บ้างก็มองว่าหนังเรื่องนี้สีสวยดี บ้างก็มองว่ามันดู ‘อิหยังวะ’ แล้วแต่ละสีในผลงานของวิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง จริงๆ แล้วหมายถึงอะไรกันนะ!
เป็นที่รู้กันว่า ภาพยนตร์ซึ่งประทับตรา ‘วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง’ มักมาพร้อมกับลายเซ็นเฉพาะตัวที่ผู้ชมเห็นแล้วรู้ทันทีว่าหนังเรื่องนี้เป็นฝีมือของเขา โดยนอกจากจังหวะจะโคนในการบอกเล่าเรื่องราวและประเด็นสังคมที่นำเสนอแล้ว อีกหนึ่งองค์ประกอบที่ทุกคนลงความเห็นตรงกันว่าโดดเด่นเป็นพิเศษคงหนีไม่พ้นสุนทรียศาสตร์และการใช้สี
The MATTER เลยอยากชวนทุกคนลองสำรวจไปพร้อมกันว่า บรรดาภาพยนตร์ขนาดยาว 8 เรื่องของวิศิษฏ์ ศาสนเที่ยงประกอบด้วยทฤษฎีและการประกบคู่สีอย่างไร และเขาตั้งใจให้ผู้ชมรู้สึกแบบไหนขณะเชยชมศิลปะบนหน้าจอ
ฟ้าทะลายโจร (2543)
นับเป็นการแจ้งเกิดในวงการภาพยนตร์อย่างเต็มตัว แถมยังไปแจ้งเกิดไกลถึงแดนน้ำหอม เพราะภาพยนตร์สีสันฉูดฉาดอย่างฟ้าทะลายโจรของวิศิษฏ์ ศาสนเที่ยงถือเป็นภาพยนตร์ไทยเรื่องแรกที่ถูกคัดเลือกไปฉายที่เทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ ประเทศฝรั่งเศส
หนึ่งในปัจจัยที่สร้างคุณค่าให้กับฟ้าทะลายโจร คืองานภาพซึ่งเกิดจากการประมวลผลของภาพยนตร์ไทยในยุคทอง (ปี 2490-2515) ที่เน้นการใช้สีสันที่จัดจ้านเกินความเป็นจริง จนเกิดเป็นผลผลิตซึ่งแตกต่างสิ้นเชิงจากหนังร่วมรุ่นเรื่องอื่นๆ
จุดที่เด่นเป็นสง่าและสะดุดตามากที่สุดเห็นทีจะเป็นสีชมพูบานเย็นและเขียวมรกตเข้มข้น ให้ความรู้สึกเหนือจริงไปพร้อมๆ กับชวนให้หวนรำลึกถึงอุตสาหกรรมภาพยนตร์สมัยวันวาน
นอกจากสีสัน ตลอดทั้งเรื่องยังมีการจำลองฉากต่างๆ โดยใช้ภาพวาดเป็นพื้นหลัง ไม่ว่าจะเป็นต้นไม้ ต้นหญ้า หรือกระทั่งแสงอาทิตย์ นับเป็นการคารวะเทคนิคภาพยนตร์ในอดีตอย่างตรงไปตรงมา โดยวิศิษฏ์เผยว่า เขานำฟิล์มหนังมาแปลงเป็นไฟล์ดิจิทัลเพื่อทำการเกรดสี แล้วจึงแปลงกลับมาเป็นฟิล์มอีกครั้ง ซึ่งต้นแบบของสีที่ปรากฏในหนังได้รับแรงบันดาลใจมาจากภาพยนตร์ไทยสมัยก่อนที่เคยรับชมในกิจกรรม ‘ทึ่ง! หนังไทย’ ของมูลนิธิหนังไทยซึ่งจัดขึ้นเมื่อปี 2538
หมานคร (2547)
หมานครเป็นงานที่หลายคนยกให้เป็น ‘Masterpiece’ ของวิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง ซึ่งการใช้สีในเรื่องก็โดดเด่นตระการตาไม่น้อยไปกว่าฟ้าทะลายโจร
แม้ว่าเรื่องราวในหมานครจะยึดโยงกับสภาพความเป็นจริงของสังคมไทย ทว่าก็มีรายละเอียดมากมายที่ถูกเติมแต่งด้วยจินตนาการของผู้กำกับ การนำสีคู่ตรงข้ามมาจับชนในแต่ละฉากจึงเป็นทางเลือกที่เหมาะสมแม่นยำ เพราะในฉากเหล่านั้นคือการหลอมรวมกันของสิ่งที่เกิดขึ้นจริงกับความแปลกประหลาดสุดคาดคิด
หนึ่งในคู่สีที่มีนัยสำคัญกับเรื่องคือส้ม-ฟ้า ซึ่งในภาพยนตร์จะเห็นได้ว่า การทาสีกำแพงเป็นเหลืองอมส้มช่วยขับเน้นให้เครื่องแบบสีฟ้าของบรรดาแม่บ้านดูน่ามองยิ่งขึ้น และพร้อมกันนั้นก็ให้ความรู้สึกขบขันอยู่ในที
เป็นชู้กับผี (2549)
สิ่งที่แตกต่างชัดเจนในหนังผีเรื่องแรกของวิศิษฏ์คืองานภาพที่ไม่เน้นการตั้งกล้องนิ่งๆ และหลีกเลี่ยงมุมกล้องซึ่งวางองค์ประกอบเท่ากันสองด้าน (Symmetrical Composition) โดยตลอดความยาว 1 ชั่วโมง 34 นาที ผู้ชมจะต้องจับตาดูตัวละครภายใต้บรรยากาศอันวังเวงและมุมกล้องที่เคลื่อนไหวตลอดเวลา ชวนให้คิดไปว่ามีใครบางคนแอบดูการกระทำของตัวละครอยู่
อีกทั้งการใช้สีในเป็นชู้กับผี แม้จะเน้นเล่นกับความมืด แต่ก็เลือกใช้สีโทนร้อนเป็นหลัก เรียกได้ว่าเกรดสีหนักถึงขั้นที่ต้นไม้ซึ่งควรจะมีสีเขียวชอุ่มยังกลายเป็นสีเขียวเหลือง ซี่งเป็นสีที่ในทางจิตวิทยาสื่อถึงความวิกลจริต คุ้มคลั่ง เจ็บป่วย ทั้งยังกระตุ้นให้รู้สึกไม่ปลอดภัย สอดคล้องกับสิ่งที่ผู้กำกับเคยให้สัมภาษณ์ในนิตยสาร Bioscope ว่า “ผมตั้งใจให้บรรยากาศมันคลุมๆ ไม่กลัวแบบตกใจ แต่ต้องกลัวตลอดเวลา”
อินทรีแดง (2553)
แดง-ดำคือคู่สีที่วิศิษฏ์เลือกใช้ในอินทรีแดง ผลงานที่หมายมั่นว่าจะชุบชีวิตแฟรนไชส์ฮีโร่สัญชาติไทยที่เคยได้รับความนิยมให้กลับมาโลดแล่นอีกครั้ง โดยแนวทางของแสงและสีในเรื่องจะปราศจากความจัดจ้านแบบที่ฟ้าทะลายโจรและหมานครเคยทำ เนื่องจากวิศิษฏ์อยากให้อินทรีแเดงออกมาเป็นภาพยนตร์ซูเปอร์ฮีโร่ที่มีความเคร่งขรึมจริงจัง บรรยากาศต่างๆ ดูสมจริง ซึ่งส่วนหนึ่งก็น่าจะเป็นผลพวงจากอิทธิพลของหนังฮีโร่ที่ประสบความสำเร็จทั้งในแง่รายได้และคำวิจารณ์ในช่วงนั้นอย่าง The Dark Knight
สำหรับการจับสีแดงมาทาทาบลงบนพื้นหลังสีมืด ช่วยให้สีแดงซึ่งเป็นสีหลักของตัวละครเอกดูโดดเด่น ทรงพลัง เป็นการสื่อความหมายด้วยสีที่อาจจะไม่ได้ซับซ้อนหรืออาศัยการตีความมากนัก ทว่าได้ผลในเชิงความรู้สึกของคนดู
รุ่นพี่ (2558)
รุ่นพี่เป็นอีกเรื่องที่วิศิษฏ์ไม่ได้เลือกใช้โทนสีเหนือจริง ทว่าก็ไม่ได้ใช้สีโทนร้อนเหมือนอย่างตอนที่กำกับเป็นชู้กับผี
สีหลักๆ ที่ผู้ชมสังเกตได้จากหนังผีเรื่องที่ 2 ซึ่งมีความเป็นหนังรักและสืบสวนสอบสวนพ่วงด้วยคือฟ้ากับน้ำเงิน สีที่ตามหลักจิตวิทยาให้ความรู้สึกโดดเดี่ยว หดหู่ ดูเข้ากันได้ดีกับสองตัวละครหลักที่คนหนึ่งก็เป็นเด็กนักเรียนที่แปลกแยกแตกต่างจากเพื่อนร่วมชั้น ส่วนอีกตนก็เป็นผีที่เวียนวนเพราะยังไม่ไปเกิดใหม่
สิงสู่ (2561)
เรียกว่าเป็นการกำกับหนังผีอย่างต่อเนื่อง โดยคราวนี้วิศิษฏ์เข็นภาพยนตร์ฟอร์มเล็ก ทุนต่ำ ไอเดียสูงสู่สายตาผู้ชม และดูเหมือนว่านี่จะเป็นผลงานที่มีสุนทรียศาสตร์ด้านภาพใกล้เคียงกับโลกความจริงมากที่สุดเรื่องหนึ่งของเขา
ไม่เหมือนกับในรุ่นพี่ เพราะคราวนี้วิศิษฏ์หันกลับไปใช้แสงสีเหลืองส้มอีกครั้ง ทว่าไม่ได้เหลืองจัดจนดูตั้งใจเหมือนอย่างในเป็นชู้กับผี โดยภาพรวมเป็นการใช้แสงสีที่เน้นความสมจริง ชวนให้ผู้ชมรู้สึกร่วมไปกับตัวละครที่ตื่นตระหนกและหาคำตอบของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตรงหน้าไม่เจอ
The Whole Truth ปริศนารูหลอน (2564)
“ผมไม่คิดว่าหนังที่น่ากลัวต้องมืด หรือถ้ามืดก็อยากให้ดูแล้วสวยด้วย อันนี้เป็นนิสัยส่วนตัว ซึ่งแก้ไม่หาย” คือคำที่วิศิษฏ์บรรยายถึงงานภาพใน The Whole Truth ปริศนารูหลอน ผลงานแรกที่ทำร่วมกับเน็ตฟลิกซ์
ด้วยแนวทางข้างต้น ทำให้ร่องรอยในภาพยนตร์สยองขวัญเรื่องนี้ดูไม่มืดครึ้มเหมือนอย่างในสิงสู่ รุ่นพี่ หรือกระทั่งเป็นชู้กับผี สีในหนังมีทั้งโทนร้อนและเย็น ไม่ได้ตีกรอบไปทางใดทางหนึ่งเป็นพิเศษ ซึ่งส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะวิศิษฏ์อยากให้ตัวหนังมีความเป็นสากล สอดรับกับแพลตฟอร์มสตีมมิงที่รับชมได้ทั่วโลก
เมอร์เด้อเหรอ ฆาตกรรมอิหยังวะ (2566)
ผลงานล่าสุดจากวิสัยทัศน์ของวิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง โดยเป็นการร่วมงานครั้งที่ 2 ของเขากับเน็ตฟลิกซ์ แต่แตกต่างจากครั้งก่อนตรงที่คราวนี้ เขาสามารถใส่ลายเซ็นของตัวเองได้โดยไม่ต้องประนีประนอม
วิศิษฏ์ให้สัมภาษณ์ไว้ว่า ยงยุทธ ทองกองทุน ผู้อำนวยการฝ่ายคอนเทนต์ของเน็ตฟลิกซ์ ประเทศไทย บอกกับเขาตรงๆ ว่าสามารถปั้นแต่งเมอร์เดอร์เหรอฯ ด้วยสไตล์ของตัวเองได้อย่างเต็มที่ สามารถใช้สีสันได้ตามต้องการ ส่งให้ผลลัพธ์ของภาพยนตร์แนว Whodunit ติดสำเนียงอีสานกลับไปมีสีจัดจ้านเหมือนยุคฟ้าทะลายโจรและหมานคร ซึ่งก็สอดคล้องกับท่าทีการเล่าเรื่องที่ดูสับสนอลหม่าน มีความตลกร้ายแซมบ้างเป็นบางช่วง
สีที่พบบ่อยในฆาตกรรมอิหยังวะคือเขียว สัญลักษณ์ของลางร้าย ซึ่งปรากฏทั้งที่ตัวบ้าน ท้องฟ้า และทุ่งนา ในขณะที่ถ้าเป็นภาพในจินตนาการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจินตนาการของสารวัตรณวัตรที่รับบทโดย หม่ำ—เพ็ชรทาย วงษ์คำเหลา จะอาบด้วยชมพู ม่วง และแดง ชวนให้รู้สึกลุ่มหลงและถูกลวงตา เดาไม่ออกว่าความจริงเป็นอย่างไร
ถึงตรงนี้ เราคงพอสรุปได้ว่า แม้งานภาพส่วนใหญ่ของผู้กำกับที่ชื่อวิศิษฏ์ ศาสนเที่ยงจะเป็นที่จดจำด้วยสีสันอันจัดจ้านและการจับคู่สีที่ฉูดฉาดบาดสายตา ทว่าจริงๆ แล้ว เขาไม่ได้เลือกใช้แสงและสีอย่างไม่มีเหตุผล เพราะภาพยนตร์กว่าครึ่งของเขาก็ไม่ได้ใช้โทนสีที่เหนือจริง เท่ากับว่า เขาได้คัดสรรการใช้ภาพอย่างประณีตบรรจงเพื่อให้สิ่งที่ปรากฏบนหน้าจอสามารถสื่อความหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด
และนั่นเองคือหนึ่งในคุณสมบัติสำคัญซึ่งส่งให้ผู้กำกับคนนี้เป็นที่ยอบรับผ่านกาลเวลา
อ้างอิงจาก