ในความสัมพันธ์ เราไม่อาจดื่มน้ำผึ้งพระจันทร์ได้ตลอดไป มีทั้งวันคลื่นสงบและวันคลื่นลมแรงให้เราคอยรับมือ แม้การทะเลาะ ถกเถียง ความเห็นไม่ลงรอย จะไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร แต่ในวันที่เหน็ดเหนื่อยจากการทำงาน วันที่เหนื่อยล้าจากการฝ่าฝูงชนบนขนส่งสาธารณะ แล้วเราอยากจะเอนหลังหลับใหล ให้คืนนี้ได้พักผ่อนอย่างเต็มที่ กลายมาเป็นช่วงเวลาที่ถูกเลือกให้ต้องลุกขึ้นมาตั้งสติ และสะสางปัญหาในเวลาก่อนนอน ถ้าจัดการได้ก็ดีไป แต่ถ้าปัญหาไม่คลี่คลาย เราก็ต้องนอนไปทั้งความขุ่นมัวในใจจนกว่าจะได้สะสางมันอีกครั้ง
หลายคนคงเคยเจอสถานการณ์นี้ ทะเลาะกันก่อนนอน แล้วเป็นอันต้องนอนหันหลังให้กัน หรือแย่กว่านั้นคือนอนไปทั้งน้ำตา เรารู้ดีว่าการทะเลาะกันเป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้ในความสัมพันธ์ แต่ว่าการทะเลาะกันก่อนนอน เป็นดั่งช่วงเวลาฝันร้ายของใครหลายคน
เพราะเรารู้ดีว่า ช่วงเวลานี้ควรเป็นช่วงเวลาที่เราได้ผ่อนคลายทุกอย่าง ทั้งร่างกายที่ค่อยๆ ทำงานช้าลง สมองที่ปล่อยเรื่องราวยุ่งเหยิงทั้งหลายออกไป แล้วเข้าสู่ห้วงนิทราอย่างไม่ต้องกังวลกับอะไร แต่ถ้าเหตุการณ์กลับพลิกผัน กลายเป็นเราต้องใช้สมองอย่างหนักไปกับการสะสางปัญหาความสัมพันธ์ แม้จะจบลงได้ แต่ก็อาจจะเหลือร่องรอยอยู่ในใจ หรือในกรณีที่จบไม่ลงแล้วต้องเข้านอนไปก่อนยิ่งแย่เข้าไปใหญ่ เพราะการเข้านอนทั้งที่มีบางสิ่งเผาไหม้อยู่ในใจ ส่งผลเสียทั้งสุขภาพร่างกายและความสัมพันธ์
Dr. Arijit Bose นักจิตวิทยา ผู้เชี่ยวชาญทางด้านความผิดปกติทางจิตและพฤติกรรม ได้กล่าวถึงผลเสียของการทะเลาะกันก่อนนอนไว้ว่า หากเราเข้านอนด้วยความโกรธหลังจากทะเลาะกัน อารมณ์ด้านลบจากการโต้เถียงจะยังคงปะทุอยู่ในใจ และอาจเผาไหม้ในใจอยู่อย่างนั้นตลอดทั้งคืนชั่ว และเมื่อตื่นนอน จากที่เรามักคิดว่าปล่อยให้ต่างฝ่ายต่างไปสงบสติอารมณ์กันก่อน แต่ความจริงแล้วอาจรู้สึกโกรธมากกว่าเมื่อคืนก่อน นั่นฟังดูเป็นเรื่องแย่กว่าเดิมเสียอีก เพราะการทะเลาะกันข้ามคืน ปล่อยให้อีกฝ่ายคิดสะระตะไปเองแล้วค่อยมาคุยกันในตอนเช้า นั่นหมายความว่าเรากำลังขาดการสื่อสารที่ดีในความสัมพันธ์
นอกจากจะส่งผลต่อความสัมพันธ์ทางใจ ยังส่งผลต่อสุขภาพกายด้วย เพราะการนอนหลับอย่างมีคุณภาพ จะช่วยให้ร่างกายเราได้พักผ่อน ซ่อมแซมส่วนสึกหรอ และพร้อมรับวันใหม่อย่างสดใส แต่เมื่อมีความเครียดเข้ามาเป็นปัญหาก่อนนอน เรายิ่งไม่อาจนอนหลับได้อย่างสงบ เรื่องราวรบกวนใจ ล่องลอยอยู่ในหัวเต็มไปหมด เกินกว่าจะข่มตาหลับง่าย ๆ อย่างเคย
งานวิจัยหัวข้อ ‘Memory consolidation reconfigures neural pathways involved in the suppression of emotional memories’ โดย Beijing Normal University ตีพิมพ์ในปี 2016 ได้กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า การนอนไปทั้งที่ยังมีปัญหาค้างคาในใจ จะไปเปลี่ยนวิธีที่สมองจัดการสิ่งต่างๆ ในความทรงจำ ซึ่งนั่นจะทำให้เราจัดการอารมณ์ด้านลบได้ยากขึ้น และการพยายามการระงับความโกรธตั้งแต่เนิ่นๆ นั้น จะช่วยคลี่คลายสถานการณ์นี้ได้
แต่ในวันที่คลื่นลมไม่สงบ พายุโหมกระหน่ำ เราจะรับมืออย่างไรกับการทะเลาะกันในช่วงเวลาก่อนนอนที่เลี่ยงไม่ได้
- เข้าใจว่าความโกรธ เป็นเรื่องธรรมชาติ อย่ากดดันตัวเองว่าห้ามโกรธเท่านั้น ถึงจะผ่านเรื่องนี้ไปได้ด้วยดี มาทำความเข้าใจก่อนว่า ความโกรธเป็นการตอบสนองตามธรรมชาติ เป็นการตอบสนองปกติ เมื่อเราเผชิญต่อสถานการณ์ที่ยากลําบาก ไม่เป็นไรที่จะรู้สึกโกรธ แทนที่จะจดจ่ออยู่กับมัน กลับไปโฟกัสที่ปัญหาของเรื่องนี้ ว่าเรากำลังถกเถียงกันในเรื่องไหน มีสาเหตุจากอะไร แล้วต้องแก้ไขอย่างไรจะดีกว่า
- พยายามสื่อสารให้มากเข้าไว้ วิธีที่ง่ายที่สุดที่จะแก้ปัญหายุ่งเหยิงนี้ คือการสื่อสารออกมาให้หมด ว่าต้นตอของปัญหาคืออะไร เราจะแก้ไขมันอย่างไร คอยย้ำเตือนว่าเราทั้งคู่ไม่มีใครอยากเข้านอนด้วยอารมณ์ขุ่นมัว มาสะสางปัญหานี้ให้จบไปด้วยดีด้วยกันเถอะ
- มองหาการสนับสนุนและความสบายใจ หากอะไรๆ ไม่ได้แก้ง่ายดั่งใจหวัง อย่าดันทุรังมากเกินไป ลองโทรหาเพื่อน อาจช่วยให้เราได้มุมมองอื่นต่อสถานการณ์ผ่านสายตาของคนอื่น เห็นบางมุมที่คนในเกมมองไม่เห็น หรือลองหันเหความสนใจของตัวเองด้วยสิ่งชุบชูใจ เช่น กินขนมที่เราชอบ ฟังเพลงโปรด อาบน้ำนานๆ มาส์กหน้า เป็นต้น สิ่งเหล่านี้อาจช่วยบรรเทาความรู้สึกในใจให้เบาบางลงได้
ความโกรธเป็นอารมณ์ปกติที่มนุษย์เรามี แต่การสื่อสารออกไป เราไม่จำเป็นต้องทำด้วยความเกรี้ยวกราดตามไปด้วย อย่าลืมมีความเห็นอกเห็นใจให้แก่กัน มองในมุมเขามุมเรา หากเราต้องเจอแบบนี้เราจะตัดสินใจแบบเขาไหมนะ หากเป็นเราแล้ว เราจะจัดการอะไรได้เท่าเขาหรือเปล่า ใส่ความเห็นอกเห็นใจให้กันมากๆ ในฐานะเพื่อนมนุษย์คนหนึ่งก็ยังได้
มาเข้านอนในอ้อมอกที่อบอุ่นและปลอดภัยของกันและกันดีกว่านะ
อ้างอิงจาก