เพราะเป็นวัยรุ่นจึงเจ็บปวด
พันครั้งที่หวั่นไหวกว่าจะเป็นผู้ใหญ่
ในเวลาที่หม่นเศร้า ชีวิตก็ยังเป็นของเรา
เหล่านี้คือผลงานบางส่วนของ ‘คิมรันโด’ (Kim Rando) นักเขียนชาวเกาหลีใต้ที่เริ่มต้นจรดปากกาขีดเขียนเรื่องราวให้ลูกชายผู้วัย 20 ปี และลูกชายที่กำลังเรียนอยู่ชั้นมัธยมต้น หากแต่ตอนนี้ได้กลายเป็นหนังสือที่ช่วยปลอบโยนผู้คนที่กำลังก้าวผ่านจากช่วยวัยหนึ่งสู่อีกวัยหนึ่งมายาวนานนับสิบปี ตั้งแต่ชื่อหนังสือที่สัมผัสใจไปจนถึงถ้อยคำที่แฝงไปด้วยความเข้าใจและให้กำลังใจตลอดเล่ม
แม้เนื้อหาส่วนใหญ่จะเล่าถึงการเผชิญหน้าและก้าวผ่านความรวดร้าวไปสู่ฤดูกาลผลิบานในชีวิต แต่แน่นอนว่าตัวผู้เขียนอย่างคิมรันโดเอง ก็เป็นเพียงมนุษย์คนหนึ่งที่เคยสับสนหลงทางด้วยเช่นกัน
บทความนี้เราจึงอยากพาออกเดินทางย้อนกลับไปเมื่อครั้งวัยหนุ่มสาวของคิมรันโด ว่าเขาได้ก้าวผ่านสิ่งใดมาบ้าง ก่อนจะถึงฤดูกาลผลิบานอย่างในวันนี้
สับสน หลงทาง เสียดาย
“ตอนนั้นไม่เคยคิดภาพว่าจะได้เขียนหนังสือ หรือนั่งให้สัมภาษณ์แบบที่เป็นอยู่ตอนนี้เลย” คิมรันโดบอกกับเราเมื่อถามถึงช่วงวัยหนุ่มสาวว่าเขาคิดภาพตัวเองไว้แบบไหน ในตอนนั้น เขาเป็นหนึ่งคนที่อยู่ท่ามกลางสังคมที่กำหนดความสำเร็จไว้แบบสำเร็จรูป ไม่ว่าจะเป็นการเรียนจบแล้วต้องเข้าทำงานที่บริษัทใหญ่ๆ ต้องแต่งงานมีลูก แล้วส่งลูกให้ได้เรียนที่ดีๆ แต่งงานกับคนดีๆ ต่อไป ซึ่งความใฝ่ฝันของเขาในวัยนั้น คือการสอบเข้ารับข้าราชการ
“ผมเคยพยายามสอบ แล้วก็สอบตกด้วย และตอนอายุ 25 ปี คุณพ่อของผมเสียไปด้วยโรคมะเร็ง ดังนั้นพอเกิดการสูญเสียขึ้น ด้วยความที่ผมเป็นลูกชายคนโตของครอบครัว ผมรู้สึกถึงความกดดันแล้วก็ความรับผิดชอบที่จะต้องดูแลครอบครัวที่เหลืออยู่”
จริงๆ แล้วถ้าเรามองมนุษย์ทั่วไป ถ้ามองไกลๆ มันอาจจะดูสวยงามดูเหมือนว่าเป็นชีวิตที่ดี แต่ถ้าเข้าไปมองใกล้ๆ เราจะอาจจะเห็นบาดแผลที่เกิดขึ้นหรือว่าเรื่องความสูญเสียหรือความสับสนที่เกิดขึ้นในชีวิตของเขาก็ได้
ดังนั้นสิ่งที่คิมรันโดอยากจะบอกกับทุกคน คือเราอาจกำลังก้าวผ่านและเผชิญความปวดร้าวไปด้วยกันอย่างเงียบเชียบ บางคนอาจเอ่ยออกมาให้ผู้คนรับรู้ หากบางคนไม่ได้พูดมันออกมาเพียงเท่านั้น
“ตอนนั้นไม่อยากจะพูดว่าผมก้าวข้ามมันมาได้ เพราะจริงๆ ผมก้าวข้ามไม่ได้ แต่สิ่งที่ทำได้ในตอนนั้น คือการอดทน เพราะการที่เราอดทนต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นต่อไปเรื่อยๆ มันจะทำให้เราเห็นหนทางที่จะหลุดจากปัญหานี้ไปทีละนิด”
แม้ ‘อดทน’ จะเป็นคำสั้นๆ แต่ในช่วงเวลาที่ต้องอยู่กับความอดทนนั้นกลับรู้สึกยาวนานเหลือเกิน เพราะการอดทนมักจะมาคู่กับความรู้สึกเจ็บปวดและเต็มไปด้วยคำถามว่าควรเดินไปทางไหน ทำยังไงต่อไป แต่เมื่อยังไม่สามารถให้คำตอบกับตัวเองได้ เราอาจจะต้องหาวิธีบรรเทาให้เราเจ็บปวดน้อยที่สุด ณ เวลานั้น ซึ่งแต่ละคนอาจมีวิธีการแตกต่างกันออกไป ส่วนคิมรันโด สิ่งที่เขาทำเป็นประจำ คือการออกไปว่ายน้ำ
“สำหรับผม เรื่องของการปลดปล่อยความเศร้า ผมคิดว่าสิ่งที่จะช่วยได้ดีที่สุดคือการที่ทำให้เรามีเหงื่อออก” เขาอธิบาย “โดยปกติแล้วเวลาคนเรามีจิตใจที่ห่อเหี่ยว เราก็จะรู้สึกเหมือนร่างกายมันก็จะไม่อยากขยับตัว ไม่อยากออกไปข้างนอก ไม่อยากไปทำอะไร เลยทำให้เกิดวงจรของสิ่งเดิมซ้ำๆ ต่อไปเรื่อยๆ เราก็จะก้าวข้ามได้ยาก แล้วการที่เราจะรักษาเรื่องของจิตใจโดยตรงเลย มันเป็นเรื่องที่ยาก เราเลยต้องใช้การพัฒนาของร่างกายเข้ามาช่วยควบคู่กันไปด้วย”
นอกจากนี้ยังมีอีกหนึ่งบทเรียนที่เขาตกตะกอนได้จากช่วงวัยดังกล่าว นั่นคือการโอนอ่อนผ่อนผันกับชีวิตมากกว่าจะไปบังคับทุกอย่างให้เป็นในแบบที่อยากให้เป็น ซึ่งแน่นอนว่าความมุ่งมั่นไม่ได้หายไปไหน เพียงแต่ไม่มุ่งมั่นจนกดดันและโบยตีตัวเองให้เจ็บปวด รวมทั้งเผื่อใจให้กับสิ่งที่เราไม่คาดคิดในเวลาเดียวกัน
“ถ้าดูในหนังสือที่ผมเขียน จะเห็นว่าจะมีการเปรียบเปรยถึงเรือกระดาษแล้วก็ลูกธนู อย่างตอนเด็กๆ ไอเดียก็จะเป็นเหมือนกับว่า ใช้ชีวิตเหมือนลูกธนูสิ คือเรามีเป้าหมาย แล้วเราเตรียมง้างธนูเพื่อยิงไปที่เป้าหมายนั้น จะมุ่งไปทางนั้นในวัยนั้น แต่พอได้ใช้ชีวิตมาจริงๆ กลับรู้สึกว่า ชีวิตเปรียบเหมือนเรือกระดาษมากกว่า ในระหว่างที่เราแล่นไปเรื่อยๆ มันอาจจะโคลงเคลงบ้าง แต่สุดท้ายแล้วมันจะพาเราไปอยู่ที่ที่ซึ่งเราไม่เคยคิดไว้เลยว่าเราจะไปถึง ดังนั้นผมคิดว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิตผม ไม่ใช่เรื่องของจุดหมายที่เราจะต้องพุ่งไปถึงเท่านั้น แต่มันคือการเห็นความสำคัญของความพยายามที่เกิดขึ้นระหว่างที่เราเดินหน้าต่อไปเรื่อยๆ”
เราต่างมีฤดูกาลผลิบานของตัวเอง
…ดอกไม้แต่ละชนิดผลิบานในฤดูกาลของมันเอง ตอนนี้อาจยังไม่ถึงช่วงเวลาของคุณ อาจสายไปหน่อยเมื่อเทียบกับคนอื่น แต่ถ้าฤดูนั้นมาถึง คุณจะงดงามไม่แพ้ดอกไม้ชนิดอื่น
คือข้อความจากหน้า 17 ในหนังสือ ‘เพราะเป็นวัยรุ่นจึงเจ็บปวด’ ชวนให้เราสงสัยว่าฤดูกาลผลิบานของผู้เขียนอย่างคิม รันโดคือช่วงเวลาไหน
“คิดว่าเป็นตอนนี้” เขากล่าวด้วยรอยยิ้ม พร้อมอธิบายว่าความรู้สึกผลิบานไม่ได้หมายถึงความสำเร็จเสมอไป อีกทั้งไม่ได้มีนิยามที่ตายตัว หากเราจะรู้สึกได้เอง เมื่อถึงช่วงเวลานั้น
คนเรามีฤดูกาลที่ผลิบานที่แตกต่างกัน เหมือนกับดอกไม้ ดอกไม้บางประเภทอาจจะบานตั้งแต่ช่วงฤดูใบไม้ผลิ แต่ว่าบางดอกจะบานในช่วงหน้าร้อนหรือฤดูใบไม้ร่วง เพราะฉะนั้นถ้าเราเป็นดอกไม้ที่บานช้า เราก็แค่คิดว่าในช่วงที่ดอกไม้ประเภทอื่นบานแล้ว เป็นช่วงเวลาในการเตรียมตัวของเรา เท่านั้นเอง
อย่างไรก็ตาม แม้เรือกระดาษจะพาคิม รันโดจะผ่านมรสุมมาได้ จนมาเจอเส้นทางที่ไม่คาดคิด และได้พบกับฤดูกาลที่ดอกไม้ได้เบ่งบานในเวลาที่เหมาะสม แต่เขาก็ยอมรับอย่างตรงไปตรงมาว่า ต่อให้วันนี้จะมีชีวิตที่ดี แต่ใช่ว่าชีวิตจะปราศจากความเสียดายในอดีตอย่างสิ้นเชิง
“ในช่วงอายุ 20 อย่างที่ผมบอกไปว่า อยากจะสอบเป็นข้าราชการมาก เลยทำให้โฟกัสอยู่แต่เรื่องของการเตรียมสอบ ไม่ได้อ่านหนังสือดีๆ ตอนนี้คิดย้อนกลับไปถ้าเกิดว่า เราได้อ่านหนังสือที่ดีๆ เก็บไว้เป็นความรู้มากกว่านี้ มันน่าทำให้เกิดประโยชน์กับชีวิตมากกว่า อีกอย่างคือเรื่องของการเรียนภาษาต่างประเทศ อาจเพราะยุคสมัยนั้น การเรียนภาษาต่างประเทศมันไม่ได้แพร่หลายมากนัก แล้วผมเองก็ไม่ได้คิดว่าเรื่องนี้จะสำคัญ คือไม่คิดว่าเหมือนจะมีความ Globalization (โลกาภิวัตน์) เกิดขึ้นขนาดนี้ เลยทำให้รู้สึกเสียดาย เพราะการเรียนภาษาในช่วงเวลาที่ยังเด็ก มันทำให้เราชินกับภาษานั้นๆ ได้ง่ายกว่า แล้วก็อีกเรื่องหนึ่งคือไม่ค่อยได้ไปเที่ยว วันนี้ผมรู้สึกว่า การเดินทางไปต่างประเทศ มันทำให้โลกของเรากว้างขึ้น แล้วการที่ผมไม่ได้เดินทางท่องเที่ยวมันก็ทำให้โลกผมในตอนนั้น มันค่อนข้างแคบแล้วก็เล็ก” เมื่อถามต่อว่าเราจะรับมือกับความรู้สึกนี้ยังไงได้บ้าง เขาหยุดคิดไปพักหนึ่ง ก่อนจะบอกกับเราว่า
“ตอนนี้นี่แหละคือช่วงเวลาที่เร็วที่สุดแล้ว หรือพูดง่ายๆ อีกอย่างหนึ่งก็คือว่า เมื่อไรก็ตามที่เรารู้สึกว่า ตอนนี้แหละสายไปแล้ว มันคือตอนที่เร็วที่สุดเท่าที่เราจะทำได้แล้ว เพราะฉะนั้นถ้ามันจะมีเรื่องที่ทำให้เราเสียใจภายหลัง ก็แค่เริ่มทำมันวันนี้”
เพราะไม่มีสิ่งใดคงอยู่ตลอดไป
แม้การมีจุดหมายจะเป็นแรงบันดาลใจช่วยให้เราอยากก้าวไปข้างหน้า และฤดูกาลผลิบานจะเป็นสิ่งที่หลายคนใฝ่หา หากการเดินทางไปถึงฤดูกาลที่ผลิบานไม่ได้หมายถึงจุดสิ้นสุดและมีความสุขตลอดกาล หากเป็นช่วงที่เราได้ทิ้งตัวผ่อนคลายได้ชั่วครู่ชั่วคราว เพราะสุดท้ายแล้วความรู้สึกสับสน หลงทาง เสียดาย ต่างแวะมาเยือนเราได้ในทุกวินาทีของชีวิต
“แน่นอน แม้กระทั่งวันนี้ ก็ยังมีความรู้สึกแบบนั้นอยู่” คิมรันโดในวัย 60 ปีบอกกับเรา แต่สิ่งที่เขารู้สึกว่าต่างไปจากช่วงวัยหนุ่มสาวคงจะเป็นการรับมือได้ดียิ่งขึ้น และตระหนักถึงความไม่แน่นอนอยู่เสมอ รวมทั้งมองชีวิตได้จากมุมที่กว้างและไกล เรียกง่ายๆ ว่าเราสามารถมองตัวเองเหมือนมองจากมุมของบุคคลที่สามได้ โดยคิมรันโดมองว่านั่นคือสัญญาณของ ‘การเติบโตเป็นผู้ใหญ่’
“มันคือคำว่า ‘Meta Self’ เหมือนเรามองย้อนกลับไปที่ตัวเองว่า ความตั้งใจ ความพยายามของสิ่งที่เราทำอยู่ หรือว่าการที่เราใช้ชีวิตไปแต่ละวัน เราทำเพื่ออะไร แล้วเรากำลังทำ กำลังก้าวไปสู่อะไร เราได้อะไรกลับมา มันเหมือนเราสังเกตตัวเองอยู่จากอีกมุมหนึ่ง อันนี้คือสิ่งที่ผมคิดว่าสำคัญที่สุด ดังนั้น อะไรคือหลักฐานสำคัญหรือว่าสิ่งที่บ่งบอกว่าเราเป็นผู้ใหญ่แล้ว ก็คงเป็นการที่เราสามารถใช้ meta self ของเรา เพื่อมองย้อนกลับไปที่ตัวเองแล้วเห็นว่า ตัวเราเป็นยังไงบ้าง”
คำถามหนึ่งที่แทรกเข้ามาระหว่างบทสนทนาในประเด็นนี้ คือจะเกิดอะไรขึ้น หากวันหนึ่งได้มองย้อนไปแล้วพบว่าเรากำลังกลายเป็นใครที่สักคนเราไม่ได้อยากเป็น
“จริงๆ แล้ว พฤติกรรมของผู้ใหญ่ที่เขาทำมันก็มีมาจากเหตุผลบางอย่างของเขาเหมือนกัน แต่เราแค่ยังไม่เข้าใจ แล้วเราก็แค่ยังไม่รู้ว่ามันคืออะไรเท่านั้นเอง ดังนั้น มันไม่ใช่เรื่องแปลกเลยถ้า เราใช้ชีวิตไปเรื่อยๆ แล้ววันหนึ่งเรากลายเป็นผู้ใหญ่แบบที่เราไม่อยากเป็น แต่การหลีกเลี่ยงที่จะไม่ให้เป็นคนแบบนั้น ที่เราไม่อยากเป็น มันจะต้องมีการใช้ meta self นี่แหละ ที่คอยย้อนกลับมามองตัวเองแล้วดูว่า ตัวเราเองเติบโตไปในทิศทางไหนและเป็นคนแบบที่เราอยากจะเป็นหรือเปล่า” คิมรันโดบอกกับเราก่อนจะกล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า อายุที่เพิ่มขึ้นอาจไม่ได้บ่งบอกความเป็นผู้ใหญ่เสมอไป แต่บางทีเราจะรู้สึกเติบโตขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อได้หยุดมองการเดินทางของตัวเองตลอดชีวิตที่ผ่านมา
“ผมคิดว่ามันขึ้นอยู่กับมุมมองของเราที่มีต่อตัวเอง ว่าตอนนี้เราเดินมาได้ไกลแค่ไหน เติบโตมาไกลแค่ไหนแล้ว”