มีใครเป็นเหมือนกันบ้างไหม? ตอนเด็กๆ ตอบคำถามพ่อแม่ครูอาจารย์ไม่ได้ว่าโตขึ้นอยากเป็นอะไร? ตอนนั้นก็คิดว่า ถ้าได้เรียนรู้โน่นนี่นั่นมากขึ้น ได้ลองทำอะไรหลายอย่าง เดี๋ยวก็คงเจอแหละว่าเราถนัดอะไร เราชอบอะไร
แต่กลายเป็นว่าการได้รู้หลายสิ่งและทำหลายอย่างนั้น ทำให้เรา ‘รู้ว่าไม่ชอบอะไร’ แต่ ‘ไม่รู้ว่าชอบอะไร’ จนโตป่านนี้แล้วก็ยังตอบคำถามใครต่อใคร หรือแม้แต่ตัวเองไม่ได้ หลายครั้งเลยโดนตีตราว่าเป็นคนที่ ‘หาตัวเองไม่เจอ’
ใครที่หม่นหมองอยู่กันสถานการณ์แบบนี้ อย่าเพิ่งทดท้อหัวใจจนเกินไป เพราะที่แท้เราอาจจะเป็น ‘Multipotentialite’ ก็ได้
คำว่า ‘Multipotentiality’ เป็นคำที่นักจิตวิทยาใช้มาตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 19 เพื่ออธิบายพฤติกรรมของคนที่มีความสนใจและความสามารถหลายอย่าง หรือที่ฝรั่งชอบพูดกันว่า ‘Jack of all trades, master of none’ จริงๆ แล้ว แนวคิดเกี่ยวกับพฤติกรรมหลากความสนใจนี้มีมาตั้งแต่สมัยโบราณ โดยนักประวัติศาสตร์จะเรียกกลุ่มคนเหล่านี้ว่า ‘Polymath’ อย่างเช่น Aristotle ที่เป็นทั้งนักปรัชญาและนักวิทยาศาสตร์ Leonardo Di Vinci ที่มีตำแหน่งต่อท้ายว่าสถาปนิก นักดนตรี นักกายวิภาคศาสตร์ นักประดิษฐ์ วิศวกร ประติมากร นักเรขาคณิต นักวาดภาพ นักดาราศาสตร์ และนักวิทยาศาสตร์ หรือ Galileo Galilei ที่ได้รับขนานนามว่าเป็นบิดาแห่งดาราศาสตร์สมัยใหม่ บิดาแห่งฟิสิกส์สมัยใหม่ บิดาแห่งวิทยาศาสตร์ และบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ยุคใหม่
จริงๆ การรู้หลายๆ เรื่องและทำได้หลายๆ อย่าง ก็ดูไม่น่าจะเป็นปัญหา แต่อาจเพราะค่านิยมบางอย่างของบางสังคม ก็อาจทำให้เกิดอุดมคติที่ว่าคนเราต้องหาสิ่งที่เราทำได้ดีที่สุดสักอย่าง ชาว Multipotentialite บางคนก็เลยเกิดคำถามกับตัวเองว่า แท้จริงสกิลของตัวเองนี้เป็นพรหรือคำสาปกันแน่ เพราะคนที่ทำอะไรหลายๆ อย่างไปพร้อมๆ กัน มักถูกมองว่าจับจด ไม่จริงจัง ไม่มีความรับผิดชอบ หรือไม่เก่งจริงสักอย่าง
แต่ Barbara Sher ใช้ความสงสัยในความสนใจที่หลากหลายของตัวเองนี้ มาแปรรูปเป็นหนังสือขายดีอย่าง I Could Do Anything If Only I Knew What It Was และ Refuse To Choose: A Revolutionary Program For Doing Everything You Love ซึ่ง Sher เรียกคนที่มีความถนัดและสนใจหลากหลายแบบเธอว่า ‘Scanners’ ซึ่งยังแบ่งได้หลายประเภท เช่น Serial Master Scanners คือคนที่มีความสนใจและความสามารถในการทำทุกอย่างจริงๆ Samplers คนที่มีความสนใจหลายอย่าง ทำได้หลายอย่าง แต่ไม่ได้เก่งสักอย่าง Plate Spinners คนที่ทำงานหลายอย่างพร้อมกันได้ในเวลาเดียว หรือ Wanderers คนที่พร้อมเปิดรับผู้คนและสภาพแวดล้อมใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา แต่ว่าขาดเป้าหมายและทิศทางในชีวิต
Emilie Wapnick หนึ่งในผู้ประสบภัยจากการถูกตีตราว่าหาตัวเองไม่เจอ เลยตั้งเว็บไซต์ Puttylike เพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับ ‘Multipotentiality’ ต่อสังคม และเรียกรวมพลคนกลุ่ม ‘Multipotentialite’ เพื่อบอกว่า ไม่เป็นไรนะ คุณไม่จำเป็นต้องเลือกที่จะเป็นอะไรเพียงอย่างเดียว
Wapnick ยืนยันว่า การเป็น Multipotentialite นั้นมีข้อได้เปรียบมากมาย ซึ่งเป็นทักษะที่สำคัญทั้งในโลกธุรกิจและใช้ชีวิตส่วนตัว ไม่ว่าจะเป็น
- ความสามารถในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ และเชื่อมโยงสิ่งที่มีอยู่แม้ไม่มีความเกี่ยวข้องกัน ซึ่งนั่นเป็นผลพลอยได้จากการที่เราเคยทำมาหลายอย่าง ก็เลยหยิบนี่จับนั่นมาผสมกันจนเกิดอะไรที่ยูเรก้าขึ้นมาได้
- งานวิจัยด้านการศึกษายังบอกด้วยว่า ชาว Multipotentialite เป็นคนเรียนรู้เรื่องใหม่ๆ ได้เร็วกว่าคนปกติ เพราะเป็นมือสมัครเล่นมาหลายครั้งในหลายเรื่อง เลยสามารถยกเอาแพทเทิร์นในการเรียนรู้มาใช้ซ้ำได้
- ชาว Multipotentialite นั้น มีความลื่นไหลในการปรับตัวที่อาจจะดีกว่ากิ้งก่าเสียอีก เพราะเราเคยอยู่ในหลายสถานการณ์และเจอคนหลายแบบ
ในขณะที่นักเขียนอเมริกัน Tim Ferriss ผู้โด่งดังจากหนังสือ The 4-Hour Workweek พูดถึงข้อดีที่ได้เป็น Jack of all trades ว่าพวกเขาจะรู้จักเอากฏ 80/20 ของพาเรโตมาปรับใช้ (สิ่งที่สำคัญจะมีเพียง 20%) นั่นทำให้พวกเขาเรียนรู้ได้เร็วและหลากหลาย ส่งผลให้คนเหล่านี้มีบทบาททางธุรกิจและสังคมมากกว่าคนที่มีความสามารถเฉพาะทาง เพราะสกิลหลายด้านของจะทำให้เห็นภาพรวมของสิ่งต่างๆ ได้ดีกว่า Jack of all trades จะเป็นคนไม่น่าเบื่อ เพราะขวนขวายหาอะไรทำอยู่ตลอดเวลา สรรหาประสบการณ์แปลกใหม่แบบพีคๆ เพราะต้องการค้นหาว่าสิ่งที่ตัวเองชอบคืออะไรกันแน่ และสุดท้าย การที่พวกเขาพบเจอและเรียนรู้อะไรหลายๆ ด้าน จะทำให้พวกเขาเป็นกลุ่มคนที่เข้าอกเข้าใจเพื่อนมนุษย์ได้เป็นอย่างดี
หากวันนี้ คำตอบของคำถามที่ว่า ‘เราชอบอะไร’ ของเรานั้นมีหลายอย่าง นั่นก็อาจไม่ได้หมายความว่าเราหาตัวเองไม่เจอ แต่เรากำลังเจอตัวเองในหลายๆ เวอร์ชั่นมากกว่า ใช้สกิล ‘Jack of all trades’ ของเราให้เหมาะ แล้วก็ปรับใช้ความสนใจและความสามารถของเราให้ดี
สุดท้ายแล้ว ก็อย่าลืมทบทวนความสนใจและความสามารถจริงๆ ของตัวเองอยู่เสมอ เพราะในขณะที่คิดว่าคนอื่นตีตราว่าเราหาตัวเองไม่เจอ เราอาจกำลังสมอ้างตัวเองว่าเป็น ‘Multipotentialite’ ทั้งที่จริงๆ แล้ว เราอาจไม่ได้เป็นอะไรเลยก็ได้
ดูคลิป Why some of us don’t have one true calling | Emilie Wapnick ได้ที่ youtu.be/4sZdcB6bjI8
อ้างอิงจาก
puttylike.com
tinybuddha.com
tim.blog
fastcompany.com