ในแต่ละช่วงชีวิตเราต่างมีเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญแตกต่างกันออกไป เพราะไม่สามารถกอดทุกอย่างไว้กับตัวเองได้ตลอดเวลา แต่ถ้าให้น้ำหนักกับอะไรมากจนหลงลืมบางสิ่ง ‘ความเสียดาย’ อาจแวะมาทักทายได้เหมือนกัน
บรอนนี่ แวร์ (Bronnie Ware) ผู้เขียนหนังสือ The Top Five Regrets of the Dying เล่าว่า เธอเคยทำงานด้าน palliative care (การดูแลแบบประคับประคอง) ที่ดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย และได้มีโอกาสพูดคุยกับคนเหล่านั้นว่า ถ้าย้อนเวลากลับไป มีสิ่งไหนพวกเขาอยากกลับไปแก้ไขบ้าง? ซึ่งพบว่า 5 เรื่องที่ผู้คนรู้สึก ‘เสียดาย’ มากที่สุด ได้แก่
- การได้ใช้ชีวิตที่ตัวเองต้องการ ไม่ใช่ชีวิตที่คนอื่นอยากให้เป็น
- การทำงานหนักเกินไป จนไม่ได้ใช้เวลากับสิ่งที่มีความหมายกับชีวิตจริงๆ
- การไม่ได้พูดสิ่งที่คิดหรือความรู้สึกที่แท้จริงออกไป
- การปล่อยมิตรภาพให้จางหายไปจนกลับมาสานต่อไม่ได้แล้ว
- การไม่อนุญาตให้ตัวเองได้มีความสุขและปล่อยวางความรู้สึกลบๆ ที่วิ่งวนอยู่ในใจ
ที่น่าสนใจคือข้อแรกเป็นเรื่องที่บรอนนี่ได้ยินบ่อยที่สุด เพราะหลายคนมีความฝัน มีสิ่งที่ตัวเองอยากทำ แต่กลับต้องพับเก็บไปเพราะกลัวว่าคนอื่นจะคิดยังไง กลัวสายตาคนรอบข้างหรือกรอบของสังคมที่ไม่อนุญาตให้ได้เป็นตัวของตัวเองได้เต็มที่ แถมยังเคยมีงานวิจัยในปี 2018 ที่มีผลลัพธ์ทำนองเดียวกันโดยพบว่า สุดท้ายแล้วคนส่วนใหญ่ (72%) มักจะรู้สึกเสียดายตัวตนที่อยากจะเป็น (ideal self) และมีส่วนน้อย (28%) ที่จะเสียดายตัวตนที่ควรจะเป็น (ought self) อาจเพราะมนุษย์เรามักจะลงมือทำในสิ่งที่ควรทำก่อนสิ่งที่อยากทำจริงๆ จนรู้ตัวอีกทีก็สายเกินไปแล้ว
แต่คงไม่ใช่เรื่องง่าย หากจะต้องแบกทุกอย่างไว้หรือลงมือทำทุกเรื่อง ดังนั้นสิ่งที่เราทำได้คงจะเป็นการหาสมดุล ไม่ให้จมอยู่กับเรื่องใดเรื่องหนึ่งมากเกินไปจนละเลยบางอย่าง แล้วรู้สึกเสียดายในภายหลัง
ถอยมามองภาพใหญ่ว่าเราต้องการอะไรในชีวิต
ลิน คริสเตียน (Lyn Christian) ผู้ก่อตั้ง SoulSalt Inc. ได้เขียนถึงเรื่องนี้ในบทความ How to Prioritize Your Life: 12 Ways to Focus On What Matters ว่า ถ้ามองภาพใหญ่ได้ชัด รับรู้ถึงสิ่งที่เราต้องการจริงๆ ในชีวิตว่าคืออะไร และสิ่งที่เราให้คุณค่ามากที่สุด (core value) คือเรื่องไหน จะช่วยให้เราตัดสินใจเรื่องใหญ่ๆ หรือแม้แต่พูดคำว่า ‘ไม่’ ได้ง่ายขึ้น เพราะสิ่งเหล่านี้ทำให้รู้ว่าเราจะใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับเรื่องไหน เพราะอะไร และไม่ถูกผู้คนหรือสังคมทำให้ไขว้เขว ไม่วิ่งตามความต้องการของคนอื่นๆ จนสูญเสียความเป็นตัวเอง
บางคนที่ปฏิเสธงานในฝันที่กินเวลาชีวิตมากจนเกินไป แล้วเลือกงานที่พอทำได้ แต่มีเวลาและยืดหยุ่นมากกว่า เพราะรู้ว่าสิ่งให้ความสำคัญมากที่สุดในตอนนั้นคือครอบครัว หรือบางคนอาจเลือกทำงานที่ไม่ได้ชอบที่สุด แต่รายได้สูง เพราะรู้ว่าช่วงเวลานั้นต้องสร้างความมั่นคงให้กับชีวิต บางคนก็อาจจะวิ่งตามความฝัน โดยไม่ได้นึกถึงเรื่องรายได้เพราะมีชีวิตที่มั่นคงดีอยู่แล้ว ดังนั้น การลำดับความสำคัญเลยแตกต่างกันออกไปขึ้นอยู่กับสิ่งที่เราให้คุณค่าและมองว่าสำคัญมากที่สุด
สุขภาพและความสัมพันธ์ เรื่องที่เอากลับคืนมาได้ยาก (หรืออาจจะไม่ได้เลย)
การมีร่างกายและจิตใจที่แข็งแรง มีคนที่รักอยู่รอบตัว คือสิ่งล้ำค่า สิ่งนี้แทรกซึมอยู่ในชีวิตประจำวันของเราจนกลายเป็นเรื่องปกติ และบางทีอาจทำให้เผลอนึกไปว่า ความปกตินี้จะอยู่กับเราไปตลอดชีวิต ทั้งที่จริงแล้ว เรากำลังนับถอยหลังวันจากลาในทุกๆ วัน เพราะมนุษย์เรามีชีวิตเดียว มีร่างกายเดียว แม้บางโรคจะรักษาได้ แต่คงซ่อมไม่ได้แบบ 100% ลองนึกภาพตอนป่วยที่นอกจากจะทำงาน หาเงิน ทำกิจกรรมที่ชอบไม่ได้แล้ว บางทีคนอื่นๆ ต้องมาคอยดูแลเราไปด้วย หรือความสัมพันธ์ที่หากพังไปแล้ว การจะย้อนกลับมาแก้ไขอาจไม่ใช่เรื่องง่าย บางครั้งก็ทำไม่ได้เลย ดังนั้นการดูแลสุขภาพกายใจและรักษาความสัมพันธ์กับคนที่เรารัก เลยเป็นเรื่องพื้นฐานที่เราไม่ควรหลงลืมไป ไม่ว่าสิ่งที่เราโฟกัสจะเป็นเรื่องไหนก็ตาม
แต่เราไม่ได้หมายความว่าต้องหันมากินคลีน ออกกำลังกายทุกวัน หรือตัวติดกับที่บ้าน นัดเพื่อนทุกอาทิตย์ เพียงแต่เราไม่หลงลืมสิ่งสำคัญเหล่านี้ไปอย่างสิ้นเชิง เช่น นั่งทำงานหรืออ่านหนังสือนานๆ ก็อาจจะลุกมาขยับร่างกายสักหน่อย วันนี้กินของหวานเยอะแล้ว อาจจะพยายามเลี่ยงเมนูของหวานในมื้อถัดไป ลองปรับเวลานอนให้เพียงพอและเป็นเวลามากขึ้น หรือว่างเมื่อไรก็ไม่ลืมโทรหาคนที่เรารักหรือคอยรับฟังและอยู่ข้างกันในวันยากๆ ของชีวิต เพราะเราไม่มีทางรู้เลยว่าวันสุดท้ายของเราและคนรอบตัวนั้นจะมาถึงเมื่อไร
บางเรื่องที่เราอาจปล่อยวางหรือลดเวลาลงไปได้
นอกจากให้เวลากับบางอย่างมากขึ้นแล้ว การลดเวลาหรือตัดบางเรื่องออกไปก็สำคัญไม่แพ้กัน เช่น โซเชียลมีเดียตัวดูดเวลาสำคัญแห่งยุคสมัย ซึ่งต้องบอกก่อนว่าการไถฟีด ดู TikTok แชตกับเพื่อนนั้นไม่ใช่เรื่องผิดอะไร ถ้าเราเล่นแบบรู้ตัวว่ากำลังเล่นอยู่ แต่ถ้าเราปล่อยตัวปล่อยใจจนไม่ได้ทำอะไรที่สำคัญจริงๆ หรือรบกวนเรื่องอื่นๆ ในชีวิต เช่น ไม่โฟกัสกับสิ่งที่อยู่ตรงหน้า ตามดราม่า (ที่ไม่เกี่ยวอะไรกับชีวิตเรา) จนไม่ได้นอน นั่นอาจเป็นสัญญาณที่เราต้องเพลาๆ ลงไปบ้างแล้ว
ส่วนอีกเรื่องที่อยู่ในลิสต์ของความเสียดายข้างต้น คือการปล่อยให้ตัวเองจมอยู่กับปัญหานานเกินไปและไม่อนุญาตให้ตัวเองมีความสุข ดังนั้น การฮีลใจตัวเองในบางช่วงเลยไม่ใช่เรื่องเสียเวลา แต่กลับเป็นเรื่องสำคัญที่ทำให้เราไม่ต้องกอดความปวดร้าวไว้ในระยะยาว หากเสียใจก็ร้องไห้ ปล่อยให้ตัวเองได้รู้สึก ได้ระบายออกมาบ้าง หรืออาจจะเล่าให้ใครสักคนฟัง แทนการเก็บเอาไว้แล้วปล่อยให้ความรู้สึกนั้นวิ่งวนในใจจนเริ่มจมอยู่กับความเศร้านานเกินไป
โดยในเว็บไซต์ todoist แนะนำวิธีที่น่าสนใจไว้ว่า เราอาจจะฝึก self talk โดยลองนึกว่ามีเราอีกคนเหมือน B1 กับ B2 แล้วลองคุยกับตัวเองที่กำลังเศร้าเหมือนเรากำลังพูดกับเพื่อนสนิท หรือลองแคป เขียน และจดคำชื่นชมทั้งจากตัวเองและคนอื่นๆ ไว้ เพราะในวันที่รู้สึกดาวน์มากๆ การย้อนกลับมาอ่านสิ่งเหล่านี้อาจจะช่วยย้ำเตือนและเป็นกำลังใจให้เราเดินต่อไปได้เหมือนกัน
มากกว่าการจัดเวลาคือการบริหารความรู้สึก
เวลาได้ยินคำว่า work-life balance เราจะนึกถึงภาพตารางเวลาที่ขีดเส้นแบ่งชัดเจน แต่การยึดติดกับตารางมากเกินไปก็อาจจะเป็นทุกข์เหมือนกัน ดังนั้นการหาจุดสมดุลเลยไม่ใช่แค่เรื่องการบริหารจัดการเวลาเท่านั้น แต่เป็นเรื่องการบริหารจัดการ ‘พลังงานและความรู้สึก’ ของเราด้วย เช่น การฝืนทำบางเรื่องตอนกำลังเหนื่อยๆ เทียบกับตอนที่กำลังสดชื่นสบายใจ แม้จะใช้เวลา 1 ชั่วโมงเท่ากัน แต่ผลลัพธ์อาจต่างกันอย่างสิ้นเชิง
แดเนียล เอช. พิงค์ (Daniel H. Pink) ผู้เขียน The Scientific Secrets of Perfect Timing กล่าวถึงรูปแบบอารมณ์ความรู้สึกที่คนทั่วโลกส่วนใหญ่มีร่วมกัน คือตอนเช้าเรามักจะกระตือรือร้น มั่นใจและตื่นตัวได้มากกว่าช่วงบ่าย ก่อนจะกลับไปมีความรู้สึกเหล่านี้อีกครั้งในช่วงเย็น ซึ่งเราอาจจะลองปรับใช้ข้อมูลเหล่านี้เพื่อวางแผน และจัดลำดับความสำคัญไปด้วย เพราะการบาลานซ์ไม่ใช่แค่เรื่องเวลาที่พอดี แต่เป็นความรู้สึก ร่างกาย และจิตใจที่พร้อมของเราด้วย
นอกจากการรู้ความต้องการของตัวเอง จัดลำดับสิ่งสำคัญในชีวิตได้แล้ว อีกเรื่องสำคัญคือการย้อนกลับมาทบทวนบ่อยๆ ว่าสิ่งที่เราต้องการยังเป็นเรื่องเดิมไหม เราใช้เวลาไปกับสิ่งเหล่านี้มากน้อยแค่ไหน หรืออยากปรับอะไรตรงไหนบ้าง เพราะความต้องการของเราอาจเปลี่ยนแปลงไปตามเวลาและจังหวะของชีวิต แต่ไม่ว่าจะอยู่ในช่วงเวลาไหน สิ่งที่เราอยากชวนกลับมาทบทวนบ่อยๆ คงจะเป็นคำถามที่ว่า
สิ่งสำคัญในชีวิตตอนนี้คือเรื่องไหน? และมีอะไรที่รู้สึกเสียดายอยู่หรือเปล่า ?
อ้างอิงจาก