ยังจำได้ไหมว่าครูคนนั้นสอนวิชาอะไรให้คุณบ้าง?
ในช่วงชีวิตนี้หลายคนคงมีโอกาสได้รู้จักคุณครูมากมาย ซึ่งแต่ละคนก็มอบบทเรียนอันมีค่าที่แตกต่างกันออกไป ไม่ใช่เพียงแค่ วิชาคณิตพื้นฐาน วิชาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร หรือวิชาสังคมยุคปัจจุบันเท่านั้น แต่บนโลกนี้ยังมีอีกหลายบทเรียนที่เราได้เรียนรู้ นอกจากในห้องเรียนสี่เหลี่ยมด้วย
บทเรียนเหล่านั้นไม่ได้มาจากคุณครูใจดีที่คอยซัปพอร์ตนักเรียนอย่างที่เราคุ้นเคยเท่านั้น แต่บทเรียนอันมีค่า บางครั้งก็มาจากคุณครูสุดเย็นชา หรือคุณครูที่ดูเหมือนแก๊งยากูซ่าได้ด้วยเหมือนกัน แม้ครูบางคนก็ดูเป็นตัวอย่างที่ไม่ดีเอาซะเลย แต่ในอีกแง่หนึ่งครูคนนั้นก็อาจเป็นตัวอย่างที่ทำให้เราเรียนรู้ว่า สิ่งที่ไม่ควรทำตามมีหน้าตาเป็นยังไงได้ด้วยเหมือนกัน
ในวาระวันครูปีนี้ The MATTER เลยอยากชวนทุกคนกลับไปทบทวนวิชาเรียนกันอีกครั้ง มีวิชาไหนที่เราได้เรียนรู้จากคุณครูเหล่านี้กันบ้าง แล้วพวกเขาทำยังไงเพื่อมอบบทเรียนอันล้ำค่านี้ให้กับเรา
วิชา การรฉกฉวยวันเวลา
ครูผู้สอน จอห์น คีตติง (John Keating) จาก Dead Poets Society
วิชานี้คงต้องขอให้ทุกคนลืมวิธีการสอนแบบเดิมๆ เพราะเราจะเริ่มต้นคลาสนี้ด้วยการฉีกหน้าคำนำที่คอยบอกว่าเราควรตีค่าบทกวีนี้ยังไงทิ้งไป แล้วตั้งคำถามว่าอะไรคือสิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิตเรากันแน่? เราได้ลงมือทำมันแล้วหรือเพียงแค่ปล่อยให้เวลาผ่านพ้นไป
แค่เริ่มต้นก็ทำให้นักเรียนหลายคนคิ้วขมวด หน้าเหวอกันทั้งห้อง เพราะไม่เคยเจอคุณครูคนไหนที่สอนพวกเขาแบบนี้เลย ซึ่งวิชานี้สอนโดย จอห์น คีตติง คุณครูที่ไม่ได้สอนตามหนังสือเรียน แต่แหกทุกกฎในโรงเรียนชายล้วนอันเคร่งครัดเต็มไปด้วยกฎระเบียบ ไม่ว่าจะเป็นกระโดดขึ้นโต๊ะ หรือแอบตั้งชมรมลับๆ อย่าง ‘ชมรมกวีไร้ชีพ (Dead Poet Society)’ เพื่อให้เด็กๆ รู้จักความงามด้านอื่นๆ ของชีวิต แทนที่จะตั้งหน้าตั้งตาเรียนเพื่อให้ไปจุดสูงสุดของอาชีพตามที่สังคมกำหนดไว้ให้ โดยที่ไม่เคยรู้เลยว่าสิ่งที่ตัวเองต้องการจริงๆ คืออะไร
นอกจากนี้เขายังสนับสนุนให้เด็กๆ เลือกเส้นทางชีวิตของตัวเอง ด้วยคำพูดที่ทุกคนจำขึ้นใจว่า ‘Carpe Diem’ ภาษาละตินที่มีความหมายว่า ‘ฉกฉวยวันเวลาเอาไว้ (Sieze the Day)’ โดยเฉพาะในวัยเยาว์ที่เต็มไปด้วยพลังและความฝัน เพื่อเตือนให้ทุกคนตระหนักว่าชีวิตนั้นแสนสั้น หากปล่อยให้เวลาล่วงเลยไป รู้ตัวอีกทีเราก็อาจไม่มีโอกาสได้ทำมันอีกแล้ว
วิชา การทำเพื่อรักนิรันดร์
ครูผู้สอน เซอร์เวอรัส สเนป (Severus Snape) จาก Harry Potter
ภายใต้ใบหน้าอันเงียบขรึมและเย็นชา แต่ศาสตราจารย์เซเวอร์รัส สเนปกลับเป็นคนที่สอนวิชาการทำเพื่อรักนิรันดร์ได้ดีที่สุด
สเนป อาจารย์สอนปรุงยาและการป้องกันตัวเองจากศาสตร์มืด ของโรงเรียนเวทย์มนต์ฮอกวอสต์ ถือเป็นคุณครูอีกคนหนึ่งที่มีบุคลิกซับซ้อน ชวนให้สงสัยว่าลึกๆ แล้วเขาเป็นคนดีหรือไม่ดีกันแน่ เพราะบางครั้งก็ใช้คำพูดถากถางนักเรียนเป็นประจำ แถมยังได้ชื่อความเป็นอาจารย์ที่ลำเอียงที่สุดคนหนึ่งเลย โดยเฉพาะกับแฮร์รี่ พอตเตอร์ แต่ถึงอย่างนั้นเขาก็เป็นครูที่แสดงให้นักเรียนเห็นถึงความจริงที่ว่า บางครั้งโลกก็ไม่ได้เป็นอย่างที่เราต้องการเสมอไปหรอกนะ
สเนปเคยมีชีวิตวัยเด็กที่ขมขื่น แม้กระทั่งตอนมีความรักก็ไม่สมหวังกับ ‘ลิลี่ พอตเตอร์’ เพราะความคิดและความเชื่อแตกต่างกันจนต้องแยกทางกันไป แถมสุดท้ายหญิงสาวอันเป็นที่รักยังไปตกลงปลงใจกับชายที่เขาเกลียด อย่าง ‘เจมส์ พอตเตอร์’ คนที่เคยรังแกเขาด้วย แม้ในใจจะเต็มไปด้วยความเกลียดชัง แต่เมื่อถึงเวลาที่ต้องปกป้อง ลิลี่ คนที่เขารักก็ยอมทำได้ทุกอย่าง ไม่ว่าจะด้วยการเสียสละตัวตนและยอมบากหน้าเสี่ยงอันตรายไปขอร้องเพื่อช่วยชีวิตเธอ รวมไปถึงการที่ยอมช่วยชีวิตแฮร์รี่ พอตเตอร์ อย่างลับๆ แม้เด็กคนนั้นจะมีส่วนผสมของคนที่เกลียดอยู่ในตัวด้วยก็ตาม
วิชา การขอโทษเมื่อทำผิด
ครูผู้สอน มิส นอร์เบอร์รี่ (Ms.Sharon Norbury) จาก Mean Girls
“ยกมือขึ้นมาถ้าใครเคยตกเป็นเหยื่อของเรจิน่า จอร์จบ้าง” ทันทีที่คุณครูนอร์เบอร์รี่พูดจบนักเรียนก็ทยอยยกมือขึ้นทั้งชั้น ไม่เว้นแม้กระทั่งพวกคุณครูด้วย
หลังจากเหตุการณ์เบิร์นบุ๊ก หนังสือเรื่องลับๆ ของคนในโรงเรียนถูกเปิดเผย สร้างความปั่นป่วนไปทั่วโรงเรียนนอร์ทเชอร์ ครูนอร์เบอร์รี่คลี่คลายสถานการณ์นี้ด้วยการ
ขอให้ทุกคนเปิดใจต่อหน้าผู้อื่นโดยตรงเมื่อมีเรื่องคาใจ รวมถึงให้ทุกคนเขียนคำขอโทษทุกคนที่เราเคยทำร้ายในชีวิต หลังจากพูดจบให้ทิ้งตัวลงมาบนแท่น หากมีคนรับนั้นก็หมายความว่าพวกเธอได้รับการให้อภัยแล้ว
การจิกกัดว่าร้ายนินทาของเหล่าเด็กสาวดูเหมือนเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นอยู่ตลอด แม้ไม่รู้ว่าใครเป็นคนเริ่ม แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าเราควรจะปล่อยให้มันเกิดขึ้นต่อไป คุณครูนอร์เบอร์รี่ นอกจากจะคอยให้คำแนะนำและให้กำลังใจเหล่านักเรียนแล้ว เธอยังสอนให้เด็กๆ พูดสิ่งที่คิดออกมาตรงๆ แทนที่จะซุบซิบนินทาให้คนอื่นเกลียดกันมากขึ้น รวมถึงการขอโทษคนอื่นอย่างจริงใจด้วย เพราะไม่ว่าใครต่างก็เคยทำผิดต่อคนอื่น แต่สิ่งสำคัญคือการเรียนรู้ที่จะขอโทษ เพื่อไม่ให้ความผิดพลาดนี้เกิดขึ้นซ้ำอีกครั้ง
วิชา การดูแลเด็กมีปัญหา
ครูผู้สอน เอคิจิ โอนิซึกะ (Eikichi Onizuka) จาก GTO (Great Teacher Onizuka)
ดูเผินๆ เอคิจิ โอนิซึกะ ไม่น่าจะเป็นคุณครูที่ดีได้ ด้วยภาพลักษณ์ภายนอกที่ย้อมผมสีทอง เจาะหูข้างละ 2 รู ท่าทางไม่ต่างจากพวกนักเลงหัวไม้ ก่อเรื่องวุ่นวายไปจนถึงมีการชกต่อย ต่างจากคุณครูที่เราเคยเห็นทั่วไป แต่ทุกครั้งที่เกิดเรื่องมักทำไปเพื่อช่วยนักเรียนที่เขาดูแล
ด้วยท่าทีต่างจากผู้ใหญ่ทั่วไป โอนิซึกะ กลายเป็นคุณครูที่น่าจะสอนวิชาการดูแลเด็กมีปัญหาได้ดีอีกคนหนึ่ง ภายใต้ภาพลักษณ์ที่ไม่เหมือนคุณครูทั่วไปในยุคนั้น ที่มักตัดสินว่าอะไรถูกหรือผิด โดยไม่ฟังเหตุผลของเด็กๆ หรือละเลยเด็กที่สร้างปัญหา แล้วแปะป้ายว่าเป็น ‘เศษสวะ’ ซึ่งนอกจากเป็นการผลักให้เด็กๆ ซึ่งโดดเดี่ยวอยู่แล้วรู้สึกไม่เหลือใครแล้ว ยังทำให้พวกเขาต้องแก้ปัญหาแบบผิดๆ อยู่เพียงลำพังด้วย
โอนิซึกะต่างออกไป เขาดูแลเหล่าเด็กๆ ที่มีบาดแผลและปมในใจด้วยการรับฟัง ไม่ตัดสินว่าพวกเขาทำถูกหรือผิด คอยอยู่ข้างๆ ปกป้องและช่วยเหลือในเวลาที่พวกเขาต้องการมากที่สุด แม้จะต้องเจ็บตัวก็ตาม เพราะสิ่งที่เด็กๆ ที่โดดเดี่ยวเหล่านี้ต้องการมากที่สุด ไม่ใช่คนที่ชี้ทางให้ว่าควรเดินไปทางไหน แต่คือคนที่เข้าใจปัญหาที่เขากำลังเผชิญ โดยไม่ทำให้รู้สึกว่าตัวเองกำลังต่อสู้อยู่คนเดียวบนโลกเท่านั้นเอง
วิชา การก้าวข้ามขีดจำกัดของตัวเอง
ครูผู้สอน ชิฟู (Master Shifu) จาก Kung fu Panda
“ถ้าเจ้าทำแต่สิ่งที่ทำได้ เจ้าก็จะไม่มีวันดีขึ้นกว่าตอนนี้”
แม้อาจารย์ชิฟูจะเป็นอาจารย์ที่เข้มงวด คอยเคี่ยวเข็ญนักเรียนของตัวเองให้กลายเป็นนักรบมังกรที่เก่งกาจในทุกๆ ด้าน แต่เมื่อต้องมาฝึก ‘โป’ แพนด้าที่ไม่มีเซนส์การต่อสู้แม้แต่น้อยในช่วงแรก ก็ทำให้เขาต้องเปลี่ยนความคิดใหม่ ปรับเปลี่ยนวิธีการสอน และเปิดใจยอมรับว่าแต่ละคนต่างก็มีข้อดีและความแข็งแกร่งแบบเฉพาะของตัวเอง จนทำให้โป แพนด้าตัวอ้วนกลมกลายเป็นหนึ่งในนักรบมังกรได้
การสอนของอาจารย์ชิฟูไม่ได้สอนแค่เรื่องทักษะการต่อสู้เท่านั้น แต่ยังแทรกบทเรียนชีวิตให้เรากล้าเผชิญหน้ากับข้อจำกัดของตัวเองด้วย เพราะเรามักมีเสียงภายนอกที่ย้ำเตือนว่าเราเป็นใคร ทำอะไรได้หรือไม่ได้อยู่ตลอด แต่บทเรียนที่สำคัญจากชิฟูคือการค้นหาตัวตนที่แท้จริงของตัวเอง ปล่อยวางจากภาพลวงตาภายนอก แล้วสุดท้ายเราก็จะพบความสงบภายในจิตใจของตัวเอง
วิชา การเปิดเผยและเป็นตัวเองของชาว Queer
ครูผู้สอน นาธาน อาจายี (Nathan Ajayi) จาก Heartstopper
“อย่าปล่อยให้ใครมาทำให้เราไม่มีตัวตน”
วิชานี้คงไม่มีใครสอนได้ดีไปกว่า นาธาน อาจายี ครูสอนศิลปะ จากโรงเรียนทรูแฮมอีกแล้ว เขาคือคนที่เป็นเซฟโซนของเหล่านักเรียนชาวเควียร์ โดยเฉพาะ ‘ชาร์ลี สปริง’ การเป็นครูที่เปิดเผยว่าตัวเองเป็นเกย์คนเดียวในโรงเรียน เขาจึงเป็นเหมือนแสงสว่างที่มอบความกล้าให้เด็กๆ ที่กำลังตามหาตัวตนของตัวเอง ในช่วงเวลาแห่งความสับสนในวัยหัวเลี้ยวหัวต่อด้วย
อาจายีไม่เพียงแต่มอบเซฟโซนด้วยการเปิดห้องเรียนของเขาให้เป็นที่พักพิงให้แก่ ชาร์ลี ลูกศิษย์ของตัวเองที่กำลังสับสน และกลัวการสายตาของคนอื่นที่มองมาเมื่อเกย์อย่างเขามีความรักเท่านั้น แต่ยังคอยย้ำว่าการปกปิดความเป็นตัวเองในโรงเรียนจะเป็นทางที่ปลอดภัยและง่ายกว่า แต่บางครั้งก็อาจทำให้เรารู้สึกเหงาและโดดเดี่ยวได้ และบอกว่ามันไม่ใช่เรื่องปกติเลยที่จะมีใครมาทำให้เราต้องรู้สึกไม่มีตัวตนแบบนี้
การรับฟังและเข้าใจปัญหาที่นักเรียนต้องเจอ รวมถึงแบ่งปันเรื่องราวของตัวเองนี่เอง ทำให้ลูกศิษย์ของเขากล้าเผชิญหน้ากับเส้นทางของตัวเองอย่างมั่นใจได้อีกครั้ง
วิชา การแก้แค้นแบบถึงใจ
ครูผู้สอน ยูโกะ โมริกุจิ (Yuko Moriguchi) จาก Confessions (2010)
คงไม่มีการแก้แค้นไหนดีไปกว่าทำให้อีกฝ่ายต้องจมอยู่กับความรู้สึกผิดและความหวาดกลัวไปชั่วชีวิต ซึ่งเรากำลังจะได้เรียนกับ ยูโกะ โมริกุจิ อาจารย์ที่วางแผนแก้แค้นให้กับลูกสาวของเธอที่เสียชีวิตจากการถูกฆาตกรรม โดยเด็กในห้องเรียนของเธอเอง
หนึ่งในการแก้แค้นที่ตราตรึงใจทุกคนจนถึงตอนนี้คือการฉีดเลือดที่มีเชื้อ HIV ลงในกล่องนมของนักเรียนสองคนที่มีส่วนในการตายของลูกสาวของตัวเอง ทำให้ผู้ก่อเหตุต้องรู้สึกกระวนกระวายใจ ไม่ว่าจะเป็นความจริงหรือไม่ก็ตาม ยิ่งแสดงให้เห็นว่าการลงโทษทางจิตใจ ก็มีพลังไม่แพ้การลงโทษทางร่างกาย นอกจากนี้เราอาจารย์โมริกุจิ ยังสอนให้เรารู้จักด้านมืดในจิตใจของมนุษย์ ในยามที่เป็นฝ่ายเหนือกว่า ซึ่งมักแสดงสัญชาตญานดิบออกมา ทำให้ใครคนหนึ่งสามารถทำสิ่งที่ไม่คาดคิดมาก่อน
นอกจากนี้แก้แค้นของอาจารย์โมริกุจิยังมอบบทเรียนให้เราอีกว่าหากสังคมมีกฎหมายที่ยุติธรรม ถึงตอนนั้นการแก้แค้นด้วยตัวเองก็อาจไม่จำเป็นอีกต่อไปก็ได้
วิชา การใช้อำนาจและบงการจิตใจ
ครูผู้สอน เทอเรนซ์ เฟล็ตเชอร์ (Terence Fletcher) จาก Whiplash
“ไม่มีคำไหนในภาษาอังกฤษจะร้ายแรงไปกว่าคำว่า ‘ทำได้ดีแล้ว’”
หากอยากได้ A ในวิชานี้จำเอาไว้ให้ขึ้นใจว่าอย่าพอใจอะไรง่ายๆ ยิ่งใส่ความกดดันให้อีกฝ่ายได้เท่าไหร่ยิ่งดี อย่างที่อาจารย์เทอเรนซ์ เฟล็ตเชอร์ ได้ทำกับลูกศิษย์ของตัวเอง เพื่อให้กลายเป็นมือกลองที่ยอดเยี่ยมที่สุด แต่ถ้าหากหักหลังเขาเมื่อไหร่ ก็เตรียมตัวจบชีวิตในเส้นทางอาชีพนี้ได้เลย
เฟล็ตเชอร์ คืออาจารย์ที่ไม่ยอมอ่อนข้อให้กับความไม่สมบูรณ์แบบ เขาไม่ยอมให้ลูกศิษย์ผิดพลาดได้แม้แต่นิดเดียว ด้วยวิธีการสอนที่เข้มข้น และดุดัน หลอกล่อด้วยคำว่าเพอร์เฟ็กต์ และทำให้นักเรียนเชื่อว่าเขาคือคนเดียวที่จะดึงขีดจำกัดของพวกเขาออกมาได้ (แม้ความจริงจะมีอีกหลายวิธีที่ทำให้คนเก่งขึ้น)
ดังนั้นถ้าอยากได้ดีในวิชานี้อย่ากลัวที่จะใช้คำพูดรุนแรง จนถึงทำร้ายร่างกาย เพื่อบีบบังคับให้อีกฝ่ายต้องเสียสละและอุทิศชีวิตให้ แม้สุดท้ายแล้วอาจทำให้คนที่โดนครอบงำตั้งคำถามว่า “สิ่งที่เราแลกไปมันคุ้มแล้วหรือเปล่า” ก็ตาม