“อะไรที่ฆ่าเราไม่ได้ จะทำให้เราแกร่งขึ้น”
คำเขียนของฟรีดริช นีตซ์เช (Friedrich Nietzsche) นักปรัชญาชาวเยอรมันที่อยู่รอดเหนือกาลเวลา ในฐานะคำพูดยืนยันตัวเอง เมื่อเราตกอยู่ในสถานการณ์ลำบาก หรือถูกบิดไปใช้ในสไตล์การคิดแบบ Growth Mindset ที่เป็นที่นิยมในปัจจุบัน โควตดังกล่าวสามารถถูกตีความและปรับใช้ได้หลากหลาย เราอาจทึกทักเรียกแก่นของมันได้ว่า เมื่อสถานการณ์ชีวิตสร้างแผลให้แก่เรา บางอย่างในตัวของเราจะเปลี่ยนแปลงไป หรืออาจเรียกได้ว่า “ปัญหาทำให้ฉันโต จนจำเวอร์ชั่นเดิมตัวเองไม่ได้” ก็ได้
ตั้งแต่เรื่องราวของศิลปินผู้ทนทุกข์ทรมาน แต่ผลงานของเขากลับเป็นอมตะ ไปจนถึงประวัติชีวิตของเศรษฐีสักคนที่บอกว่าเขาเคยล้มละลายหรือไร้บ้านมาก่อน แล้วใช้ความพยายามของเขาเองในการดีดตัวเองออกจากสถานการณ์นั้นๆ ได้ และความเจ็บปวดเหล่านั้นเองที่ทำให้เขาเป็นเขาในทุกวันนี้ บ่อยครั้งการเห็นเรื่องราวเช่นนี้บ่อยๆ อาจทำให้เราคิดว่า ความเจ็บปวดอาจเป็นหนทางแห่งการเติบโต จนหลายคนพยายามบอกเราด้วยซ้ำว่า นั่นคือหนทางเดียวที่เราจะได้เติบโต
แล้วการเติบโตท่ามกลางปัญหาและความเจ็บปวดส่งผลกระทบต่อเรายังไงบ้าง? คำตอบอาจไม่ได้ชัดเจนหรือง่ายเท่าคำถามของมัน
เมื่อเราพูดถึงบาดแผลทางใจ (Trauma) ของเราแต่ละคน มันมักมีรายละเอียดที่แตกต่างกันออกไป ทั้งจากการเกิดขึ้น ผลกระทบของมันต่อเรา และวิธีที่เราจัดการกับมัน จุดร่วมของบาดแผลทางใจอาจอยู่ตรงที่เรามักตั้งคำถามกับบาดแผลเหล่านี้ ว่ามันเปลี่ยนเราไปยังไง? และมากไปกว่านั้นคือเรื่องที่เป็นด้านลบเช่นนี้กับชีวิตของเราจะนำไปสู่ผลลัพธ์บวกๆ ได้มากขนาดไหนกัน?
ผลกระทบที่เราคุ้นชินเมื่อเกิดบาดแผลทางใจคือ ความผิดปกติที่เกิดขึ้นหลังความเครียดที่สะเทือนใจ (PTSD) ซึ่งมีอาการมากมาย เช่น
- ความทรงจำเกี่ยวกับเหตุการณ์ของบาดแผลเหล่านั้น ทำให้เรารู้สึกว่าตัวเองกลับไปอยู่ในจุดที่เรื่องเกิดขึ้น
- สะดุ้งง่าย หลับยาก และระมัดระวังตัวเองกว่าที่เคยเป็น
- หลีกหนีสถานที่ กิจกรรม หรือผู้คนที่ทำให้เรานึกถึงปมแผลทางใจนั้นๆ
- มีช่องว่างทางความทรงจำเกี่ยวกับช่วงเวลานั้นๆ
- มุมมองใรแง่ลบต่อตัวเอง โลก และอนาคต โดยแสดงออกถึงการไร้ความหวัง
PTSD มักเกิดขึ้นราวๆ 1 เดือนหลังจากเราเกิดบาดแผลทางใจ และจะติดตัวอยู่กับเจ้าของบาดแผลนั้นไปเป็นเวลายาวนาน อาจจะเป็นเดือน หรืออาจจะเป็นปี และหลายๆ กรณีถึงจะใช้ชีวิตอยู่ได้โดยไม่มีอาการที่หนักหน่วง แต่เรื่องราวพวกนั้นยังคงติดตัวอยู่กับเราต่อไป บาดแผลทางใจกลายเป็นสิ่งที่เปลี่ยนชีวิตเรา บ่อยครั้งเป็นไปในทางที่แย่ ในขณะเดียวกันก็มีการรายงานว่า บาดแผลทางใจเช่นนี้เองสามารถนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในแง่บวกได้ โดยการจะเข้าใจความเปลี่ยนแปลงแบบนี้ เราอาจต้องทำความเข้าใจคอนเซ็ปต์ที่เรียกว่า Posttraumatic Growth
จากข้อมูลโดย America Psychological Association (APA) ทฤษฎี Posttraumatic Growth (PTG) ถูกพัฒนาขึ้นโดยนักจิตวิทยาชื่อ ริชาร์ด เทเดสชิ (Richard Tedeschi) และลอว์เรนซ์ คัลฮูน (Lawrence Calhoun) ซึ่งมีจุดประสงค์ในการหาทางออกให้แก่กลุ่มคนที่ประสบกับ PTSD เพื่อให้เราใช้ชีวิตในมุมบวกมากขึ้นได้หลังก้าวผ่านบาดแผลทางใจ เพราะในเมื่อบาดแผลเหล่านี้อยู่กับเราอย่างเนิ่นยาว การหามุมมองในด้านบวกให้กับมันเพื่อชีวิตดีขึ้น ก็อาจเป็นหนทางหนึ่งที่อาจช่วยเราบางคนได้ใช่หรือไม่?
บาดแผลทางใจเป็นสิ่งที่กระทบกระทั่งเราไปจนถึงแก่นของเรา มันเปลี่ยนมุมมอง ท้าทายความเชื่อ และมากไปจนเปลี่ยนพฤติกรรมของเรา หากจะเรียกอย่างง่ายนั้น PTG คือการที่คนคนหนึ่งสามารถตีความการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากบาดแผลทางใจได้ และปรับใช้มันเพื่อพัฒนาตัวเองไปในทิศทางบวกได้มากขึ้น ตัวอย่างเช่น เราอาจเคยถูกฟ้องร้องในสิ่งที่เราไม่ผิด แล้วถูกลงโทษอย่างไม่เป็นธรรม แต่เมื่อเวลาผ่านไป เราอาจนำประสบการณ์นั้นมาเป็นเครื่องมือขับเคลื่อน เพื่อแก้ไขปัญหาเชิงระบบที่ก่อให้เกิดบาดแผลทางใจนั้นๆ แทนที่จะใช้มันแก้แค้น
ทั้งนี้ผู้พัฒนาทฤษฎียังกล่าวว่า ตัวชี้วัดความสามารถในการตีความประสบการณ์ของแต่ละคนว่าเป็นบวกมากน้อยขนาดไหน วัดได้ผ่านปัจจัยต่างๆ เช่น
- มุมมองต่อคุณค่าของชีวิต
- ความสัมพันธ์กับผู้อื่น
- มุมมองต่อความเป็นไปได้ในอนาคต
- ความแกร่งภายในใจ
- ความเปลี่ยนแปลงเชิงจิตวิญญาณ
ในการสัมภาษณ์กับ APA เทเดสชิกล่าวว่า ราวๆ 2 ใน 3 ของผู้คนที่มีบาดแผลทางใจ พวกเขาจะมีระดับ PTG ที่สูงขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป อย่างไรก็ดี PTG เองก็เป็นสิ่งที่ขึ้นอยู่กับตัวบุคคลอย่างมาก และไม่อาจนำหลักการหรือตัวเลขเข้าไปจับได้อย่างแน่ชัด เพราะเราแต่ละคนอาจจะอยู่ในขั้นตอนการรักษาแผลใจเหล่านั้นอยู่เรื่อยๆ ตามความเร็วของตัวเอง
สำหรับเรื่องนี้การอ่านหรือฟังอาจดูเป็นเรื่องง่าย แต่เมื่อเราพูดถึงประสบการณ์ที่เปลี่ยนชีวิตเช่นนี้ แล้วบอกว่าทางออกของเราคือการต้องจ้องตามันแล้วตีความมันใหม่ คิดเกี่ยวกับมันอีกครั้ง หรือเผชิญหน้ากับมันโดยที่เราอาจจะลบลืมมันไปแล้ว ทั้งหมดนี้กลับใช้กำลังมากกว่าที่คิด อย่างไรก็ตาม นี่อาจจะเป็นหนึ่งในวิธีการที่เราอาจเลือกใช้ เพื่อก้าวข้ามความเจ็บปวดที่เราไม่ได้ขอเหล่านี้ได้
ทว่าทฤษฎีดังกล่าวก็ถูกเสียงตอบรับในเชิงวิพากษ์วิจารณ์บ้างเล็กน้อย หนึ่งในนั้นคืองานวิจัย Does growth require suffering? A systematic review and meta-analysis on genuine posttraumatic and postecstatic growth โดยจูดิธ มานเกลดอฟ (Judith Mangeldorf) นักวิจัยจากคณะจิตวิทยา Freie University Berlin ที่พาเราไปดูการรวบรวมและวิเคราะห์งานวิจัยในอดีตเกี่ยวกับการเติบโตผ่านความเจ็บปวดนี้
ข้อสังเกตแรกของผู้วิจัยคือ งานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับ PTG นั้น อาศัยการเก็บข้อมูลจากกลุ่มคนผู้ผ่านประสบการณ์บาดแผลทางใจมาแล้ว ก่อนจะให้พวกเขามองกลับไป ในกรณีนี้กลุ่มตัวอย่างมีโอกาสที่จะมองผ่านเลนส์ของตัวเองในปัจจุบัน ซึ่งโดยธรรมชาติ เรามักจะหาเหตุผลและความหมายให้แก่ความเจ็บปวดเหล่านั้น เพื่อไม่ให้ตัวเองรู้สึกว่าเป็นความเจ็บปวดที่ไม่ได้อะไรกลับมา ในขณะที่ทางเชิงการปฏิบัติ การกระทำเช่นนั้นถือว่าไม่ได้เป็นปัญหาอะไร แต่วิธีดังกล่าวนำไปสู่ข้อมูลที่เอนเอียงได้ในเชิงงานวิจัย
มานเกลดอฟเสนอว่า การพูดคุยเกี่ยวกับการเติบโตนั้นควรต้องใช้การศึกษาระยะยาว (Longitudinal Studies) เสียมากกว่า โดยเธอรวบรวมการศึกษาระยะยาวในหัวข้อนี้มาจำนวน 122 งานวิจัย แล้วได้ข้อสรุปว่า การเติบโตเกิดขึ้นได้ทั้งจากประสบการณ์ชีวิตในแง่บวกและลบเท่าๆ กัน ไม่มีหลักฐานใดบอกว่าเหตุการณ์ชีวิตในแง่ลบจะนำไปสู่การเติบโตที่สูงกว่าแง่บวก นั่นแปลว่าแม้ความเจ็บปวดจะเป็นหนทางที่พาให้เราเติบโตได้ แต่มันก็ไม่ใช่วิธีการเดียว
เมื่อตอนต้นเราคุยกันไปแล้วว่า คำตอบของเรื่องนี้เป็นสิ่งที่ไม่ชัดเจนหรือตอบได้ง่าย เพราะชีวิตกระทบต่อเราคนละแบบ เราแต่ละคนก็รับมันคนละแบบเช่นกัน เราไม่อาจบอกได้ว่าเราควรจะเจ็บปวด หรือเราควรจะไม่เจ็บปวด เพราะในความเป็นจริงแล้วไม่มีเราคนไหนเลือกได้ ความเจ็บปวดต่างหากที่วิ่งเข้าหาเรา แม้เราอยากจะพูดแค่ไหนว่าวิธีการที่เราเลือกจัดการกับบาดแผลทางใจนั้นขึ้นอยู่กับเรา แต่ความเป็นจริงกลับยากกว่านั้นมาก ด้วยหลายๆ ปัจจัยไม่อนุญาตให้เราก้าวข้ามความเจ็บปวดของเราได้โดยง่าย แต่สิ่งหนึ่งที่เราอาจจะพูดได้ นั่นคือมุมมองของเราต่อการเติบโตผ่านความเจ็บปวดจะเปลี่ยนแปลงไป
ใน Nanette รายการตลกตอนพิเศษโดยฮันนาห์ แกดส์บี้ (Hannah Gadsby) เธอเล่าเรื่องเกี่ยวกับชายคนหนึ่งที่บอกกับเธอว่า จิตรกรวินเซนต์ แวนโก๊ะ สร้างงานศิลปะอันยิ่งใหญ่ของเขาได้ เพราะว่าเขาเจ็บปวดจากความยากจน จากอาการทางจิต และหากเขารักษามันให้หายไป โลกนี้จะไม่มีผลงานชิ้นเอกเช่น Sunflowers โดยแกดส์บีพูดบนเวทีในตอนจบของ Nanette ว่า
“พวกคุณรู้หรือเปล่าว่าทำไมเราถึงได้มี Sunflowers? ไม่ใช่เพราะแวนโก๊ะทรมาน แต่เพราะเขามีน้องชายผู้รักเขามากต่างหาก”
แกดส์บีพูดเช่นนั้น หลังจากพูดคุยถึงวิธีการที่โลกมองว่าศิลปะที่ดีมาจากศิลปินผู้เจ็บปวดเท่านั้น ในขณะที่ความเป็นมนุษย์นั้นมีมิติกว่านั้นอยู่มากมาย ไม่ได้มีแค่แง่มุมเดียวของเราที่ทำให้เราเป็นเรา หรือแค่แง่มุมเดียวที่ทำให้เราเติบโต แม้ว่าหลายๆ คนจะบอกเราอย่างนั้น
เพราะเราจัดการกับแผลใจของเราต่างกัน ในเวลาที่ไม่เหมือนกัน ซึ่งไม่มีแบบใดที่เข้าใจไม่ได้เลย
อ้างอิงจาก