Aquaman 2 ก็ประกาศเลื่อนฉาย Wonder Woman 3 ก็ถูกพับโปรเจ็กต์ Superman ก็กำลังจะรีบูตอีกรอบ! เมื่อกลุ่มฮีโร่จาก Justice League ดูจะไม่ไปต่อกับแฟรนไชส์ DCEU (DC Extended Universe) จึงเป็นที่น่าจับตาดูว่า การมาถึงของ The Flash จะเป็นตัวแปรที่ช่วยกอบกู้อาณาจักรซูเปอร์ฮีโร่ค่ายดีซีได้หรือไม่?
ความสำเร็จระดับปรากฏการณ์ของจักรวาลมาร์เวล (MCU: Marvel Cinematic Universe) สร้างแรงกระเพื่อมขนาดมหึมาต่อตลาดภาพยนตร์โลก โดยเฉพาะกับอย่างยิ่งต่อดีซีคอมิกส์ (DC Comics) ค่ายคู่แข่งที่พูดกันตามความจริงก็มีสารพัดตัวละครอันโดดเด่นไม่น้อยไปกว่าการ์ตูนมาร์เวล
หลังจากวางรากฐานผ่านหนัง Iron Man ในปี 2008 มาร์เวลก็ต่อยอดเรื่องราวจนสุกงอมได้ที่ในปี 2012 กับ The Avengers กลายเป็นโมเดลภาพยนตร์ทรงใหม่ที่ผูกโยงว่า ตัวละครมากมายจากหลายเรื่องต่างอาศัยอยู่ในโลกใบเดียวกัน และสามารถรวมทีมประจัญบานเหล่าร้ายได้หากภัยมาเยือน
เมื่ออีกค่ายทำแล้วได้ผล ก็ไม่มีประโยชน์ที่จะทนรอต่อไป ดีซีจึงตัดสินใจเข็นนานาภาพยนตร์ตามออกมา โดยมีปลายทางที่แทบจะไม่ต่างกัน ทำนองที่ว่า ถ้ามาร์เวลมี Avenger ได้ ทำไมฝั่งเราจะมี Justice League บ้างไม่ได้ล่ะ
อย่างไรก็ดี หมุดหมายสำคัญของดีซีที่ควรจะเป็นจุดสุกงอมแบบเดียวกับ The Avengers กับให้ผลลัพธ์ในทางตรงกันข้าม เพราะนอกจากจะไม่ประสบความสำเร็จทางด้านรายได้แล้ว ฝั่งนักวิจารณ์ก็ถือว่าเลวร้ายขั้นสุด ต่อให้จะแฟนบางกลุ่มที่ยังคลั่งไคล้ในแนวทางของผู้กำกับอย่างแซ็ค สไนเดอร์ (Zack Snyder) ถึงขั้นตั้งชื่อเล่นให้กับการเชื่อมจักรวาลของเขาว่า ‘Snyderverse’ แต่เมื่อตัวเลขบนตารางบ็อกซ์ออฟฟิศไม่เข้าเป้า ค่ายหนังก็ต้องปรับแผนใหม่เพื่อไปต่อ
อันที่จริงจะบอกว่าดีซีล้มเหลวก็คงจะไม่ถูกต้องนัก เพราะหนังเดี่ยวของทั้ง Wonder Woman, Aquaman มาจนถึง Joker และ The Batman ต่างก็ได้รับเสียงตอบรับที่ดีอย่างถ้วนหน้า ราวกับว่าจริงๆ แล้วตัวละครทั้งหมดต่างมีศักยภาพในแบบของตัวเอง ถ้าสร้างแบบแยกเดี่ยว หลายตัวก็รอดได้สบายๆ เพราะงั้นจึงน่าจะเป็นทิศทางอันไม่ชัดเจนของผู้บริหารมากกว่าที่ทำให้ภาพยนตร์รวมฮีโร่ออกมาสะเปะสะปะอย่างน่าเสียดาย
ปลายเดือนตุลาคม ปี 2022 ดีซี สตูดิโอส์ จึงประกาศยกเครื่องทีมงานใหม่อีกครั้ง โดยแต่งตั้งผู้กำกับมากวิสัยทัศน์อย่าง เจมส์ กันน์ (James Gunn) เจ้าของไตรภาคแก๊งฮีโร่ที่หลายคนรักอย่าง Guardians of the Galaxy เป็นประธานด้านความคิดสร้างสรรค์ เพื่อหวังให้ช่วยออกแบบแนวทางต่อไปที่ดีซีควรจะเป็น
ด้วยเหตุนี้ ตำแหน่งภาพยนตร์ที่หลายคนจับจ้องแบบตาไม่กะพริบจึงตกเป็นของ The Flash เพราะนี่อาจเป็นหนังเรื่องสุดท้ายของค่ายที่เล่าถึงเหตุการณ์ต่อจากศึกระหว่างทีม Justice League กับกองทัพของสเตพเพนวูล์ฟ (Steppenwolf) และยิ่งตัวหนังโปรโมตว่าหยิบยกเหตุการณ์สำคัญอย่าง The Flashpoint Paradox มาเป็นแรงบันดาลใจ แฟนๆ ก็ยิ่งตั้งหน้าตั้งตารอและคาดหวังกันใหญ่ว่า บางที การเดินทางย้อนเวลาของฮีโร่ความเร็วเหนือแสง และการเข้ามาคุมบังเหียนของเจมส์ กันน์อาจช่วยเปลี่ยนชะตากรรมของค่ายดีซีต่อจากนี้ก็เป็นได้
*บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาบางส่วนของ The Flash*
แม้จะเต็มไปด้วยปัญหา ถูกเลื่อนฉายมากว่า 1 ปี แถมมีข่าวลือว่าอาจถูกยกเลิกจากกรณีที่ตัวเอกของเรื่องก่อวีรกรรมเสื่อมเสีย ทว่าฉากเปิดเรื่องของ The Flash ก็ช่วยให้ผู้ชมวางใจได้ไม่น้อย หนังเริ่มต้นด้วยความตื่นเต้นฉับไว ปูความเป็นไปของตัวละครจากแก๊ง Justice League เดิม เพิ่มเติมด้วยฉากแอ็กชั่นที่เอื้อให้เราได้เห็น ‘แบร์รี อัลเลน’ หรือเดอะแฟลชที่รับบทโดยเอซรา มิลเลอร์ (Ezra Miller) โชว์ทักษะอันเหนือชั้นยิ่งกว่าที่เคยดูในหนังเรื่องก่อนๆ
เชื่อว่าคนดูส่วนใหญ่ก็น่าจะมีความเห็นในลักษณะเดียวกัน นั่นคือตั้งแต่ฉากแรกไปจนกลางเรื่อง หนังเดี่ยวของนายวิ่งเร็วถูกนำเสนอออกมาสนุกกว่าที่คิด จังหวะการเล่าเรื่องต่อเนื่องไม่ติดขัด รวดเร็วและลื่นไหลไม่ต่างจากความสามารถของตัวเอก พร้อมกันนั้น ผู้สร้างก็สามารถเนรมิตฉากการใช้พลังสปีดฟอร์ซได้อย่างน่าสนใจ มีลูกเล่นหลากหลาย ไม่ทับทางฮีโร่อีกค่ายอย่างควิกซิลเวอร์ (Quiksilver) ที่ก็มีจุดเด่นเป็นความเร็ว แน่นอนว่าอาจคล้ายคลึงบ้าง แต่ก็ยังเสาะหาท่าเล่าที่คนดูสนุกตามได้
วิธีดำเนินเรื่องของ The Flash ชวนให้เรานึกถึงหนังซูเปอร์ฮีโร่ช่วงปลายยุค 90 ถึงต้นยุค 2000 กล่าวคือ ไม่ต้องลีลาปูเรื่องจนเกินพอดี ขอแค่เล่าให้สนุก คอยหยอดมุกตลกเคี้ยวง่าย มีฉากต่อสู้กับตัวร้ายที่สมเหตุสมผล เท่านั้นก็เพียงพอต่อการเป็นหนังบล็อกบัสเตอร์ช่วงซัมเมอร์จากฮอลลีวูด และเมื่อลองมองทะลุวิธีการเล่าเข้าไปยังตัวบทก็จะพบว่า ผู้สร้างเลือกที่จะมอบเนื้อหาซึ่งต่างไปจากสิ่งที่ผู้ชมบางกลุ่มคาดหวัง เพราะในฝั่งคอมิค เหตุการณ์อย่าง The Flashpoint Paradox นั้นทั้งยิ่งใหญ่และส่งผลกระทบต่อโลกคู่ขนานแบบนับไม่ถ้วน แต่ในเวอร์ชั่นภาพยนตร์ปี 2023 หนังเลือกโฟกัสที่ความต้องการของตัวแบร์รีเป็นหลัก
จริงอยู่ที่หายนะมัลติเวอร์สยังเป็นปลายทางของเรื่องเช่นเดิม แต่หัวใจแท้จริงที่ผู้กำกับอย่างแอนดี มูชิเอ็ตตี (Andy Muschietti) อยากให้เราเห็นคือความพยายามในการกลับไปแก้ไขอดีตของชายหนุ่มผู้ทนอยู่กับความสูญเสีย ย้อนเวลาไปช่วยให้แม่รอดชีวิต ส่งให้ The Flash มีความเป็นหนังย้อนเวลามากกว่าหนังโลกคู่ขนาน และนั่นช่วยให้ผู้ชมได้รับทราบต้นสายปลายเหตุของการได้รับพลังแห่งความเร็ว ได้เข้าใจเนื้อแท้ของแบร์รี่อย่างลึกซึ้งถึงแก่น ทั้งยังรู้สึกร่วมกับตัวละครนี้ได้ง่ายดายยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ดี สิ่งหนึ่งที่เข้ามาขัดขวางความเพลิดเพลินของผู้ชมอยู่บ้างประปราย (หรืออาจจะบ่อยเลยสำหรับหลายคน) คืองานเทคนิคพิเศษด้านภาพ (VFX: Visual Effects) ที่ดูประดักประเดิด ชวนตั้งคำถาม กระทั่งฉากช่วยชีวิตทารกที่เร้าใจ เราก็อดไม่ได้ที่จะจ้องจับผิดงานกราฟิกที่ดูผิดที่ผิดทาง ยอมรับตามตรงว่าหลายครั้งเราก็ไม่แน่ใจว่า สิ่งที่อยู่บนจอคือความไม่เนี้ยบหรือความตั้งใจของผู้สร้างที่อยากให้ภาพออกมาแปลกแหวกแนวกันแน่
“เฮ้ย ทรงดีนะ…” “เออ โผล่มาหน่อยหนึ่งก็ยังดี…” “บ้า! มาได้ไงเนี่ย…” ไปจนถึงการอุทานคำหยาบตามถนัดเมื่อนักแสดงที่แฟนๆ คิดถึงปรากฏตัว บ้างก็มาโผล่ตามที่สื่อโปรโมต บ้างก็แวะมาให้หายคิดถึง แต่บางคนก็เกินคาดมากจนต้องชื่นชมว่า ทีมงานสามารถเก็บความลับเรื่องนักแสดงรับเชิญได้ดีจนน่าตกใจ The Flash จึงยังสามารถทำให้อะดรีนาลีนของผู้ชมสูบฉีดได้ภายใต้งานซีจีไอที่อาจจะขัดใจหลายๆ คนพอสมควร
อีกเรื่องที่คงไม่พูดถึงไม่ได้คือการที่ The Flash ดูจะละม้ายคล้ายหนังหลายต่อหลายเรื่องเหลือเกิน เพราะคอนเซ็ปต์เคยล้ำอย่างมัลติเวิร์ส ปัจจุบันก็ถูกใช้งานจนช้ำแล้วช้ำอีกทั้งใน Spider-Man: No Way Home และ Doctor Strange in the Multiverse of Madness โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อ ดร.สเตรนจ์เกี่ยวข้องทั้งกับมัลติเวิร์สและการย้อนเวลา จึงไม่น่าเชื่อเหมือนกันว่า The Flash จะพาให้เรานึกถึงหมอแปลก ไม่ใช่แค่ภาค 2 แต่ภาคแรกก็ไม่เว้น
ซ้ำร้าย ไม่ถึงหนึ่งเดือนก่อนหน้านี้ อนิเมชั่นที่เชื้อเชิญให้คนทั่วโลกรู้จักกับมัลติเวิร์สอย่างเป็นทางการอย่าง Spider-Man: Across the Spider-Verse ก็ชิงฉายตัดหน้าอีก จังหวะการมาถึงของ The Flash จึงเรียกได้ว่าโชคร้ายและผิดที่ผิดเวลา
ซ้ำร้าย เมื่อก่อนหน้านี้ในโลกภาพยนตร์ก็มีความตั้งใจที่จะใช้ไอเท็มอย่างการย้อนเวลาเพื่อชุบชีวิตแฟรนไชส์มาแล้วครั้งหนึ่ง หลายคนน่าจะพอนึกออก เรากำลังพูดถึง X-Men: Days of Future Past อีกหนึ่งหนังฮีโร่จากค่าย 20th Century Fox (ตอนนี้เป็น 20th Century Studios) ในระยะหลัง หางเสือของแฟรนไชส์มนุษย์กลายพันธุ์ดูจะหลงทิศงงทาง ไม่ประสบความสำเร็จเหมือนเคย ผลลัพธ์จึงลงเอยที่การปั้นหนึ่งภาคว่าด้วยการส่งตัวละครวูล์ฟเวอรีนกลับไปแก้ไขอดีตและเปลี่ยนอนาคต เพื่อให้ผู้สร้างมีเครื่องมือหยิบจับสำหรับทำภาคต่อมากขึ้น
ไม่เพียงเท่านั้น The Flash ยังชวนให้คนดูนึกถึงหนังย้อนเวลาเรื่องอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นผลงานขึ้นหิ้งอย่าง Back to the Future หรือเรื่องราวย้อนเวลาสุดล้ำอย่าง Looper และ Edge of Tomorrow ในมุมหนึ่ง สิ่งที่ The Flash ทำอาจเป็นการคารวะหลากผลงานที่ผ่านมา ทว่าการเชิดชูภาพยนตร์เหล่านั้นย่อมต้องแลกมาด้วยความรู้สึกซ้ำซากจำเจของผู้ชมจนเราเองก็ไม่มั่นใจเหมือนกันว่า มันเป็นทางเลือกที่คุ้มค่าหรือขาดทุนในสายตาคนส่วนใหญ่
แต่ถึงจะเล่นท่าซ้ำย้ำเรื่องเก่าขนาดไหน ‘เดอะ แบก’ ที่ช่วยให้คนดูประทับใจการผจญภัยของฮีโร่ชุดแดงจนจบเอนด์เครดิตคงหนีไม่พ้นนักแสดงมากความสามารถอย่างเอซรา มิลเลอร์ ในเรื่อง เขาต้องเสกสรรปั้นแต่งตัวละครแบร์รี อัลเลนถึง 2 บทบาท
บทแรกคือแบร์รีวัยทำงาน ผู้ผ่านศึกร่วมกับทีม Justice League และเสียแม่ไปตั้งแต่เด็ก ขณะที่อีกคนคือแบร์รีวัย 18 ที่บ้าบิ่น กวนโอ๊ย และเติบโตมาโดยที่ครอบครัวได้อยู่ด้วยกันอย่างพร้อมหน้า เท่ากับว่าต้องเล่นในฉากเดียวกัน 2 รอบไม่พอ เขายังต้องถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกของตัวละครที่ก้ำกึ่งจะเป็นคนเดียวกัน แต่ก็ไม่เชิงว่าใช่ เพราะคนหนึ่งมีวุฒิภาวะมากกว่า ทั้งยังยืนด้วยลำแข้งของตัวเองมาโดยตลอด ส่วนอีกคนนั้นเด็กกว่าหลายขวบปี แถมยังเป็นเยาวชนผู้สุขเต็มที่และไม่เคยมีประสบการณ์เลวร้ายใดๆ มันไม่ใช่ทั้งบทเดียวกัน แต่ก็ไม่ใช่คนละบทกันอย่างสิ้นเชิง
กระนั้น ความท้าทายทั้งหมดก็ไม่ใช่ปัญหาสำหรับนักแสดงที่ชื่อเอซรา มิลเลอร์ เขาทำให้คนดูเชื่ออย่างสนิทใจว่าเขาเป็นทั้งแบร์รีวัยรุ่นและวัยผู้ใหญ่จริงๆ ทรงผมที่แตกต่างอาจช่วยให้เราแยกได้ด้วยลักษณะภายนอก แต่ลึกลงไปกว่านั้น แววตา ท่าทาง และการสื่ออารมณ์ล้วนเป็นส่วนผสมที่ต่อให้ทรงผมของสองวัยจะเหมือนกันก็เชื่อว่าเราจะยังแยกออกอยู่ดี นับเป็นการตีความตัวละครฮีโร่ที่มีเลือดเนื้อและความเป็นมนุษย์อย่างไร้ข้อกังขาจนหลายคนอาจต้องเสียน้ำตาให้กับหนังแอ็คชันที่เต็มไปด้วยมุกตลกเรื่องนี้
จุดหนึ่งที่น่าเสียดายของ The Flash คือช่วงท้ายที่ดูขาดๆ เกินๆ ผิดกับองก์ 1 และ 2 ที่บอกเล่าได้อย่างน่าติดตามเกือบจะตลอดรอดฝั่ง ถึงอย่างนั้น หนังก็พอจะฉายให้เห็นเค้าลางเส้นทางต่อไปของทัพนักแสดงและเหล่าตัวละครดีซี
เบน แอฟเฟล็ก (Ben Affleck) ได้บอกลาบทมนุษย์ค้างคาวของเขาเป็นที่เรียบร้อย ทว่าหนังก็ยังแอบเหลือทางเดินเล็กๆ ที่แบทแมนในจักรวาลหลักพอจะเดินต่อไปได้ (ปูได้เกินคาดมาก) ฝั่งเฮนรี คาวิลล์ (Henry Cavill) เจ้าของบทซูเปอร์แมนที่ทีแรกก็เหมือนจะได้คัมแบ็กกลับมารับบทอีกครั้ง ล่าสุดก็ได้รับแจ้งจากทีมงานว่าตัวเขาจะไม่ได้ไปต่อกับดีซีแล้ว ฟากวันเดอร์วูแมนที่รับบทโดยกัล กาโดต์ (Gal Gadot) ก็น่าจะไม่มีหนังเดี่ยวเรื่องที่ 3 แต่ยังพอมีโอกาสโผล่มาร่วมแจมในงานรวมทีมเรื่องต่อๆ ไป
และสุดท้าย หนังยังไม่ลืมที่จะเตือนผู้ชมว่า Aquaman and the Lost Kingdom ที่เลื่อนฉายแล้วเลื่อนฉายอีกจะเข้าโรงอย่างแน่นอน แต่ตอนนี้คงต้องปรับเนื้อหาใหม่ให้สอดรับกับทิศทางของค่ายในอนาคต และที่สำคัญคงต้องตัดฉากของตัวละครเมรา ที่รับบทโดยแอมเบอร์ เฮิร์ด (Amber Heard) ออกไปให้ได้มากที่สุด เพราะการมีข้อพิพาทกับอดีตสามีอย่างจอห์นนี เดปป์ (Johnny Depp) ทำให้แฟนๆ ต่อต้านเธออย่างหนักจนอาจไม่มาดูหนัง
และในเมื่อเป็นหนังของ The Flash ดังนั้น เราก็ควรจะเขียนถึงเขาเสียหน่อย สุดท้าย ทุกคนก็คงยอมรับว่า นี่คือตัวละครที่เข้ามาสร้างสีสันให้จักรวาลดีซียุคตั้งไข่ได้อย่างน่าชื่นชม แต่ต่อให้ความสามารถของเอซรา มิลเลอร์จะล้นฟ้าเพียงใด ข่าวฉาวที่เขาสร้างไว้ ทั้งการบีบคอหญิงในบาร์ที่ไอซ์แลนด์ ปาเก้าอี้จนสาวหัวแตกที่ฮาวาย ตลอดจนมีคดีชักจูงเยาวชนให้ใช้สิ่งเสพติด ก็ทำให้ค่ายต้องคิดหนัก
แน่นอนว่าทักษะของเขาไม่มีใครสงสัย แต่ทีมงานจะแน่ใจได้อย่างไรว่าเขาจะควบคุมพฤติกรรมของตัวเองได้อย่างมั่นคง มาตรการเบื้องต้นของค่าย ณ เวลานี้คือส่งเอซราไปฟื้นฟูและบำบัด ก่อนจะอนุญาตให้มาร่วมงานเปิดตัวภาพยนตร์ที่ลอสแอนเจลิสได้ แต่ทั้งนี้ เขาถูกห้ามให้สัมภาษณ์กับสื่อทุกเจ้าและห้ามมีส่วนกับการประชาสัมพันธ์ทุกประเภทที่จะมาถึง จึงเป็นไปได้ว่าเส้นทางของเอซรากับบทแบร์รี อัลเลนอาจจะไม่มีวันวนมาบรรจบกันอีก อย่างน้อยก็ไม่ใช่เร็วๆ นี้
“เราใช้เวลาไม่กี่วันก่อนหน้านี้ร่วมกับเหล่ายอดนักคิดในวงการ นักเขียนมากฝีมือหลายคนได้ช่วยกันวางแผนเอาไว้ 8-10 ปี ว่า ตัวละครของดีซีควรจะมีหนังแบบไหน ซีรีส์ควรจะไปในทิศทางใด หรืออนิเมชันต้องเกี่ยวกับอะไร”
คือถ้อยคำที่เจมส์ กันน์ให้สัมภาษณ์ไว้ไม่นานหลังเข้ารับตำแหน่งประธานฝ่ายความคิดสร้างสรรค์ อีกทั้งเจ้าตัวยังเผยแผนการระยะยาวในอีก 10 ปีจากนี้ให้แฟนๆ พอจะมีสิ่งให้ยึดเหนี่ยวรอคอย โดยเจมส์เรียกอาณาจักรดีซียุคแรกที่กำลังจะถือกำเนิดว่า ‘Chapter 1 God and Monster’ ซึ่งจะมีทั้งงานภาพยนตร์ ซีรีส์ และอนิเมชัน เริ่มจากภาพยนตร์ที่ไม่เชื่อมโยงกับจักรวาลหลักอย่าง The Batman 2 ของผู้กำกับแมตต์ รีฟส์ (Matt Reeves) และ Joker: Folie à Deux ที่เจมส์ กันน์ขอนิยามเหตุการณ์ในทั้งสองเรื่องว่าเกิดใน ‘Else World’ หรือโลกอื่นที่ไม่ใช่โลกหลักของดีซี
ส่วนหนังที่จะเป็นเรื่องเปิดให้กับจักรวาลหลักแห่งใหม่คือ Superman: Legacy ภารกิจรีบูตฮีโร่แห่งดาวคริปตันซึ่งเจมส์ กันน์จะทำหน้าที่เขียนบทและกำกับด้วยตัวเอง ก่อนจะต่อด้วย The Brave and the Bold การผจญภัยของแบทแมนคนใหม่ที่มีลูกชายอย่างโรบินเป็นคู่หู สมทบที่ฮีโร่สายดาร์กอย่าง Swamp Thing หนังรวมทีมฮีโร่ของค่ายไวล์ดสตอร์มที่ดีซีซื้อลิขสิทธิ์มาอย่าง The Authority แล้วจึงปิดท้ายที่ Supergirl: Woman of Tomorrow
ฝั่งของซีรีส์ก็จะมี 5 เรื่องเช่นเดียวกับภาพยนตร์ ไล่ตั้งแต่อนิเมชัน Creature of Commandos ซีรีส์ Waller, Booster Gold, Lanterns ก่อนจะจบที่ Paradise Lost และดูเหมือนจะไม่มีวี่แววของ The Flash เลยไม่ว่าจะในฟากภาพยนตร์ ซีรีส์ หรืออนิเมชั่นก็ตาม
ถึงตรงนี้ เราอยากย้ำอีกครั้งว่า The Flash ไม่ใช่หนังฮีโร่ที่แย่ แต่ก็คงไม่สามารถพูดได้อย่างเต็มปากว่า มันคือแหล่งรวมความแปลกใหม่หรือการรีเซตจักรวาลอันไร้ที่ติ อย่างไรเสีย ภาพยนตร์ที่น่าจะเป็นทั้งจุดเริ่มต้นและจุดจบของตัวละครแบร์รี อัลเลน ซึ่งรับบทโดยเอซรา มิลเลอร์ ก็ถือเป็นการส่งท้ายจักรวาล Snyderverse ของแซ็ค สไนเดอร์ที่น่าจดจำ ดูสนุก แถมยังอัดแน่นไปด้วยความจริงใจในการเฉลิมฉลองความสำเร็จของเหล่าฮีโร่ค่ายดีซีตลอดหลายปีที่ผ่านมา
The Flash อาจเป็นหนึ่งในมนุษย์ที่รวดเร็วและว่องไวที่สุดก็จริง ทว่าถ้าจะมีสักสิ่งที่ค่อนข้างช้าไปสักหน่อยก็คงเป็นการที่หนังของเขามาถึงในวันที่โลกภาพยนตร์เริ่มชินชากับการย้อนเวลาและคอนเซ็ปต์มัลติเวิร์สไปเสียแล้ว
อ้างอิงข้อมูล