไหว รวมไปถึงในโลกตอนนี้ที่คนมีอายุยืนขึ้น เราบางคนก็ต้องแบกคนวัยชราในบ้านเอาไว้นานกว่าเดิม ฉะนั้นด้วยเหตุผลทั้งหมดนั้นแล้ว จะยังบีบให้เราต้องมีลูกอีกเหรอ
จะมีครอบครัวก็ต้องมีเงิน จะมีเงินมากพอซัปพอร์ตลูกก็ต้องมีงานที่ดีพอ เพราะเด็กจะเกิดและเติบโตได้ดีในสายตาชนชั้นกลางก็ต้องมีบ้านที่ดี สภาพแวดล้อมที่ดี โรงเรียนที่ดี และอาหารการกินที่ดี ทำให้เราต้องมีงานที่ให้ค่าตอบแทนได้ดีพอจะนำไปเลี้ยงเราและลูก ซึ่งจะเป็นเช่นนั้นได้ในสังคมนี้ ก็คือการเข้าถึงระบบการศึกษาที่ดีพอ ฯลฯ ทว่าบางอย่างในสิ่งเหล่านั้น ภาครัฐเองก็ยังไม่อาจให้เราได้ และไม่ใช่ทุกคนที่จะสามารถใช้เงินเพื่อแก้ปัญหาเหล่านั้น
คิดไวๆ แบบนี้ยังยุ่งเหยิงไปหมด ถ้าลองคิดว่าต้องมีลูกขึ้นมาจริงๆ เรื่องนี้จึงยากกว่าเดิมในสถานการณ์ปัจจุบัน
ความ “บิดเบี้ยว” นี้เป็นความผิดของเราจริงๆ หรือ?
กระแสสังคมเปลี่ยนแปลงเสมอ แต่ความเปลี่ยนแปลงเหล่านั้นไม่ได้เกิดขึ้นจากผู้คนเสียทีเดียว บ่อยครั้งมันเป็นผลจากการปรับตัวของประชากรโลก ต่อระบบที่ผลักให้เราแต่ละคนเลือกใช้ชีวิตในแบบต่างๆ เพราะไม่ใช่ว่าทุกคนจะไม่อยากมีลูก หากลองถามคนเจนเนอเรชั่นปัจจุบันว่า พวกเขาต้องการมีครอบครัวหรือเปล่า จำนวนมากอาจจะตอบว่าไม่อยากมี แต่อีกกลุ่มที่ผู้มีอำนาจมองข้ามไปคือ คนที่บอกว่าอยากมีครอบครัว แต่กลับไม่สามารถจ่ายราคาที่เด็กคนหนึ่งเรียกร้องได้ แล้วนี่หรือคือความบิดเบี้ยวของผู้คน
ยิ่งคิดก็ยิ่งมองเห็นว่า ทั้งคนที่อยากมีลูกแต่รับราคาที่ต้องจ่ายไม่ไหว และคนที่ไม่อยากมีลูกเลย ล้วนเป็นผลของระบบที่ผู้มีอำนาจทั่วโลกควรผลักดันมากกว่าหรือไม่?
อย่างนั้นแล้ว เราจะโทษคนธรรมดาที่ต้องเอาชีวิตรอดในระบบดังกล่าวได้ขนาดไหนกัน
อ้างอิงจาก