คุยกันมาเป็นปี แต่ไม่มีวี่แววว่าจะได้คบกันเลย ทำไมความรักมันถึงยากขนาดนี้นะ
มองย้อนกลับไปสมัยก่อน เรื่องความสัมพันธ์ทำไมช่างดูง่ายดาย พบกัน ตกหลุมรักกัน แต่งงานกัน สร้างครอบครัว (และทุกอย่างดูจะเกิดขึ้นในเวลาแสนสั้นด้วยนะ) แต่ทำไมปัจจุบันเราถึงมีสถานะ ‘คนคุย’ ที่ต้องผ่านก่อนจะกลายมาเป็นแฟนกัน และระยะเวลาของการเป็นคนคุยนั้นก็เอาแน่เอานอนไม่ได้เลย บางคนก็คุยกันไม่กี่วัน ตัดสินใจคบกันได้แล้ว แต่บางคนคุยอยู่ 5 ปีก็ยังไม่มีอะไรขยับเขยื้อน
อาจเป็นเพราะความไม่แน่นอนของโลกนี้ ที่เราไม่สามารถวางอนาคตอะไรไกลได้ขนาดนั้น แค่คิดว่าวันพรุ่งนี้ต้องทำอะไรก็ยากแล้ว หรือไม่ก็ความไม่แน่นอนของความสัมพันธ์ เมื่อวานเราเพิ่งจับมือกันครั้งแรก แต่วันนี้เรากลับรู้สึกกลัวขึ้นมาว่าถ้าจับมือแน่นไปแล้วเขาจะอึดอัดจนอยากจะจากเราไปหรือเปล่า หรือความไม่แน่นอนในใจเราเอง ว่าถ้าตกลงปลงใจกับคนนี้แล้ว ดันไปเจอคนที่รู้สึกดีด้วยมากกว่า การเลิกกับคนนี้เพื่อไปหาคนใหม่มันจะเป็นเรื่องผิดหรือเปล่า
จะคนคุยหรือเป็นแฟน ก็มีความอึดอัดในใจไม่ต่างกัน
เมื่อเป็นแฟนกันแล้ว การจะจบความสัมพันธ์ไม่ได้ง่ายแค่เดินไปบอกว่า “เราเลิกกันเถอะ” เพราะนอกจากเรื่องของความรู้สึกแล้ว ยังมีเรื่องอื่นให้คิดอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของครอบครัวที่รู้จักกันไปเรียบร้อยแล้ว ยิ่งคบกันนานครอบครัวก็ยิ่งคาดหวังว่าเรา 2 คนจะแต่งงานกัน ถ้าเลิกกันจะอธิบายให้พ่อกับแม่ฟังยังไง ไหนจะเพื่อนของแฟน ที่ตอนนี้ก็กลายเป็นเพื่อนสนิทของเราด้วย ถ้าเลิกกันก็ไม่ได้เสียแค่แฟนอย่างเดียว แต่เสียเพื่อนด้วย หนักใจที่สุดก็เรื่องข้าวของที่เคยซื้อด้วยกัน ผ่อนด้วยกัน มันก็ไม่ได้ฉีกแบ่งครึ่งกันได้สักหน่อย บางคู่มีสัตว์เลี้ยงที่เลี้ยงด้วยกันอีก จะทำยังไงดี
ในส่วนของการจบความสัมพันธ์ของการเป็นคนคุยนั้นก็ยากในทางความรู้สึก แต่ไม่ได้มีภาระผูกพันมากเท่ากับการเป็นแฟน เราคุยกันในวันนี้ พรุ่งนี้เราอาจจะโดนเทแล้วก็กลายเป็นคนไม่รู้จักกันไปเลยก็ได้ แต่เพราะแบบนี้นี่แหละ ที่ทำให้ความสัมพันธ์แบบคนคุยสร้างความรู้สึกไม่มั่นคงให้กับเรา ในเมื่อไม่ได้เป็นอะไรกันมาตั้งแต่แรก ตอนจากกันไปก็เราก็ดูเหมือนจะไม่มีสิทธิไปเรียกร้องอะไรจากเขา เป็นแค่คนคุยนี่นะ
แต่ผู้คนก็ยังมีแนวโน้มจะเลือกความสัมพันธ์แบบคนคุยมากกว่าด้วยความสบายใจที่ว่าเราไม่จำเป็นต้องผูกมัดอะไรกัน ครอบครัวเรายังไม่ได้รู้จักขนาดมานั่งกินข้าวด้วยกัน เรื่องแต่งงานไม่ต้องพูดถึง ยังไม่ต้องคิดก็ได้ ก็ยังเป็นแค่คนคุย ถ้าวันไหนรู้สึกว่าเข้ากันไม่ได้ ก็แค่จบความสัมพันธ์นี้ ถ้ายังไม่แน่ใจว่าจะลงเอยกับใครสักคน การเป็นแค่คนคุยก็ทำให้เราพร้อมรับโอกาสใหม่ได้ทุกเมื่อ ไม่เสียโอกาสในการเฟ้นหาคนที่รู้สึกว่าดีที่สุดสำหรับเราได้
การผูกมัดอาจน่ากลัวสำหรับหลายคน
ความกลัวการผูกมัดอาจเป็นสาเหตุหนึ่งของการไม่ตัดสินใจก้าวไปอีกขั้นของความสัมพันธ์เสียที ซึ่งสามารถเกิดได้ในทั้งกับคนคุยที่ยังไม่ตัดสินใจเป็นแฟนกัน หรือกับแฟนที่แม้จะคบกันมานานแล้ว แต่ก็ยังไม่อยากคิดถึงเรื่องอนาคตมากนัก ยังไม่มั่นใจเรื่องการย้ายไปอยู่ด้วยกัน หรือยังไม่อยากแต่งงาน
เรชอว์นา แชปเพิล (Reshawna Chapple) นักสังคมสงเคราะห์คลินิก และผู้ช่วยศาสตราจารย์ภาควิชาสังคมสงเคราะห์ในมหาวิทยาลัยเซ็นทรัลฟลอริดา ได้อธิบายเรื่องนี้เอาไว้ว่า ความกลัวการผูกมัดนั้นเป็นมวลรวมของความกลัวว่าตัวเองจะต้องเจ็บปวด กลัวว่าจะจบอยู่กับคนที่ไม่ใช่ กลัวจะเสียโอกาสในการเจอคนใหม่ที่ดีกว่าไป ซึ่งความกลัวเหล่านี้เป็นไปได้ว่าเริ่มสะสมตัวมานานแล้วจากแผลใจในอดีตของเรา ทั้งความสัมพันธ์ที่ไม่สู้ดีนักในครอบครัว หรือจะความสัมพันธ์ในอดีตที่เคยเจ็บปวดมาก่อน ทำให้เราตั้งคำถามกับตัวเลือกของความสัมพันธ์ในปัจจุบัน ทำให้เรารู้สึกไม่มั่นคง ไม่แน่ใจเลยว่าควรจะเลือกอะไรให้กับตัวเอง
ทำไมเราถึงกลัวการผูกมัด
แล้วเมื่อไหร่กัน ที่เราเริ่มกลัวการผูกมัด เรื่องนี้เราสามารถยกทฤษฎีความผูกพันมาอธิบายได้ ทฤษฎีนี้ทำให้เราได้รู้ว่าวิธีการที่เราเติบโตขึ้นมา สามารถบอกได้ว่าเราจะมีความสัมพันธ์กับคนใกล้ชิดในรูปแบบไหน มีการตอบสนองในความสัมพันธ์เมื่อรู้สึกเจ็บปวดใจอย่างไร โดยคนที่จัดอยู่ในประเภทวิตกกังวลและประเภทหลีกเลี่ยงจะมีแนวโน้มกลัวการผูกมัดมากกว่า
มาเริ่มที่ประเภทวิตกกังวลกันก่อน คนกลุ่มนี้มักจะเติบโตมากับผู้เลี้ยงดูที่ให้ความรักกับเราแบบสามวันดีสี่วันไข้ เดาอะไรไม่ได้เลยว่าวันไหนผู้เลี้ยงดูจะดีกับเรา หรือเมินเฉย หรือทำร้ายเรา คนกลุ่มนี้เลยมักจะกลัวการถูกปฏิเสธ ไม่สามารถอยู่ด้วยตัวเองคนเดียวได้ เลยมักจะมีแนวโน้มว่ากลัวการผูกมัด เพราะไม่กล้าจะปักใจเชื่อว่าคนคนนี้รักเราอย่างแท้จริง กลัวว่าสักวันความสัมพันธ์นี้จะพังลง
ส่วนประเภทหลีกเลี่ยง คนกลุ่มนี้เติบโตมากับผู้เลี้ยงดูที่อารมณ์ไม่คงที่ ไม่สนใจ หรืออยู่ด้วยแล้วรู้สึกว่ากลัวจะเกิดอันตรายกับตัวเองอยู่ตลอด ความเจ็บปวดทางอารมณ์ของพวกเขาเลยผูกติดอยู่กับการถูกทิ้ง เลยมีแนวโน้มว่าจะกลัวการผูกมัดและตัดสินใจหนีออกห่างจากความสัมพันธ์ เพราะว่านั่นคือวิธีการป้องกันตัวของพวกเขา
ถ้าความกลัวการผูกมัดทำให้ความสัมพันธ์ของเราไม่ไปไหนสักที ก็ใช่ว่าจะไม่มีทางออกเลย เพราะความกลัวการผูกมัดนั้นก็สามารถค่อยๆ แกะปมออกได้ด้วยการปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเพื่อพูดคุยถึงปมปัญหาในใจวัยเด็กที่เคยเกิดขึ้น แล้วสักวันหนึ่งเราจะสามารถสร้างความสัมพันธ์ที่ดีและมั่นคงได้อย่างแน่นอน
ก็ได้แต่หวังว่าถ้าความรักมันง่ายขนาดนั้นก็คงจะดี
อ้างอิงจาก
Graphic Designer: Kotchamon Anupoolmanee
Proofreader: Runchana Siripraphasuk