หากพูดชื่อ Speedy Grandma คนเสพอาร์ตบ้านเราน่าจะรู้สึกคุ้นเคย เพราะนี่คือพื้นที่แห่งซีนอันเดอร์กราวด์ที่เซอร์เรียลตั้งแต่การแฝงตัวอยู่ในชุมชนย่านเจริญกรุงที่มีซุ้มยาดองของชาวบ้านตั้งวงอยู่ใกล้ๆ ขณะที่ตัวเองก็จัดอีเวนต์หลากคอนเทนต์อยู่ตลอด
แม้จะแวะเวียนไปไม่บ่อยนัก แต่เราได้ยินเรื่องราวเกี่ยวกับ Speedy Grandma อยู่บ่อยครั้ง นี่คือสถานที่ซึ่งวงดนตรีที่เราชอบอย่าง ศศิ เคยเล่นครั้งแรก คนทำหนังอิสระใกล้ตัวเคยฉายหนังจบของตัวเองอย่างจริงจังที่นี่ ผู้กำกับละครเวทีที่ติดตามก็เคยมาทำงานเพอร์ฟอร์มานซ์หลุดโลก หรือการเป็นที่ให้คนฝักใฝ่งานปรินต์ได้มาทำซีนกันตามใจอยาก—จะหาที่ไหนเหมือนที่นี่ได้อีก และก็ต้องขอบคุณ ลี—อัญชลี อนันตวัฒน์ ที่ร่วมสร้างพื้นที่นี้ขึ้นมาประดับกรุงเทพมหานคร
และเมื่อเราได้พูดคุยกับเธอเกี่ยวกับงานอาร์ตและพื้นที่ที่เธอมีให้เด็กรุ่นใหม่จนถึงศิลปินต่างชาติ กลับพบว่าลียังมีอีกหนึ่งบทบาทที่เธอกำลังสนุกกับมัน นั่นคือการเป็นอาจารย์ประจำสาขาออกแบบนิเทศศิลป์ หลักสูตรนานาชาติ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
ในการพูดคุยที่สนุกจนลืมเวลา เราจึงขออนุญาตเก็บเอาเรื่องศิลปะที่เธอเล่าไว้ในใจส่วนหนึ่ง (ไม่อย่างนั้นบทสัมภาษณ์นี้จะกินพื้นที่มากกว่าสิบห้าหน้า) แต่จะขอเน้นไปในเรื่องของการเป็นอาจารย์ที่น่าย้อนเวลากลับไปสมัครเรียนด้วยชะมัด
Life MATTERs : ตอนเด็กๆ คุณเป็นคนอย่างไร เริ่มรู้จักศิลปะครั้งแรกตอนไหน
ลี : ตอนเด็กๆ ก็ไม่ได้คิดว่าจะเป็นศิลปินหรืออะไรเลย เป็นสไตล์เด็กเรียนเก่ง อยากเป็นหมอ ตอนเรียนศิลปะเราก็วาดตามคนอื่น ต้นไม้สีเขียว ท้องฟ้าสีฟ้า ไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองมีความพิเศษอยากเป็นศิลปิน บวกกับเราก็รู้มาว่าเป็นศิลปินมันลำบาก
แต่พอจบม.ต้น เราเข้าเตรียมอุดมศึกษาได้ เข้าเรียนสายวิทย์ แต่สายวิทย์มันยากมาก เรียกตกแทบทุกวิชาบังคับ เราก็เริ่มเบนเข็มว่าหรือเราจะไม่เหมาะกะสายนี้ พอดีได้รู้จักภาควิชานฤมิตศิลป์ คณะศิลปกรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็สอบเข้าที่นั่น เพราะเราชอบหนัง อยากออกแบบโปสเตอร์หนัง พอจบปริญญาตรีเราก็มีความคิดว่าอยากให้งานของตัวเองเคลื่อนไหวได้ เลยไปเรียนต่อปริญญาโทวิชาแอนิเมชั่นที่ออสเตรเลีย
เราเลือกเรียนเทคนิคแบบโอลด์สคูล เป็นสต็อปโมชั่น เฟรมบายเฟรม ค่อยๆ ถ่ายไป เราอยู่ที่นั่น 4 ปี ช่วงปีแรกๆ ก็รู้จักแต่เพื่อนในคลาส เพราะคอร์สอินเตอร์เนชั่นแนล ครึ่งหนึ่งเป็นจีน แล้วเราเป็นคนชอบปาร์ตี้ พวกฝรั่งจะว่าปิดก็ปิด เขาไม่ค่อยชวนเราไป เพื่อนจีนก็ไม่กินเหล้าอีก เราก็จ๋อยๆ เหมือนกัน โชคดีเจอเพื่อนคนนึงที่ไปปาร์ตี้ แล้วถูกใจกันก็คุยกันป็นเพื่อนมา
แล้วเขาเป็นศิลปินก็ดึงๆ เราไปรู้จักกับคนอื่นๆ หลังจากนั้นเลยเริ่มรู้สึกว่าจริงๆ ศิลปะมันไม่ต้องยากขนาดนั้นก็ได้ เหมือนคนที่นู่นเขาจะประมาณว่าอยากทำอันนี้ว่ะ ก็ลองทำดูเลยดีกว่า ไม่ต้องซีเรียสว่ามันจะมีความหมายสูงส่งอะไรขนาดนั้น ซึ่งเราก็ชอบมาก ก็สนุกกับที่นั่น
แล้วจู่ๆ เราก็มีเหตุให้ต้องกลับเมืองไทย ในช่วงปี 2010 ตอนนั้นเพื่อนมหาวิทยาลัยเขาก็เป็นกราฟิกดีไซเนอร์กันมาหลายปีแล้วล่ะ เขามีประสบการณ์กันเยอะขณะที่เราเพิ่งเรียนจบ เราก็จ๋อยๆ อีก โชคดีไปเจออาจารย์ที่จุฬาฯ เขาก็ชวนไปสอน เราก็โอเค ลองดู พอสอนได้คลาสนึง อาจารย์ที่ชวนเรา เขาก็สอนที่ม.กรุงเทพด้วย ก็ชวนไปอีก เราเลยได้เป็นอาจารย์สอนพิเศษมาเรื่อยๆ
ช่วงระหว่างนั้น เราก็เริ่มทำความรู้จักวงการศิลปะในเมืองไทย เจอเพื่อนแก๊งใหม่ๆ เขาเด็กกว่าเราหมดเลย เป็นวัยรุ่นคึกคัก เราก็ไปแฮงก์เอาต์กับเขา จนเพื่อนเรามาเช่าตึกตรงเจริญกรุงมาเพื่อทำกราฟิกสตูดิโอ เราก็เอากับเขาด้วย แล้วชั้นล่างมันยังว่างอยู่ บวกกับรู้จักกับพาร์ตเนอร์ที่ทำแกลเลอรี่อยู่แล้วเลยชวนเขามาทำแกลเลอรี่ด้วยกัน นั่นแหละก็เป็นสปีดี้แกรนด์มา
Life MATTERs : หลังจากเปิด Speedy Grandma คุณก็ได้ผลักดันศิลปินเยอะมาก ทำไมถึงเลือกที่จะทำแบบนั้น
ลี : ไอเดียที่เปิดสปีดี้ฯ ขึ้นมา เพราะตอนนั้นมันจะมีพวกแกลเลอรี่ที่เป็นแกลเลอรีจ๋าอยู่เยอะเลย แล้วมันจะมีที่นึงชื่อตูดยุง อยู่แถวอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ซึ่งเราไปแฮงก์เอาต์บ่อย ก็ชอบที่มันมีความแคชชวล ไม่ใช่ว่าเข้าไปแล้วเกร็ง เราเลยชอบไอเดียตรงนั้น
ประกอบกับที่เราบอกว่าที่ออสเตรเลียคนมันเปิด ศิลปะไม่ใช่เรื่องซีเรียสขนาดนั้น พอมาทำเราก็รู้สึกว่ามีศิลปินที่เราชอบงานเขาเยอะแยะมากมาย ก็ชวนๆ เขาแสดงงาน ติดต่อเขาไปเรื่อยๆ ส่วนมากที่สปีดี้ฯ จะเป็นที่แรกที่คนได้มีโอกาสทำโซโล่ เราก็คิดว่า โอเค ถ้าจะแสดงงานโชว์ แล้วเราถูกใจเขา ก็ได้แสดงเลย ไม่ต้องเสียตังอะไร แค่ว่าสไตล์มันต้องได้ เราเลือกงานจากความชอบส่วนตัวเรา
ที่จริงเรารู้สึกว่าก็มีหลายที่ที่สนับสนุนเหมือนกันนะ เพียงแต่ว่าสปีดี้ฯ ก็อาจจะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้คึกคักขึ้น เป็นที่ที่อยากทำอะไรก็ทำได้เลย แต่เราก็มีเงื่อนไขด้วยนะ เพราะการแสดงงานครั้งนึงมันใช้เงิน เราไม่ได้สามารถซัพพอร์ตคุณได้ขนาดนั้น ถ้าคุณโอเค อยากลองดูสักก้าวก็ลองดูได้
Life MATTERs : สำหรับคุณแล้วศิลปะมันยังจำเป็นต้องมีแนวทางมาจำกัดอยู่ไหม
ลี : หลังๆ เราเลิกคิดมากแล้วมากกว่า คือแค่อยากทำก็ทำ แค่นี้พอแล้ว จริงๆ ไอเดียไม่ว่าแบบไหนมันควรได้รับการโปรโมต แล้วในอีกแง่หนึ่งคือเราเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยด้วย เด็กก็จะชอบกลัวตลอดว่า ‘หนูวาดรูปไม่ได้ค่ะ ต้องทำยังไง’ เราก็ถามเขากลับไปว่าไม่ได้นี่คือไม่ได้ยังไง
คือรูปมันเป็น representation ของอะไรบางอย่าง มันเลยจะมีทั้งแบบที่ต้องเป๊ะไปเลย super realistic หรือมันจะเป็นแบบที่ไม่เป๊ะก็ได้เหมือนกัน เราเลยรู้สึกว่าสิ่งที่เราทำอยู่ มันอาจจะช่วยเป็นอีกแนวทางนึง เหมือนกับตัวแกลเลอรี่ที่มันไม่ต้องเป็นแกลเลอรี่ที่สะอาด ขาว หรือซีเรียส มันควรมีพื้นที่แบบอื่นด้วย
Life MATTERs : คุณบาลานซ์บทบาทของตัวเองอย่างไร ระหว่างการเป็นอาจารย์ กับการเป็นเจ้าของแกลเลอรีที่มีความห่ามประมาณนึง
ลี : ก็ยังกินเหล้าเหมือนเดิม คือการกินเหล้าเมามาย เราไม่อยากให้มองว่ามันเป็นอบายมุข คือเรารู้สึกว่าคนสามารถมีชอยส์ได้ แต่เราก็ยังสามารถรับผิดชอบได้เต็มที่เหมือนเดิม ไปสอนเหมือนเดิม จัดการแกลเลอรี่เหมือนเดิม คือกินเหล้าได้แต่ต้องรับผิดชอบ เพราะว่าก็มีอาจารย์หลายคนที่เรารู้จักและนับถือเขาก็ปาร์ตี้กัน เที่ยวเล่นกัน เพราะรู้สึกว่ามันเป็นวิธีการผ่อนคลายอีกแบบหนึ่ง
ซึ่งคนที่ไม่กิน เราก็ไม่ได้ว่าอะไรเพราะคนเราก็มีวิธีใช้ชีวิตที่แตกต่างกันไป เพียงแต่ว่าพอผ่อนคลายมันก็มีการสร้างคอนเนกชั่นเพิ่มมากขึ้นอะไรแบบนี้ ซึ่งเราก็รู้สึกว่ามันไม่แย่ มันช่วยให้เจอคนมากขึ้น บางทีเราก็ได้ไอเดียตอนกินเหล้ากับคนอื่น อันนี้พูดในฐานะคนกินเหล้านะ (หัวเราะ)
คนอื่นเขาไม่ค่อยเข้าใจ คือเราไม่มีปัญหาเลยถ้าลูกศิษย์เราจะกินเหล้ามาเรียน ถ้าคุณมีงานส่งแล้วงานคุณโอเค เราก็โอเคไง ก่อนหน้านี้เราก็เคยแฮงก์ไปสอน ซึ่งก็รู้สึกว่าแม่งแย่ว่ะ ช่วงหลังเลยมีวินัยขึ้นมา
พอเป็นอาจารย์ เราไม่รู้ว่าเด็กมองการเป็นอาจารย์ง่ายหรือเปล่า เพราะดูเหมือนก็ไม่ได้ทำอะไรมาก แต่จริงๆ แล้ว อาจารย์ก็ไม่ได้ง่ายเลยนะ อย่างเด็กในคลาส 30 คน โปรเจกต์ก็จะต่างๆ กันไป การที่เราจะไปแนะแนวเขาได้ เราก็ต้องคิด มันก็จะค่อนข้างเหนื่อยๆ ถ้าวันไหนที่เราไม่ค่อยพร้อมเราก็จะจ๋อยๆ เลยต้องบาลานซ์ตัวเองให้ได้ ช่วงนี้ก็บาลานซ์ค่อนข้างดี แล้วขับรถด้วย ก็เลยไม่กินวันธรรมดา กินแค่ ศุกร์ เสาร์ อาทิตย์
Life MATTERs : ความสนุกในการสอนของคุณคืออะไร
ลี : เราว่าการสอนเด็ก มันไม่เชิงแค่สอนซะทีเดียว เหมือนแชร์กันมากกว่า เขาแชร์ของเขามา เราก็แชร์ของเราที่รู้มาเพราะเราดันเกิดก่อนเขา ก็คุยกัน บางทีเราก็เห็นมุมมอง วิธีการอะไรของเขาบางอย่าง ซึ่งเรารู้สึกว่าน่าสนใจ เพราะเด็กพวกนี้มันคนละเจเนอเรชั่นกับเราแล้ว เผลอๆ ต่างกับเรา 15 ปีแล้ว เราก็รู้สึกว่าแก็ปมันใหญ่ ทำยังไงเราถึงจะไม่ตกยุค ไม่กลายเป็นคนแก่ที่ด่าเด็กพวกนี้
ก็เลยหาวีธีอัพเดตอยู่เรื่อยๆ ไม่ถึงขนาดไปรู้เทรนด์อะไรของเด็กนะ แต่คิดว่าเราก็ค่อนข้างจะทันสมัยในแง่ของการรู้ว่ามีอะไรเกิดขึ้นในโลกบ้าง ภาพรวมทั้งโลก ไม่ได้เจาะจงว่าฉันจะต้องรู้ว่าตอนนี้เน็ตไอดอลเมืองไทยเป็นใคร เราโยนไอเดียไปแล้วคุณรู้เรื่องนี้ไหม อยากเป็นแนวนั้นมากกว่า
ตอนนี้อาจารย์มหาวิทยาลัยเขาก็จะบ่นๆ กันว่า เด็กชอบเปิดพินเทอร์เรสต์ทำงาน เหมือนมันเป็นการหาเรฟเฟอร์เรนซ์ปลายทาง คือเขาไม่เคยเห็นเลยว่ากว่างานจะออกมาเป็นแบบนี้ มันผ่านกระบวนการอะไรมาบ้าง แค่เสิร์ชมันก็ขึ้นมาแล้ว ก็คิดกับอาจารย์หลายๆ คน คือเรามองว่าเราจะไปโทษเด็ก หรือจะไปให้เด็กหาแหล่งข้อมูลอย่างเดียวมันเป็นไปได้ยากแล้ว เพียงแต่ว่าเราจะเล่าไอเดียอย่างไรดี
เราโตมาในยุคที่ต้องเข้าห้องสมุดมาก่อนที่จะมีอินเทอร์เน็ต ดังนั้นจะทำยังไงให้เขาเห็นข้อดี ข้อแตกต่างของแต่ละสื่อที่มันไม่เหมือนกัน คือเราว่ามันเป็นสิ่งที่ควรรู้ไว้ คือเขาจะไม่ใช้ก็ไม่เป็นไร เพราะเราก็ไม่ได้ใช้มากแล้วเหมือนกัน โอเคมีอินเทอร์เน็ต มันดี มีวิธีการหาข้อมูลของเรา ก็เลยคิดว่าเรื่องพวกนี้มันอาจจะต้องขึ้นอยู่กับการตั้งโจทย์ของอาจารย์ ว่าจะนำพาให้ด็กไป explore ในแง่ไหนขนาดไหน
Life MATTERs : งานของเด็ก 30 คน ในแต่ละคลาส มีความหลากหลายแค่ไหน
ลี : ตอนนี้เราก็มีคุยกับเด็กปี 4 อยู่ เรื่อง thesis preparation หลังจากเด็กฝึกงานก็นัดเจอกันแล้ววันที่เจอกันมีเรื่องอะไรเกิดขึ้นในโลกบ้าง ให้ปริ๊นรูปมา 3 รูป แล้วมาเล่าให้ฟัง ทีนี้มันก็จะช่วยเปิดวิธีการหาความสนใจของตัวเอง ว่าในวันนั้นมีอะไรบ้าง มันก็จะมีเว็บที่รวมเรื่องพวกนี้อยู่ เขาก็จะไปเลือกมา บางคนก็ไปเลือกทางนักร้อง ทางดวง ทางการเมือง ทางสังคม
ซึ่งสามภาพที่เลือกมามันก็จะช่วยกรองว่านี่คือสิ่งที่คุณสนใจอยู่ แล้วหลังจากนั้นเขาก็ต้องเลือกอันนึง แล้วลงลึกกับมันไปเรื่อยๆ ซึ่งมันก็จะดีกว่า อย่างปีอื่นๆ คือให้ทำอะไรก็ได้เลย ซึ่งปัญหาส่วนมากคือเด็กมันไม่สามารถออกจากตัวเองได้ ซึ่งจริงๆ แล้วทำงานกับตัวเองไม่ผิด เพียงแต่ว่าจะทำอย่างไร ให้เด็กเห็นว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของภาพใหญ่ ทำอย่างไรให้เด็กกระเถิบมานิดนึง แล้วรู้ว่าเรื่องนี้คนอื่นเขาก็รู้สึกเหมือนกันนะ
แต่ว่าเราจะเขียนยังไงดีให้มันออกมา เด็ก 30 คน เนื้อเรื่องก็ลงลึกแตกต่างกัน อยู่ที่ตัวเขาเองว่าจะหาวิธีพัฒนาอย่างไรต่อไป ถ้าเด็กทำการบ้านมาดีในแง่ของรีเสิร์ช เราก็จะสามารถถกกันได้เยอะ
Life MATTERs : สมมติเจอนักเรียนที่ไม่ทำการบ้านไม่สนใจเรียน แต่ในอีกแง่หนึ่ง เขาคือน้องที่น่ารักของเราที่ Speedy Grandma
ลี : ต้องแยกกันว่ะ โอเคมันก็ดีที่คุณสนใจสิ่งที่อยู่นอกห้องเรียน แต่ว่าถ้าทำตามที่เรียนไม่ได้มันก็ไม่มีความหมายอะไร คือมันก็จะมีเด็กบางคน อย่างเราเพิ่งสอนปี1 เขาก็จะฟีลถามว่าอาจารย์เป็นศิลปินด้วยหรือเปล่าคะ อาจาร์ทำอะไร ออกแนวจะเข้าอีกทางนึง เราก็ เฮ้ย ไม่ต้องรู้ก็ได้ไม่เป็นไร ไม่มีความจำเป็นต้องรู้ตรงนั้น มาเรียนกันก่อนดีกว่า
คอนเซ็ปต์หลักในชีวิตเราเลยคือการพูดว่ามันมีความแตกต่างทางสังคม ซึ่งมันแตกต่างได้ เราอยากโปรโมตความแตกต่างนี้ เพราะมันไม่ได้มีวิธีใดวิธีหนึ่งที่มันถูกต้อง คุณสามารถเป็นแบบนี้ได้ ถ้าคุณอยากเป็น ซึ่งพอแก่ขึ้นระดับหนึ่งเราเริ่มเห็นว่ามันแทบจะอยู่ในทุกๆ อย่างที่เราทำโดยไม่รู้ตัว
Life MATTERs : คุณก็ดูมีความเป็นครูสูงอยู่เหมือนกันนะ
ลี : (หัวเราะ) มันสนุก เรารู้สึกว่าดีใจมากๆ ที่มีโอกาสได้สอน ตอนที่เราทำสตูดิโอกับเพื่อน เป็นกราฟิกดีไซเนอร์ ก็แอบซัฟเฟอร์นิดนนึง เพราะมันเป็นกราฟิกแข็งๆ ซึ่งไม่ใช่สไตล์เราเลย มันละเอียดมาก เลื่อนทีเป็นพอยต์ๆ ซึ่งเราไม่ใช่คนละเอียด ก็เกลียดกราฟิกไปเลยพักนึง แต่ตอนหลังก็เหมือนงานศิลปะ ที่จริงๆ มันไม่ต้องทางนั้นทางเดียว
เราคิดว่าโครงสร้างหลักๆ หรือคอนเซ็ปต์หลักในชีวิตเราเลยคือการพูดว่ามันมีความแตกต่างทางสังคม ซึ่งมันแตกต่างได้ เราอยากโปรโมตความแตกต่างนี้ เพราะมันไม่ได้มีวิธีใดวิธีหนึ่งที่มันถูกต้อง คุณสามารถเป็นแบบนี้ได้ ถ้าคุณอยากเป็น ซึ่งพอแก่ขึ้นระดับหนึ่งเราเริ่มเห็นว่ามันแทบจะอยู่ในทุกๆ อย่างที่เราทำโดยไม่รู้ตัว
เราโชคดีที่ช่วงปีที่ผ่านมา เราได้สอนกับอาจารย์อีกคนนึง ชื่อว่าอาจารย์นิพันธ์ โอฬารนิเวศน์ แกเป็นศิลปินมานานแล้ว เป็นคนใจเย็น ใจดีมาก ทุกครั้งที่เราไปสอน เราก็ได้เรียนจากเขาอีกทีด้วย ในแง่ที่ว่าบางทีโจทย์ที่เราคิดไปแต่เด็กทั้งห้องทำไม่ได้เลย ความผิดมันอยู่ที่เรา เป็นที่วิธีการออกแบบโจทย์ หรืออะไรสักอย่างที่ทำให้เด็กไม่มีคอนเนกชั่นตรงนั้น ไม่ใช่ว่าครูจะถูกตลอด ต้องรีเช็คตลอดเวลา
เวลาสอนก็ไม่ได้สนุกทุกหน บางทีก็ดาวน์มาก สอนไปเด็กก็ไม่เก็ต คลาสที่เราสอนจะเน้นให้มีดิสคัสชั่นกันด้วย เพราะเรารู้สึกว่าเด็กปี1 ไม่มีโอกาสได้พูดความคิดตัวเอง พอมีบางคลาสให้พูดเราก็รู้ว่า เออมันคิดเยอะเหมือนกันนี่หว่า ถ้าไม่พูดครูไม่รู้เลยนะ ก็พยายามดันให้เขาพูด ต้องพูด ครูอยากฟัง แต่บางคลาสมันเข็นไม่ขึ้นเราก็จะเนือยๆ รู้สึกไม่ค่อยสนุก แต่บางคลาสเด็กมันเต็มที่ แชร์ความรู้กัน มันไม่เหมือนการสอน คุยกันโต้ตอบกันได้ดี มันก็เหมือนคุยกับเพื่อน แชร์ไอเดียกันมากกว่า
Life MATTERs : รู้ตัวอีกทีคุณก็เป็นครูเต็มตัวไปแล้วรึเปล่า
ลี : พ่อเรายังงงๆ อยู่เลยว่า เฮ้ย เป็นอาจารย์เหรอวะ เพราะเขาก็เห็นรอยสักเรา แต่เขาก็จะรู้ว่าอาทิตย์นึงมีสามวันที่เราตื่นเช้าไปทำงาน ซึ่งก็งงเหมือนกัน แต่แม่เราเขารู้ตั้งนานแล้ว เขาก็โอเคดี มีอาชีพที่ดี เรารู้สึกว่าเราชอบพูด ชอบเล่า อยากให้คนเข้าใจ ก็เลยค่อนข้างเหมาะที่จะเป็นอาจารย์
Life MATTERs : คือตอนนี้ไม่ใช่แค่เพื่อหาเงินอย่างเดียวแล้ว?
ลี : เออ คือตั้งแต่ที่เราอยู่เมลเบิร์น อาจารย์ทีสอนป.โท เขาไม่เหมือนอาจารย์ด้วยไง มันมีความแคชชวลมาก เราเลยชอบไอเดีย เราก็เลยมาคิดว่าทำอย่างไรให้เราไม่ดูเป็นอาจ๊ารย์ อาจารย์กับเด็ก พอเราตั้งไว้สูงกว่าปุ๊บ เด็กมันจะไม่ค่อยกล้าพูด ไม่ค่อยกล้าแชร์ แต่ถ้าเรามีความแคชชวลกัน แต่ก็ยังเรสเปคกันบรรยากาศในการเรียนมันก็จะสนุกขึ้น ตัวเราก็จะสนุกขึ้นเลยชอบวิธีการนี้มาก
จำได้เลยวันแรกที่ไปมหาวิทยาลัยเราจะไปสวัสดีฝรั่ง จะยกมือไหว้ แล้วเพิ่งนึกได้ว่าไม่ต้องสวัสดีนี่หว่า แค่ฮัลโหลเฉยๆ เราก็รู้สึกได้ว่านี่คือขั้นนึงเลยนี่หว่าที่ไม่ต้องโชว์ความเคารพแบบนั้น แต่มันคือการแชร์ แชร์ประสบการณ์กันมากกว่า ตั้งแต่นั้นมาก็อยากให้เด็กมันได้ความคิดแบบนั้นว่ามันสามารถแชร์กับเราได้
Life MATTERs : ลุคของคุณส่งผลกับบทบาทการเป็นอาจารย์ไหม
ลี : ก็จะแต่งตัวเรียบร้อยขึ้นอีกนิดนึง แขนยาว ขายาว แต่เด็กมันก็จะรู้อยู่แล้ว มันก็จะเห็นสภาพเรา ต๊องๆ มีรอยสัก วิธีการคุยในห้องของเรามันค่อนข้างจะรีแลกซ์ ไม่ซีเรียสมาก แต่เราไม่ใช่อาจารย์ที่ไม่ดุนะ ก็ดุ ถ้าคุยในห้อง เราก็จะบอกว่าออกไปคุยข้างนอกได้นะ หรือเพื่อนพรีเซนต์อยู่แล้วคนอื่นคุย เราก็ถามว่าคุณมีอะไรจะแชร์ เพราะถ้าคุณไม่แชร์แปลว่าไม่เรสเปคเพื่อนคุณเหรอ เพื่อนคุณพูดอยู่นะ
เรารู้สึกว่าสิ่งนี้มันควรจะต้องมีอยู่ มันไม่ใช่กฎเกณฑ์แต่มันเหมือนเป็นมารยาททางสังคมที่คนเราควรจะเคารพซึ่งกันและกัน เป็นแนวนั้นมากกว่า
Life MATTERs : ถ้าย้อนเวลาได้ อยากเรียนกับอาจารย์แบบที่ตัวเองกำลังเป็นอยู่ตอนนี้หรือเปล่า
ลี : ก็อยากนะ ซึ่งเราเคยเจออาจารย์ที่เค้าใหม่มากตอนที่สอนเรา แล้วเขาแอพพรูฟเรา ซึ่งเราก็ดีใจมาก แต่มาถึงตอนนี้รู้สึกว่าอาจารย์ท่านั้นไม่ค่อยอัพเดตแล้ว เขาเปลี่ยนตามกระแสโลกไม่ค่อยทันแล้ว เราก็รู้สึกว่าเสียดายจังเลย ตอนนั้นเขาใหม่มากเลยนะ
ซึ่งมันก็ทำให้เราคุยกับเพื่อนตลอดว่าต้องช่วยกันเตือนนะ ถ้าเราแก่ เราหัวเก่าเมื่อไหร่ต้องช่วยกันด่านะ เพราะเราไม่อยากเป็นแบบนั้น คิดว่าถ้าเราเก่าแล้ว เราอยากเลิกสอน ถ้าเป็นแบบนั้นเราคงต้องไปทำอย่างอื่นแล้วหรือเปล่า เพราะคนเป็นอาจารย์ควรจะต้องสดใหม่ตลอดเวลา
Life MATTERs : แล้วได้เริ่มเตือนกันบ้างหรือยัง
ลี : มันก็จะมีอะไรเล็กๆ น้อย อย่างคอร์สที่เราสอนมันจะเป็นคอร์สเด็กอินเตอร์ มันก็จะมีอะไรเล็กๆ น้อยๆ ที่เหมือนเรามีอคติกับเด็กคนนี้ เขาก็จะเตือนๆ ว่านี่อคติหรือเปล่า เราก็จะพยายามรีเช็ค ดูตัวเองว่าอคติไหม หรือต้องปรับอย่างไร ก็โอเค หรือกับอาจารย์นิพันธ์ ก็เช็คโจทย์กันตลอดว่าดีไหม หรือเราคิดกันว่าดี แต่เด็กคิดว่าไม่ดี
Life MATTERs : ทั้งเป็นศิลปินเอง ทำงานกราฟิก ทำแกลเลอรี ทำงานปรินต์ เป็นอาจารย์ด้วย ทำหลายอย่างแล้วเหนื่อยไหม
ลี : ก็เหนื่อย แต่ค่อนข้างสนุกอยู่ แล้วก็รู้สึกว่าถ้าไม่ทำอะไรก็จะรู้สึกว่าว่างว่ะ เปื่อยเกิน ถ้าปล่อยตัวเองให้เปื่อยต่อไปเรื่อยๆ จะทำให้กลับมาสตาร์ทยาก ที่เขาชอบพูดกันว่าเหมือนขี่จักรยาน คือขี่ไปแล้วก็ต้องปั่นต่อไปเรื่อยๆ
และคือถ้าให้เราสอนอย่างเดียวเราก็ไม่เอาเหมือนกัน แต่ถ้าให้เป็นศิลปินอย่างเดียวก็ไม่แน่ อยากเป็นอยู่ (หัวเราะ) ถ้ามันหากินได้ แต่บาลานซ์ที่ว่าเป็นศิลปินด้วย ทำแกลเลอรี่ด้วย สอนด้วย ทำหนังสือด้วย เนี่ยก็มีรับศิลปินในพำนักด้วย มันหลากหลายมากจนเราไม่เบื่อ ถ้าทำแค่อย่างเดียวเราอาจจะเบื่อง่าย แบบนี้ไม่เบื่อ เราชอบการได้คุย เจ๊าะแจ๊ะกับคนด้วย
Life MATTERs : พูดถึงเวลารับศิลปินในพำนัก (Artist in residency) เห็นบางที่จะมีเงื่อนไขต่างๆ เช่น ต้องมีส่วนร่วมกับชุมชน แล้วคุณเองมีเงื่อนไขอะไรแบบนั้นด้วยหรือเปล่า
ลี : เมื่อก่อนก็เคยมีช่วงหนึ่ง แค่คนสองคนเอง แล้วก็หยุดไป เพระไม่มีที่ให้เขาพัก นี่ก็เพิ่งกลับมาทำ พอดีเขาเป็นเพื่อนของเพื่อนเรา ก็ชอบงานเขาด้วย ซึ่งเราไม่ซีเรียสเรื่องเกี่ยวกับชุมชนนะ แต่ก็เพิ่งให้เขาไปวาดกำแพงแถวสปีดี้แกรนด์มา เพราะป้าแถวนั้นเขาอยากให้คนมาวาด แล้วตอนแรกเราสัญญาว่าจะวาดให้ พอมีคนนี้เข้ามาก็เลยถามเขาว่าทำไหม เขาก็โอเคทำ เราก็เลยโอเค จังหวะพอดีกัน
เพราะจริงๆ ไม่ได้กำหนดนะว่าต้องทำอะไรกับชุมชน แต่เราก็ไม่อยากให้ห่าง เพราะเรารู้สึกว่าบางทีศิลปินมาถึงแล้วมันไม่แคร์อะไรเลย ฉันจะมาผลิตงานอย่างเดียว แต่เราว่าเซนส์เราก็ดีประมาณนึงในแง่ที่คิดว่าคนนี้น่าจะโอเค หรือมีทัศนคติที่ใกล้เคียงกัน ถึงมาอยู่ตรงนี้ได้มากกว่า
Life MATTERs : แล้วแผนต่อไปข้างหน้าของคุณ คืออยากผลักดันอะไรอีกบ้าง
ลี : อยากผลักดันซีน (zine) จริงๆ งานอาร์ตบุ๊กแฟร์เมื่อปีก่อนก็หนักมากเหมือนกัน พิมพ์เอง เย็บเล่มเอง คนเดียวทุกอย่างเลยเหมือนกัน ก็จะมีความรู้สึก เชี่ย กูทำไปทำไมวะ แต่ว่าพอไปขายมันก็ขายได้ ได้เงินมาจ่ายค่าเช่า เราก็เออ ดีนะ หลังจากนั้นก็แอบเหนื่อย ขอพักก่อน แต่ว่าปลายปีที่ผ่านมา มีอาร์ตบุ๊กแฟร์ที่ฮ่องกง เราก็ต้องเริ่มพิมพ์เล่มของคนอื่นที่ไปของานเขามา แต่ติดไว้ตั้งแต่ครั้งที่แล้วไม่ได้พิมพ์ก็ต้องมาพิพ์ครั้งนี้
สนุกๆ รู้สึกว่าอยากสนับสนุนในแง่สิ่งพิมพ์ คือพอออกมาเป็นหนังสือยังไงมันก็ไม่เหมือนหน้าสกรีน พอดูในจอ มันก็ในจ๊อ ในจอ พอออกมาเป็นรูปเล่ม เราคิดว่าไม่ใช่เพราะความโรแมนติกมันหรอก เราไม่ได้ชอบกลิ่นกระดาษ เพียงแต่เรารู้สึกมันได้เห็นว่าคนทำเขาตั้งใจ ยิ่งเราได้เห็นรูปที่ไม่ได้เป็นไซส์ A4 A3 เป็นไซส์ที่ customized มันสนุกที่ว่าทำไมรูปเล่มมันต้องเป็นแนวตั้งยาวๆ อย่างนี้ หรือเนื้อกระดาษ วิธีการเลือกไทป์เฟซของเขา
อันนี้มันเห็นว่าเขาตั้งใจเลือกทุกอย่าง มันออกมาสวย ก็สะท้อนออกมาได้ เรารู้สึกว่ายังไงหนังสือ สิ่งพิมพ์ มันก็ไม่ตายแน่นอน อีบุ๊กก็อาจจะเป็นหนังสือที่เป็นเท็กซ์ คือคนก็อ่านได้ เขาก็อาจจะไม่ได้แคร์ในเรื่องของรูปเล่ม แต่ถ้าเป็นหนังสือศิลปะ ยังไงก็ต้องเป็นรูปเล่ม
Life MATTERs : มีแววว่าคุณจะเป็นโฮสต์งานซีนอีกรอบไหม
ลี : ยังไม่ค่อยแน่ใจ จริงๆ ก็อยากทำนะ แต่เพื่อนที่เขาทำด้วย เขาแยกๆ ตัวไป คืออยากได้เขามาช่วยทำเหมือนเดิม ก็อยากให้เขากลับมา ก็เลยพักไว้ก่อน แต่อยากทำนะ แล้วปีนี้ (2018) ก็ไม่แน่ใจ เพราะตารางเราก็แอบแน่นแล้วเหมือนกัน ก็เลยไว้ก่อน ค่อยๆ ทำ ชีวิตยังอีกยาวไกล กลัวทำแล้วเดี๋ยวเจ๊งหมดทุกอย่าง
Life MATTERs : คุณดูวางแผนไกลเหมือนกัน เพราะมีบางคนที่ใส่เต็มเหมือนจะไม่มีวันพรุ่งนี้แล้ว
ลี : เราไม่ได้คิดแนวนั้นแล้ว เคยมีช่วงนึงที่เซย์เยสทุกทางแล้วรู้สึกว่ามันเหนื่อย แอบรู้สึกว่าทำได้ไม่ค่อยดีแน่ๆ ก็เลยค่อยๆ ทำดีกว่า หวงชีวิตตัวเองในแง่ที่อยากมีทั้งชีวิตทำงานแล้วก็ชีวิตส่วนตัว อยากมีเวลาพักผ่อนกับครอบครัว เริ่มแก่แล้วมั้ง เลยรู้สึกว่าต้องบาลานซ์ให้ได้ เพิ่งมาปีนี้แหละที่เริ่มหวงชีวิตส่วนตัวเยอะ
ถ้าสมมติคนติดต่องานมาสี่ทุ่ม ห้าทุ่ม เราไม่ตอบอีเมล์เด็ดขาด เพราะรู้สึกว่า เวลาทำงานก็คือเวลาทำงาน ถ้าไม่ทำก็คือไม่ทำ ดูแลตัวเอง ออกกำลังกาย ออกไปกินข้าวกับที่บ้านบ่อยๆ มีเวลาทำงาน มีเวลาเที่ยวเล่นกับเพื่อน อยู่กับครอบครัว แบบนี้มันก็ดี
เวลาคุยกับเด็กรุ่นใหม่ชอบบอกว่าไม่อยากทำงานประจำ ซึ่งเราก็คิดว่าได้ สองสามปีแรกไปทำฟรีแลนซ์ก็ได้ แต่ทำงานประจำจริงๆ มันก็ไม่แย่นะ บางคนก็อยากจะต่อต้านทุนนิยม ซึ่งเราก็คิดว่าคงต้านไม่ได้หรือเปล่า เพียงแต่เราจะอยู่กับมันยังไงให้ไม่ถูกกลืน เพราะระบบยังไงก็คงแยกออกไปจากมันไม่ได้แล้ว
เรารู้สึกว่าการที่มีรายได้รายเดือนเข้ามา แล้วคุณไม่ต้องเครียดทุกเดือน มันเยี่ยมมากเลยนะเว่ย เพราะก่อนหน้านี้เราเป็นฟรีแลนซ์มาตลอดไง เพิ่งมาทำงานประจำเมื่อประมาณ 5 ปีที่ผ่านมา มันก็ไม่เลวร้ายเลย รู้สึกว่าจัดตารางชีวิตตัวเองได้ดีขึ้นซะอีก
Life MATTERs : แล้วถ้าเทียบกับรุ่นเดียวกัน คุณคิดว่าตัวเองถูกทุนนิยมดูดกลืนน้อยกว่าคนอื่นไหม
ลี : ไม่ค่อยได้คบเขาแล้ว (หัวเราะ) เพราะว่าเขาก็มีครอบครัว มีบ้าน มีรถ แต่งงานกัน ซึ่งเรามองว่ามันก็ไม่ผิด ชีวิตเขา เพียงแต่ว่าเราดันเลือกมาทางนี้ แน่นอนว่าถ้าพูดในเรื่องความสำเร็จเอาไปเปรียบเทียบกันก็ไม่รู้จะไปเปรียบเทียบทำไม มันคนละด้านกัน
จะพูดว่าเราทำอะไรให้สังคมมันก็ไม่เชิงนะ เพราะว่าไอเดียที่เราทำสปีดี้ฯ หรือทำหนังสือ เราไม่ได้คิดเลยว่าจะทำเพื่อสังคม เราคิดแค่ว่ามันสนุกดี อยากทำ ก็ไม่ได้ได้เปรียบไปกว่าเขาหรืออะไร ส่วนเรื่องกลืน เราก็ยังอยากได้เงินเยอะๆ อยากมีเงินซื้อของอร่อยๆ กิน คิดว่าน่าจะเหมือนๆ กับเขาแหละ เพียงแต่ไลฟ์สไตล์มันต่างกัน
ตอนนี้เรา 36 แล้ว ก็ต้องเป็นผู้ใหญ่แล้วแหละ แต่เราว่าเราชอบความเด็ก รู้สึกโชคดีตลอด ที่ได้สอนนักศึกษา มันสดใหม่ มันหน่อมแน้ม มันน่ารัก มันอินโนเซนส์ เราก็เคยเป็นแบบนั้นมาก่อน เพียงแต่ตอนนี้เราไม่เป็นแบบนั้นแล้วแค่นั้นเอง
และทั้งหมดนี้คือถ้อยคำของศิลปิน เจ้าของแกลเลอรี่ และอาจารย์มหาวิทยาลัย ผู้มีรอยสักสีสันสดใสพอๆ กับรอยยิ้มของเธอ
Photos by Adidet Chaiwattanakul