วันนี้เมื่อ 1 ปีที่แล้ว (18 พ.ย. 2565) พายุ บุญโสภณ อาสาเป็นการ์ดเดินนำหน้าชาวบ้านราว 300 คน เป้าหมายคือเดินไปให้ใกล้ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิตติ์เพื่อส่งสารถึงเหล่าผู้นำที่มาประชุมในงาน APEC 2022 ถึงผลกระทบจากนโยบาย BCG ต่อชุมชนในพื้นที่ แต่ขบวนไม่ได้เคลื่อนไปใกล้เป้าหมายเท่าไหร่นัก เจ้าหน้าที่ตำรวจก็สลายการชุมนุม และพายุถูกจ่อยิงด้วยกระสุนยางเข้าที่ใบหน้าข้างขวา
ในความอึกทึกครึกโครม พายุทรุดตัวลงที่บาธวิถีก่อนถูกหามขึ้นรถพยาบาลในสภาพเนื้อตัวเต็มไปด้วยเลือด เขาเข้ารับการผ่าตัดและรับฟังข่าวร้ายจากทีมแพทย์ว่าเขาจะสูญเสียการมองเห็นอย่างสมบูรณ์แบบและต้องใส่ลูกตาเทียม
ผ่านมา 1 ปีจากเหตุการณ์รุนแรงในวันนั้น ผมนัดพบพายุที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ เขาอยู่ในชุดเสื้อยืดสีแดงคลุมทับด้วยเสื้อเชิ้ตลายตัดอ้อย ยืนสูบบุหรี่อยู่กับเพื่อนนักกิจกรรม รอคอยให้ศาลเรียกขึ้นไปฟังคำพิพากษาคดี 13 นักกิจกรรมชุมนุมหน้า สน.ปทุมวัน เมื่อปี 58 สีหน้าและแววตาข้างซ้ายของเขาดูไร้กังวล ส่วนตาข้างขวานั่นต่างออกไป แม้มันจะเป็นสีดำกลมโตไม่ต่างจากตาข้างซ้าย แต่มันขาดประกายคล้ายหน้าต่างเชื่อมหัวใจบานนี้ถูกฉาบปูนปิดทั้งหมดแล้ว
หลังศาลเลื่อนอ่านคำพิพากษาเพราะจำเลยมาไม่ครบ พายุชวนเราย้ายไปคุยกันต่อที่บ้านหลังหนึ่งในซอยหลังโรงพยาบาลศิริราช ตลอดระยะเวลาการสนทนากว่าชั่วโมงครึ่ง เขาหัวเราะและร่ำรวยอารมณ์ขัน ยิ้มร่าเห็นฟันขาว ดูไร้ความกังวลทั้งสิ้นไม่ว่าต่ออดีต ปัจจุบัน หรืออนาคต ที่ดูขัดแย้งก็แต่ต้องคอยปาดน้ำตาออกจากตาข้างที่มืดมิดเสมอ เพราะกระสุนยางได้ทำลายท่อน้ำตาจนเสียหายและทำให้เขาไม่สามารถควบคุมการไหลของน้ำตาได้อีกต่อไป
ไม่เจ็บปวดบ้างหรือ? ไม่โกรธแค้นบ้างหรือ? ทำไมยังรักษาตัวตนเอาไว้อย่างเข้มแข็งขนาดนั้น? ด้านล่างคือคำตอบจากชายที่ชื่อ พายุ บุญโสภณ นักเคลื่อนไหวเครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสานหลังครบรอบ 1 ปีที่รัฐไทยพรากดวงตาเขาไป
ความจริง: ชีวิตก่อนสูญเสียดวงตา
ก่อนเขาจะมีฉายาต่อท้ายว่า ‘ดาวดิน’ พายุเป็นเด็กชายที่เกิดบนผืนดินของ จ.ชัยภูมิ เมืองรองที่มีอาณาเขตติดกับขอนแก่นและเพชรบูรณ์ ยายและตาผู้เป็นอดีตตำรวจสายสืบคือผู้เลี้ยงให้เขาเติบใหญ่ เพราะแม่ของเขาอาศัยอยู่ที่รัฐมิชิแกน เมืองแลนซิง ในประเทศสหรัฐอเมริการ่วมกับสามีฝรั่ง
ในสมัยเด็ก พายุไม่เคยมีแววว่าจะสนใจการบ้านการเมืองเสียเท่าไหร่ เขาเป็นเด็กอนุรักษ์ของโรงเรียน ร่วมกิจกรรมปลูกป่าและส่องนก ก่อนจะมีโอกาสไปเรียนไฮสคูลที่ประเทศสหรัฐฯ เป็นเวลา 1 ปี ได้ฝึกทักษะภาษาอังกฤษและเล่นกีฬาระดับมัธยม อย่างไรก็ดี เขาตัดสินใจด้วยตัวเองที่จะกลับมาอยู่ประเทศไทย เพียงเพราะไม่ชอบกฎเกณฑ์แบบบ้านฝรั่ง
“ครอบครัวทุกอย่างปกติ แต่ไม่ชอบอย่างเดียวคือกฎที่มันไม่แฟร์ เพราะที่บ้านพ่อเลี้ยงเขาจะมีกฎที่เป็นธรรมเนียมฝรั่ง ต้องนอนเวลานี้ ต้องนั้นนู้นเวลานี้ แต่จังหวะนั้นผมวัยรุ่น ผมรู้สึกว่าไม่ไหว เลยขอกลับดีกว่า” พายุเล่า
หลังจากกลับมาประเทศไทย พายุสอบเข้าศึกษาต่อที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น อาจเป็นด้วยโชคชะตาก็ว่าได้ที่ทำให้พายุได้พบกับรุ่นพี่คนหนึ่งที่ชวนเขาเข้าบ้านดาวดิน จนทำให้เขาได้เปิดโลกของตัวเองออกจากเรื่องที่วัยรุ่นสนใจทั่วไปอย่าง ปาร์ตี้, ผู้หญิง และรถซิ่ง การเข้าไปในบ้านดาวดินทำให้พายุรู้จักกับ ‘การเมือง’ และ ‘การต่อสู้’
“พอเข้าไปในบ้านดาวดิน ก็ไปเจอพวกพี่ๆ ตั้งวงวิเคราะห์สังคม คุยเรื่องทุนนิยมเรื่องสังคมนิยม เป็นบรรยากาศที่ต่างจากวงเหล้าทั่วไป ตอนนั้นเราก็อยากคุยด้วยแต่ไม่เข้าใจอะไรเลยก็ได้แค่นั่งฟัง” หลังจากคืนนั้น พายุใช้เวลาอยู่หน้าคอมพิวเตอร์เพื่อเสิร์ชหาความหมายของคำต่างๆ ที่รุ่นพี่บ้านด้าวดินใช้คุยกัน ก่อนกลับมาบ้านหลังนี้อีกครั้ง อีกครั้ง และอีกครั้ง
หลังจากอยู่ในบ้านดาวดินได้ไม่นาน รุ่นพี่คนหนึ่งในบ้านก็ชวนให้เขาโบกรถไปลงพื้นที่เหมืองแร่ทองคำ จ.เลย และเป็นอีกครั้ง ที่พายุได้เห็นในสิ่งที่ไม่เคยเห็นมาก่อน คือความอยุติธรรมที่เกิดจากการทำเหมืองที่ทำให้ชาวบ้านพิกลพิการจากสารเคมี แต่ความจริงกลับไม่ถูกพูดถึง เพราะบุคลากรสาธารณสุขกลัวถูกฝั่งทุนเล่นงานและโดนย้ายออกจากพื้นที่
“เราได้รู้ว่ามันมีสิ่งเหล่านี้ในสังคมด้วยหรอ ทำไมสื่อถึงไม่เคยรายงานเลย มันทำให้เราอยากเรียนรู้สังคมให้มากขึ้น เพื่อมาบอกเพื่อนในคณะตัวเอง (นิติศาสตร์) แล้วชวนกันว่าจะเอาความรู้ด้านกฎหมายไปช่วยชาวบ้านได้อย่างไรบ้าง” พายุย้อนความหลังถึงจุดเริ่มต้นที่ทำให้เขามีฉายา ‘ดาวดิน’ ต่อท้าย
แม้จะมีบางช่วงเวลาที่พายุถอยห่างจากการเมืองภาคประชาชนบ้าง เพราะไปสมัครเป็นบาร์เทนเดอร์อยู่ราว 2 เดือนหลังเรียนจบ แต่เขาตระหนักดีว่านั่นไม่ใช่ที่ของเขา พายุกลับมารับงานเป็นฝ่ายกฎหมายให้กับเครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน และทำงานด้านที่ดินในภาคอีสานมาจนถึงปัจจุบัน
หากเปรียบการเคลื่อนไหวเป็นการต่อสู้ พายุคือทัพหน้าที่เดินนำมวลชนมาแล้วหลายสิบสมรภูมิ ตั้งแต่ประเด็นสิ่งแวดล้อม สิทธิชุมชน หรือการเมืองระดับชาติที่ครั้งหนึ่งเขาและเพื่อนรวม 5 คนออกมาสวมเสื้อที่เรียงต่อกันเป็นคำว่า ‘ไม่-เอา-รัฐ-ประ-หาร’ และชูสามนิ้วต่อหน้าหัวหน้า คสช.ในปี 2557 จนทำให้ศาลทหารสั่งจำคุกเขาและเพื่อนนาน 12 วัน
กระทั่งวันที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565 ที่พายุรับหน้าที่การ์ดแนวหน้าให้กับผู้ชุมนุมต่อต้านนโยบาย BCG และการประชุม APEC 2022 และถูกกระสุนยางจากเจ้าหน้าที่ตำรวจยิงที่เขาที่ตาขวา จนสูญเสียการมองเห็นไปตลอดชีวิต
ความจริง: ชีวิตหลังสูญเสียดวงตา
“ทุกวันนี้ผมพูดกับตัวเองถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในวันนั้นว่า อย่างน้อยเราก็ได้มาแสดงจุดยืน มาพูดในสิ่งที่เราต้องการพูด ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นเรามันสะท้อนให้เห็นว่านี่คือความรุนแรงจากรัฐจริงๆ นี่คือสิ่งที่รัฐทำกับเรา” พายุตอบคำถามว่าเขาอธิบายกับตัวเองในสิ่งที่เกิดขึ้นวันนั้นอย่างไร
ตลอดระยะเวลาหนึ่งชั่วโมงครึ่งที่เราพูดคุยกัน พายุจะคอยปาดน้ำตาออกจากดวงตากลมโตข้างขวาเสมอ ไม่ใช่เพราะความเศร้า แต่เพราะนอกจากกระสุนยางจะทำลายดวงตาทั้งลูกของเขา มันยังทำลายท่อน้ำตาในตาข้างขวาของเขา ทำให้ร่างกายไม่สามารถควบคุมการหลั่งของน้ำตาได้ กลายเป็นภาพสุดขัดแย้งที่ชายหนุ่มยิ่มร่าเปี่ยมอารมณ์จะต้องคอยเช็ดน้ำตาจากดวงตาที่ไร้ชีวิตนั้นเสมอ
แต่สำหรับพายุ การสูญเสียดวงตาไปกับการเคลื่อนไหวไม่ใช่เรื่องใหญ่ เพราะเขาทำใจไว้แล้วตั้งแต่เริ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองสมัยมหาวิทยาลัย
“ตั้งแต่สมัยดาวดินเคลื่อนไหวประเด็นสิ่งแวดล้อม คู่ขัดแย้งมันไม่ใช่แค่รัฐอย่างเดียว บางครั้งมันคือนายทุนด้วย เราก็เคยผ่านทั้งการช่มขู่ การใช้อาวุธปืน เราเคยประเมินด้วยกันว่าร้ายแรงที่สุดอาจถึงตายนะ” พายุย้อนเรื่องราวที่ผ่านมา
“รอบนี้เราก็ยอมรับความเสี่ยงและมาแนวหน้าด้วยตัวเอง เราไม่รู้หรอกว่ามันจะเกิดอะไรขึ้น เราอาจพลาดเองก็ได้ที่ไปอยู่ผิดจุด แต่แบบนั้นแปลว่าถ้าไม่ใช่เราก็อาจเป็นคนอื่นอยู่ดี ซึ่งที่จริงเราไม่ใช่คนแรกด้วยซ้ำที่สูญเสียดวงตา” พายุกล่าว
ภายหลังสูญเสียการมองเห็น สิ่งหนึ่งที่ยากที่สุดคือการปรับตัวให้ชินกับทัศนวิสัยแบบใหม่ ในช่วงแรกพายุไม่สามารถหยิบข้าวของที่วางอยู่เฉยๆ ได้ เพราะระยะโฟกัสของสายตาเปลี่ยนไป แต่เมื่อเวลาผ่านไป เขาค่อยๆ กลับมาทำทุกอย่างที่เคยทำได้เหมือนกับสมัยมีสองตา ไม่ว่าตีแบตมินตัน ขับรถยนตร์ หรือมอเตอร์ไซค์
“ซิ่งเหมือนเดิม” ชายหนุ่มพูดขึ้นแล้วหัวเราะเห็นฟันขาว แม้รัฐไทยจะพรากดวงตาเขาไปได้ แต่ดูเหมือนจะขโมยอารมณ์ขันเขาไปไม่ได้
1 ปีที่ผ่านมา พายุต้องเข้ากรุงเทพฯ บ่อยครั้งขึ้น สาเหตุแรกคือเข้ามาเรื่องการรักษา โดยเขามีนัดพบศัลยแพทย์ที่ดูแลเรื่องแผล และจักษุแพทย์อีก 2 คนที่คอยดูแลเรื่องดวงตา
ส่วนสาเหตุที่สองคือ คดีความ อันที่จริงจากคดีม็อบ APEC กระบวนสืบหาความจริงดำเนินไปทั้งหมด 4 เส้นทาง
- เส้นทางที่หนึ่ง: กมธ.กฎหมายและการเมือง
- เส้นทางที่สอง: การฟ้องร้องทางกฎหมาย
- เส้นทางที่สาม: การสืบหาความจริงโดยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
- เส้นทางที่สี่: การสืบหาความจริงโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ
แต่สำหรับพายุ เขาเลือกเดิน 2 จากทั้งหมด 4 เส้นทางนี้เท่านั้น เนื่องด้วยเขาไม่เชื่อในกระบวนการสืบหาความจริงโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพราะมองว่าไม่ต่างจากละครฉากใหญ่ที่ตั้งมาเพื่อสอบสวนกันเอง ส่วนเส้นทาง กสม.เขาก็ขอไม่เลือกเดิน เพราะท่าทีในคำแถลงที่ขาดความจริงใจและมีนัยยะโทษผู้ชุมนุม
ตอนนี้เหลือเพียงการฟ้องร้องทางกฎหมายเท่านั้น ที่เขามอบหมายให้ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเป็นผู้ดำเนินการ โดยใช้ข้อมูลจาก กมธ.การเมืองควบคู่ไปด้วย ซึ่งขณะนี้ทนายยื่นหลักฐาทั้งหมดให้ศาลปกครองแล้ว และอยู่ในขั้นตอนรอศาลรับเรื่อง ซึ่งอาจยาวนานมากที่สุด 1 ปี
เขายืนยันว่าจะดำเนินคดีในส่วนของเขาให้ถึงที่สุด ไม่ใช่เพียงแต่ศาลปกครองเท่านั้น แต่เขาเตรียมจะยื่นฟ้องต่อศาลแพ่งและศาลอาญาในอนาคตเช่นกัน
“ผมคิดว่าการฟ้องครั้งนี้คือการให้บทเรียนกับรัฐและเจ้าหน้าที่ตำรวจว่า ต้องมีระเบียบปฏิบัติในการดูแลการชุมนุม การม็อบแต่ละครั้งไม่ควรที่จะเสี่ยงกับอะไรที่เกิดจากความผิดพลาดของเจ้าหน้าที่รัฐแบบนี้ เราควรอุ่นใจว่ามีเจ้าหน้าที่ดูแล ไม่ใช่มาพะวงหน้าหลังว่าตำรวจมาวะ เอาไงดีวะ”
“ผมอยากให้ตัวเองเป็นเคสสุดท้ายที่สูญเสียจากการเรียกร้องสิทธิ” พายุกล่าวแล้วสบถต่อถึง กสม. และองค์กรด้านสิ่งแวดล้อมทั้งหลายที่ไม่เคยแสดงจุดยืนต่อสิ่งที่เกิดขึ้นในวันนั้น ก่อนหัวเราะร่วน
ความแค้น: มอบตาขวาแทนฟอนฟืนเพื่อแผดเผาระบบ
โกรธแค้นบ้างไหมกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวเอง? เป็นคำถามที่ไม่ว่าใครก็ต้องสงสัย เมื่อรู้ว่ามีอะไรเกิดขึ้นชายคนนี้
“ผมโกรธแค้นต่อรัฐและตัวระบบมากกว่า ผมได้ยินมาว่าชุด คฝ.วันนั้นจะได้กลับบ้านอยู่แล้ว แต่พอมีม็อบ APEC ก็เลยไม่ได้กลับ ถ้าระบบสามารถพา คฝ.มาแค่ 15 วันแล้วกลับ ผมเชื่อว่ามันจะไม่มีอะไร คนทำงานจะไม่คลั่ง ไม่หงุดหงิด อารมณ์คนเหนื่อยมีอะไรมาเร้าสักหน่อยมันก็รุนแรงได้แล้ว จริงไม่จริงไม่รู้แต่ก็เป็นไปได้” พายุกล่าว
“คนส่วนใหญ่อยากเป็นตำรวจเพราะความมั่นคงของตัวเองและครอบครัว หรือใครมีความฝันอยากเป็นตำรวจก็จะเป็นตำรวจที่ดีอยู่แล้ว แต่พอไปเจอระบบที่ไม่ดี เป็นคนดีคนเดียวก็โดนเด้ง แบบนี้ไม่โทษระบบไม่รู้จะโทษอะไร ใครบอกตำรวจแม้งเลว แต่คนดีๆ ก็มีใช่ไหมล่ะ” หลานอดีตตำรวจกล่าว
“มันไม่ใช่แค่ตำรวจนะ ทุกคนในหน่วยงานภาครัฐโดนกดขี่หมด ก่อนหน้านี้เพื่อนผมก็เพิ่งเสียไปเพราะทำงานหนัก ไม่ได้นอนจนความดันขึ้น แล้วก็น็อคเสียชีวิตไปเลย” พายุพูดต่อ “เพื่อนผมเป็นครู เป็นหมอ เป็นพยาบาลทุกคนทำงานหนักหมด พอทุกอย่างมันเชื่อมกัน เราก็สรุปว่าปัญหาคือระบบที่มันกดทับลงมา เราต้องแก้ระบบ ต้องรื้อโครงสร้าง แต่ต้องรื้อไปทีละเปราะ เราทำในส่วนนี้ของเราแล้วค่อยๆ ขยับไป”
ความฝัน: ครอบครัว รถซิ่ง และประเทศที่กระจายอำนาจ
ในวันที่เราสนทนากันนี้ พายุมีอายุเพียง 29 ปี ซึ่งหากคิดตามค่าเฉลี่ยอายุประชากรชาวไทยผู้ชายที่ 71.9 ปี พายุยังเหลือเวลาอีกกว่าครึ่งหนึ่งของชีวิตให้ได้ใช้ แต่เขาอยากทำอะไรล่ะ เขามีความฝันถึงตัวเองและสังคมอย่างไร?
ในด้านการงาน พายุตั้งเป้าไว้ว่าอีก 5 ปี เขาจะตั้งองค์กรเกี่ยวกับเรื่องสิทธิในภาคอีสาน โดยพุ่งเป้าไปที่การสร้างคนรุ่นใหม่ขึ้นมาทำงานประเด็นสิทธิมนุษยชนและปัญหาระดับพื้นที่เช่นเดียวกับที่เขาตัวเคยทำในช่วงที่ผ่านมา
แต่ภาพในอนาคตกว่านั้น เขาหวังว่าจะเรียนต่อในระดับปริญญาโทด้านกฎหมาย และสอบเป็นอาจารย์นิติศาสตร์ในมหาวิทยาลัยสักแห่งหนึ่ง เพื่อป้อนความรู้เรื่องสิทธิและการตระหนักถึงสังคมที่ดีกว่าให้กับคนรุ่นใหม่
ในด้านสังคม พายุมองว่าปลายทางของประเด็นที่เขาต้องการผลักดันคือ เรื่องการกระจายอำนาจ เพราะมันคือทางออกเบื้องต้นของปัญหาที่เขาพบเห็นในทุกวัน ไม่ว่าเรื่องสิทธิที่ดินทำกินของชาวบ้านที่มีปัญหาเพราะส่วนกลางมาขีดเส้นแบ่ง การศึกษาที่ถูกกำหนดจากส่วนกลางจนทำให้เด็กไม่ตระหนักถึงคุณค่าในชุมชน หรือการเรียกร้องชุมนุมที่ไม่พ้นต้องเข้าสู่ศูนย์กลางหรือกรุงเทพฯ เพราะภูมิภาคและท้องถิ่นไม่มีอำนาจอย่างแท้จริง
“การกระจายอำนาจอาจไม่ใช่ทางออกสุดท้าย แต่ในระยะเริ่มต้น มันเป็นการกระจายปัญหาที่สุมอยู่ที่ส่วนกลางออก เพื่อลดภาระส่วนกลาง และให้แต่ละพื้นที่จัดการปัญหาตนเองได้” พายุกล่าวอย่างเชื่อมั่น
แต่ในระดับที่ไกลกว่านั้น หรือสังคมอุดมคติ (Utopia) พายุยอมรับว่ายัง “จินตนาการไปไม่ถึง” แต่มีภาพร่างในหัวว่ามันควรจะเป็นสังคมที่รัฐส่วนกลางมีขนาดเล็กที่สุด มีหน้าที่ไม่เกินกว่าการจัดสวัสดิการที่จำเป็นให้แก่ประชาชน ปล่อยให้การพัฒนาเป็นเรื่องของชุมชนกำหนดทิศทางกันเอง ที่สำคัญ ผู้คนมีจิตใจดีงามและเต็มไปด้วยมนุษยธรรม
“สังคมในอุดมคติของผมมันดูอนาคิสต์หน่อย อำนาจรัฐควรเล็กที่สุดจนแทบไม่มี กฎหมายไม่ได้ครอบและกดขี่คน ทุกคนเข้าใจเรื่องสิทธิและความเป็นมนุษย์ เราอยู่ด้วยการแบ่งปันกัน พึ่งพาอาศัยกัน รัฐเป็นแค่ส่วนหนึ่งไม่ใช่ทั้งหมดที่กำหนดชีวิตคน ทุกคนออกแบบบ้านเกิดตัวเองได้ อยากมีอะไรอยากพาบ้านเราไปทางไหนมาคุยกันในชุมชนเนี่ยแหละ” ดูมีความเลิฟพีซแบบฮิปปี้ เราแซว “ต้องเป็นแบบนั้น มีความโรแมนติคสักหน่อย”
ในด้านครอบครัว พายุเช่นเดียวกับคนทั่วไป เขาฝันอยากมีบ้านเป็นของตัวเอง มีรถขับแต่งซิ่งสักคัน อาจเป็นนิสสัน GT-R หรือลัมโบร์กินี มีครอบครัวที่อบอุ่น มีภรรยาที่เข้าใจอาชีพการงานของเขา ดูแลตัวเองได้ถ้าหากเขาต้องจากบ้านไปไกลหรือเข้าเรือนจำ และมีลูกสักคนไว้ให้โม้ว่าสมัยหนุ่มๆ ตัวเขาเคยทำอะไรไว้บ้าง
แล้วจะเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับตัวเองเมื่อ 1 ปีที่แล้วให้ลูกฟังอย่างไร? เราอดถามคำถามนี้แทรกไม่ได้
“ก็คงเล่าเหมือนเล่านิทานให้เด็กฟัง เล่าตั้งแต่ก่อนจะเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้นว่าพ่อทำงานกับชาวบ้านมาก่อน พอมีการประชุม APEC พ่อรับหน้าที่เป็นคนดูหน้าขบวนให้พี่น้อง แล้วพ่อก็ถูกเจ้าหน้าที่รัฐยิง แต่จะโม้ๆ ถึงตัวเองหน่อยให้เขารู้สึกว่าพ่อเขาแม่งโคดเท่เลย (หัวเราะ)” พายุพูดไปยิ้มไป
“แต่ตอนนี้เรายังมีความฝันร่วมกันทุกคนอยู่ ขอทำความฝันนี้ก่อน ยังสนุกกับตรงนี้ ยังมีไฟกับตรงนี้อยู่” พายุทิ้งท้าย