“เป็นวัยรุ่นมันเหนื่อยยังไงหรอ แค่ไปเรียน ไปเล่น ไปเจอเพื่อน ชีวิตอันแสนเฮฮา ปาร์ตี้ ดีจะตายไป”
แต่การเป็นวัยรุ่นไม่เหนื่อยจริงๆ หรือเปล่านะ เพราะเอาเข้าจริง…วัยรุ่นเองก็มีเรื่องชวนให้กลุ้มใจไม่น้อยเหมือนกัน
วัยรุ่นถือเป็นอีกหนึ่งช่วงวัยสำคัญของชีวิต เนื่องจากเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านจากเด็กไปสู่ผู้ใหญ่ ทำให้การเติบโตในฐานะวัยรุ่นอาจเป็นเรื่องละเอียดอ่อน จึงต้องค่อยๆ ใช้เวลาเติบโตและเรียนรู้มากกว่าที่คิด เพราะวัยรุ่นเองก็มีปัญหาตามช่วงวัยของพวกเขาเช่นกัน
เหมือนกับเหล่าตัวละครใน Heartstopper ซีรีส์แนว Coming of Age ที่ไม่ได้เพียงนำเสนอประเด็นทางเพศ แต่ยังได้ซ่อนเรื่องราวการเติบโตและความท้าทายของชีวิตช่วงวัยรุ่นเอาไว้เบื้องหลังมากมาย ซึ่งถ้าหากได้ลองพิจารณาดูดีๆ แล้ว ซีรีส์เรื่องนี้อาจทำให้เราได้รับรู้ว่า บ้างครั้งการเป็นวัยรุ่นก็อาจมีเส้นทางการเติบโตอันยากลำบากด้วยเช่นเดียวกัน แต่ถึงอย่างนั้นชีวิตวัยรุ่นก็คือจุดเปลี่ยนสำคัญ ที่จะช่วยให้เราได้เติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ได้อย่างงดงาม
Heartstopper กับความเป็น Coming of Age
ก่อนจะไปดูกันว่า เหล่าตัวละครใน Heartstopper จะต้องเผชิญกับปัญหาและความท้าทายอะไรบ้างในช่วงวัยรุ่น เราอาจมาลองทบทวนกัน ถึงเนื้อหาโดยรวมของซีรีส์เรื่องนี้สักนิด เพื่อจะได้เข้าใจที่มาที่ไปของเรื่องราวต่างๆ ภายในเรื่องกันมากขึ้น
Heartstopper ซีรีส์แนว Coming of Age ดัดแปลงมาจากหนังสือกราฟิกโนเวล ว่าด้วยเรื่องราว การก้าวข้ามผ่านช่วงวัยสุดท้าทายของ ‘ชาร์ลี สปริง’ นักเรียนมัธยมปลายจากโรงเรียนชายล้วน ทรูแฮม ผู้ที่มักจะโดนเพื่อนๆ ในโรงเรียนกลั่นแกล้ง จากตัวเขาที่เปิดเผยตัวตนว่าเป็นเกย์ จนวันหนึ่งเขาจับพลัดจับผลูมารู้จักกับ ‘นิค เนลสัน’ ชายหนุ่มผู้เข้ามาทำให้ชีวิตของเขาเปลี่ยนไป
นอกจากนี้ในตัวซีรีส์ยังมีการถ่ายทอดเรื่องราวของบรรดาเพื่อนพ้องของชาร์ลี ที่ต่างก็ต้องเผชิญกับเส้นทางชีวิตในการเติบโตเป็นวัยรุ่นที่แตกต่างกัน โดยในซีซั่น 1 และ 2 เนื้อหาของซีรีส์จะมุ่งเน้นในเรื่องของการพัฒนาความสัมพันธ์และการค้นหาตัวเองของเหล่าตัวละครแต่ละตัว ซึ่งอาจจะยังคงสับสน รวมถึงไม่แน่ใจในตัวเอง
ทว่าการกลับมาของ Heartstopper ซีซั่น 3 ที่เพิ่งเข้า Netflix ในครั้งนี้เราจะได้เห็นการเติบโตของเหล่าตัวละครแต่ละตัวที่เพิ่มมากขึ้น รวมไปถึงการสานต่อเรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่างชาร์ลีและนิค ซึ่งเริ่มมีความซับซ้อนมากขึ้นจากซีซั่นก่อน แถมยังมีประเด็นเรื่องของการเผชิญหน้ากับปัญหาสุขภาพจิตในวัยรุ่น อันเป็นประเด็นสำคัญที่ผู้ชมจะได้รับชมกันในซีซั่นนี้
การเป็นวัยรุ่นกับความท้าทายทางจิตใจ
เชื่อว่าใครๆ ก็คงอยากมีสุขภาพแข็งแรง ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บกันทั้งนั้นแหละ แต่บางทีเราก็ไม่สามารถคาดเดาได้หรอกว่า เราจะป่วยหรือต้องเจอกับปัญด้านสุขภาพอะไรบ้างไหมในชีวิต
เหมือนกับชาร์ลี สปริง ซึ่งต้องรับมือกับปัญหาสุขภาพจิตแบบหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทั้งปัญหาเกี่ยวกับการกินที่ผิดปกติ (Eating Disorder) และโรคย้ำคิดย้ำทำ (OCD) จากการต้องเผชิญกับความวิตกกังวลในความสัมพันธ์ ตลอดจนการถูกกลั่นแกล้งจากที่โรงเรียน ถึงแม้ว่าปัญหาเหล่านี้ อาจถูกผู้ใหญ่มองว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่บางครั้งมันอาจยิ่งใหญ่สำหรับวัยรุ่นบางคน ที่เพิ่งจะผ่านช่วงวัยเด็กอันแสนสดใสมา
ถึงแม้จะโตเป็นวัยรุ่นที่พอจะแยกแยะอะไรได้บ้าง แต่ถึงอย่างนั้น สภาพแวดล้อมยังคงมีส่วนสำคัญอย่างมากต่อพัฒนาการและการเติบโตของพวกเขา สอดคล้องไปกับทฤษฎีเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างคนและสิ่งแวดล้อม (Ecological Systems Theory) ของ ยูริ บรอนเฟนเบรนเนอร์ (Urie Bronfenbrenner) ซึ่งได้นำเสนอว่า สภาพแวดล้อมรอบตัวของพวกเขา ทั้งบุคคล สังคม รวมถึงวัฒนธรรม ล้วนมีอิทธิพลลต่อพัฒนาการสำหรับวัยรุ่น
เพราะฉะนั้นแล้ว คงไม่แปลกเท่าไหร่ หากชาร์ลีหรือเด็กวัยรุ่นหลายคนจะมีปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพจิต ทว่าไม่ต้องกังวลไป การมีปัญหาทางจิตใจ ไม่ได้ทำให้เราแปลกแยกจากสังคมเสมอไป เพราะงานสำรวจของ Uppsala University ที่ได้สำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับปัญหาทางสุขภาพจิตของวัยรุ่นตั้งแต่อายุ 15-18 ปี ทำให้เราได้รู้ว่า พวกเขาต่างก็มองการมีปัญหาสุขภาพจิต เป็นเรื่องธรรมดาสำหรับวิถีชีวิตของพวกเขา เพราะในโลกของวัยรุ่นยังมีปัญหามากมายรอให้พวกเขาต้องพบเจออยู่
ซึ่งงานสำรวจดังกล่าวก็ชี้ให้เห็นว่า ปัจจัยต่างๆ ที่ส่งผลต่อสุขภาพจิตในช่วงวัยรุ่น ล้วนมาจากสิ่งเร้ารอบตัวของพวกเขาทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น แรงกดดันจากที่โรงเรียน บรรทัดฐานเรื่องเพศแบบเหมารวม รวมไปถึงอคติจากคนรอบข้าง
คงไม่ผิดเท่าไหร่นัก หากจะบอกว่าบางครั้งการเติบโตในฐานะวัยรุ่น อาจนำพาให้พวกเขาต้องเผชิญกับปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพจิตบ้าง แต่เหนือสิ่งอื่นใด การมีคนคอยสนัสนุนและเข้าใจพวกเขา เป็นอีกหนึ่งพาร์ทสำคัญ ที่ช่วยเยียวยาจิตใจของพวกเขาให้กลับมาแข็งแรง แถมยังช่วยให้พวกเขาได้เติบโตต่อไปได้
การโตเป็นวัยรุ่นกับเรื่องของความสัมพันธ์
เรื่องความสัมพันธ์เป็นอีกหนึ่งประเด็นที่ตัวซีรีส์ Heartstopper ในซีซั่นนี้ ต้องการจะนำเสนอมันออกมา ผ่านแต่ตัวละครแต่ละคู่ ซึ่งสะท้อนแง่มุมอันหลากหลาย โดยพวกเขาต่างต้องเผชิญหน้ากับความท้าทายในความสัมพันธ์ของพวกเขา ไม่ว่าจะเป็น ชาร์ลีที่กังวลในความสัมพันธ์กับนิค ทาร่าที่ต้องการพื้นที่ส่วนตัวมากขึ้น หรือเทากับความรู้สึกกลัวต่อการสูญเสียความสัมพันธ์ครั้งนี้ไป
แม้ว่าพวกเขาจะมีปัญหาด้านความสัมพันธ์ที่แก้ไม่ตก แต่เราอยากบอกกับเหล่าวัยรุ่นทั้งหลายผู้กำลังเผชิญกับความท้าทายในความสัมพันธ์ว่า อย่าได้ตื่นตระหนกไป เพราะปัญหาเหล่านี้นี่แหละคือ ส่วนหนึ่งของการเติบโตในช่วงการเป็นวัยรุ่น
จากงานศึกษาเกี่ยวกับความสัมพันธ์โรแมนติกตั้งแต่วัยรุ่นจนถึงวัยผู้ใหญ่ตอนต้น ของ แอนน์ ไมเออร์ (Ann Meier) และ จีน่า อัลเลน (Gina Allen) พบว่า ความสัมพันธ์จะมีความพิเศษเฉพาะตัวและเข้มข้นมากขึ้นตามอายุที่เพิ่มขึ้น แถมความสัมพันธ์ในช่วงวัยรุ่นไม่ใช่ความสัมพันธ์อันแสนฉาบฉวย แต่จะมีความลึกซึ้งมากขึ้น อีกทั้งยังเป็นส่วนสำคัญต่อการสร้างความสัมพันธ์แบบโรแมนติกในวัยผู้ใหญ่ต่อไปด้วย
ดังนั้นแล้ว บางครั้งเมื่อเราเติบโตขึ้น ความสัมพันธ์อาจเริ่มยากและซับซ้อนขึ้นในบางมุม แต่เชื่อมั่นได้เลยว่า ประสบการณ์เรื่องความสัมพันธ์ในช่วงวัยรุ่นของเรา จะช่วยให้เราพัฒนาความสัมพันธ์ต่อไปหลังจากนี้ให้สมบูรณ์มากยิ่งขึ้นได้ไม่มากก็น้อยเลยทีเดียว
การค้นหาตัวเองยังคงเป็นสิ่งสำคัญที่ Heartstopper ต้องการนำเสนอ
แม้ว่า Heartstopper ซีซั่น 3 นี้ ประเด็นเรื่องการรับมือกับปัญหาสุขภาพจิตของชาร์ลีกับการเผชิญปัญหาในด้านความสัมพันธ์ของแต่ละตัวละคร จะเป็นเส้นเรื่องหลักของเนื้อเรื่อง ทว่าการค้นหาตัวเอง ก็ยังคงเป็นประเด็นสำคัญที่ซีรีส์ไม่ได้ทิ้งไปเช่นกัน เพียงแต่จะถูกถ่ายทอดออกมาผ่านมุมมองจากตัวละครอื่น เพื่อให้ผู้ชมได้เข้าใจเกี่ยวกับความท้าทายในอีกแง่มุมหนึ่ง
‘ไอแซค’ เพื่อนในกลุ่มของชาร์ลี ผู้คิดว่าตัวเองไม่ได้รู้สึกดึงดูดกับเพศใดเพศหนึ่ง แถมเริ่มคิดว่าตัวเองเป็น Aromantic มิหนำซ้ำ ตัวเขายังรู้สึกสับสนกับสังคมเพื่อนรอบข้างที่ต่างมีความสัมพันธ์เชิงโรแมนติกกัน ยิ่งทำให้ตัวของไอแซคกดดันและแปลกแยกจากเพื่อน
ทว่าหากเราจะค้นพบตัวตนที่แท้จริงของเรา พร้อมกับความรู้สึกแตกต่างจากสังคม ไม่ใช่เรื่องแปลกเท่าไหร่นัก สำหรับเด็กวัยนี้ เนื่องจากทฤษฎีการพัฒนาทางจิตสังคม (Theory of Psychosocial Development) ของ เอริก อีริกสัน (Erik Erikson) ได้อธิบายเอาไว้ว่า เมื่อเริ่มก้าวผ่านจากวัยเด็กสู่วัยผู้ใหญ่ วัยรุ่นหลายคนอาจเริ่มรู้สึกสับสน ไม่มั่นใจในตัวเอง รวมถึงไม่รู้ว่าตัวเองจะสามารถเข้าหาสังคมได้อย่างไร โดยขณะกำลังพยายามสร้างตัวตน พวกเขาอาจต้องเผชิญกับแบบทดสอบจากสังคมโดยรอบ แต่ถึงอย่างนั้น สิ่งเหล่านี้ ล้วนมีความสำคัญต่อกระบวนการสร้างตัวตนที่แข็งแกร่งและพัฒนาทิศทางในชีวิต
เพราะฉะนั้นแล้ว ช่วงเวลาในการเป็นวัยรุ่นนี้แหละคือ ช่วงเวลาสำคัญที่ช่วยทำให้เราได้รู้จักและค้นพบตัวตนของตัวเองมากขึ้น แม้สังคมจะมีอิทธิพลต่อการประกอบสร้างตัวตนของเรามากแค่ไหน ทว่ามันก็เป็นอีกส่วนสำคัญซึ่งช่วยให้การเติบโตในฐานะวัยรุ่นของเราสมบูรณ์มากขึ้นเช่นกัน
แม้ช่วงชีวิตของวัยรุ่นหลายคน อาจเต็มไปด้วยความท้าทาย และไม่ใช่เส้นทางที่ง่ายดายเท่าไหร่ เช่นเดียวกับเหล่าตัวละครใน Heartstopper ซึ่งนั่นก็สะท้อนให้เห็นว่า ทุกย่างก้าวของการเติบโต มักต้องผ่านความยากลำบาก แต่นั่นก็เป็นส่วนหนึ่งของการเติบโตอย่างงดงาม เพราะท้ายสุดแล้ว การเป็นวัยรุ่น คือหนึ่งในช่วงเวลาสำคัญของชีวิต ที่เราจะได้เผชิญกับเรื่องราวมากมาย ดีบ้าง ไม่ดีบ้าง แต่ก็ถือเป็นหนึ่งในประสบการณ์ของชีวิตเรา อีกทั้งยังได้เป็นบทเรียนซึ่งจะช่วยให้การเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ เป็นไปตามที่เราคาดหวังได้นั่นเอง
อ้างอิงจาก