“แค่อาบน้ำ กินข้าว นอนไว ก็กลายเป็นคนเก่งได้ในสายตาแฟนแล้ว”
แม้จะฟังดูเป็นเรื่องเล็กน้อยจนรู้สึกว่า ทำไมเราต้องมาชมเรื่องแบบนี้กันด้วยนะ แต่เชื่อไหมว่าสิ่งเหล่านี้อาจมีความหมายลึกลงไปกว่าการเติมความหวานให้กัน แถมยังช่วยให้ความสัมพันธ์ยั่งยืนได้อีกด้วย
มีงานวิจัยหลายชิ้นที่พูดถึงข้อดีของการชื่นชมและส่งพลังบวกให้กัน ไม่ว่าจะเป็นการทำงานได้ดีขึ้นไปจนถึงการสร้างความพึงพอใจในความสัมพันธ์ของคู่รัก เพราะเบื้องหลังคำชมเหล่านั้น คือการสื่อสารถึง ‘ความใส่ใจ’ ว่าเรามองเห็นคุณค่า เห็นความสำคัญ และเป็นแรงผลักดันเชิงบวก (positive reinforcement) ให้คนฟังอยากจะทำหรืออยากจะเป็นสิ่งนั้นต่อไป แถมยังช่วยเติมความสุขให้กับคนเอ่ยปากชมอีกด้วย เพราะการฝึกมองเห็นความงดงามของสิ่งเล็กๆ รอบตัวมีส่วนช่วยให้เรามีสุขภาพจิตที่ดีขึ้น
แต่ควรชมแค่ไหนและชมยังไงไม่ให้เยอะจนดูไม่จริงใจ หรือมากเกินขอบเขตจนกลายเป็นการให้ท้ายซะงั้น?
5 : 1 ว่าด้วยสัดส่วนการชื่นชมในความสัมพันธ์
ในปี 1970 จอห์น กอตต์แมน (John Gottman) และโรเบิร์ต เลเวนสัน (Robert Levenson) ได้ทำการวิจัยแบบระยะยาว โดยขอให้แต่ละคู่แก้ปัญหาความขัดแย้งบางอย่างในความสัมพันธ์ภายในเวลา 15 นาที พร้อมกับบันทึกเทปไว้เพื่อวิเคราะห์ความแตกต่างของแต่ละคู่ แล้วติดตามผลในอีก 9 ปีต่อมา
แน่นอนว่ามีทั้งคู่ที่ยังรักและคู่ที่ตัดสินใจแยกทางกัน ซึ่งเมื่อลองวิเคราะห์คู่ที่ยังมีความรักมั่นคงพบว่า การมีปฏิกิริยาเชิงบวก : ปฏิกิริยาเชิงลบ เฉลี่ยแล้วจะอยู่ที่ 5 : 1 ถ้าเล่าให้เห็นภาพขึ้นอีกนิด สมมติว่าเวลาทะเลาะกันแล้วมีน้ำเสี่ยงเหวี่ยงๆ ออกมาด้วยอารมณ์คุกกรุ่น 1 ครั้ง หลังจากนั้นอาจจะตามมาด้วยปฏิกิริยาเชิงบวกอื่นๆ 5 ครั้ง เช่น การขอโทษ กอด จับมือ ใช้น้ำเสียงอ่อนโยนและให้กำลังใจว่าจะผ่านไปด้วยกันนะ หรืออาจจะเป็นรูปแบบอื่นที่รวมๆ แล้วการกระทำเชิงบวกมี ‘มากกว่า’ เชิงลบในสัดส่วน 5 : 1 นั่นเอง
แต่ต้องบอกก่อนว่าความขัดแย้งและอารมณ์ทางลบเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้ในความสัมพันธ์ ในการทดลองนี้เลยไม่ได้วัดว่าทะเลาะกันกี่ครั้ง รู้สึกแย่ไปกี่หน แต่เน้นเก็บข้อมูล ‘วิธีการแสดงออก’ ของคู่รัก ในช่วงที่เจอปัญหาบางอย่าง เช่น กรอกตา ขึ้นเสียง ขว้างปาข้าวของ ส่งยิ้ม โอบกอด พูดคุยอย่างใจเย็น ฯลฯ
อย่างงานวิจัยนี้ กอตต์แมนเล่าว่า คู่รักที่มีความสุขอาจจะมีเรื่องโต้เถียงกันบ้าง แต่สุดท้ายก็จบลงด้วยการหัวเราะ หยอกล้อกัน หรือการกระทำที่มีสัญญาณของความรักอยู่ในนั้น แต่คู่รักที่ไม่มีความสุขมักจะมีปฏิสัมพันธ์เชิงบวกน้อยลงเรื่อยๆ บ้างก็อาจจบลงที่ความเงียบ ส่วนคำพูดให้กำลังใจ การชื่นชมหรือการทำสิ่งดีๆ ให้กันเริ่มลดน้อยลงเรื่อยๆ เพื่อชดเชยความรู้สึกเชิงลบในใจที่ทวีความรุนแรงขึ้นทุกวัน และหากเป็นอัตราส่วน 1 : 1 เมื่อไร นั่นอาจเป็นสัญญาณของคู่รักที่กำลังจะเลิกราหรือหย่าร้างกันได้ ดังนั้นการชื่นชมเรื่องเล็กๆ น้อยๆ และสร้างพลังบวกให้มีอัตราส่วนเยอะๆ เข้าไว้คงไม่ใช่เรื่องเสียหาย ทั้งยังเป็นพื้นฐานที่ดีในความสัมพันธ์อีกด้วย
แต่จะชมเรื่องอะไรดีล่ะ?
จริงๆ วิธีการชื่นชมไม่ได้จำกัดว่าต้องมีเรื่องน่ายินดี ต้องจดจ่อรอโอกาสพิเศษเท่านั้น แต่สามารถเกิดขึ้นได้จากเรื่องเล็กน้อยในชีวิตประจำวันและจะดีขึ้นไปอีกถ้าสามารถเจาะจงลงไปได้ว่าเราชมเรื่องอะไร แต่ถ้าไม่รู้จะเริ่มจากตรงไหน อาจจะลองนึกถึง 3 เรื่องต่อไปนี้
- เรื่องที่เราประทับใจในตัวเขา
ลองนึกถึงสิ่งที่ทำให้คนรักของเราแตกต่างไปจากคนอื่นๆ อย่างจุดเด่นที่เราประทับใจในตัวเขา หรือเรื่องเล็กน้อยที่สะดุดตาสะดุดใจในวันนั้น เช่น
-
- เธอใส่ชุดนี้แล้วน่ารักดีนะ
- ทรงผมนี้เข้ากับเธอเลย
- ลายมือสวยจัง เขียนเป็นระเบียบมาก
- เราชอบไอเดียนั้นนะ เจ๋งดี
- เราชอบที่เธอหัวเราะง่ายแบบนี้นะ อยู่ด้วยแล้วมีความสุขตาม
- เราชอบเวลาเธอเล่าถึงเรื่องนี้นะ เธอดูมีความสุขทุกครั้งที่พูดถึง
ซึ่งคำชมถึงตัวตนเหล่านี้ นอกจากจะทำให้อีกฝ่ายรับรู้ว่าเราชอบอะไรในตัวเขาแล้ว ยังเป็นเหมือนกระจกสะท้อนให้อีกฝ่ายได้มองเห็นจุดแข็งหรือข้อดีของตัวเองไปในตัวอีกด้วย
- สิ่งที่อยากขอบคุณ
พออยู่ด้วยกันไปนานๆ เรื่องดีๆ บางเรื่องอาจกลายเป็นเรื่องที่รู้สึกเฉยๆ หรือ ‘ดีจนชิน’ และเริ่มหลงลืมไปว่าสิ่งเหล่านั้นพิเศษต่อเรามากแค่ไหน บางคนกว่าจะรู้ตัว ก็เป็นวันที่สายเกินไปแล้ว
แต่ก่อนที่เราจะเคยชินจนไปถึงจุดนั้น ลองย้อนกลับมามองถึงความทุ่มเทเล็กๆ น้อยๆ ของคนรัก บางทีอาจเป็นเรื่องง่ายๆ เช่น การไปดูหนังเรื่องที่เราชอบแต่เขาไม่ได้เป็นแฟนตัวยง พาไปร้านอาหารที่มีเมนูโปรดหรือช่วยหาร้านที่มีเมนูอร่อยๆ ในวันที่เราอารมณ์หม่นๆ ซึ่งการบอกว่า “ดีใจที่วันนี้เธอมาด้วยกันนะ” “ขอบคุณนะที่พาไปร้านนี้” ก็นับเป็นการแสดงออกว่าเราเห็นคุณค่าของสิ่งเหล่านี้แล้วล่ะ หรือบางทีอาจจะเป็นคำขอบคุณจากการช่วยเหลือ รับฟังและอยู่เคียงข้างกันในแต่ละวัน แม้จะเป็นเรื่องที่คนรักควรทำอยู่แล้ว แต่การแสดงความชื่นชมหรือขอบคุณก็ช่วยเติมพลังใจให้กันและกันได้ไม่น้อย เช่น
-
- ขอบคุณที่เอาขยะลงไปทิ้งนะ
- ขอบคุณที่ช่วยล้างจานนะ
- ขอบคุณที่รับฟังนะ รู้สึกดีขึ้นเยอะเลย
- เรารู้ว่าช่วงนี้เธองานยุ่งมาก ขอบคุณนะที่แบ่งเวลามา ดีใจที่ได้เจอเธอ
- ขอบคุณที่รอกลับพร้อมกันนะ
- ขอบคุณที่ใจเย็นนะ เราใจเย็นลงไปด้วยเลย
- สิ่งที่อยากสนับสนุนหรือให้กำลังใจ
บางครั้งที่คนรัก หรือแม้แต่เราเองต่างมีเรื่องที่ทำให้รู้สึกไม่มั่นใจ บางคนอาจจะเป็นเรื่องเรียน เรื่องงาน เรื่องความสามารถ เรื่องรูปร่างหน้าตา หรือบางอย่างอาจเป็นเรื่องธรรมดาสำหรับเรา แต่เป็นเรื่องที่ต้อง ‘พยายามมากๆ’ สำหรับเขา เช่น การกินผัก การออกกำลังกาย การนอนไว ไปจนถึงการพยายามอธิบายความรู้สึกนามธรรมออกมาเป็นคำพูด การกล้าปฏิเสธ กล้าพูดในสิ่งที่ตัวเองรู้สึก และอีกหลายเรื่องราวซึ่งเราอาจจะต้องคอยสังเกตว่าเขากำลังรู้สึกแบบไหน มีเรื่องไหนที่ต้องการกำลังใจและแรงผลักดันบ้าง แม้แต่เรื่องที่เราหวังดีกับเขา ซึ่งแทนที่จะชี้นิ้วบอกว่า “ทำไมไม่ทำแบบนั้น” “ทำแบบนี้สิถึงจะถูก” การใช้คำชมในวันที่เขาค่อยๆ พยายาม อาจเป็นวิธีที่ช่วยเติมพลังได้มากกว่า เช่น
-
- จริงๆ มองมุมนี้ก็น่าสนใจดีนะ
- ลองดูสิ ทำเลย เราเชื่อมือเธออยู่แล้ว
- เราเชื่อในตัวเธอนะ
- เราเคารพในการตัดสินใจของเธอนะ ไม่ว่าผลลัพธ์มันจะออกมาเป็นยังไง เราจะอยู่ตรงนี้เสมอ
- วันนี้นอนไวขึ้นแล้ว เก่งมาก
- เห็นเธอตั้งใจและพยายามกับเรื่องนี้มากๆ เราภูมิใจในตัวเธอนะ
แต่สิ่งแรกที่เราทำได้ก่อนจะไปถึงขั้นชมเชย คือการไม่ตัดสินหรือมองจากมุมของตัวเองเพียงอย่างเดียว แม้ว่าเรื่องยากๆ นั้นจะเป็นเรื่องธรรมดาสำหรับเราก็ตาม และแม้คำพูดเหล่านี้จะไม่ได้หวือหวา ไม่ใช่คำชมอย่างตรงไปตรงมา แต่อาจมีพลังกว่าที่คิด เพราะสิ่งเหล่านี้แสดงถึงการยอมรับ ความไว้วางใจและโอบกอดตัวตนจริงๆ ของใครคนนั้น ซึ่งช่วยเติมความกล้าหาญให้คนฟังมั่นใจที่จะเป็นตัวของตัวเอง กล้าลงมือทำสิ่งต่างๆ มากขึ้นเพราะรู้สึกว่า ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น เราจะยังมีใครบางคนที่เป็นเหมือนบ้านอันแสนอบอุ่น เป็นพื้นที่ปลอดภัยที่จะไม่ตัดสินและคอยเชื่อมั่นในตัวเราเสมอ นอกจากนี้ยังนับเป็นแรงผลักดันในเชิงบวก ให้อยากลงมือทำหรือปรับเปลี่ยนพฤติกรรรมที่ดีขึ้นอีกด้วย
สิ่งสำคัญคือความจริงใจ
เราเข้าใจว่าแต่ละคู่มีวิธีการแสดงออกและมีระดับความอ่อนหวานของถ้อยคำที่แตกต่างกันออกไป ดังนั้นเลยต้องคอยสังเกตคู่รักของตัวเองแล้วเลือกคำพูด น้ำเสียง จังหวะที่เหมาะกับสถานการณ์โดยไม่ต้องเหมือนตัวอย่างเป๊ะๆ ก็ได้
แต่ไม่ว่าจะเป็นวิธีไหน ‘ความจริงใจ’ คือเรื่องสำคัญที่สุด เพราะเราคงสัมผัสได้ว่าการชื่นชมนั้นมาจากใจจริงและเป็นธรรมชาติ หรือชมผ่านๆ เพื่อให้คนฟังรู้สึกดี ซึ่งอย่างหลังนั้นอาจจะส่งผลตรงกันข้ามมากกว่า เพราะทำให้ผู้พูดดูไม่น่าเชื่อถือ คนฟังจะเริ่มสงสัยว่าคนพูดมีเจตนาอะไรแอบแฝงไหมนะ แล้วค่อยๆ พัฒนามาเป็น ‘ความไม่เชื่อใจ’ ในความสัมพันธ์ได้เหมือนกัน
แต่สุดท้าย ใจความสำคัญของเรื่องนี้คงไม่ใช่การชมกันจนตัวลอยตลอดเวลา หากเป็นความใส่ใจสิ่งเล็กๆ น้อยๆ และคอยเช็คกันอยู่ตลอด ว่าเราและเขารู้สึกอย่างไรต่อความสัมพันธ์นี้บ้าง เรายังมีความสุขกันอยู่ไหม มีเรื่องไหนที่ต้องปรับจูนกันหรือเปล่า เพื่อให้พื้นที่สำหรับ ‘ความกังวลและความสงสัยในความสัมพันธ์’ ลดน้อยลงไปเรื่อยๆ จนอยู่ในจุดที่เฮลตี้กับทั้ง 2 ฝ่าย
เพราะหากมองลึกลงไป คำชื่นชมเล็กๆ เหล่านั้นไม่ใช่แค่การทำให้อีกฝ่ายรู้สึกดี แต่เป็นการย้ำเตือนทั้งตัวเราเองและคนที่เรารักว่า ความสัมพันธ์นี้มีความหมายมากแค่ไหน และอะไรทำให้เรายังไม่อยากปล่อยมือไปจากกัน
อ้างอิงจาก