“เตงง เบบี๋ เบิ้บบูว”
“พิกกี้บูบูของเค้า”
ถ้อยคำที่เปลี่ยนพยัญชนะ ฉีกตำราไวยากรณ์ พร้อมน้ำเสียงอ่อนหวาน พิชท์สูงขึ้นไปอีกระดับหรือที่เราเรียกกันว่า ‘เสียงสอง’ มักจะเกิดขึ้นเมื่อบางคนคุยกับคนรักของตัวเอง บางครั้งก็ปรับเสียงเปลี่ยนคำจนแทบจะฟังไม่ออกแล้วว่าพูดอะไรกันแน่นะ แต่คนรักก็รับรู้ได้ถึงความอ่อนโยนที่แฝงอยู่ในน้ำเสียงนั้น แถมการใช้เสียงสองกับคนรักยังเป็นเหมือนปฏิกิริยาสากลที่เกิดขึ้นได้แบบไม่จำกัดสัญชาติหรือภาษาเลยทีเดียว ทั้งยังมีการศึกษาโดย Kinsey Institute พบว่า 2 ใน 3 ของคู่รักมักจะพูดคุยกันเหมือนตอนคุยกับเด็กๆ หรือที่เรียกว่า baby talk นั่นเอง
บทความนี้เราเลยอยากชวนมาสำรวจว่า อะไรทำให้คนเราใช้เสียงสองเวลาคุยกับแฟนและการใช้เสียงแบบนี้ดีต่อความสัมพันธ์จริงไหม?
แม้เป็นผู้ใหญ่ แต่ทำไมยังใช้เสียงแบบเด็กๆ
เมื่อเราลองหาคำตอบจากข้อมูลหลายแหล่งพบว่าผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่เห็นตรงกันว่า ‘เสียงสอง’ เกี่ยวข้องกับความทรงจำช่วงวัยเด็กของคนเรา อย่าง ดีน ฟอล์ค (Dean Falk) นักประสาทวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยรัฐฟลอริดา และเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการภาษาของมนุษย์อธิบายว่า ถ้าพูดถึงการใช้เสียงสองตอนคุยกับเด็กๆ นอกจากจะช่วยเรื่องการเรียนรู้และภาษาของเด็กทารกแล้ว ยังเชื่อมโยงกับความรัก การเชื่อมสายสัมพันธ์ระหว่างแม่และเด็ก อีกทั้งยังมีการศึกษาที่พบว่าเด็กทารกชื่นชอบการใช้เสียงสองของผู้ใหญ่ ฟอล์คจึงตั้งสมมุติฐานว่า การใช้เสียงสองกับคู่รักในวันที่เราเติบโตขึ้น ช่วยให้เรารู้สึกอบอุ่น ปลอดภัยและที่สำคัญคือการหวนกลับไปสัมผัสความรู้สึกของ ‘รักแรก’ ที่มาจากแม่นั่นเอง
ดังนั้นการพูดคุยด้วยถ้อยคำที่เหมือนเด็กๆ ใช้น้ำเสียงน่ารักๆ เลยกระตุ้นความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นอุ่นใจ นอกจากนี้ ตามทฤษฎี the affection exchange theory โดยนักวิจัยด้านการสื่อสาร ‘คอรี่ ฟลอยด์’ (Kory Floyd) ระบุว่า การใช้เสียงที่เฉพาะเจาะจงเป็นสัญญาณของความรัก ไม่ว่าจะเป็น น้ำเสียงสูงเกินจริงและเสียงที่นุ่มนวลเหมือนตอนคุยกับเด็กทารก เช่นเดียวกับ ‘แคธริน สเมอร์ลิง’ (Kathryn Smerling) นักบำบัดครอบครัวในนิวยอร์กที่มองว่า การที่คู่รักเลียนแบบท่าทางการพูดของเด็กๆ นั้นเป็นเรื่องธรรมชาติ และคู่รักส่วนใหญ่จะใช้มันเมื่อต้องการแสดงความเปราะบางหรือสานสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกันมากขึ้นเพราะเหมือนได้สร้างภาษาส่วนตัวร่วมกัน โดยการศึกษาเมื่อปี 1993 ที่ตีพิมพ์ใน Journal of Social and Personal Relationships พบว่าคู่รักที่ใช้ภาษาส่วนตัวที่เข้าใจกันเอง หรือ ‘การสื่อสารที่ดูเหมือนจะแปลกประหลาด’ ในสายตาคนอื่นๆ นั้นมีความพึงพอใจในความสัมพันธ์ในระดับที่สูงขึ้น
นอกจากนี้สเมอร์ลิงมองว่า ทุกคนต่างมีความเป็นเด็กอยู่ในตัวเอง บางคราวที่ความรับผิดชอบ ช่วงวัย ระเบียบแบบแผนในสังคมต่างบีบให้เราต้องนิ่งและเป็นผู้ใหญ่ แต่การได้ทำเสียงเล็กๆ กับคนที่เรารักเลยเหมือนได้อยู่ในพื้นที่ปลอดภัย ได้อนุญาตให้ตัวเองกลับมาเป็นเด็กอีกครั้ง กระตุ้นความรู้สึกเป็นอิสระจากความซับซ้อนในสังคมที่เจออยู่ การใช้เสียงสองเลยเป็นเหมือนสัญญะว่าเราได้ลดกำแพงให้อีกฝ่ายมองเห็นด้านที่เราไม่ได้เปิดเผยให้คนทั่วไปมองเห็นโดยเฉพาะความเปราะบางและความเป็นเด็กในตัวเรา
การใช้เสียงสองกับคนรักเลยเป็นหนึ่งในวิธีที่เราแสดงออกถึงความรัก บ่งบอกว่าเรารู้สึกปลอดภัย และยังเป็นหนึ่งในสิ่งที่ช่วยให้เราได้ผ่อนคลายจากความตึงเครียดในวัยผู้ใหญ่ ทั้งยังมี การวิจัยพบว่าคู่รักที่พูดคุยกันด้วยถ้อยคำและน้ำเสียงแบบเด็กๆ จะผูกพันกันแน่นแฟ้นกว่า และมีรูปแบบความผูกพันแบบหลีกเลี่ยง (avoidance) น้อยกว่าอีกด้วย
แต่ใช่ว่าทุกคนจะชอบใช้ ‘เสียงสอง’ กับคนรัก
อย่างไรก็ตาม การใช้เสียงสองไม่ได้มีแค่ข้อดีในความสัมพันธ์เท่านั้น เพราะสำหรับบางคน ถ้าคนรักคุยด้วยน้ำเสียงและภาษาแบบเด็กๆ อาจทำให้รู้สึกอึดอัดใจได้มากกว่ารู้สึกน่ารัก ตัวอย่างหนึ่งคือกรณีของ ‘ไชลา อันโคเลการ์’ (Shaila Ankolekar) นักออกแบบกราฟิกในลอนดอนที่มองว่าน้ำเสียงแบบนี้ทำให้เธอรู้สึกถึงความไม่เท่าเทียมและการดูแคลนเพราะกระตุ้นบาดแผลฝังใจในวัยเด็ก “มันทำให้ฉันนึกถึงน้ำเสียงที่พ่อแม่พูดกับฉันตอนอายุ 13 เมื่อพวกเขาไม่ได้จริงจังกับการตัดสินใจของฉัน” อันโคเลการ์ให้สัมภาษณ์กับ refinery29
ส่วนฮันนาห์ (Hannah) นักเต้นวัย 26 ปีเล่าว่า แฟนเก่าของเธอมักจะใช้เสียงสองและคุยกับเธอแบบเด็กๆ เวลาอยู่ท่ามกลางงานสังสรรค์ในที่สาธารณะที่มีคนเยอะๆ เพื่อแสดงออกว่าตัวเองมีอำนาจเหนือกว่า โดยใช้เพื่อควบคุมและบอกว่าเธอควรหรือไม่ควรทำอะไร
นอกจากนี้ถ้าเราใช้เสียงสองตอนกำลังคุยเรื่องจริงจังอยู่ อาจจะทำให้ปัญหาลุกลามไปมากกว่าจะซอฟต์ลงได้ แม้แต่การใช้เสียงสองในที่สาธารณะบางแห่ง ต่อให้เราจะไม่ได้คิดอะไร แต่ถ้าคนรักเราไม่ได้สบายใจกับการใช้เสียงสองทุกที่ทุกเวลาก็อาจสร้างความร้าวฉานทางความสัมพันธ์ได้ และถ้าหากอยู่ในบริบทที่เป็นทางการก็นับเป็นการไม่ให้เกียรติสถานที่และผู้คนได้เหมือนกัน ดังนั้นการใช้เสียงสองเลยต้องมองเรื่องบริบทและความต้องการของคนที่เรารักไปพร้อมๆ กัน
สุดท้ายแล้ว ไม่ว่าจะใช้ถ้อยคำน่ารัก ด้วยน้ำเสียงเสียงสอง สาม สี่ หรือน้ำเสียงปกติ แต่ความรักและความหวังดีของเราจะส่งไปถึงอีกฝ่ายได้นั้น แน่นอนว่าคงไม่ใช่แค่เรื่องน้ำเสียงเพียงอย่างเดียว หากต้องอาศัยการสื่อสาร ความเข้าใจ และการใส่ใจควบคู่กันไปด้วย
อ้างอิงจาก