ภาพของศิลปินตาโตหน้าทะเล้น กับหนวดแหลมยาวชี้โด่เด่เท่ถล่มทลาย น่าจะเป็นที่คุ้นตาพอๆ กับผลงานสุดเซอร์เรียลอย่างภาพนาฬิกาหลอมละลายบิดเบี้ยว (The Persistence of Memory, 1931) ขบวนช้างม้าขายาวยืด (The Temptation of St. Anthony, 1946) หรือห้องที่ดูเหมือนหน้าคนพร้อมโซฟารูปริมฝีปากแดงสด ทั้งหมดนี้คืองานของเขา—ซัลบาดอร์ ดาลี (Salvador Dali) ศิลปินเซอร์เรียลลิสต์ชาวสเปน ที่กลายเป็นไอคอนของโลกศิลปะมาจนทุกวันนี้
แม้ดาลีจะตายไปตั้งแต่ปี 1989 แต่ในปลายเดือนกรกฎาคม 2017 ก็มีเรื่องเซอร์เรียลเกิดขึ้นกับเขาอีกครั้ง เมื่อศาลสูงกรุงมาดริดมีคำสั่งให้ขุดร่างไร้วิญญาณของดาลีขึ้นมา เพื่อเก็บตัวอย่าง DNA ท่ามกลางเสียงคัดค้านของแฟนๆ โดยเฉพาะเหล่าเจ้าหน้าที่จาก Gala-Salvador Dali Foundation ผู้ดูแลผลงานทั้งหมดของศิลปินผู้ล่วงลับและบริหาร The Dali Theatre Museum ในประเทศสเปน
ต้นเหตุของเรื่องมาจากยิปซีสาวใหญ่วัย 61 ปี Maria Pilar Abel ผู้ยืนยันว่าดาลีเคยมีสัมพันธ์สวาทกับแม่ของเธอ ผู้เคยเป็นแม่บ้านประจำบ้านพักตากอากาศของเขาที่ Port Lligat คำกล่าวอ้างนี้จะจริงหรือไม่ เรายังต้องรอฟังผลทดสอบจากห้องแล็บซึ่งน่าจะประกาศออกมาภายในเดือนสองเดือนให้หลัง และถ้าเธอเป็นลูกสาวดาลีจริงๆ Abel ก็จะมีสิทธิในทรัพย์สินบางส่วนของดาลีที่ทางมูลนิธิเป็นผู้ดูแลอยู่
จุดนี้เองที่ทำให้หลายคนมองบน เพราะเป็นที่รู้กันในแวดวงศิลปะ ว่าดาลีผู้นี้ไม่เพียงเติบโตมาอย่างเจ็บปวดจนมีบุคลิกประหลาดโลกแล้ว เขายังกลัวเซ็กซ์ หรือพูดให้เจาะจงลงไปคือกลัวอวัยวะเพศหญิง และอาจไม่เคยมีเซ็กซ์เลยด้วยซ้ำไป (แม้เจ้าตัวจะบอกว่าเคยลองกับผู้หญิงและผู้ชายอย่างละครั้งก็เถอะ)
เรื่องมาจากว่า พ่อผู้เคร่งครัดพร่ำสอนเขาตั้งแต่เด็กว่าเพศสัมพันธ์เป็นบาปที่น่ากลัว รวมทั้งบังคับให้เขาดูรูปอวัยวะเพศที่เป็นโรคติดต่อจนเด็กน้อยจำฝังใจมาจนโต เป็นเหตุให้ชีวิตเซ็กซ์ของดาลีประกอบด้วยการช่วยตัวเองและการดูกาล่าผู้เป็นภรรยามีเซ็กซ์กับผู้ชายคนอื่นเท่านั้น
แต่อะไรๆ ก็คงเป็นไปได้สำหรับศิลปินสุดติสท์ผู้ตั้งใจรายล้อมตัวเองด้วยเรื่องราวและเหตุการณ์แปลกประหลาดเหนือจริง เป็นต้นว่า แม้เขาจะเป็นศิลปินคนแรกที่คนทั่วโลกนึกถึงเมื่อพูดถึงศิลปะเซอร์เรียลลิสม์ แต่เขาไม่ได้เป็นสมาชิกกลุ่มเซอร์เรียลลิสม์ด้วยซ้ำไป เพราะว่าสมาชิกคนอื่นๆ โหวตไล่เขาออก เพราะหมั่นไส้ในความสวิงสวายของดาลี
เรื่องนั้นว่าเซอร์ไพรส์แล้ว แต่เรื่องของศิลปินหนวดงามผู้นี้ไม่ได้มีแค่นั้นแน่ๆ เราจึงถือโอกาสรวบรวมมาให้คุณผู้อ่านได้ประหลาดใจร่วมกันเสียเลย
1. แม้จะลาโลกไปแล้ว แต่หนวดซิกเนเจอร์ของดาลียังคงชี้โด่ดั่งเข็มนาฬิกาบอกเวลา 10:10 อยู่เหมือนเดิม
ในวันที่ขุดศพศิลปินชื่อก้องขึ้นมา Narcís Bardalet ผู้ทำการดองศพ (embalmer) ดาลีตอนที่เสียชีวิตในปี 1989 ไปเป็นพยานในเหตุการณ์ด้วย โดยหลังจากพิธีการเสร็จสิ้น เขาให้สัมภาษณ์กับรายการวิทยุ RAC1 แห่งแคว้นกาตาลุญญาว่า “หนวดของดาลียังอยู่ในสภาพสมบูรณ์ตามเข็มนาฬิกาชี้ 10:10 แบบที่เขาชอบ ปาฎิหาริย์จริงๆ” นอกจากนี้ Bardalet ยังคาดการณ์ไว้ว่าศพ (รวมทั้งหนวดด้วยนั่นแหละ) ของดาลีจะยังคงอยู่ยงไม่บุบสลายเช่นนี้ไปอีกอย่างน้อย 1 ศตวรรษเลยทีเดียว
2. ในช่วงที่โด่งดังสุดๆ ดาลีรับจ้างออกแบบโลโก้ให้โรงงานลูกอม Chupa Chups
ถ้าอยากเห็นงานของดาลีด้วยตาตัวเองใกล้ๆ เราแนะนำให้ไปร้านสะดวกซื้อแถวบ้าน แล้วหยิบจุป้าจุ๊ปส์ขึ้นมาพินิจพิจารณา เพราะดาลีเป็นคนออกแบบโลโก้นี้ด้วยตัวเองในปี 1969 แถมเป็นคนแนะนำให้ห่อลูกอมโดยวางโลโก้ไว้บริเวณหัว จะได้เห็นโลโก้ชัดๆ ตลอดเวลา โดยปัจจุบันโลโก้ถูกปรับเปลี่ยนไปน้อยมาก แค่เพิ่มขอบให้กับดอกเดซี่นิดหน่อยเท่านั้นเอง
mundodelaempresa.blogspot.com
3. แม้แต่เฟอร์นิเจอร์ก็ไม่พ้น—ดาลีออกแบบโซฟาริมฝีปากสีแดงสุดไอคอนนิก
ไม่รู้ว่าเขาติดตาตรึงใจอะไรกับ Mae West เซ็กซ์ซิมโบลที่โด่งดังสุดๆ ในยุค 30s เพราะเขาเคยวาดรูปเธอมาก่อน แถมเมื่อได้รับจ้างจากมหาเศรษฐี Edward James ให้ออกแบบโซฟาในปี 1936 ดาลีก็เลือกออกแบบเป็นรูปริมฝีปากของนักแสดงสาวผู้นี้
แม้โซฟานี้อาจจะไม่ได้ใช้งานจริงเท่าไหร่ (มั้ง) เพราะมีอยู่แค่ 5 ตัวในโลก แต่ในปี 1972 กลุ่มนักออกแบบ Studio 65 หยิบยืมไอเดียไปทำเป็นโซฟา Marilyn Bocca ตามรูปริมฝีปากของ Marilyn Monroe อีกหนึ่งเซ็กซ์ซิมโบลในยุคต่อมา จนโซฟานี้กลายเป็นผลงานสุดไอคอนนิกประจำแวดวงเฟอร์นิเจอร์ดีไซน์เลยทีเดียว
4. ดาลีออกแบบหน้ากากในปาร์ตี้เซอร์เรียลลิสม์ของตระกูล Rothschild ครอบครัวที่ร่ำรวยและมีอิทธิพลมากที่สุดในโลกในยุคหลังสงครามโลก
ครอบครัวที่ร่ำรวยที่สุดในโลกอย่าง Rothschild มักตกเป็นเป้าของทฤษฎีสมคมคิด (conspiracy theory) มากมาย โดยเฉพาะทฤษฎีเกี่ยวกับกลุ่มอิลลูมิเนติ (Illuminati) และลัทธิบูชาซาตาน (Satanism) ซึ่งอีกหนึ่งสิ่งที่ยิ่งตอกย้ำให้คนเชื่อทฤษฎีสมคบคิดเหล่านี้คือปาร์ตี้ที่ดาลีมีส่วนร่วมเป็นอย่างมาก
ในปี 1972 ครอบครัว Rothschild จัดปาร์ตี้สุดเซอร์เรียลขึ้นที่คฤหาสน์ Château de Ferrières ซึ่งความเซอร์เรียลที่ว่านั้นปรากฏให้เห็นตั้งแต่บัตรเชิญเข้างานที่เป็นตัวอักษรแฝงอยู่ระหว่างก้อนเมฆ และต้องอ่านผ่านกระจกเงาเท่านั้น รวมถึงการตกแต่งงาน ไปจนถึงเครื่องแต่งกาย เครื่องหัว และหน้ากากของโฮสต์และบรรดาแขกระดับ A-list ที่มาร่วมงาน
ผู้ที่อยู่เบื้องหลังเครื่องหัวและหน้ากากทั้งหลายเหล่านี้จะเป็นใครได้นอกจากดาลี ซึ่งผลงานของเขาเป็นการหยิบเอเลเมนต์แปลกๆ หรืองานศิลป์ชิ้นดังมาเล่นแล้วทุกอย่างถูกตีความยับเยิน เช่นหมวกที่มีแอปเปิ้ลเขียวห้อยบังหน้า ก็ถูกมองว่าสื่อถึงบาปที่อยู่ตรงหน้าแล้วคนก็พร้อมจะกินมัน หรือหมวกของดาราสาวที่เป็นรูปกรงนก ก็ถูกตีความว่าตระกูลนี้ต้องการควบคุมความคิดคนทั้งโลกผ่านสื่อที่เหล่าดาราดังโลดแล่นอยู่ ฯลฯ
แต่มองอีกที ไม่แน่ว่างานปาร์ตี้นี้อาจเป็นแค่งานอดิเรกของเหล่าคนรวยเงินเหลือๆ ที่มาจ้างศิลปินระดับโลกทำงานราคาแพงให้ก็ได้
5. ดาลีเคยแสดงนำในโฆษณาของช็อกโกแลตยี่ห้อ Lanvin ในปี 1969
เรื่องทำงานพาณิชยศิลป์อย่างรับจ้างออกแบบนู่นนี่นั่นก็ยังพอเข้าใจได้ แต่พอรู้ว่าดาลีเคยเล่นโฆษณาให้กับช็อกโกแลตยี่ห้อหนึ่ง เราก็เหวอไปเหมือนกัน แถมเขาไม่ได้รับแค่งานเดียว แต่ยังแสดงให้กับโฆษณาของแบรนด์อื่นๆ ด้วย เช่น Alka Selzer, Braniff airways, Vete Rano เรียกได้ว่าวงการไฮโซก็เข้าไปคลุก วงการบันเทิงก็ไม่ละเว้น และนี่อาจเป็นเหตุผลให้สมาคมศิลปินไม่ค่อยอ้าแขนรับเขาสักเท่าไหร่ เพราะยุคนั้น ‘ศิลปิน’ กับเซเล็บฯ อาจไม่ใช่ภาพที่ไปกันได้ดีเท่าไหร่นัก
6. ดาลีเคยทำภาพยนตร์แอนิเมชั่นร่วมกับ Walt Disney
ในปี 1945 ได้ออกแบบฉากหนึ่งให้กับภาพยนตร์เรื่อง Spellbound ของ Alfred Hitchcock เขาจึงมีโอกาสได้เจอกับ Walt Disney แล้วไม่นานทั้งคู่ก็ตกลงร่วมงานกัน โดยดาลีรับจ้างเป็นพนักงานประจำแบบ 9-to-5 ของดิสนีย์เป็นเวลาอยู่เกือบปี วาดภาพไปมากกว่า 22 ภาพ และวางสตอรี่บอร์ดไว้กว่า 135 ชิ้น
แต่งานยังไม่ทันเสร็จดี ดิสนีย์ก็ตัดสินใจพับโครงการไว้ก่อนด้วยหลายเหตุผล เหตุผลหนึ่งคือค่าตัวแพงแสนแพงของดาลีที่ดิสนีย์เริ่มจ่ายไม่ไหว และอีกเหตุผลคือตัวแอนิเมชั่นเริ่มหลุดไปจากสิ่งที่ทั้งดาลีและดิสนีย์จินตนาการไว้ในตอนแรก
จนเวลาผ่านไปกว่าครึ่งทศวรรษ หลานชายของดิสนีย์นามว่า Roy E. Disney บังเอิญมาเจอต้นฉบับภาพวาดเหล่านั้น แล้วตัดสินใจรวบรวมทีมงานฝีมือดีเพื่อชุบชีวิตมันขึ้นมา จนสำเร็จเป็นแอนิเมชั่นขนาดสั้นชื่อ Destino ซึ่งถูกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ในปี 2003
7. ดาลีเคยตีพิมพ์หนังสือทำอาหารแบบฉบับอีโรติก
แม้จะกลัวเซ็กซ์ แต่สิ่งนี้ก็เป็นหัวข้อหนึ่งที่ดาลีหยิบมาใช้ในการสร้างสรรค์งานอยู่บ่อยๆ โดยชิ้นงานเกี่ยวกับเซ็กซ์ที่คนส่วนใหญ่รู้จักก็คือ The Great Masturbator (1929) แต่หลายคนอาจยังไม่รู้ว่าในปี 1973 ดาลีเคยตีพิมพ์หนังสือทำอาหารแบบอีโรติกชื่อว่า Les Diners de Gala โดยเขาทั้งเขียนเนื้อหาและวาดภาพประกอบด้วยตัวเอง
ภายในหนังสือแบ่งออกเป็น 12 บท ประกอบไปด้วย 133 เมนู พูดถึงวัตถุดิบนานาชนิดตั้งแต่หอย ล็อบสเตอร์ ผักโขม ไปจนถึงวัตถุดิบต่างๆ ที่กระตุ้นให้เกิดอารมณ์ทางเพศ พอได้อ่านตัวอย่างเมนูก็รู้เลยว่าแปลกประหลาดและเซอร์เรียลตามสไตล์ เป็นต้นว่า ไข่พันปี (Thousand Year Old Eggs), เนื้อลูกวัวยัดไส้หอยทาก (Veal Cutlets Stuffed With Snails), พายกบ (Frog Pasties) และท็อฟฟี่ใส่ลูกสน (Toffee with Pine Cones)
อันที่จริง 7 ข้อที่ยกมานี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของชีวิตอันแปลกประหลาด บ้าคลั่ง หรูหรา เพ้อฝัน (เราว่าจะใส่คำคุณวิเศษณ์อะไรก็ใช้ได้หมด) ของซัลบาดอร์ ดาลีเท่านั้น แต่ก็คงพอให้คุณเห็นภาพแล้วว่าชีวิตจริงของศิลปินเซอร์เรียลลิสม์คนนี้เซอร์เรียลแค่ไหน
อ้างอิง
gq-magazine.co.ukvigilantcitizen.com