เมื่อพูดว่า “ตอนจบ” เรานึกถึงอะไรขึ้นมา?
คำตอบคงหลากหลายขึ้นอยู่กับบริบทของชีวิต การกินเลี้ยงท่ามกลางหมู่เพื่อนฝูงเมื่อเราต้องจากลาไปยังการเดินทางใหม่ๆ งานรับปริญญา งานแต่งงานของเราและคนรักหลังความสัมพันธ์ระยะยาว การจากลากันด้วยดีและเข้าใจกันของคนที่เรารัก แต่ไม่อาจไปด้วยกันได้ ฯลฯ เรามักนึกถึงตอนจบหรือบทสรุปของสรรพสิ่งว่าเป็นสิ่งแน่นอน เฟดเอาต์ เครดิตเพลงขึ้น เดินออกจากโรง เป็นกล่องของขวัญที่ผูกโบเอาไว้เรียบร้อย
เพียงปราดตามองไปยังเส้นเรื่องใดก็ตามในชีวิตของเรา เราอาจจะมองเห็นว่าไม่ใช่ทุกครั้งที่อะไรๆ จะง่ายแบบนั้น บางครั้งเมื่อเราเดินทางไปในเส้นทางใหม่ เราก็ทิ้งบางความสัมพันธ์ค้างเติ่งไว้ ฝันบางฝันที่ไม่เคยได้รับการเติมเต็ม งานแต่งงานนั้นห่างไกลเหลือเกินกับคำว่าจุดสิ้นสุด และการจากลาอาจไม่ได้มาในแบบของการโบกมือบอกลากันชัดเจน แต่แผ่วเบายิ่งกว่าเสียงกระซิบของลม เราไม่รู้ตัวเสียด้วยซ้ำว่าบ่อยครั้งในชีวิต เราไม่มีบทสรุปให้กับเรื่องที่เกิดขึ้นกับเราเลย
เราติดอยู่กับอดีตหรือเปล่า? ยังถามถึงความเป็นไปได้ของเรื่องที่ไม่เคยจบลงหรือเปล่า? บทสรุปสำคัญขนาดนั้นกับเราทุกคนเลยไหม? แล้วถ้าสำคัญขนาดนั้นเราจะทำยังไงเมื่อมันไม่เคยเกิดขึ้น?
บทสรุปในกรณีนี้ที่เราหมายถึงมีอีกชื่อเรียกคือ การปลดล็อกความรู้สึก (Closure) นิยามโดยแอรี่ ครูแลนสกี (Arie Krulanski) นักจิตวิทยาสังคม มหาวิทยาลัยแมรี่แลนด์ ว่าหมายถึงความปรารถนาในข้อมูลความรู้ที่เด็ดขาดเกี่ยวกับเรื่องใดๆ และในขณะที่เรามักมองว่าใครๆ ก็คงต้องการความชัดเจนในชีวิตทั้งนั้น แล้วการต้องการปลดล็อกความรู้สึกนั้นเป็นส่วนหนึ่งของมนุษย์อย่างแน่นอนใช่หรือเปล่า? ใครๆ ก็ต้องการจุดสิ้นสุดเหมือนกันใช่ไหม? แต่นั่นไม่จำเป็นเสมอไป
ครูแลนสกีเป็นที่รู้จักจากการพัฒนากรอบการวิจัยเพื่อศึกษาเกี่ยวข้องกับการปลดล็อกความรู้สึก หนึ่งในสิ่งที่เขาและเพื่อนร่วมงานดอนน่า เว็บสเตอร์ (Donna Webster) ร่วมกันพัฒนาขึ้นมาคือ มาตรวัด Need for Closure Scale (NFCS) ที่เอาไว้เป็นเกณฑ์ชี้วัดบุคคลว่า ใครเป็นคนที่ต้องการปลดล็อกความรู้สึกมากหรือน้อยขนาดไหน เพื่อใช้สำหรับการศึกษาวิจัยประเด็นนี้ในอนาคต
NFCS วัดความต้องการสำหรับการปลดล็อกความรู้สึกมากไปน้อยผ่านแบบสอบถาม 41 ข้อ และผ่านคำถามต่างๆ เช่น
- ฉันคิดว่าการมีกฎเกณฑ์และคำสั่งเป็นสิ่งจำเป็นในหน้าที่การงาน
- ฉันไม่ชอบเผชิญกับสถานการณ์ที่ไม่ชัดเจน
- ฉันมีเพื่อนที่ฉันมองว่าไม่อาจคาดเดาได้
- เวลาฉันได้ตัดสินใจอะไร ฉันจะรู้สึกผ่อนคลาย
- ฉันไม่ชอบเปลี่ยนแผนในนาทีสุดท้าย
- ฉันชอบที่จะตัดสินใจอย่างรวดเร็วมากกว่าการเก็บไปนอนคิด
หนึ่งในงานวิจัยที่หยิบยกมาตรวัดดังกล่าวไปใช้คือ Effects of need for closure on creativity in small group interactions โดยแอนโตนิโอ คีรัมโบโล (Antonio Chirumbolo) จากคณะจิตวิทยาสังคม มหาวิทยาลัยซาเปียนซา เขาทำวิจัยด้วยการแบ่งกลุ่มคนออกเป็นกลุ่มเล็กๆ แล้วให้ทำกิจกรรมสร้างสรรค์ร่วมกัน งานวิจัยพบว่ากลุ่มคนที่ต้องการปลดล็อกความรู้สึกสูง มีโอกาสที่จะถกเถียงกันเกี่ยวกับกิจกรรมตรงหน้าต่ำกว่า ส่วนกลุ่มที่มีความต้องการในการปลดล็อกความรู้สึกต่ำกว่า มีโอกาสที่จะมีแนวทางการคิดอ่านเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้าลื่นไหลและสร้างสรรค์กว่า
ข้อสรุปดังกล่าวตรงกันกับข้อสรุปของครูแลนสกีที่ออกแบบมาตรวัดดังกล่าว นั่นคือคนที่มีคะแนนใน NCFS ต่ำ ในนัยหนึ่งอาจหมายถึงว่า พวกเขาเป็นคนที่ต้องการคำตอบรวดเร็วไม่ล่าช้า โดยไม่มีบทสรุปแบบใดในใจ ส่วนคนที่ได้คะแนนสูงกว่าแปลความหมายได้ว่า พวกเขามีความต้องการคำตอบเกี่ยวกับเรื่องราวสักเรื่องที่แน่ชัด และสร้างโครงสร้างเกี่ยวกับเรื่องราวต่างๆ ที่ชัดเจนเข้าใจง่าย
พูดอย่างไม่เป็นทางการคือ เราแต่ละคนต้องการบทสรุปในประเด็นต่างๆ มากหรือน้อยแตกต่างกันออกไป คนที่ต้องการมากอาจติดอยู่ในห้วงความคิดหนึ่งจนกว่าจะได้บทสรุปที่ต้องการ แต่คนที่มีความต้องการในส่วนนั้นน้อยมักเป็นคนที่มองไปข้างหน้า ตัดสินใจอย่างฉับไว ไม่มีแบบใดเหนือกว่าอีกแบบ การครุ่นคิดและการตัดสินใจอย่างรวดเร็ว จึงย่อมมีที่ยืนของมันตามแต่บริบทที่แตกต่างกัน
ในการศึกษาเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว พบว่าคนแต่ละคนมีมุมมองต่อการไม่ได้รับบทสรุปในเรื่องต่างๆ แตกต่างกันออกไป สำหรับบางคนการไม่ได้มีจุดสิ้นสุดนั้นเป็นเรื่องดี เช่นเดียวกันกับทุกๆ อย่าง ตอนจบย่อมมีราคาของมัน เช่นนั้นแล้วการไม่มีบทสรุป อาจหมายความถึงอิสระทางความรับผิดชอบหรือผลกระทบในแง่ลบได้ ไม่ว่าจะเป็นการที่เราไม่ได้บอกเลิกคนคนหนึ่งแต่หายไปเลย อาจแปลว่าเราไม่จำเป็นต้องรับรู้ความรู้สึกในด้านลบที่จะมาจากเขาคนนั้น หรือการหายตัวไปเมื่อเรารู้ว่าเราผิด ทำให้ไม่มีใครสามารถวิพากษ์วิจารณ์การกระทำของเราได้
ในตรงกันข้าม หลายๆ คนต้องการปลดล็อกความรู้สึก ซึ่งความต้องการดังกล่าวก็มาจากมุมมองว่า การมีบทสรุปจบหมายความถึงการสามารถคาดเดาได้ และการคาดเดาได้จะนำไปสู่การเดินไปข้างหน้าแบบมีหนทางการเดินที่ชัดเจนกว่า โดยคนที่ต้องการคำตอบหรือบทสรุปในตอนจบของเรื่องต่างๆ อาจพยายามวิ่งวุ่นหามันด้วยการให้เวลาและเรียนรู้เกี่ยวกับมันมากขึ้น หรืออาจกำหนดทฤษฎีและสมมติฐานขึ้นมา บ้างก็อาจไปถึงระดับที่พวกเขาทึกทักหาคำตอบขึ้นมาเองเลยก็เป็นได้
อย่างที่รู้กันว่าบ่อยครั้งโลกนี้ไม่ได้ให้คำตอบกับเราเสมอไป ถ้าเราเป็นคนที่ไม่ต้องการคำตอบก็ดีไป แต่เราจะทำยังไงดีหากเราต้องการบทสรุป? คำตอบที่ตรงตัวสำหรับทุกคนคงไม่มี เนื่องจากความต้องการปลดล็อกความรู้สึกไม่ใช่ปัจจัยที่ตายตัวเสมอไป แต่ขึ้นอยู่กับทั้งสถานการณ์ วัยของเรา ประสบการณ์ของเรา และอีกหมื่นล้านอย่างที่ก่อร่างความเป็นมนุษย์ของเรา
สิ่งเดียวที่แน่นอน คือความไม่แน่นอน บ่อยครั้งเราจึงต้องหาบทสรุปในเรื่องต่างๆ ของเราเอง และตอนจบเหล่านั้นอาจมีหน้าตาไม่เหมือนที่เราอยากได้เลย
เราอาจต้องการคนที่รักและเข้าใจเรา และเราอาจได้พบเจอคนที่คิดว่าใช่แล้ว แต่จังหวะชีวิตของเราทั้งคู่ต่างไม่อนุญาตให้มันเป็นไปตามความต้องการ หรืออยู่มาวันหนึ่ง คนที่เราเคยรักกลับเสียชีวิตไปขณะที่มีปัญหากัน โดยที่เราทั้งคู่ยังไม่ได้คุยเพื่อเคลียร์ใจกัน ดังนั้นการให้เวลาค่อยๆ ปล่อยมือ เราอาจหาบทสรุปได้จากการจากลาที่ไม่เติมเต็มนั้น ผ่านคำว่า “สุดท้ายนี้ เราทำดีที่สุดเท่าที่ทำได้แล้ว” เพราะอย่างที่เราคุยกันไป ‘ตอนจบ’ แท้จริงไม่ได้หมายถึงจุดสิ้นสุดจริงๆ เพราะชีวิตของเราไม่มีเครดิตเพลงท้ายเรื่อง
มีเพียงจุดเริ่มต้นใหม่ของการเดินไปข้างหน้า และวันหนึ่งกว่าเราจะรู้ตัว บทสรุปที่เราไม่เคยได้รับก็อาจจะมาถึงได้จากการเติบโตของเราเอง
อ้างอิงจาก