ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา เทรนด์ของหนังจากฮอลลีวูด รวมถึงกลุ่มซีรีส์ฝรั่ง ค่อนข้างจะปรับเทรนด์มาสู่โลกของซูเปอร์ฮีโร่อย่างชัดเจน นับตั้งหนังจากค่าย DC และ Marvel ตบเท้าเข้าฉายกันอย่างต่อเนื่อง นี่ยังไม่นับรวมหนังซูเปอร์ฮีโร่อื่นๆ ที่ยังไม่ใช่การ์ตูนอีกนะ
การนำการ์ตูนมาทำเป็นหนังหรือซีรีส์ จำเป็นต้องดัดแปลงต้นฉบับเพื่อให้เหมาะสมกับการให้คนมาแสดงแทน ยกตัวอย่างเช่น Captain America : Civil War ได้ปรับลดจำนวนตัวละครไปเป็นจำนวนมาก รวมถึงปมของเรื่องที่ในฉบับการ์ตูนนั้นเกิดการแบ่งแยกฝ่าย ด้วยเหตุที่ว่าฮีโร่ส่วนหนึ่งต้องการให้ลงทะเบียนและเปิดเผยตัวตน แต่ฮีโร่อีกส่วนมองว่าฮีโร่ไม่ควรเปิดเผยตัวตนขนาดนั้น ในเวอร์ชั่นหนังจะตัดเหลือแค่ฮีโร่กลุ่มหนึ่งมองว่าควรลงทะเบียนและปฏิบัติตามคำสั่ง UN แต่อีกส่วนมองว่าไม่สมควร เป็นอาทิ
เพราะฉะนั้นคนดูส่วนหนึ่งที่อยากกลับไปสัมผัสแก่นแท้ของเนื้อเรื่องดังกล่าว ก็ต้องไปอ่านการ์ตูนต้นฉบับ จุดนี้นี่เองที่ทำให้เราเกิดคำถามคาใจขึ้นมาประการหนึ่ง…ทำไมถึงไม่มีการทำหนังสือการ์ตูนคอมมิคจากค่าย DC และ Marvel เป็นฉบับภาษาไทย ทั้งๆ ที่กระแสภาพหนังฮีโร่ออกจะฮิตขนาดนี้
เดี๋ยวนะ…เมื่อก่อนก็เคยมีการ์ตูน DC & Marvel ฉบับภาษาไทยขายอยู่ไม่ใช่หรือ?
หลายคนคงอยากค้านแบบเต็มปากด้วยคำถามข้างบนนี้ ซึ่งเราก็ต้องตอบว่า ท่านที่ถามนั้นเข้าใจถูกแล้ว
ก่อนหน้านี้ต้องยอมรับว่าสำนักพิมพ์บงกชได้จัดทำหนังสือการ์ตูนทั้งจากฝั่ง DC, Marvel และ Amalgam Comics มาระยะหนึ่ง หรือถ้าถอยไปก่อนหน้านี้อีกนิดก็มีเนชั่นคอมิคส์ที่เคยทำการ์ตูนจากทาง DC อยู่ช่วงหนึ่ง และในช่วงต้นของยุคการ์ตูนลิขสิทธิ์ก็เคยมีทางสำนักพิมพ์แอดวานซ์คอมมูนิเคชั่น ทำการ์ตูนจาก Marvel ฉบับเก่ามากๆ ก่อนออกฉบับทันยุคอยู่ระยะหนึ่งแล้วปิดตัวไป นอกจากนี้แล้วยังก็มีการออกหนังสือการ์ตูนของ DC กับ Marvel แบบไม่มีลิขสิทธิ์ และการ์ตูนแนวซูเปอร์ฮีโร่ที่คนไทยพยายามผลิตออกมาเองด้วย
ที่ยังพอมีขายเยอะอยู่ในปัจจุบันก็จะเป็นการ์ตูนสำหรับเด็ก หรือการ์ตูนความรู้ที่เอาตัวละครซูเปอร์ฮีโร่มาใช้เท่านั้นเอง
แล้วทำไมการ์ตูนคอมมิคฉบับแปลไทยถึงไม่รุ่ง
แม้ว่าหนังซูเปอร์ฮีโร่ทำยอดขายได้ระดับ 100 ล้านอยู่บ่อยๆ แต่ทำไมการ์ตูนแนวดังกล่าวจึงแป้กสนิททุกครั้งที่มีการจัดทำภาษาไทย
เนื้อเรื่องที่หลากหลายไทม์ไลน์
การ์ตูนแนวซูเปอร์ฮีโร่มักมีการตีความใหม่ตามยุคสมัย ไม่ก็สร้างเหตุการณ์วุ่นวายเพื่อให้เป็นกระแสข่าวหรือกระจายหัวออกไปใหม่เพื่อสร้างแนวเรื่องที่ไม่สะดวกที่จะทำในเนื้อเรื่องหลัก ตัวอย่างเช่น Marvel เคยตีความจักรวาลให้ทันสมัยโดยใช้หัวเรื่องว่า ‘Ultimate’ หรือ DC ก็เคยมีเหตุการณ์ Flashpoint ที่ปรับเปลี่ยนจักรวาลทั้งหมดเสียใหม่กลายเป็นปมปริศนาที่น่าติดตาม
ความหลากหลายเป็นข้อดีที่ทำให้การ์ตูนแนวนี้ค่อนข้างสนุกเสียด้วยซ้ำ แต่สำหรับผู้อ่านทั่วไปที่ไม่ได้คุ้นเคยฝั่งการ์ตูนซูเปอร์ฮีโร่มาก่อนนั้น จะสับสนกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างตลอดเวลานี้ ฉันควรอ่านเล่มไหนก่อนดี แล้วจำเป็นต้องอ่านอะไรบ้างเพื่อให้เข้าใจเนื้อเรื่องในช่วงหนึ่งๆ ทั้งหมด
หาคนแปลที่เข้าใจมุกเล็กๆ น้อยๆ ในหนังสือสไตล์นี้ได้ยาก
ประเด็นนี้เป็นความเห็นจากคนอ่านที่อยากลองเสพคอมมิคซูเปอร์ฮีโร่ แล้วลองซื้อฉบับภาษาไทยมาอ่าน พวกเขาพบว่าการแปลของฉบับภาษาไทยนั้นมักแปลแข็งเกินไป หรือบางทีก็มีการแปลเหตุการณ์บางอย่างตกไป (ส่วนมากมักเป็นเหตุการณ์ที่กล่าวถึงหนังสือเล่มอื่นๆ ที่ Tie-In ร่วมกัน) ในยุคก่อนหน้านี้เราพอจะพูดได้ว่าเกิดจากการหาข้อมูลอ้างอิงได้ยาก ในยุคนี้ถ้าจะแปลใหม่หมดก็อาจไม่ทันใจนักอ่านที่อยากได้หนังสือเร็วๆ อยู่ดี
การจัดหน้าจัดช่องแบบที่คนไทยไม่คุ้นเคย
อีกประการหนึ่งที่ทำให้ยอดขายการ์ตูนแนวนี้ไม่ดีนัก คงเป็นความคุ้นเคยของชาวไทยที่ปรับตัวเข้ากับการจัดช่องตามสไตล์ของ ‘มังงะ’ มากกว่าสไตล์แบบการ์ตูนฝั่งอเมริกาที่เป็น Graphic Novel ที่ดูมีความลื่นไหลน้อยกว่า แม้ว่าในยุคหลังๆ การจัดหน้าและจัดช่องของ DC กับ Marvel จะมีการปรับเปลี่ยนไปจนอ่านง่ายมากขึ้นแล้ว แต่ความรู้สึกแรกที่ฝังใจนักอ่านชาวไทยกลุ่มใหญ่ก็ทำให้มีความไม่กล้าอ่านการ์ตูนแนวนี้ไป
โอกาสจบคือแทบจะไม่มี
สำหรับบางคนอาจไม่คิดอะไรมาก แต่สำหรับบางคนนั้นถือเป็นเรื่องใหญ่ทีเดียว ถ้าเทียบง่ายๆ ก็จะเป็นในลักษณะที่ว่า แค่คุณรอตอนจบของการ์ตูนญี่ปุ่นอย่าง Hunter X Hunter หน้ากากแก้ว หรือ Berserk ก็ใจจะขาดแล้ว ส่วนของ DC กับ Marvel เนื้อเรื่องมีการจบช่วงก็จริง แต่ก็มีการปรับเปลี่ยนเนื้อหาไปตามยุคสมัยไปเรื่อยๆ หรือถ้าพูดว่าไม่มีตอนจบที่แท้จริงก็พอจะพูดได้ ด้วยเหตุนี้หลายคนจึงตัดใจตั้งแต่เริ่ม
แล้ว ‘แฟนพันธุ์แท้’ เขามีความเห็นว่าอย่างไรบ้าง
The MATTER ไปสอบถามมุมมองจาก Voeten สุดยอดแฟนพันธุ์แท้แบทแมน และ ตัวแทนจาก DC Universe Club (แต่ก็ติดตามการ์ตูน Marvel รวมถึงหนังของฝั่ง Marvel ด้วย) ว่าเขาคิดเห็นเช่นไรกับเรื่องนี้
“ปัจจัยสำคัญคือราคาหนังสือครับ ราคาคอมมิคในเมืองนอกปัจจุบันอยู่ที่ 2.99 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็น 4 สีบางมากจำนวน 20 หน้า ราคาไทยก็เกือบ 100 บาท คิดว่าแฟนการ์ตูนหน้าใหม่คงไม่สามารถลงทุนซื้อขนาดนั้นได้ กับปริมาณหน้าที่น้อย และกลุ่มที่ยอมลงทุนซื้อมาเพื่อเก็บจริงๆ ก็มีแค่วงแคบๆ รวมถึงลิขสิทธิ์ที่ค่อนข้างแพงทำให้ผู้ที่จะซื้อเข้ามามองว่ามันไม่น่าจะคุ้มการลงทุนที่ต้องเสียไป อย่างอดีตเรามีสำนักพิมพ์บงกช ที่ซื้อมาตีพิมพ์แต่ต้องใช้วิธีรวมตอน ขายเป็นไซส์มังงะ และปรับจากภาพสีเป็นภาพขาวดำ ซึ่งก็ยังไม่พอกับค่าใช้จ่ายจนต้องปล่อยลิขสิทธิ์ทั้ง Marvel และ DC ไป”
แต่ในส่วนเนื้อเรื่องนั้น Voeten เห็นว่า “ด้านเนื้อเรื่องไม่ได้เป็นอุปสรรคแต่อย่างใด เพราะคิดว่าหนังฮีโร่สมัยนี้ ทำให้คนสนใจและตามอ่านเนื้อเรื่องการ์ตูนมากขึ้น ความเข้าใจในเรื่องหลายจักรวาลก็สามารถแบ่งได้ชัดเจนกว่าเมื่อก่อนมาก”
แล้วพอมีหวังที่จะได้อ่านฉบับภาษาไทยกันอีกหรือไม่
จากที่รวบรวมข้อมูลมา รวมถึงสไตล์ของนักอ่านชาวไทย เราเชื่อว่าโอกาสในการได้อ่านฉบับเล่มจริงคงยากที่จะเกิดขึ้นอีกสักครั้ง แต่ถ้าสนใจที่จะติดตามอ่านจริงๆ ในยุคนี้ก็ถือว่าไม่ใช่เรื่องที่ยากเย็นนัก อย่างที่เราสนทนากับ Voeten เขาก็บอกกับเราว่ากลุ่มแฟนก็มีทั้งที่ซื้อแบบดิจิทัลผ่านร้านค้าออนไลน์ต่างๆ และที่รอร้านหนังสือที่นำเข้าหนังสือเหล่านี้มาขาย แม้ว่าสนนราคาไม่ได้ถูกมากนักแต่ก็ถือว่าเป็นการอุดหนุนเพื่อสนับสนุนเจ้าของผลงาน
นักอ่านท่านใดที่อยากจะลองเก็บสักเล่มแต่เบี้ยน้อยหอยน้อย ในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ก็มีบูธที่นำเอาหนังสือการ์ตูนซูเปอร์ฮีโร่ต้นฉบับมาลดราคา หรือบางบูธก็นำเอาตัวฉบับแปลไทยที่เคยตีพิมพ์มาขายแพ็คเซ็ทในฐานะหนังสือเก่าด้วย และสำหรับคนที่สับสน Timeline กับเนื้อเรื่องก็มีกลุ่มแฟนคอยสรุปเรื่องให้อยู่บ่อยครั้ง ถ้าไม่ถนัดตามเรื่องนี้จริงๆ ทุกท่านก็ยังมีหนังและซีรีส์ซูเปอร์ฮีโร่อีกมากที่ติดตามและเข้าใจได้ไม่ยาก
อย่างไรเสีย ก็ระมัดระวังเงินในกระเป๋าด้วยนะครับ เพราะจำนวนหนังสือการ์ตูน หนัง และซีรี่ส์แนวนี้มีเยอะจริงๆ
อ้างอิงข้อมูลจาก