สารภาพว่าทุกวันนี้เมื่อลืมตาตื่น สิ่งแรกที่ผมทำแม้ในขณะที่ยังสะลึมสะลือก็คือการควานหาโทรศัพท์ ก่อนจะเริ่มต้นเช็กข้อความที่ส่งเข้ามาซึ่งมีทั้งเรื่องงานและเรื่องเม้าท์มอยส่วนตัว จากนั้นก็ไถฟีดติดตามข่าวสารและดราม่าประจำวันจากโซเชียลมีเดียต่างๆ เพื่อป้องกันไม่ให้คุยกับคนอื่นไม่รู้เรื่อง ต้องยอมรับว่ารูปแบบการรับรู้ข่าวสารในปัจจุบันทำให้พฤติกรรมของผมเปลี่ยนไป
สัปดาห์ที่ผ่านมา ดราม่าทางการเมืองร้อนระอุตั้งแต่ต้นสัปดาห์ เมื่อพรรคอนาคตใหม่ถูกศาลรัฐธรรมนูญตัดสินยุบพรรค ต่อเนื่องด้วยการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลที่เกิดขึ้นพร้อมๆ กับกระแสการชุมนุมของนิสิต นักศึกษา ตามมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วประเทศ ปรากฏการณ์ที่ไม่เคยพบมาก่อนและน่าสนใจอย่างยิ่งสำหรับผม คือภาพการรวมตัวชุมนุมแสดงออกทางการเมืองที่ได้ขยายจากพื้นที่สาธารณะภายในมหาวิทยาลัยต่างๆ ไปสู่รั้วโรงเรียนระดับมัธยมศึกษา
ปรากฏการณ์ที่แต่ละมหาวิทยาลัยกระทั่งโรงเรียนมัธยมศึกษาคิดแฮชแท็กของตัวเองขึ้นมาประชันกันชนิดไม่มีใครน้อยหน้าใคร รวมทั้งการตั้งสเตตัสหรือทวิตเรื่องการเมืองกลายเป็นเรื่องปกติที่พบเห็นได้ในชีวิตประจำวัน ไม่ต่างจากการแลกเปลี่ยนถกเถียงประเด็นป๊อปคัลเจอร์อื่นๆ เช่น แฟชั่น ภาพยนตร์ หรือ ดนตรี สิ่งนี้อาจเป็นเครื่องยืนยันว่า สำหรับประเทศไทย ‘การเมือง’ ได้กลายเป็นป๊อปคัลเจอร์ไปแล้ว ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนี้เป็นผลมาจากบริบททางการเมืองที่มาพร้อมกับบทบาทของโซเชียลมีเดียที่มากขึ้นในสังคม
ป๊อปคัลเจอร์–จากการเมืองของวัฒนธรรมสู่เครื่องมือทางการเมือง
ป๊อปปูล่าร์คัลเจอร์ (popular culture) aka ‘ป๊อปคัลเจอร์’ หรือ ‘วัฒนธรรมป๊อป’ (pop culture) ตามความเข้าใจของคนทั่วไป มักใช้สื่อความหมายถึง ‘วัฒนธรรมร่วมสมัย’ อันเป็นวัฒนธรรมที่ได้รับความนิยมจากมวลชน (mass) ซึ่งอาจจะเป็นความนิยมในมวลชนกลุ่มเฉพาะในท้องถิ่น (folk) หรือเป็นความนิยมที่กว้างขวางก้าวข้ามพื้นที่ทางกายภาพก็ได้ ขอบเขตความเป็นป๊อปคัลเจอร์ได้หมายรวมถึงวัฒนธรรมหลากรูปแบบด้วยกัน เช่น ดนตรี ภาพยนตร์ วรรณกรรม การแต่งกาย อาหาร และอีกสารพัดสิ่ง
แต่ในมุมมองนักวัฒนธรรมศึกษาสายมาร์กซิสต์ ป๊อปคัลเจอร์เป็นมากกว่าความหมายข้างต้น เพราะในบริบทของยุโรปหลังการปฏิวัติอุตสาหกรรม ‘ป๊อปคัลเจอร์’ คือวัฒนธรรมร่วมสมัยของคนกลุ่มใหญ่ในสังคม ซึ่งก็คือชนชั้นแรงงาน ป๊อปคัลเจอร์จึงถูกมองเป็นวัฒนธรรมคู่ตรงข้ามของคนอีกกลุ่มซึ่งก็คือชนชั้นนายทุนหรือพวกชนชั้นสูงในสังคมผู้มี ‘ไฮคัลเจอร์’ หรือ ‘วัฒนธรรมระดับสูง’ (high culture) เป็นของตนเอง นักวัฒนธรรมศึกษาสายมาร์กซิสต์จึงมองว่า ‘ป็อปคัลเจอร์’ นั้นแฝงนัยยะการแข่งขันระหว่างวัฒนธรรมของชนชั้นแรงงานและชนชั้นสูงด้วย ผู้คนจึงเปรียบเสมือนผู้แข่งขันใน ‘สมรภูมิ’ แห่งวัฒนธรรม การที่ผู้คนที่ดำเนินชีวิต ซึมซับ เสพ และส่งต่อวัฒนธรรมกลุ่มของตนจึงเปรียบเสมือนการขับเคี่ยวกันระหว่างวัฒนธรรมซึ่งบ่อยครั้งถูกเรียกว่า ‘การเมืองของวัฒนธรรม’ ที่มักมีการต่อกร การสมยอมหรือการต่อต้านเกิดขึ้นอยู่เสมอ
นอกจากนี้สำหรับนักวัฒนธรรมศึกษาสายมาร์กซิสต์ ป๊อปคัลเจอร์ยังถูกมองในบริบทที่เชื่อมโยงกับวิถีการผลิตแบบทุนนิยม ซึ่งมองวัฒนธรรมว่ามีลักษณคล้ายกับสินค้าโภคภัณฑ์ (commodity) ที่ ถูกซื้อ-ขายได้ ไม่ต่างจากโภคภัณฑ์ประเภทอื่นๆ
หากจะอธิบายให้เห็นภาพการแข่งขันหรือการเมืองของวัฒนธรรมในบริบทแบบไทยๆ ตัวอย่างที่หลายคนพอจะนึกออกก็น่าจะเป็นการแข่งขันระหว่างโขนซึ่งเป็นไฮคัลเจอร์ของชนชั้นสูง และลิเกที่เป็นป็อปคัลเจอร์ของคนชั้นล่างในยุคหนึ่งของสังคมไทย
ด้วยความที่ป๊อปคัลเจอร์เป็นเรื่องความนิยมของมวลชนหรือคนหมู่มาก
มันจึงสามารถนำมาใช้เป็นเครื่องมือเพื่อให้ประโยชน์ทางการเมืองได้
ไม่ว่าจะโดยอำนาจรัฐ นักการเมือง นักสื่อสารการเมือง และมวลชนที่ต้องการสื่อสารการเมือง การใช้ป๊อปคัลเจอร์ในฐานะเครื่องมือทางการเมืองจึงเป็นสิ่งที่เราพบเห็นมาโดยตลอดด้วยเช่นกัน ตัวอย่างที่พบบ่อย ได้แก่ การสร้างภาพยนตร์ ละคร สารคดี และดนตรี ซึ่งบางครั้งก็ประสบผลสำเร็จหรือบางครั้งก็ไม่ได้ผลเลย ลองนึกถึงสิ่งที่พวกเราน่าจะคุ้นเคยกันดี เช่น เพลง ‘คืนความสุขให้ประเทศไทย’ และเพลงอื่นๆ อีกหลายเพลง ที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นผู้ประพันธ์ รวมไปถึงรายการเดินหน้าประเทศไทย สารคดีก้าวข้ามเพื่อตามฝัน ซีรีส์ละครภารกิจรัก 4 เรื่อง อย่างราชนาวีที่รัก เหนี่ยวหัวใจสุดไกปืน ยึดฟ้าหาพิกัดรัก และมือปราบเจ้าหัวใจ ฯลฯ ดูสิ
แสดงว่ารัฐ นักการเมือง ตลอดจนนักสื่อสารการเมืองเองก็เข้าใจว่าป๊อปคัลเจอร์และความเป็นการเมืองของวัฒนธรรมมีความเข้มแข็ง และเข้าถึงง่ายกว่าการบรรจุลงในแบบเรียนหรือการบังคับให้ท่องจำค่านิยมที่รัฐต้องการปลูกฝัง จึงได้พยายามอย่างมากในการฝากแฝงอุดมการณ์ทางการเมืองที่ต้องการมาในรูปวัฒนธรรมป็อปแบบที่เราคุ้นชิน
ป๊อปคัลเจอร์จึงมีสถานะทั้งที่ตัวเองเป็นตัวแสดงในสมรภูมิทางวัฒนธรรมที่มีคู่แข่งขันเป็น ไฮคัลเจอร์ และวัฒนธรรมเฉพาะกลุ่มอื่นๆ นอกจากป๊อปคัลเจอร์จะเป็นส่วนหนึ่งของการเมืองของวัฒนธรรมคุณลักษณะในการเข้าถึงมวลชนก็ทำให้ป๊อปคัลเจอร์มักถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองไปพร้อมกันด้วย
โซเชียลมีเดียทำให้การเมืองเป็นป็อปคัลเจอร์
การพัฒนาของเทคโนโลยีสื่อสารอย่างสมาร์ตโฟน อินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ควบคู่ไปกับการพัฒนาของแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียต่างๆ นำมาสู่ปรากฏการณ์ใหม่ที่เกี่ยวพันกับป๊อปคัลเจอร์นอกเหนือไปจากที่ได้กล่าวถึงไปแล้วข้างต้น ปรากฏการณ์ที่ว่าคือการที่การเมืองได้กลายมาเป็นป๊อปคัลเจอร์ในตัวมันเองอย่างเต็มรูปแบบ
กิจกรรมการแสดงออกทางการเมือง การปราศรัย กิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ต่างๆ การวางพวงหรีด การจุดเทียน การเปิดไฟจากโทรศัพท์ ได้รับการสื่อสารและขยายผลในวงกว้างผ่านการเผยแพร่บนโซเชียลมีเดีย ด้วยรูปแบบคอนเทนต์ที่หลากหลาย ทั้งภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว มีม การ์ตูน เพลงแร็ป มีการติดแฮชแท็กและโฆษณาเชิญชวนให้ทำกิจกรรมในลักษณะเดียวกัน กระทั่งนักเรียนในระดับมัธยมศึกษาที่แม้จะยังไม่มีสิทธิ์เลือกตั้งก็เริ่มตื่นตัวและให้ความสนใจกับสถานการณ์ทางการเมืองกันบ้างแล้ว
ปรากฏการณ์นี้เป็นผลพวงของความสนใจในการเมืองของคนรุ่นใหม่ที่มากขึ้นอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน ผมสันนิษฐานว่า กุญแจสำคัญอยู่ที่บริบททางการเมืองในช่วงที่ผ่านมาและบริบททางเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป โดยเฉพาะโซเชียลมีเดียที่ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในการสื่อสารของผู้คนในยุคสมัยนี้ ผนวกกันเป็นปัจจัยหลายประการที่เอื้อให้การเมืองกลายเป็นป๊อปคัลเจอร์
- การมีตัวแทนทางการเมืองที่เป็นคนรุ่นใหม่
ปฏิเสธไม่ได้ว่าการมีตัวแทนทางการเมืองที่เป็นคนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะ (อดีต) พรรคอนาคตใหม่ มีผลต่อความสนใจของคนรุ่นใหม่ต่อการเมือง การมีนักการเมืองที่วัยไม่ต่างกันมากนัก เติบโตมาในวัฒนธรรมร่วมยุคร่วมสมัยกัน มีวิธีการสื่อสารและชุดของภาษาที่สื่อสารชุดเดียวกัน มีทัศนคติต่อโลกและการให้คุณค่าที่มีความเป็นสากลชุดเดียวกัน เช่น แนวคิดเรื่องสิทธิมนุษยชน ความเท่าเทียม เพศวิถี/เพศสภาพ แรงงาน องค์ประกอบในตัวนักการเมืองที่คนรุ่นใหม่มองว่าเป็นตัวแทนของพวกเขาเหล่านี้เป็นเรื่องใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อนในบริบทการเมืองไทย และกระตุ้นให้คนรุ่นใหม่หันมาสนใจการเมืองมากยิ่งขึ้น
- หมดความเชื่อมั่นกับการเมืองแบบเก่า
การเมืองแบบเก่าไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับคนรุ่นใหม่ได้ ความขัดแย้งทางการเมืองยังคงอยู่ในวังวนเก่า หลังการเลือกตั้ง รัฐบาลไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นในกับคนรุ่นใหม่ได้ โดยเฉพาะบุคคลที่ดำรงตำแหน่งระดับสูงที่ยังคงถูกสังคมตั้งคำถามเรื่องคุณสมบัติ ปัญหาการเลือกปฏิบัติกรณีผู้แทนราษฎรพรรครัฐบาลถูกตรวจสอบว่ารุกพื้นที่ป่า โศกนาฏกรรมกราดยิงผู้บริสุทธิ์ที่นครราชสีมาอันมีที่มาจากปัญหาการทุจริต ท่าทีของผู้นำที่มีต่อเหตุการณ์ดังกล่าว ภายใต้ภาวะที่คนรุ่นใหม่ตื่นตัวทางการเมืองมากขึ้น คำถามที่ได้รับคำตอบอันไม่น่าพอใจเหล่านี้กลายเป็นประเด็นที่ถูกนำมาโต้แย้ง ถกเถียง ล้อเลียน เป็นคอนเทนต์ที่ทั้งถูกผลิตใหม่และผลิตซ้ำแล้วซ้ำอีกบนโซเชียลมีเดีย
- โซเชียลมีเดียมีคุณสมบัติการเป็นพื้นที่ทางสังคมที่ถูกมองเห็นและบันทึกไว้
โซเชียลมีเดียมีคุณสมบัติของการเป็นพื้นที่ทางสังคมที่ต่างจากการสื่อสารรูปแบบอื่น การสื่อสารบนโซเชียลมีเดียจะถูกทำให้มองเห็นได้โดยผู้อื่นและถูกบันทึกเอาไว้เป็นเวลายาวนาน เมื่อเปรียบเทียบกับการสื่อสารรูปแบบอื่น เช่น การสื่อสารด้วยการสนทนา สิ่งที่สื่อสารออกไปจะถูกรับรู้โดยผู้รับสาร ณ ขณะที่กำลังสื่อสารเท่านั้น โดยจะไม่ถูกบันทึกเอาไว้และไม่ถูกมองเห็นเมื่อเวลาผ่านไป
ต่างจากความคิดเห็นทางการเมืองบนโซเชียลมีเดียซึ่งจะคงอยู่ตราบเท่าที่เราไม่ลบทิ้ง ความคิดเห็นเหล่านั้นสามารถเข้าถึงเมื่อใดก็ได้ จะถูกรับรู้และถูกมองเห็นได้โดยไม่ขึ้นกับเงื่อนไขด้านเวลา ในอดีตก่อนการมาของโซเชียลมีเดีย เราไม่สามารถทราบความรู้สึกนึกคิด ความสนใจ ทัศนคติทางการเมืองของคนหมู่มากได้เท่าใดนัก ต่างจากปัจจุบันที่เราสามารถมองเห็นและรับรู้ได้ถึงความเห็นที่ตรงกันและขัดแย้งกันอย่างชัดเจนแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อนในอดีต
อีกทั้งการสื่อสารบนโซเชียลมีเดียเป็นการสื่อสารแบบ many-to-many ซึ่งเข้าถึงและเผยแพร่ได้ในวงกว้าง มีประสิทธิภาพสูง ภายใต้ระยะเวลาอั้นสั้น ความเป็นพื้นที่ทางสังคมของโซเชียลมีเดียทำให้เกิดพื้นที่ที่เปรียบได้กับสมรภูมิแห่งการแข่งขันขับเคี่ยวระหว่างวัฒนธรรมซึ่งเป็นลักษณะของป๊อปคัลเจอร์ พื้นที่ทางสังคมที่เป็นสมรภูมิบนโซเชียลมีเดียมีลักษณะเป็นพื้นที่ย่อยๆ แต่มีจำนวนมากมายมหาศาล การตั้งสเตตัสหรือการทวิตเปรียบได้กับการสร้างสมรภูมิหนึ่งสมรภูมิที่ถูกมองเห็นและคงอยู่ไปตลอด การโต้ตอบผ่านการคอมเมนต์ของผู้เห็นต่างเปรียบได้กับการปะทะระหว่างวัฒนธรรม
- โซเชียลมีเดียมีรูปแบบของคอนเทนต์ที่ผลิตได้ง่าย หลากหลาย ผลิตซ้ำได้ง่าย
ผู้ใช้โซเชียลมีเดียสามารถผลิตคอนเทนต์ได้ง่าย ด้วยรูปแบบที่หลากหลาย ทั้งข้อความ ภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว การผลิตซ้ำและการส่งต่อทำได้ง่าย รวดเร็ว ต้นทุนต่ำ ด้วยเหตุนี้สเตตัสหรือทวิตที่เปรียบได้กับสมรภูมิจึงเป็นสมรภูมิที่หลากหลายทั้งในแง่ของรูปแบบของพื้นที่และเนื้อหา ดึงดูดให้คนทุกวัยที่แม้จะมีความสนใจในเรื่องที่ต่างกันได้มีพื้นที่ปะทะสังสรรค์ทางความคิดร่วมกันบนพื้นที่ทางสังคมที่เป็นสมรภูมิย่อยๆ แบบใหม่ที่มีอยู่อย่างมากมายนี้
การเมืองกลายเป็นป็อปคัลเจอร์แล้วมีผลอย่างไร?
การเมืองที่กลายเป็นป๊อปคัลเจอร์หมายความว่าการเมืองคือวัฒนธรรม เมื่อวัฒนธรรมคือวิถีชีวิต วัฒนธรรมเป็นแบบแผนที่กำหนดพฤติกรรมของคนในสังคม การที่การเมืองกลายเป็นป๊อปคัลเจอร์จึงหมายถึงการที่การเมืองกลายเป็นสิ่งที่ประชาชนตระหนักว่าเป็นเรื่องใกล้ตัวและเป็นเรื่องของทุกคน พูดให้หนักแน่นกว่านั้นคือการเมืองเริ่มถูกรับรู้อยู่ในมโนสำนึก คนในสังคมกระตือรือร้นที่จะมีส่วนร่วมทางการเมืองมากขึ้น ตื่นรู้ หาข้อมูลเพิ่มขึ้น แสดงความคิดเห็น แสดงออกทางการเมืองมากขึ้น เรียกร้องมากขึ้น ตรวจสอบมากขึ้น สิ่งเหล่านี้เป็นองค์ประกอบสำคัญที่ขาดไม่ได้ในสังคมประชาธิปไตยไม่ว่าจะที่ใดในโลก และโซเชียลมีเดียเป็นปัจจัยสำคัญที่ผลักดันให้เกิดสิ่งนี้
เมื่อตื่นนอนแล้วสิ่งแรกที่คุณทำคือการควานหาโทรศัพท์ที่หัวเตียงเพื่อไถฟีดติดตามข่าวการเมือง ย่อมหมายความว่าคุณตื่นแล้ว คนรุ่นใหม่ได้ตื่นขึ้นแล้ว! หน้าที่ของพวกเราจึงไม่ได้มีแต่การเรียนหนังสือไปวันๆ อย่างที่คนรุ่นก่อนว่าไว้